วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

แผ่นดินไหววันนี้ (บันทึกความทรงจำ) MO Memoir : Friday 28 March 2568

พฤษภาคม ๒๕๖๖ ระหว่างนั่งชม (งีบหลับ) การแสดงแสงสีประกอบดนตรีที่ท้องฟ้าจำลอง ณ ตึกสูงข้าง Tokyo Skytree กำลังเคลิ้ม ๆ อยู่ก็รู้สึกเก้าอี้สั่นไหว นึกในใจว่าการแสดงนี้มี effect เหมือนจริง มีการโยกไปมาตามดนตรีด้วย

สักพัก ไฟในห้องก็ประกาศขึ้น พร้อมกับเสียงประกาศเป็นภาษาญี่ปุ่น ลูกก็บอกว่าเจ้าหน้าที่เขาประกาศว่าเป็นแผ่นดินไหว จะหยุดการแสดงชั่วคราว สำหรับผู้ที่ต้องการกลับก่อนก็สามารถรับเงินค่าตั๋วคืนได้ ก็มีคนบางส่วนเดินออกไป แต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ สักพักการแสดงก็เริ่มต่อไปจนจบ ลงมาถ่ายรูปข้างล่าง ผู้คนก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิม

วันนี้ระหว่างเกิดเหตุ อยู่ตึก ๑๐๐ ปีชั้น ๑๑ เป็นวิชาสัมมนาปริญญาเอก พอตึกมันสั่น นิสิตก็วิ่งออกจากห้องไปกันหมด เหลือนั่งอยู่ในห้องคนเดียว สักพักเจ้าหน้าที่ตึกคนหนึ่งก็มา มาตรวจดู ก็บอกเขาไปว่าไม่รู้ว่าจะรีบวิ่งไปทำไม เดี๋ยวก็ได้เหยียบกันตาย อีกอย่างตึกสูงยุคหลังในบ้านเรามันก็ออกแบบมารับเรื่องแบบนี้ได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก่อนลงมา ก็เดินไปปลดปลั๊กไฟกาต้มน้ำที่เขาเสียบเอาไว้สำหรับ coffee break ออกก่อน ตอนแรกกะว่าจะชงกาแฟและหยิบขนมที่เขาเตรียมไว้มาด้วย เอาไว้กินตอนเดินลง แต่เปลี่ยนใจ

ลงมาข้างล่าง เห็นนิสิตมาอออยู่ข้างตึกบ้าง ชายคาบ้าง เลยถามเขาว่ามารออะไรกันแถวนี้ ถ้ากลัววาตึกมันจะถล่ม นั่งยืนอยู่แถวนี้ (ลานเกียร์) ก็ไม่รอดหรอก แล้วไม่กลัวจะมีเศษปูนหรือกระจกจากตึกร่วงลงมาหรือ จะให้ปลอดภัยต้องไปที่โน่นเลย สนามหน้าเสาธง

เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินก็ไม่ควรใช้ลิฟต์ ให้ใช้บันได แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าบันไดไหนมันปลอดภัยก็ใช้บันไดนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น และครั้งนี้ก็เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ไม่ใช่ไฟไหม้ ไฟไหม้โรงแรมที่หาดจอมเทียนปี ๔๐ ที่ตายกันเกือบร้อย ก็ตายในบันไดหนีไฟ

เศษกระเบื้องที่หล่นมาจากผนังอาคารวิศว ๔

 

วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2568

หน่วยวัดความไวไฟ MO Memoir : Friday 21 March 2568

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวรถบรรทุกน้ำมันเครื่องบินเจ็ตถูกรถชนท้าย ทำให้วาล์วถ่ายน้ำมันได้รับความเสียหาย มีน้ำมันรั่วไหลออกมา เนื้อหาข่าวต้นเรื่องไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่ทุกสำนักข่าวดูเหมือนจะรายงานในทำนองเดียวกันหมดดังเช่นที่นำมาแสดงในรูปข้างล่าง คือน้ำมันที่รั่วออกมานั้นไวไฟกว่าเบนซินถึง ๓ เท่า

ในทางปฏิบัติ อันตรายจากการลุกติดไฟหรือการระเบิดของสารที่เป็นเชื้อเพลิงขึ้นอยู่กับว่า เมื่อสารนั้นรั่วไหลออกมานอกภาชนะบรรจุ ถ้าปริมาณของไอระเหยของสารนั้นที่ระเหยออกมา "สามารถ" ผสมรวมเข้ากับอากาศจนมีความเข้มข้นสูงเพียงพอที่จะเกิดการลุกติดไฟได้หรือไม่ถ้าได้รับพลังงานกระตุ้น (เช่น เปลวไฟ ประกายไฟ พื้นผิวที่ร้อนมากพอ)

พารามิเตอร์ตัวหนึ่งที่นำมาใช้ในการบอกความไวไฟของสารคือจุดวาบไฟ (Flash point) ซึ่งเป็นอุณหภูมิต่ำสุดที่ทำให้สารเชื้อเพลิงที่มีสถานะเป็นของเหลว ระเหยกลายเป็นไอได้มากพอที่จะทำให้ความเข้มข้นในอากาศสูงพอที่จะลุกติดไฟได้ ถ้าอุณหภูมิที่ใช้อ้างอิงนั้นคืออุณหภูมิห้อง สารตัวใดที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่าอุณหภูมิห้องก็จะถือว่าเป็นสารไวไฟทั้งนั้น

แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเปรียบเทียบระหว่างสารสองตัวที่อุณหภูมิของสารที่รั่วไหลออกมานั้นสูงกว่าอุณหภูมิจุดวาบไฟของสาร สารที่มีจุดวาบไฟต่ำจะมีโอกาสลุกติดไฟได้ง่ายกว่าสารที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า เพราะมันมีประเด็นเรื่องที่สารนั้นเมื่อรั่วไหลออกมาแล้วสามารถที่จะผสมกับอากาศกลายเป็นสารผสมที่มีความเข้มข้นเชื้อเพลิงสูงพอที่จะเกิดการลุกติดไฟได้หรือไม่

เช่นไฮโดรเจนที่มีอุณหภูมิจุดวาบไฟที่ -231ºC และมีเทนที่มีอุณหภูมิจุดวาบไฟที่ -188ºC แต่พวกนี้เป็นแก๊สที่ความหนาแน่นต่ำกว่าอากาศ ถ้ารั่วไหลออกมามันจะฟุ้งกระจายออกไปได้ง่าย ยากที่จะผสมกับอากาศจนมีความเข้มข้นสูงพอที่จะลุกติดไฟได้

น้ำมันเครื่องบินเจ็ตเป็นไฮโดรคาร์บอนในช่วงน้ำมันก๊าด กรมธุรกิจพลังงานกำหนดให้มีจุดวาบไฟ "ไม่ต่ำกว่า 38ºC" ในขณะที่ของน้ำมันเบนซินนั้นไม่ได้กำหนดอุณหภูมิจุดวาบไฟ แต่กำหนดในรูปความดันไอและอุณหภูมิการกลั่น และเป็นที่รู้กันว่าจุดวาบไฟของน้ำมันเบนซินมันมีค่าต่ำกว่า 0ºC

ทีนี้ถ้ากลับไปอ่านเนื้อหาข่าวกันใหม่ ก็คงจะเห็นความไม่สมเหตุสมผลแล้วนะครับ ตรงที่บอกว่าน้ำมันเจ็ตนั้นไวไฟกว่าเบนซิน และไวไฟกว่า 3 เท่า ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวัดอย่างไร

อีกจุดหนึ่งที่อยากให้พิจารณาคือตัวเลขที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นสีส้ม ที่ตัวบนเป็นเลข 2 หลักและตัวล่างเป็นเลข 4 หลัก ตัวเลขบนที่เป็นเลข 2 หลัก (หรือบางทีก็ 3 หลัก) คือ Hazard Identification Number (HIN) เลข 30 บอกว่าเป็นของเหลวที่ติดไฟได้ (อุณหภูมิจุดวาบไฟอยู่ระหว่าง 23-60ºC) ฯลฯ เลข 33 บอกว่าเป็นของเหลวที่มีความไวไฟสูง (อุณหภูมิจุดวาบไฟต่ำกว่า 23ºC)

ตัวเลขล่างที่เป็นเลข 4 หลักบอกว่าสารนั้นเป็นสารอะไร เลข 1202 คือ gas oil หรือ diesel fuel หรือ heating oil (กล่าวคือเป็นไฮโดรคาร์บอนเบาในส่วนของน้ำมันหนัก) ส่วนเลข 1203 คือ gasoline หรือ petrao หรือ motor spirit (ทั้งหมดคือน้ำมันเบนซิน แต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกัน)

โครงสร้างของถังบรรทุกของเหลวของรถบรรทุก ภายในจะมีผนังกั้น (Baffle) ตามแนวขวางเพื่อแบ่งถังบรรจุเป็นส่วน ๆ ผนังกั้นนี้ทำหน้าที่ดลดการกระฉอกของของเหลวเวลาที่รถมีการเคลื่อนที่หรือหยุดเคลื่อนที่ โดยอาจออกแบบมาให้ของเหลวในแต่ละส่วนเชื่อมต่อกันหมดสำหรับการใช้บรรจุของเหลวเพียงชนิดเดียว หรือกั้นแยกออกจากกันเพื่อให้บรรจุของเหลวได้หลายชนิด รถบรรทุกน้ำมันที่บรรทุกน้ำมันไปยังสถานีบริการต่าง ๆ ก็ใช้ถังแบบบรรจุได้หลายชนิดนี้

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2568

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๕ Printed Circuit Board (PCB) - Stripline MO Memoir : Tueday 18 March 2568

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้มาจากการได้พบเห็นผู้ส่งสินค้าออกท่านหนึ่งถามว่าเขาต้องการส่ง Printed Circuit Board (PCB) หรือที่แปลเป็นไทยว่าแผงวงจนพิมพ์ด้วยรหัส HS Code 85340010 พอเอาไปค้นใน EU Correlation Table ก็พบว่ามันไปเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (DUI) รหัส 3A234 ในบัญชี ๑ ซึ่งก็คือ stripline (รูปที่ ๑) ก็เลยมีคำถามว่าตกลงว่า PCB ของเขาเกี่ยวข้องกับ DUI หรือไม่ เพราะ PCB ที่เขาส่งออกเป็นแผงวงจรเปล่า ๆ ยังไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ใด ๆ

รูปที่ ๑ คุณสมบัติของ Stripline ที่เป็นสินค้า DUI

หมายเหตุ : ใน EU Correlation Table (ฉบับค.ศ. ๒๐๒๔) มี HS Code ที่เกี่ยวข้องกับ DUI ๔ รายการด้วยกัน แต่ที่เกี่ยวข้องกับ PCB มีเพียง ๒ รายการดังนี้ (ข้อมูลจาก https://www.tariffnumber.com)

HS Code 85340011 - multilayer circuits only. Multilayer printed circuits, consisting only of conductor elements and contacts

HS Code 85340019 - conductor-only printed circuits. Printed circuits consisting only of conductor elements and contacts (excl. multiple printed circuits)

แผงวงจรที่มีลายเส้นทองแดงเพียงด้านเดียวเรียกว่า single layer แต่ถ้ามีลายเส้นทองแดงทั้งสองด้านก็เรียก double layer ถ้าเปรียบเสมือนกระดาษ ๑ แผ่นชนิด double layer ก็เป็นแบบที่มีการเขียนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และถ้าเป็น multilayer ก็จะเป็นเสมือนกระดาษหลายแผ่นซ้อนกัน โดยระหว่างหน้าที่ทับซ้อนกันนั้นก็มีการเขียนลายเส้นทองแดงอยู่ด้วย

อันทีจริงถ้านำเอาคำ Printed Circuit Board ไปค้นใน EU List ก็จะพบอยู่แค่ ๒ คำในส่วนของหมายเหตุ และไม่ได้เป็นสินค้า DUI ใด ๆ

แต่ก่อนอื่นลองมาทำความรู้จักโครงสร้างพื้นฐานของ stripline กันหน่อยดีกว่า

รูปที่ ๒ เป็นข้อความบางส่วนจากหนังสือ Microwave Active Circuit Analysis and Design โดย Clive Poole และ Izzat Darwazeh ฉบับปีค.ศ. ๒๐๑๖ โครงสร้างของ stripline ประกอบด้วยตัวนำที่อยู่ระหว่างแผ่นตัวนำสองแผ่น โดยตัวนำที่อยู่ตรงกลางนั้นถูกแยกออกจากแผ่นตัวนำที่ประกบมันอยู่นั้นด้วยวัสดุ dielectric ที่อาจเป็นอากาศหรือวัสดุ dielectric ใด ๆ ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำ PCB ก็เป็นวัสดุ dielectric แบบหนึ่ง (วัสดุ dielectric เป็นวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้าเหมือนกับฉนวนไฟฟ้า (insulator) แต่มันไม่เหมือนกัน 100% มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง คือบางงานมันใช้แทนกันได้ แต่บางงานมันใช้แทนกันไม่ได้)

รูปที่ ๒ โครงสร้างของ Stripline

"transmission line" คือตัวนำสัญญาณ เพื่อให้เห็นภาพขอยกตัวอย่างกรณีของคลื่นเสียง ถ้าเราตะโกนออกมาเสียงนั้นก็จะกระจายออกไปรอบตัวทุกทิศทาง แต่ถ้าเราใช้กรวยขนาดใหญ่ตัดปลายด้านเล็กมาครอบปากแล้วตะโกนออกไป เสียงส่วนใหญ่ก็จะดังไปในทิศทางที่เราหันปากกรวยออกไป และถ้าเป็นการตะโกนลงไปในท่อ คลื่นเสียงก็จะเดินทางไปในท่อไปออกที่ปลายอีกฝั่งหนึ่งได้ (ที่เรียกว่า speakin tube หรือ voicepipe แต่ก่อนในการติดต่อสื่อสารกันในเรือหรือในอาคารในต่ำแหน่งที่อยู่ห่างกัน ก็มีการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้) ในกรณีของคลื่นแสง transmission line คือ fiber optic หรือเส้นใยแก้ว ที่ทำให้แสงเคลื่อนที่จากปลายข้างหนึ่งของเส้นใยไปโผล่ที่อีกปลายข้างหนึ่ง (แม้ว่าเส้นใยจะคดเคี้ยวก็ตาม) สำหรับ stripline นี้จะใช้กับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นไมโครเวฟ โดยตัวคลื่นจะเดินทางไปตามตัวนำที่อยู่ตรงกลาง และตัวนำที่ประกบอยู่ด้านข้างทั้งสองยังทำหน้าที่ช่วยป้องกันการรบกวนจากสัญญาณภายนอก

stripline เป็นสินค้า DUI ในหมวด 3A2 หมายถึงเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เลข 3 ตัวแรก) ที่เกี่ยวข้องกับระบบ (อักษร A) และกำหนดให้เป็น DUI โดย Nuclear Supplier Group (เลข 2 ตัวหลัก) เพื่อให้เห็นภาพความเกี่ยวข้องนี้เราลองไปดูการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระเบิดนิวเคลียร์สักหน่อยดีกว่า

ในเอกสาร Section V - Nuclear Weapon Technology (ดาวน์โหลดจากเว็บ Federation of American Scientists https://irp.fas.org>threat>mctl98-2 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่พอมาสัปดาห์นี้เข้าเว็บนี้ไม่ได้แล้ว) ใน Section 5.7 บรรยายว่าในส่วนของทำงานเกี่ยวข้องกับระเบิดนิวเคลียร์สามารถแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อยได้ ๔ ขั้นตอนตามลำดับการทำงานดังนี้คือ Safing, Arming, Fuzing และ Firing

ขั้นตอน Safing คือการทำให้มั่นใจว่าการเก็บรักษา การเคลื่อนย้าย หรือการกระทำใด ๆ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ ต้องไม่ทำให้มันเกิดระเบิดได้ (ตัวอย่างเหตุการณ์การทำแบบไม่ตั้งใจที่เคยเกิดก็มีกรณีที่ระเบิดร่วงจากเครื่องบินทิ้งระเบิด และเครื่องบินบรรทุกระเบิดเกิดการตก)

ขั้นตอน Arming คือขั้นตอนการเตรียมให้อาวุธมีความพร้อมที่จะใช้งานและสามารถที่จะทำงานได้ถ้าได้รับการจุดระเบิดที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่นถ้ามีสลักสอดขวางเพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ของขิ้นส่วนบางชิ้น ขั้นตอน Arming นี้ก็คือการถอดสลักเหล่านั้นออก

ขั้นตอน Fuzing คือการตรวจว่าเงื่อนไขที่จะจุดระเบิดมีครบแล้ว และทำการส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์จุดระเบิด ตัวอย่างอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนนี้ได้แก่อุปกรณ์ที่ตรวจวัดตำแหน่งของหัวรบเทียบกับตำแหน่งเป้าหมาย และวงจนที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้จุดระเบิดหัวรบ

ขั้นตอน Firing คือการจุดระเบิดเมื่อได้รับสัญญาณมาจากขั้นตอน Fuzing โดยจะทำการจ่ายพลังงานที่มีระดับพลังงานที่เที่ยงตรง ณ เวลาที่ถูกต้องไปยังอุปกรณ์จุดระเบิดหัวรบ

stripline มีบทบาทในขั้นตอน Fuzing และ Firing (รูปที่ ๓)

รูปที่ ๓ บทบาทของ stripline ที่เกี่ยวข้องกับหัวรบนิวเคลียร์ปรากฏอยู่ในขั้นตอน Fuzing (ตารางบน) และ Firing (ตารางล่าง) (จากเว็บ Federation of American Scientists https://irp.fas.org>threat>mctl98-2)

ถ้าดูโครงสร้างของ stripline ในรูปที่ ๒ จะเห็นว่าในกรณีที่วัสดุ dielectric นั้นคือแผงวงจรพิมพ์ เราจะเห็นโครงสร้างเฉพาะลายเส้นตัวนำไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกเท่านั้น จะมองไม่เห็นตัวนำที่แทรกอยู่ระหว่างลายเส้นตัวนำไฟฟ้าทั้งสอง ดังนั้นแผงวงจรพิมพ์ที่มี stripline อยู่จึงเป็นชนิด multilayer หรือไม่ก็อาจถูกเลี่ยงส่งในรูปของ double layer เพราะว่ามองไม่เห็นตัวนำไฟฟ้าที่อยู่ตรงกลาง

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๔ มุมมองจากทางด้านเทคนิค MO Memoir Thursday 13 March 2568

ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง "มาตรการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง และมาตรการเกี่ยวกับสินค้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการใช้สุดท้ายหรือผู้ใช้สุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง" ที่ออกมาในปีพ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๔) มีบัญชีแนบท้าย ๒ บัญชี โดยบัญชี ๑ เป็นรายการ "สินค้าที่ใช้ได้สองทางในความรับผิดชอบของกรมการค้าต่างประเทศ" รายการสินค้าต่าง ๆ ในบัญชีที่ ๑ นี้นำมาจาก EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๑๙ (พ.ศ. ๒๕๖๒) (แต่ตอนที่กฎหมายออก มันมีฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ ออกมาแล้ว และฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๑ ออกมาก่อนหน้าออกประกาศฉบับนี้ ๑ สัปดาห์)

บัญชี ๒ นั้นเป็นรายการ "สินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง" รายการสินค้าที่ปรากฏในบัญชี ๒ นี้มาจากการเทียบเคียงว่าสินค้าที่อยู่ในบัญชี ๑ นั้น ถ้ามีการส่งออก มีโอกาสที่จะไปปรากฏอยู่ในหมวด HS Code ตัวไหนได้บ้าง (HS Code คือรหัสสินค้าของระบบศุลกากรที่เป็นหน่วยงานควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้า รหัสนี้เป็นรหัสสากล) แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าในบัญชี ๑ นั้นจะไปโผล่อยู่ใน HS Code ที่ไม่อยู่ในบัญชี ๒ ไม่ได้ (มันทำได้อยู่ ถ้าอยากทำ) และจะไปตีความว่าสินค้าทุกตัวในบัญชี ๒ นั้นเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางก็ทำไม่ได้

แต่ในเวลานี้ดูเหมือนว่าการทำงานในบ้านเราจะไปอิงบัญชี ๒ เป็นหลัก ซึ่งตรงนี้มันอาจเกิดปัญหาได้ถ้าหากสินค้าในบัญชี ๑ นั้นถูกส่งออกไปกับสินค้าอื่นที่ไม่ได้มี HS Code อยู่ในบัญชี ๒ วันนี้ก็เลยขอแบ่งปันมุมมองการพิจารณาว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่ โดยอาศัยมุมองทางด้านเทคนิคจากความรู้ที่ได้เรียนมาจากวิทยากรทั้งจากสหรัฐและญี่ปุ่น (ซึ่งการตีความตัวอย่างที่เขายกมาสอนนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่บางจุด และบางทีก็แตกต่างจากความเห็นส่วนตัว) โดยจะขอลำดับเป็นข้อ ๆ ดังนี้

๑. ก่อนอื่นการพิจารณาว่าสินค้านั้นเป็นสินค้า DUI หรือไม่ จะดูกันที่ EU List เป็นหลัก (ฉบับล่าสุดเป็นฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๔ ที่มีการเปลี่ยนแปลงบางรายการจากฉบับก่อนหน้า) ตัว EU List นี้ทางสหรัฐจะเรียกว่าเป็น Export Control Classification Number หรือย่อเป็น ECCN ซึ่งใช้รหัสเดียวกันและรายละเอียดเหมือนกัน

๒. ในกรณีที่สินค้านั้นเป็นสินค้าชิ้นเดียว ไม่ได้ประกอบจากชิ้นส่วนย่อยหลายชิ้นส่วนการพิจารณาจะทำได้ง่าย (เช่นต้องการส่งแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board หรือที่ย่อว่า PCB) เปล่า ๆ ที่ยังไม่มีการติดตั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ หรือส่งตัวเก็บประจุ (capacitor หรือ condenser) ที่ยังไม่ประกอบเข้ากับวงจรใด ๆ) ก็เพียงแค่ไปดูว่าสินค้านั้นมีปรากฏในรายการ EU List หรือไม่

๓. จากข้อ ๒. ถ้ามีปรากฏ (เช่นกรณีของตัวเก็บประจุ) ก็จะไปพิจารณาคุณสมบัติของสินค้านั้นว่ามีคุณลักษณะเป็นไปตาม EU List หรือไม่ ถ้าพบว่ามันตรง มันก็เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุมทันที แต่ถ้าตรวจไม่พบว่าสินค้านั้นมีปรากฏใน EU List (เช่นกรณีของ PCB) ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่ามันไม่ใช่สินค้าควบคุม เพราะมันอาจถูกจัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางก็ได้ ถ้าหากมันไปปรากฏอยู่ในบัญชี Catch-All Control หรือ CAC (จะมากล่าวถึงเรื่องนี้อีกทีในข้อ ๑๑.)

๔. จากข้อ ๓. ถ้าพบว่าคุณสมบัติของสินค้านั้นไม่ตรงตาม EU List บางข้อ ก็ต้องมาพิจารณากันต่อว่า การที่มันมีคุณสมบัติไม่ตรงนั้นเป็นเพราะอะไร เช่น

๔.๑ ถ้าเกิดจากการดัดแปลงบางส่วนของสินค้า DUI เพื่อไม่ให้มีคุณสมบัติตรงตาม list ทุกข้อ การเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถทำย้อนกลับได้ง่ายหรือไม่

๔.๒ ถ้าสามารถทำย้อนกลับได้ไม่ยาก คำถามก็คือทำไปทำไป เช่น

(ก) หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ

(ข) ผู้ใช้ไม่ต้องการสินค้าที่มีสมรรถนะสูง แต่ผู้ขายใช้วิธีปรับแต่งความสมรรถนะสินค้าสมรรถนะสูงพื้นฐานที่ตัวเองมีอยู่ ด้วยการดัดแปลง/เปลี่ยนแปลง/ตัดออกชิ้นส่วนหรือโปรแกรมควบคุมการทำงานอุปกรณ์พื้นฐาน เพื่อไม่ให้ผู้รับสินค้านั้นสามารถใช้งานสินค้าตัวนั้นในฐานะ DUI ได้ และมีการควบคุมไม่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงหรือแก้ไขชิ้นส่วนที่ได้รับการดัดแปลง/เปลี่ยนแปลง/ตัดออกนั้นได้ด้วยหรือไม่


๕. ในกรณีที่สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนย่อยหลายชิ้น (เช่น PCB ที่มีการติดตั้งสารพัดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไว้เต็มไปหมด) ถ้าคุณสมบัติรวมของสินค้านั้นตรงตาม EU List มันก็เข้าข่ายสินค้าควบคุมทันที และในทางกลับกัน ถ้าสินค้านั้นเป็นชิ้นส่วนย่อยที่สามารถนำมาประกอบรวมเป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่ขึ้นได้ จนทำให้คุณสมบัติของชิ้นส่วนใหญ่ที่เกิดจากการประกอบรวมชิ้นส่วนย่อยหลายชิ้นเข้าด้วยกันนั้น มีคุณสมบัติตรงตาม EU List ตรงนี้จะตีความอย่างไร (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางตัวอย่างที่ ๑ ตัวเก็บประจุ(Capacitor) MOMemoir : Wednesday 12 May 2564" และ "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางตัวอย่างที่ ๑๕ SonyPlayStation MO Memoir : Wednesday 16 August 2566")

๖. จากข้อ ๕. ถ้าคุณสมบัติรวมของสินค้านั้นไม่ตรงตาม EU List ก็จะพิจารณาต่อดังนี้

๖.๑ ตัวสินค้านั้นเองไม่มีชิ้นส่วนประกอบย่อยใด ๆ ที่เป็นสินค้า DUI แต่ถ้ามีการดัดแปลง, เปลี่ยนแปลง, ประกอบรวมหลายขิ้นเข้าด้วยกัน และ/หรือติดตั้งอุปกรณ์เสริม ก็จะทำให้มันเป็นสินค้า DUI ได้หรือไม่

๖.๒ ถ้าตัวสินค้านั้นมีสินค้า DUI เป็นองค์ประกอบ ก็จะต้องไปพิจารณารายละเอียดตาม General Note to Annex I ข้อ 2. ก่อน (รูปที่ ๑) ก่อนจะตัดสินสุดท้ายว่า ตัดสินว่าสินค้าทั้งตัวนั้นควรจัดเป็นหรือหรือไม่เป็นสินค้า DUI

รูปที่ ๑ รายละเอียด General Note to Annex I ข้อ 2.

๗. มีสินค้าบางตัว ที่ถ้าตีความโดยอิงจาก "ตัวอักษร" เป็นหลักแล้ว จะถูกจัดว่าเป็นสินค้า DUI ได้ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงในทางเทคนิคนั้น มันไม่ใช่ เพราะใช้แทนกันไม่ได้ (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "สินค้าที่ใช้ได้สองทาง(Dual-Use Items :DUI) ตอนที่ ๖ MOMemoir : Wednesday 4 September 2562" และ "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางตัวอย่างที่ ๒ เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน(Heat Exchanger) MOMemoir : Friday 14 May 2564")

๘. มีตัวอย่างเหมือนกัน ที่ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้า DUI แต่ตรวจสอบประวัติผู้รับแล้วไม่พบความผิดปรกติใด ๆ แต่สิ่งนั้นอาจเป็นความผิดปรกติได้ ถ้าพบว่าทำไมผู้รับจึงต้องการสินค้า DUI นั้น ทั้ง ๆ ที่ปรกติแล้วสามารถใช้สินค้าที่ไม่ใช่ DUI ที่มีราคาถูกกว่าได้ (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "การเลือกวัสดุสำหรับ Cl2 และ HCl MO Memoir : Sunday 27 October 2562" และ "การเลือกวัสดุสำหรับ F2 และ HF MO Memoir : Wednesday 30 October 2562")

๙. EU List บางหมวดมีการเพิ่มเติม เช่นสารเคมีในหมวด 1C350 ที่บัญชี ๑ แนบท้ายกฎหมายไทยมีเพียง ๖๕ รายการตาม EU List ปีค.ศ. ๒๐๑๙ แต่ฉบับตั้งแต่ปีค.ศ. ๒๐๒๐ ถึง ๒๐๒๓ สารเคมีในหมวดนี้มี ๘๙ รายการ

๑๐. DUI บางรายการมีการปรับ spec. ให้สูงขึ้น ดังนั้นสินค้าที่เป็น DUI ตาม EU List เก่าจะไม่เป็น DUI ตาม EU List ใหม่ เช่น digital computer ในหมวด 4A003.b ที่ EU List ปีค.ศ. ๒๐๑๙ กำหนดความสามารถขั้นต่ำไว้ที่ 29 Weighted TeraFLOPS แต่ EU List ปีค.ศ. ๒๐๒๓ กำหนดความสามารถขั้นต่ำไว้ที่ 70 Weight TeraFLOPS ซึ่งสูงกว่าเดิมกว่า ๒ เท่า


๑๑. ในหลายประเทศมีบัญชี CATCH-ALL CONTROL (CAC) ของตัวเอง (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกับคนอื่น) ดังนั้นสินค้าที่ไม่ปรากฏใน EU List ก็มีสิทธิ์เป็นสินค้า DUI ได้ถ้ามันไปปรากฏในบัญชี CATCH-ALL CONTROL ของเขา (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "สินค้าที่ไม่ใช่ DUI ที่เป็นสินค้า DUI - ไตรบิวทิลฟอสเฟต (Tributyl phosphate) MO Memoir : Wedneday 26 February 2568" และ "สินค้าที่ไม่ใช่ DUI ที่เป็นสินค้า DUI - Karl Fischer moisture equipment MO Memoir : Tuesday 4 March 2568")

๑๒. ในทางเทคนิคนั้น สินค้าใดเป็น DUI หรือไม่ จะดูกันที่ EU List แต่การนำเข้าและส่งออกนั้นใช้ HS Code จึงมีการเทียบว่าสินค้าที่เป็น EU List นั้นมีโอกาสที่จะไปโผล่ใน HS Code ตัวไหนได้บ้าง (ที่ออกมาเป็นตาราง Excel EU Correlation Table) แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าในหมวด HS Code นั้นจะเป็น DUI คือไม่ควรตีความว่าสินค้าในหมวด HS Code ที่มีการเทียบเคียงกับ EU List นั้นเป็นสินค้า DUI ทั้งหมด

๑๓. จากข้อ ๑๒. มีกรณีที่เห็นเป็นข่าวเมื่อไม่นานนี้คือเรื่องเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นสินค้า DUI นั้นมีเพียงรายการเดียวในหมวด 8A002.j.2 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซลออกแบบมาเฉพาะสำหรับเรือดำน้ำ (เครื่องยนต์รถถังไม่เป็นสินค้า DUI ส่วนจะถูกคุมโดยกฎหมายยุทธภัณฑ์หรือเปล่านั้นตรงนี้ผมไม่ทราบ) แต่ถ้าไปดู EU Correlation Table จะพบว่ามันเทียบกับ HS Code เกือบ ๓๐ รายการ (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางตัวอย่างที่ ๒๓ เครื่องยนต์ดีเซลMO Memoir : Sunday10 November 2567")

๑๔. อุปกรณ์บางชนิดก็อาจมีปัญหาในการตีความ ในกรณีที่คุณสมบัตินั้นก้ำกึ่ง อย่างเช่นตัวเก็บประจุในหมวด 3A001.a ที่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศบางบริษัทก็ตั้งคำถามว่า จะให้วัดค่า inductance ตรงตำแหน่งไหนของขา เพราะถ้าวัดที่ปลายขา กับวัดที่โคน (ส่วนที่ติดอยู่กับตัวเก็บประจุ) ค่าที่วัดได้จะไม่เท่ากัน (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๒ เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Defibrillator) MO Memoir : Tuesday 10 September 2567" และมีรายละเอียดเพิ่มเติมในรูปที่ ๒ และ ๓)

รูปที่ ๒ คุณสมบัติของตัวเก็บประจุที่เป็นสินค้า DUI ในข้อ 3A201 ตัวที่อาจมีปัญหาในการตีความคือค่า inductance ว่าจะให้วัดตรงตำแหน่งของขา (หรือสายไฟ) ของตัวเก็บประจุ เพราะการวัดที่ปลายขา (หรือปลายสายไฟด้านที่จะเอาไปต่อกับอุปกรณ์อื่น) และการวัดด้านโคนขา (หรือสายไฟด้านที่ต่อเข้ากับตัวเก็บประจุ) มันให้ผลต่างกัน และค่านี้จะมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับความยาวของขา (หรือสายไฟ) ด้วย ตารางข้างขวาเป็นค่าการเหนี่ยวนำของลวดทองแดง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมีหน่วยเป็นนิ้ว และค่า Inductance มีหน่วยเป็น nH (ข้อมูลในตารางมาจาก https://coppermountaintech.com/what-is-the-inductance-of-a-straight-wire-in-free-space/)

รูปที่ ๓ ตัวเก็บประจุสองตัวในรูปนี้มีความจุเท่ากัน ยี่ห้อเดียวกัน แต่รูปแบบขาต่อไม่เหมือนกัน

๑๕. ในส่วนของซอร์ฟแวร์นั้น EU List ควบคุม "การส่งออก" ซอร์ฟแวร์ แต่ก็มีคำถามเรื่อง "การเข้าใช้" คือไม่ได้มีการส่งออกซอร์ฟแวร์ แต่เปิดโอกาสให้เข้าใช้ซอร์ฟแวร์ (โดยคิดค่าบริการ) เช่นหน่วยงานมีซอร์ฟแวร์ที่เป็นสินค้าควบคุมทำงานอยู่บนคอมพิวเตอร์ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ซอร์ฟแวร์ดังกล่าวทำงาน ที่อาจเป็นการเข้าใช้บริการผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศได้ ประเด็นตรงนี้จะตีความอย่างไร

ที่เขียนมาก็เป็นมุมมองส่วนหนึ่งในการพิจารณาว่าสินค้าใดควรเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่ โดยเป็นมุมมองจากการพิจารณาด้านเทคนิค

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2568

ความลับแตกเพราะทัวร์ผู้นำ (Pressure transducer) MO Memoir : Monday 10 March 2568

ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ (ค.ศ. ๒๐๐๘) Mahmoud Ahmadinejad ที่เป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่านในขณะนั้น ได้ประกาศว่าประเทศอิหร่านได้เพิ่มการติดตั้ง gas centrifuge เพิ่มอีก 6,000 ตัวที่ Natanz uranium enrichment complex ซึ่งเป็นโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียม และในระหว่างการเยี่ยมชม ผู้นำสูงสุดก็ได้เข้าเยี่ยมชม centrifuge รุ่น P1 ที่ขณะนั้นมีใช้งานอยู่ประมาณ 3,000 ตัว ภาพการเข้าเยี่ยมชมครั้งดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปยังสื่อต่าง ๆ ทั่วโลก และสื่อชาติตะวันตกก็ได้ตีพิมพ์ภาพดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง

และภาพการเยี่ยมชมโรงงานที่มีการเผยแพร่ออกมา ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมา

รูปที่ ๑ ภาพการเยี่ยมชมโรงงานเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมของผู้นำสูงสุดของอิหร่านในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ (ภาพจาก https://www.theguardian.com/world/2009/nov/29/iran-10-new-nuclear-plants)

หมายเหตุ : gas centrifuge ในที่นี้เป็นอุปกรณ์ใช้แยกไอโซโทปยูเรเนียม U-235 และ U-238 ออกจากกันโดยใช้ความแตกต่างระหว่างมวล กระบวนการเริ่มด้วยการเปลี่ยนยูเรเนียมให้อยู่ในรูปสารประกอบ UF6 (Uranium hexafluoride)ที่เป็นแก๊สได้ง่ายก่อน เนื่องจากมวลของ UF6 ของ U-235 กับ UF6 ของ U-238 แตกต่างกันน้อยมาก (ไม่ถึง 1%) จึงต้องทำการเหวี่ยงแยกซ้ำต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อให้ได้ U-235 จากความเข้มข้นในธรรมชาติที่อยู่ที่ประมาณ 0.7% ให้มีเข้มข้นสูงมากพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์สำหรับเตาปฏิกรณ์ได้ (ในช่วง 3-5%) แต่ถ้าจะเอาไปทำอาวุธ การทำให้ได้ความเข้มข้นสูงมากขึ้นไปอีกจะทำให้ขนาดของเชื้อเพลิงเล็กลง อาวุธที่ได้จะมีขนาดเล็กลงและน้ำหนักน้อยลงตามไปด้วย ทำให้ง่ายต่อการนำส่ง (อยู่ที่ประมาณ 85% ขึ้นไป)

รูปที่ ๒ อีกภาพหนึ่งของการเยี่ยมชมโรงงานเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมของผู้นำสูงสุดของอิหร่านในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ตัวที่ก่อเรื่องคือตัวที่อยู่ในวงกลมแดงในภาพ อุปกรณ์ตัวนี้ก็ปรากฏในรูปที่ ๑ ด้วย (ภาพจาก https://nonproliferation.org/25-outlawing-state-sponsored-nuclear-procurement-programs-recovery-of-misappopriated-nuclear-goods/)

UF6 ระเหิด (sublimate) กลายเป็นไอที่อุณหภูมิประมาณ 56ºC และถ้าความดันต่ำลงก็จะระเหิดกลายเป็นไอได้ที่อุณหภูมิที่ต่ำลง ดังนั้นเพื่อให้แก๊ส UF6 ไหลไปตาม gas centrifuge ที่ต่ออนุกรมกันอยู่ได้ ก็จะใช้ปั๊มสุญญากาศทำให้ความดันปลายทางต่ำกว่าทางต้นทาง และเพื่อให้ตรวจสอบสภาพการทำงานว่าปรกติหรือไม่ จึงต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความดันไว้ที่ตัว gas centrifuge และด้วยการที่แก๊ส UF6 มีฤทธิ์กัดกร่อนที่สูง วัสดุที่ใช้ทำตัวอุปกรณ์วัดความดันจึงต้องทนการกัดกร่อนของแก๊ส UF6 ได้ด้วย

รูปที่ ๓ คุณสมบัติอุปกรณ์วัดความดันที่เป็นสินค้าควบคุมในหัวข้อ 2B230

ตัวแปรสัญญาณหรือทรานสดิวเซอร์ (Transducer) เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่แปลงรูปพลังงานในรูปแบบหนึ่งให้กลายเป็นเป็นพลังงานในอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น pressure transducer ก็จะทำหน้าที่แปลงพลังงานในรูปความดันให้กลายเป็นพลังงานในรูปไฟฟ้า เพื่อส่งต่อไปยังระบบควบคุมอีกทีหนึ่ง อุปกรณ์ตัวนี้ที่มีคุณลักษณะตามหัวข้อ 2B230 ของ EU List (รูปที่ ๓) จัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง

หลังจากภาพข่าวการเยี่ยมชมโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีการพบเห็นว่า pressure transducer (ที่ทำหน้าที่แปลงสัญญาณความดันเป็นสัญญาณไฟฟ้า) ที่ปรากฏในรูปนั้นเหมือนกับอุปกรณ์ที่ผลิตโดยบริษัท MKS Instruments ประเทศสหรัฐอเมริกา และอุปกรณ์ตัวนี้ก็เป็นสินค้าควบคุมในหัวข้อ 2B230 ด้วย จึงได้มีการสอบสวนและพบว่ามีการลักลอบส่งอุปกรณ์ดังกล่าวไปให้กับทางอิหร่านจริง โดยผ่านทางบริษัทตัวแทนที่อยู่ในประเทศจีน(รายละเอียดในรูปที่ ๔) จึงได้มีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องและส่งฟ้องศาลให้ลงโทษ (บัญชีสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ของไทยอิงจากรายชื่อที่จัดทำโดยสหภาพยุโรปที่เรียกว่า EU List ส่วนทางสหรัฐอเมริกาแม้ว่าจะเรียกว่า Export Control Classification Number ที่ย่อว่า ECCN ทั้งสองบัญชีภายใต้หัวข้อเดียวกัน รายละเอียดต่าง ๆ ก็จะเหมือนกัน)

รูปที่ ๔ รายละเอียดการตรวจพบและการจับกุม (จากเอกสาร "Don't let this Happened to you : Actual investigations of export control and antiboycott violations" July, 2024 จัดทำโดย U.S. Department of Commerce, Bureau of Industry and Security, Export Enforcement

ความลับแตกครั้งนี้ไม่รู้ว่าทางอิหร่านมีการลงโทษใครหรือเปล่า แต่อย่างน้อยมันก็ให้บทเรียนว่าอะไรที่ต้องการดำเนินการในรูปแบบที่เป็นความลับ ก็ต้องระมัดระวังในการให้คนเข้าเยี่ยมชมและประชาสัมพันธ์

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2568

สินค้าที่ไม่ใช่ DUI ที่เป็นสินค้า DUI - Karl Fischer moisture equipment MO Memoir : Tuesday 4 March 2568

เทคนิคที่นิยมกันในปัจจุบันในการวัดปริมาณน้ำในตัวอย่างได้แก่เทคนิคที่มีชื่อว่า "Karl Fischer" เดิมทีเทคนิคนี้อาศัยการไทเทรตและดูสีของไอโอดีนที่เกิด ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาอุปกรณ์ coulometric titration ที่ใช้การวัดปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ตัวตรวจวัด ทำให้ความว่องไวของเทคนิค Karl Fischer นี้สูงถึงระดับ ppm ได้ การวัดปริมาณน้ำนี้มีความสำคัญในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยา อาหาร สารเคมี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม พลาสติก เป็นต้น

ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงสารไตรบิวทิลฟอสเฟต (Tributyl phosphate) ว่าแม้ว่ามันจะไม่ใช่สินค้าที่อยู่ในรายการสินค้างที่ใช้ได้สองทาง แต่มันก็ไปปรากฏอยู่ในรายชื่อ catach-all control ของหลายประเทศโดยปรากฏเป็นรายการแรกในเอกสาร "Security Export Guidance [Introduction], 2nd edition January 2025" ที่จัดทำโดย Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ประเทศญี่ปุ่น โดยบอกว่าเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ (เพราะสามารถใช้ในการสกัดยูเรเนียมและพลูโตเนียมออกจากสารละลาย ทีนี้พอไล่รายการดูก็พบว่าอุปกรณ์วัดความชื้น Karl Fischer moisture equipment ก็ปรากฏอยู่ในรายชื่อ catch-all control ด้วย โดยอยู่ในรายการที่ 24. โดยบอกว่ามันเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับอาวุธปล่อยหรือที่เรามักเรียกทับศัพท์กันว่า "มิสไซล์ - Missile" ??? (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ อุปกรณ์วัดความชื้น Karl Fischer moisture equipment ปรากฏอยูในรายการสินค้า catch-all control รายการที่ 24. ของประเทศญี่ปุ่น

แต่ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักเทคนิคนี้กันก่อนดีกว่า ปฏิกิริยานี้นำเสนอโดย Karl Fischer ในปีค.ศ. ๑๙๓๕ (พ.ศ. ๒๔๗๘) โดยปฏิกิริยาที่เกิดคือ

      H2O + SO2 + I2 -----> SO3 + 2HI

การไทเทรตจะทำโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายและมีเบสอินทรีย์ละลายอยู่ (เพื่อทำการสะเทิน SO3 และ HI ที่เกิดขึ้น) วิธีการดั้งเดิมนั้นใช้การดูสีของไอโอดีนที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำหมดไป ความว่องไวในการตรวจวัดในช่วงแรกนี้อยู่ที่ระดับมิลลิกรัม (mg)

ในทางทฤษฎีนั้นสารตัวอย่างที่มีน้ำละลายอยู่จะมีค่าการนำไฟฟ้าที่สูง แต่ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นทำให้ค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายลดลง (HI ที่เกิดขึ้นละลายได้ไม่มีในแอลกอฮอล์ และยังมีเบสกำจัดกรดที่เกิดขึ้นอีก) ดังนั้นถ้าทำการวัดการนำไฟฟ้าก็ควรที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนตรงบริเวณจุดยุติของการไทเทรตได้ ในปีค.ศ. ๑๙๕๙ (พ.ศ. ๒๕๐๒) การตรวจวัดจุยุติที่ใช้การวัดการเปลี่ยนแปลงกระแสไฟฟ้าที่ขั้วไฟฟ้าได้รับการนำเสนอ ทำให้ความว่องไวในการตรวจวัดลงไปถึงระดับไมโครกรัมหรือ ppm (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ พัฒนาการของ Karl Fischer Trtration

ทีนี้กลับมาดูกันว่าความชื้นนั้นไปเกี่ยวข้องกับมิสไซล์ได้อย่างไร เท่าที่ค้นหาดูพบว่าจุดสำคัญหนึ่งน่าจะได้แก่ส่วนของเชื้อเพลิง โดยเฉพาะในกรณีของเชื้อเพลิงแข็งที่รูปร่างและอัตราการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในแต่ละบริเวณนั้นส่งผลต่อรูปแบบแรงผลักที่ได้ (รูปที่ ๓) และในกรณีของแก๊สเชื้อเพลิงเหลวที่ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำนั้น น้ำที่ปนเปื้อนอยู่ก็อาจก่อให้เกิดการอุดตันในระบบจ่ายเชื้อเพลิงได้

รูปที่ ๓ บทความหนึ่งที่กล่าวถึงผลของความชื้นที่มีต่อรูปแบบการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงแข็ง คำว่า motor ในที่นี้ไม่ใช่มอเตอร์ไฟฟ้าแบบที่เราคุ้นเคยกัน แต่หมายถึงเครื่องยนต์ที่อาจเป็นเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานและจรวดก็ได้

รูปที่ ๔ เป็นโฆษณาอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำโดยบอกว่าสามารถวัดได้ถึงระดับ ppm แต่ไม่ได้บอกว่าใช้เทคนิคใดในการวัด แต่ดูจากรูปอุปกรณ์แล้วน่าจะเป็นเทคนิคด้านเคมีไฟฟ้า โฆษณานี้ปรากฏในปีค.ศ. ๑๙๕๗ หรือ ๒ ปีก่อนหน้าที่บทความในรูปที่ ๒ กล่าวไว้

บทความนี้ไม่ได้เขียนเพื่ออธิบายว่าอุปกรณื Karl Fischer Titration ทำงานอย่างไรหรือความชื้นมีผลต่อการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอย่างไร แต่เขียนเพื่อบันทึกให้เห็นภาพว่าอุปกรณ์ Karl Fischer moisture equipment นั้นมันดันเข้าไปเกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูงอย่างไร ทำให้มันไปปรากฏในรายชื่อ catch-all control

รูปที่ ๔ โฆษณาอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำในตัวอย่างในวารสาร Analytical Chemistry ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๐) โดยบอกว่าสามารถวัดได้ต่ำในระดับ ppm (โฆษณานี้ไม่ได้บอกว่าใช้เทคนิคใดในการวัดปริมาณ) ในกรอบสีแดงคือตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานที่บอกว่าใช้วัดความชื้นในแก๊สที่ใช้กับจรวด (rocket) และอาวุธปล่อย (missile) (ช่วงเวลานั้นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้กับจรวดและอาวุธปล่อยต่าง ๆ ยังเป็นเชื้อเพลิงเหลวหรือแก๊สที่ถูกทำให้เป็นของเหลว ยังไม่มีการใช้เชื้อเพลิงแข็งอย่างแพร่หลาย