วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

TiltWatch & ShockWatch MO Memoir : Friday 19 August 2554


ผมไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับของมานาน เพิ่งจะมีโอกาส (หรือเคราะห์ร้าย) ที่ต้องมาทำหน้าที่นี้ใหม่ในปีนี้

โดยปรกติเวลาที่ผู้ขายส่งสินค้าบรรจุหีบห่อมาให้ ทางผู้ขายจะให้ผู้ที่ทำหน้าที่ขนส่ง (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นตัวผู้ขายเอง) นำหีบห่อสินค้าส่งไปยังที่อยู่ผู้รับ ผู้รับจะยังไม่ไปยุ่งอะไรกับหีบห่อดังกล่าว เพียงแค่จัดหาสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับการเก็บหีบห่อสินค้าดังกล่าว แม้แต่การเคลื่อนย้ายลงจากยานพาหนะมายังสถานที่เก็บก็ทำได้เพียงแค่ยืนดู ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไร เพราะยังไม่ได้รับมอบสินค้า เพราะถ้าหากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแล้วเกิดความเสียหายในระหว่างการเคลื่อนย้าย จะก่อปัญหาข้อถกเถียงได้ว่าใครต้องรับผิดชอบ เพราะตัวผู้ซื้อเองถือว่ายังไม่ได้รับมอบสินค้า ส่วนผู้ขายเองอาจกล่าวหาว่าความเสียหายเกิดจากการที่ผู้ซื้อทำการเคลื่อนย้ายหีบห่อสินค้าเข้าเก็บ

เมื่อหีบห่อมาถึงก็ต้องมีการตรวจดูสภาพภายนอกของหีบห่อว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยหรือไม่ มีรอยกระแทก รอบบุบ รอยเปียกน้ำ ฯลฯ ณ บริเวณใดบ้างหรือไม่ ซึ่งถ้าพบรอยดังกล่าวก็ควรต้องมีการบันทึกภาพเอาไว้ และก่อนที่จะทำการเปิดหีบห่อนั้นก็ต้องเรียกตัวแทนบริษัทประกันที่ทางผู้ขายทำประกันสินค้าไว้ให้มาร่วมในการเปิดหีบห่อดังกล่าวด้วย


รูปที่ ๑ ตัวสีเหลืองด้านซ้ายคือ Tiltwatch ซึ่งใช้บอกว่าในระหว่างการขนส่งนั้นตัวหีบห่อไม่ได้ถูกวางตั้งตรงตลอดเวลาหรือไม่ โดยถ้าในวงกลม (ที่อยู่ในลูกศรขาว) ปรากฏสีแดง ก็แสดงว่าในระหว่างการขนส่งมีการทำให้ตัวหีบห่อวางเอียง ส่วนตัวสีแดงทางด้านขวาคือ ShockWatch ซึ่งใช้บอกว่าในระหว่างการขนส่งหีบห่อนั้น ตัวหีบห่อได้รับการกระแทกบ้างหรือไม่ โดยถ้าตัวหลอด (ที่อยู่ตรงกลางในแถบสีขาวแนวนอน) กลายเป็นสีแดง ก็แสดงว่าในระหว่างการขนส่งตัวหีบห่อนได้รับการกระแทก


เมื่อเปิดหีบห่อแล้วก็ต้องมีการตรวจความเรียบร้อยของสินค้าและทำการตรวจนับ ถ้าเป็นเครื่องมือที่ต้องมีการประกอบและทดลองการเดินเครื่องก็เป็นหน้าที่ของผู้ขายที่จะต้องทำการประกอบและทดลองเดินเครื่อง (โดยที่ทางผู้ซื้อทำหน้าที่เพียงแค่ยืนดูเฉย ๆ อย่าเข้าไปยุ่ง) เมื่อทางผู้ขายทดลองเดินเครื่องจนเรียบร้อยแล้วก็จะถึงขั้นตอนการส่งมอบ ซึ่งทางผู้ขายจะต้องแสดงว่าอุปกรณ์ที่ซื้อมานั้นทำงานได้ตามข้อกำหนดของผู้ซื้อ จากนั้นก็จะตามด้วยการฝึกอบรมการใช้งานและการส่งมอบสินค้า


