วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข้อพึงคำนึงพื้นฐานในการเลือกใช้วาล์ว (Valve Philosophy) ตอนที่ ๘ MO Memoir : Wednesday 29 November 2560

มาถึงตอนที่ ๘ ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทความชุดนี้แล้ว



ข้อ 2.7.4 ในหน้าที่ ๑๙ เกี่ยวข้องความจำเป็นของการมี block valve และ by-pass valve สำหรับ control valve โดยกล่าวไว้ว่ามันไม่จำเป็นต้องมีในทุกกรณี เพราะจะทำให้ค่าต้นทุนก่อสร้างนั้นเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ความจำเป็นของการมี block valve และ by-pass valve นั้นขึ้นอยู่กับว่ามันมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องมีการถอดเอา control valve ไปซ่อมในระหว่างวงรอบการทำงาน (คือเริ่มจากเริ่มเดินเครื่องการผลิตไปจนถึงการ shut down ครั้งถัดไป) ถ้าพบว่าโอกาสเช่นนี้มีสูง ก็จำเป็นต้องมี (block valve ที่อยู่หน้า-หลัง control valve มีไว้สำหรับให้ถอด control valve ออกไปซ่อมแซมได้ ส่วน by-pass มีไว้ทำหน้าที่แทน control valve ช่วงที่ถอด control valve ออกไปซ่อมแซม) เอกสารหน้า ๑๙ (รูปที่ ๔๐) ได้ให้คำแนะนำเพื่อการพิจารณาความจำเป็นต้องมีไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
  

ข้อ 2.7.4.1 กล่าวถึงกรณีที่ควรจำเป็นต้องมีทั้ง block valve และ by-pass valve โดยเริ่มจาก
 

ข้อ 2.7.4.1a ระบบที่ใช้กับของเหลวที่มีการกัดกร่อน เช่น กรด ด่าง ฟีนอล ฯลฯ ที่ทำให้มีโอกาสสูงที่จะมีการถอด control valve ออกไปซ่อมก่อนถึงกำหนดการหยุด shut down ประจำปีครั้งถัดไป
 

ข้อ 2.7.4.1b การใช้งานกับของเหลวที่มีความหนืดสูงที่อาจมีของแข็งที่ทำให้สึกหรอได้ปะปนอยู่ ในกรณีนี้ต้องพึงคำนึงด้วยว่าต้องไม่ให้ by-pass line เกิดการอุดตันอันเกิดจากการสะสมของของแข็งในท่อ by-pass ในกรณีเช่นนี้อาจต้องคำนึงถึงการเดินท่อ by-pass ให้ยกตัวสูงขึ้นจากระดับแนวท่อ control valve เพื่อป้องกันไม่ให้ของแข็งเข้าไปตกค้างอยู่หน้า by-pass valve ได้
 

ข้อ 2.7.4.1c กรณีที่อัตราการไหลของของไหลนั้นเข้าใกล้หรืออยู่ที่ความเร็วเสียง กล่าวคือความดันในท่อด้านขาเข้า control valve นั้นจะสูงกว่าด้านขาออก แต่เมื่อของไหลนั้นไหลผ่านวาล์ว ช่องทางการไหลจะเล็กลง ทำให้ความเร็วในการไหลเพิ่มสูงขึ้นแต่ความดันจะลดลง แต่เมื่อไหลพ้นผ่านวาล์วไปแล้วช่องทางการไหลจะกว้างขึ้น ทำให้ความเร็วในการไหลลดต่ำลงแต่ความดันจะเพิ่มขึ้น ของไหลที่ไหลด้วยความเร็วสูงสามารถทำให้เกิดการสึกหรออันเป็นผลจาก erosion ได้ และในกรณีที่เป็นของเหลวก็มีสิทธิที่จะเกิด cavitation ได้เช่นกัน (คือของเหลวเดือดเป็นไอเนื่องจากความดันลดลง และกลับควบแน่นเป็นของเหลวใหม่เมื่อความดันเพิ่มสูงขึ้น)
 

ข้อ 2.7.4.1d ระบบป้อนน้ำให้กับหม้อน้ำ (bolier feed water หรือย่อว่า BFW) ระบบท่อไอน้ำ หรือระบบสาธารณูปโภค หรือ process stream ใด ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการเดินเครื่องต่อเนื่องของโรงงาน (กล่าวคือถ้าไม่มีระบบเหล่านี้ โรงงานจะเดินเครื่องไม่ได้)
 

ข้อ 2.7.4.1e ความจำเป็นที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการเริ่มเดินเครื่องโรงงานหรือหยุดเดินเครื่องโรงงาน
 

ข้อ 2.7.4.1f ตามความต้องการของลูกค้าหรือกฎข้อบังคับใช้
 

ข้อ 2.7.4.2 เป็นกรณีที่อาจไม่จำเป็นต้องมี block valve และ by-pass line อันได้แก่
 

ข้อ 2.7.4.2a ระบบท่อสำรอง ระบบที่ไม่ใช่ระบบหลักในการทำงาน ที่สามารถหยุดการทำงานได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินเครื่องกระบวนการโดยรวม
 

ข้อ 2.7.4.2b ระบบที่เดินเครื่องแบบกะ (batch) ระยะเวลาการใช้งาน control valve มีไม่มาก (คือใช้เฉพาะตอนเดินเครื่องผลิตเท่านั้น นอกเวลานั้นก็อยู่เฉย ๆ ไม่มีการใช้งาน)


รูปที่ ๔๐ หน้าที่ ๑๙/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy



ข้อ 2.7.4.2c (หน้าที่ ๒๐ รูปที่ ๔๑) กรณีที่ของไหลนั้นมีโอกาสทำให้เกิดการอุดตันในท่อปลายปิดได้ (คือท่อ by-pass ขณะที่ไม่มีการใช้งาน มันจะเป็นท่อปลายปิดเนื่องจาก by-pass valve ปิดอยู่)
 

ข้อ 2.7.4.2d ระบบท่อที่ใช้งานกับของแข็ง (น่าจะเป็นระบบท่อนิวเมติกส์หรือ slurry)



รูปที่ ๔๑ หน้าที่ ๒๐/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy



ข้อ 2.7.5 กล่าวถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ในกรณีของ "block valve" กับ "side mounted handwheel" ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นกรณีของการปิดกั้นเส้นทางการไหลผ่าน control valve (ที่ไม่ใช่การปิดกั้นเพื่อการถอด control valve ออกไปซ่อม) โดยถ้าเป็นท่อขนาด 2 นิ้วลงมานั้นให้ใช้ block valve แต่ถ้าเป็นท่อขนาดตั้งแต่ 3 นิ้วขึ้นไปให้พิจารณาใช้ control valve ที่มีการติดตั้ง handwheel (สำหรับหมุนปิด-เปิดวาล์ว) นอกเหนือไปจากการมี actutator ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวในสภาวะปรกติ
 

ข้อ 2.7.6 กล่าวถึงการไม่ควรใช้ handwheel (เข้าใจว่าคือ control valve ที่มี handwheel) ในกรณีที่ความเร็วในการไหลนั้นอยู่ใกล้เคียงหรืออยู่ที่ระดับความเร็วเสียง



ข้อ 2.7.7 กล่าวถึง control valve 3 ทางว่าควรเป็นชนิดที่มี handwheel



ข้อ 2.8 เป็นหัวข้อเกี่ยวกับอุปกรณ์ทั่วไป



ข้อ 2.8.1 กล่าวถึง variable area meter ที่ใช้วัดอัตราการไหล อุปกรณ์ชนิดนี้จะมีรูปลอยลอยขึ้นในท่อที่มีขนาดหน้าตัดที่กว้างขึ้นตามระยะทางจากล่างขึ้นบน เมื่อลูกลอยลอยสูงขึ้น พื้นที่หน้าตัดการไหลก็จะกว้างขึ้น ทำให้ความเร็วในการไหลลดต่ำลง และเมื่อแรงที่เกิดจากการไหลขึ้นสมดุลกับน้ำหนักของลูกลอย ลูกลอยก็จะลอยูอยู่คงที่ ณ ตำแหน่งนั้น ระดับความสูงของลอยจะบ่งบอกถึงอัตราการไหล (ระดับความสูงนี้ขึ้นกับความหนาแน่นของของไหลด้วยนะ และเราสามารปรับเปลี่ยนน้ำหนักของลูกลอยให้เหมาะสมกับอัตราการไหลได้ด้วย) ตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปก็คือ rotameter ที่มีลูกลอยลอยอยู่ในหลอดแก้ว (รูปที่ ๔๒) แล้วอ่านอัตราการไหลจากสเกลข้างหลอดแก้ว แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์วัดคุมสำหรับโรงงานก็จะใช้วิธีการอื่น (เช่นการบดบังแสง) เพื่อแปลงตำแหน่งของลูกลอยให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าที่แสดงค่าอัตราการไหล





รูปที่ ๔๒ Rotameter จัดเป็น variable area flow meter แบบหนึ่ง ในรูปนั้นจะเห็นลูกลอยสองตัว ตัวบน (1) จะมีน้ำหนักเบา ใช้สำหรับอ่านค่าอัตราการไหลต่ำ ตัวล่าง (2) จะมีน้ำหนักมากกว่า ใช้สำหรับอ่านค่าอัตราการไหลสูง
 

ข้อ 2.7.2 กล่าวถึงการป้องกันการปนเปื้อน หรือการที่ process fluid หนึ่งไหลเข้าไปปนเปื้อนในอีก process fluid หนึ่ง ปัญหานี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตรงตำแหน่งท่อที่บรรจบกัน และสายหนึ่งนั้นมีความดันสูงกว่าอีกสายหนึ่ง หรือในกรณีที่ป้องกันไม่ให้ process fluid ไหลเข้าสู่ระบบที่กำลังทำการซ่อมบำรุง ด้วยการติดตั้งวาล์วแบบ double block & bleed คือใช้ block valve สองตัวต่ออนุกรมกันโดยมีท่อสั้น ๆ คั่นระหว่างกลาง และที่ท่อเชื่อมสั้น ๆ เส้นนี้ท่อขนาดเล็กที่มีวาล์วปิด-เปิดควบคุมอยู่ วาล์วตัวนี้เรียกว่า bleed valve (bleed ในที่นื้หมายถึงหน้าที่ ไม่ใช่ประเภท ของวาล์ว) ในการทำงานปรกติ block valve สองตัวจะเปิด และ bleed valve จะปิด ถ้ามีการซ่อมบำรุง (หรือป้องกันไม่ให้มีการไหลย้อน) ก็จะทำการปิด block valve ทั้งสอง และเปิด bleed valve เอาไว้ ถ้ามีการรั่วไหลจากด้านที่มีความดันผ่านวาล์วมาได้ fluid ที่รั่วนั้นก็จะถูกระบายทิ้งออกไปทาง bleed valve แทน (รูปที่ ๔๓)





รูปที่ ๔๓ ระบบ double block และ bleed valve



อีกแนวทางหนึ่ง (คงขึ้นอยู่กับ process fluid และสภาวะการทำงาน) คือการใช้วาล์วที่ seat นั้นทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น (เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการรั่วซึมดังเช่นกรณีของผิวสัมผัสระหว่างผิวโลหะ) โดยมีระบบระบาย fluid ที่ขังอยู่ในตัววาล์วออกมาได้ (ที่ใช้คำว่า body bleed)
 

ท่อระบบสาธารณูปโภค (เช่น ไอน้ำ ไนโตรเจน อากาศ น้ำ) ที่ต่อกับระบบโดยตรง ที่ใช้ในการป้อนสาธารณูปโภคเข้าสู่ระบบ (ที่อาจเป็น vessel หรือระบบท่อ) ต้องมีการติดตั้ง block valve และ check valve เพื่อป้องกัน process fluid ไม่ให้ไหลย้อนเข้ามาปนเปื้อนระบบสาธารณูปโภคได้ กล่าวคือในสภาวะที่เดินเครื่องตามปรกตินั้น อาจไม่มีการใช้งานระบบสาธารณูปโภค หรือมีการใช้งานสาธารณูปโภคในขณะที่ความดันในระบบนั้นต่ำกว่าความดันของระบบสาธารณูปโภคที่จ่ายเข้ามา แต่ในระหว่างการเดินเครื่องนั้นถ้าหากความดันในระบบสูงกว่าความดันของระบบสาธารณูปโภค process fluid ก็จะไหลย้อนเข้าสู่ระบบสาธารณูปโภคได้ การมี check valve ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการไหลย้อนในปริมาณมากอย่างกระทันหัน (คือแม้ว่า check valve จะปิด แต่ก็อาจมีการรั่วซึมผ่านได้) ดังนั้นถ้าในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการใช้งานระบบสาธารณูปโภคก็ควรต้องปิด block valve ด้วย



ข้อ 2.8.3 (หน้าที่ ๒๑/๒๒ รูปที่ ๔๔) กล่าวถึงตำแหน่งจุดต่อท่อสาธารณูปโภค (เช่น น้ำ อากาศ ไนโตรเจน ไอน้ำ) สำหรับการใช้งานทั่วไป (เช่น ทำความสะอาด ไล่สารเคมี ขับเคลื่อนอุปกรณ์นิวเมติกส์) ว่าควรอยู่ในระยะไม่เกิน 50 ฟุต (ประมาณ 15 เมตร) จากตำแหน่งที่ต้องการใช้งาน และควรเป็นวาล์วขนาด 3/4 นิ้ว โดยตำแหน่งจุดต่อนั้นควรอยู่ในบริเวณเดียวกัน
 

ประเด็นเรื่องจุดต่อสายยางเข้ากับระบบสาธารณูปโภคนั้น มีการแนะนำว่าไม่เพียงแต่การระบุให้ชัดเจนว่าท่อไหนเป็นของสาธารณูปโภคตัวไหนแล้ว ยังควรที่จะเลือกใช้ข้อต่อ qucik coupling ที่แตกต่างกันด้วยเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการต่อผิดท่อโดยไม่จงใจ (เช่นท่ออากาศ กับไนโตรเจน) เพราะเคยมีบันทึกความสูญเสียทีเกิดจากการต่อสายยางผิดท่อ เช่นต่อท่อไนโตรเจนเข้ากับหน้ากากหายใจ การใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์มาฉีดไล่ฝุ่นผงที่ติดตามเสื้อผ้าและร่างกายออกไป (แทนที่จะใช้อากาศปรกติฉีดไล่)



รูปที่ ๔ หน้าที่ ๒๑/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy



ข้อ 2.8.4 (รูปที่ ๔๔) กล่าวถึงระบบท่อเชื้อเพลิงที่ควรมีการติดตั้ง plug valve หรือ ball valve (เพื่อการปิดที่รวดเร็วในเวลาฉุกเฉิน) เข้ากับท่อจ่ายเชื้อเพลิงหลักที่จ่ายให้กับเตาเผาต่าง ๆ (รวมหม้อน้ำด้วย) และวาล์วควรอยู่ห่างจากตัวอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 50 ฟุต (ประมาณ 15 เมตร) ในตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและทำงานได้ง่าย



ข้อ 2.8.5 เกี่ยวกับวาล์วที่ battery limit (คือที่ขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างโรงงาน) โดยท่อทุกท่อที่เดินผ่านแนวนี้ต้องมีการติดตั้ง block valve และควรมีการติดตั้ง "Figure 8 blind" เอาไว้ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเมื่อมีการปิดกั้น จะมีการปิดกั้นอย่างสมบูรณ์
 

"Figure 8 blind" หรือ "Spectacle plate" เป็นแผ่นโลหะสำหรับสอดคั่นไว้ระหว่างหน้าแปลนเพื่อปิดกั้นการไหล รูปร่างจะเหมือนกับไม้ปิงปองกลม คือโดยปรกติแล้วเรามักจะถือว่าการมีวาล์วตัวเดียวไม่สามารถวางใจได้ว่าจะปิดกั้นการไหลได้สนิท (แม้ว่าจะมีการล็อคไม่ให้ใครเปิดได้ก็ตาม) โดยเฉพาะเมื่อทำงานซ่อมบำรุง วิธีการปฏิบัติมาตรฐานที่ทำกันก็คือหลังจากปิดวาล์วแล้วก็จะสอดแผ่น spectacle plate เอาไว้ระหว่างหน้าแปลนทางด้าน downstream ของวาล์ว ในกรณีของระบบที่ไม่ได้มีความดันมาก ไม่ได้มีการถอดซ่อมเป็นประจำ และเป็นท่อขนาดเล็ก ก็อาจใช้ spectacle plate ที่ไม่หนานักแทรกลงไประหว่างหน้าแปลน (แน่นอนว่าคงต้องมีการง้างท่อบ้าง) แต่ในกรณีของท่อขนาดใหญ่และ/หรือมีความดันมาก จำเป็นต้องใช้ spectacle plate ที่มีความหนา ดังนั้นจำเป็นต้องมีการเว้นที่ว่างระหว่างหน้าแปลนสำหรับการสอด spectacle plate เอาไว้ด้วย ในเวลาทำงานปรกติก็จะสอด plate ที่มีรูปร่างเป็นวงแหวนเอาไว้เพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างหน้าแปลนที่เว้นว่างเอาไว้นั้น แต่พอต้องการปิดกั้นก็จะเปลี่ยนเป็น plate ตันสอดเอาไว้แทน ทีนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนว่า plate ที่สอดเอาไว้นั้นเป็น plate แบบไหน และเวลาจะใช้งานแต่ละทีก็ไม่ต้องไปค้นหาว่าเก็บ plate อีกชนิดเอาไว้ที่ไหน ก็เลยใช้วิธีเอา plate ทั้งสองชนิดมาเชื่อมติดกันเลย รูปร่างมันก็เลยเหมือนเลข 8 ดังรูปที่ ๔๕ ดังนั้นถ้าเห็นว่า plate ที่โผล่ยื่นออกมานั้นเป็น plate วงแหวน (รูปที่ ๔๕ บนซ้าย) ก็แสดงว่าท่อนั้นถูกปิดกั้นอยู่ แต่ถ้าเห็น plate ที่โผล่ยื่นออกมานั้นเป็น plate ตัน (รูปที่ ๔๕ บนขวา) ก็แสดงว่าท่อนั้นไม่ถูกปิดกั้น





รูปที่ ๔๕ "figure 8 blind plate" ในการใช้งาน ถ้าเป็นหน้าแปลนที่ไม่ได้มีนอตมาก ตัวก้านเชื่อมระหว่างสอง plate จะสามารถสอดผ่านช่องว่างระหว่างนอตสองตัวได้ แต่ถ้าหน้าแปลนนั้นมีนอตจำนวนมาก ช่องว่างระหว่างนอตสองตัวจะแคบ ดังนั้นจะมีการทำรูไว้ที่ตัวก้านเชื่อมระหว่างสอง plate เพื่อไว้สำหรับร้อยนอตผ่าน และยังช่วยตรึง plate ให้อยู่กับที่ด้วย




ข้อ 2.8.6 กล่าวถึงการติดตั้ง check valve เพื่อป้องกันการเกิดกาลักน้ำ (siphon หรือ syphon) ในกรณีที่ปลายท่อด้านขาออกนั้นจุ่มลงไปใต้ผิวของเหลว (ที่เรียกว่า dip leg)



ข้อ 2.9 เกี่ยวข้องกับการเลือกวัสดุที่ใช้ทำวาล์ว



ข้อ 2.9.1 กล่าวว่าในการเลือกวัสดุนั้นควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในแง่เหล่านี้เอาไว้ด้วยคือ
 

ข้อ 2.9.1a (หน้าที่ ๒๒/๒๒ รูปที่ ๔๖) กล่าวว่าวาล์วจะต้องมีความเหมาะสมสำหรับการทำหน้าที่ของมัน และในกรณีที่ต้องใช้โลหะผสมอันเป็นผลจากอุณหภูมสูงหรือการกัดกร่อน block valve ในส่วนของท่อที่มีลักษณะเป็นปลายตันหรือในส่วนที่มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า อาจเลือกใช้วัสดุชนิดอื่นก็ได้ แต่จะต้องสามารถรับความดันของการใช้งานได้
 

ข้อ 2.9.2b ในกรณีของอุปกรณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันหรืออุณหภูมิคร่อมตัวอุปกรณ์ (เช่น control valve ที่ความดันด้านขาเข้าและขาออกนั้นต่างกัน หรือเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน ที่อุณหภูมิด้านขาเข้าและขาออกนั้นแตกต่างกัน) block valve ทางด้าน upstream และสาย by-pass ต้องรองรับสภาวะทางด้าน upstream ได้ ในขณะที่ block valve ทางด้าน downstream อาจเลือกโดยอิงจากสภาวะการทำงานด้าน downstream หรือสามารถรองรับสภาวะการทำงานแบบเดียวกับด้าน upstream ได้ในเวลาสั้น ๆ



ข้อ 2.10 ที่เป็นข้อสุดท้าย เกี่ยวข้องกับ valve tapping ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นคำที่ทำให้ผมเองก็งงอยู่เหมือนกัน และไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจถูกต้องด้วย กล่าวคือเวลาที่เราปิดวาล์วแล้ว ก็มีโอกาสที่จะมีของเหลว (หรือแก๊สความดัน) ค้างอยู่ในตัววาล์วและระบบท่อได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน หรือป้องกันความเสียหายในกรณีที่ของเหลวเกิดการแข็งตัว ก็ควรมีช่องทางสำหรับระบายของไหลที่ค้างอยู่ในตัววาล์วและระบบท่อนี้ออก การทำท่อนี้คือการ "tap" ซึ่งก็คือการเจาะรูและติดตั้งท่อ (อาจด้วยการทำเกลียวสำหรับขันท่อเล็กลงไป)
 

ข้อ 2.10.1 กล่าวว่าให้มีการติดตั้งท่อระบาย (ที่มีวาล์วเปิด-ปิดอีกตัวหนึ่ง) เข้ากับลำตัวของวาล์ว โดยขนาดของท่อระบายสำหรับวาล์วแต่ละขนาดนั้นแสดงไว้ในตารางด้านล่างสุด (flushing หมายถึงการชะล้าง ซึ่งอาจหมายถึงการนำของเหลวอีกชนิดหนึ่งเข้าไปชะล้างของเหลวหรือสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่) 
  

ข้อ 2.10.2 กล่าวว่าไม่ควรทำการ tap กับวาล์วที่เชื่อมต่อด้วยข้อต่อเกลียวหรือ socket weld (ข้อต่อพวกนี้มักใช้กับระบบท่อขนาดเล็ก ไม่ได้มีความดันสูง ไม่ได้ใช้งานกับสารอันตราย)
 

ข้อ 2.10.3 เมื่อมีความจำเป็นต้องทำการ "tap" ให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน ANSI B16.5 (ตรงนี้ผมไม่มีรายละเอียดด้วยว่าเขากล่าวเอาไว้ว่าอะไรบ้าง รู้แต่ว่า figure 2 ที่กล่าวถึงนั้นไม่น่าจะเกี่ยวกับ ANSI B16.5 แต่อาจเป็นรูปของเนื้อหาในเอกสาร valve philosophy ที่ไม่ปรากฏในเอกสารที่ผมมีอยู่)
 

ข้อ 2.10.4 กล่าวว่าในกรณีที่ความดันในการใช้งานนั้นสูงเกินกว่า 300 psig (20 เท่าของความดันบรรยากาศ) หรือการใช้งานกับระบบสำคัญหรืออันตราย ควรพิจารณาการใช้การเชื่อมยึดท่อ "tap" เอาไว้ด้วย



รูป ๔๗ ท้ายสุดนั้นเป็นกราฟค่าประมาณของ flow coefficient (Cv) ของ gate valve และ globe valve ที่มีการกล่าวถึงในหัวข้อ 2.7.2.1 ในหน้า ๑๘/๒๒ (รูปที่ ๓๘ ของบทความตอนที่ ๗ ) ที่ว่าวาล์วที่ติดตั้งในสาย by-pass ของ control valve ขนาดใหญ่นั้นอาจใช้ชนิด gate แทนชนิด globe ก็ได้ในกรณีที่ไม่ต้องการอัตราการไหลที่แน่นอน (คงเป็นเพราะต้องการลดน้ำหนักและค่าใช้จ่าย)



บทความชุด "ข้อพึงคำนึงพื้นฐานในการเลือกใช้วาล์ว" หรือ "valve philosophy" เท่าที่ผมมีอยู่ก็หมดเพียงเท่านี้ 

รูปที่ ๔๖ หน้าที่ ๒๒/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy





รูปที่ ๔๗ กราฟค่าประมาณของ flow coefficient (Cv) ของ gate valve และ globe valve ที่มีการกล่าวถึงในหัวข้อ 2.7.2.1 ในหน้า ๑๘/๒๒ (รูปที่ ๓๘ ของบทความตอนที่ ๗ )

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

จท90 ปฏิทินการศึกษา จท92 ตารางสอนตารางสอบ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๓๔) MO Memoir : Tuesday 28 November 2560

เอกสารเกี่ยวกับงานทะเบียนของมหาวิทยาลัยนั้น ถ้าเป็นภาษาไทยก็จะมีรหัสขึ้นต้นด้วย จท (ย่อมาจาก จุฬา-ทะเบียน) แล้วตามด้วยตัวเลข ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะขึ้นต้นด้วย CR (ย่อมาจาก Chula - Registration) แล้วตามด้วยตัวเลขเช่นกัน เช่น จท90 ปฏิทินการศึกษาที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการต่าง ๆ (เช่น ลงทะเบียน เพิ่ม ลด ถอน ฯลฯ) จท92 ที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับตารางสอนตารางสอบวิชาต่าง ๆ ของทั้งมหาวิทยาลัยที่เปิดเรียนในแต่ละปีการศึกษา ซึ่งแต่ก่อนทางมหาวิทยาลัยจะจัดพิมพ์ก่อนเริ่มปีการศึกษาใหม่ นิสิตคนใดอยากมีไว้เป็นของตัวเองก็สามารถไปซื้อได้ที่สำนักทะเบียน (เก็บใบเสร็จไว้ด้วย เพื่อที่จะได้เอาไปขอฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่จะมีพิมพ์ตามมาอีก) หรือถ้าไม่อยากมีไว้ให้มันเกะกะก็สามารถไปค้นได้ที่ห้องทะเบียนหรือห้องสมุด ฉบับที่ผมมีอยู่ตอนนี้เป็นฉบับที่ทางมหาวิทยาลัยแจกให้แก่อาจารย์แต่ละคนตอนต้นปีการศึกษา
 
ปัจจุบันไม่มีการจัดทำทั้ง จท90 และ จท92 มา (น่าจะ) เกินกว่าสิบปีแล้ว โดยเปลี่ยนเป็นข้อมูลที่อยู่ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ของทางมหาวิทยาลัย วันนี้ระหว่างรื้อห้องทำงานพบมันซุกอยู่ในมุมหนึ่งของห้องทำงาน ก็เลยขอถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย


รูปที่ ๑ จท92 ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๖-๒๕๔๘ ซึ่งน่าจะเป็นรุ่นท้าย ๆ ที่มีการจัดพิมพ์ ขนาดจะเล็กกว่า A4 เล็กน้อย สีหน้าปกจะเปลี่ยนไปตามปีการศึกษา

รูปที่ ๒ พอมหาวิทยาลัยมีสาขาวิชาและวิชาให้เลือกเรียนมากขึ้น เล่มมันก็เลยหนาตามไปด้วย (เรียกว่าเป็นงานหนักสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องไปรับเอกสารมาแจกอาจารย์ในภาควิชาเหมือนกัน) ฉบับที่ออกตอนต้นปีจะรวมตารางสอนตารางสอบทั้ง ภาคการศึกษาต้น ภาคการศึกษาปลาย และภาคการศึกษาฤดูร้อนเอาไว้ แต่ก็จะมีกำหนดออกฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ต้องคอยติดตามเป็นระยะ


รูปที่ ๓ ตัวอย่างวิชาของภาควิชาวิศวกรรมเคมีที่เปิดสอนในภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา ๒๕๔๖ AR คือยังไม่มีการกำหนดวันสอบ Staff หมายถึงไม่มีการระบุอาจารย์ผู้สอน ถ้าวิชาใดมีการระบุอาจารย์ผู้สอนแน่นอนก็จะมีการใส่ชื่อย่อเอาไว้ในคอลัมน์ด้านขวาด้วย (มีชื่อผมอยู่ด้วย) ส่วนที่เห็นระบุว่า 2CHE ที่มุมขวาบนหมายความว่าตอนเรียนนั้นลงได้เฉพาะนิสิตภาควิชาวิศวกรรมเคมีปี ๒ เท่านั้น


รูปที่ ๔ บางทีการจัดทำก็มีข้อผิดพลาดเช่นกัน ดังเช่นตัวอย่างนี้ที่เป็นวิชาของภาควิชาที่เปิดสอนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา ๒๕๔๖ ที่ตอนเรียนแลปหายไป ๑ ตอนเรียน (แลปวันจันทร์หายไป) ทางอาจารย์ผู้สอนก็ต้องไปแจ้งให้ทางสำนักทะเบียนทราบเพื่อทำการแก้ไข ซึ่งจะมีประกาศแก้ไขพิมพ์ออกมาเพิ่มเติมภายหลัง ตรงวิชา 2105273 ตอนเรียนที่ 1 จะเห็นว่ามีการระบุว่า 2PE พ่วงเข้ามาด้วย นิสิตกลุ่มนี้คือนิสิตวิศวกรรมปิโตรเลียมปี ๒ ซึ่งตอนนั้นมีการมาขอเรียนวิชาในหลักสูตรวิศวกรรมเคมีอยู่หลายวิชาเหมือนกัน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว


รูปที่ ๕ ไม่เพียงแต่ จท92 ที่หายไป จท90 ปฏิทินการศึกษา (ขนาดประมาณกระดาษ A5) ก็หายไปด้วย เอกสารนี้จะมาพร้อมกับเอกสารลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาแรก (ซึ่งนิสิตต้องไปซื้อจากสำนักทะเบียน)

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข้อพึงคำนึงพื้นฐานในการเลือกใช้วาล์ว (Valve Philosophy) ตอนที่ ๗ MO Memoir : Sunday 26 November 2560

รูปที่ ๓๓ ส่วนล่างของหน้าที่ ๑๖/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy

หัวข้อ 2.6 (รูปที่ ๓๓) เกี่ยวข้องกับวาล์วในระบบท่อไอน้ำและน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำ (condensate)
 
ความหมายของคำว่า "condensate" นี้ ถ้ามีการกล่าวขึ้นมาลอย ๆ ก็ต้องพิจารณาดูด้วยว่ากำลังพูดถึงเรื่องอะไรกันอยู่ ถ้ากำลังพูดเรื่องไอน้ำอยู่ มันจะหมายถึงน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำ ซึ่งถ้าจะเรียกชื่อเต็มก็คือ steam condensate แต่ถ้าพูดถึงแก๊สธรรมชาติก็จะหมายถึงไฮโดรคาร์บอนส่วนที่ควบแน่นเป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิห้อง (พวกตั้งแต่ C5 ขึ้นไป) ซึ่งชื่อเต็มก็คือ natural gas condensate
 
การใช้งานหลักของไอน้ำในโรงงานเห็นจะได้แก่ การให้ความร้อน ที่เหลือเห็นจะได้แก่ การใช้ขับเคลื่อนอุปกรณ์ (ผ่านระบบลูกสูบหรือกังหันไอน้ำ) การใช้ไล่อากาศและสารเคมีที่มีจุดเดือดสูงที่ค้างอยู่ใน vessel ต่าง ๆ (เช่นไล่น้ำมันหนักออกจากถังก่อนทำการซ่อมบำรุง) condensate ที่เกิดจากไอน้ำที่นำไปใช้ให้ความร้อนแก่ process fluid ผ่านเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน (ที่มักจะเป็นไออิ่มตัวหรือ saturated steam) หรือขับเคลื่อนอุปกรณ์ (ในกรณีของกังหันไอน้ำก็มักจะเป็นไอร้อนยวดยิ่งหรือ super heated steam) มีทั้งมีการเก็บรวบรวมนำกลับมาใช้ใหม่และปล่อยทิ้งไปเลย ส่วนไอน้ำที่ใช้ในรูปแบบที่ให้ความร้อนด้วยการฉีดเข้าไปในสารที่ต้องการให้ความร้อนโดยตรง หรือนำไปใช้ไล่อากาศนั้น ก็จะไม่มีการรวบรวมเอา condensate กลับมาใช้งานใหม่ (คือค่อยไปแยกออกจาก process fluid ทีหลัง ไม่ก็ระบายทิ้งไปเลย)

หัวข้อ 2.6.1 กล่าวถึงตำแหน่งที่ต้องมี block valve ในระบบท่อไอน้ำและ condensate ดังนี้
 
ข้อ 2.6.1a ท่อไอน้ำที่ต่อเข้ากับอุปกรณ์ที่ใช้ไอน้ำขับเคลื่อน และในกรณีที่ไอน้ำที่ใช้มีความดันสูงเกินกว่า 600 psig (ประมาณ 20 เท่าของความดันบรรยากาศ) หรือพื้นที่ที่ภูมิอากาศเย็นจัดจนน้ำเป็นน้ำแข็งได้ ให้มีการติดตั้ง block valve "เพิ่ม" อีกหนึ่งตัวทางด้านระบบท่อจ่ายไอน้ำที่เรียกว่า "header"
 
คำว่า "header" ไม่ได้หายถึงหัวกระดาษ แต่หมายถึงท่อขนาดใหญ่ (หรืออาจคล้าย pressure vessel ที่เล็กแต่ยาว) ที่มีจุดสำหรับให้เฃื่อมต่อท่อขนาดเล็กออกไปหลายจุด (ดูรูปที่ ๓๔) จะเรียกว่าเป็นศูนย์กลางการกระจายก็ได้ มักใช้กับระบบสาธารณูปโภค เช่นระบบไอน้ำ อากาศอัดความดัน ข้อดีของการใฃ้ header ก็คือนำวาล์วควบคุมการปิด-เปิดการจ่ายสาธารณูปโภคนั้นไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ (ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน) มาไว้ในที่เดียวกัน ทำให้เกิดความสะดวกในการทำงาน ระบบ header นี้บางทีก็เรียกว่า "manifold" (ในกรณีของ condensate ที่มีการนำกลับมาใช้ใหม่นั้น header จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการรวบรวม condensate ไม่ใช่ศูนย์กลางการกระจาย)

รูปที่ ๓๔ "Header" ระบบไอน้ำของโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มแห่งหนึ่ง ท่อไอน้ำหลักจะเข้ามาทางขวาไหลลงสู่ท่อในแนวนอน condensate ที่เกิดจากการควบแน่นจะไหลออกทางด้านซ้าย หน่วยต่าง ๆ ที่น้องการไอน้ำไปใช้งานจะดึงไอน้ำออกทางด้านบนของท่อในแนวนอน (จะได้ไม่มีของเหลวติดไปด้วย)

"trip" ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าการเดินทาง แต่หมายถึงการตัดการทำงาน เช่นในกรณีที่อุปกรณ์ที่อาจเกิดความเสียหายได้ถ้าหากมีภาระงานสูงเกินไป หรือความเร็วรอบสูงเกินไป หรือระบบหล่อลื่นไม่ทำงาน ก็จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่คอยวัด ภาระงาน ความเร็วรอบ หรืออัตราการไหลของสารหล่อลื่น ถ้าพบว่าอยู่ในสภาวะที่ถ้าปล่อยให้อุปกรณ์ทำงานต่อไปก็จะเกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์ได้ ก็จะตัดการทำงานของอุปกรณ์นั้น การตัดการทำงานนี้เรียกว่า "trip"
 
"throttle valve" ถ้าแปลตรงตัวก็คือวาล์วที่ทำหน้าที่หรี่หรือลดอัตราการไหลนั่นเอง ในกรณีของระบบไอน้ำ วาล์วที่ทำหน้าที่นี้มักจะเป็น globe valve ซึ่งตัว globe valve นี้สามารถทำหน้าที่เป็น block valve ได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงยอมให้นับ throttle valve (ที่สามารถปิดสนิทได้) ให้เป็น block valve อีกตัวหนึ่ง

ข้อ 2.6.1b กล่าวถึงตัวอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ทางท่อไอน้ำด้านขาออก โดยที่ไอน้ำด้านขาออกนี้ยังมีความดันอยู่ 
  
ข้อ 2.6.1c กล่าวถึงตำแหน่งถัดจากตัวอุปกรณ์ทางด้านท่อไอน้ำด้านขาออกของอุปกรณ์ที่ใช้ไอน้ำขับเคลื่อน โดยท่อไอน้ำด้านขาออกนี้ความดันเป็นสุญญากาศ ข้อนี้ใช้คำว่า "adjacent" ซึ่งให้ความหมายถึง "อยู่ติดกับ" หรือ "อยู่ใกล้เคียงกับ" ตัวอุปกรณ์เลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในกรณีที่มีอุปกรณ์ที่ใช้ไอน้ำขับเคลื่อนหลายชิ้น แต่ท่อไอน้ำด้านขาออกต่างระบายลงสู่หน่วยรวบรวมเดียวกัน (เช่นเครื่องควบแน่น เพื่อนำเอา condensate นั้นกลับไปใช้ต้มเป็นไอน้ำใหม่) การมี block valve ทางด้านขาออกนี้ทำให้สามารถ isolate อุปกรณ์ออกจากระบบได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีการรั่วไหลย้อนจากทางด้านขาออก
 
ข้อ 2.6.1b และ 2.6.1c ต่างกันตรงที่ "ความดัน" ของท่อไอน้ำด้านขาออก อุปกรณ์ขับเคลื่อนเช่นพวกกังหันไอน้ำนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าไอน้ำจะสามารถไหลเข้าและออกจากตัวอุปกรณ์ได้อย่างสะดวก ดังนั้นจะทำการควบแน่นไอน้ำด้านขาออกให้กลายเป็นของเหลว (ด้วยการใช้เครื่องควบแน่นที่เรียกว่า surface condenser) ความดันทางด้านขาออกจึงถือได้ว่าต่ำกว่าความดันบรรยากาศ (เขาจึงใช้คำว่า vacuum) แต่ในกรณีของไอน้ำขับเคลื่อนที่มีความดันสูงนั้น ระหว่างที่ไอน้ำความดันสูงเคลื่อนที่ผ่านกังหันไอน้ำก็จะมีความดันลดลง ในจั'หวะนี้อาจมีการดึงเอาไอน้ำออกจากบางตำแหน่งของกังหันไอน้ำที่มีความดันที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้งานอื่น เช่นขับเคลื่อนอุปกรณ์ที่ต้องการความดันไอน้ำที่ต่ำกว่า หรือให้ความร้อน ความหมายของข้อ 2.6.1b คือตามความหมายหลังนี้ (รูปที่ ๓๗)

รูปที่ ๓๕ หน้าที่ ๑๗/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy

รูปที่ ๓๖ ความหมายของตำแหน่งวาล์วในหัวช้อ 2.6.1b และ 2.6.1c

ข้อ 2.6.1d เกี่ยวข้องกับ steam trap หรือกับดักไอน้ำ หน้าที่ของ steam trap คือการระบายเอา condensate ออกจากระบบโดยป้องกันไม่ให้ไอน้ำรั่วไหลออกมา condensate ที่ระบายออกมานี้อาจระบายทิ้งลง drain หรือลงระบบเก็บรวบรวม (ขึ้นอยู่กับการออกแบบ) ในกรณีที่เป็นการระบายทิ้งก็ให้มี block valve เฉพาะทางด้านขาเข้าเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการระบายลงระบบเก็บรวบรวมก็ให้มี bloc
 
ท่อ bypass steam trap มีไว้ในกรณีที่ต้องการถอดเอา steam trap ไปซ่อม หรือในกรณีที่มี condensate ควบแน่นในระบบมากหรือมีของแข็งติดปนมากับ condensate เช่นในกรณีท่อไอน้ำที่เพิ่งจะสร้างเสร็จใหม่ ๆ ผิวท่อด้านในจะมีสนิมเหล็กอยู่ พอป้อนไอน้ำเข้าไป ความร้อนจะทำให้สนิมเหล็กหลุดร่อนออกมาจากผิวท่อ ไหลปะปนมากับ condensate จึงจำเป็นต้องระบายเอา condensate ช่วงนี้ออกทางท่อ bypass เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกเข้าไปทำให้ steam trap ทำงานไม่ได้ (รูปที่ ๓๗)
 
ข้อ 2.6.1e กล่าวถึงท่อทุกท่อที่ต่อแยกออกมาจาก steam header (ดูรูปที่ ๓๔)
 
ข้อ 2.6.1f กล่าวถึงท่อไอน้ำที่ทำการฉีดไอน้ำเข้าไปในระบบ (หรือใน process fluid) ที่อย่างน้อยต้องมีทั้ง block valve และ check valve การที่ต้องมี check valve ก็เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับกรณีที่ความดันทางด้าน process fluid นั้นสูงกว่าทางด้านไอน้ำ จะทำให้ process fluid ไหลเข้ามาปนเปื้อนในระบบจ่ายไอน้ำได้ และในกรณีที่การปนเปื้อนดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดปัญหารุนแรงได้ ก็ควรมีการติดตั้ง check valve เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตัว (รวมเป็น check valve สองตัว)
 
การติดตั้ง check valve สองตัวต่ออนุกรมกันนี้ บางรายแนะนำว่าควรใช้ check valve ต่างชนิดกัน เช่นตัวหนึ่งเป็น swing check valve และอีกตัวหนึ่งเป็น lift check valve ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสที่ check valve สองตัวจะไม่ทำงานในเหตุการณ์เดียวกัน
 
ข้อ 2.6.2 กล่าวถึงด้านขาออกของวาล์วที่ไม่ได้ต่อเข้ากับอะไรเลย (คือเป็นจุดสำรองสำหรับการเผื่อขยายหรือเมื่อมีความจำเป็น) ในกรณีนี้ปลายท่อด้านขาออกควรมีการปิดด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม (นอกเหนือไปจากวาล์ว) เช่น plug หรือ blind flange

ต่อไปเป็นข้อ 2.7 ที่กล่าวถึงวาล์วที่สถานีควบคุม โดยเริ่มจากข้อ 2.7.1 ที่กล่าวถึงระบบวาล์วควบคุมการไหลที่ควรประกอบด้วย block valve (ด้านหน้าและด้านหลัง control valve) และวาล์วที่สามารถปรับอัตราการไหลได้ (เช่น globe valve) ติดตั้งทางท่อ bypass เรื่องวาล์วของระบบ control valve นี้เคยเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๖๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "การปิด control valve"

รูปที่ ๓๗ steam trap ที่รับ condensate ที่ควบแน่นภายใน steam header

ข้อ 2.7.2 (รูปที่ ๓๘) กล่าวถึงวาล์วในส่วนของท่อ bypass ตัว control valve ว่าต้องสามารถให้การไหลผ่านในอัตราเดียวกันกับตัว control valve ได้ และในกรณีของท่อขนาดไม่เกิน 4 นิ้วนั้นให้ใช้ชนิด globe valve แต่ที่แปลกใจหน่อยก็คือในกรณีของท่อใหญ่เกิด 4 นิ้วนั้นเอกสารนี้บอกว่าใช้ gate valve ได้ เว้นแต่ว่าต้องการปรับการไหลให้เที่ยงตรง ตรงนี้เข้าใจว่าเป็นเพราะ globe valve ตัวใหญ่มีน้ำหนักและราคาสูง และกรณีของท่อขนาดใหญ่มักไม่ต้องการการไหลที่เที่ยงตรงมากนัก
 
ข้อ 2.7.2.1 กล่าวถึงกรณีที่วาล์วในท่อ bypass นั้นไม่ใช่ชนิด globe ในกรณีเช่นนี้การเลือกขนาดวาล์วควรเลือกให้มีค่า Cv ใกล้เคียงกับของตัว control valve (แปลว่าวาล์วในท่อ bypass นั้นอาจจะมีขนาดเล็กกว่า หรือขนาดที่เมื่อเปิดเพียงแค่บางส่วน เช่น 1 ใน 4 ก็จะให้ค่า Cv ใกล้เคียงกับตัว control valve)
เรื่องของค่า Cv (หรือ flow coefficient ของวาล์ว) นี้เคยเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๒๐๙ วันอังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เรื่อง "เรื่องของ Flow coefficient (Cv)"
 
ข้อ 2.7.3 กล่าวถึง block valve (สำหรับ control valve) ว่าถ้าไม่มีการระบุไว้เป็นอย่างอื่นก็ควรเป็นชนิด gate (เดาว่าคงเป็นเพราะมันมี ขนาดเล็กสุด ราคาถูกสุด และมีให้เลือกใช้ในช่วงอุณหภูมิและความดันที่กว้าง) และการใช้วาล์วที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดท่อก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการประหยัด เพราะการใช้วาล์วที่เล็กกว่าขนาดท่อจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งข้อต่อลด (reducer) เพิ่มขึ้นอีกสองตัว (ทั้งค่า reducer เองและค่าเชื่อม reducer เข้ากับท่อ)
 
ตรงนี้ต้องขอทบทวนนิดนึงว่า ในท่อขนาดใหญ่นั้นตัว control valve มักจะมีขนาดเล็กกว่าขนาดท่อ ในหัวข้อ 2.7.3 นี้ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมไว้ว่า
 
ถ้า control valve มีขนาดเล็กกว่าขนาดท่อ 1 ขนาด ให้ใช้ block valve ที่มีขนาดเท่าขนาดท่อ
 
ถ้า control valve มีขนาดเล็กกว่าขนาดท่อ 2 ขนาด ให้ใช้ block valve ที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดท่อ 1 ขนาด
 
ถ้า control valve มีขนาดเล็กกว่าขนาดท่อ 3 ขนาดหรือมากกว่า ให้ใช้ block valve ที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาด control valve 2 ขนาด
 
และในกรณีของท่อขนาด 2 นื้วหรือเล็กกว่า ให้ใช้ block valve ที่มีขนาดเท่าขนาดท่อโดยไม่ต้องสนว่า control valve จะมีขนาดเท่าใด


รูปที่ ๓๘ หน้าที่ ๑๘/๒๒ ของเอกสาร Valve philosophy
 
ถ้าเราดูตารางท่อจะพบว่าท่อมีให้เลือกหลายขนาด (แต่จะมีการผลิตครบทุกขนาดหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่ในการสร้างโรงงานนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนและจำนวนวัสดุที่ต้องสำรองไว้เพื่อการซ่อมบำรุง จึงมักจะมีการกำหนดว่าในการเลือกใช้ท่อนั้นให้เลือกใช้ท่อขนาดใดบ้าง เช่นไม่ใช้ท่อที่มีขนาดเล็กกว่า 3/4 นิ้ว หลีกเลี่ยงการใช้ท่อขนาดเล็กที่มีขนาดที่มีตัวเลขพวก 1/4 นิ้ว (เช่นท่อขนาด 1-1/4 นิ้ว) หรือ 3/4 นิ้วผสมอยู่ พอเป็นท่อขนาดใหญ่ขึ้นมาก็ให้หลีกเลี่ยงการใช้ท่อที่มีตัวเลข 1/2 นิ้วผสมอยู่ (คือท่อขนาด 1-1/2 นิ้ว อันนี้ยอมรับได้ แต่ถ้าเป็น 2-1/2 นิ้ว อันนี้ไม่ควรมี) และในท่อที่มีขนาดใหญ่มาก (เช่นเกิน 6 นิ้ว) ก็ให้หลีกเลี่ยงการใช้ขนาดท่อที่เป็นเลขคี่
 
ตัวอย่างเช่นทางโรงงานอาจกำหนดว่าถ้าต้องการใช้ท่อที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 นิ้ว ขนาดถัดไปให้เลือกใช้เป็น 3 นิ้วหรือ 4 นิ้วเลย ดังนั้นในกรณีนี้ถ้าพบว่า control valve ของท่อเส้นขนาด 4 นิ้วนี้ต้องมีขนาด 3 นิ้ว (เล็กกว่าขนาดท่อ 1 ขนาด) ก็ให้ใช้ block valve ที่มีขนาด 4 นิ้ว แต่ถ้าพบว่า control valve ของท่อเส้นขนาด 4 นิ้วนี้ต้องมีขนาด 2 นิ้ว (เล็กกว่าขนาดท่อ 2 ขนาด) ก็ให้ใช้ block valve ที่มีขนาด 3 นิ้ว
 
ข้อ 2.7.3.1 กล่าวถึงความจำเป็นต้องมี drain valve สำหรับ control valve ว่าควรมีขนาด 3/4 นิ้วโดยติดตั้งอยู่ระหว่าง block valve ทางด้านขาเข้าและตัว control valve ทั้งนี้เพื่อใช้ระบายความดันและ process fluid ที่ตกค้างอยู่ในช่วงท่อดังกล่าว (รูปที่ ๓๙ ข้างล่าง) (อันที่จริงถ้าหากตำแหน่งปรกติของ control valve คือปิด มันจะมี process fluid ค้างอยู่ทั้งด้านขาเข้าและขาออกของ control valve เพียงแต่ด้านขาเข้าอาจมีความดันสูงกว่า)


รูปที่ ๓๙ ตัวอย่างระบบ piping รอบ control valve

ฉบับนี้คงจบลงเพียงแค่นี้ แต่เรื่องนี้ยังมีต่ออีก