วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วิธีคัดเลือกผู้สมัครเข้าเรียนต่อโท-เอก MO Memoir : Thursday 1 July 2553

เปิดภาคการศึกษาใหม่ได้เพียงยังไม่ถึงเดือน ปรากฏว่าเทศกาลประชาสัมพันธ์หลักสูตรหาผู้สมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอกก็เริ่มกันแล้ว Memoir ฉบับนี้ก็เลยขอเล่าเรื่องความเป็นมาของวิธีการคัดเลือกผู้สมัครเข้าเรียนต่อต่อโท-เอกของภาควิชาเรานั้นว่ามีที่มาอย่างไร และมีเหตุผลใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนมีรูปแบบดังปัจจุบัน


พวกคุณอาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องเล่าให้ฟังทั้ง ๆ ที่พวกคุณก็ได้เข้ามาเรียนแล้ว เหตุผลการมีอยู่หลายประการด้วยกัน อย่างแรกก็คือเป็นการบันทึกเรื่องราวประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของผมให้พวกคุณได้รับทราบ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับพวกคุณในอนาคต อย่างที่สองก็คือเป็นการแก้ไขข่าวลือต่าง ๆ ที่มีผู้ปล่อยออกมาเป็นระยะ ทั้งจากในภาควิชาเองและจากนอกภาควิชา และอย่างที่สามก็คือเพื่อให้ผู้ที่สนใจจะเข้ามาเรียนต่อที่นี้ ได้ทราบวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อ (ถ้าบังเอิญเขาแวะมาอ่านบทความนี้ใน blog ของกลุ่มนะ)

ภาควิชาของเรานั้นรับผู้สมัครที่จบทางสาขาวิศวกรรมเคมี (ที่เราเรียกว่านิสิตสายตรง) และผู้ที่จบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาอื่นและผู้จบทางด้านวิทยาศาสตร์ (ที่เราเรียกว่านิสิตสายอ้อม) ในยุคแรกของการรับสมัครนั้นจะใช้การสอบข้อเขียนเพื่อคัดเลือก ซึ่งจะสอบกันสองวิชาคือคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ โดยการออกข้อสอบนั้นจะใช้กรรมการกลางเป็นคนออกข้อสอบ จากนั้นจึงนำเอาผู้สอบผ่านข้อเขียนมาเข้ารับการสอบสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งโดยใช้กรรมการกลางเป็นคนสัมภาษณ์เช่นเดียวกัน จำนวนที่จะรับจะมีการกำหนดเป็นตัวเลขเอาไว้ และเมื่อได้นิสิตใหม่เข้ามาแล้ว นิสิตใหม่จะต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่จะทำวิทยานิพนธ์ด้วยภายในระยะเวลาที่กำหนด (คือ ๒ ปี) ไม่เช่นนั้นจะต้องพ้นสภาพนิสิตไป

วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ในสมัยนั้นใคร ๆ เขาก็ทำกันแบบนี้ และในปัจจุบันก็อาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ (หรือเกือบทั้งหมด) ก็ยังทำแบบนี้อยู่ แต่ในภาควิชาของเรานั้นพบว่าวิธีการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาหลายประการ

ปัญหาประการแรกคือการออกข้อสอบที่ไม่เป็นกลาง โดยเฉพาะในส่วนของวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวคือเราประกาศรับสมัครผู้จบจากหลากหลายสาขาวิชา ดังนั้นข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์จึงควรเป็นข้อสอบที่ทุกสาขาวิชาที่ประกาศรับสมัครนั้นได้เรียนมาเหมือนกัน (จะว่าไปแล้วควรเป็นระดับเพียงแค่คณิตศาสตร์ปี ๑ เท่านั้นเอง) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกรรมการผู้ออกข้อสอบนั้นจบมาทางด้านวิศวกรรมเคมี และบ่อยครั้งที่ผู้ออกข้อสอบออกข้อสอบซึ่งต้องใช้ความรู้ที่ทางวิศวกรรมเคมี (หรือวิศวบางสาขา) เท่านั้นที่ใช้ ทำให้ผู้ที่จบมาทางด้านสาขาอื่นไม่สามารถทำข้อสอบเหล่านั้นได้เพราะไม่ได้เรียนมา ตรงนี้อาจมีคนแย้งว่า "ก็ในเมื่อเราต้องการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมเคมี ทำไมจะออกข้อสอบรูปแบบเช่นนี้ไม่ได้"

ข้อโต้แย้งดังกล่าวนั้นฟังไม่ขึ้นเพราะไปขัดกับประกาศรับสมัครที่บอกว่ารับผู้จบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาอื่นและวิทยาศาสตร์ด้วย ถ้าต้องการผู้สมัครที่มีความรู้โดดเด่นทางด้านวิศวกรรมเคมีเท่านั้นก็ควรไประบุไว้ที่ประกาศรับสมัครเลยว่ารับเฉพาะผู้ที่จบทางด้านวิศวกรรมเคมีเท่านั้น การไปประกาศว่ารับทุกสาขาแต่ท้ายสุดแล้วกลับออกข้อสอบให้ผู้สมัครที่จบมาทางสาขาที่ไม่ใช่วิศวกรรมเคมีทำข้อสอบไม่ได้มันเหมือนกับไปหลอกให้เขามาสมัครเพื่อเอาเงินค่าสมัคร แล้วใช้การออกข้อสอบที่เขาทำไม่ได้เพื่อให้เขาสอบตกไป ดังนั้นจึงมีอยู่หลายครั้งที่การคัดเลือกผู้สอบผ่านข้อเขียนจึงต้องใช้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว หรือถ้าผู้สมัครเข้ามามีจำนวนไม่มากก็จะให้ผ่านการสอบข้อเขียนทุกคน
แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราก็ยกเลิกการสอบข้อเขียนด้วยเหตุผลที่จะอธิบายต่อไป

ปัญหาประการที่สองคือเกณฑ์ผ่านการสอบสัมภาษณ์ของกรรมการกลาง ซึ่งต้องยอมรับกันว่ามันไม่มีมาตรฐาน เป็นเพียงแค่ความพอใจหรือมุมมองของกรรมการแต่ละคน ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย (หรือที่เรียกว่าเอนทรานซ์นั้น) ถ้ากรรมการสอบชุดแรกให้ผู้เข้าสอบผ่านการสอบก็จะไม่มีปัญหาใด แต่ถ้าจะให้ผู้เข้าสอบนั้นไม่ผ่านการสอบสัมภาษณ์ กรรมการสอบชุดแรกจะต้องเขียนเหตุผลแสดงรายละเอียดว่าทำไมถึงไม่ให้ผ่าน และส่งต่อให้กรรมการชุดใหญ่พิจารณาและเรียกผู้เข้าสอบนั้นมาสอบใหม่อีกครั้งกับกรรมการชุดใหม่อีกชุด เพื่อตรวจสอบเหตุผลของกรรมการชุดแรกว่าเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาว่าผู้สมัครผู้นั้นผ่านการสอบสัมภาษณ์หรือไม่

การรับผู้เข้าศึกษาต่อระดับโท-เอกนั้นจะยากกว่าการรับผู้เข้าศึกษาต่อป.ตรีตรงที่ เรื่องที่จะเรียนหรือทำวิจัยในระดับโท-เอกนั้นมีความหลากหลายมาก ขึ้นกับอาจารย์แต่ละคน ดังนั้นอาจารย์แต่ละคนจึงมีความต้องการนิสิตที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน การสอบสัมภาษณ์โดยใช้กรรมการกลางจึงเป็นการสอบที่มองจากมุมมองของกรรมการกลางแต่ละคนเท่านั้น ตรงนี้จึงทำให้เกิดเรื่องขึ้นมาว่ามีการบ่นจากอาจารย์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ว่าทำไมจึงให้คนนี้สอบผ่านมาได้ ส่วนคนที่น่าจะรับเข้ามากลับสอบไม่ผ่าน

ปัญหาประการที่สามคือจำนวนนิสิตที่จะรับไม่ตรงกับความต้องการของอาจารย์ในแต่ละปีและก็บอกไม่ได้ว่าทำไปจึงประกาศรับไปเท่านั้น กล่าวคือบางปีอาจารย์อาจมีหัวข้อทำวิจัยมาก แต่จำนวนที่รับเข้ามาไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็มีการบ่นว่าทำไปรับมาน้อย บางปีอาจารย์ก็ไม่ค่อยอยากทำงานหรือไม่ก็ไม่มีหัวข้อวิจัย ก็เลยไม่ค่อยอยากรับนิสิต ทำให้นิสิตหาอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้ ก็มีคนบ่นอีกว่าทำไปรับเข้ามาเยอะ (ทั้ง ๆ ที่รับเข้ามาเท่ากับปีก่อนหน้า) ดังนั้นใครเป็นคนรับเข้ามาก็ต้องรับผิดชอบหาหัวข้อให้นิสิตเหล่านั้น เรียกว่ากรรมการสอบคัดเลือกโดนด่าทั้งขึ้นทั้งล่อง

สุดท้ายทางภาควิชาก็เลยมีมติยกเลิกการสอบข้อเขียน เหลือแต่เพียงการสอบสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว ภาควิชาทำหน้าที่เพียงแค่งานธุรการเกี่ยวกับการประกาศรับสมัคร การเตรียมการสอบ และการส่งผลสอบเท่านั้น จำนวนนิสิตที่จะรับใช้วิธีสอบถามความต้องการของอาจารย์แต่ละคน และนำตัวเลขเหล่านั้นมารวมกัน ส่วนการสอบสัมภาษณ์นั้นอาจารย์คนไหนอยากได้นิสิตแบบไหนก็ให้มาสอบสัมภาษณ์เอง จะได้ไม่ต้องบ่นเรื่องคุณภาพนิสิต ถ้าไม่มาสอบสัมภาษณ์หรือไม่ฝากให้อาจารย์คนอื่นสอบแทน แล้วไม่ได้นิสิตเข้ามาทำวิจัยด้วยก็อย่าว่ากัน พอคัดเลือกนิสิตได้แล้วก็ส่งชื่อให้กับภาควิชาเพื่อเดินเรื่องงานธุรการประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านต่อไป ส่วนอาจารย์คนนั้นก็ต้องรับนิสิตที่ตัวเองส่งรายชื่อนั้นไปทำวิจัยด้วย

เราใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาสามประการที่กล่าวมาข้างต้นอยู่หลายปี แต่ท้ายสุดก็มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีก ทำให้ต้องมีการปรับปรุงรูปแบบการคัดเลือกใหม่ ปัญหาดังกล่าวคือ "รูปแบบการสอนของอาจารย์และรูปแบบการเรียนที่นิสิตต้องการนั้นมันไม่ตรงกัน" หรือที่ผมมักเรียกว่า "ความถี่ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนไม่ตรงกัน" และปัญหาเรื่อง "ไม่ชอบหัวข้อทำวิจัย"

กล่าวคือหลังจากที่เปลี่ยนมาใช้การสอบสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว ในช่วงเช้าของวันสอบสัมภาษณ์ก็จะให้ผู้สมัครเข้ามารับทราบข้อมูลว่าแต่ละกลุ่มวิจัยหรืออาจารย์แต่ละคนนั้นทำวิจัยเรื่องอะไรอยู่ และรับนิสิตเข้าทำวิจัยกี่คน จากนั้นก็จะทำการสอบสัมภาษณ์ในช่วงบ่าย ผลที่ตามมาคือผู้สมัครนั้นไม่มีเวลาที่จะพิจารณาข้อมูลที่ได้รับหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม จำนวนไม่น้อยที่เลือกกลุ่มวิจัยโดยดูจากจำนวนที่กลุ่มนั้นรับเป็นหลัก กล่าวคือถ้ากลุ่มไหนรับมากก็จะเลือกกลุ่มนั้น (เพราะคิดว่ามีโอกาสได้สูง) แทนที่จะเลือกจากหัวข้อที่ตนเองชอบ แต่งานนี้จะไปโทษผู้สมัครก็ไม่ได้ เพราะเสียเงินค่าสมัครสอบมาแล้ว ยังไงก็ต้องหาทางเข้าเรียนให้ได้ก่อน ปัญหาที่จะเกิดตามมาค่อยแก้กันทีหลัง ขืนไปเลือกหัวข้อที่ตนเองชอบแต่มีการรับเข้าน้อยมาก โอกาสได้เรียนต่อก็จะต่ำ เหมือนกับเสียเงินค่าสมัครไปฟรี ๆ (เรื่องการหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่จะเลือกเรียนด้วยที่จัดเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ขอยกไปเป็นหัวข้อ Memoir ต่างหากที่จะออกเป็นฉบับต่อไป)

สุดท้ายเราก็เลยแก้ปัญหาด้วยการจัดการส่งอาจารย์ออกไปประชาสัมพันธ์หลักสูตรและจัดงาน "เปิดบ้าน" หรือที่นิยมเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Open House" เพื่อให้ผู้สนใจเข้าสมัครได้มีเวลาสืบหาข้อมูล ได้พบกับผู้ที่เรียนอยู่แล้วและอาจารย์ผู้สอน และมีเวลาพิจารณาตัดสินใจเลือกกลุ่มวิจัยที่จะเรียนด้วย

การจัดการประชาสัมพันธ์หลักสูตรและจัดงาน Open House นั้นเรียกว่าแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของนิสิตที่อาจารย์รับเข้าไป และรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์กับนิสิตได้เยอะเหมือนกัน (แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่นะ คอยอ่านต่อในเรื่องการหาอาจารย์ที่ปรึกษาก็แล้วกัน) แต่ต่อมาก็มีผู้ที่ไม่พอใจกับรูปแบบดังกล่าว เพราะมันไปทำให้ "เกรดเฉลี่ย" ของนิสิตที่รับเข้ามาทั้งหมดนั้นมันดูไม่ดี

กล่าวคือในช่วงแรก ๆ นั้นเรารับผู้ที่จบปริญญาตรีด้วยเกรดเฉลี่ย ๒.๐๐ ขึ้นไป (ก็ทุกคนที่จบนั่นแหละ) อาจารย์บางคนก็ดูเกรดเพียงอย่างเดียว (คือเลือกเกรดสูงไว้ก่อน หรือไม่ก็เลือกเกรดต่ำไว้ก่อน) บางคนก็ดูสถาบันที่ผู้สมัครจบมากกว่าเกรด บางคนก็ดูหลาย ๆ อย่างรวมกัน ซึ่งทำให้เราได้นิสิตที่จบมาด้วยเกรดป.ตรีหลากหลายมาก (ตั้งแต่ ๒.๐๐ ไปจนถึงเกียรตินิยมอันดับ ๑) ทีนี้เวลาที่ผู้บริหารเขาเอาไปคุยข่มกัน หรือเอาไปโฆษณาคนข้างนอก หรือเวลาที่เขาประเมินการทำงานของผู้บริหาร เขาก็จะคุยช่มกันว่าคนที่มาเรียนกับเขานั้นมีเกรดเฉลี่ยสูงเท่านั้นเท่านี้ (แต่ไม่ยอมบอกว่ากำหนดเกรดขั้นต่ำที่จะรับสมัครอยู่ที่ใด หรือรับทั้งหมดกี่คน) ก็เลยมีการคิดหาวิธีทำให้ค่าเกรดเฉลี่ยของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามานั้นสูงขึ้น และวิธีการง่าย ๆ ก็คือการกำหนดเกรดป.ตรีขั้นต่ำที่จะสมัครได้

ปีแรกที่มีการกำหนดเกรดนั้น ก็มีการคัดค้านกันอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดก็ออกมาทำนองเป็นว่าขอให้ลองใช้ดูก่อนแล้วค่อยปรับแก้กันอีกที การเพิ่มเกรดขั้นต่ำครั้งแรกนั้นตั้งไว้ที่ ๒.๗๕ ผลที่ตามมาก็คือ "เกรดเฉลี่ย" ของผู้ที่รับเข้ามานั้นสูงขึ้น มีการคุยกันใหญ่ว่าผลงานของเขาทำให้ได้นิสิตคุณภาพสูงขึ้น แต่เกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้นนั้นก็สูงกว่าสมัยที่กำหนดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำไว้ที่ ๒.๐๐ เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังไม่สามารถรับนิสิตได้ครบจำนวนตามต้องการ (ดูเหมือนว่าจะขาดไปประมาณ ๒๐-๓๐ คน) ทำให้ต้องมีการเปิดรับเพิ่มในภาคการศึกษาปลาย สุดท้ายก็ต้องนำเอาเกรดขั้นต่ำมาพิจารณากันใหม่ ก่อนที่จะได้ข้อสรุปอยู่ตรงที่ ๒.๕๐ ดังเช่นปัจจุบัน

ตอนนี้ได้ยินคนปล่อยข่าวว่าระบบนี้ทำให้ได้นิสิตที่มีคุณภาพไม่ดีเพราะไม่มีการสอบข้อเขียน จริง ๆ แล้วนิสิตที่รับเข้ามานั้นจะมีคุณภาพอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้รับ เพราะเป็นคนรับเข้ามาเอง ตัวเองเลือกคนมีคุณภาพไม่ตรงความต้องการของตัวเองแล้วไปโทษระบบได้อย่างไร พอโต้แย้งตรงนี้ไม่ขึ้นก็ไปโวยต่อว่าผลการเรียนวิชาต่าง ๆ นั้นออกมาไม่ดี ซึ่งการที่นิสิตมีผลการเรียนออกมาไม่ดีนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ใช่โยนความผิดทั้งหมดไปที่นิสิต และอีกอย่างคืออาจารย์ผู้สอนก็ต้องรับผิดชอบผลการเรียนที่ให้แก่นิสิตแต่ละคน ถ้าคิดว่าเขาไม่เหมาะสมที่จะสอบผ่านก็ต้องให้เขาสอบตก หรือถ้าต้องพ้นสภาพนิสิตก็ต้องยอมรับความจริงเพื่อการควบคุมคุณภาพ (แต่ต้องชี้แจงได้นะว่าการสอบนั้นเป็นการสอบที่มีมาตรฐาน เทียบเคียงกับก่อนหน้าได้ ไม่ใช่ใช้ความไม่พอใจส่วนตัวแกล้งนิสิต) ไม่ใช่ให้เหตุผลว่าต้อง "จำใจให้ผ่าน" เพราะกลัวว่าจะมีปัญหา ตรงนี้ถ้าคิดว่าการให้นิสิตสอบตกนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและถูกต้องแน่นอนแล้วทำไมจึงต้องกลัวว่าจะมีปัญหา

ฉบับต่อไปจะเล่าเรื่องการเลือกอาจารย์ที่ปรึกษา เผื่อว่าพวกคุณมีน้อง ๆ หรือเพื่อน ๆ สนใจจะมาเรียนต่อที่ภาควิชานี้ จะได้ให้คำแนะนำที่อาจเป็นประโยชน์แก่เขาได้

ไม่มีความคิดเห็น: