วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา MO Memoir : Thursday 16 March 2560

ปัจจุบันดูเหมือนว่าแนวความคิดแบบ "เผด็จการ" จะซ่อนตัวมาในรูปแบบ "ต้องทำตามความคิดของฉันเท่านั้น และต้องทำทันที ฉันไม่รับฟังเหตุผลหรือข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น" ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็จะโดนโจมตีว่าเป็นพวกล้าหลังบ้าง เผด็จการบ้าง อนุรักษ์นิยมสุดโต่งบ้าง ฯลฯ แล้วแต่จะสรรหาคำมาบรรยายได้
 
หลากหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความเชื่อของคนนั้น ในหลากหลายประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นประเทศแม่แบบประชาธิปไตย แก้ปัญหาด้วยการใช้กฎหมายบังคับใช้ แต่สุดท้ายก็ยังมีปัญหาอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดน่าจะเป็นในประเทศที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก ทุกคนเท่าเทียมกันหมด แต่นับตั้งแต่ตั้งประเทศมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และศาสนา ก็ยังคงอยู่
 
การโน้มน้าวจิตใจคน การทำให้ผู้เห็นต่างมีความเข้าใจในข้อเท็จจริง และการแสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับ ล้วนเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา แต่มันเป็นสิ่งที่ให้ผลยืนยาว ถ้าเทียบกับคนรุ่นเดียวกับผมที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยเมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว จากเรื่องที่เพื่อน ๆ รู้ดีกันหมดทั้งคณะ แต่กลับต้องคอยปกปิดไว้ไม่ให้ทางบ้าน (และที่ทำงาน) รับรู้ กลายเป็นเรื่องที่แสดงออกได้อย่างเปิดเผยและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่คนจำนวนมากขึ้นในสังคมหันมาประเมินแต่ละคนด้วยความสามารถในการทำงานหรือภารกิจที่เขาได้รับมอบหมาย ไม่ได้ใช้ ความเชื่อส่วนตัว ลักษณะปรากฏทางกายภาพ หรือการแสดงออกของเขาในช่วงเวลาที่เป็นส่วนตัว มาเป็นตัวตัดสินโดยไม่พิจารณาจากผลงานที่เขาได้รับการมอบหมายให้กระทำ ทั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่คนที่ประสบกับปัญหาก่อนหน้านั้น ต่างช่วยกันฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากอคติของคนส่วนใหญ่ในสังคม ด้วยวิธีการทำความเข้าใจและแสดงความสามารถให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ จนสามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมได้
 
รูปภาพที่นำมาแสดงในวันนี้ถ่ายมาจากภาพถ่ายที่แสดงในงานนิทรรศการของมหาวิทยาลัย รายละเอียดต่าง ๆ ก็ปรากฏอยู่ในบทสัมภาษณ์ของแต่ละรูปอยู่แล้ว เชิญอ่านเอาเองก็แล้วกัน
 
ผมเคยถามนิสิตหญิงว่า รู้สึกอย่างไรที่ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน หลายคนก็เฉย ๆ หลายคนก็ไม่ค่อยจะสบายใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าควรจะแจ้งใคร (อันที่จริงแม้แต่ผมเองก็ยังไม่รู้เลย) ผมว่าในขณะนี้เรื่องนี้ทางหน่วยงานควรต้องมีการนำมาพิจารณากันแล้ว ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร ไม่ควรทำแบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือมีทางลาดสำหรับคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นอยู่ทั่วไปหมดแทบทุกตึก แต่ไม่มี "ห้องน้ำ" สำหรับคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นที่สามารถเข้าไปใช้ได้ (หรือมีซ่อนอยู่ที่ไหนที่ผมไม่รู้ แต่ถ้าเป็นตึกเก่า ๆ เนี่ย ไม่เห็นมีสักห้อง แม้แต่ในคณะที่ผมทำงานอยู่ ตึกที่สร้างใหม่ก็ยังไม่เห็นมี)

ครึ่งหนึ่งของปัญหานี้ได้รับการผลักดันจนเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนี่ซิ ที่คิดว่ามีจำนวนไม่แพ้กัน จะลงเอยอย่างไร ไหน ๆ ถ้าจะมีการพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว ก็น่าที่จะมองให้ครอบคลุมทั้งหมด ไม่ใช่มองแค่เพียงครึ่งเดียว


ไม่มีความคิดเห็น: