วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

ฝากน้ำเอาไว้ในดิน เพื่อให้ต้นไม้ได้มีกิน ตลอดทั้งปี MO Memoir : Saturday 24 September 2559

ลมหนาวกำลังจะมา
ดันกลุ่มฝนเคลื่อนต่ำลง
จากเหนืออีสานตอนบน
เมฆฝนลิ่วลอยล่องลม
มุ่งตรงลงสู่อ่าวไทย



ฝนหนักสุดท้ายเพิ่งจะผ่านไปเมื่อเช้าวันวาน นับถึงเช้าวันนี้ก็กว่า ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ยังมีน้ำไหลซึมจากใต้ดินออกจากรอยแตกของรางระบายน้ำรอบบ้านอยู่เลย แสดงว่าดินระดับลึกลงไปจากผิวดินคงจะเริ่มชุ่มน้ำแล้ว ไม้ใหญ่รอบบ้านคงจะดีใจกันใหญ่ ที่มีน้ำให้ใช้ไปจนถึงฤดูฝนถัดไป
 
น้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นดินนั้นจะซึมลงสู่พื้นดินก่อน แต่เนื่องจากการซึมลงดินมันทำได้ช้า ดังนั้นหลังฝนตกหนักแต่ละครั้งจึงมีน้ำเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่ซึมลงไปใต้ดินไปถึงรากไม้ที่อยู่ลึกลงไป ถ้าเป็นที่ราบที่น้ำไม่มีทางไหลไปไหน มันก็จะมีเวลาซึมลงไปหลังในตก แต่ถ้าเป็นภูเขาหรือพื้นดินลาด มันก็จะไหลลงต่ำไปเรื่อย ๆ ไม้ใหญ่ในป่ามันก็มีประโยชน์ตรงนี้ คือมันช่วยหน่วยการไหลของน้ำออกจากพื้นป่า ทำให้น้ำมีเวลาซึมลึกลงไปในดินได้มากขึ้น โอกาสเกิดน้ำป่าไหลหลากก็ลดน้อยลง เว้นแต่ว่าจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกันหลายวันเท่านั้นเอง และน้ำที่อยู่ใต้ผิวดินเหล่านี้นี่เอง ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำซับที่น้ำค่อย ๆ ซึมออกมาเรื่อย ๆ ตลอดทั้งปี เป็นต้นน้ำให้กับแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ในฤดูแล้ง และยังเป็นน้ำกักตุนให้ไม้ใหญ่มีไว้ใช้ตลอดทั้งปีด้วย

หนึ่งในสิ่งที่เป็นความงดงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ในสายตาคนเมืองจำนวนไม่น้อย คือทางเดินแบบว่าจะใส่รองเท้าแบบไหนก็ได้ไม่ต้องกลัวสะดุดหรือรองเท้าจะเลอะ ด้วยค่านิยมแบบนี้ทำให้เต็มไปด้วยการเทปูนปิดผิวดินทั่วไปหมด ตรงไหนเป็นพื้นดินเปิดอยู่ก็ต้องมีการหางบประมาณมาทำการเทคอนกรีต (ไม่ก็ลาดยางมะตอย) ปิดผิวดิน โดยใช้เหตุผลว่าต้องการปรับปรุงภูมิทัศน์ พวกที่ได้รับผลกระทบพวกแรกคือต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม ผลกระทบแรกสุดเลยที่เห็นอยู่เสมอก็คือน้ำจากคอนกรีตที่เทลงไปนั้นที่มันซึมลงสู่ดิน ทำให้ไม้ใหญ่ยืนต้นตายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นเสมอเวลาที่มีโครงการเทปูนรอบโคนต้นไม้ใหญ่ พวกที่รอดมาได้ก็คอยต้องลุ้นต่อว่าในอนาคตจะเอาน้ำและแร่ธาตุจากที่ไหลมาหล่อเลี้ยงลำต้น เพราะผิวดินเปิดที่ทำหน้าที่รับน้ำ (ซึ่งช่วยละลายแร่ธาตุให้ซึมลงลึกไปในดินด้วย) ไม่เหลือแล้ว รากไม้ใม่ได้อยู่แค่เพียงตรงโคนต้น แต่มันแผ่กว้างออกไป ถ้ามันแผ่ออกไปจนพ้นแผ่ไปจนถึงบริเวณผิวดินเปิดก็โชคดีไป

  
 เทียบกับการเทพื้นคอนกรีตแล้ว พื้นปูอิฐมีข้อเสียตรงที่พอดินข้างใต้มันทรุดมันก็ยุบตัว หรือพอโดนรากไม้ใหญ่ดัน มันก็โก่งขึ้น ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมเป็นระย แต่มันก็เป็นพื้นที่ประนีประนอมระหว่างการต้องการความสะดวกสบายของคนกับการอยู่รอดของต้นไม้อยู่เหมือนกัน เพราะมันยอมให้น้ำซึมผ่านตรงรอยต่อของก้อนอิฐได้ แม้ว่าจะเป็นช่องเล็ก ๆ แต่มันก็กว้างพอที่จะให้พืชต้นเล็กที่คนเราใช้ประโยชน์ได้นั้นงอกงามเติบโตได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: