คืนวันจันทร์ที่ ๓ ธันวาคมปีพ.ศ. ๒๕๒๗ (ปีค.ศ. ๑๙๘๔) ได้เกิดอุบัติเหตุครั้งรุนแรงที่สุด (ในแง่จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ) ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมเคมี ณ โรงงานของบริษัท Union Carbide เมือง Bhopal ประเทศอินเดีย ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เป็นทางการในวันเกิดเหตุนั้นคือ ๑๗๕๔ ราย แต่ในบางรายงานที่ออกมาภายหลังกล่าวว่าเมื่อรวมยอดผู้เสียชีวิตในช่วงถัดมาแล้วอาจอยู่ในระดับ ๑๐,๐๐๐ ราย สำหรับผู้บาดเจ็บนั้นมีประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ราย เนื่องจากวันนี้เป็นวันครบรอบ ๒๕ ปีของการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว Memoir ฉบับนี้เลยขอยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวถึงเพื่อให้ผู้ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับทราบความผิดพลาดในอดีต จะได้ไม่เดินซ้ำรอยเดิมอีกต่อไป
รูปที่ 1 เส้นทางการผลิต Carbaryl ที่ใช้ในโรงงานที่ Bhopal ก่อนเกิดเหตุ (ซึ่งต้องมีการผลิตสาร methyisocyanate ขึ้นมาก่อน) และเส้นทางทางเลือก (ที่ไม่มีการผลิตสาร methyisocyanate)
โรงงานที่ก่อให้เกิดหายนะดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตยาปราบศัตรูพืชที่มีชื่อทางการค้าว่า "Carbaryl" โดยในการผลิตนั้นจะนำเมทิลเอมีน (methyl amine CH3NH3) มาทำปฏิกิริยากับแก๊สฟอสจีน (phosgene COCl) ได้สารมัธยันต์ชื่อว่าเมทิลไอโซไซยาเนต (methylisocyanate (MIC) CH3OCN) จากนั้นจึงนำ MIC มาทำปฏิกิริยากับ 1-แนฟทอล (1-Naphthol) เพื่อกลายเป็น Carbaryl เส้นทางการเกิดปฏิกิริยานั้นแสดงไว้ในรูปที่ 1 ข้างบน
สารเคมีตัวที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในครั้งนั้นคือ MIC ที่รั่วไหลออกมาจากโรงงาน
เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนเที่ยงคืนวันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๗ ต่อเนื่องจนถึงเช้าวันจันทร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนกำลังนอนหลับกันอยู่ รายละเอียดต่าง ๆ ของเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือวิดิโอ สามารถหาอ่านได้จากหน้าเวปต่าง ๆ (ใช้คำค้นหา Bhopal disaster) ดังนั้นจะไม่ขอกล่าวโดยละเอียดในที่นี้
ผมนำกรณีของ Bhopal นี้มาเพื่อใช้เป็นประเด็นสำหรับฝึกคิดอยู่ ๓ เรื่อง เรื่องแรกคือการเลือกเส้นทางการทำปฏิกิริยา ในกรณีนี้สารเคมีตัวสุดท้ายที่ต้องการคือ Carbaryl ซึ่งมีโมเลกุลของฟอสจีนเป็นตัวเชื่อมต่ออยู่ตรงกลางระหว่างโมเลกุลของ 1-แนฟทอลและเมทิลเอมีน คำถามก็คือเราจะทำปฏิกิริยาระหว่างฟอสจีนกับเมทิลเอมีนก่อน (ดังเช่นในกรณีของ Bhopal) แล้วจึงค่อยนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ (MIC) มาทำปฏิกิริยากับ 1-แนฟทอล หรือทำปฏิกิริยาระหว่างฟอสจีนกับ 1-แนฟทอลก่อน (กรณีเส้นทางทางเลือก) แล้วจึงนำผลิตภัณฑ์ที่ได้มาทำปฏิกิริยากับเมทิลเอมีน
เรื่องที่สองคือเราควรจะมีสารมัธยันต์อยู่ในระบบเท่าใด ในปฏิกิริยาการผลิต Carbaryl ข้างต้น (ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางใด) มีการนำสารตั้งต้นสองตัว A และ B มาทำปฏิกิริยากันเป็นสารมัธยันต์ A-B ก่อน จากนั้นจึงนำสารมัธยันต์ A-B มาทำปฏิกิริยากับสาร C กลายเป็นผลิตภัณฑ์ A-B-C การที่มีสารมัธยันต์อยู่ในระบบจะมีข้อดีตรงที่ในกรณีที่ระบบใดระบบหนึ่งมีปัญหา เราไม่จำเป็นต้องหยุดกระบวนการผลิตทั้งกระบวนการโดยทันที แต่ทำให้มีเวลาแก้ไขปัญหา กล่าวคือถ้าหากระบบการผลิต A-B มีปัญหา เราก็ยังทำปฏิกิริยาผลิต A-B-C ได้โดยใช้ A-B ที่เก็บสะสมเอาไว้จนกว่า A-B ที่สะสมไว้จะหมดไป และในเวลาดังกล่าวเราก็ยังมีเวลาซ่อมแซมระบบผลิต A-B ได้ หรือในกรณีที่ระบบการผลิต A-B-C มีปัญหา เราก็ยังสามารถผลิต A-B เข้าไปเก็บไว้ในถังเก็บ ทำให้เรามีเวลาซ่อมแซมระบบผลิต A-B-C ให้เสร็จก่อนที่ถังเก็บ A-B จะเต็ม แต่ถ้าทำการเก็บ A-B ไว้ในระบบมากเกินไปก็จะก่อปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเก็บ (ไม่ว่าจะเป็นตัวอุปกรณ์ หรือตัวสาร A-B เองซึ่งถือว่าเป็นเงินที่จมอยู่ในระบบ) และถ้า A-B เป็นสารอันตรายด้วยแล้ว (เช่นในกรณีของ Bhopal) ก็จะทำให้ระบบการผลิตโดยรวมมีอันตรายสูง
เรื่องที่สามคือความไว้วางใจได้ของระบบรักษาความปลอดภัย ในกรณีของ Bhopal นั้นระบบรักษาความปลอดภัยซึ่งได้แก่ (๑) ระบบทำความเย็นเพื่อไม่ให้อุณหภูมิของถังเก็บ MIC สูงเกินไป (๒) ระบบ scrubber สำหรับกำจัดแก๊ส MIC ที่ระบายออกมาจากถังเก็บ ในกรณีที่ความดันในถังเก็บสูงเกินไป และ (๓) ระบบ Flare ซึ่งใช้สำหรับเผาทำลายแก๊ส MIC ที่ผ่านออกมาจากระบบ scrubber ได้อีก นั้นต่างไม่สามารถใช้งานหรือตอบสนองไม่รวดเร็วพอที่จะกำจัดแก๊สที่รั่วออกมาได้ ทำให้แก๊สนั้นรั่วออกมานอกโรงงานและฆ่าผู้อยู่อาศัยรอบโรงงานได้ ปัญหาของระบบรักษาความปลอดภัยคือบางระบบนั้นไม่ค่อยถูกใช้งาน หรือเมื่อติดตั้งแล้วไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าทำงานได้จริงหรือเปล่า ตัวอย่างเช่นในกรณีของระบบฉีดน้ำดับเพลิงในอาคาร เราสามารถตรวจสอบอุปกรณ์ตรวจสอบไฟไหม้ได้ว่ายังทำงานดีอยู่หรือเปล่า แต่เราไม่สามารถตรวจสอบระบบฉีดน้ำว่าทำงานได้หรือเปล่า (เพราะนั่นหมายถึงการทำให้อาคารและอุปกรณ์สำนักงาน เอกสารต่าง ๆ นั้นเปียกน้ำไปหมด)
ดังนั้นการบอกว่ามีระบบรักษาความปลอดภัยนั้นอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจว่าสามารถป้องกันอันตรายได้ แต่ควรต้องมีการแสดงให้เห็นด้วยว่าระบบดังกล่าวทำงานได้ และทำงานได้รวดเร็วทันเวลาในเวลาที่ต้องการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น