วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การสอบปากเปล่า MO Memoir : Friday 18 December 2552

ในการเรียนระดับโทหรือเอกที่ภาควิชานั้น นิสิตผู้เรียนจะต้องผ่านการสอบปากเปล่าที่สำคัญอยู่ ๒ ครั้งด้วยกัน การสอบครั้งแรกเป็นการสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ (หรือที่เรียกกันว่าสอบโครงร่าง) และการสอบครั้งที่สองเป็นการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ (หรือที่เรียกกันว่าสอบวิทยานิพนธ์)

ไม่ว่าจะเป็นการสอบแบบไหน ถ้าอยากสอบผ่านแบบไม่มีปัญหาใด ๆ ก็พึงระลึกหลักเกณฑ์ง่าย ๆ ที่สำคัญคือ "เอกสารที่ส่งให้กรรมการอ่านนั้น เมื่อเขาอ่านแล้วจะต้องเห็นภาพและเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นส่วนความเป็นมา และสิ่งที่จะทำต่อไป โดยไม่ควรมีคำถามใด ๆ ค้างคาใจเมื่ออ่านจบ และเขาต้องยอมรับในสิ่งที่เขียนไว้ในเอกสารทั้งหมดโดยไม่ต้องมีการแก้ไขใด ๆ เพิ่มเติมอีก"


ทำไมผมจึงบอกให้เน้นไปที่เอกสาร


ก็เพราะว่าเอกสารนั้นเป็นหลักฐานการสอบที่มีตัวตนจริงที่จับต้องได้ และสามารถตรวจสอบได้ภายหลังถ้ามีข้อข้อสงสัยหรือร้องเรียน ที่สำคัญคือกรรมการนั้นจะได้รับเอกสารก่อนที่จะรับฟัง ดังนั้นถ้าเอกสารออกมาดี กรรมการก็จะมีความรู้สึกที่ดีกับผู้สอบก่อนที่จะพบหน้ากัน แต่ถ้าเอกสารออกมาไม่ดี ก็จะทำให้กรรมการเกิดภาพลบ เช่นเห็นว่าผู้สอบเป็นผู้ไม่มีความรู้และไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ใส่ใจในรายละเอียดและความถูกต้อง นึกว่าการสอบนั้นทำพอเป็นพิธี เอกสารส่งชุ่ยๆ ก็สอบผ่านได้เพราะกรรมการคงจะไม่อ่านกัน ฯลฯ

เคยมีนิสิตปริญญาเอกส่งเอกสารการสอบ qualify ชนิดที่เรียกว่าสิ่งที่อยู่ในเอกสารกับสิ่งที่นำเสนอนั้นไม่ตรงกัน เรียกว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย สอบครั้งแรกกรรมการให้ผลสอบเป็น "ตก" และถามกลับด้วยว่าคิดว่ากรรมการเขาจะไม่เปิดดูเลยหรือไง พอสอบแก้ตัวครั้งที่สอง (ตามสิทธิที่เขามี) ก็ทำแบบเดิมอีก กรรมการสอบก็ให้ผลสอบเป็น "ตก" อีก ซึ่งหมายความว่าต้องพ้นสภาพนิสิตไปเลย งานนี้มีการร้องเรียนขึ้นมาซึ่งมีการเรียนกรรมการสอบไปถาม ปรากฏว่ากรรมการสอบทั้ง ๓ รายให้คำบรรยายเอกสารการสอบของนิสิตผู้นั้นเหมือนกันหมดคือ "ชุ่ย" ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้นัดหมายอะไรกันมาก่อน


ที่ผ่านมานั้นนิสิตส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่การนำเสนอมากกว่าการเตรียมเอกสาร ทั้งนี้อาจเห็นว่าเอกสารนั้นต้องส่งก่อนการสอบเป็นเวลาหลายวัน (หรือเป็นสัปดาห์) ก็เลยทำสักแต่ว่าทำให้มีส่งไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ไขกันในห้องสอบหรือหลังสอบภายหลัง ที่เคยเจอมาบางรายหนักมากถึงขนาดที่เรียกว่ากรรมการให้ผลสอบเป็น "ตก" โดยไม่ต้องฟังการนำเสนอปากเปล่าเลย (เหตุครั้งล่าสุดเกิดเมื่อ ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง)

อีกปัญหาที่พบเสมอในการสอบคือการที่ผู้สอบไม่ได้สนใจว่าเลยว่ากรรมการสอบนั้นจะรู้เรื่องในสิ่งที่ผู้สอบพยายามนำเสนอแค่ไหน หลงคิดแต่ว่าถ้าฉันพูดอย่างนี้แล้วฉันงรู้เรื่องก็พอ ความคิดดังกล่าวเป็นความคิดที่ผิดเป็นอย่างมากและนำไปสู่ปัญหาในการสอบเสมอ เพราะสิ่งที่ผู้สอบแต่ละคนทำนั้นเป็นเรื่องเฉพาะทาง คนที่ไม่ได้อยู่ในหัวข้อวิจัยทำนองเดียวกันกับผู้สอบก็จะฟังไม่เข้าใจทันที ดังนั้นการนำเสนอจึงต้องมีการนำเสนอในภาพกว้างให้เห็นก่อน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้ผู้ฟังเข้าใจและเห็นภาพ แล้วค่อยดึงเนื้อหาให้เฉพาะเจาะจงลงมา ส่วนพื้นฐานนั้นควรปูกว้างไว้แค่ไหนและการดึงเนื้อหาเข้าสู่ประเด็นการวิจัยที่นำเสนอนั้นควรจะรวดเร็วเท่าใด ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของกรรมการสอบที่เข้าสอบ ดังนั้นการบ้านที่สำคัญข้อหนึ่งที่ผู้เข้าสอบควรต้องทำคือ หาข้อมูลของกรรมการสอบว่ามีความถนัดและความรู้ในด้านใดบ้าง เพราะบ่อยครั้งที่คำถามนั้นเกิดจากมุมมองจากประสบการณ์ของกรรมการสอบแต่ละราย

โดยพื้นฐานของการนำเสนอหัวข้อคือ ตั้งเกณฑ์ไว้ก่อนว่าเรื่องที่นำเสนอนั้นผู้ที่จบปริญญาตรีมาทางด้านเดียวกันควรฟังรู้เรื่อง กล่าวคือถ้าคุณเป็นวิศวกรเคมี ก็พึงคิดว่าถ้าคุณพูดให้วิศวกรเคมีคนอื่นที่ไม่ได้ทำวิจัยลงลึกในด้านเดียวกันกับคุณฟังเรื่องที่คุณจะทำ เขาควรที่จะสามารถเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาของคุณได้ และเมื่อลงลึกในรายละเอียดก็ควรใช้ภาษาง่าย ๆ หรืออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้คนที่ไม่ได้ทำวิจัยลงลึกในสาขาเดียวกันเข้าใจได้ อย่าคิดว่าถ้าพูดแล้วกรรมการไม่เข้าใจเขาคงจะไม่ถามอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือกรรมการจะไม่คิด เป็นหน้าที่ของผู้เข้าสอบที่จะต้องทำให้กรรมการเข้าใจและเห็นภาพโดยที่กรรมการไม่ต้องคิดอะไร ถ้ากรรมการไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ผู้เข้าสอบพยายามอธิบาย กรรมการก็จะรู้สึกว่าผู้เข้าสอบนั้นตอบไม่ตรงคำถาม และ/หรือไม่เข้าใจในเรื่องที่ตนเองทำ ทำเพียงแต่ว่าจำคำพูดคนอื่นแล้วมาบอกต่อโดยที่ไม่รู้ความหมายในสิ่งที่พูดออกมา (มีนิสิตกลุ่มหนึ่งทำอย่างนี้บ่อยมาก และทำกันเป็นประจำ จนผมเลิกเป็นกรรมการสอบของนิสิตกลุ่มนี้มาหลายปีแล้ว) หรือไม่ก็เป็นเพียงแค่ลูกมือทำแลปให้อาจารย์เท่านั้น ประเภทอาจารย์บอกมาเถอะจะให้ทำอะไร ยินดีทำให้ทุกอย่าง ขอให้จบรับปริญญาได้ในสองปีก็พอ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น มีกรรมการอยู่น้อยรายที่สามารถฟังการสอบได้ทุกเรื่องหรือเกือบทุกเรื่อง (กล่าวคือเรื่องที่สอบนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่กรรมการผู้นั้นทำวิจัยอยู่) กรรมการส่วนใหญ่นั้นมักจะจมอยู่ในเรื่องสาขาวิจัยของตนเอง และคำถามต่าง ๆ ก็มักจะเป็นผลจากประสบการณ์วิจัยของกรรมการเหล่านั้น

ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่วันนี้ ซึ่งเป็นกรณีที่กรรมการสอบท่านหนึ่งเป็นผู้ที่ทำวิจัยทางด้านวิศวกรรมชีวเคมี และมีประสบการณ์ทางด้านเครื่องปฏิกรณ์แบบเบดนิ่ง และมาเป็นกรรมสอบสอบนิสิตผู้นำเสนอปฏิกิริยาที่เกิดในเครื่องปฏิกรณ์แบบเบดนิ่ง แต่เครื่องปฏิกรณ์ชนิดเบดนิ่งที่กรรมการสอบมีประสบการณ์และที่นิสิตผู้เข้าสอบนำเสนอนั้นไม่เหมือนกัน เครื่องปฏิกรณ์ชนิดเบดนิ่งที่กรรมการสอบมีประสบการณ์นั้นใช้กับเฟสของเหลวที่ไหลจากบนลงล่างในลักษณะที่ไหลลงเองโดยแรงโน้มถ่วง ซึ่งการไหลดังกล่าวจะมีปัญหาเรื่องของเหลวมีแนวโน้มที่จะไหลไปทางด้านข้างของเบด (ซึ่งมีช่องว่างมากกว่าบริเวณตอนกลางเบด) ไหลเลียบผนังลงไปทางด้านล่าง ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเสมอถ้าเบดมีความสูงเกินระดับหนึ่ง แต่ปัญหาดังกล่าวไม่เกิดขึ้นกับกรณีที่ของไหลนั้นเป็นแก๊สซึ่งเป็นกรณีที่นิสิตผู้เข้าสอบใช้งาน

อีกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนั้นคือผลของค่าพีเอชที่มีต่อการทำปฏิกิริยา เป็นเรื่องปรกติที่ผู้ที่ทำวิจัยโดยใช้เอนไซม์นั้นค่อนข้างจะให้ความสำคัญมากในเรื่องค่าพีเอชของสารละลายในการทำปฏิกิริยา ทั้งนี้เพราะเอนไซม์นั้นจะทำปฏิกิริยาได้ดีก็ต่อเมื่อเอนไซม์อยู่ในรูปร่างที่เหมาะสม เนื่องจากเอนไซม์เป็นโมเลกุลโปรตีนขนาดใหญ่ รูปร่างของเอนไซม์ขึ้นอยู่กับแรงดึงดูดทางประจุไฟฟ้าระหว่างส่วนต่าง ๆ กันของโมเลกุลเอนไซม์ การเปลี่ยนแปลงค่าพีเอชนั้นส่งผลต่อการเกิดหรือสะเทินตำแหน่งที่มีประจุไฟฟ้าในโมเลกุลเอนไซม์ ทำให้แรงดึงดูดระหว่างส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างโมเลกุลเอนไซม์เปลี่ยนไป ความสามารถในการทำปฏิกิริยาของเอนไซม์จึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย


การสอบปากเปล่านั้นเป็นตัวฟ้องให้เห็นว่านิสิตผู้เข้าสอบนั้นมีความรู้ความเข้าใจในงานที่ตนเองทำวิจัยอยู่หรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่ลูกมือทำแลปให้ตามที่อาจารย์ที่ปรึกษาสั่ง ดังนั้นคำตอบประเภท "ทำตามรุ่นพี่" หรือ "อาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้ทำอย่างนี้" เป็นตัวฟ้องให้เห็นชัดว่านิสิตผู้เข้าสอบไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในงานที่ตนเองทำวิจัยอยู่เลย ผู้เข้าสอบจะต้องเข้าใจว่าทำไมเราจึงเลือกทำการทดลองที่ภาวะนั้น เราทำไปเพื่อค้นหาอะไร ในกรณีที่นิสิตนั้นรับหัวข้องานวิจัยมาจากอาจารย์ที่ปรึกษา นิสิตนั้นก็จำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่าอาจารย์ที่ปรึกษาของตนเองนั้นกำลังคิดอะไรอยู่ และต้องการอะไรจากงานวิจัยนั้น อย่ารอให้อาจารย์เป็นผู้เอ่ยปากเล่าให้ฟัง ทำไมไม่ลองตั้งคำถามขึ้นดูเองว่าทำไมเราจึงต้องทำการทดลองที่ภาวะนั้น ทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วจะได้ประโยชน์อะไร


ว่าแต่ว่าผมมักจะอธิบายเหตุผลและความต้องการเสมอเวลาบอกให้พวกคุณทำอะไร แต่ทำไมเวลาพวกคุณไปบอกต่อหรืออธิบายคนอื่น มักจะมีเหตุผลอื่นที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ผมคิดไว้เสมอ และความคิดอื่นนั้นมักจะแย่หรือไม่ค่อยมีเหตุผลซะด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: