นับตั้งแต่เดือนมีนาคม
๒๕๕๕ หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอซีเนียร์โปรเจค
ในวันสุดท้ายของการสอบปลายภาค
ก็จะตามด้วยงานปัจฉิมนิเทศน์นิสิตปี
๔ ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา
งานนี้เรียกว่าเป็นโอกาสสุดท้าย
ที่บรรดาอาจารย์ของภาควิชา
จะได้ให้โอวาท ฝากข้อคิดเตือนใจ
สอนเป็นครั้งสุดท้าย
หรือกล่าวความในใจที่มีอยู่
ให้กับนิสิตที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา
แต่ปีนี้แตกต่างออกไป
เพราะการที่ต้องจากลา
เพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์
หรือแม้แต่สถานที่เรียน
มาในเวลาที่เราต่างคาดไม่ถึง
********************
เย็นวันพุธที่
๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓ สัปดาห์หลังการสอบกลางภาค
มีอีเมล์ด่วนมาก
ถึงอาจารย์ทุกคนในภาควิชา
เรื่องเชิญประชุมในเวลา
๑๓.๐๐
น วันศุกร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๓
ในหัวข้อเรื่อง
"แนวทางการจัดการเรียนการสอน
กรณีสถานการณ์ไม่ปกติ
อันเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
COVID-19"
ที่ห้องเรียนเล็กของภาควิชา
ปรกติฝรั่งเขาก็ถือว่า
เลข ๑๓ เป็นเลขอัปมงคล
และยิ่งเป็นวันศุกร์ที่ ๑๓
ก็ยิ่งแล้วใหญ่
ข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเป็นอย่างไรนั้น
เชื่อว่าพวกคุณทุกคน
ที่เรียนอยู่ที่ห้องเรียนใหญ่ที่อยู่ติดกัน
ที่ทราบข่าวทันทีหลังการประชุมเสร็จสิ้น
คงตกใจไม่น้อย
และวันนั้นก็คงเป็นวันสุดท้าย
ที่พวกคุณ ได้มีโอกาสสวมชุดนิสิต
ในฐานะนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่
และวันนั้นก็คงเป็นวันสุดท้าย
ที่พวกคุณ ได้อยู่ในสถานที่แห่งนี้
ในฐานะนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่
คนเราบางทีก็แปลกนะ
ตอนเรียนอยู่ไม่อยากใส่ชุดนิสิต
แต่พอจบไปทำงานแล้ว
พอมีงานเลี้ยงให้แต่งชุดนักเรียน
ชุดนิสิตย้อนยุค เพื่อระลึกความทรงจำ
กลับไปควานหามาแต่งกันใหญ่
********************
รุ่นพวกคุณเนี่ย
ตอนเข้าภาคมาก็จัดว่าเป็นรุ่นที่เกรดเฉลี่ยต่ำที่สุดเลยได้มั้ง
นับตั้งแต่ผมเริ่มทำงานมา
(จะมีเกรดเฉลี่ยเข้าภาคต่ำกว่ารุ่นคุณ
ก็น่าจะเป็นรุ่นผมนี่แหละที่ยังไม่มีรุ่นไหนทำลายสถิติได้)
แถมนิสิตเข้าภาครุ่นพวกคุณ
ยังมีจำนวนต่ำเป็นประวัติการณ์ด้วย
นับตั้งแต่ภาคเปิดรับนิสิต
๘๐ คน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าภาควิชานี้
จะได้อยู่กับภาควิชาจนถึงวันนี้
ในช่วงการทำงานที่ผ่านมา
ก็ได้ผ่านพบหลากหลายเหตุการณ์
ที่ทำให้นิสิตต้องจากภาควิชานี้ไป
เรื่องปรกติที่สุดก็คือ
การย้ายภาค ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นไร
เพราะถือว่าเป็นการจากไปด้วยดี
แต่ที่น่าเศร้าก็คือ
ผู้ที่ต้องจากไปด้วยสาเหตุอื่น
ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต
ถูกบังคับให้เรียนโดยไม่ชอบเรียน
จนทำให้ผลการเรียนตกต่ำจนต้องพ้นสภาพนิสิต
หรือถูกบังคับให้ออก
เพื่อให้ไปเรียนในสาขาที่ทางบ้านต้องการให้เรียน
********************
หลังเปิดเรียนได้เดือนนึง
เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว
ผมก็เตรียมที่จะถ่ายรูปพวกกลุ่มตามกลุ่มทำแลป
เพื่อที่จะส่งมอบให้พวกคุณในวันนี้
(จะได้เห็นว่ามาอยู่ที่ภาควิชานี้
๓ ปี หน้าตาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง)
ระหว่างที่รอให้นิสิตเข้าเรียนนั้นนั้น
นิสิตคนหนึ่งก็มาหาผมที่โต๊ะทำงาน
"หนูมาลาอาจารย์ค่ะ"
"ทางบ้านเขาอยากให้หนูไปเรียน
..... "
"แล้วจำเป็นต้องลาออกด้วยเหรอ
แค่พักการเรียนไม่ได้เหรอ"
ผมก็ถามเขากลับไป
ซึ่งเขาก็อธิบายเหตุผลกลับมา
"อันที่จริงหนูก็สนุกกับการเรียนที่นี่"
"สวัสดีค่ะอาจารย์"
เขายกมือไหว้ผมและก็วิ่งออกไปจากห้อง
นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้เห็นเขา
********************
"ถ้าผมทำเพียงแค่นี้ผมผ่านไหมครับอาจารย์"
"แลปมันไม่เหมือนวิชาเลคเชอร์นะ"
ผมบอกกับเขา
"วิชาบรรยาย
ถ้าอาจารย์เขาไม่มีคะแนนเก็บจากการเข้าเรียน
คุณจะไม่มาเรียนเลยก็ได้
และถ้าคุณทำข้อสอบในวันสอบได้
คุณก็สอบผ่าน"
"แต่วิชาปฏิบัติการ
มันเป็นเรื่องของการฝึกฝน
คือการมาลงมือปฏิบัติในห้องเรียน"
"ว่าแต่ว่าทำไมถึงมาสายเป็นประจำล่ะ"
ผมถามเขา
เพราะวิชาเรียนบ่ายโมงเขามาบ่ายสองเป็นประจำ
"ผมนอนไม่หลับครับ
เพิ่งจะมาหลับเอาตอนเช้า"
เขานอนไม่หลับจริง
ๆ เพราะเขาเครียด เครียดมาก
ณ
เวลานี้ผมได้แต่หวังว่า
เขาคงได้มีโอกาสได้เดินในเส้นทางที่เขามีสิทธิเลือกเองแล้ว
********************
ในฐานะของอาจารย์ที่ได้มีโอกาสสอนพวกเขา
ที่ต้องจากภาควิชานี้ไปด้วยสาเหตุหลังนี้
ผมก็ยังระลึกถึงพวกเขาเสมอ
********************
แม้ว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน
ทำให้ข้อความ (ที่ไม่ว่าจะเป็น
ตัวอักษร ภาพ หรือเสียง)
สามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังส่วนต่าง
ๆ ของโลกได้ภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที
แต่ก็ยังมีอีกเส้นทางหนึ่ง
แม้ว่าจะเป็นเพียงเส้นทางสั้น
ๆ แต่เทคโนโลยีปัจจุบัน
หรืออาจจะรวมทั้งในอนาคตด้วย
ยังไม่สามารถเร่งความเร็วในการส่งข้อความนั้นได้
นั่นคือ
ข้อความที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ
********************
คนบนดอย
<************@gmail.com>
3
พ.ค.
2020 16:24
ถึง
MO.Memoir@gmail.com
สวัสดีค่ะ
ขอแนะนำตัวก่อนนะค่ะ ฉันชื่อ
*****
นามสกุลเดิมของฉัน
****** เป็นคน
หมู่ที่ 5
บ้านห้วยเนียม ตำบลน้ำไผ่
อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
ฉันก็จำไม่ได้หรอกนะค่ะว่าคุณในทีมที่มาทำสะพานที่หมู่บ้านของฉันชื่อว่าอะไร
แต่ฉ้นจำได้แค่ไม่กี่คน
มีที่ชื่อ พี่เทียน
ที่ฉันจำได้ว่าเขาเป็นหัวหน้าทีม
และพี่ยิ้ม ที่ฉันเรียกเขาว่าคุณครู
เพราะนอกจากที่พวกพี่ ๆ
มาจะสร้างสะพานแล้วพวกพี่ยังมาสร้างความรักและแรงบันดาลใจที่ทำให้ฉันก้าวสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ในวันนี้…ฉันเป็นแค่เด็กผู้หญิงที่เกิดบ้านป่าบ้านดอยที่แสนจะธรรมดา
ที่ห่างไกลความเจริญ
ไม่มีถนนคอนกรีต ไม่มีระบบน้ำปะปา
ไม่มีไฟฟ้า ฉันเกิดในครอบครัวจน
ๆ ครอบครัวหนึ่ง แต่พวกพี่
ๆ มาออกค่ายในครั้งนั้นมันทำให้ฉันมีความสุข
มีความหวัง และความฝัน
ฉันได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษครั้งแรกในชีวิตได้ท่อง
A-Z
ได้ร้องเพลงลูกหมู…ฉันจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้ดีไม่มีวันลืม
และความสุขที่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับพวกพี่
ๆ มันยังตราตรึงในความทรงจำไม่มีวันลืม
ฉันพาพวกพี่ ๆ ไปหาหน่อไม้
ไปหาบน้ำ ฯลฯ ซึ่งตอนนั้นฉันมีความสุขมาก
พวกพี่เป็นเหมือนเทวดา
นางฟ้าสำหรับฉันทุกคน
ขอโทษพวกพี่ ๆ
และคุณครูด้วยที่จำชื่อพี่ไม่ได้ทุกคน
แต่มีพี่ผู้หญิงที่ชื่อพี่ดาวคนหนึ่งที่พวกเด็ก
ๆ เรียกว่านางฟ้าสูงสุด
เพราะพี่สวยมากและมีเหตุการณ์หนึ่งที่พวกเราเถียงกันว่าใช่พี่ดาวหรือเปล่า?
เพราะพี่เขาตัดผมทรงบ๊อบและวันหนึ่งพี่ก็มัดผมและวันนั้นก็สวยยิ่งกว่าเดิม…
นี้คือความทรงจำตอนนั้น
แต่พวกพี่ ๆ
รู้ไหมค่ะวันที่พวกเราเศร้ามากที่สุดคือวันที่พี่ต้องจากพวกเรากลับบ้าน
ฉันร้องไห้อยู่เป็นเดือน
นั่งมองโอ่งที่นำไปใส่น้ำให้พวกพี่
ๆ ใช้
จนทุกวันนี้เวลาคิดขึ้นมาทีไรฉันร้องไห้ทุกที…ฉันดีใจที่สุดที่ได้บอกความในใจคิดถึงพวกพี่ตลอดมา
ฉันได้รับรู้ว่าพวกพี่ได้กลับมาเยี่ยมดูสะพานแต่ฉันก็ไม่กล้าที่จะไปพบไม่รู้จะเริ่มพูดตรงไหนหรือแนะนำตัวแบบไหน
ได้แต่แอบมองด้วยความรักและเทิดพูนตลอดมา
และฉันหวังว่าขอความนี้จะส่งถึงพี่
ๆ ทุกคนนะค่ะ
และฉันสัญญาว่าจะส่งผ่านความรักของฉันให้กับเด็กของฉันทุกคนเหมือนกับที่ฉันได้มีโอกาสรับความรักจากพี่
ๆ แด่…ครูคนที่สอนความรักอันบริสุทธิ์สำหรับฉัน
จาก….(ครูบนดอย)
อีเมล์ข้างต้น
ผมได้รับเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
ส่งมาจากคนที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน
ผมเพิ่งมาเปิดเจอตอนเช้าวันวิสาขบูชา
สิ่งที่เขาเล่านั้น
เป็นเหตุการณ์เมื่อ ๓๔
ปีที่แล้ว
ที่เป็นครั้งเดียวที่ผมได้ไปออกค่ายยุววิศวกรบพิธของคณะ
ผมเชื่อว่าที่เขาติดต่อผมมา
คงเป็นเพราะเขาเห็นบทความที่ผมเขียนเมื่อ
๙ ปีที่แล้ว ที่เป็นบันทึกความทรงจำของผม
ที่มีต่อสะพานแห่งนั้น
ตอนนี้ผมทราบแล้วว่า
เขาปฏิบัติหน้าที่เป็นครูบนดอย
เป็นคุณครูผู้คอยดูแลเด็กเล็ก
ๆ ณ หมู่บ้านที่เขาเกิด
และผมก็ได้ตอบอีเมล์เขากลับไป
วันพุธที่
๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓
สวัสดีครับ
คุณ ******
ตอนที่สร้างสะพานนั้น
ก็หน้าร้อนปีพ.ศ.
๒๕๒๙ ปีนั้นผมเป็นนิสิตปี
๒ กำลังจะขึ้นปี ๓ ลงเรียนภาคฤดูร้อน
(ที่เขาเรียกว่าเรียนซัมเมอร์นั่นแหละครับ)
ก็เลยถูกเพื่อนฝูงชักชวน
ให้ร่วมทำสะพาน
งานส่วนที่ผมทำ
เป็นงานเชื่อมโครงสร้างเหล็ก
ที่เอาแท่งเหล็กตัว C
มาตัดครึ่ง
และมาเชื่อมประกบกันให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม
เป็นงานที่ทำที่กรุงเทพ
พอทำเสร็จก็เอาไปส่งที่ค่าย
ผมก็ติดรถบรรทุกคันนั้นไปด้วย
ผมได้อยู่ที่ค่ายเพียงสัปดาห์เดียวครับ
ยังจำบรรยายกาศการไปบ้านน้ำปาด
(ที่ตอนนั้นยังเป็นพื้นที่สีชมพูอยู่เลย)
ที่ตอนเช้า
จะมีรถออกจากหมู่บ้านมายังตัวเมืองหนึ่งคัน
และจะกลับเข้าตัวเมืองในตอนบ่าย
ถนนยังเป็นลูกรังไต่หน้าผา
บางช่วงไม่มีเสาบอกขอบทาง
แถมบางตอนคนขับต้องมาเอาโซ่พันล้อเพื่อให้รถวิ่งผ่านหล่มโคลนได้อีก
ผมกลับไปที่นั่นอีกที
ตอนทำพิธีเปิดสะพานครับ
ยังจำได้ว่าก่อนพิธีเปิด
ก็มีรถปิ๊กอัพคันหนึ่งวิ่งข้ามสะพานไปเรื่อย
ๆ อย่างช้า ๆ ทำเอาพี่ ๆ
ที่ยืนอยู่ด้วยกันเปรยขึ้นมาว่า
เราออกแบบสะพานนี้ให้รถวิ่งด้วยเหรอ
แต่ก็ดีเหมือนกันที่มีคนช่วยทดสอบให้
ยังจำงานตอนกลางคืนที่มีการจัดให้มี
"สาวรำวง"
และนั่นก็เป็นครั้งแรกครับที่ผมได้รู้จักว่า
"สาวรำวง"
ว่าคืออะไร
มาเห็นภาพสะพานนี้อีกที
ก็ตอนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี
๒๕๕๔ ที่มีข่าวบางสำนักเผยแพร่ออกมา
เข้าใจว่าคุณ ******
คงได้เป็นเห็นจากบทความเรื่องนี้บนหน้า
blog ของผมใช่ไหมครับ
:) :) :)
รูปที่แนบมาด้วยเป็นรูปที่ผมไปดึงมาจาก
facebook ของพี่เทียน
ที่มีเพื่อน ๆ แชร์ส่งกันมาครับ
ผมเข้าใจว่า แม้ว่าจะผ่านไปหลายปี
ก็ยังมีพี่ ๆ กลุ่มนี้
กลับไปเยี่ยมที่นั่นอยู่
ขอบคุณครับ
ที่ยังระลึกถึงทุกคนที่ไปค่ายในครั้งนั้น
คิดอยู่หลายครั้งแล้วครับ
ว่าจะหาโอกาสกลับไปที่นั่นอีก
แต่ก็ไม่ได้ไปสักที
แต่จะพยายามไปให้ได้ครับ
ด้วยความเคารพ
********************
เมื่อการพบกัน
เกิดขึ้นได้โดยที่ตัวบุคคลไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในสถานที่เดียวกัน
การจากกันจึงสามารถเกิดในรูปแบบเดียวกันได้เช่นกัน
********************
สัปดาห์ที่แล้ว
เมื่อวันพุธ (๒๐
พฤษภาคม)
ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่ร่วมสอนวิชาปริญญาโทด้วยกัน
ว่าให้ช่วยส่งไฟล์คะแนนสอบกลางภาควิชาหนึ่งให้หน่อยเพื่อจะได้รวมคะแนนและทำการตัดเกรด
ในระหว่างการสนทนา
ทำให้ทราบว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น
มีศิษย์เก่าคนหนึ่งของภาควิชา
เพิ่งจะเสียชีวิตไป
ด้วยวัยเพียงแค่ ๔๐ ปี
เขาทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปรกติผมก็จำชื่อ
(ไม่ว่าชื่อจริงหรือชื่อเล่น)
และนามสกุลของนิสิต
ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้อยู่แล้ว
เว้นแต่จะมีอะไรบางอย่างทำให้ติดใจจึงจำได้ทั้งชื่อและนามสกุล
อย่างเช่นในกรณีนี้
อาจารย์ที่เล่าข่าวให้ฟังก็จำไม่ได้ว่าชื่ออะไรแน่
แต่สำหรับผมแล้วคนที่ชื่อนี้ที่คุ้น
ๆ อยู่มีเพียงไม่กี่คน
บังเอิญบนโต๊ะคอมพิวเตอร์ที่นั่งทำงานอยู่
ก็มีหนังสือรุ่นของนิสิตรุ่นนี้
(รหัส
๔๐)
ที่ได้มาเมื่อ ๒๐
ปีที่แล้ว ที่มีคนชื่อทำนองเดียวกันนี้อยู่
อยู่ตรงหน้าพอดี
ก็เลยลองใช้อินเทอร์เน็ตค้นข่าวย้อนหลังดู
และก็พบว่าเป็นเขาจริง ๆ
ที่จำได้ก็เพราะว่า
ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเขาตอนเขาเรียนปริญญาตรี
หลังจบปริญญาตรี
เขาก็สมัครเรียนต่อโทที่ภาควิชา
โดยตอนแรกก็มาสมัครเรียนกับผม
แต่พอเรียนไปได้สักพักหนึ่งเขาก็พบว่างานด้านที่ผมทำนั้นมันไม่ใช่งานด้านที่เขาถนัด
ก็เลยมาขอย้ายอาจารย์ที่ปรึกษา
ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไร เห็นชอบด้วย
เพราะการดึงตัวเขาเอาไว้มันจะไม่เกิดผลดีกับทั้งสองฝ่าย
สำหรับผมแล้ว
เขาเป็นคนเงียบ ๆ
ไม่ได้ดูมีท่าทางร่าเริงแจ่มใสเหมือนเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น
แต่เขาเป็นคนพูดจาสุภาพเรียบร้อย
ผลการเรียนก็ธรรมดา
ไม่ได้โดดเด่นอะไร
นิสิตวิศวกรรมเคมี
รหัส ๔๐
จบจากปริญญาโทเขาก็ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ
สถาบันเดียวกับที่ผมจบมาซะด้วย
ก่อนหน้านี้ทราบข่าวแว่ว
ๆ ว่าพอจบแล้วก็กลับมาทำงานเป็นอาจารย์
มาทราบข่าวของเขาอีกที
ก็เมื่อเขาได้จากไปแล้ว
********************
เพราะการจากลา
อาจมาในเวลา ที่เราคาดไม่ถึง
และการพบพาน
ก็อาจมาในเวลา ที่เราไม่คาดฝัน
ดังนั้น
ช่วงเวลาที่เรามีโอกาส
ได้อยู่ร่วมกับผู้อื่น
ไม่ว่าช่วงเวลานั้น
จะสั้น หรือยาวนานเพียงใด
จึงควรที่ต้อง
ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ต่อเขาเหล่านั้น
เพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลา
ที่ต้องแยกย้ายจากกัน
จะได้ไม่มีเรื่อง
บาดหมางค้างคาใจ
และเมื่อใด
ที่มีโอกาสมาพบกันใหม่
ก็จะเกิดโอกาสที่รื่นรมย์
ต่อทั้งสองฝ่าย ที่ได้มาพบกัน
ท้ายสุดนี้
ก็ขออวยพร ให้พวกคุณทุกคน
ประสบแต่ความสุข
ความเจริญในชีวิต ตลอดไป
รศ.ดร.ธราธร
มงคลศรี
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตรงกับวันขึ้น
๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด