วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

ข้อมูลปริมาณน้ำฝนในกรุงเทพเมื่อ ๑๓๐ ปีที่แล้ว MO Memoir : Saturday 29 September 2555

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยได้จ้างชาวต่างชาติเข้ามาทำราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ และหนึ่งในจำนวนนั้นคือนาย เฮอเบิร์ท วาริงตัน สมิท (Herbert Warington Smyth)

จากประวัติของนายสมิทที่เขียนโดยนาวาเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น (อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น) ในคำนำหนังสือ "ห้าปีในสยาม" นายสมิทผู้นี้ได้เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา (กรมเหมืองแร่) โดยทำงานร่วมกับนายวอลเตอร์ เดอ มุลเลอร์ (W. De Muller ชาวเยอรมัน) ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา (กรมเหมืองแร่) ในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๓๔ - พ.ศ. ๒๔๓๙ ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๓๔ - พ.ศ. ๒๔๓๙ ถัดจากนายมุลเลอร์

เมื่อออกจากราชการแล้ว นายสมิทได้เขียนหนังสือ Five Years in Siam vol. 1 ซึ่งจัดพิมพ์ในปีค.ศ. ๑๘๙๘ และ Five Year in Siam vol. 2 (ไม่ได้มีการระบุปีที่พิมพ์เอาไว้)

หนังสือ Five Years in Siam vol. 1 นั้นทางกรมศิลปากรได้ทำการแปลเป็นภาษาไทยและพิมพ์เผยแพร่ในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ ส่วนฉบับภาษาอังกฤษนั้นทางสำนักพิมพ์ White Lotus ได้ทำการจัดพิมพ์ใหม่ในปีพ.ศ. ๒๕๓๗

รูปที่ ๑ หนังสือห้าปีในสยาม แปลมาจากหนังสือ Five years in Siam vol. 1 เขียนโดยนาย Herbert Warington Smyth อดีตเจ้ากรมเหมืองแร่ของประเทศสยาม แปลโดยน.ส. เสาวลักษณ์ กีชานนท์ จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร

ผมไปได้หนังสือแปลฉบับภาษาไทยจากศูนย์หนังสือจุฬา (ศาลาพระเกี้ยว) เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งหลังจากที่อ่านจบแล้วก็เก็บเอาไว้บนชั้นหนังสือ

เมื่อวานได้โอกาสเอามาเปิดดูใหม่ เพราะคลับคล้ายคลับคลาว่าจะมีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ในนั้น ..... แล้วก็พบจริง ๆ

ข้อมูลนั้นคือ "บันทึกปริมาณน้ำฝนที่ตกในกรุงเทพมหานครในช่วงปีค.ศ. ๑๘๘๒ - ค.ศ. ๑๘๙๐ หรือ "เมื่อ ๑๓๐ ปีที่แล้ว"

แต่ก่อนอื่นคงต้องขอทำความเข้าใจเรื่องการนับปีพ.ศ. กับปีค.ศ. กันก่อน

รูปที่ ๒ สถิติอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนในกรุงเทพในปีค.ศ. ๑๘๙๐ จากหนังสือหน้า ๓๖๖ ที่ถูกต้องผมคิดว่าเดือนมกราคมถึงมีนาคมควรต้องเป็นปีพ.ศ. ๒๔๓๒ ส่วนพ.ศ. ๒๔๓๓ จะเริ่มต้นในเดือนเมษายน (ดูคำอธิบายเรื่องการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของไทยในหน้าถัดไป)

ประเทศไทยเดิมนั้นวันขึ้นปีใหม่คือวันที่ ๑ เมษายน ซึ่งเป็นวันที่จะมีการเปลี่ยนปีพ.ศ. เช่นสมมุติว่าวันนี้คือวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ (ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘) วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ (ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘) พอไปถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (ตรงกับวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๘) วันถัดไปจะเป็นวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๑๔๘๑ (แต่จะเป็นวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๙ - ปีค.ศ.เปลี่ยน แต่ปีพ.ศ. ยังไม่เปลี่ยน)

ประเทศไทยมาปรับวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคมในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ กล่าวคือปีพ.ศ. ๒๔๘๓ จะมีเพียง ๘ เดือนเท่านั้นเอง คือจากวันที่ ๑ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) วันถัดไปจะเป็นวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่วันที่มีการเปลี่ยนปีพ.ศ. ตรงกับวันที่มีการเปลี่ยนปีค.ศ.

รูปที่ ๓ สถิติปริมาณน้ำฝนในกรุงเทพในช่วงปีค.ศ. ๑๘๘๒ ถึงปีค.ศ. ๑๘๙๐ จากหนังสือหน้า ๓๖๗ ตารางนี้ผมคิดว่าไม่น่าจะถูกต้องในส่วนการแปลงปีค.ศ. เป็นปีพ.ศ. ของเดือนมกราคมถึงมีนาคมเช่นเดียวกับตารางในรูปที่ ๒

รูปที่ ๔ สถิติการส่งออกข้าวในช่วงปีค.ศ. ๑๘๘๕ ถึงปีค.ศ. ๑๘๙๖ จากหนังสือหน้า ๓๘๐ จะเห็นว่ามีการพูดถึงปริมาณน้ำฝนในบางปีด้วย

ในภาคผนวก ๑ เรื่อง "กระแสน้ำและลมในแม่น้ำเจ้าพระยา" ของหนังสือดังกล่าวมีการให้ข้อมูลอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนที่ตกในกรุงเทพมหานครในช่วงปีค.ศ. ๑๘๘๒ - ค.ศ. ๑๘๙๐ (หน้า ๓๖๖ ในรูปที่ ๒ และหน้า ๓๖๗ ในรูปที่ ๓) และยังมีปรากฏในภาคผนวก ๓ (หน้า ๓๘๐ ในรูปที่ ๔)

ในส่วนท้ายของภาคผนวก ๑ นั้น (หน้า ๓๖๘ ในหนังสือ) นายสมิทได้กล่าวเอาไว้ว่า "การวัดปริมาณฝนตกที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศนี้จัดทำขึ้นโดยองค์กรเอกชนหรือเป็นของส่วนบุคคล() ข้อมูลที่เห็นอยู่ด้านบนได้มาจากบริษัทบอร์เนียว เป็นที่คาดหวังกันมากว่าประเทศที่ต้องพึ่งพาปริมาณฝนตกอย่างมากมายที่สยามและประเทศซึ่งความผันแปรต่าง ๆ มีอิทธิพลที่สำคัญยิ่งต่อผลผลิตประจำปีและต่อการติดต่อสื่อสารกับจังหวัดต่าง ๆ มากมายที่อยู่ห่างไกลเช่นนี้ รัฐบาลควรจะก่อตั้งสถานีเก็บข้อมูลไว้ในทุก ๆ จังหวัด และแม้ว่าจะได้มีการนำเข้าเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนเป็นจำนวนมากตั้งแต่ ๓-๔ ปีที่แล้ว() แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยได้เห็นผลงานใด ๆ ที่เกิดจากเครื่องวัดเหล่านั้น"

หมายเหตุ
(๑) คือข้อมูลในรูปที่ ๓ ที่เอามาแสดงให้ดู
(๒) น่าจะเป็นช่วงปีค.ศ. ๑๘๙๔ - ค.ศ. ๑๘๙๕ หรือปีพ.ศ. ๒๔๓๗ - พ.ศ. ๒๔๓๘

ผมลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่พยากรณ์อากาศในประเทศไทย พบว่าหน่วยงานแรกที่ทำหน้าที่ดังกล่าวคือกองทัพเรือ จากหน้าเว็บของกองอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ (รูปที่ ๕) ให้ข้อมูลไว้ว่า กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น) ได้วางแนวทางการศึกษาและเป็นผู้บรรยายวิชาการอุตุนิยมวิทยา ณ โรงเรียนนายเรือในปีพ.ศ. ๒๔๔๙ (ช่วงปลายรัชกาลที่ ๕) และมีการเรียบเรียงตำราอุตุนิยมวิทยาฉบับภาษาไทยเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๔๕๕ (ต้นรัชกาลที่ ๖) โดยพลเรือโทพระยาราชวังสัน ทำให้น่าจะเชื่อได้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศของไทยควรจะมีการเก็บรวบรวมมาก่อนปีพ.ศ. ๒๔๔๙ แล้ว

ในเดือนสิงหาคมปีพ.ศ. ๒๕๐๕ จึงได้มีการโอนกิจการอุตุนิยมวิทยา (ก็คือพยากรณ์อากาศนั่นแหละ) จากกรมทดน้ำ กระทรวงเกษตราธิการไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ในกองทัพเรือเองก็ยังคงมีหน่วยงานพยากรณ์อากาศของตัวเอง ขึ้นอยู่กับสถานีทหารเรือสัตหีบ ๑ 
 
ดังนั้นปีพ.ศ. ๒๕๐๕ ก็น่าจะเป็นปีที่ก่อตั้งกรมอุตุนิยมวิทยาปัจจุบัน ดังนั้นถ้านับอายุจากวันดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน กรมอุตุนิยมวิทยาก็พึ่งจะมีอายุครบรอบ ๕๐ ปีในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง

รูปที่ ๕ หน้าเว็บของกองอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ (ณ วันศุกร์ที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕)

การโอนกิจการนั้นอาจเป็นเพียงแค่ การโอนหน้าที่ไปให้หน่วยงานใหม่รับผิดชอบ คือให้หน่วยงานใหม่ทำหน้าที่ดังกล่าว ส่วนตัวหน่วยงานใหม่จะรับเอาบุคลากร อุปกรณ์ และข้อมูลต่าง ๆ ของหน่วยงานเดิมที่ทำหน้าที่อยู่นั้นไปด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่มีการโอนข้อมูลจากหน่วยงานเดิมไปยังหน่วยงานใหม่ หน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นก็คงจะมีช้อมูลสะสมย้อนหลังไปถึงเพียงแค่วันที่ก่อตั้งหน่วยงานนั้น

ประวัติของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือเองก็แสดงให้เห็นว่าทางกองทัพเรือก็มีหน่วยงานด้านพยากรณ์อากาศเป็นของตนเองที่ทำหน้าที่คู่ขนานไปกับหน่วยงานด้านพยากรณ์อากาศในส่วนที่ไม่ใช่ของกองทัพ และกองทัพเรือเองก็เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ให้ความสนใจงานด้านอุตุนิยมวิทยา (เริ่มเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่แล้ว)

ตอนนี้เราคงจะได้เห็นกันแล้วนะว่า ข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ตกในกรุงเทพมหานครมีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นระบบ (ส่วนจะต่อเนื่องแค่ไหนนั้นไม่รู้เหมือนกัน) เอาไว้อย่างน้อยเมื่อ ๑๓๐ ปีที่แล้ว

ผมพึ่งจะตรวจพบว่า Memoir ฉบับที่ ๔๘๘ นั้นไม่มี คือมันกระโดดจากฉบับที่ ๔๘๗ ไปยัง ๔๘๙ เลย ดังนั้นเพื่อเป็นการปรับแก้ตัวเลข Memoir ฉบับนี้แทนที่จะเป็นฉบับที่ ๕๑๒ ก็เลยต้องให้เป็นฉบับที่ ๕๑๑ก แล้วฉบับต่อไปจึงจะให้เป็นฉบับที่ ๕๑๒