วันก่อนก็ทำแบบนี้
(หรือมากกว่านี้)
ก็ไม่เห็นมีอะไร
แล้วทำไมวันนี้จึงมีเรื่อง
อุบัติเหตุหลายกรณีก็เป็นแบบนี้
อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดที่โรงงานเอทานอลแห่งหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน
๒๕๕๙ (ภาพข่าวในรูปที่
๑ ข้างล่าง ที่คัดมาเพียงบางส่วน)
ที่คนงานเข้าไปทำงานเชื่อมฝาถังบำบัดน้ำเสียจนเสร็จ
และก็รับเงินค่าจ้างไปแล้ว
แต่พอวันรุ่งขึ้นเมื่อกลับมาเก็บเครื่องมือ
ปรากฏว่าเกิดการระเบิดเกิดขึ้น
ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๓ ราย
คำถามหนึ่งที่เราน่าจะถามก็คือ
ทำไมวันก่อนหน้า (ทั้ง
ๆ ที่ควรเป็นวันที่มีการทำงานเชื่อมกันขนานใหญ่)
จึงไม่เกิดการระเบิด
แล้วทำไมพอวันมาเก็บเครื่องมือ
ซึ่งตามข่าวบอกว่าสงสัยว่าคงมีการเชื่อมเกิดขึ้น
แล้วบังเอิญมีแก๊สที่ติดไฟได้อยู่ในบริเวณนั้น
จึงเกิดการระเบิด
แล้ววันก่อนหน้านี้ทำไมจึงไม่มีแก๊สติดไฟได้ปรากฏในพื้นที่ทำงาน
รูปที่
๑ ภาพข่าวจากหน้าเว็บหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวคนงานซ่อมฝาถังบำบัดน้ำเสียแล้วเกิดการระเบิดจนมีผู้เสียชีวิต
๓ ราย (เนื้อหาข่าวนำมาเพียงบางส่วนเพื่อใช้ประกอบการสอน)
การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่ไม่มีอากาศนั้นจะทำให้เกิดแก๊สมีเทน
(methane
CH4) ที่เบากว่าอากาศ
ในกรณีที่โรงงานมีของเสียที่เป็นสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้เป็นจำนวนมาก
ก็จะทำให้คุ้มค่าที่จะทำการผลิตแก๊สมีเทนจากของเสียเหล่านี้เพื่อเอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน
การย่อยสลายสารอินทรีย์แบบนี้จำเป็นต้องกระทำในภาชนะปิดที่ไม่มีอากาศ
(anaerobic)
ไม่เช่นนั้นแบคทีเรียที่เปลี่ยนสารอินทรีย์ไปเป็นมีเทนจะตาย
และเกิดการย่อยสลายด้วยแบคทีเรียที่ใช้อากาศ
(aerobic)
ซึ่งจะได้คาร์บอนไดออกไซด์แทน
แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าถ้าทำการย่อยสลายแบบใช้ออกซิเจนในถังแล้วจะไม่มีการเกิดมีเทนขึ้น
ถ้าหากออกซิเจนกระจายไม่ทั่วถึงและมีมุมอับที่ออกซิเจนเข้าไปถึง
เชื้อที่ไม่ต้องการออกซิเจนมันก็รอดชีวิตอยู่แถวนั้นได้
และเปลี่ยนสารอินทรีย์เป็นมีเทนได้เช่นกัน
ที่เคยเห็นในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี
(ที่ทั้งโรงงานเต็มไปด้วยสารไวไฟ)
ในการเข้าไปทำงาน
process
area
จำเป็นต้องได้รับอนุญาตว่าให้ทำอะไรเพียงแค่ไหนและในช่วงเวลาไหนตามใบอนุญาต
(ที่เขาเรียกว่า
work
permit) ที่เขาออกให้
เช่นถ้าเขาอนุญาตให้เพียงแค่เข้าไปถอดอุปกรณ์
ก็ทำได้เพียงแค่ถอดอุปกรณ์
จะเข้าไปทำงานเชื่อมโลหะ
(ที่เป็นงานที่ในกลุ่มที่เขาเรียกว่า
hot
work) ไม่ได้
และถ้าเขาอนุญาตให้ทำได้ไปถึงแค่เวลาไหน
มันก็จบเพียงแค่นั้น
ถ้าวันหลังต้องการมาทำงานเพิ่มเติมต่อ
ก็ต้องมีการขออนุญาตใหม่
แต่ที่สำคัญก็คือทางโรงงาน
(ซึ่งก็ควรเป็นฝ่ายผลิต)
ควรต้องเป็นผู้จัดเตรียมบริเวณและตัวอุปกรณ์
ให้มีความปลอดภัยที่จะให้บุคคลอื่นเข้ามาทำงาน
(เช่น
การระบายความดันและสิ่งที่ค้างอยู่ในระบบออกให้มากที่สุดก่อน
การตรวจสอบพื้นที่ว่ามีแก๊สไวไฟปรากฏหรือไม่
เป็นต้น)
และควรต้องมีคนคอยดูแลการทำงานของผู้ที่เข้ามาว่าไม่ได้ทำเกินเลยสิ่งที่อนุญาตให้ทำ
และยังต้องคอยตรวจสอบสภาพแวดล้อมบริเวณรอบข้างพื้นที่ทำงานตลอดเวลาด้วย
ว่ายังปลอดภัยสำหรับการทำงานอยู่
(เช่นไม่มีการปรากฏของแก๊สที่เป็นพิษหรือลุกติดไฟได้)
ในข่าวเหตุการณ์ที่เกิดนั้น
(เท่าที่ค้นดู)
ไม่มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับถังว่าเป็นแบบไหน
แต่คิดว่าเป็นแบบ tank
ที่ตั้งอยู่บนพื้น
เพราะผู้เสียชีวิตมีทั้งที่ตกลงมาและค้างอยู่บนหลังคา
แบคทีเรียย่อยสลายนั้นมันทำงานแบบไม่มีเวลาหยุดพัก
ดังนั้นตรงนี้จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาอีกข้อหนึ่งคือ
ในวันก่อนหน้าที่ไม่เกิดเหตุการณ์นั้น
ในถังยังมีการย่อยสลายที่ทำให้เกิดมีเทนหรือไม่
ถ้าหากยังมีอยู่
แล้วทำไมการทำงานในวันแรกจึงไม่เกิดเรื่อง
แต่ถ้าถังนั้นเป็นถังเปล่าที่ข้างในนั้นสะอาด
(คือไม่มีการผลิตมีเทน)
แล้วแก๊สที่ทำให้เกิดการระเบิดในวันรุ่งขึ้นนั้นมาจากไหน
ตามเนื้อข่าวนั้นถังที่เกิดเรื่องเป็นถังเก็บน้ำเสีย
"ที่ยังสามารถนำไปผลิตเป็นไบโอแก๊สได้"
ถ้าเป็นเช่นนี้เราก็อาจตั้งสมมุติฐานว่าถังนี้น่าจะเป็นถังแบบ
cone
roof ที่มีท่อ
vent
อยู่ข้างบน
(รูปที่
๒)
ท่อ
vent
นี้มีไว้เพื่อให้อากาศในถังไหลออกเวลาที่มีของเหลวไหลเข้าถัง
(ป้องกันถังได้รับความเสียหายจากความดันภายในสูงเกิน)
และให้อากาศข้างนอกไหลเข้าเวลาที่สูบของเหลวออกจากถัง
(ป้องกันถังได้รับความเสียหายจากการเกิดสุญญากาศภายใน)
รูปที่
๒ ตัวอย่างฝาถังแบบ cone
roof และ
floating
roof รูปนี้นำมาจาก
Memoir
ปีที่
๓ ฉบับที่ ๓๐๑ วันศุกร์ที่
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เรื่อง
"การควบคุมความดันในถังบรรยากาศ (Atmospheric tank)"
ถ้าสงสัยว่าแก๊สข้างในถังมีองค์ประกอบของแก๊สเชื้อเพลิง
การเข้าไปทำงานเชื่อมโลหะบนฝาถัง
โดยเฉพาะกับตัวฝาถังเอง
ก็คงจะไม่เหมาะสม
แต่ถ้าหากเป็นองค์ประกอบอื่นที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้างหลักของถังหรือโครงสร้างที่ไม่ใช่ส่วนที่ทำหน้าที่กักเก็บของเหลวและแก๊สภายในถัง
เช่นซ่อมแซมราวยึดจับสำหรับการเดิน
ก็อาจเข้าไปทำงานเชื่อมได้
แต่ทั้งนี้ต้องทำการเบี่ยงท่อทางออกของ
vent
ไปยังตำแหน่งอื่นที่ปลอดภัย
(เช่นต่อสายยางให้มันระบายออกไปที่อื่นที่ไกลออกไป)
เพื่อไม่ให้แก๊สที่ไหลออกมาทาง
vent
นั้นมีโอกาสสัมผัสกับประกายไฟที่เกิดจากการเชื่อม
อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่มีข้อมูลก็คือ
ถ้าสมมุติว่าถังดังกล่าวมีท่อ
vent
(หรือวาล์วหายใจ
Breather
valve) แล้วท่อ
vent
นั้นมีการติดตั้ง
Flame
arrester หรือไม่
Flame
arrester
นี้จะติดตั้งกับกรณีของถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศที่รู้แน่ชัดว่าไอระเหยของของเหลวที่เก็บไว้ในถังนั้นสามารถติดไฟได้
แต่ถ้าไม่คิดว่าไอที่ออกมาจากถังนั้นสามารถติดไฟได้
ก็จะไม่มีการติดตั้ง Flame
arrester
การติดตั้ง
Flame
arrester จะติดตั้งเข้ากับท่อ
vent
หรือใต้
Breather
valve ตัว
Flame
arrester นี้มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เปลวไปที่เกิดภายนอกถัง
(เช่นไฟที่เกิดจากไอที่ระเหยออกมาจากภายในถังถูกจุดระเบิด)
เข้าไปทำให้ไอที่ลอยอยู่เหนือของเหลวภายในถังเกิดการระเบิดตาม
รายละเอียดของ Breather
valve และ
Flame
arrester สามารถอ่านได้จาก
Memoir
ปีที่
๗ ฉบับที่ ๙๑๒ วันพุธที่ ๓๑
ธันวาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "Breather valve กับ Flame arrester"
ข้อมูลจากข่าวเท่าที่หาได้นั้นไม่มีการระบุว่าการระเบิดเกิดขึ้นเฉพาะข้างนอกถังหรือเกิดขึ้นในถังด้วย
เพราะถ้าเกิดขึ้นเฉพาะข้างนอกถังจากแก๊ส
"ไบโอแก๊ส
(ซึ่งมีมีเทนเป็นหลัก)"
ก็จะทำให้เกิดคำถามตามมาอีก
เพราะมีเทนเป็นแก๊สที่เบากว่าอากาศ
ดังนั้นถ้ามันไหลออกมาทาง
vent
มันก็จะฟุ้งกระจายลอยขึ้นไปได้ง่าย
ยากที่จะสะสมบนหลังคา tank
(ซึ่งดูเหมือนว่าจะตั้งอยู่กลางแจ้ง)
แต่ถ้ามีการระเบิดภายในด้วย
(ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีการไปเชื่อมเหล็กในบริเวณใกล้กับทางออกของ
vent
ทำให้แก๊สที่รั่วออกมาลุกติดไฟ
และไฟนั้นเดินทางย้อนกลับเข้าไปในถัง)
ก็คงไม่แปลกถ้าการระเบิดนั้นจะรุนแรงมากพอจนทำให้ผู้เข้าไปทำงานบนฝาถังทั้ง
๓ คนเสียชีวิต
ในการจ้างผู้รับเหมาที่เป็นคนภายนอกนั้น
เราก็คงจะจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถในงานที่เราต้องการให้เขาทำ
เช่นถ้าเราต้องการจ้างคนมาทำงานเชื่อมโลหะ
เราก็คงต้องหาช่างที่มีฝีมือทางด้านนี้
แต่ก็ไม่ควรจะไปคาดหวังว่าเขามีความรู้ดีเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของสถานที่ที่เขาเข้าไปทำงาน
ชึ่งตรงนี้เห็นว่าควรมีการสื่อสารกันให้ชัดเจนว่าเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำงานอะไร
ทำได้ในบริเวณไหน ในช่วงเวลาใด
ก็จำเป็นต้องทำตามนั้น
ห้ามทำนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต
และในขณะที่กำลังทำงานอยู่นั้นต้องมีการควบคุมตรวจสอบอะไรบ้าง
เช่นถ้าได้รับอนุญาตให้ทำเพียงแค่เข้าไปเก็บเครื่องมือ
ก็ทำได้เพียงแค่เก็บเครื่องมือเท่านั้น
ถ้าในระหว่างที่เข้าไปเก็บเครื่องมือพบเห็นว่างานที่ทำเอาไว้ยังไม่เรียบร้อยดี
อยากจะปรับแต่งให้ดีขึ้นด้วยการเชื่อมเพิ่มเติม
ก็ห้ามกระทำ
เว้นแต่จะได้รับการเตรียมพื้นที่และได้รับอนุญาตจากทางโรงงานก่อน
ที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงแค่การนำข่าวมาเป็นตัวอย่างให้นิสิตใช้ฝึกตั้งสมมุติฐานจากข้อมูลที่มีปรากฏในข่าว
(ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นของเหตุการณ์)
และความรู้พื้นฐานที่นิสิตเรียนกันมา
(ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะได้เรียนกัน
เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วงหลัง
ๆ นี้เห็นคุยได้แค่เพียงงานที่ตัวเองทำวิจัย)
ที่ผมนำมาใช้สอนนิสิตนะครับ
ส่วนเหตุการณ์จริงเป็นอย่างไรนั้นผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน
อีกกรณีหนึ่งที่ผมยกมาสอน
ที่เป็นเหตุการณ์ที่ช่างเชื่อมโลหะเสียชีวิตเมื่อกลับมาทำงานที่เดิมในวันรุ่งขึ้นเช่นกัน
(ทั้ง
ๆ ที่การทำงานวันก่อนหน้าไม่มีปัญหาอะไร)
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
และมีผู้เล่าเหตุการณ์ไว้ในวารสาร
Loss
Prevention Bulletin ฉบับที่
๙๗ ปีค.ศ.
๑๙๙๑
เหตุการณ์เกิดเมื่อมีการเข้าไปเชื่อมชิ้นส่วนสแตนเลสในถังอะลูมิเนียมที่กำลังสร้างอยู่
(รูปที่
๓)
โดยเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากการ
"ขาดอากาศ"
เรื่องที่นำมาเป็นเรื่องที่เคยเล่าไว้ใน
Memoir
ปีที่
๘ ฉบับที่ ๑๑๖๒ วันพุธที่ ๒๐
เมษายน ๒๕๕๙ เรื่อง
"อันตรายจากแก๊สเฉื่อย (ตอนที่ ๒)"
รูปที่
๓
ช่างเชื่อมเสียชีวิตจากการขาดอากาศเนื่องจากเข้าไปเชื่อมโลหะในพื้นที่จำกัด
(confined
space)
พอยกตัวอย่างนี้มาสอนก็เป็นดังที่คาดก็คือ
แทบจะไม่มีนิสิตคนใดเข้าใจ
เพราะตอนนี้แม้แต่ผู้ที่จบทางสายวิศวกรรมศาสตร์ก็ตาม
ถ้าไม่ได้เรียนสาขาทางด้านที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตชิ้นส่วนต่าง
ๆ แล้ว จะไม่รู้จักว่างานเชื่อมโลหะนั้นทำกันอย่างไร
คนที่พอจะเข้าใจอยู่บ้างก็คือคนที่ได้สัมผัสกับงานก่อสร้าง
หรือที่เรียนในหลักสูตรเก่ามา
ซึ่งยังได้สัมผัสกับงานแบบนี้อยู่
อะลูมิเนียมและเหล็กกล้าไร้สนิม
(ก็คือเหล็กสแตนเลสนั่นแหละ)
เชื่อมยากกว่าเหล็กกล้าธรรมดา
ต้องใช้ช่างเชื่อมมีฝีมือกว่า
การเชื่อมโลหะกลุ่มนี้จะใช้การเชื่อม
TIG
(ย่อมาจาก
Tungsten
Inert Gas welding) หรือบ้านเราเรียกว่า
"เชื่อมอาร์กอน"
เพราะใช้แก๊สอาร์กอนเป็นตัวไล่อากาศออกจากบริเวณที่ทำการเชื่อมในขณะที่ทำการเชื่อม
ในการเชื่อมแบบธรรมดาหรือเชื่อมอาร์กอนนั้น
มันจะมีการปลดปล่อยแก๊สเฉื่อยออกมา
ซึ่งก็แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เล็งเห็นกันในขณะที่กำลังทำงานอยู่
ดังนั้นจึงต้องจัดให้มีระบบระบายอากาศ
"ในขณะที่กำลังทำงานอยู่"
เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ทำงานจะไม่ได้รับอันตรายจากแก๊สที่ปลดปล่อยออกมาที่สะสมอยู่ในบริเวณที่ทำงาน
แต่เมื่อหยุดทำงานตอนเย็น
ระบบระบายอากาศก็คงจะถูกปิด
(เพราะคิดว่าเมื่อไม่มีการเชื่อมก็ไม่มีการปลดปล่อยแก๊สใด
ๆ ออกมา)
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสายแก๊สอาร์กอนที่จ่ายแก๊สไปยังขั้วทังสเตนนั้นไม่ได้ถูกปิด
ทำให้แก๊สอาร์กอนที่หนักกว่าอากาศนั้นไหลเข้าไปแทนที่อากาศทางด้านล่างของถัง
และมีระดับที่สูงมากพอที่จะทำให้คนที่ลงไปในถังนั้นจมอยู่ในแก๊สอาร์กอน
ผลที่ตามมาก็คือเมื่อมีคนงานลงเข้าไปทำงานในถัง
ก็เลยขาดอากาศจนเสียชีวิต
(หมายเหตุ
:
บทความชุด
"ความปลอดภัยในการทำงานและการออกแบบ"
นี้จัดทำขึ้นเพื่อขยายความสไลด์ประกอบการสอนวิชา
"2105689
การออกแบบและดำเนินการกระบวนการอย่างปลอดภัย
(Safe
Process Operation and Desing)"
ที่เปิดสอนให้กับนิสิตระดับปริญญาโท
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาปลาย
ปีการศึกษา ๒๕๖๑)