วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

การวิเคราะห์ความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง ด้วยเทคนิคการดูดซับ Probe molecule (๕) MO Memoir : Thursday 30 May 2562

หลังจากทิ้งเรื่องนี้ไปเดือนเศษก็ได้เวลากลับมาเล่าต่อ คราวนี้จะเป็นเรื่องของ probe molecule ตัวที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการวัดปริมาณตำแหน่งที่เป็นกรดบนพื้นผิวของแข็ง ก็คือแอมโมเนียหรือ NH3 นั่นเอง
 
บทความของ Lercher และคณะกล่าวถึง NH3 ไว้ในหัวข้อ 5.3 NH3 มีจุดเด่นหลาย ๆ ข้อเช่น 
  
- การที่โมเลกุลมีขนาดเล็กจึงทำให้ NH3 สามารถแพร่เข้าไปใน micro pore ได้ เรียกว่าสามารถเข้าไปถึงตำแหน่งที่เป็นกรดทุกตำแหน่งไม่ว่าจะอยู่ในรูพรุนขนาดไหนก็ได้ 
  
- การที่มันเป็นแก๊สที่อุณหภูมิห้อง ทำให้ง่ายในการทำให้พื้นผิวดูดซับเอาไว้และกำจัดโมเลกุลส่วนเกินออก 
  
- การที่โมเลกุลมีโครงสร้างส่วนที่เป็นเบสที่เด่น (อิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวของอะตอม N) และโครงสร้างส่วนที่เป็นกรดนั้นเป็นกรดที่อ่อนมาก (ค่า pKa ของ NH3 ไปเป็น NH2- และ H+ ในน้ำนั้นอยู่ที่ประมาณ 9)
 
คาร์บอนมอนออกไซด์หรือ CO ก็เป็นโมเลกุลที่มีขนาดเล็กตัวหนึ่งที่มีฤทธิ์เป็น Lewis base (เกิดจากอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวที่อะตอม C) แต่มีฤทธิ์เป็นเบสที่อ่อนมาก จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้วัดปริมาณตำแหน่งกรดทั้งหมด เว้นแต่ต้องการวัดเฉพาะปริมาณตำแหน่งกรดที่มีความแรงสูง

รูปที่ ๑ รูปแบบการเกาะของโมเลกุล NH3 บนตำแหน่งกรด Brönsted และ Lewis

รูปแบบการเกาะของโมเลกุล NH3 บนตำแหน่งกรด Brönsted และ Lewis แสดงไว้ในรูปที่ ๑ ในกรณีการเกาะบนตำแหน่งกรด Brönsted นั้นโมเลกุล NH3 จะกลายเป็น ammonium ion NH4+ (หรืออาจเรียกว่าอยู่ในรูปที่เป็น protonated molecule) ที่ดูดกลืนแสงอินฟราเรดที่เลขคลื่น 1450 และ 3300 cm-1 แต่ถ้าเกาะบนตำแหน่งกรด Lewis จะอยู่ในรูปที่เรียกว่าเป็น coordinatively bound ammonia ที่ดูดกลืนแสงอินฟราเรดที่เลขคลื่น 1250, 1630 และ 3300 cm-1 โดยในทางปฏิบัติจะนิยมใช้การดูดกลื่นแสงที่เลขคลื่น 1450 cm-1 เป็นตัวบ่งบอกการเกิดไอออน NH4+ ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยากับตำแหน่งกรด Brönsted และใช้การดูดกลื่นแสงที่เลขคลื่น 1630 cm-1 เป็นตัวบ่งบอกการเกิดการทำปฏิกิริยากับตำแหน่งกรด Lewis โดย Lercher และคณะยังกล่าวไว้ว่าไม่สามารถใช้ค่าการดูดกลืนที่ตำแหน่งกรด Brönsted เพื่อบ่งความแรงของตำแหน่งกรดนั้นว่าแตกต่างกันหรือไม่ และแม้แต่การแปลผลว่าตำแหน่งกรด Lewis มีความแรงที่แตกต่างกันหรือไม่โดยพิจารณาจากค่าการดูดกลืนแสงอินฟราเรดที่ตำแหน่งกรด Lewis ก็ยังต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง
 
ในย่อหน้าที่ ๒ ของหัวข้อ 5.3. Ammonia ในหน้า 361 ในบทความของ Lercher และคณะ ที่นำมาแสดงไว้ในรูปที่ ๒ ข้างล่างยังได้กล่าวถึงปัญหาที่อาจเกิดจากการที่โมเลกุล NH3 มีการทำปฏิกิริยาแทนที่หมู่ -OH บนพื้นผิว หรือทำปฏิกิริยาเปลี่ยนสารประกอบออกไซด์ไปเป็นสารประกอบไนไตรด์ (nitride) ตรงนี้ลองอ่านเองดูก่อนนะครับ

รูปที่ ๒ ย่อหน้าสุดท้ายของหัวข้อ 5.3. Ammonia หน้า 361 ในบทความของ Lercher และคณะ ลองอ่านดูเอาเองก่อนนะครับว่าคุณเข้าใจความหมายอย่างไร

ประโยคแรกในรูปที่ ๒ นั้นเป็นคำเตือนให้ระวังสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ NH3 เป็น probe molecule ก็คือที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า "500 K" (หน่วยเคลวิน) นั้น NH3 มีแนวโน้มที่จะเกิดการดูดซับแบบแตกตัว คือกลายเป็นหมู่ -NH2 หรือ -NH- บนตำแหน่งกรด Lewis หรือเข้าไปแทนที่หมู่ -OH (คือ NH3 ทำปฏิกิริยากับ -OH กลายเป็น -NH2 กับ H2O) โดยได้อ้างอิงไปยังเอกสารอ้างอิงหมายเลข [91,92] ซึ่งในท้ายบทความให้รายละเอียดเอกสารอ้างอิงทั้งสองไว้ดังนี้

[91] J.B. Peri, J. Phys. Chem., 69 (1956) 211.
[92] P. Fink and J. Datka, J. Chem. Soc., Faraday Trans. I, 85 (1989) 309.

ด้วยความสนใจ ผมก็เลยลองตามไปค้นเอกสารทั้งสองฉบับดู อย่างแรกที่พบก็คือเขาให้ข้อมูลเอกสารผิด คือเอกสารหมายเลข [91] นั้นที่ถูกต้องต้องเป็นปีค.ศ. 1965 (ไม่ใช่ 1956) ดังแสดงในรูปที่ ๓ และเอกสารหมายเลข [92] นั้นที่ถูกต้องก็คืออยู่ที่หน้า 3079 ไม่ใช่หน้า 309 ดังแสดงในรูปที่ ๔

รูปที่ ๓ บทความของ Peri ที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. ๑๙๖๕ (ref. 91 ในบทความของ Lercher และคณะ)

ประเด็นพิมพ์ผิดตก ๆ หล่น ๆ นั่นเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นตัวเลข เพราะโปรแกรมมันตรวจสอบไม่ได้ว่าพิมพ์ถูกหรือผิด ไม่เหมือนกับส่วนที่เป็นข้อความ ที่โปรแกรมมันสามารถตรวจสอบได้ แต่เฉพาะประโยคแรกนี้มันมีเรื่องที่ผมเห็นว่าสำคัญอยู่สองเรื่องด้วยกัน
 
เรื่องแรกก็คือบทความของ Peri นั้นเป็นการศึกษาการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของหมู่ -OH บนพื้นผิว γ-Al2O3 ที่ผ่านการกำจัดหมู่ -OH ด้วยการให้ความร้อน และทำการสร้างหมู่ -OH กลับคืนใหม่ด้วยการ rehydration (เติมน้ำคืน) โดย "ไม่มี" การศึกษาการดูดซับ NH3 บนพื้นผิว ซึ่งตรงนี้มันไม่ตรงกับข้อความในประโยคแรกในรูปที่ ๒ ซึ่งมันทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าบทความของ Peri นั้นมีการศึกษาการดูดซับ NH3 และพบการแตกตัวของโมเลกุล NH3  
  
เรื่องที่สองก็คือบทความของ Fink และ Datka ที่ทำการศึกษาการดูดซับ NH3 บนพื้นผิว ZSM-5 ซีโอไลต์ (รูปที่ ๔) และพบการเข้าไปแทนที่หมู่ -OH ของโครงสร้าง S-OH โดย NH3 กลายเป็นหมู่ S-NH2 และยังพบการแตกตัวของ -NH2 ไปเป็น -NH- ด้วยดังที่ข้อความในประโยคแรกในรูปที่ ๒ กล่าวไว้ แต่ข้อความนี้มันก็มีอะไรที่ไม่ถูกต้องและไม่สมบูรณ์อยู่ กล่าวคือ
 
(ก) การทดลองของ Fink และ Datka นั้นศึกษาในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ 673 K ขึ้นไป และพบการแตกตัวของหมู่ -NH2 ไปเป็น -NH- ที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 723 K (หรือ 500ºC) ไม่ใช่ 500 K ดังที่บทความของ Lercher และคณะอ้างถึง กล่าวคือการแทนที่หมู่ -OH ด้วย -NH2 นั้นเกิดได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 723 K แต่ในงานนี้เริ่มศึกษาที่อุณหภูมิตั้งแต่ 673 K ขึ้นไป ดังนั้นมันควรต้องแยกระหว่างอุณหภูมิที่ NH3 สามารถแทนที่หมู่ -OH แล้วกลายเป็นหมู่ -NH2 ได้ กับอุณหภูมิที่ทำให้หมู่ -NH2 แตกตัวเป็นหมู่ -NH- ได้ ที่เกิดที่อุณหภูมิที่สูงกว่าปฏิกิริยาแทนที่
 
(ข) การแทนที่ดังกล่าวจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อแก๊ส NH3 ที่ใช้นั้น "แห้ง" มาก ๆ (คือไม่มีน้ำปน) เพราะน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยาผันกลับกลายเป็นหมู่ -OH เหมือนเดิม และต้องทำการกำจัดน้ำออกจากระบบตลอดเวลาที่ทำการวัด
 
รายละเอียดการกำจัดน้ำออกจากแก๊ส NH3 ที่ใช้ในการทดลองนั้นทำอย่างไร อ่านได้ในรูปที่ ๕ ครับ วิธีการที่เขาใช้นั้นแสดงให้เห็นว่าปฏิกิริยาการแทนที่หมู่ -OH ด้วย NH3 นั้นไวต่อการปนเปื้อนของน้ำอย่างไร

รูปที่ ๔ บทความของ Fink และ Datka (ref. 92 ในบทความของ Lercher และคณะ)

รูปที่ ๕ รายละเอียดวิธีการทดลองในบทความของ Fink และ Datka ในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงคือรายละเอียดการกำจัดน้ำออกจากแก๊ส NH3 ก่อนนำไปใช้ในการทดลอง

รูปที่ ๖ ข้อสรุปที่บทความของ Fink และ Datka รายงานไว้ ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมนิดนึง คือในกรณีของหมู่ Si-OH นั้นอะตอม O จะยึดเกาะกับอะตอม Si ตัวเดียวด้วยพันธะโควาเลนซ์ แต่ในกรณีของหมู่ bridge Si-OH···Al นั้นหมายถึงอะตอม O เกาะกับอะตอม Si ด้วยพันธะโควาเลนซ์ แต่ถูกไอออน Al3+ ที่อยู่ใกล้ ๆ นั้นดึงอิเล็กตรอนเข้าหาด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โครงสร้าง Si-OH···Al มีฤทธิ์เป็นกรดที่แรงกว่าโครงสร้าง Si-OH เพราะไอออน Al3+ ช่วยดึงเอาประจุลบออกจากอะตอม O เมื่อมันสูญเสีย H+ ออกไป ทำให้ความเป็นลบที่อะตอม O ของโครงสร้างแบบ bridge นั้นลดต่ำลง ความสามารถในการดึงเอา H+ กลับจึงลดลงตามไปด้วย มันก็เลยเป็นกรดที่แรงขึ้น

จะเห็นว่าดูเผิน ๆ สิ่งที่เขาอ้างอิงมาก็ดูดี แต่พอไปตามดูเอกสารต้นฉบับที่เขาอ้างอิงมากลับพบว่าเป็นคนละเรื่องเลย ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่จบนะครับ ยังมีต่ออีกในประโยคที่สองของข้อความในรูปที่ ๒ ที่กล่าวว่ามีการพบว่าในกรณีของโลหะออกไซด์ TiO2, MoO3 และ WO3 อาจมีการทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสารประกอบไนไตรด์ (nitride) ได้ โดยมีการอ้างอิงไปยังเอกสารหมายเลข [93] ซึ่งก็คือ

[93] L. Volpe and M. Boudart, J. Solid State Chem., 59 (1985) 332.

ผมลองตามไปค้นต้นฉบับเอกสารอ้างอิง [93] ดังกล่าวและได้นำส่วนบทคัดย่อมาแสดงไว้ในรูปที่ ๗ พึงสังเกตนะครับว่าในชื่อบทความและบทคัดย่อนั้นไม่ได้มีการกล่าวถึง TiO2 เลย และในความเป็นจริงบทความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ TiO2 เลย

รูปที่ ๗ บทความของ Volpe และ Boudart ที่ศึกษากรณีของสารประกอบออกไซด์ของโลหะ Mo และ W

เอกสารอ้างอิง [93] นี้ศึกษาการเตรียมสารประกอบไนไตรด์ของ Mo และ W จากสารประกอบ MoO3 และ WO3 ด้วยการผ่านแก๊ส NH3 ที่ความดันบรรยากาศให้ไหลอย่างต่อเนื่องผ่านเบดสารประกอบออกไซด์และเพิ่มอุณหภูมิขึ้นเรื่อย ๆ โดยบทความได้รายงานว่าเริ่มพบการเกิดสารประกอบไนไตรด์ที่อุณหภูมิประมาณ 630 K (ประมาณ 360ºC) สำหรับ MoO3 และประมาณ 700 K (ประมาณ 430ºC) สำหรับ WO3 ดังเห็นได้จากสีของตัวอย่างที่เข้มขึ้น
 
แต่ในการทำ temperature programmed desorption ของ NH3 นั้น เราไม่ได้ให้แก๊ส NH3 ไหลผ่านอย่างต่อเนื่อง จะมีเพียงแต่โมเลกุล NH3 ที่คายซับออกจากตัวอย่างที่อยู่ทางด้านต้นทางนั้นที่จะไหลผ่านเบด ซึ่งถ้าว่ากันตามนี้ก็เรียกว่ายังอาจมีโอกาสที่จะโมเลกุล NH3 ดังกล่าวทำให้สารประกอบออกไซด์ของโลหะทั้งสองเปลี่ยนไปเป็นไนไตรด์ได้

๒๐ กว่าปีที่แล้วเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งจะเริ่มแพร่หลาย ข้อมูลต่าง ๆ เกือบทั้งหมดยังอยู่กับบนกระดาษ การสืบค้นเอกสารต้นตอที่มีการกล่าวถึงทำได้ยาก เว้นแต่จะสามารถเข้าถึงห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อมากพอที่จะจ่ายค่าวารสารต่าง ๆ ได้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อมีการอ้างอิงไปยังเอกสารฉบับอื่น จึงยากที่ผู้อ่านจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเอกสารที่ถูกกล่าวถึงนั้นมันมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มันถูกอ้างอิงหรือไม่
 
สภาพปัจจุบันนี้แตกต่างไปจากเมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้วมาก การตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการลักไก่ทำกัน เพราะตัวผมเองก็เคยเจอตอนที่หน่วยงานหนึ่งส่งรายงานการวิจัยมาให้ช่วยพิจารณา พอตรวจสอบก็พบว่ามีการอ้างอิงไปยังเอกสารที่เมื่อตรวจในเนื้อหาแล้วไม่ตรงกับที่รายงานนั้นอ้างถึง เรียกว่าการมั่วและการลักไก่ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเรามีเวลาและทรัพยากรมากพอที่จะตรวจสอบได้หรือไม่เท่านั้นเอง

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

มีไว้ให้ใช้ แต่ไม่สามารถเข้ามาใช้ MO Memoir : Tuesday 28 May 2562

ในที่สุดลิฟท์ทั้ง ๒ ตัวของตึกนี้ที่เสียอยู่นานก็ได้รับการเปลี่ยนเสียที การเปลี่ยนคราวนี้ก็มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น คือมีปุ่มกดสำหรับให้ผู้ที่ต้องนั่งรถเข็นสามารถกดได้สะดวก
 
แต่จะว่าไปแล้วลิฟท์ตัวนี้ก็คงไม่มีผู้ที่ต้องนั่งรถเข็นมาใช้งานได้ ด้วยเหตุผลแรกก็ดังที่แสดงในรูปที่ ๒ และ ๓ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็จัดว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเหตุผลที่สอง

รูปที่ ๑ ภายในตัวลิฟท์ มีปุ่มสำหรับผู้นั่งรถเข็นสามารถกดได้สะดวก 

รูปที่ ๒ พื้นที่บริเวณหน้าลิฟท์ชั้น ๑ ยังมีลักษณะเป็นขั้นอยู่ระหว่างพื้นที่หน้าลิฟท์กับระเบียงทางเดิน

รูปที่ ๓ พื้นที่บริเวณหน้าลิฟท์ชั้น ๓ ก็ยังมีลักษณะเป็นขั้นระหว่างพื้นที่หน้าลิฟท์กับระเบียงทางเดิน เช่นกัน

เหตุผลประการที่สองก็คือพื้นชั้นล่างของตึกนี้ยกสูงจากระดับพื้นดินเกือบเมตร และไม่มีทางลาดให้ผู้นั่งรถเข็นขึ้นมาได้ มีแต่ทางลาดเอาไว้สำหรับรถเข็นขนของ (ที่ชันเกินไปสำหรับรถเข็นผู้พิการ)
 
หรือว่าปุ่มสำหรับให้ผู้นั่งรถเข็นสามารถใช้งานได้มันจะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของลิฟท์ปัจจุบันที่ไม่สามารถแยกออกไปได้ แม้ว่าไม่ต้องการใช้งานก็ตาม :) :) :)

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เขาพับผ้า (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๗) MO Memoir : Saturday 25 May 2562

"เขา" ในที่นี้ไม่ได้เป็นคำสรรพนามแทนบุคคลที่สาม แต่หมายถึงภูเขา และคำว่า "พับ" ก็ไม่ได้เป็นคำกิริยา ดังนั้นคำว่า "เขาพับผ้า" ในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงการกำลังบอกว่า "ใครสักคน" กำลัง "พับ" ผ้าอยู่ แต่หมายถึงเส้นทางที่คดเคี้ยววกไปวนมาเหมือนผ้าที่พับทบไปทบมา

รูปที่ ๑ แผนที่ TACTICAL PILOTAGE CHART หมายเลข ONC L-10 เขาพับผ้าคือถนนเส้นที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลืองในภาพ แผนที่นี้ไม่ได้มีการระบุว่าข้อมูลภูมิประเทศอิงจากการสำรวจในปีใด บอกแต่เพียงว่าข้อมูลเกี่ยวกับการเดินอากาศนั้นเป็นข้อมูลในปีค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) แต่ดูจากเส้นทางถนนที่ยังไม่ปรากฏทางหลวงสาย ๔๑ เส้นปัจจุบัน แสดงว่าข้อมูลเส้นทางถนนนั้นเป็นข้อมูลที่เก่ากว่าอย่างน้อยกว่า ๑๐ หรือ ๒๐ ปีขึ้นไป

ทิวเขานครศรีธรรมราชเป็นทิวเขาที่ทอดยาวจาก จ. นครศรีธรรมราชไปจนสุดชายแดนไทยที่ จ. สตูล ทิวเขานี้แบ่ง จ. นครศรีธรรมราชเป็นสองส่วน เป็นเส้นกั้นระหว่าง จ. ตรัง และ จ. พัทลุง และเส้นกั้นระหว่าง จ. สตูล และ จ. สงขลา ช่วงที่อยู่ระหว่างตรังและพัทลุงนั้น คนท้องถิ่นจะเรียกว่า "เทือกเขาบรรทัด"

รูปที่ ๒ บางส่วนของถนนและสะพานบนเส้นทางสายเดิม ที่ยังหลงเหลืออยู่ทางด้านซ้ายของถนนเส้นปัจจุบัน ถ่ายรูปขณะรถวิ่งจากพัทลุงไปตรัง

รูปที่ ๓ บางส่วนของถนนและสะพานบนเส้นทางสายเดิม ที่ยังหลงเหลืออยู่ทางด้านซ้ายของถนนเส้นปัจจุบัน ถ่ายรูปขณะรถวิ่งจากพัทลุงไปตรังเช่นกัน 
 
"เดินพ้นน้ำราบ ... ถนนเลี้ยวไปเลี้ยวมามากขึ้น จนเมื่อใกล้จะถึงที่ปันน้ำ ถนนเลี้ยวหักพับ ราษฏรจึงเรียกที่นี่ว่าเลี้ยวพับผ้า" พระราชนิพนธ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (. ) ในคราวเสด็จเมื่อพ.. ๒๔๕๒ ยืนยันที่มาของการเรียกชื่อถนน "เขาพับผ้า"  
 
ข้อความในย่อหน้าข้างต้นคัดลอกมาจากกำแพงแสดงประวัติความเป็นมาของเขาพับผ้า (รูปที่ ๔) ที่จุดพักรถอันดามันเกตเวย์บนเส้นทางเข้าพับผ้า ที่บอกให้รู้ว่าชื่อว่า "เขาพับผ้า" นี้มีการเรียกมานานแล้ว
 


รูปที่ ๔ การเดินทางข้ามเขาพับผ้าในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕

ตอนเด็ก ๆ ที่ไปเที่ยวบ้านญาติที่พัทลุง (จำไม่ได้ว่าปีไหน แต่น่าจะเมื่อกว่า ๔๐ ปีที่แล้ว) วันหนึ่งคุณน้าจะไปทำธุระที่ตรัง (คุณน้าท่านนี้เสียไปหลายปีแล้ว) เขาชวนผมไปด้วย ผมก็เลยมีโอกาสได้ติดรถปิคอัพคุณน้าไปตรัง และนั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมได้มีโอกาสเดินทางผ่านเส้นทางเขาพับผ้า (ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของถนนเพชรเกษม) ก่อนที่จะมีการปรับปรุงด้วยการวางแนวเส้นทางใหม่และขยายให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดความคดเคี้ยว เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และลดระยะเวลาการเดินทาง สิ่งที่จำได้มาจนถึงปัจจุบันคือถนนสายนี้ทิวทัศน์สวยมาก ด้านหนึ่งเป็นผาสูงขึ้นไป ในขณะที่อีกด้านหนึ่งที่ต่ำลงไปนั้นเป็นลำธารไหลอยู่เคียงข้างถนน
   
ถ้าเปรียบเทียบความคดเคี้ยวของถนนสายเขาพับผ้าในตอนนั้น กับถนนเส้นอื่นหลายเส้นในปัจจุบันที่ผมได้มีประสบการณ์เดินทางผ่าน ก็ต้องบอกตามตรงว่าความคดเคี้ยวของถนนสายเขาพับผ้านั้นไม่ได้คดเคี้ยวมากไปกว่าถนนเส้นอื่น แต่ชื่อเสียงของมันนั้นอาจเป็นเพราะความที่มันเป็นถนนเส้นหลักที่เชื่อมระหว่างภาคใต้ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และเป็นถนนเส้นแรก ๆ ที่ตัดขึ้น คือดำเนินการก่อสร้างและเปิดใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อให้ยานพาหนะมีล้อ (คือเกวียนในสมัยนั้น) เดินทางผ่านได้ จึงทำให้มันมีชื่อเสียงเลื่องลือ การสร้างในสมัยนั้นก็เรียกว่าใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก แม้แต่การย่อยหินก็ต้องใช้วิธีการสุมไฟให้ร้อนแล้วเอาน้ำเย็นราด (รูปที่ ๕ และ ๖) แม้ว่าในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะช่วงที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งระหว่างคนภายในชาติ ถนนเส้นนี้จึงกลายเป็นเส้นที่อันตรายถ้าจะเดินทางในเวลากลางคืน เพราะอาจพบกับการปิดถนนหรือซุ่มโจมตีได้ง่าย ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งของผมก็เคยได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์บนเส้นทางเขาพับผ้านี้ ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนที่แกจะต้องขึ้นมากรุงเทพเพื่อเข้าร่วมพิธีประดับยศขั้นนายพล ก็เรียกว่าได้รับการประดับยศทั้ง ๆ ที่ยังมีหัวกระสุนฝังอยู่ในแขน ประดับยศเสร็จจึงไปผ่าตัดเอาหัวกระสุนออก

รูปที่ ๕ ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าไว้บนกำแพงเล่าเรื่องที่อันดามันเกตเวย์ ที่เป็นเส้นทางจุดพักรถและชมวิว จะอยู่ทางด้านขวาของถนนถ้าเดินทางมาจากตรัง โดยจะถึงก่อนจุดสูงสุดของเส้นทางเล็กน้อย ภาพนี้เล่าถึงวิธีการทำให้หินก้อนใหญ่แตกเป็นก้อนเล็กลง ด้วยการใช้ไฟสุมและน้ำเย็นราด

รูปที่ ๖ ภาพประกอบคำบรรยายในรูปที่ ๔ เป็นรูปของการก่อฟืนสุมหินให้ร้อนก่อนเอาน้ำเย็นราดเพื่อให้ก้อนหินแตกออกเป็นก้อนเล็ก (จากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกระทันหัน)
 
"ในการปรับถนนให้เรียบ พระยารัษฎาฯ ได้คิดรถบดพิเศษขึ้น โดยใช้ช้างลากก้อนหินทรงกลมขนาดใหญ่เป็นลูกกลิ้ง ใส่ดินให้ได้น้ำหนักตามต้องการ ใช้ช้าง ๑ เชือกกับควาญช้างและคนหาบหญ้าให้ช้างกิน ก็ทำงานได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลือง"
  
ที่จุดพักรถอันดามันต์เกตเวย์จะมีรูปปั้นช้างอยู่เต็มไปหมด ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันนี้ถ้าใครไปเที่ยวภาคใต้ก็มักจะไม่เห็นการเลี้ยงช้างกัน แต่การที่เขาเลือกปั้นรูปปั้นช้างเอาไว้ที่นี่ก็เป็นเพราะการเดินทางผ่านเส้นทางสายนี้ในอดีตนั้นมีทั้งการเดินเท้าและการใช้ช้างเป็นพาหะ (รูปที่ ๗) และช้างก็มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างเส้นทางเส้นนี้ นับตั้งแต่การบุกเบิกเส้นทางไปจนถึงการปรับสภาพพื้นผิวถนน


รูปที่ ๗ การเดินทางผ่านเส้นทางสายนี้ในอดีต ที่มีทั้งการเดินเท้าและใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทาง

"เมื่อถนนเสร็จเรียบร้อย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ซึ่งเสด็จตรวจราชการแหลมมลายูได้ทรงทำพิธีเปิด "ถนนแต่ช่องไปต่อแดนพัทลุง ๑๖๐ เส้น" ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๔๕"
  
จากคำบรรยายบนกำแพงเล่าเรื่องในย่อหน้าข้างต้น (รูปที่ ๘) ทำให้ทราบว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้า ถนนเส้นนี้ก็จะเปิดใช้งานเป็นเวลานานถึง ๑๑๗ ปีแล้ว
  
รูปที่ ๘ ภาพประกอบคำบรรยายการเปิดถนนในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๔๕ โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

ฉบับนี้ถือว่าเป็นการเล่าเรื่องด้วยรูปอีกครั้ง เป็นเรื่องที่อยากเขียนมานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้แวะไปถ่ายรูปเสียที ปีนี้มีโอกาสแล้วก็เลยขอจัดหน่อย สวัสดีครับ 

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

Marshall, Sons and Co. Portable Steam Engine No. 34746 MO Memoir : Tuesday 21 May 2562

"วัดเขียนบางแก้ว" ที่ชาวบ้านเรียกกันหรือ "วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว" ที่เป็นชื่อทางการ ตั้งอยู่ที่ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง (รูปที่ ๑) เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย จัดว่าเป็นวัดรุ่นเดียวกับวัดพระธาตุ (หรือวัดพระมหาธาตุวรวิหาร) จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดเขียนบางแก้วนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระมหาเจดีย์ของวัด นอกจากนี้ในตัววัดเองยังมีบ่อน้ำศักดิ์ที่ได้มีการนำน้ำไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมาด้วย
 
ตัววัดเองยังมีอาคารที่เป็นที่เก็บรวบรวมสิ่งของเก่าที่มีผู้นำมามอบให้วัดสำหรับให้จัดแสดง วันที่ผมแวะไปเที่ยวมา (วันจันทร์ที่ ๒๐ ที่ผ่านมา) อาคารหลังนั้นไม่เปิดให้เข้าชม แต่ก็ได้เป็นเห็นวัตถุชิ้นหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางแจ้งใกล้ ๆ กับอาคารหลังนั้น (ตำแหน่งที่ตั้งแสดงไว้ในรูปที่ ๒) และเรื่องเล่าในวันนี้ก็เป็นเรื่องของวัตถุชิ้นนั้น

รูปที่ ๑ แผนที่ตำแหน่งวัดเขียนบางแก้วจาก google map

ลักษณะของวัตถุชิ้นนั้นถ้าพอมีความรู้ทางด้านเครื่องจักรกลอยู่บ้างก็คงจะพอเดาได้ว่ามันน่าจะเป็นหม้อน้ำ (steam boiler) แต่ตอนแรกที่ผมไปถ่ายรูปมานั้นก็บอกไม่ถูกว่ามันเป็นหม้อน้ำสำหรับอะไร (แต่คิดอยู่ในใจแล้วว่าคงไม่ใช่สำหรับรถจักรไอน้ำ) จาก name plate (รูปที่ ๓) ที่ยังคงเหลืออยู่ทางด้านหลังทำให้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตได้ว่ามันคือ Portable Steam Engine หมายเลข 34746 สร้างโดยบริษัท Marshall, Sons and Co. แห่งเมือง Gainborough ประเทศอังกฤษ ในปีค.ศ. ๑๙๐๑ (พ.ศ. ๒๔๔๔) หรือในช่วงรัชกาลที่ ๕ ส่วนตัวเลข "6·2" ที่อยู่ตรงกลางนั้นเดาว่าเลข 6 น่าจะเป็นเลขแรงม้า (horse power) ของเครื่องจักร และเนื่องจากตำแหน่งจุดที่เห็นคั่นระหว่างเลข 6 กับเลข 2 ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ควรเป็นเลขทศนิยม ตอนแรกก็สงสัยว่าอาจจะบ่งบอกถึงจำนวนชิ้นส่วนอื่น เช่นจำนวนกระบอกสูบ (cylinder) ว่ามี 2 กระบอกสูบ แต่พอดูจากโครงสร้างอื่นประกอบแล้วก็คิดว่าอาจจะไม่ใช่ (รูปที่ ๔ - ๗)
  
รูปที่ ๒ แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมจาก google map ตรงกรอบสีเหลืองคือตำแหน่งที่ตั้งของ Marshall, Sons and Co. Portable Steam Engine No. 34746

รูปที่ ๓ แผ่น nameplate ที่ติดตั้งอยู่ทางด้านเตาไฟ ระบุว่าสร้างโดยบริษัท Marshall, Sons & Co. แห่งเมือง Gainborough ในปีค.ศ. ๑๙๐๑ (พ.ศ. ๒๔๔๔) หมายเลข ๓๔๗๔๖ ส่วนตัวเลข 6 กับ 2 ในวงกลมนั้น ตัวเลข 6 เดาว่าคงเป็นแรงม้าของเครื่อง ที่เดาเช่นนี้ก็เพราะจากการค้นทางอินเทอร์เน็ตพบว่าหม้อน้ำที่สร้างโดยบริษัทนี้ในช่วงเวลานั้นมีขนาด 5 และ 6 แรงม้า ส่วนเลข 2 นั้นไม่รู้เหมือนกันว่าหมายถึงอะไร 

รูปที่ ๔ รูปนี้เป็นรูปที่ถ่ายจากทางด้านซ้ายของ ปล่องข้างบนด้านทางด้านซ้าย (ที่เป็นด้านหน้า) คือปล่องควัน ส่วนปีกที่ตั้งขึ้นไปทางด้านข้างน่าจะเป็นที่สำหรับติดตั้งวงล้อกำลังที่เป็นตัวเปลี่ยนการเคลื่อนที่แนวเส้นของกระบอกสูบให้เป็นการเคลื่อนที่แบบหมุน จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาการเคลื่อนที่แบบหมุนนี้ไปใช้หมุนอะไร

รูปที่ ๕ ภาพถ่ายจากทางด้านหน้า

ผมลองค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็ไม่สามารถตามหารุ่นที่ผลิตในปี ๑๙๐๑ ได้ รูปของรุ่นที่ผลิตในปีก่อนหน้านั้นก็ไม่มีเค้าโครงว่าจะคล้ายกัน ส่วนรุ่นที่ผลิตในปีหลังจากนั้นดูตอนแรกก็คล้ายกัน แต่พอดูให้ละเอียดก็พบว่าแตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะตรงตำแหน่งที่ติดตั้งแขนที่เชื่อมต่อระหว่างด้านข้างด้านขวาของหม้อไอน้ำกับเพลาวงล้อ (รูปที่ ๖) ที่พบว่าหลายรูปในอินเทอร์เน็ตนั้นมันติดตั้งอยู่ทางด้านซ้าย แต่ตัวที่ผมไปพบมานั้นมันติดตั้งอยู่ทางด้านขวา โดยรูปที่พบว่าใกล้เคียงที่สุดคือรุ่นที่ผลิตในปีค.ศ. ๑๙๐๖ ที่บอกว่าเป็นรุ่นขนาด ๕ แรงม้า แต่เมื่อพิจารณาขนาดในรูปกับที่วัดเขียนบางแก้วแล้วก็เห็นว่าตัวที่วัดเขียนบางแก้วนั้นมีขนาดที่ใหญ่กว่า

รูปที่ ๖ ภาพถ่ายจากทางด้านขวา พึงสังเกตว่าส่วนหม้อน้ำทางด้านขวานี้มีแท่นสำหรับติดตั้งอุปกรณ์บางชนิดอยู่ (ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง) ซึ่งทางด้านซ้ายไม่มี ตอนที่ผมเทียบรูปกับภาพที่หาได้ในอินเทอร์เน็ตก็ใช้จุดนี้เป็นจุดสังเกตว่ารุ่นไหนที่ไม่น่าจะใช่รุ่นเดียวกับตัวที่ตั้งอยู่ที่นี้ (รูปที่ ๘ และ ๙) ที่มีแท่นสำหรับติดตั้งนั้นอยู่ทางด้านซ้าย (ด้านขวาไม่มี) และฝาปิดหม้อน้ำด้านหน้านั้นเป็นแบบฝาเรียบเหมือนกัน

รูปที่ ๗ รูปนี้ถ่ายจากทางด้านหลัง เป็นด้านของเตาไฟและเป็นด้านที่มี name plate ติดตั้งอยู่ หลายรูปที่ค้นเจอทางอินเทอร์เน็ตนั้นแม้ว่าลักษณะทางด้านข้างจะคล้ายกัน แต่รูปแบบทางด้านหลัง (เช่นช่องสำหรับใส่เชื้อเพลิงและการติดตั้ง name plate) นั้นแตกต่างกัน

รูปที่ ๘ รูปที่นำมาจาก https://prestonservices.co.uk/item/marshall-portable-45393/ ที่เป็นเว็บประกาศขายเครื่องจักรเก่า รถคันนี้เขาตั้งราคาขายไว้ ๑๐,๕๐๐ ปอนด์ (ตามสภาพที่เห็น) บอกว่าเป็นเครื่องจักรที่สร้างในปีค.ศ. ๑๙๐๖ (พ.ศ. ๒๔๔๙) เป็นเครื่องขนาด ๕ แรงม้า ลูกสูบเดียว ด้านนี้เป็นด้านที่มีการติดตั้งลูกสูบ จะมองเห็นแขนที่เชื่อมต่อกับเพลาล้อกำลังและโครงสร้างแบบเดียวกับในกรอบสีเหลี่ยมสีเหลืองในรูปที่ ๖

จากรูปที่ค้นหาดูทางอินเทอร์เน็ตพบว่าหม้อไอน้ำแบบนี้จะเรียกว่าเป็นหม้อไอน้ำสารพัดประโยชน์ก็ได้ คืออาจนำไปติดตั้งระบบล้อเพื่อทำหน้าที่เป็นรถลาก tractor) อุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ (เช่นคราดสำหรับพรวนดินหรือรถบรรทุกสิ่งของ) ดังเช่นที่แสดงในรูปที่ ๘ และ ๙ หรือนำไปใช้เพื่อหมุนเครื่องจักรต่าง ๆ เช่นใบเลื่อยสำหรับตัดไม้โดยใช้สายพานเป็นตัวส่งกำลังจากวงล้อที่อยู่ทางด้านบนของหม้อไอน้ำไปยังระบบเพลาของเครื่องจักร ส่วนที่ว่าเวลาเครื่องจักรมันทำงานนั้นมันเป็นอย่างไรก็สามารถดูได้จากคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=V099QYsvzhU ที่เป็นเครื่องจักรหมายเลข 28810 ที่บ่งบอกว่าเป็นตัวที่สร้างขึ้นก่อนหน้าไม่นานนัก จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือฝาด้านหลังสำหรับใส่เชื้อเพลิงที่ไม่เหมือนกันอยู่
 
รูปที่ ๑๐ เป็นภาพจาก google street view ที่จับภาพเอาไว้เมื่อเช้าวันนี้ google ระบุว่าเป็นข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคมปีค.ศ. ๒๐๑๖ หรือเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว จะเห็นว่าตอนนั้นบริเวณที่ตั้งหม้อน้ำในปัจจุบันเป็นเพียงแค่กรอบปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเปล่า ๆ ที่ยังไม่มีการติดตั้งอะไร แสดงว่าช่วงเวลานั้นอาจจะมีการได้รับหม้อไอน้ำตัวนี้มาแล้ว ถึงได้มีการก่อกรอบปูนนี้ขึ้น แต่ยังไม่ได้มีการนำมาติดตั้ง ที่น่าเสียดายก็คือมันไม่มีป้ายบอกให้รู้เลยว่าสิ่งที่นำมาตั้งแสดงนั้นคืออะไร มันเลยกลายเป็นเหมือนการนำเอาเศษเหล็กขึ้นสนิมมาตั้งทิ้งเอาไว้
 
สำหรับวันนี้ก็คงเป็นการเล่าเรื่องด้วยรูปเพียงแค่นี้ ที่เหลือก็คงต้องปล่อยให้ท้องถิ่นดำเนินการต่อไปว่าจะจัดการอย่างไรก็หม้อไอน้ำตัวนี้

รูปที่ ๙ นำมาจาก https://prestonservices.co.uk/item/marshall-portable-45393/ เช่นกัน แต่เป็นรูปทางด้านซ้าย

รูปที่ ๑๐ ภาพจาก google street view บอกว่าเป็นรูปเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ (May 2016) ยังเห็นเป็นกรอบปูนสี่เหลี่ยมเปล่า ๆ อยู่ ยังไม่มีการติดตั้งอะไร