วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

คลองอรชร (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๐) MO Memoir : Tuesday 30 April 2556

ลองนี้ผมได้ยินชื่อตั้งแต่ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ว่าถนนข้างรั้วเดิมนั้นเป็นคลองชื่อ "อรชร"

ในมาตรา ๓ ของพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๖ หน้า ๑๓๖๔ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ (รูปที่ ๑) ระบุชื่อ "คลองอรชร" ไว้ว่าเป็นขอบเขตด้านทิศตะวันออกของที่ดินแปลงที่ ๑ ที่โอนกรรมสิทธิ์ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในแผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ (รูปที่ ๒) ก็มีการระบุชื่อคลองอรชรในแผนที่ (แผนที่ที่ดาวน์โหลดมาจากเว็บของราชกิจจานุเบกษาไม่ค่อยชัดเท่าไร แต่เมื่อขยายแล้วก็พออ่านออกได้ว่าเป็นคลองอรชรกับถนนสนามม้า)


รูปที่ ๑ มาตรา ๓ ของพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๒ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๖ หน้า ๑๓๖๔ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒) ที่ดินแปลงที่ ๑ คือที่ฝั่งหอประชุมจุฬาฯ ที่ดินแปลงที่สองคือฝั่งด้านสนามกีฬาและตลาดสามย่านไปจนจรดถนนบรรทัดทอง ที่ดินแปลงที่ ๓ คือแปลงอีกฟากของถนนบรรทัดทอง ที่ปัจจุบันเป็นตึกแถว และด้านหลังเป็นคลอง

แต่ในแผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติโอนคลองไผ่สิงห์โต ให้สภากาชาดไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๙ ตอนที่ ๘๑ หน้า ๒๕๘๙ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (รูปที่ ๓) ที่แสดงรูปด้านถนนพระราม ๔ เรียกคลองนี้ว่าคลองสนามม้า ส่วนถนนที่ขนานไปกับคลองดังกล่าวยังเรียกว่าถนนสนามม้า
  
คลองไผ่สิงห์โตตามรูปที่ ๓ ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งไม่มีร่องรอยของคลองหลงเหลือแล้ว ส่วนปลายคลองไผ่สิงห์โตด้านถนนสนามม้า น่าจะตรงกับบริเวณโรงอาหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน
   
รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๒ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๖ หน้า ๑๓๖๔ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒) ในกรอบแดงคือชื่อที่ระบุคลองอรชรและถนนสนามม้า

ปัจจุบันถนนสนามม้ากลายเป็นถนนอังรีดูนังต์ ส่วนคลองอรชรเลียบรั้วจุฬานั้นก็คือถนนอังรีดูนังต์ด้านฝั่งรั้วจุฬานั่นเอง ที่ยังพอมีอนุสรณ์ให้เห็นอยู่เห็นจะได้แก่สะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ (บูรณะปีพ.ศ. ๒๕๐๖) ที่อยู่สุดถนนอังรีดูนังต์ด้านถนนพระราม ๑ โดยอยู่ระหว่างห้างพารากอนและวัดสระปทุม (รูปที่ ๔) ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไรและจะมีสักกี่คนที่จะสังเกตเห็นว่าที่ตรงนั้นเคยมีสะพานข้ามคลองอยู่

อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะถึงวันฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีของคณะแล้ว ก็เลยเขียนเรื่องเกี่ยวกับคณะซักหน่อย

รูปที่ ๓ แผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติโอนคลองไผ่สิงห์โต ให้สภากาชาดไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๙ ตอนที่ ๘๑ หน้า ๒๕๘๙ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕) ในกรอบแดงคือชื่อที่ระบุคลองสนามม้า (คลอรอรชร) และถนนสนามม้า


รูปที่ ๔ สามแยกแยกเฉลิมเผ่า สุดสายถนนอังรีดูนังต์ด้านถนนพระราม ๑ ยังเหลือส่วนที่เคยเป็นสะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ บูรณะ ๒๕๐๖ เอาไว้ให้เห็น (ในกรอบสีแดง) ส่วนตัวคลองอรชรยังคงพอเหลืออยู่ (ในกรอบสีเหลือง) ด้านที่เชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

บทเรียนจากคืนวันศุกร์ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๖ ตอนที่ ๒ จุดเกิดเหตุ MO Memoir : Saturday 27 April 2556

เท่าที่ประสบมากับตนเองและที่ได้เล่าเรียนมานั้น รูปแบบการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์นั้นอาจมีลักษณะเป็น

รูปแบบที่ ๑ ใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องเต็มที่ตลอดเวลาที่ทำงาน จนกว่าจะปิดสวิตช์ เช่น หลอดไฟฟ้า พัดลม โทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ เครื่องเป่าผม
  
รูปแบบที่ ๒ ใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องเต็มที่ตลอดเวลาที่ทำงาน จนกว่าสวิตช์อัตโนมัติจะตัดไฟ (ไม่มีการใช้ไฟฟ้าอีก) เช่น หม้อหุงข้าว (ชนิดไม่มีการอุ่น) กาต้มน้ำไฟฟ้า (ชนิดไม่มีการอุ่นให้ร้อนตลอดเวลา)
 
รูปแบบที่ ๓ ใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องเต็มที่ตลอดเวลาที่ทำงาน จนถึงระดับที่ต้องการ สวิตช์อัตโนมัติก็จะลด
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง (ยังมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ แต่ในระดับที่ลดต่ำลง) เช่น หม้อหุงข้าว (ชนิดที่มีการอุ่นให้ร้อนหลังข้าวสุก)
  
รูปแบบที่ ๔ ใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องเต็มที่จนได้ระดับการทำงาน จากนั้นจะตัดไฟด้วยสวิตช์อัตโนมัติ และสวิตช์อัตโนมัติจะจ่ายไฟใหม่เมื่อสภาพการทำงานลดต่ำลง เช่น กาต้มน้ำไฟฟ้า (ที่มีการอุ่นให้ร้อน) เตารีด กระทะไฟฟ้า ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ (ชนิดที่ไม่ใช่แบบอินเวอร์เตอร์) ปั๊มน้ำอัตโนมัติที่ใช้กันตามบ้าน

อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าตามรูปแบบที่ ๑ ที่มีโอกาสทำให้เกิดไฟไหม้ได้มากคือพัดลม เพราะมักจะมีการเปิดทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่มีการดูแล (เช่นเพื่อระบายอากาศหรือตอนนอนหลับ) ความร้อนจะสะสมที่ตัวมอเตอร์ ถ้าตัวพัดลมทำจากพลาสติกที่ไม่ดีและมอเตอร์ไม่มีคุณภาพ ความร้อนที่สะสมนั้นก็อาจทำให้พลาสติกของพัดลมลุกไหม้ได้ หรือถ้ามอเตอร์หมุนไม่สะดวกหรือใช้สายพ่วงที่เป็นขดม้วนแล้วไม่คลี่ออกหมด กระแสที่ดึงเข้ามาจะทำให้สายไฟร้อนจนฉนวนละลาย ลวดทองแดงสัมผัสกันและเกิดไฟลัดวงจรได้
 
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าตามรูปแบบที่ ๒-๔ นั้น ที่เห็นกันในบ้านเรือนมักจะเป็นพวกที่กินกระแสไฟสูง (กำลังวัตต์สูงในระดับหลายร้อยวัตต์หรือมากกว่าพันวัตต์) พวกนี้ถ้าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้ก็มักจะเป็นที่ตัวสายไฟหรือปลั๊กที่เสียบใช้ (ที่เคยเอารูปมาให้ดูในตอนที่ ๑ ของเรื่องนี้) หรือไม่ก็ตัวอุปกรณ์ไฟฟ้าเองถ้าสวิตช์อัตโนมัติไม่ทำการตัดไฟ (หรือตัวอุปกรณ์ไม่มีสวิตช์อัตโนมัติ) ทำให้ตัวอุปกรณ์ร้อนจัดจนชิ้นส่วนที่ติดไฟได้ (เช่นพลาสติก) ลุกไหม้ได้
 
ตัวอย่างที่แรกที่เคยเจอกับบ้านตัวเองคือเตารีดที่เสียบปลั๊กไม่แน่น พอเราเปิดเตารีด ช่วงแรกเตารีดจะดึงไฟเต็มที่เพื่อให้เตารีดร้อนจนได้ระดับที่เราตั้งไว้ จากเทอร์โมสตัต (thermostat) ก็จะตัดไฟ เมื่ออุณภูมิเตารีดเย็นลงมันก็จะดึงไฟเข้ามาใหม่ พอร้อนได้ที่ก็จะตัดไฟอีก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะรีดผ้าเสร็จ ในกรณีเช่นนี้ความต่างศักย์ที่จ่ายไฟฟ้าให้นั้นคงที่ และกระแสในช่วงจังหวะที่ดึงเข้ามาก็คงที่ ความร้อนที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลจากความต้านทาน (P = I2R) ความร้อนนี้เกิดขึ้นที่โลหะที่เป็นขาปลั๊กตัวผู้และโลหะที่เป็นตัวนำของปลั๊กตัวเมีย ถ้ามันสะสมมาก ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าพลาสติกตัวไหนทนกว่ากัน ครั้งหนึ่งที่เคยเจอคือตัวที่มีปัญหาให้เห็นก่อนคือฉนวนสายไฟตรงตำแหน่งที่ต่อกับปลั๊กตัวผู้ของกาต้มน้ำ เพราะโลหะมันนำความร้อนได้ดี แถมพลาสติกลำตัวปลั๊กตัวผู้ก็มีความหนา ฉนวนสายไฟ (สายอ่อน) ที่บางกว่าก็เลยไหม้ทะลุก่อน
  
ตัวอย่างที่สองที่เคยเจอคือกระทะไฟฟ้าที่เกิดจากการเปิดกระทะเพื่ออุ่นอาหารจนแห้ง แล้วเผลอลืมทิ้งไว้จนแห้ง ทำให้ตัวกระทะร้อนจัด อันนี้โชคดีที่ตัวกระทำจากโลหะเลยรอดไปหวุดหวิด

ดังนั้นเวลาที่จะสรุปว่าสาเหตุเกิดจากเพลิงไหม้ เราจึงควรต้องดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นมีการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบใด และกินกำลังไฟฟ้ากี่วัตต์

สำหรับคนที่เพิ่งจะมาเห็น Memoir ฉบับนี้ ขอแนะนำให้อ่าน Memoir ที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ก่อนคือ
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖๐๘ วันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๖ เรื่อง "บทเรียนจากคืนวันศุกร์ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๖ ตอนที่ ๑ ทางเข้า-ออกฉุกเฉิน"
  
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖๑๑ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๖ เรื่อง "ไฟฟ้ากระแสสลับ ตัวประกอบกำลัง ความร้อนที่เกิด"

และก่อนที่จะอ่านเรื่องนี้หรือตีความใด ๆ ในเรื่องที่จะเล่าต่อไป ขอแนะนำให้ไปอ่าน Memoir ข้างล่างนี้ก่อน
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๙๑ วันศุกร์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "อ่านระหว่างบรรทัด (Read between the line)"

ผมตั้งใจให้รูปแต่ละรูปมีขนาดเต็มหน้าจะได้ดูเห็นกันชัดเจน ดังนั้นคำบรรยายใต้รูปจึงไม่มี มีแต่หมายเลขรูป ส่วนเรื่องราวเท่าที่ผมไปสืบค้นมาได้ และตามความคิดเห็นของผมเองนั้น จะมีอะไรบ้าง เชิญอ่านคำบรรยายไปทีละรูปก็แล้วกัน



รูปที่ ๑ เป็นภาพบริเวณที่เกิดเหตุเมื่อมองเฉียงเข้ามาจากทางด้านซ้าย ที่อยู่มุมล่างซ้ายของรูปคือ Dehumidifier cabinet ที่เป็นตู้ควบคุมความชื้น ไว้สำหรับเก็บสารและเครื่องมือที่ไม่ต้องการให้พบกับความชื้นสูง ถังกลม ๆ ที่อยู่หน้ากำแพงบนโต๊ะหน้ารอยไฟไหม้ที่กำแพงคือเครื่องทำน้ำกลั่น (เข้าใจว่าเป็นส่วนของหม้อต้มน้ำ) ซึ่งดูเหมือนว่ายังคงอยู่ที่ตำแหน่งเดิมหลังเกิดเหตุ โครงสร้างเดิมของหม้อต้มน้ำตัวนี้ดูเหมือนจะมีผนังพลาสติกหุ้มเป็นเปลือกนอก 
 
ตัวข้างหน้าเครื่องทำน้ำกลั่น (สีเขียว) คือ peristatic pump เข้าใจว่ายังคงตั้งอยู่ในตำแหน่งเดิม ณ ขณะเกิดเหตุ โดยที่ยังไม่มีการเคลื่อนย้าย



รูปที่ ๒ เป็นภาพบริเวณที่เกิดเหตุเมื่อมองเฉียงเข้ามาจากทางด้านซ้ายโดยเดินเข้าไปใกล้อีกนิดหน่อย สายไฟที่เห็นพาดห้อยมาทางด้านหน้าโต๊ะผ่านหน้า peristatic pump คือสายไฟของ perstatic pump ในระหว่างเกิดเหตุนั้นไม่มีการใช้งาน peristatic pump ส่วนถังโลหะกลม ๆ อยู่ทางข้างหลัง peristatic pump ทางด้านขวาของรูปเขาบอกว่าเป็นชิ้นส่วนของเครื่องทำน้ำกลั่น (เข้าใจว่าเป็นตัวถังใส่น้ำหล่อเย็นสำหรับวางอยู่ข้างบนถังที่เป็นหม้อต้มน้ำ เพื่อไว้ควบแน่นไอน้ำที่ระเหยออกมาจากหม้อต้มและระบายออกไปใส่ถังเก็บ) โครงสร้างเดิมของถังใส่น้ำหล่อเย็นตัวนี้เข้าใจว่าจะเป็นถังโลหะไม่มีผนังพลาสติกหุ้มเหมือนตัวหม้อต้มน้ำ แต่ผมเองก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าเวลาใช้งานมันเป็นอย่างไร
ดูเหมือนว่าถังใบนี้มีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งเกิดขึ้น (น่าจะเป็นช่วงตอนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาระงับเหตุ)

รูปที่ ๓ เป็นภาพบริเวณที่เกิดเหตุเมื่อมองเฉียงเข้ามาจากทางด้านขวา สังเกตบนพื้นโต๊ที่อยู่ทางด้านขวาของถังส่น้ำหล่อเย็นมีลักษณะเป็นพื้นที่สะอาดเป็นวงสีโทนขาวสีเดียวกับพื้นโต๊ะ ในขณะที่รอบ ๆ วงดังกล่าวมีคราบสกปรกอยู่เต็มไปหมด ตรงนี้ทำให้เดาว่าในขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้คงมีสิ่งของตั้งวางอยู่ และถูกเคลื่อนย้ายออกไป (เดาว่าคงเป็นเพราะเพื่อการระงับเหตุ) ตัวของหม้อต้นน้ำกลั่นเมื่อมองจากทางด้านนี้จะเห็นว่าถูกเผาซะจนเหล็กขึ้นสนิม (เทียบกับรูปที่ ๒ และ ๖ จะเห็นได้ว่าผิวโลหะด้านนี้แตกต่างจากเมื่อมองจากอีกด้านหนึ่งมาก นั่นแสดงว่าด้านนี้ของหม้อต้มน้ำเป็นด้านที่ "ได้รับความร้อนต่อเนื่อง" เป็นเวลานาน
ก้อนดำที่แขวนห้อยอยู่ทางด้านขวาของหม้อต้มน้ำคือปลั๊กไฟตัวผู้ของเครื่อง Dehumidifier cabinet และปลั๊กไฟตัวเมีย หม้อต้มน้ำไม่ได้ดึงไฟฟ้าจากตำแหน่งนี้
ในวันเกิดเหตุนั้น Dehumidifier cabinet มีการใช้งาน โดยอุปกรณ์ตัวนี้มีการกินกระแสไฟเป็นระยะ (ขนาดวัตต์ไม่น่าจะมากเท่าไรนั้น เท่าที่ค้นได้สำหรับตู้ขนาดที่เห็นในภาพไม่น่าจะเกิน 40 วัตต์) ถ้าความชื้นในตู้สูงเกินค่าที่ตั้งไว้ก็จะเปิดทำงาน พอได้ระดับก็จะปิดทำงาน ส่วนหม้อต้มน้ำมีการใช้งาน รูปแบบการทำงานเป็นแบบต้มน้ำให้ระเหยจนหมด พอน้ำแห้งสวิตช์อัตโนมัติก็จะทำการตัดไฟ เครื่องนี้เป็นอุปกรณ์ที่กินกระแสสูงต่อเนื่องจนกว่าสวิตช์อัตโนมัติจะทำการตัดไฟ


 
รูปที่ ๔ เป็นภาพมุมเดียวกับรูปที่ ๓ แต่ขยายเข้าไปยังบริเวณที่สงสัยว่าจะเป็นต้นเพลิง จะเห็นว่าด้านล่างส่วนฐานของหม้อต้มน้ำนั้นได้รับความเสียหายมาก ส่วนด้านล่างส่วนฐานของถังใส่น้ำหล่อเย็นก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน แต่น้อยกว่า จะเห็นว่าบริเวณพื้นโต๊ะไม่ได้รับความเสียหายเท่าไรนัก อาจเป็นเพราะว่าเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ทนความร้อนมากกว่าไม้ และเป็นชนิดที่ไม่ลุกติดไฟด้วยตนเอง (คือไหม้ได้ แต่ต้องมีเปลวไฟจากแหล่งอื่นมาเผา) และอีกอย่างคือเปลวไฟและแก๊สร้อนจะลอยขึ้นสู่ด้านบน สิ่งที่อยู่เหนือระดับเปลวไฟจะลุกไหมได้ง่ายกว่า (แต่ถ้าเป็นการแผ่รังสีความร้อนมันจะไปได้ทุกทิศ ไม่ขึ้นกับแรงดึงดูดของโลก แต่ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับว่ามีอะไรมาบังทิศทางแผ่รังสีหรือไม่)


 
รูปที่ ๕ เป็นรูปขยายของเต้ารับตัวเมียและปลั๊กตัวผู้ (ของเครื่อง Dehumidifier cabinet) ที่ได้รับความร้อนจนหลอมรวมติดกัน สายสีน้ำตาล 3 เส้นที่ทอดไปทางด้านบนคือสายไฟที่จ่ายไฟให้กับเต้ารับ ฉนวนโดนไฟไหม้จะสลายตัวไปหมด ส่วนของปลั๊กตัวผู้จะเป็นสายไฟส่วนที่พ้นตัวปลั๊กออกมาที่เห็นเป็นสีน้ำตาลสองเส้น


 
รูปที่ ๖ เป็นรูปขยายเมื่อมองจากทางด้านซ้ายของหม้อต้มน้ำ (มุมเดียวกับรูปที่ ๒) ที่เห็นเป็นคราบขาวไหลย้อยลงมาจากทางขอบบนเข้าใจว่าเป็นคราบที่เกิดจากโครงสร้างพลาสติกละลายและไหลย้อยลงมา สำหรับอุปกรณ์ตัวนี้ที่ผมสงสัยมาแต่แรกคือตัวหม้อต้มน้ำนั้นชั้นผนังนอกสุดเป็นพลาสติกหรือเป็นโลหะ (คือสงสัยว่ามันเป็นพลาสติกหรือโลหะเคลือบสี/ชุบ) เพราะหลังจากไฟไหม้แล้วดูมันสะอาดเหลือเกิน แทบไม่มีคราบอะไรเกาะอยู่ที่บอกว่ามันชั้นพลาสติกหุ้มอยู่ จากการสอบถามนอกรอบ (จากผู้ที่เคยเห็นเครื่องแต่จำไม่ค่อยได้) เขาบอกว่าดูเหมือนว่าจะเป็นผนังพลาสติก ซึ่งถ้าเป็นพลาสติกเช่นที่เขาบอกนี้ผมก็แปลกใจมากว่า ถ้าผู้ผลิตเลือกใช้พลาสติกทำผนังด้านนอก ทำไมไม่เลือกใช้พลาสติกที่มันทนความร้อนหน่อยและไม่ลุกไหม้ด้วยตนเองได้ 
  

รูปที่ ๗ เป็นรูปกระบอกตวงพลาสติกใส่น้ำที่วางอยู่ในบริเวณใกล้เคียง พลาสติกนำความร้อนได้แย่กว่าโลหะ ถ้าเป็นโลหะ ลำตัวที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเหลวจะไม่เสียหาย เพราะความร้อนจะถ่ายเทไปให้ของเหลว แต่นี่เป็นพลาสติก เมื่อได้รับความร้อนตัวพลาสติกจะร้อนจนอ่อนตัวลง ถ้ากระบอกตวงตัวนี้ยังคงอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมในวันที่เกิดเหตุ มันก็จะบอกให้เราทราบได้ว่าทิศทางไฟไหม้มาจากทางด้านไหน (ด้านที่หลอมละลายหันเข้าหา) และความสูงของเปลวไฟนั้นอยู่ที่ระดับใด

รูปที่ ๘ เป็นถังรองรับน้ำกลั่นที่กลั่นได้จากหม้อต้มน้ำที่ได้รับความร้อนจากทางด้านบนจนด้านบนหลอมละลาย ที่อยู่ในกรอบสีเหลืองคือรูสำหรับรองรับน้ำกลั่น จะไม่เห็นว่ามีพลาสติกชนิดอื่นนอกจากตัวถังเอง แสดงว่าตอนได้รับความร้อนนั้นรูดังกล่าวเปิดอยู่ และไม่มีส่วนฝาถังอยู่ด้านบนของตัวถัง ฝากสังเกตรูปทรงของถังและลายที่ขอบล่างของถังด้วย


 
รูปที่ ๙ เป็นภาพแสดงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ ส่วนเดิมมันคืออะไรนั้นผมเองก็ดูไม่ออก


 
รูปที่ ๑๐ เป็นภาพแสดงความเสียหายทางด้านข้างของ peristatic pump

  
รูปที่ ๑๑ เป็นรูปเครื่องผลิตน้ำกลั่นที่เห็นมีโฆษณาขายในอินเทอร์เน็ต เป็นชนิดที่ใช้การต้มน้ำจนแห้งแล้วก็ตัดไฟ โดยใส่น้ำลงไปในหม้อต้มตัวข้างขวา แล้วก็ปิดฝาหม้อต้ม (ตัวข้างซ้าย) ผมหารายละเอียดการทำงานของอุปกรณ์ในรูปไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าตัวฝานั้นจะใช้พัดลมระบายความร้อน ทำให้ไอน้ำที่ระเหยขึ้นมาจากการต้มนั้นควบแน่นเป็นหยดน้ำ ไหลออกไปสู่ถังรองรับน้ำกลั่น (ถังพลาสติกใบที่อยู่ข้างหลัง) ที่เลือกรูปนี้มาก็เพราะมันเปิดให้เห็นโครงสร้างในถังและรูปร่างของถังพลาสติกรองรับน้ำกลั่นที่มาพร้อมกับตัวเครื่อง (ดูรูปที่ ๘ เปรียบเทียบ)

ผมหาตัวที่มีรูปร่างเหมือนหรือใกล้เคียงกับตัวที่อยู่ในที่เกิดเหตุไฟไหม้ไม่เจอ เลยเลือกเอาตัวนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่างเพราะเห็นว่ามีหลักการทำงานแบบเดียวกัน ต่างกันที่ระบบทำความเย็นเพื่อควบแน่นไอน้ำ ที่ตัวที่อยู่ในที่เกิดเหตุใช้น้ำหล่อเย็น แต่ตัวนี้ดูเหมือนจะใช้พัดลมเป่า
 
ข้อสรุปอย่างเป็นทางการนั้นจะลงเอ่ยอย่างไรขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็อาจเป็นไปเพื่อให้เรื่องมันยุติ เพราะไม่รู้ว่าจะไปตั้งต้นหาผู้กระทำผิดจากที่ไหน เช่นสมมุติว่าสรุปว่าปลั๊กหลวม แล้วจะไปโทษคนเสียบปลั๊กได้เหรอ เพราะปลั๊กบางตัวก็เสียบทิ้งไว้เป็นเวลานาน ตัวอย่างเช่นปลั๊กตู้เย็นตามบ้านคุณเอง ถ้าไปถามว่าใครเป็นคนเสียบปลั๊ก และเสียบเอาไว้ตั้งแต่เมื่อไร ก็คงไม่มีใครตอบได้ ตอนที่เสียบมันอาจจะแน่นดี แต่เวลาผ่านไปมันอาจได้รับการกระทบกระเทือน หรือการขยับตัวเนื่องจากน้ำหนักตัวมันเอง จนทำให้ปลั๊กหลวมก็ได้ (แล้วจะให้ไปเอาผิดกับใคร เจ้าของสถานที่ก็รับผิดชอบค่าซ่อมแซมไปเองก็แล้วกัน)
 
แต่สำหรับผู้ปฏิบัติงานแล้ว การทราบสาเหตุที่แท้จริงทางเทคนิคเป็นเรื่องสำคัญ (ที่สำคัญคือในการหาสาเหตุนั้นต้องไม่มุ่งไปที่การหาคนรับผิด) เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

ตอนนี้พวกคุณก็มีข้อมูลเท่า ๆ กับที่ผมมีแล้ว ที่เหลือก็ขอให้พิจารณากันเอาเองก็แล้วกัน


รูปที่ ๑


รูปที่ ๒


รูปที่ ๓


รูปที่ ๔


รูปที่ ๕


รูปที่ ๖


รูปที่ ๗


รูปที่ ๘ 


รูปที่ ๙ 


รูปที่ ๑๐

รูปที่ ๑๑

วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556

ไฟฟ้ากระแสสลับ ตัวประกอบกำลัง ความร้อนที่เกิด MO Memoir : Thursday 25 April 2556

ขอทบทวนพื้นฐานไฟฟ้ากำลังกัน ก่อนที่จะต่อไปยังเหตุการณ์คืนวันศุกร์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๖

สิ่งหนึ่งที่ไฟฟ้ากระแสสลับต่างจากไฟฟ้ากระแสตรงคือการที่ไฟฟ้ากระแสสลับมีมุมเฟส (θ) ระหว่างเฟสกระแสไฟฟ้า (I) กับเฟสความต่างศักย์ (V) ทำให้เกิดค่าที่เรียกว่า "ตัวประกอบกำลัง - power factor" ซึ่งเท่ากับ cos(θ) เราสามารถใช้ค่ามุม θ นี้จำแนกอุปกรณ์ไฟฟ้าออกเป็น ๓ ประเภทคือ
 
(ก) พวกมุมเฟสของกระแสและความต่างศักย์เปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน หรือค่า θ เป็นศูนย์ อุปกรณ์ในกลุ่มนี้ได้แก่พวกที่มีแต่ความต้านทานอย่างเดียว เช่นเตาให้ความร้อน หลอดไฟแบบมีไส้ 
   
(ข) พวกที่มุมเฟสของกระแสจะตามหลังเฟสของความต่างศักย์ เรียกว่ามีตัวประกอบกำลังแบบตาม (lagging power factor) อุปกรณ์ในกลุ่มนี้ได้แก่พวกที่มีขดลวดเหนี่ยวนำ เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ 
   
(ค) พวกที่มุมเฟสของกระแสนำหน้าเฟสของความต่างศักย์ เรียกว่ามีตัวประกอบกำลังแบบนำ (leading power factor) ได้แก่พวกที่มีตัวเก็บประจุ (capacitor หรือ condenser) 
  
ถ้าอุปกรณ์ไฟฟ้ามีทั้งความต้านทาน ขดลวดเหนี่ยวนำ และตัวเก็บประจุรวมกันอยู่ ค่า θ จะขึ้นอยู่กับว่าชิ้นส่วนไหนให้ผลที่เด่นกว่ากัน ภาพโดยรวมก็คืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กันส่วนใหญ่ในบ้าน อาคารพาณิชย์ และในโรงงานจะเป็นแบบ (ก) และ (ข)

อุปกรณ์ไฟฟ้าหลักที่ก่อให้เกิดปัญหา lagging power factorเห็นจะได้แก่มอเตอร์ไฟฟ้ากับหลอดฟลูออเรสเซนต์ ตัวมอเตอร์ไฟฟ้านั้นค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนตัวหลอดฟลูออเรสเซนต์นั้นตัวที่ก่อปัญหาคือตัวบัลลาสต์
  
บัลลาสต์แบบแกนขดลวดมีข้อดีคือมันทนดี ไม่เสียง่าย แต่ก็มีข้อเสียคือมีค่าตัวประกอบกำลังที่ต่ำ (ประมาณ 0.3) และมีการสูญเสียพลังงานค่อนข้างสูง คิดประมาณง่าย ๆ คือบัลลาสต์ธรรมดาสำหรับหลอด 36 W จะมีการสูญเสียพลังงานที่ตัวบัลลาสต์ประมาณ 10 W แต่ถ้าเป็นชนิด low loss ก็อาจจะสูญเสียพลังงานประมาณ 5 W การลดการสูญเสียที่บัลลาสต์ได้ 5 W ต่อไฟ 1 ดวง ถ้าคิดจำนวนหลอดไฟทั้งอาคารจะเห็นว่าเป็นปริมาณมาก ดังนั้นในบางอาคารจึงได้มีการประหยัดไฟด้วยการเปลี่ยนบัลลาสต์แบบธรรมดาให้กลายเป็นชนิด low loss ทั้งหมด ส่วนบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์แม้จะให้ค่าตัวประกอบกำลังที่สูงกว่า (ที่เคยเห็นคือตั้งแต่ 0.5-0.8) และพลังงานสูญเสียต่ำกว่าแต่มีราคาสูงกว่ามากและไม่ค่อยอึดเท่าไรนัก ผมเคยซื้อมาใช้ปรากฏว่ามันพังก่อนหลอด ผมว่ามันเหมาะกับโคมไฟที่ต้องเปิดต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืนมากกว่า
  
สำหรับอาคารบ้านเรือนแต่ละหลังนั้น คงไม่ได้มีการเปิดไฟพร้อมกันทุกดวงทั้งหลัง ดังนั้นปัญหาที่เกิดจากค่า power factor ต่ำนั้นจึงไม่เด่นชัด แต่ในส่วนอาคารสำนักงานที่มีการเปิดไฟใช้งานพร้อม ๆ กันจำนวนมาก หรือในโรงงานที่มีการเดินเครื่องมอเตอร์พร้อมกันจำนวนมาก พลังงานสูญเสียที่เกิดจากค่า power factor ต่ำนั้นจะสูงมาก ดังนั้นจึงมีการออกกฎหมายควบคุมให้ต้องมีการคุมค่า power factor ไว้ไม่ให้ต่ำเกินไป วิธีการที่ทำกันก็คือติดตั้งตัวเก็บประจุ (capacitor) เข้าไป ซึ่งอาจเป็นการติดตั้งเข้ากับอุปกรณ์แต่ละตัวหรือติดตั้งที่ระบบจ่ายไฟฟ้าเข้าโรงงาน/อาคารสำนักงาน ในอดีตนั้นเวลาไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัด จะเห็นว่าที่หลอดฟลูออเรสเซนต์แต่ละดวงจะต้องมีการติดตั้งตัวเก็บประจุเอาไว้ (ไม่รู้ว่าเป็นข้อกำหนดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในสมัยนั้นหรือเปล่า) เพราะสมัยนั้นโรงผลิตไฟฟ้าของบ้านเรายังมีไม่มาก การลดความสูญเสียจึงจำเป็นมาก แต่ในปัจจุบันไม่เห็นต้องทำเช่นนั้นกันแล้ว
  
ในกรณีของกระไฟฟ้ากระแสตรงนั้น เราเรียนมากันว่าพลังงาน (P) หน่วยเป็นวัตต์ (W) มีค่าเท่ากับผลคูณของกระแสกับความต่างศักย์หรือ P = IV แต่เนื่องจากความต่างศักย์คำนวณได้จากสูตร V = IR ดังนั้นเราจะได้อีกสูตรสำหรับคำนวณค่าพลังงานคือ P = I2R
  
แต่สำหรับไฟฟ้ากระแสสลับนั้น เนื่องจากทั้งกระแสไฟฟ้าและความต่างศักย์มีการเปลี่ยนแปลง พลังงานไฟฟ้าที่ได้ ณ จังหวะเวลาใด ๆ จึงเป็นผลคูณระหว่างกระแสและความต่างศักย์ที่จังหวะเวลานั้น ถ้าจังหวะใดที่ค่ากระแสเป็นศูนย์หรือความต่างศักย์เป็นศูนย์ (ไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์ทั้งสองตัวพร้อมกัน) ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้ ณ จังหวะเวลานั้นก็จะเป็นศูนย์ 
   
สำหรับกรณีที่กระแสและความต่างศักย์คงที่ ค่าพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยจะมีค่ามากที่สุดเมื่อจังหวะเวลาที่กระแสเป็นศูนย์และความต่างศักย์เป็นศูนย์เกิดขึ้นพร้อมกัน (หรือค่ามุม θ เป็นศูนย์) สูตรคำนวณค่าพลังงานไฟฟ้า P = IV ที่ใช้กับไฟฟ้ากระแสตรงจึงใช้ไม่ได้ ในกรณีของไฟฟ้ากระแสสลับค่าพลังงานไฟฟ้าจะคำนวณได้จากสูตร P = IVcos(θ) มีหน่วยเป็นวัตต์ (W) ส่วนค่า P = IV นั้นจะใช้หน่วยเป็น VA (โวล์ต-แอมแปร์) มักจะใช้เป็นตัวบอกขนาดของกำลังไฟฟ้าที่หม้อแปลงจ่ายให้ได้ หรือพลังงานไฟฟ้าที่อุปกรณ์ไฟฟ้าต้องการ

ในกรณีของอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสสลับนั้น พลังงานไฟฟ้าที่อุปกรณ์ต้องการคือ พลังงานไฟฟ้าที่อุปกรณ์นำไปใช้งานได้จริง และพลังงานไฟฟ้าที่อุปกรณ์รับเข้ามาและส่งคืนกลับระบบไป ส่วนที่เราจ่ายค่าไฟฟ้าคือพลังงานที่อุปกรณ์นำไปใช้งานได้จริง ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่อุปกรณ์รับเข้ามาและส่งคืนกลับระบบไปนั้นถือเป็นพลังงานสูญเสียของระบบส่ง เช่นอุปกรณ์ไฟฟ้าตัวหนึ่งมีค่า cos(θ) = 0.8 ถ้าอุปกรณ์ตัวนี้กินกระแส 1 A ที่ 220 V พลังงานไฟฟ้าระบบจ่ายไฟฟ้าต้องจ่ายให้กับอุปกรณ์คือ 220 W (ได้จากผลคูณระหว่าง I กับ V) แต่ตัวอุปกรณ์จะผลิตพลังงานได้เพียง 176 W (ผลคูณระหว่าง I กับ V และ cos(θ) ส่วนที่เหลืออีก 44 W เป็นส่วนที่ต้องส่งคือระบบจ่ายไฟฟ้ากลับไป

แต่พลังงานความร้อน (หน่วยเป็นวัตต์) ที่เกิดขึ้นจากความต้านทานของตัวนำไฟฟ้าในระบบไฟฟ้ากระแสสลับนั้นยังเป็นไปตามสูตร P = I2R อยู่ (แปรผันตามกระแสกำลังสอง) จากสูตร P = IVcos(θ) จะเห็นว่าสำหรับอุปกรณ์ที่กินพลังงานไฟฟ้าเท่ากัน อุปกรณ์ตัวที่มีค่าตัวประกอบกำลังสูงกว่าจะใช้กระแสไฟฟ้าต่ำกว่า และเมื่อปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ลดต่ำลง จะทำให้ความสูญเสียพลังงานไปเป็นความร้อน (คำนวณได้จากสูตร P = I2R) ลดต่ำลงไปด้วย นอกจากนี้เมื่อความต้องการกระแสไฟฟ้าลดต่ำลงยังทำให้สามารถใช้สายไฟฟ้าที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดเล็กลงได้ด้วย ถือได้ว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟ (พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นนี้ ทางผู้ใช้ไฟเป็นคนจ่ายค่าไฟในส่วนนี้ด้วย)
  
ด้วยเหตุนี้สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องการกำลังไฟฟ้ามาก จึงมักเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องการความต่างศักย์ที่สูงขึ้น เพราะจะไปลดความต้องการกระแสไฟฟ้าให้น้อยลง การสูญเสียไปเป็นพลังงานความร้อนจากความต้านทานภายในอุปกรณ์ (คำนวณจากสูตร P = I2R) ก็จะลดต่ำลงไปได้ เช่นมอเตอร์ที่มีแรงม้าสูงขึ้น จึงมักเป็นมอเตอร์ 3 เฟสใช้ไฟ 380 V แทนที่จะเป็นมอเตอร์เฟสเดียวใช้ไฟ 220 V เพราะความต่างศักย์ของไฟฟ้า 3 เฟสที่สูงกว่าทำให้การใช้กระแสไฟฟ้าลดลง และยังเป็นการกระจายปริมาณกระแสไฟฟ้าดังกล่าวออกไปยังสายไฟฟ้า 3 เส้น (เฟสละเส้น) แทนที่จะรวมกันอยู่ในสายไฟเส้นใหญ่เส้นเดียวเช่นในกรณีของไฟฟ้าเฟสเดียว

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยพบเจอนั้น ปัจจัยภายนอกที่เกิดจากระบบจ่ายไฟฟ้าที่สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเพลิงไหม้ได้มีอยู่ ๒ ปัจจัยคือ "ไฟตก" และ "ไฟดับ"


"ไฟตก" ในที่นี้คือเหตุการณ์ที่ความต่างศักย์ไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบนั้นลดต่ำลงกว่าปรกติ คือในสายไฟฟ้ายังมีไฟฟ้าไหลอยู่ แต่แทนที่จะมีความต่างศักย์ 220 V กลับลดต่ำลงกว่า 220 V ส่วนสาเหตุจะเกิดจากอะไรบ้างนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบสูงเกินกว่ากำลังที่ระบบจ่ายไฟฟ้า (เช่นโรงไฟฟ้าหรือหม้อแปลง) จะจ่ายให้ได้ ก็จะเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นได้
  
ถ้าเป็นอุปกรณ์พวกที่ใช้ขดลวดความร้อนหรือความต้านทาน เช่นหลอดไส้ เวลาเกิดไฟตกจะพบว่าหลอดนั้นจุดติด คือเห็นไส้หลอดลุกส่องสว่าง แต่ความสว่างที่ได้จะต่ำผิดปรกติ ถ้าเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ก็จะพบว่าไม่สามารถเปิดให้ติดได้ (ยกเว้นว่าใช้บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ จะพบว่ามันจุดติดได้ เพราะมันรองรับไฟตกได้ดีกว่าพวกบัลลาสต์แกนขดลวด)
  
แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ เช่น พัดลม เราจะพบว่ามันหมุนช้าลง
  
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์เป็นองค์ประกอบ (เช่น พัดลม คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น) จะมีปัญหามากเวลาที่ไฟตก เช่นในกรณีของตู้เย็นนั้น ความต้องการการใช้พลังงานในการอัดสารทำความเย็นยังคงเท่าเดิมแม้ว่าจะมีปัญหาไฟตกเกิดขึ้น สิ่งที่มอเตอร์จะทำก็คือดึงกระแสเข้ามาชดเชย (V ลดลงก็ต้องดึง I เข้ามาชดเชยเพื่อให้ได้ P เท่าเดิม) ผลที่ตามมาคือตัวขดลวดจะร้อนขึ้น (ความร้อนแปรผันตามปริมาณกระแสยกกำลัง 2) โดยอาจจะเริ่มจากมอเตอร์ไหม้ก่อน (เกิดจากน้ำยาที่เคลือบลวดทองแดงเอาไว้เสื่อมสภาพจากความร้อน) และอาจลามไปถึงวัสดุที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้นด้วย ถ้าวัสดุนั้นลุกติดไฟได้ก็มีโอกาสที่จะเกิดไฟไหม้ขึ้น ด้วยเหตุนี้เวลาที่เกิดเหตุการณ์ไฟตกเขาจึงมักบอกให้รีบถอดปลั๊กตู้เย็นและปิดแอร์

เชื่อว่าพอได้ยินว่าเหตุการณ์ "ไฟดับ" สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเพลิงไหม้ได้หลายคนคงแปลกใจไม่น้อย ถ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟเฟสเดียวเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟดับอุปกรณ์ก็จะหยุดการทำงาน เป็นเหมือนกับการที่เราไปปิดเครื่องมัน ที่มันจะมีปัญหาคือการที่ไฟดับ "เพียงบางเฟส" และเรามีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า 3 เฟส (เช่นมอเตอร์และคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ของอาคาร) อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า 3 เฟสนี้แม้ว่าไฟจะขาดหายไปบางเฟส อุปกรณ์ก็จะยังคงทำงานต่อไป โดยจะไปดึง "กระแสเพิ่มเติม" จากเฟสที่ยังมีไฟฟ้าอยู่
  
ปัญหามันเกิดตรงนี้แหละ เช่นไฟฟ้าดับไป 1 เฟส มอเตอร์ก็จะดึงกระแสเพิ่มจาก 2 เฟสที่เหลือ ทำให้ขดลวดและสายไฟของเฟสที่เหลืออีกสองเฟสร้อนขึ้น โดยปรกติตัวมอเตอร์เองมันก็จะทนได้ในระดับหนึ่ง ประมาณว่าให้เวลารู้ตัวและปิดอุปกรณ์ได้ทันเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าสามารถปล่อยให้มันทำงานได้ต่อไปเรื่อย ๆ เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับอาคาร ๔ ของคณะเรา ที่แต่ละชั้นมีเครื่องปรับอากาศส่วนกลางขนาดใหญ่ ๔ เครื่องสำหรับแต่ละมุมของอาคาร เครื่อปรับอากาศเหล่านี้ใช้ไฟฟ้า 3 เฟส มีวันหนึ่งไฟฟ้าหายไป 1 เฟส ไฟแสงสว่างก็มีติดบ้างไม่ติดบ้าง ปลั๊กไฟบางปลั๊กก็มีไฟบางปลั๊กก็ไม่มี ผู้ที่ทำงานอยู่ในอาคารก็ไม่รู้ว่าควรต้องทำอย่างไร กว่าช่างประจำอาคารจะทราบเรื่องและไล่ปิดเครื่องปรับอากาศได้ก็ปรากฏว่าเกิดความเสียหายไปหลายเครื่องแล้ว

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมานั้น เหตุการณ์ที่ทำให้เกือบเกิดเพลิงไหม้ในแลปมักจะมีสาเหตุมาจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ถูกวิธี (จะโดยไม่รู้หรือไม่สนใจก็ตามแต่) มากกว่าที่จะเกิดจากไฟฟ้าที่จ่ายมามีความบกพร่อง ปัญหาที่เกิดจากไฟฟ้าที่จ่ายมามีความบกพร่องมักทำให้อุปกรณ์เสียหายมากกว่าที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ เพราะเรามักรู้ว่ามีไฟฟ้ามีปัญหาก่อนเกิดเพลิงไหม้ ไม่เหมือนกับการใช้ไม่ถูกวิธี ซึ่งจะมารู้ก็ตอนกำลังจะหรือได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นแล้ว 
   
เรื่องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ถูกวิธีนี้เคยเล่าเอาไว้เมื่อเกือบ ๕ ปีที่แล้วตั้งแต่ตอนกลุ่มเราเริ่มออก Memoir ลองไปอ่านย้อนหลังดูได้จาก Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ วันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เรื่อง "นานาสาระเรื่องไฟฟ้ากำลัง วางเพลิงแลปไม่ใช่เรื่องยาก" ดูเอาเองก็แล้วกัน

บริเวณจุดสัมผัสระหว่างขาปลั๊กตัวผู้และขั้วโลหะที่อยู่ในปลั๊กตัวเมียเป็นตำแหน่งที่มีโอกาสที่จะมีความต้านทานไฟฟ้าสูง ขึ้นอยู่กับการสัมผัสกันระหว่างขาปลั๊กตัวผู้และขั้วโลหะที่อยู่ในปลั๊กตัวเมีย ถ้ามีการสัมผัสกันดี กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้สะดวก ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าสัมผัสกันไม่ดี เช่นปลั๊กหลวม มีการสัมผัสกันเพียงบางจุด จะทำให้ตัวโลหะนำไฟฟ้าเกิดความร้อนสูง จนทำให้พลาสติกที่เป็นโครงสร้างของตัวปลั๊กหลอมเหลวหรือไหม้ได้ (ขึ้นกับชนิดพลาสติกที่ใช้ทำ ดูรูปที่ ๑ ข้างล่าง) และถ้าความร้อนนั้นสูงจนกระทั่งทำให้ฉนวนหุ้มสายไฟหลอมหรือไหม้จนสายไฟสัมผัสกันโดยตรง ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว การต่อไฟฟ้าเข้ากับอุปกรณ์ที่กินกระแสสูงจึงควรใช้การต่อถาวรผ่าน circuit breaker จะดีกว่าใช้การเสียบปลั๊ก


รูปที่ 1 เต้ารับชนิด 3 ขา (มีสายดิน) (1) รอยไหม้ที่เกิดจากการเสียบปลั๊กไม่แน่น (2) (3) รูสำหรับเสียบปลั๊กชนิดขาแบน พึงสังเกตว่าความยาวของรู 2 และ 3 ไม่เท่ากัน เพราะปลั๊กตัวผู้แบบสองขาแบนบางชนิดออกแบบมาให้ขาสองข้างกว้างไม่เท่ากันอยู่ ดังนั้นถ้าเสียบไม่ลงให้ลองสลับข้างเสียบดู รูปนี้นำมาจาก Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ ที่กล่าวถึงข้างบน

หวังว่าเมื่ออ่านเรื่องนี้จนหมดแล้ว พวกคุณคงมีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องไฟฟ้ากำลังก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องต่อไป

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ไม่ได้เห็นตัวเลขนี้มานานแล้ว MO Memoir : Tuesday 23 April 2556

ไม่ได้เห็นตัวเลขนี้มานานแล้ว (ครั้งสุดท้ายเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๐ หรือเมื่อ ๑๖ ปีที่แล้ว) เมื่อวานบังเอิญได้ไปเห็นมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็เลยถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกหน่อย



ทันเห็นตั้งแต่ค่าเงินบาทร่วงจาก ๒๐ บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐมาเป็น ๒๓ บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ จาก ๒๓ บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐมาเป็นประมาณ ๒๗ บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แต่ตอนนั้นทางรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปอยู่ที่ค่าใด
  
แต่ในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ เรียกว่าทางรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยหมดปัญญากำหนดค่าเงินบาท พยามยามพยุงค่าเงินจนเงินคงคลังเกือบหมดหน้าตัก สุดท้ายต้องปล่อยให้เลยตามเลย ค่าเงินบาทเลยผันผวนอย่างหนัก บางช่วงแกว่งไปเกือบ ๖๐ บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แถมยังกระเทือนไปอีกหลายประเทศไปไกลถึงเกาหลีใต้ จนนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็น "วิกฤตต้มยำกุ้ง" และต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ ๆ กว่าค่าเงินบาทจะมานิ่งอยู่ที่ประมาณ ๓๘ บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

ถ้าการแข็งค่าของเงินบาทครั้งนี้เกิดจากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไทยก็ไม่น่าห่วงอะไร เกรงว่าถ้ามันเกิดจากการเก็งกำไรค่าเงินล่ะก็ เดี๋ยวคงได้มีรายการประวัติศาสตร์ ๒๕๔๐ ซ้ำรอย