การกระแทกด้านนอกหีบห่อนั้นพอจะสังเกตได้จากร่องรอยที่ปรากฏบนหีบห่อด้านนอก แต่ก็มีโอกาสที่สินค้าในหีบห่อนั้นจะเกิดความเสียหายในระหว่างการขนย้ายเนื่องจากมีการตั้งหีบห่อให้เอียง หรือเกิดการกระแทกในระหว่างการวางหีบห่อบนพื้น เพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าวทางผู้บรรจุสินค้าลงหีบห่อก็มักจะหาทางตรึงสินค้าที่อยู่ในหีบห่อนั้นไม่ให้เคลื่อนไหวได้ ที่เห็นทำกันมากที่สุดก็คือการเติมโฟมชิ้นเล็ก ๆ หรือฟองน้ำกันกระแทกเข้าไปจนเต็มที่ว่างในหีบห่อ หรือไม่ก็ทำการหุ้มสินค้าด้วยแผ่นพลาสติก แล้วก็ทำการฉีดโฟมให้เข้าไปฟองตัวจนแน่นเต็มหีบห่อนั้น

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้วเห็นเขาเอากล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนมาส่งที่อาคารใกล้ ๆ กับตึกทำงาน เห็นที่หีบห่อนั้นติดป้ายที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (ผมก็ไม่รู้ว่ามันมีใช้กันตั้งแต่เมื่อไร แต่เพิ่งจะเคยเห็นวันนั้น ตรวจรับสินค้ามาหลายอย่างก็ไม่เคยเจอป้ายอย่างนี้สักที) ก็เลยถ่ายรูปมาให้ดูกัน (รูปที่ ๑) ป้ายดังกล่าวคือ "TiltWatch" และ "ShockWatch" ซึ่งคิดว่าเป็นชื่อการค้าของตัวป้าย

เท่าที่อ่านดูคำแนะนำที่ติดมากับตัวป้ายนั้นทำให้เข้าใจได้ว่า "TiltWatch" เป็นตัวบอกว่าในระหว่างการขนส่งนั้นตัวหีบห่อสินค้าถูกวางตั้งตรงเอาไว้ตลอดเวลาหรือไม่ โดยจะติด TiltWatch เอาไว้ที่ข้างผนังลัง ถ้ามีการวางหีบห่อให้เอียง (อย่างน้อยต้องเป็นมุมกี่องศาก็ไม่รู้เหมือนกัน) หรือวางนอน วงกลมที่อยู่ในลูกศรสีขาวก็จะเปลี่ยนจากสีดำกลายเป็นสีแดง (ดังรูปที่แสดง)

ส่วน "ShockWatch" นั้นเป็นตัวบอกว่าในระหว่างการขนส่งนั้น ตัวหีบห่อสินค้าได้รับการกระแทกบ้างหรือไม่ เช่นยกขึ้นแล้ววางลงอย่างไม่นิ่มนวล โดยตัวหลอดพลาสติกที่วางนอนในแถบพลาสติกสีขาวตรงกลางซึ่งเดิมมีสีขาวจะกลายเป็นสีแดง (ดังรูปที่แสดง)

รูปที่ ๑ นั้นผมไปถ่ายมาหลังจากที่เขารื้อลังบรรจุสินค้าเรียบร้อยแล้ว เลยไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้มันเป็นสีอะไร ถ้ามีโอกาสเห็นก็จะถ่ายรูปมาให้ดูใหม่อีกที ส่วนที่บอกเอาไว้ในย่อหน้าข้างบนว่าเดิมมีสีอะไรนั้นไปเอามาจากเว็บของผู้ขายป้ายดังกล่าว ซึ่งในเว็บของผู้ขายป้ายก็บอกไว้ด้วยว่าสีที่เปลี่ยนไปนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสีแดง เราสามารถเลือกได้ว่าต้องการตรวจวัดความว่องไวในระดับไหน ซึ่งก็จะต้องใช้ป้ายที่ให้สีแตกต่างกันออกไป

ไม่มีความคิดเห็น: