วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562

สถานีรถไฟบ้านฉิมพลี MO Memoir : Wednesday 25 September 2562

การเข้าถึงของถนน นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างสู่ท้องถิ่น และก็ยังทำให้ความสำคัญของบางสิ่งหายไปได้เช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ "สถานีรถไฟ"

คำว่า "ฉิมพลี" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายเอาไว้ว่า [ฉิมพะลี] น. ไม้งิ้ว พอเอามาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นการบ่งบอกถึงต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เยอะในท้องถิ่นหรือเปล่า แต่ในอีกความหมายหนึ่งที่ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายไว้ก็คือ ครุฑมีวิมานที่สวยงามอยู่บนต้นงิ้วที่ยากที่ผู้ใดจะสามารถไปถึง ก็เลยมีการเปรียบเปรยสถานที่ที่สวยงามที่ยากที่ผู้ใดจะไปถึงได้นั้นว่า "วิมานฉิมพลี" ที่ถ้าแปลออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ แบบไม่ยึดติดเรื่องเล่าก็น่าจะเป็น "บ้านบนต้นงิ้ว"
             
แต่เวลากล่าวถึงต้นงิ้วทีไร เราก็มักจะคิดถึงเรื่องราวทำนองชู้สาวเป็นประจำ และจะว่าไปเรื่องเล่าเกี่ยวกับครุฑก็มีการลักพาเมียคนอื่นไปเป็นเมียตัวเองด้วยเหมือนกัน
 
รูปที่ ๑ แผนที่ทหารกรุงเทพฝั่งตะวันตก จัดทำโดยกองทัพอังกฤษที่ประจำอยู่ในอินเดีย (British-India) ฉบับพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) โดยใช้ข้อมูลที่มีการสำรวจในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ (พ.ศ. ๒๔๘๗) ประกอบการทำ สถานีรถไฟบ้านฉิมพลีอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง จุดดำ ๆ เล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปในแผนที่คือบริเวณที่ต้องของอาคารบ้านเรือน ซึ่งจะเห็นว่าจะเรียงตัวไปตามแนวคลองต่าง ๆ
  
แต่ก่อน ถ้าจะเดินทางโดยรถยนต์มายังบริเวณริมคลองมหาสวัสดิ์ ก็คงต้องใช้ถนนเพชรเกษม จากนั้นจึงค่อยตัดขึ้นเหนือโดยใช้ถนนพุทธมณฑลสายต่าง ๆ ที่มาสุดทางที่ชุมชนบริเวณริมคลองมหาสวัสดิ์ แต่พอมีถนนบรมราชชนนีและถนนสิรินธรตัดผ่าน บริเวณแถวนี้ก็เข้าถึงโดยรถยนต์จากทั้งสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและสะพานกรุงธนฯได้ง่ายขึ้น และเมื่อก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ก็มีการสร้างถนนเลียบทางรถไฟทั้งสองฝั่งจากทางขึ้นสะพานพระราม ๖ ไปจนถึงวงแหวนรอบนอก ตามด้วยการสร้างทางด่วนตามแนวทางรถไฟอีก ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่ห่างไกลจากถนนใหญ่และตัวเมืองกลายเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวกขึ้นมาทันที สถานนีรถไฟบางสถานีที่เคยเป็นสถานีหลักสำหรับให้คนท้องถิ่นอาศัยเดินทางเข้าเมืองก็เลยหมดความสำคัญไป อย่างเช่นสถานีรถไฟบ้านฉิมพลีนี้ ที่ตอนนี้กลายเป็นเพียงแค่ป้ายหยุดรถ
  
แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน ถ้าหากระบบรถไฟขนส่งมวลชนที่ตอนนี้มาสิ้นสุดที่ตลิ่งชัน เกิดในอนาคตมีการขยายเส้นทางออกมา สถานีนี้ก็อาจจะรุ่งเรืองกลับมาอีกก็ได้ เพราะมีสถานที่ราชการตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานี
 
รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๗๘ ตอนที่ ๙๕ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ เรื่อง "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดตั้งสุขาภิบาลตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี" หน้า ๒๓๘๓-๒๓๘๔ ปรากฏสถานีรถไฟฉิมพลีในกรอบสี่เหลี่ยมในรูป ดูจากแผนที่แล้วจะเห็นว่าการเดินทางทางบกเข้ามายังบริเวณนี้ในเวลานั้นคงต้องอาศัยรถไฟเป็นหลัก สถานีนี้ตั้งอยู่ใกล้กับคลองมหาสวัสดิ์และยังใกล้กับจุดบรรจบของคลองบางตาลและคลองบัว ดูจากตำแหน่งการกระจายตัวของบ้านเรื่อน การที่มีสถานีตำรวจ และร้านค้าอยู่ใกล้ ๆ ก็แสดงว่าน่าในอดีตนั้นน่าจะมีคนอยู่บริเวณนี้เยอะอยู่เหมือนกัน

เมื่อวานตอนกลับบ้านเลยถือโอกาสแวะไปถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย อันที่จริงตอนไปถึงดวงอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้าแล้ว แต่ที่เห็นภาพมันสว่างเพราะใช้กล้องดิจิตอล (Nikon D3500) ถ่ายโดยตั้งโปรแกรม P มันก็เลยเพิ่มความไวแสงให้อัตโนมัติไปที่ ISO 25600 ภาพมันก็เลยออกมาสว่างเกินจริงไปมาก Memoir ฉบับนี้ก็ถือว่าเป็นการบันทึกสถานที่ธรรมดาแห่งหนึ่งเอาไว้ก็แล้วกัน ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเค้าเดิม
         
รูปที่ ๓ ป้ายบอกชื่อสถานีด้านทิศตะวันออก รูปนี้เป็นการมองไปยังเส้นทางที่มาจากสถานีศาลาธรรมสพน์ (มองไปยังทิศตะวันตก)
         
รูปที่ ๔ เดินเลยป้ายชื่อสถานีมาหน่อย ยังเหลือม้านั่งเก่า ๆ สำหรับคนนั่งรอรถไฟ กับป้ายบอกชื่อสถานีถัดไป
         
รูปที่ ๕ ป้ายบอกชื่อสถานีที่อยู่ถัดไฟ ป้ายข้างหลังที่เป็นป้ายโลหะน่าจะเป็นป้ายที่เก่ากว่าป้ายด้านหน้าที่เป็นคอนกรีต
           
รูปที่ ๖ ป้ายนี้สนิมเขรอะแล้ว ไม่รู้ว่าต่อไปจะโดนถอดออกไปขายเป็นเศษเหล็กหรือเปล่า
          
รูปที่ ๗ อาคารศาลานี้ดูแล้วน่าจะเป็นตัวที่ทำการสถานีเก่า ที่รื้อเอาผนังกั้นห้องออกไป
         
รูปที่ ๘ ข้ามมายังชานชาลาที่อยู่ตรงกลาง เดินเลยมาจนเกือบสุดชานชาลาด้านทิศตะวันตก
          
รูปที่ ๙ ระหว่างเดินกลับย้อนกลับไปทางทิศตะวันออก ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเสียหน่อย คิดว่าถ้าหากมีการตัดหญ้าให้มันเรียบร้อยไม่รก ก็น่าจะใช้เป็นสวนหย่อมพักผ่อนสำหรับผู้ที่อยู่บริเวณนั้นได้
           
รูปที่ ๑๐ อาคารเก่าที่ยังคงสภาพอยู่ ไม่รู้ว่าเป็นอาคารอะไร ดูจากการที่มันไม่มีหน้าต่างด้านข้างก็เลยสงสัยว่าเป็นห้องน้ำหรือเปล่า

ไม่มีความคิดเห็น: