วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

นิยามของคำว่า "การแข่งขัน" (มุมมองส่วนตัวในเรื่องการศึกษา ๑) MO Memoir : Monday 19 September 2559

ยุคเศรษฐกิจ ๑.๐ สังคมเกษตรกรรม : จุดขายประเทศไทย แรงงานภาคการเกษตรค่าจ้างถูก
 
ยุคเศรษฐกิจ ๒.๐ สังคมอุตสาหกรรมเบา : จุดขายประเทศไทย แรงงานภาคอุตสาหกรรมเบา (แรงงานไม่ค่อยมีฝีมือ) ค่าจ้างถูก
 
ยุคเศรษฐกิจ ๓.๐ สังคมอุตสาหกรรมหนัก : จุดขายประเทศไทย แรงงานภาคอุตสาหกรรมหนัก (แรงงานมีฝีมือ) ค่าจ้างถูก
 
ยุคเศรษฐกิจ ๔.๐ สังคมเทคโนโลยี : จุดขายประเทศไทย แรงงานทำแลปวิจัยราคาถูก (สั่งให้ทำอะไรก็สั่งมาเหอะ พร้อมทำตามที่สั่ง อย่าให้ต้องคิด)

ผมโพสข้อความข้างบนเอาไว้เล่น ๆ ใน facebook ส่วนตัวที่มีไว้ทักทายเล่นกับศิษย์เก่าระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชา เกี่ยวกับมุมมองของผมที่มีต่อสิ่งที่ตอนนี้ไม่ว่าใครต่อใครเขาจะพูดอะไร ก็ชอบเติมเลข ๔.๐ ต่อท้ายเข้าไปทุกที (จะว่าไปถ้าจะให้ถูกต้องตามกระแส เลขที่เติมก็ต้องเป็นเลขอารบิกด้วยนะครับ ไม่ใช่เติมเลขไทยแบบที่ผมเขียน การใช้เลขไทยแบบผมมันไม่เป็นสากลนิยมนะครับ)
 
ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับวิศวกรคนไทยที่ทำงานอยู่ในวงการหลายท่าน เกี่ยวกับความสามารถในการ "แข่งขัน" ของวิศวกรไทย โดยแต่ละท่านที่ได้สนทนาด้วยนั้นต่างก็มีประสบการณ์ในการทำงานกับวิศวกรต่างชาติ โดยเฉพาะกับวิศวกรญี่ปุ่นและเกาหลี
 
แต่ก่อนที่จะถกเถียงกันเรื่องความสามารถใน "การแข่งขัน" ผมคิดว่าควรที่ต้องมาตกลงกันก่อนว่านิยามของคำว่า "การแข่งขัน" นั้นคืออะไร
 
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยไปฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว ผมเห็นว่าญี่ปุ่นพัฒนาประเทศด้วยการพัฒนาคนให้มีความรู้ที่ดีในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ก่อนครับ เขามองว่าอะไรเป็นอุปสรรคในการศึกษา จำเป็นต้องจัดการกับอุปสรรคตรงนั้นก่อน
 
และอุปสรรคแรกที่เขาเห็นก็คือ "ภาษา" ซึ่งเขาแก้ด้วยการ "แปล" ตำราและหนังสือต่าง ๆ เป็นภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้คนญี่ปุ่นสามารถเข้าถึงความรู้ที่รับมานั้นได้ง่าย
 
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเวลาที่พูดคุยกับวิศวกรคนไทยหลายรายที่เคยทำงานกับวิศวกรเกาหลีหรือญี่ปุ่น ที่มักจะพบว่า "ภาษาอังกฤษ" เพื่อการสื่อสารของวิศวกรเหล่านั้นสู้วิศวกรไทยไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางวิชาการ (ที่ใช้เหตุผลทางเทคนิคในการตัดสินใจ) มันกลับกันครับ สมัยนั้นผมเคยประสบปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างไรกับวิศวกรญี่ปุ่นที่ทำงานหน้างาน สมัยนี้ก็ยังทราบว่าวิศวกรไทยปัจจุบันก็ยังคงประสบกับปัญหานี้อยู่
 
แต่ด้วยการที่ประเทศญี่ปุ่นเองมีวิศวกรที่ภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง (แต่ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ที่ดีมาก) เป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศของเขาสามารถ "แข่งขัน" กับต่างประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเดิม คือบริษัทของอเมริกาหรือยุโรปได้

ผมเห็นว่าเป็นเพราะว่านิยามของคำว่า "การแข่งขัน" ของเขาแตกต่างไปจากของเราครับ
 
"การแข่งขัน" ของเขาคือการที่ประเทศของเขามีบริษัทที่เป็นของชาติเขาเอง ที่สามารถไปประมูลงานออกแบบและก่อสร้างแข่งขันกับบริษัทของประเทศอื่นได้ 
  
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เมื่อเราคิดจะทำอะไรสักอย่างโดยเริ่มจากศูนย์ (เช่นสมมุติว่าจะสร้างโรงกลั่นน้ำมัน) เราเพียงแค่บอกโจทย์ว่าเราต้องการอะไร (โรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่นเท่าใด จะเอาน้ำมันจากไหนมากลั่น และผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องมีคุณลักษณะอย่างไร และอาจรวมไปถึงต้นทุนในการผลิต) จะมีบริษัทของประเทศเหล่านั้น (เช่น มิตซุย มิตซูบิชิ ฮุนได แดวู) พร้อมที่จะเข้ามาประมูลงานการออกแบบทางวิศวกรรมที่เริ่มจากศูนย์ กล่าวคือตั้งแต่การออกแบบทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนรับเข้าวัตถุดิบ รูปแบบกระบวนการกลั่น การปรับสภาพผลิตภัณฑ์ การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของ pressure vessel ต่าง ๆ ที่ให้รายละเอียดได้ถึงการนำไปขึ้นรูป การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์ต่าง ๆ (เช่น ท่อ วาล์ว ปั๊ม คอมเพรสเซอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ) การออกแบบวิธีการเดินเครื่อง ฯลฯ และเวลาที่เขาประมูลงานได้ เขาก็จะส่งวิศวกรของเขามาทำงานที่ประเทศเรา เท่าที่เคยพบนั้น ภาษาอังกฤษในพูดจาสื่อสารของวิศวกรของพวกเขานั้นมักจะสู้วิศวกรไทยไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องวิชาการทางด้านวิศวกรรมล่ะก็ มันมักจะกลับกัน (ผมมักจะให้คำแนะนำว่าวิศวกรไทยที่มาบ่นให้ฟังว่าเวลาคุยเรื่องงานกับวิศวกรญี่ปุ่นหรือเกาหลีมักจะมีปัญหาในการสื่อสารภาษาอังกฤษว่า ให้ใช้วิธี "เขียน" ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นสมการหรือรูป มันจะช่วยป้องกันการสื่อสารผิดพลาดได้ดีขึ้น)

ส่วน "การแข่งขัน" ของเรา (ที่ผมได้ยินได้ฟังมาจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นผู้สอนและผู้บริหารหลายคนกล่าวถึง) คือการทำให้วิศวกรของเรารู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่ดี เพื่อที่จะได้สามารถไปสมัครทำงานเป็น "ลูกจ้างบริษัทต่างชาติ" แข่งขันกับวิศวกรที่จบจากประเทศอื่นในอาเซียนได้ครับ
 
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การเรียนการสอนของเราจะเน้นไปที่การนำเสนอและใช้ power point กันมากเหลือเกิน ขนาดในการประชุมวิชาการยังตัดสินผลงานวิจัยด้วยการดูแค่ power point ทำออกมาดีแค่ไหน ผมยังเคยมีประสบการณ์ในฐานะนั่งเป็นกรรมร่วมที่ไม่เห็นด้วยกับกรรมการร่วมตัดสินอีกท่านที่จะให้รางวัลงานวิจัยดีเด่น โดยดูจากเทคนิคการนำเสนอเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เป็นเพราะผมจับได้ว่าผลการทดลองที่นำมาแสดงนั้นมันมั่วและผิดพลาดเยอะไปหมด
 
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจนะครับทำไมถึงมีการบ่นบนหน้าเว็บบอร์ดสาธารณะที่เป็นที่รู้จักกันเว็บหนึ่ง ว่าทำไมโอกาสที่จะก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของบริษัทยักษ์ใหญ่บางบริษัท ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำ "PowerPoint" ได้ดีแค่ไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณมี "ผลการทำงาน" ที่ดีแค่ไหน

ผมเคยเสนอความคิดเห็นส่วนตัวในที่ประชุมสภาวิชาการของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งเอาไว้ว่า ตัวผมนั้นมองว่าภาษาอังกฤษสำหรับวิศวกรนั้นมันแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วนด้วยกัน
 
ส่วนแรกคือภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ตรงนี้คงต้องยอมรับว่าในมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ นั้นนิสิตนักศึกษาจำนวนไม่น้อยต่างมีความรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่ดี แต่เมื่อเทียบกับจำนวนนิสิตนักศึกษาทั้งหมดแล้วก็จัดว่าน้อยอยู่ ประเด็นที่ควรต้องพิจารณาคือการพัฒนาความสามารถตรงนี้ควรเป็นหน้าที่ใคร ของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการสอนภาษาอังกฤษ หรือหน่วยงานที่สอนวิชาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์
 
ส่วนที่สองคือภาษาอังกฤษเพื่อการทำงานทางเทคนิค ศัพท์ตรงนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับศัพท์เทคนิค ดังนั้นอย่าไปคาดหวังว่าผู้สอนสนทนาภาษาอังกฤษทั่วไปจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ในส่วนของสาขาวิชาของผมเองนั้นผมพบว่าแม้แต่ตัวอาจารย์มหาวิทยาลัยเองที่ไปจบเมืองนอกมาก็มีปัญหาตรงนี้ เผลอ ๆ จะเป็นส่วนใหญ่ซะด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะการขาดประสบการณ์ภาคอุตสาหกรรมจริงของอาจารย์ (เอาเป็นว่าเฉพาะในสาขาของผมเองก็แล้วกัน) ทำให้ไม่ทราบว่าอุปกรณ์ที่ใช้กันจริงนั้นมีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง และอุปกรณ์เหล่านั้นใช้งานอย่างไร และมีชิ้นส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่ละชิ้นส่วนมีชื่อว่าอะไร เมื่อไม่ทราบว่ามันต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ก็ไม่ต้องคาดหวังว่าจะรู้จักชื่อเรียกชิ้นส่วนเหล่านี้
 
ส่วนที่สามคือภาษาอังกฤษเพื่อการเขียนบทความวิชาการ ตรงนี้เป็นของถนัดของอาจารย์รุ่นใหม่ เพราะถ้าไม่ผลิตบทความวิชาการก็จะไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง แต่ภาษาอังกฤษตรงนี้มันเป็นภาษาที่ต้องเขียนให้อ่านสับสน และมันไม่ใช่ภาษาพูด ศัพท์ที่ใช้กันเป็นศัพท์สำหรับใช้ในงานวิจัยเท่านั้น ไม่ใช่ศัพท์ที่คน (หรือวิศวกร) ทั่วไปพูดกัน
 
ภาษาอังกฤษเพื่อการเขียนบทความวิชาการ กับภาษาอังกฤษเพื่อการเขียนบันทึกข้อความในการทำงานทางเทคนิคนั้นมันไม่เหมือนกัน การเขียนบทความวิชาการมักจะใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษเลิศหรูเฉพาะทาง จนแม้แต่ตัวอาจารย์เองที่ไม่ได้ทำวิจัยในทางด้านนั้น (และไม่ได้สนใจงานวิจัยด้านอื่นที่ตัวเองไม่ได้ทำวิจัย) ก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง (ทั้ง ๆ ที่ตัวอาจารย์เองก็จบมาจากต่างประเทศ เรียนวิชาพื้นฐานมาหมดแล้ว จบการเรียนระดับสูงมาแล้วด้วย แถมยังมีบทความวิจัยตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศอีก) แต่ที่แปลกก็คือเห็นมีความพยายามที่จะทำให้นิสิตปริญญาตรีอ่านบทความวิชาการให้เข้าใจให้ได้ (คืออาจารย์จะคัดบทความเฉพาะทาง ทางด้านที่ตัวเองทำวิจัย มาให้นิสิตอ่าน)

ตอนแรกของบทความชุดนี้คงจะขอพอแค่นี้ก่อนครับ

ปิดท้ายที่เหลือของหน้าว่างด้วยบรรยากาศการสอบปฏิบัติการเคมีพื้นฐานรายบุคคล (เทคนิคพื้นฐานในการใช้อุปกรณ์) ของนิสิตปี ๒ ภาควิชาวิศวกรรมเคมีเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาของวันนี้ก็แล้วกันครับ :) :) :)

ไม่มีความคิดเห็น: