วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แด่ "เธอ" ผู้นั้น (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๐๒) MO Memoir : Saturday 4 June 2559

"ไม่เอารูปที่ทิ้งไว้ในตู้เก็บของกลับไปด้วยเหรอ" ผมถามแบบแซวเล่นในวันหนึ่งที่ "เธอ" แวะผ่านมาที่ภาควิชา
 
"ทิ้ง ๆ มันไปเถอะคะอาจารย์" "เธอ" ตอบกลับมาแบบยิ้ม ๆ

ผมจำไม่ได้แล้วว่าคุยกันเมื่อใด แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้พบกัน ตู้เก็บที่ผมกล่าวถึงใบนั้นคือตู้ ๔ ลิ้นชัก ที่ปัจจุบันตั้งไว้ตรงทางเดินเชื่อมระหว่างห้องแลป ในตู้ใบหนึ่งนั้น ลิ้นชัก ๒ ชั้นบน เป็นตู้เก็บเอกสารงานต่าง ๆ ของ "เธอ" ผู้นั้น ซึ่งรวมทั้งรูปถ่ายขยายใหญ่ของเธอด้วย ปัจจุบันชื่อของ "เธอ" ก็ยังคงติดอยู่ที่หน้าตู้ใบนั้น
 
รูปเหล่านั้นตอนนี้ไม่ได้อยู่ในลิ้นชักนั้นแล้ว แต่เชื่อว่ามันคงจะได้ไปอยู่กับผู้ที่มันควรอยู่ในไม่ช้านี้



"อาจารย์ไม่คิดจะรับนิสิตป.เอก อีกบ้างหรือคะ" นิสิตหญิงป.โท ในห้องแลปคนหนึ่งถามผม
 
"ไม่หรอก" ผมตอบ
 
"ทำไมล่ะคะ" คำถามตามมาอีก
 
"เดี๋ยวนี้หาผู้สมัครสวย ๆ ไม่ได้ ไม่เหมือนเมื่อก่อน" คำตอบแบบกวน ๆ ของผมทำเอาคนถามค้อนไปนิดนึง ผมก็เลยต้องไปหยิบรูปถ่ายของ "เธอ" ในตู้ดังกล่าวมาให้ดู 
  
"พี่เขาสวยนะคะ" ขนาดสาว ๆ ด้วยกันเองยังชม
 
"คนที่แหละ ที่ทำให้เกิดกรณีศึกชิงนางในภาควิชา"



ปีพ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นการเริ่มต้นปีที่สองของการทำงานของผม ปีนั้นทางภาควิชาเริ่มมีทุนสำหรับรับนิสิตเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเอก สำหรับนิสิตที่จบปริญญาตรีและมีผลการเรียนอยู่ในระดับ ๓.๒๕ ขึ้นไปนั้น สามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกได้เลย
 
และ "เธอ" สาวน้อยน่ารัก ท่าทางเหนียมอาย จากภาควิชาเคมีเทคนิค (รหัส ๓๔) ก็เป็นหนึ่งของผู้ที่สมัครเข้ามาเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ภาควิชาของเรา และ "เธอ" ก็เป็นนิสิตหญิงระดับป.เอก คนแรกของแลปเราด้วย
 
สมัยนั้นความสัมพันธ์ระหว่างหมู่นิสิตบัณฑิตศึกษาในรุ่นเดียวกัน หรือระหว่างห้องปฏิบัติการ หรือระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง แนบแน่นกันมากกว่านี้เยอะมากครับ อาจเป็นเพราะว่าทุกห้องปฏิบัติมีพื้นที่ทำงานอยู่ในบริเวณเดียวกันทั้งหมด เป็นพื้นที่เล็ก ๆ และจำนวนนิสิตก็ไม่มาก
 
การสอนการทำแลปแต่ก่อนนั้น (จวบจนถึงปัจจุบัน) แลปของเราก็ใช้วิธีการเรียนสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นพี่ที่น้องใหม่ผู้นั้นรับช่วงงานต่อ มันก็เริ่มกันจากการที่รุ่นน้องต้องมาเฝ้าดูว่ารุ่นพี่เขาทำงานอย่างไรก่อน จากนั้นก็ตามด้วยการลงมือทำเองภายใต้การกำกับดูแลของรุ่นพี่ และถ้าเห็นว่าทำเองได้แล้วจึงปล่อยให้บินเดี่ยวได้
 
เนื่องด้วยจำนวนอุปกรณ์ที่มีจำกัด และระยะเวลาการทำการทดลองที่ยาวนาน จึงไม่แปลกที่จะมีการทำการทดลองกันทั้งวันทั้งคืน มีการนอนค้างกันเป็นประจำ แม้ว่าแต่ละคนจะมีการทดลองของตนเองที่ต้องทำ แต่คนเพียงคนเดียวก็ไม่สามารถทำการทดลองต่อเนื่องยาวนานได้ ก็เลยเป็นเรื่องปรกติที่จะมีการฝากกันให้ช่วยดูแลอุปกรณ์หรือเก็บตัวอย่าง เพื่อที่จะได้มีเวลานอนพักผ่อนต่อเนื่องหน่อย ด้วยเหตุนี้นิสิตที่เรียนกันในสมัยนั้น จึงไม่เพียงแต่ทำการทดลองของตัวเองเป็น แต่ยังรู้ด้วยว่าวิธีการทดลองของเพื่อนนั้นต้องทำอย่างไร
 
อันที่จริงผมก็ไม่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเธอผู้นั้นหรอกครับ เพียงแต่ตอนนั้นผมเองก็เพิ่งจะมีนิสิตปริญญาโททำวิจัย งานเครื่องมือวิเคราะบางอย่างก็ต้องลงมาทำเอง ประจวบกับกรุงเทพช่วงนั้นเริ่มดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายแรก และบางวันภาควิชายังมีการสอนภาคนอกเวลาราชการที่เลิกเอาสามทุ่มครึ่งอีก พอวันรุ่งขึ้นยังต้องสอนภาคปรกติกันตอนแปดโมงเช้าอีก ช่วงเปิดเทอมก็เลยมีการนอนค้างคืนที่ห้องทำงานบ่อยครั้ง (ห้องน้ำอาจารย์ชั้น ๔ ของตึกเก่าเขาทำห้องอาบน้ำให้ด้วย) ด้วยความจำเป็นดังกล่าวก็เลยพอมีความสนิทสนมกับนิสิตที่เจอหน้ากันตอนกลางคืนอยู่บ้าง


เหตุการณ์แรกที่เกี่ยวข้องกับ "เธอ" และทำให้เกิดเป็นเรื่องราวที่ผมเคยนำมาเล่าให้นิสิตรุ่นหลังฟังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ในแลปนั้น เกิดขึ้นตอนกลางคืนครับ แต่ผมไม่ได้อยู่ในคืนที่เกิดเหตุ เพียงแต่ได้ยินนิสิตเขาเล่าให้ฟัง สาเหตุคาดว่าเกิดจากความเข้าใจผิดของฝ่ายชาย (ที่คบกันมาสมัยเรียนป.ตรี) ที่คิดว่ารุ่นพี่ที่เขาช่วยสอน "เธอ" ผู้นั้นจะมาแย่ง "เธอ" ผู้นั้นไป ก็เลยมีการบุกมาถึงห้องปฏิบัติการในตอนค่ำ 
 
เหตุการณ์แท้จริงเป็นอย่างไรผมว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์น่าจะรู้ดีที่สุด เรื่องเล่าบอกว่าฝ่ายชายที่เข้าใจผิดนั้นจะชกนิสิตรุ่นพี่ที่เขาเข้าใจผิด ดีที่มีคนห้ามไว้ก่อน เป็นเหตุการณ์ที่ตอนนั้นพวกนิสิตในแลปเรียกกันเล่น ๆ ว่า "ศึกชิงนาง" เกิดในช่วงก่อนที่จะย้ายแลปจากชั้น ๔ ตึกเก่ามายังที่ตั้งปัจจุบัน ก็น่าเกิดจะในปีพ.ศ. ๒๕๓๙ หรือเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว
 
ผลจากเหตุการณ์วันนั้นหรือครับ ทั้ง "เธอ" และฝ่ายชายผู้นั้นก็แยกทางกันไป ด้วยการทะเลาะกันเพียงครั้งเดียว
 
ด้วยเหตุนี้แหละครับเวลาที่บางคู่เขามาสวีทกันต่อหน้าให้ผมดู ผมก็เลยมักจะแหย่เล่น ๆ อยู่เป็นประจำว่าเคยทะเลาะกันบ้างหรือยัง เพราะเคยเห็นกันหลายครั้งแล้ว บางรายคบกันมาหลายปี แต่พอทะเลาะกันทีเดียวก็เลิกกันเลย

--------------------------------------

การทำแลปแต่ก่อนเนี่ยลงมือทำกันด้วยตนเองนะครับ ไม่มีการเกี่ยงว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ตึกเก่าไม่มีลิฟต์ขนของ นิสิตต้องแบกท่อแก๊สกันเองขึ้นลงบันได ๔ ชั้น เอาท่อแก๊สใส่รถเข็น ขนท่อเปล่าลงล่าง ขนท่อใหม่ที่บริษัทนำมาเปลี่ยนให้ขึ้นข้างบน ช่วยกัน ๖ คน จับคู่ตัวเท่า ๆ กันด้านซ้าย-ขวา นิสิตในแลปในยุคนั้นทั้งชายและหญิงขนท่อแก๊สแบบนี้กันไม่รู้กี่เที่ยว โชคดีที่ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลยสักครั้ง โดยเฉพาะตอนย้ายตึกเนี่ย ต้องขนกันลงมาหลายสิบท่อเลย แต่ไม่ต้องขนขึ้นตึกใหม่เพราะเขามีลิฟต์ให้ ดีที่ช่วงหลังทางคณะเขาจัดหาคนงานมาช่วยขนย้ายสิ่งของให้ ก็เลยเบาแรงไปเยอะ นิสิตทำหน้าที่เพียงแค่ถอดแยกชิ้นส่วนและนำไปประกอบใหม่เท่านั้นเอง
 
อุปกรณ์อีกอันหนึ่งที่มีน้ำหนักมากได้แก่โต๊ะวางเครื่อง thermogravimetic analysis ตอนนั้นเครื่องที่แลปใช้คือ Shimadzu TGA-50 (ตอนนี้ก็ยังอยู่ แต่ไม่มีใครใช้) โต๊ะตัวดังกล่าวประกอบด้วยแผ่นคอนกรีต ๓ ชิ้นประกอบเข้าด้วยกัน น้ำหนักแต่ละแผ่นก็น่าดูอยู่เหมือนกัน ปรากฏว่าระหว่างการขนย้ายเกิดอุบัติเหตุทำให้แผ่นพื้นด้านบนแตกหัก เลยต้องหาแผ่นใหม่มาเปลี่ยน งานนี้ "เธอ" นั้นรับทำหน้าที่จัดหาให้ เข้าใจว่าคุณพ่อของเธอที่เป็นทหารอากาศนั้นช่วยจัดหาให้ด้วยการหาคนช่วยหล่อคอนกรีตให้ใหม่ และนำมาส่งให้ที่แลป คอนกรีตแผ่นนี้ก็ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันนะครับ แผ่นพื้นโต๊ะปูนเปลือยในรูปข้างล่างนั่นแหละครับ



หลังจากที่ตึกใหม่สร้างเสร็จ ภาควิชาก็ได้รับคำสั่งจากทางคณะให้ทำการขนย้ายเข้าสู่อาคารใหม่ทันที เนื่องจากมีแผนการที่จะทุบตึกทำการเดิมทิ้งและสร้างอาคารใหม่ แต่เหตุการณ์ฟองสบู่แตกเมื่อปี ๒๕๔๐ ก็เลยทำให้ตึกเก่าของภาควิชายังคงตั้งอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่หน่วยงานส่วนใหญ่ย้ายไปยังตึก ๔ มีแต่แลปตัวเร่งปฏิกิริยาที่ย้ายไปยังตึก ๕ ที่เป็นตึกปฏิบัติการ แลปเราเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่เข้าไปใช้อาคารดังกล่าว โดยได้ใช้พื้นที่บนชั้น ๕ ที่เป็นที่ตั้งมาจนถึงปัจจุบัน แต่ตอนที่ย้ายเข้าไปนั้นตึกนั้นวังเวงน่าดู เพราะชั้น ๑-๔ มันไม่มีใครเลย ตอนกลางคืนมันปิดไฟมืดไปหมด พื้นที่แต่ละชั้นที่เป็นที่โล่ง ๆ มันก็ไม่น้อย เกือบ 1000 ตารางเมตร ลองนึกภาพดูเอาเองนะครับว่าถ้าคุณต้องทำงานอยู่คนเดียวในบริเวณดังกล่าวที่เป็นห้องโล่ง ๆ ใหญ่ ๆ ตอนกลางคืน บรรยากาศจะเป็นเช่นใด ยิ่งก่อนหน้านี้มีเรื่องเกิดที่ตึกเก่าที่อยู่ติดกัน ทำเอานิสิตบางรายเลิกทำแลปตอนกลางคืนไปเลย ทั้ง ๆ ที่เขานั้นก็ไม่ได้มารบกวนอะไร แค่โผล่มาแสดงตัวให้เห็นเท่านั้นเอง :) :) :)
 
เวลาทำแลปกันต่อเนื่องยาวนาน ถึงเวลากินก็จะมีบางคนที่ต้องเฝ้าแลป ในขณะที่คนอื่นออกไปกินข้าวและซื้อข้าวกลับมาเผื่อ มีอยู่คืนหนึ่งก่อนกลับบ้าน ผมก็ถามแหย่ "เธอ" ผู้นั้นว่าจะอยู่ทำแลปค้างคืนเหรอ จะอยู่ได้เหรอ ไม่กลัวแน่นะ ซึ่งเธอก็บอกว่าอยู่ได้
 
พอตอนเช้าเจอหน้ากัน "เธอ" ก็บอกว่า "อาจารย์ เมื่อคืนตอนเขาออกไปข้างนอกกัน หนูเปิดไฟสว่างทั้งชั้นเลย"
 
ครับ หลอดไฟทั้งชั้นก็ร่วม ๒๐๐ หลอดได้มั้งครับ สว่างขนาดตีแบดกันได้สบาย

--------------------------------------

หลังผ่านการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ที่ "เธอ" สอบผ่านด้วยคะแนน "ดีมาก" "เธอ" ก็ถูกเรียกให้ไปสอบสัมภาษณ์เข้าทำงาน ณ โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งที่ศรีราชา เรื่องที่ "เธอ" มาปรึกษากับผมก็คือจะแต่งตัวไปสอบสัมภาษณ์งานอย่างไรดี เพราะเรื่องแบบนี้ถ้าโทรไปถามทางบริษัทเขา เขาก็คงจะตอบว่า "ก็แล้วแต่" แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะแต่งอย่างไรก็ได้ เขาไม่ว่าอะไร แต่นั่นอาจเป็นข้อสอบข้อแรก คือเขากำลังสอบเราว่าเรามีวิจารณญาณในการทำงานมากน้อยแค่ไหน
 
เรื่องการแต่งตัวไปสอบสัมภาษณ์ที่โรงงานเนี่ย ถ้าเป็นผู้ชายคงไม่ค่อยเท่าใด แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะยุ่งยากนิดนึง คือไม่รู้ว่าควรจะแต่งชุดสวมกระโปรงหรือกางเกงไปสอบ ถ้าแต่งชุดสวมกระโปรงไปสอบ แล้วเขาพาเข้าชมโรงงานด้วย มันก็ไม่เหมาะ แต่ถ้าแต่งชุดสวมกางเกงไปสอบ แต่เขาทำเพียงแค่สอบสัมภาษณ์กับผู้ใหญ่ในสำนักงาน ผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะดูว่าเป็นการแต่งตัวไม่เรียบร้อยได้ งานนี้ผมเลยแนะนำให้เขาโทรไปถามทางโน้น แต่ไม่ได้ให้ถามว่าจะให้แต่งตัวอย่างใด แต่ให้ถามว่า "มีข้อห้ามเรื่องการแต่งกายแบบใดบ้าง หรือห้ามนำอะไรติดตัวไปบ้าง ในการเข้าไปที่โรงงานในวันสอบสัมภาษณ์" เพราะโรงงานแบบนี้ถ้าต้องเข้าเขตโรงงานแล้วมันมีเรื่องความปลอดภัยของเครื่องแต่งกายเข้ามาเกี่ยวข้อง

--------------------------------------

หลังสอบสัมภาษณ์เสร็จ "เธอ" ก็กลับมาเล่าให้ผมฟังเรื่องเหตุการณ์ของการสอบวันนั้นที่มีผู้ไปสอบกัน ๕ ราย กล่าวคือในช่วงเช้าวันนั้นทางบริษัทพาเข้าไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตในโรงกลั่นก่อน และในช่วงบ่ายก็ให้เขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษความยาวไม่เกิน ๒ หน้ากระดาษ A4 เกี่ยวกับเรื่องโรงงาน "เธอ" เล่าให้ฟังว่าคนอื่นเขาเขียนกันสองหน้ากระดาษเต็ม ส่วน "เธอ" เองเขียนไปเพียงแค่ครึ่งหน้า จากนั้นก็เรียกเข้าไปสัมภาษณ์ทีละคน โดยเรียงลำดับตามผลการเรียน จากเกรดสูงไปเกรดต่ำ ซึ่งเธอก็เป็นคนสุดท้ายที่เขาเรียกเข้าไปสอบสัมภาษณ์
 
แล้วผลเป็นยังไงเหรอครับ ในบรรดา ๕ คนที่ไปสอบในวันนั้น "เธอ" เป็นคนเดียวที่บริษัทนั้นรับเข้าทำงาน

--------------------------------------

ไปอยู่แรก ๆ นี่เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้และการทดสอบความสามารถ เรื่องหนึ่งที่ "เธอ" ยอมรับว่าตอนแรกกลัวมากเลยคือต้องไป "ปีนหอกลั่น" ปีนในที่นี้คือปีนบันไดเหล็กขึ้นไปนะครับ ไมได้เดินขึ้นไป หอกลั่นบางหอมันก็สูงหลายสิบเมตร เรียกว่าต้องใช้กำลังแขนและความกล้าหน่อยจึงจะปีนได้ คนที่กลัวความสูงพอมองไปรอบ ๆ มันเห็นรอบตัวโล่ง ๆ ไปหมด มีแต่ราวกันตกนี่มันหมดแรงปีนเอาง่าย ๆ เหมือนกัน แต่งานนี้โดยพี่ที่โรงกลั่นเขาเคี่ยวเข็ญว่าต้องทำให้ได้ และในที่สุดเธอก็ผ่านมันไปได้



วิทยานิพนธ์ที่ได้ผลการสอบออกมาเป็น "ดีมาก" นี่ต้องผ่านการพิจารณาของกรรมการบริหารคณะอีกรอบ ก่อนจะส่งไปให้บัณฑิตวิทยาลัย บังเอิญช่วงนั้นกรรมการคณะท่านหนึ่งมีอคติกับอาจารย์หลายท่านในภาควิชาของเราค่อนข้างมาก ดังนั้นพอมีเรื่องของภาควิชาเข้าสู่การพิจารณาทีใด ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาจารย์ในภาคที่เขาไม่ชอบหน้าด้วย เรื่องนั้นก็มักจะโดนตีรวนทุกที และเรื่องที่โดนตีรวนมากที่สุดเห็นจะได้แก่เรื่องผลการสอบวิทยานิพนธ์ที่ได้ผลเป็น "ดีมาก" ของนิสิตของภาควิชา 
  
การตีรวนตรงนี้มันไม่ใช่เรื่องของความผิดพลาดของเอกสาร แต่เป็นเรื่องของการใช้การตั้งข้อสังเกตหรือให้ความเห็นเพื่อชักจูงให้กรรมการผู้อื่นเข้าใจผิด ทำให้ต้องมีการส่งเรื่องกลับไปทบทวนและให้นำเสนอกลับเข้ามาใหม่ในการประชุมครั้งถัดไป (ซึ่งจัดทุก ๆ ๒ สัปดาห์หรือเดือนละ ๒ ครั้ง) ซึ่ง "เธอ" เองก็โดนหางเลขดังกล่าวไปด้วย เรียกว่าขนาดไปทำงานตั้งหลายเดือนแล้วทางมหาวิทยาลัยยังไม่ประกาศอนุมัติสำเร็จการศึกษาซะที ต้องลางานกลับมาแก้ไขบ่อยครั้ง (นั่นเป็นเหตุที่ว่าทำไปผมทราบเรื่องการทำงานของ "เธอ" ที่โรงกลั่น เพราะ "เธอ" กลับมาเล่าให้ฟัง) จนพี่ที่ทำงานอยู่ด้วยเรียกเข้าไปคุย พอทราบว่าใครเป็นคนตีรวน พี่คนนั้นก็เลยเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดเพราะเขาก็รู้จักพฤติกรรมของอาจารย์ท่านนั้นด้วยว่าไปเรียนต่างประเทศที่เดียวกัน ก็เลยเล่าสิ่งที่เขาเคยประสบกับอาจารย์ท่านนั้นสมัยเรียนต่างประเทศให้ "เธอ" ฟังว่าเคยโดนอย่างไร
 
ท้ายสุดของการสนทนากับพี่คนนั้น เขาก็กล่าวขึ้นมาว่า 
  
"นี่ ถ้าเธอยอมเขาตั้งแต่แรกมันก็สิ้นเรื่องแล้ว แต่เอ๊ะ เธอเป็นผู้หญิงนี่นา"
 
แล้วทั้งคู่ก็นั่งหัวเราะกัน
 
"เธอ" ไม่ได้เล่าให้ผมฟังหรอกครับว่าพี่คนนั้นเขาเล่าอะไรให้ "เธอ" ฟัง แต่ผมพอจะเดาได้อยู่ เพราะตอนนั้นมันก็มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่ เว้นแต่จะหาเจ้าทุกข์ไม่ได้เท่านั้นเอง ทำนองว่า "จะยอมมันหรือจะไม่จบ"

--------------------------------------

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า "เธอ" ทำงานอยู่ที่โรงกลั่นน้ำมันนานเท่าใด ที่พบกันตอนหลังก็เป็นช่วงที่ "เธอ" ย้ายมาทำงานบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่ง โดยประจำสำนักงานที่กรุงเทพ เวลามีโอกาสเจอกัน "เธอ" ก็เล่าให้ฟังว่าบางครั้งก็ต้องลงไปตรวจแก้ปัญหาที่แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย ต้องเดินทางลงใต้ก่อนจะเปลี่ยนไปนั่ง ฮ. ไปยังแท่นขุดเจาะ ซึ่งก็นับว่าแปลกอยู่ เพราะปรกติมักจะเห็นแต่คนที่เคยทำงานด้านขุดเจาะประเภทอยู่กลางทะเลหรือเดินสายไปตามที่ต่าง ๆ ย้ายมาทำงานสำนักงานประจำอยู่กับที่บนฝั่งมากกว่า จะมีก็รายนี้ที่พิเศษที่เปลี่ยนจากงานประจำสถานที่มาเป็นงานเดินสาย แต่ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะมันให้ "เธอ" ได้กลับมาอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น ไม่ต้องแยกไปอยู่ต่างจังหวัดเหมือนเดิม

--------------------------------------

เมื่อบ่ายวันพฤหัสที่ผ่านมาผมได้ทราบข่าวคราวของ "เธอ" อีกครั้งจากอาจารย์รุ่นน้องที่เป็นเพื่อนเรียนปริญญาตรีมาด้วยกันกับ "เธอ" อาจารย์รุ่นน้องคนนั้นถามผมว่ายังจำ "เธอ" ได้หรือเปล่า ผมก็ตอบว่าจำได้ (ก็ผมเอาเรื่องของ "เธอ" มาเล่าให้นิสิตฟังและนำมาเขียนใน blog ไปตั้งหลายเรื่อง) สักพักผมก็เดินออกจากห้องทำงานไปยังห้องแลป เพื่อไปหยิบเอารูปที่ "เธอ" ทิ้งเอาไว้ไม่ยอมนำกลับไป เพราะคิดว่ามันเป็นเวลาที่สมควรส่งคืนแก่เจ้าของแล้ว แม้ว่ารูปเหล่านั้นจะถ่ายไว้ในช่วงเวลาหนึ่งที่ "เธอ" กำลังมีความสุขในชีวิต แต่เนื่องด้วยมันจบลงไม่งดงาม "เธอ" ก็เลยทิ้งมันไว้ที่แลปโดยไม่นำกลับไป แต่ก็ไม่ได้ทำลายมัน
 
"ฝากเอาไปคืนเจ้าของตอนไปงานเขาด้วยนะ" ผมกล่าวกับอาจารย์รุ่นน้องคนนั้นตอนเอารูปไปให้

--------------------------------------

ในชีวิตการทำงานด้านการเรียนการสอนกว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมาของผมนั้น ในแต่ละปีมีนิสิตที่เข้ามาใหม่และจบออกไปกว่า ๑๐๐ ราย (ทั้ง ตรี โท และเอก) แต่มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นครับที่ทิ้งความทรงจำที่ดี ๆ เอาไว้ให้ ซึ่ง "เธอ" ก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกือบ ๒๐ ปีแล้วก็ตาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเรื่องราวต่าง ๆ ที่ "เธอ" ประสบนั้นมันไม่เป็นเพียงแค่เหตุการณ์ส่วนตัว แต่ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของของคณะและภาควิชา ผมจึงได้เขียนให้บทความนี้ให้อยู่ในชุด "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ" เพื่อที่จะได้เตือนความจำตนเองว่าช่วงหนึ่งก็เคยไม่ได้มีโอกาสรับทราบเรื่องราวในชีวิติของนิสิตหญิงผู้สุภาพเรียบร้อย ท่าทางเหนียมอาย ผู้หนึ่ง ผู้ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ในช่วงที่เธอเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ภาควิชา อุปสรรคต่าง ๆ ที่ต้องฝ่าฝันในการทำงานและในชีวิต จนมาถึง ณ วันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ "เธอ" ไม่ต้องผจญกับอุปสรรคหรือความยากลำบากใด ๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะ "เธอ" ได้ไปดีแล้ว

--------------------------------------
 
เรื่องราวของ "เธอ" ที่ผมระลึกถึงนั้นทำให้ผมนึกถึงโฆษณาชิ้นหนึ่งที่ออกอากาศช่วงต้นปีพ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งในโฆษณาชิ้นนั้นมีข้อความว่า 
  
".... ที่แรกที่คนตายจะเดินทางไปถึง คือการได้เข้าไปในความทรงจำของใครสักคน แต่จะเป็นความทรงจำที่ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราปฏิบัติกับคน ๆ นั้น ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ....."
 
บทความนี้ขออุทิศให้แด่ "เธอ" ผู้นั้น

ไม่มีความคิดเห็น: