วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2562

สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๘ MO Memoir : Saturday 21 September 2562

"แล้ววิทยานิพนธ์มีการจำกัดการเข้าถึงด้วยหรือไม่
  
ผมถามคำถามนี้กับทางวิทยากรของมหาวิทยาลัย Tohoku เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคมที่ผ่านมา ในส่วนการจำกัดการเข้าถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูง พอได้เห็นปฏิกิริยาตอบสนองของเขา (ที่ต้องหันไปปรึกษาหารือกันอยู่สักพั) ก็ทำให้รู้สึกว่าคำถามนี้เป็นประเด็นใหม่สำหรับเขา หลังจากที่พวกเขาปรึกษากันเสร็จสิ้นแล้วตอบกลับมาว่า "ไม่มีการจำกัด" ทำให้ผมถามคำถามอีกคำถามตามมาคือ "แล้วใครเป็นผู้ควบคุมว่าเนื้อหาส่วนไหนที่ควรจะปรากฏในวิทยานิพนธ์" คำตอบที่ได้รับก็คือ "ขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษา"

รูปที่ ๑ กรณีนี้จะเรียกว่าเป็นกรณีสีเทาก็ได้ กล่าวคือมีนิสิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ (ที่อยู่ในรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยง) มาเรียนด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่มหาวิทยาลัย Tohoku การตรวจสอบตอนรับเข้าไม่พบว่าผู้สมัครมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับกิจกรรมทางทหารหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง แต่เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาและกลับไปทำงาน มีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานที่แสดงให้เห็นชัดว่างานวิจัยของเขานั้นเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทหาร (ระบบป้องกันภัยทางอากาศและต่อต้านขีปนาวุธ) นอกจากนี้หลังจากที่นิสิตผู้นี้เรียนจบไปแล้ว ก็มีผู้สมัครจากจีนแผ่นดินใหญ่สมัครมาเรียนที่สาขาวิชาดังกล่าวมากขึ้น
  
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถนำมาใช้ผลิตอาวุธทำลายล้างสูงและสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้ในภาคการผลิตทั่วไปและในชีวิตประจำวัน ดังนั้นมาตรการการป้องกันจึงเน้นไปที่การควบคุมการส่งออก โดยในแง่ของภาคการผลิตก็คือการควบคุมการส่งออกสินค้า ในแง่ของภาคการศึกษาและวิจัยก็คือการควบคุมการเข้าถึงและถ่ายทอดองค์ความรู้
  
ประเทศไทยนั้นจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับประเทศญี่ปุ่น เพราะสภาพของเราในขณะนี้อยู่ในฐานะผู้รับเทคโนโลยีเป็นหลัก การวางมาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถนำมาใช้ผลิตอาวุธทำลายล้างสูงและสินค้าต่าง ๆ จึงควรที่จะเน้นไปที่การสร้างความมั่นใจให้เจ้าของเทคโนโลยีว่า มีการวางมาตรการป้องกันไม่ให้มีการส่งต่อเทคโนโลยีขั้นสูงดังกล่าวไปยังผู้รับที่ไม่เหมาะสมหรือนำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์หลัก (คือมีมาตราการป้องกันไม่ให้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน) ซึ่งตรงนี้มันเกี่ยวข้องกันการที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนี้ในประเทศไทย การรับนักเรียน/นักวิจัยจากไทยเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น และการลงนามการทำวิจัยร่วมระหว่างสถาบันของไทยกับญี่ปุ่นด้วย
  
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษาและวิจัยก็คือ การสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวให้กับประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีว่า งานวิจัยที่ประสงค์จะร่วมมือทำด้วยนั้น หรืออุปกรณ์ที่ต้องการเข้าถึง จะไม่มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม คำว่า "ไม่เหมาะสม" ในที่นี้หมายความเพียงแค่ตัวอาจารย์หรือนักวิจัยจะไม่มีใช้การเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงนั้นไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม แต่ยังครอบคลุมไปถึงการมีมาตรการป้องกันไม่ให้นิสิต/นักวิจัยต่างชาติ ที่มาจากประเทศ/สถาบันที่มีความเสี่ยง ที่เข้ามาทำเรียนหรือวิจัยอยู่ในสถาบัน สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้รับนิสิต/นักวิจัยต่างชาติเหล่านั้น กล่าวคือยังสามารถรับเข้ามาทำวิจัยในสถาบันได้ แต่ต้องเป็นงานวิจัยเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงนั้น

รูปที่ ๒ บทคัดย่อผลงานที่วิทยากรนำมาแสดงในรูปที่ ๑

ปัญหาของการตีความว่าการห้ามเข้าถึงของสถาบันการศึกษานั้นควรมีขอบเขตแค่ไหน ซึ่งตรงประเด็นนี้ทางแต่ละสถาบันที่ได้ไปเยี่ยมชมมาก็มีไม่เหมือนกัน (คงขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสถาบัน) ตัวอย่างเช่นกรณีหนึ่งที่วิทยากรได้ยกมาเป็นตัวอย่างคือ การสอนการใช้งานอุปกรณ์การขึ้นรูปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (คือตัวอุปกรณ์การผลิตตัวนี้เป็นสินค้าควบคุม) ในการขึ้นรูปชิ้นส่วนงานวิจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง ตรงประเด็นนี้มีการมองว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะเป็นการสอนเพียงแค่การใช้เครื่องมือ ไม่สามารถนำเอาวิธีการใช้เครื่องมือนั้นไปสร้างอุปกรณ์นั้นได้
  
แต่ถ้าเป็นการเข้าถึงซอร์ฟแวร์คอมพิวเตอร์ (ที่มีความสามารถในการสร้างแบบจำลองบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง) ที่ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ก็น่าสนใจตรงที่ แม้ว่างานวิจัยที่นิสิต/นักวิจัยผู้นั้นทำวิจัย จะไม่ใช่งานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่านิสิต/นักวิจัยผู้นั้นได้ซ่อนคำสั่งการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงไว้ข้างใน คือให้คอมพิวเตอร์ทำงานสองงานไปพร้อม ๆ กัน โดยให้มหาวิทยาลัยเห็นเพียงแค่งานเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง
  
รูปที่ ๓ บัญชีรายชื่อประเทศที่อยู่ในกลุ่มปลอดภัย (White list) กลุ่มเสี่ยง (Non-white list) และกลุ่มที่โดนห้ามการส่งออก ที่ทางญี่ปุ่นจัดทำไว้ พึงสังเกตว่าไม่มีรายชื่อประเทศเกาหลีใต้ปรากฏ แต่สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ก็คือทางญี่ปุ่นปลดเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อใน White list และเกาหลีใต้ก็ตอบโต้แบบเดียวกัน

ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีปัญหาเรื่องการควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทางจากภาคมหาวิทยาลัย เรียกว่าทางภาคอุตสาหกรรมนั้นเริ่มนำหน้าไปก่อนแล้วหลายปี ทางภาคมหาวิทยาลัยถึงได้ค่อยตามหลังมา สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานในมหาวิทยาลัยที่แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งนั้นอาจเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้ได้สองทางเพียงไม่กี่ชนิด ในขณะที่มหาวิทยาลัยมีการทำวิจัยที่หลากหลายกว่า (คืออาจมีทั้ง เคมี นิวเคลียร์ และชีวภาพ ในสถาบันเดียว) และบ่อยครั้งที่การส่งออกนั้นไม่ได้อยู่ในรูปของสินค้า แต่เป็นรูปขององค์ความรู้ที่อาจส่งออกในรูปของ การติดต่อทางจดหมาย/อีเมล์ การเข้าร่วมประชุมวิชาการ การตีพิมพ์บทความวิชาการ การส่งตัวอย่าง เป็นต้น
 
คำถามที่ผมนำมาเกริ่นไว้ตอนต้นเรื่องนั้น มันเริ่มมาจากกลไกการควบคุมที่มหาวิทยาลัยที่ได้ไปเยี่ยมชมนั้นได้จัดทำขึ้น กล่าวคือในกรณีที่ทางอาจารย์ต้องการไปประชุมวิชาการต่างประเทศ (หรือในประเทศ ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ) ซึ่งมักจะขอการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากทางมหาวิทยาลัย ในกรณีเช่นนี้ทางมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดให้อาจารย์ผู้นั้นต้องตรวจสอบว่างานที่จะนำไปนำเสนอนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าสองทางหรือไม่ และอาจขอสำเนาบทความที่จะไปนำเสนอมาตรวจสอบด้วยก็ได้ 
   
แต่วิธีการนี้ก็ไม่สามารถครอบคลุมไปยังการส่งบทความวิชาการไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เพราะมันเป็นการส่งไปรษณีย์ตรงไปยังบรรณาธิการวารสารฉบับนั้น และไม่จำเป็นต้องขอทุนสนับสนุนใด ๆ จากทางมหาวิทยาลัย ในการนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับตัวอาจารย์ผู้เขียนบทความเองว่าต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ โดยอาจทำการตัดทอนรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงออกไป
  
ประเด็นของคำถามที่ผมถามเขาก็คือ บทความวิชาการนั้นมันไม่มีที่ให้ใส่รายละเอียดมาก (เพราะมันมักถูกจำกัดจำนวนหน้าต่อเรื่อง) แตกต่างจากวิทยานิพนธ์ที่จะใส่เท่าใดก็ได้ (จำนวนหน้าไม่ถูกจำกัด) ในกรณีของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงของสินค้าที่ใช้ได้สองทางนั้น แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะทำการคัดกรองผู้เรียน/ผู้ที่จะมาร่วมทำวิจัย ไม่ให้ผู้ที่มาจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงเข้าทำวิจัยในงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว แต่รายละเอียดต่าง ๆ ของงานวิจัยนั้นมันมีโอกาสไปปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ของผู้เรียน (ที่อาจเป็นชาวญี่ปุ่นเอง) หรือไม่ และถ้ามันมีโอกาสไปปรากฏอยู่ตรงนั้น ทางมหาวิทยาลัยมีมาตรการใด ๆ ในการควบคุมผู้ที่สามารถเข้าไปอ่านวิทยานิพนธ์เล่มนั้นหรือไม่

รูปที่ ๔ สถาบันการศึกษาของประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ใช่ว่าจะโดนเพ่งเล็งเอาไว้ทั้งหมด มีการแยกประเภทเอาไว้เหมือนกัน และถึงแม้ว่าจะเป็นสถาบันที่มีรายชื่อในกลุ่มเสี่ยง ก็ยังมีการพิจารณาเป็นรายสาขาวิชา ไม่ได้เหมารวมหมด

ในช่วงระหว่างวันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม- วันเสาร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ ผมได้มีโอกาสได้ร่วมคณะเดินทางกับกลุ่มคณาจารย์สาขาต่าง ๆ และผู้แทนจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยทุนของสถานฑูตสหรัฐอเมริกา ไปร่วม Capacity Building Workshop and Study Tour ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้นำเรื่องต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นมามาเขียนเป็นบทความชุดนี้ (ซึ่งตอนนี้เป็นตอนที่ ๘ แล้ว) หลังจากที่กลับมาแล้วก็ได้ทำบันทึกสรุปความเห็นส่วนตัวในส่วนของปัญหาและแนวทางปฏิบัติในการทำให้ มหาวิทยาลัยของไทยตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และเนื่องจากบันทึกดังกล่าวไม่ได้เป็นความลับอะไร จึงขอนำมาลงแนบท้าย Memoir ฉบับนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มันสูญหายไป ดังรายละเอียดในหน้าถัดไป
  
Capacity Building Workshop and Study Tour 
  for the Department of Foreign Trade (DFT) Thailand
Tokyo/Northern Japan, 30 July - 3 August 2019
บันทึกประสบการณ์จากการเดินทางและข้อคิดเห็นเพื่อพิจารณา
โดย รศ.ดร.ธราธร มงคลศรี
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของการเดินทางในครั้งนี้คือการเก็บรวบรวมประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ๓ แห่งด้วยกันคือ Tsukuba University, Tohoku University และ Hokkaido University ในการดำเนินการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ๒ ทาง (Duel Used Items - DUI) ในรูปแบบต่าง ๆ ตามบริบทการทำงานของสถาบันการศึกษา เช่น การให้นักศึกษา/นักวิจัยต่างชาติเข้ามาศึกษา/ทำวิจัยในสถาบัน, การที่นักวิจัยของสถาบันไปร่วมทำงานวิจัยกับสถาบันต่างประเทศหรือสถาบันมีการลงนามสัญญาความร่วมมือในการทำวิจัยกับสถาบันต่างประเทศ, การที่บุคลากรของสถาบันออกไปนำเสนอผลงานยังต่างประเทศ, การติดต่อสื่อสารส่งผ่านข้อมูลงานวิจัย/ซอร์ฟแวร์กับบุคลากรของสถาบันต่างประเทศผ่านทางระบบอีเมล์ เป็นต้น
  
บันทึกฉบับนี้เป็นบันทึก "ประสบการณ์การเดินทาง" และ "ข้อคิดเห็นที่ได้จากการเดินทางรวมกับประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อมองจากมุมมองของผู้เขียนเพียงผู้เดียว" เพื่อให้ทางคณะผู้ทำงานของกรมการค้าต่างประเทศนำไปประกอบกับบันทึกจากคณะผู้เดินทางผู้อื่น เพื่อพิจารณาดำเนินการตามสมควรต่อไป

. รูปแบบการทำงานของสังคมญี่ปุ่น

สังคมญี่ปุ่นจัดว่าเป็นสังคมที่มีระเบียบวินัยสูง มีการฝึกให้แต่ละบุคคลต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ดังนั้นกิจกรรมใด ๆ ที่แม้ว่าจะทำให้การทำงานส่วนตัวนั้นมีความยุ่งยากมากขึ้น แต่ถ้าเป็นการทำงานนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผู้ปฏิบัติงานก็พร้อมที่จะปฏิบัติ
  
ดังนั้นรูปแบบการทำงานของประเทศญี่ปุ่นที่ให้บุคลากรมหาวิทยาลัยแต่ละคน ทำการตรวจสอบตนเองก่อนว่างานที่กำลังจะทำนั้นเกี่ยวข้องกับสินค้า ๒ ทางหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานกลางทราบ จึงเป็นรูปแบบที่สามารถทำได้ และ รูปแบบการทำงานที่ทั้ง ๓ มหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นนำเสนอให้คณะผู้เดินทางได้รับทราบต่างก็เป็นรูปแบบนี้
  
แต่รูปแบบการทำงานแบบนี้จะไม่เหมาะกับสังคมที่บุคคลส่วนใหญ่มองเห็นความสะดวกสบายส่วนตัวที่ต้องมาก่อน หรือการใช้ข้ออ้างเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ที่อาจจะมีอาจารย์จำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการควบคุมนี้ จะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือ (ถ้าไม่มีการบังคับ) หรือมีโอกาสสูงที่ผลการตรวจสอบนั้นจะออกมาเป็นไม่เกี่ยวข้อง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในช่วงแรกของการทำงานที่มีโอกาสจะใช้ข้ออ้างว่าตรวจสอบแล้วไม่พบเนื่องด้วยความไม่รู้ (ดังที่ผู้บรรยายรายหนึ่งกล่าวว่า ถ้าประเทศญี่ปุ่นมีการควบคุมที่เง้มงวดมากที่สุด ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการควบคุมที่หละหลวมมากที่สุด)


. ความท้าทายในการทำให้มหาวิทยาลัยของไทยตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินการเรื่องนี้

ถ้าใช้รูปแบบการทำงานจะสามารถแบ่งมหาวิทยาลัยของไทยออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่เน้นงานวิจัย และ กลุ่มที่เน้นการเรียนการสอน และถ้าใช้เกณฑ์พิจารณาจากสาขาที่แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดการสอน ก็ยังอาจจำแนกมหาวิทยาลัยออกได้เป็น ๓ กลุมคือ กลุ่มที่เปิดการเรียนการสอนสายวิทยาศาสตร์เป็นหลัก, กลุ่มที่เปิดการเรียนการสอนสายสังคมศาสตร์เป็นหลัก และกลุ่มที่เปิดการเรียนการสอนในสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
  
สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการได้มาซึ่งตัวผู้บริหารมหาวิทยาลัย และแนวความคิดในการกำหนดทิศทางการทำงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีการมองความสำคัญของเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่เกี่ยวข้อง, เป็นเรื่องที่สร้างงานสร้างภาระเพิ่มมากขึ้นโดยไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจน หรือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องดำเนินการ และยังส่งผลต่อความต่อเนื่องของการทำงาน เพราะเมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร นโยบายการทำงานก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย และการจะให้ทางมหาวิทยาลัยจัดให้มีหน่วยงานทำงานนี้เพิ่มเติม ย่อมทำให้ทางมหาวิทยาลัยมองว่าต้องมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้น
  
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ได้แก่ การตรวจประเมินคุณภาพสถาบันการศึกษาโดยหน่วยงานตรวจประเมินภายนอก ที่จะส่งผู้ตรวจประเมินภายนอกมาทำการตรวจประเมิน ที่การทำงานมีปัญหาทั้งจากภายในตัวมหาวิทยาลัยเองในการหาบุคลากรมาทำงานและการได้รับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในสถาบันด้วยกัน (โดยเฉพาะเรื่องการให้ข้อมูล) และจากตัวผู้ตรวจประเมินและรูปแบบการทำงานของสถาบันที่ทำการตรวจประเมิน
  
ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่เน้นไปที่งานวิจัยเป็นหลักนั้น ในส่วนของอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีการว่าจ้างทำงานเป็นช่วงสั้น ๆ นั้น (เช่น ๓-๕ ปีต่อการจ้าง ๑ ครั้ง) การได้ต่อสัญญาการจ้าง, การได้เลื่อนตำแหน่ง และผลตอบแทนที่จะได้รับ ขึ้นอยู่กับผลงานวิจัยหรือจำนวนบทความที่มีการตีพิมพ์เป็นหลัก ดังนั้นการที่ต้องมาทำงานในส่วนที่ไม่ใช่งานวิจัย จะทำให้เกิดการมองว่าเป็นภาระงานที่ไม่ช่วยเสริมความมั่นคงในหน้าที่การทำงาน ดังนั้นการเข้ามารับผิดชอบงานด้านนี้จึงมีโอกาสสูงที่ยากจะหาผู้ทำงานหลัก เว้นแต่ทางมหาวิทยาลัยจะให้ความมั่นใจในการต่อสัญญาจ้างงาน
  
ทางผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถูกส่งตัวมารับฟังเรื่องนี้มักมีการเปลี่ยนคนอยู่เป็นประจำ ข้อมูลขาดการส่งต่อ ดังนั้นการจะให้ความรู้กับบุคลากรของมหาวิทยาล้ยแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องมีการเริ่มต้นปูพื้นกันใหม่ ว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร (เช่น Australia Group (AG), Nuclear Suppliers Group (NSG), Missile Technology Control Regime (MTCR), Wasseanaar Arrangement (WA) คืออะไรและสำคัญอย่างไร) และผู้บรรยายควรต้องระมัดระวังเรื่องการใช้คำย่อ (ไม่ว่าจะเป็นในเอกสารหรือคำพูดที่ใช้ในการบรรยาย) เพราะจะทำให้ผู้ฟังที่เพิ่งจะเข้ามารับฟังนั้นไม่เข้าใจว่ากำลังพูดถึงอะไร ปัญหาเรื่องผู้บรรยายใช้คำย่อจนติดปากแล้วส่งผลให้ผู้ฟังไม่เข้าใจเนื้อหานั้น เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ง่ายเป็นประจำ
  
เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลากหลายสาขาวิชา และผู้เข้าฟังมีพื้นความรู้ที่หลากหลาย ดังนั้นการยกตัวอย่างจึงควรที่จะพยายามให้ผู้ฟังที่มีความรู้ต่างกันได้เห็นความสำคัญ เช่นตัวอย่างควรมีทั้งทางด้าน วิศวกรรมศาสตร์ (เช่นวิศวกรรม ไฟฟ้า, สื่อสาร, เคมี, การวัดคุม, การขึ้นรูปชิ้นงาน ฯลฯ), วิทยาศาสตร์ (จุลชีววิทยา, คณิตศาสตร์, คอมพิวเตอร์, วัสดุศาสตร์ ฯลฯ), การแพทย์ และเภสัชกรรม
  
สำหรับมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องการสอนเป็นหลัก หรือการเรียนการสอนส่วนใหญ่อยู่ในสาย สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ อาจมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องสนใจเรื่องนี้
  
การนำเสนอภาพตรงจุดนี้จึงจำเป็นต้องให้ทั้งระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัย (ที่อาจเป็นอาจารย์ทางด้านสายสังคมศาสตร์หรือสายวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้ทำวิจัยมาเป็นเวลานานแล้ว ที่อาจคำนึงถึงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก) และอาจารย์ในสายวิทยาศาสตร์ (กายภาพ/ชีวภาพ) และวิศวกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้อง ให้เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร สำคัญอย่างไร และสามารถส่งผลกระทบต่องานวิจัยได้อย่างไร

ดังนั้นจึงอาจต้องมีวิธีการที่เหมาะสมสำหรับแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทั้งผู้บริหารและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เช่นอาจเริ่มด้วยการทำการประชาสัมพันธ์ (เช่นทางสื่อออนไลน์) เพื่อให้ได้ยินคำว่า "สินค้า ๒ ทาง" ทำนองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คุณอาจไม่รู้ และส่งผลกระทบต่อการทำงานโดยที่ไม่รู้ตัว เช่นการไม่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยต่างชาติ ที่เห็นว่ามหาวิทยาลัยทางฝั่งไทยไม่มีมาตรการรองรับ หรือการที่สั่งสินค้าที่เข้าข่าย แต่ผู้ประมูลได้ไม่สามารถนำส่งสินค้าได้ หรือต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบประวัติของผู้รับสินค้าไปใช้โดยหน่วยงานของประเทศต้นทาง จากนั้นจึงค่อยจัดการบรรยาย

. ตัวอย่างการปูพื้นฐานแนวทางการให้ความรู้เรื่องสินค้า ๒ ทาง

มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธและการทหาร) อุปกรณ์วัดคุมในห้องวิจัยทั่วไป รวมทั้งเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือน ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้ในการผลิตอาวุธทำลายล้างสูงได้
  
คำ "เทคโนโลยีขั้นสูง" ที่จะกล่าวต่อไปนี้หมายถึง วัสดุ/อุปกรณ์/เครื่องจักร/สารเคมี/สารออกฤทธิ์จากพืช/เชื้อจุลภาค ที่ปรากฏอยู่ใน EU list
  
การให้คำจำกัดความสินค้า ๒ ทาง (Dual Used Item - DUI) ต้องทำให้ผู้ฟังเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ใช้ได้ทั้งการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ทั่วไป และสามารถนำใช้ในการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง (นิวเคลียร์ เคมี ชีวภาพ) โดยเป็นส่วนที่ไม่ได้อยู่ใน การควบคุมของทางทหาร ไม่ได้เป็น สารเคมีทางการเกษตร, อาหาร หรือยา
  
โดยความหมายของ "การผลิต" ตรงนี้ควบคุมไปถึง "งานวิจัย" ด้วย
  
เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้มีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ (tangible) และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (intangible)
  
ตัวอย่างของเทคโนโลยีขึ้นสูงที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ได้แก่ วัสดุต่าง ๆ เช่น โลหะ โลหะผสม เซรามิก พอลิเมอร์ (พวกความแข็งแรงสูง ทนการกัดกร่อน ทนอุณหภูมิ ฯลฯ), อุปกรณ์/เครื่องจักรขนาดใหญ่ (ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต ที่สามารถขึ้นรูปชิ้นงานขนาดใหญ่หรือมีความแม่นยำความเที่ยงตรงสูง), อุปกรณ์/เครื่องจักรขนาดเล็ก (ที่เกี่ยวข้องกับการวัด การควบคุม การผลิต/งานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ), สารเคมี สารพิษจากพืช/สัตว์ เชื้อจุลชีพ
  
ตัวอย่างของเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (intangible) ได้แก่ องค์ความรู้และซอร์ฟแวร์ (เช่น เทคนิคในการผลิต ซอร์ฟแวร์จำลองกระบวนการต่าง ๆ ซอร์ฟแวร์การเข้ารหัส)
  
โดยเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้มีการพิจารณาแยกเป็นกลุ่ม ๆ (AG, NSG, MTCR) ก่อนจะมีการนำมารวมกันและจัดทำเป็น EU List ที่มีการจัดกลุ่มเป็นหมวดหมู่ใหม่ ซึ่งเอาสิ่งที่มีซ้ำกันในกลุ่มที่มีการพิจารณาแยกกันนั้น มาจัดรวมให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน (เช่นเอาสิ่งที่เป็นวัสดุที่ยังไม่นำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้งานได้ มารวมอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน ทำให้หมวดหมู่วัสดุมีได้ทั้ง วัสดุสำหรับงานนิวเคลียร์ งานเคมีทนการกัดกร่อนสูง งานโครงสร้างที่ต้องการความแข็งแรงสูง) โดยประเทศผู้จัดทำรายการเป็นชาติมหาอำนาจทางตะวันตก หรือเป็นพันธมิตรกับชาติมหาอำนาจทางตะวันตกเป็นหลัก
  
สำหรับประเทศที่ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ ในฐานะผู้ส่งออกเทคโนโลยี สิ่งที่เขาต้องการก็คือ ต้องการความมั่นใจว่าผู้รับนั้นจะไม่นำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือส่งต่อให้กับผู้อื่นที่อาจนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
  
หมายเหตุ : สิ่งที่เป็นความรู้ ซอร์ฟแวร์ ข้อมูลต่าง ๆ สามารถส่งออกได้ในรูปแบบ การสอนหนังสือ การส่งทางอีเมล์ การประชุมวิชาการ หรือการตีพิมพ์เผยแพร่
  
การควบคุมการส่งออกของประเทศญี่ปุ่นไปยังเกาหลีใต้ ที่เป็นปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศในขณะนี้ ก็เกิดจากการที่ญี่ปุ่นใช้กฎหมายนี้ระบุให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าจับตา

สำหรับประเทศที่ในขณะนี้อยู่ในฐานะผู้รับ เพื่อที่จะทำให้ผู้ส่งออกนั้นส่งมอบเทคโนโลยีขั้นสูงได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการและการปฏิบัติที่จริงจัง เพื่อทำให้ผู้ส่งมอบมั่นใจว่าจะไม่นำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือส่งต่อให้กับผู้อื่นที่อาจนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม มีการควบคุมการใช้งานสินค้าที่ได้รับมาไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมทั้งการป้องกันไม่ให้มีการส่งต่อ (ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสิ่งของหรือส่งออกข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์) ดังนั้นการมีมาตรการป้องกันจะเป็นการช่วยให้เจ้าของเทคโนโลยีมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นทางผ่านของการส่งออกสินค้า ๒ ทาง
  
โดยในประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายควบคุมสินค้า ๒ ทาง และจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ ที่จะถึงนี้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูงมีความมั่นใจว่า เขาสามารถมาลงทุนภาคการผลิต/ส่งออกอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มายังประเทศไทยได้ โดยจะไม่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือส่งต่อไปยังผู้รับที่ไม่เหมาะสม

. แนวทางการสร้างความเข้าใจเรื่องของการควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย

เรื่องนี้ไม่ครอบคลุมการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เพราะถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะทั่วไปอยู่แล้ว แต่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในระดับปริญญาโท-เอก ที่มีการทำวิทยานิพนธ์และมีการทำการทดลอง โดยอาจารย์ในส่วนของไทยเองนั้นที่ต้องการการทำวิจัยร่วมสถาบันที่เป็นผู้ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูง ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ในแง่ของ
  
- การนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูง (อุปกรณ์/ซอร์ฟแวร์) จากสถาบัน/ผู้ผลิตต่างประเทศ
- การเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง (อุปกรณ์/ซอร์ฟแวร์) ในสถาบันต่างประเทศ
- การสร้างความร่วมมือในการทำวิจัยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขึ้นสูง
  
แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทย/สถาบันการศึกษาในประเทศไทย จะไม่ได้ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อเฝ้าระวัง แต่ในอนาคตอันใกล้ มหาวิทยาลัยมีโอกาสที่จะได้รับความเสียหาย หากไม่มีการออกมาตรการควบคุม โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะไม่สามารถไปศึกษาต่อด้านที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศที่มีการควบคุมได้ และมีโอกาสที่จะทำให้ไม่สามารถทำงานวิจัยร่วมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกับประเทศที่มีการควบคุมได้
  
การมีมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ความมั่นใจกับสถาบันต่างชาติที่มีถึงเทคโนโลยีขั้นสูงในการทำวิจัยร่วมกับประเทศไทย ว่าถ้ายอมให้ผู้เรียนจากประเทศไทยหรือบุคลากรจากมหาวิทยาลัยไทยเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ก็จะไม่มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด หรือส่งต่อ เช่นด้วยการสอนนิสิต (ระดับโท-เอก) การทำวิจัยร่วมกับนักวิจัย ที่มาจากประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อต้องเฝ้าระวัง
ตัวอย่างที่ทางมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นนำเสนอต่อคณะผู้เดินทางคือ สิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นกระทำเมื่อมีนักเรียนต่างชาติสมัครเข้าเรียนและ/หรือนักวิจัยต่างชาติสมัครไปทำวิจัย ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการของ
  
- การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของประเทศที่มา สถาบันที่จบมา รวมไปทั้งแหล่งผู้ให้ทุน
- การติดตามการทำงานของผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว (กรณีศึกษาของTohoku University)
- การมีหน่วยงานกลางเป็นผู้จัดทำรายชื่อ และให้ทุกมหาวิทยาลัยใช้รายชื่อเดียวกัน
- แต่ทั้งนี้ควรต้องมีการพิจารณาเป็นบางสาขาวิชาด้วย ไม่ใช่การเหมารวม (เพราะสาขาด้านสายศิลปส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้มีการทดลองหรือใช้อุปกรณ์วิทยาศาตร์ภาคสนาม) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้า ๒ ทาง


. ประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบ ที่ยังต้องนำมาพิจารณา และประสบการณ์ของทางประเทศญี่ปุ่น

เนื้อหาในส่วนนี้เป็นการรวบรวมประเด็นปลีกย่อยต่าง ๆ ที่รวบไว้ในระหว่างการเดินทาง ที่มีทั้งประเด็นคำถามที่ทางมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นนั้นยังมีแนวความคิดที่แตกต่างกัน แต่ก็จำเป็นต้องออกแบบหามาตรการรองรับว่า ถ้าเกิดขึ้นจะให้ปฏิบัติอย่างไร

.๑ การเผยแพร่ผลงานวิจัย

ในกรณีของการนำเสนอผลงานต่างประเทศ ทางมหาวิทยาลัยมักจะสามารถขอตรวจสอบสิ่งที่จะนำไปเสนอได้ เพราะผู้จะไปนำเสนอมักจะขอทุนให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยออกค่าใช้จ่าย
  
แต่การนำเสนอผลงานในที่ประชุมที่มีนักวิจัยจากประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีเข้าร่วมด้วย หรือการนำเสนอผลงานที่อาจเป็นในประเทศของตน หรือประเทศในกลุ่มที่มีข้อตกลงร่วมกัน แต่มีผู้เข้าร่วมที่มาจากประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง ควรต้องมีมาตรการอย่างไร
   
การส่งบทความไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เป็นการติดต่อโดยตรงระหว่างผู้ทำวิจัยกับสำนักพิมพ์ ไม่จำเป็นต้องผ่านมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะให้มีการตรวจสอบหรือไม่อย่างไร หรือให้อยู่ในดุลพินิจของผู้เขียน
  
ในการทำวิจัยนั้น อาจป้องกันไม่ให้ผู้เรียนที่มากจากประเทศที่เฝ้าระวังเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ แต่สำหรับผู้เรียนที่เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ สิ่งเหล่านี้อาจไปปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ที่ส่งมอบให้กับทางมหาวิทยาลัย และไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้ ในกรณีเช่นนี้มหาวิทยาลัยจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร
ในกรณีที่งานวิจัยนั้นเกี่ยวข้องกับสินค้า ๒ ทาง ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหาที่เขียน และวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้หรือไม่
  
สำหรับประเทศไทยนั้น ในแต่ละศาสตร์นั้นอาจมีอาจารย์รู้เรื่องเพียงผู้เดียวในมหาวิทยาลัย ดังนั้นอาจารย์คนดังกล่างต้องรับหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองผลงานของตนเองว่าเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย แต่ถ้าอาจารย์คนดังกล่าวไม่มีประสบการณ์หรือเกิดความไม่แน่ใจ จะสอบถามไปได้ที่ใคร

.๒ การดัดแปลงเพื่อไม่ให้เข้าข่ายและการตรวจสอบการดัดแปลง

การดัดแปลงตรงนี้คือการดัดแปลงคุณสมบัติสินค้าเพื่อไม่ให้เข้าข่ายรายการควบคุม แต่สามารถทำให้กลับกลายเป็นสินค้าที่เข้าข่ายรายการควบคุมได้ด้วยการดัดแปลง/แก้ไข ส่วนที่ไม่มีความสำคัญหลัก เพียงเล็กน้อยหรือทำได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น
  
- การปนเปื้อนด้วยสารบางชนิด เพื่อไม่ให้มีความเข้มข้นหรือคุณสมบัติตามที่กำหนด แต่ทางผู้รับสามารถแยกเอาสิ่งที่ปนเปื้อนเข้าไปนั้นออกได้ง่าย
- การแทนที่ชิ้นส่วนบางชิ้นที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญและสามารถหาได้ทั่วไป เพื่อไม่ให้ตัวสินค้าทั้งชิ้นเป็นสินค้าควบคุมที่ประเทศต้นทางเนื่องจากการมีคุณสมบัติบางข้อไม่เข้าเกณฑ์เพื่อที่จะส่งออกโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ แต่ทางผู้รับสินค้าสามารถนำชิ้นส่วนนั้นออกและแทนที่ด้วยชิ้นส่วนใหม่ได้ง่าย ทำให้สินค้าชิ้นนั้นกลายเป็นสินค้าควบคุมได้ที่ประเทศปลายทาง (เช่นการเคลือบผิวด้วยวัดสุอื่น เพื่อให้ผิวชั้นนอกสุดไม่เข้าเกณฑ์ แต่สามารถกำจัดผิวชั้นนอกสุดออกได้ง่าย)
  
คำตอบของคำถามเรื่องการปนเปื้อนหรือแทนที่นี้ ทางผู้แทนจากหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า ต้องดูที่ "เจตนา" ของการกระทำดังกล่าว แต่จะพิสูจน์ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดย "เจตนา" หรือไม่นั้น จะทำอย่างไร
  
- ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะการตรวจสอบนั้นจำเป็นต้องทราบรายละเอียดการทำงาน/การออกแบบสินค้าชิ้นนั้น (ปัญหาเรื่องความลับทางการค้า) ผู้ขายสินค้าเองมีแรงกระตุ้นที่ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ขายได้ การมีมาตรการควบคุม/จำกัดการส่งออกถือได้ว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าดำเนินการ อุปสรรคในการจำหน่าย
- ประเด็นเรื่องสินค้าที่พิจารณาในแง่การใช้งานที่มันออกแบบมาแล้ว ไม่น่าจะเป็นสินค้าควบคุม แต่ไปปรากฏรายชื่อว่าถูกควบคุมด้วยรายการอื่นที่มองเผิน ๆ แล้วไม่น่าจะสัมพันธ์กัน ในกรณีเช่นนี้จะหามาตรการใดในการช่วยเหลือการตรวจสอบ (ตัวอย่างเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่ใช้ในการระบายความร้อนออกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลัง ที่สามารถนำไปใช้ระบายความร้อนในกระบวนการผลิตอาวุธเคมีได้)
- การตรวจสอบสิ่งที่เป็นซอร์ฟแวร์ที่ติดมากับอุปกรณ์ที่ซื้อมาประกอบเป็นสินค้าสุดท้าย จะกระทำได้อย่างไร ถ้าผู้พัฒนาซอร์ฟแวร์นั้นไม่ให้ความร่วมมือ

.๓ การสุ่มตรวจสินค้า/เทคโนโลยีที่มีการส่งออกและที่นำเข้า และการมีอยู่

- ใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการสุ่มตัวอย่างสิ่งค้าที่ส่งออก (กระทรวงพาณิชย์จะรับหน้าที่นี้หรือไม่) และใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ (ซึ่งคงต้องเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือ แต่ไม่อยู่ในสายการบังคับบัญขาของกระทรวงพาณิชย์)
- การจัดทำประวัติการใช้งานเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันการศึกษาที่มีผู้เรียนมาจากหลากหลายสถานที่ ควรจะมีหรือไม่ ในระดับไหน
- การตรวจสอบการคงอยู่ของเทคโนโลยีที่มีการรับเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือซอร์ฟแวร์ ที่ล้าสมัย และการจัดการกับสิ่งที่ต้องการแทนที่ไม่ต้องการใช้ประโยชน์แล้ว

.๔ การอุทธรณ์คำสั่งห้ามการส่งออก

- ใครจะเป็นผู้พิจารณาว่าสินค้านั้นเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย และถ้าให้ทางผู้ส่งออกเป็นผู้พิจารณาเอง ใครจะทำหน้าที่สุ่มตรวจรายการสินค้าที่ทางผู้ส่งออกพิจารณาว่าไม่เข้าข่าย
- โครงสร้างทางกฎหมายและการอุทธรณ์ความเห็นต่างของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน
- สมมุติว่าการส่งออกของผู้ส่งออกไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยราชการ ผู้ส่งออกจะสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งห้ามดังกล่าวนั้นได้ที่ใคร ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ผู้พิจารณาการร้องอุทธรณ์ยังเป็นหน่วยงานรัฐอยู่ แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้น เนื่องจากคำสั่งห้ามเป็นคำสั่งปกครอบ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ ผู้ส่งออกทำการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความคุ้มครอง (คือการขอให้คำสั่งห้ามยังไม่มีผลบังคับใช้)
- ในกรณีที่ศาลให้ความคุ้มครอง ทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกสินค้าได้ แต่ต่อมาภายหลังมีการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าต้องห้าม จะไม่สามารถเรียกคืนกลับได้ ในกรณีเช่นนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดขอบ
- ในกรณีที่ศาลไม่ให้ความคุ้มครอง ทำให้ผู้ส่งออกส่งออกสินค้าไม่ได้ แต่ต่อมาภายหลังมีการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นไม่ได้เป็นสินค้าต้องห้าม ทำให้ผู้ส่งออกได้รับความสูญเสีย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
- กระบวนการพิจารณาตรงนี้อาจกินระยะเวลานาน


.๕ การเปลี่ยนแปลงสถานะของประเทศ/สถาบันการศึกษา ของนิสิต/นักวิจัยที่เข้ามาทำวิจัย

- สมมุติว่าตอนสมัครเข้าเรียนนั้น ประเทศ/สถาบัน ที่ผู้สมัครจบมาหรือจะกลับไปทำงานนั้นไม่ได้ปรากฏอยู่ในรายชื่อต้องเฝ้าระวัง จะทำให้สามารถรับผู้สมัครเข้าทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงได้
- แต่ถ้าในระหว่างการทำวิจัยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของประเทศ/สถาบันของผู้สมัครรายนั้น จะต้องทำอย่างไร
- ถ้ายังไม่เริ่มทำวิจัย หรือเพิ่งจะเริ่ม ก็อาจแก้ด้วยการเปลี่ยนแปลงหัวข้อวิจัยหรือขอบเขตงาน
- แต่ถ้าเป็นการวิจัยที่ผู้เรียนใกล้จะสิ้นสุดเพื่อจะสำเร็จการศึกษาแล้ว ควรจะต้องทำอย่างไร
- ตัวอย่างเช่นกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นปรับรายชื่อประเทศเกาหลีใต้ให้ไปอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง

.๖ ใครจะเป็นผู้วางระบบการตรวจสอบให้กับมหาวิทยาลัย

- ให้แต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการเอง ซึ่งไม่น่าจะทำได้ เพราะผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้มีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัย
- สร้างแผนผังการทำงานที่เป็นตัวอย่างกลางขึ้นมาก่อน แล้วค่อยทำการปรับเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่ได้รับ โดยอาจให้อิสระแต่ละมหาวิทยาลัยในการแก้ไข
- มหาวิทยาลัยอาจมองได้ว่าเป็นส่วนที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และไม่เห็นความสำคัญ โดยเฉพาะฝ่ายคณาจารย์ที่อาจมองว่าเป็นอุปสรรคในการตีพิมพ์หรือรับนิสิต หรือขอทุนเพื่อเดินทางไปประชุมวิขาการต่างประเทศ
- ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละมหาวิทยาลัยที่แตกต่างกัน และมุมมองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการให้ความสำคัญของงานนี้ (ภาระเพิ่มขึ้นที่มองเห็นได้ชัดว่ามีค่าใช้จ่ายและสร้างอุปสรรคในการทำงาน ในขณะที่ผลตอบแทนที่จะได้รับกลับเห็นไม่ชัด ยากที่จะประเมิน เนื่องจากงานวิจัยที่เข้าข่ายนั้นอาจเป็นส่วนที่น้อยมาก)
- การตรวจสอบการควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านั้นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแต่ละสถาบันการศึกษา (ให้มหาวิทยาลัยทำการตรวจสอบภายในด้วยตนเอง หรือมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยอื่น ที่มีการวางมาตรการร่วมกัน และใช้แนวปฏิบัติเดียวกัน เข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบด้วย)

.๗ การบังคับทางอ้อมให้ทางมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการ

- การบังคับผ่านผู้บังคับบัญชาโดยตรงของมหาวิทยาลัย (รัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการลงมายังอธิการบดี)
- สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหรืออยู่ในกำกับของรัฐ หรือบริษัทเอกชน ที่เป็นผู้ที่ให้ทุนวิจัย/ร่วมทำวิจัย ให้เห็นความสำคัญของปัญหานี้ เพื่อที่จะได้นำไปเป็นข้อกำหนดในการรับทุนว่า ผู้จะรับทุนวิจัย/ร่วมทำวิจัย (โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์) ได้นั้นจำเป็นต้องมาจากสถาบันที่มีการวางมาตรการในเรื่องนี้และมีการนำมาปฏิบัติการจริง และต้องได้รับการยืนยันจากระดับผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยว่า งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือเกี่ยวข้อง แต่ทางมหาวิทยาลัยมีระบบการตรวจสอบดูแลที่รัดกุม และต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบถ้าหากเกิดความผิดพลาดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: