วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเลือกอาจารย์ที่ปรึกษา MO Memoir : Sunday 4 July 2553

จะยอมมันหรือจะไม่จบ (จากผู้ที่จบไปแล้วเล่าให้อาจารย์ภาควิชาอื่นฟังถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของอาจารย์ที่ปรึกษาของตัวเองสมัยเรียน เหตุเกิดระหว่างนิสิตชายกับอาจารย์ชาย)

ถ้าคุณยอมเขาเรื่องมันก็คงจะจบไปแล้ว แต่เอ๊ะ .. คุณเป็นผู้หญิงนี่ (รุ่นพี่ในบริษัทคุยกับน้องใหม่ที่สอบวิทยานิพนธ์ผ่านแล้ว แต่ถูกแกล้งดึงเรื่องขอจบการศึกษาให้จบช้า บังเอิญรุ่นพี่ที่บริษัทคนนั้นรู้จักเบื้องหลังอาจารย์คนนั้นดี พอกล่าวเสร็จทั้งคู่ก็นั่งหัวเราะกัน เหตุเกิดระหว่างนิสิตหญิงกับอาจารย์ชาย)

หนูเข้าใจแล้วล่ะ ว่าทำไปเขาถึงรับคนคนนั้น ผีย่อมเห็นผีด้วยกัน (มีคนสงสัยว่าทำไมถึงรับเพื่อนเขาคนนั้นเข้าเรียน)

แลปนี้รับผู้หญิงด้วยหรือ (นิสิตป.ตรีกล่าวตอนเห็นประกาศรายชื่อรับผู้เข้าเรียนป.โท)

จบแล้วก็พอกันที รองรับมาทุกอารมณ์แล้ว (จากผู้ที่จบการศึกษาแล้วพูดถึงอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์)

หาตัวที่บริษัทยังง่ายกว่าหาตัวที่มหาวิทยาลัยอีก (จากนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่)

นี่เธอ ไปเขียนใบลาออกให้มัน และนำไปยื่นเลย (อาจารย์สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปเขียนใบลาออกแทนนิสิต)

ไปเอาลายเซ็นพ่อมึงมา (เหตุเกิดหลังวันพ่อ เนื่องจากนิสิตไม่มาทำแลปในวันพ่อโดยให้เหตุผลว่าต้องไปอยู่กับคุณพ่อ อาจารย์ที่ปรึกษาก็เลยบอกให้ไปเอาหลักฐานมา)

ถ้าผมจบตั้งแต่ paper แรก ผมคงได้ออกไปทำงานหาเงินรักษาแม่ผม แม่ผมคงไม่ป่วยหนักขนาดนี้ (เกณฑ์การจบเขาต้องการแค่ paper เดียว แต่สำหรับอาจารย์คนนี้ต้องการ 3 paper ไม่เช่นนั้นไม่ยอมให้สอบจบ และในช่วงที่ทำ paper ที่สามนั้น แม่ของนิสิตป่วยหนักต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาล)

นี่แกไม่รู้หรือไงว่า แกยังมีลูกเมียอีก (นิสิตพูดถึงอาจารย์ที่ปรึกษาของตัวเองที่บ้าการทำงานหลังจากที่พ่อและแม่ของอาจารย์คนนั้นเสียชีวิต)

ถ้าหนูเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษามาอยู่กับอาจารย์ไม่ได้ หนูก็จะไปลาออกเลย (นิสิตมาปรับทุกข์เรื่องอาจารย์ที่ปรึกษา)

ตอนชวนผมมาเรียนก็บอกว่าจะได้อย่างโน้น จะได้อย่างนี้ พอมาเรียนแล้วก็ไม่เห็นจะได้ดังที่บอกเลย แล้วยังจะให้ผมไปชวนรุ่นน้องมาเรียนด้วยอีกหรือ (นิสิตพูดถึงอาจารย์ที่ปรึกษาของตัวเอง)

บริษัทก็ให้เขามาประชุมที่นี่บ่อย แต่ไม่แวะเข้ามาแถวนี้หรอก เพราะไม่อยากเจอหน้าอาจารย์ที่ปรึกษาเขาอีก (กล่าวถึงนิสิตที่จบไปแล้ว แต่ก็ยังมาประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยบ่อย)

ขอเชิญมาเป็นกรรมการสอบหน่อยนะ โดยกรรมการชุดนี้ไม่มีอาจารย์ ... อยู่ด้วย (บทสนทนาระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่ไปเชิญอาจารย์ที่อื่นที่จบจากภาควิชามาเป็นกรรมการสอบ ซึ่งเขายินดีจะมาแต่ก็มีข้อแม้ว่าต้องไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สมัยเขาเรียนนั้นมาเป็นกรรมการสอบด้วย)

มันก็จริงอยู่นะที่ว่าที่นี่ทำ paper ได้เยอะ แต่ lab boy lab girl ก็เยอะด้วยใช่ไหม (อาจารย์คุยกับอาจารย์)

ใส่ ๆ เข้าไปเถอะ ผลการทดลองนั่น อาจารย์เขาไม่ขอดูข้อมูลดิบหรอก ยกเว้นแต่อาจารย์ .... (นิสิตรุ่นพี่บอกนิสิตรุ่นน้องที่มีปัญหาเรื่องผลการทดลอง ทำนองว่าถ้าผลการทดลองออกมาดูดีอาจารย์เขาก็ไม่สนใจว่ามันจะได้มาอย่างไร (กล่าวคือมึการทำการทดลองหรือไม่))

ฯลฯ


ประโยคต่าง ๆ ข้างบนมีทั้งได้ยินมาด้วยตนเอง และการเล่าผ่านปากของ อาจารย์ นิสิต และบุคคลภายนอกที่ไปอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว หรือได้พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว

ตอนที่ผมไปเรียนต่างประเทศได้ปีที่ ๒ นั้น ก็มีรุ่นน้องตามไปเรียนที่สถาบันเดียวกัน ผมก็ได้เตือนรุ่นน้องบางคนเอาไว้ก่อนว่า "อย่าคิดว่าอาจารย์ที่นี่ชอบถามกวนตีน ๆ นี้ (ขออภัยที่ใช้ศัพท์แบบนี้ เพราะตอนนั้นก็พูดแบบนี้จริง ๆ เพราะต้องการสื่อสิ่งที่บอกให้เห็นภาพ) เพราะที่นี้เขาเรียนกับแบบใช้วิธีการตั้งคำถาม ถามไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะจนมุม ซึ่งแสดงว่าเราเตรียมตัวมาไม่ดีพอ มองปัญหายังไม่รอบคอบ เปิดโอกาสให้มีข้อโต้แย้งได้ ถ้าเราสามารถโต้กลับข้อโต้แย้งของเขาได้ทุกข้อ เราก็พร้อมที่จะสอบวิทยานิพนธ์ได้"

ที่ที่ผมไปเรียนนั้น เราจะเข้าไปเรียนก่อน จากนั้นจึงค่อยหาอาจารย์ที่ปรึกษาทำวิทยานิพนธ์ด้วย คำเตือนหนึ่งที่ได้จากสมัยเรียนที่โน่นก่อนเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาคือ "ถ้าอยากรู้ว่าอาจารย์คนไหนเป็นอย่างไร ให้ไปคุยกับนักเรียนของเขา จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าเขามีนิสัยการทำงานอย่างไร" และถ้าจะให้ดีแล้ว ควรหาโอกาสคุยกับนักเรียนของอาจารย์คนนั้นหลาย ๆ คนด้วย เพื่อที่จะได้ภาพมุมมองต่าง ๆ

ถึงแม้กระนั้นก็ตาม ข้อมูลที่ได้มานั้นควรต้องนำมาพิจารณาให้ดี ๆ การที่นักเรียนคนหนึ่งชมอาจารย์ที่ปรึกษาตนเองว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ อาจเป็นเพราะว่ารูปแบบการทำงานของเขากับของอาจารย์ที่ปรึกษานั้นเข้ากันได้ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณกับคนที่คุณจะให้เขาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาจะทำงานเข้ากันได้ดี การที่นักเรียนคนนั้นเขามีปัญหากับอาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ที่ปรึกษาคนนั้นเขามีปัญหากับนักเรียนของเขาทุกคน

คำพูดที่ไม่ชมและไม่ด่า (ประเภท "ก็แล้วแต่") ก็ไม่ได้หมายความว่าเขารู้สึกเฉย ๆ เป็นเรื่องปรกติที่นักเรียนคนหนึ่งจะไม่ด่าอาจารย์ที่ปรึกษาตนเองให้กับคนที่ไม่สนิทหรือไม่รู้จักฟัง (คงเป็นเพราะกลัวว่าเรื่องจะรู้ไปถึงหูอาจารย์ที่ปรึกษา)


แม้แต่นิสิตป.ตรีที่ผมสอนมาเอง พอตอนเขาจะเรียนต่อป.โทผมก็บอกกับเขาตรง ๆ ว่า ถ้าพูดในแง่ความไว้วางใจได้ ผมไว้วางใจพวกคุณ และพวกคุณเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่จะรับ เพราะรู้จักกันมา ๓ ปี แต่การสอนในระดับป.ตรีนั้นแตกต่างไปจากการสอนในระดับป.โท-เอก ทางที่ดีควรจะไปคุยกับนิสิตที่ผมดูแลเขาอยู่ว่ารูปแบบการสอนของผมเป็นอย่างไร ถ้ารับได้ก็ยินดีรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ถ้ารับไม่ได้ต้องการไปหาอาจารย์คนใหม่ก็ไม่ว่าอะไร บางครั้งผมเองยังคิดว่าเราเก็บภาพความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกันมา ๓ ปีนั้นให้มันยาวนานต่อไปดีกว่าที่จะมาอยู่ร่วมกันอีก ๒ ปีแล้วไม่มองหน้ากันหรือทำเป็นไม่รู้จักกันในตลอดชีวิตที่เหลือ (มันมีตัวอย่างให้เห็น)


อาจารย์ที่ควบคุมวิทยานิพนธ์นั้นก็มีหลายประเภท

บางประเภทก็คิดเองแทนนิสิตหมด นิสิตมีหน้าที่ทำตามความคิดของเขาเท่านั้น (เป็นเพียงผู้ใช้แรงงานในการทำการทดลอง) กลัวเสียเวลาว่าจะทำ paper ไม่ทันเวลา เพราะถ้าให้นิสิตไปคิดเอง นิสิตจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้กว่าจะคิดเองได้เป็น ซึ่งเป็นการเหนื่อยทั้งนิสิตและอาจารย์ อาจารย์แบบนี้เหมาะกับนิสิตที่ไม่ชอบคิด ชอบทำตามที่อาจารย์บอกทุกอย่าง ขออย่างเดียวให้เรียนจบได้ใบปริญญาก็แล้วกัน ส่วนความรู้เอาไว้ทีหลัง การทำงานด้วยกันเป็นแบบการยื่นหมูยื่นแมว ฝ่ายหนึ่งยื่นผลการทดลองให้ อีกฝ่ายก็ยื่นใบปริญญาให้ จะว่าไปแล้วนิสิตประเภทนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อย (เผลอ ๆ อาจเป็นส่วนใหญ่ด้วย)

บางประเภทก็ให้นิสิตไปคิดเองทั้งหมด แม้กระทั่งไปหาทนทางเอง ประเภทอาจารย์บอกว่าผมไม่ถนัดเรื่องนี้ ให้คุณไปถามคนอื่นเถอะ (แล้วดันมารับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในหัวข้อดังกล่าวทำไป) รออย่างเดียวคือผลงานของนิสิตเพื่อนำไปเขียน paper

บางประเภทก็เป็นประเภทช่วยตีกรอบการทำงานให้นิสิต กล่าวคือปล่อยให้นิสิตได้คิดทำอะไรด้วยตนเอง แต่อาจช่วยเริ่มต้นให้ และคอยดูว่าแนวความคิดของนิสิตจะกระจัดกระจายมากเกินไปไหม นิสิตที่เหมาะกับอาจารย์ประเภทนี้ต้องเป็นพวกที่อยากฝึกฝนการเรียนรู้ด้วยตนเอง จะว่าไปแล้วนิสิตประเภทนี้หาได้ยากที่สุด

อาจารย์บางรายก็สามารถปรับเปลี่ยนการสอนไปตามคุณสมบัติของนิสิตที่ตัวเองรับเข้ามา ก็เรียกว่ามีความยืดหยุ่นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านิสิตต้องให้อาจารย์ปรับตัวเข้าหาเพียงฝ่ายเดียว นิสิตก็ควรมีมีการปรับตัวเข้าหาอาจารย์ด้วย

อาจารย์บางรายให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนมากกว่าผลงานวิชาการที่จะได้

อาจารย์บางรายก็ให้ความสำคัญกับผลงานวิชาการที่จะได้มากกว่าการพัฒนาผู้เรียน

อาจารย์บางรายให้นิสิตสอบโครงร่าง (เพื่อที่จะให้นิสิตขอทุน) โดยที่นิสิตเองยังไม่รู้เลยว่าหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่จะทำนั้นทำไปทำไป ทำไปเพื่ออะไร รู้แต่ว่าอาจารย์บอกให้พูดตามที่บอก

อาจารย์บางคนคุยเป็นอยู่เรื่องเดียวคือทำ paper ไม่ว่าจะเป็นในงานเลี้ยงต่าง ๆ ก็คุยแต่เรื่องนี้

แต่อาจารย์บางรายก็ต้องให้นิสิตเข้าใจที่มาที่ไปของงานอย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงจะยอมให้นิสิตสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้

บางรายก็ให้นิสิตสอบจบทันทีที่ครบกำหนด ๒ ปี (ทั้ง ๆ ที่นิสิตยังไม่เข้าใจในเนื้องานดี) เพราะต้องการนำไปโฆษณาว่าสามารถทำให้นิสิตจบตามกำหนดได้ โดยไม่สนว่านิสิตมีความรู้อะไร

บางรายพอนิสิตสอบวิทยานิพนธ์เสร็จแล้วก็ยังไม่ให้ผลสอบนิสิตเป็นผ่าน โดยให้เหตุผลว่าเห็นว่ายังสอบวิชาอื่นไม่ผ่าน ไหน ๆ ยังต้องเรียนต่ออีกเทอม ก็เลยขอยึดผลการสอบไว้ก่อนไม่ส่งต่อ เพื่อบังคับให้นิสิตมาทำวิจัยต่อ (ทำอะไรแปลก ๆ ตรงที่ไปเอาผลสอบวิชาอื่นมาเป็นตัวกำหนดว่าอีกวิชาควรจะสอบผ่านหรือไม่)


มีคนเคยมาถามผมว่าการเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาทำได้ไหม ผมก็ตอบว่าทำได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

ผมเองก็เคยมีนิสิตตัวเองเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยเหตุผลต่าง ๆ

บางครั้งนิสิตไม่สามารถทำงานกับอาจารย์ได้ (อาจมีปัญหาเรื่องหัวข้อที่สนใจ) ก็ขอเปลี่ยนโดยบอกกันตรง ๆ ถ้าอาจารย์คนเดิมกับกับอาจารย์คนใหม่สามารถคุยกันได้ ก็จะไม่มีปัญหาใด

บางครั้งนิสิตรู้ว่าขืนอยู่กับอาจารย์คนเดิมก็พ้นสภาพนิสิตแน่ (เช่นไม่ยอมทำงาน กะว่าพอใกล้หมดเขตสอบโครงร่างแล้ว ยังไงอาจารย์ก็ต้องให้สอบผ่านอยู่ดี แต่พอเจออาจารย์เอาจริงไม่ให้สอบ ก็วิ่งหาอาจารย์กันใหม่)

บางครั้งนิสิตคิดจะเปลี่ยนอาจารย์เพราะเห็นว่าอาจารย์อีกคนหนึ่งนั้นให้ทุนที่มีเงินมากกว่าอาจารย์คนเดิม ก็เลยคิดจะทิ้งอาจารย์คนเดิมไปหาอาจารย์คนใหม่ (เรื่องนี้ถ้าอาจารย์คนใหม่รับนิสิตคนนี้เข้าไป ก็จะเป็นการผิดจรรยาบรรณในการทำงาน)


คนที่เข้ามาเรียนแล้วก็เลือกอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่ได้ยาก

แต่คนที่ยังไม่เข้ามาเรียนก็ยังมีโอกาสเลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องหาข้อมูลและพิจารณาข้อมูลที่ได้รับให้ดี อย่าตีความตรงตามคำพูดทุกตัวอักษร


ครั้งหนึ่งผมเองได้มีโอกาสพบกับนิสิตของตัวเองที่ได้มีโอกาสไปทำวิจัยที่ต่างประเทศ ตอนที่พบกับเขาเขาก็บอกกับผมตรง ๆ ว่า "อยู่กับอาจารย์ไม่เห็นสอนอะไรเลย แต่ก็ดีเหมือนกัน เพราะที่นี่เขาก็ไม่สอนอะไรเลย เขาให้คิดเองว่าอยากทำอะไร และก็ไปพูดคุยกันว่ามันควรทำหรือเปล่า"

ไม่รู้เหมือนกันว่ากำลังถูกด่าหรือได้รับคำชมอยู่


เรื่องที่ควรอ่านเพิ่มเติม

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๒ MO Memoir 2551 Oct 2 Thu เท่ากับเท่าไร

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๗ MO Memoir 2552 Jun 22 Mon สัมมนา - มันคืออะไร

ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๘๖ MO Memoir 2552 Dec 10 Thu ไม่มีสัมมนา มีแต่พักกินกาแฟ

ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๕๓ MO Memoir 2553 Apr 23 Fri สอบจบแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: