วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ก็ต่อกลับเข้าทางด้านขาเข้าปั๊มแทน MO Memoir : Wednesday 13 May 2563

เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ผ่านมา มีข้อความถามเข้ามาจากศิษย์เก่ารายหนึ่ง คือเขามีปัญหาเกี่ยวกับการผสมสารเคมีปรับสภาพสารในถังเก็บ คือระบบของเขาประกอบด้วย (รูปที่ ๑) ปั๊มที่สูบของเหลวจากถังเก็บจากมุมหนึ่งและป้อนกลับเข้าไปยังอีกมุมหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดการผสมของของเหลวในถัง ของเหลวที่ออกจากปั๊มจะแยกเป็นสองส่วน โดยของเหลวส่วนใหญ่จะวนกลับไปยังถังเก็บโดยตรง จะมีการแยกของเหลวส่วนน้อยออกมาส่วนหนึ่ง (ที่จุด 1 ตามเส้นสีแดง) ไปยังระบบผสมสารเคมี (Chemical Dosing Unit) ที่ใช้ในการปรับสภาพของเหลวในถังเก็บ จากนั้นจะกลับไปบรรจบกับเส้นทางหลัก (ที่จุด 3) ก่อนเข้า Static mixer (อุปกรณ์ที่ติดตั้งในระบบท่อเพื่อทำให้เกิดการไหลปั่นป่วนในเส้นท่อ เพื่อทำการผสมของเหลวให้เป็นเนื้อเดียวกัน) โดยเส้นทางนี้จะมีอัตราการไหลที่ต่ำกว่าเส้นทางหลัก
  
ปัญหาที่เกิดก็คือ ของเหลวที่ไหลไปทางเส้นระบบผสมสารเคมีนั้นไม่สามารถไหลเข้ามาผสมกับเส้นทางหลักที่จุด 3 ได้ สาเหตุก็เป็นเพราะเส้นทางหลักนั้นเป็นเส้นทางที่สั้นกว่าและมีความต้านทานการไหลที่ต่ำกว่า ในขณะที่เส้นทางไประบบผสมสารเคมีนั้นเป็นเส้นทางที่เล็กกว่าและมีความต้านทานการไหลที่สูงกว่า การไหลหมุนเวียนตามเส้นสีแดงจึงไม่เกิด
  
รูปที่ ๑ แผนผังระบบสูบของเหลวไหลหมุนเวียนและเติมสารเคมี

คำถามที่เขาถามผมก็คือ ถ้าเขาติดวาล์วที่ตำแหน่ง 2 แล้วหรี่วาล์ว จะทำให้ของเหลวจากระบบผสมสารเคมีไหลเข้าที่ตำแหน่ง 3 ได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ ถ้าหรี่มากพอ มันก็ไหลเข้าได้ แต่สิ่งที่ต้องคิดก็คือ ยังสามารถรักษาอัตราการไหลรวมได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อดูจากขนาดท่อแล้วคิดว่าไม่น่าจะได้ เพราะท่อเส้นทางสีแดงนั้นเล็กกว่าท่อเส้นทางสีดำอยู่มาก
  
เส้นทางที่ผมแนะให้เขาก็คือ ให้ต่อท่อเข้าทางด้านขาเข้าปั๊ม (จุด 4) แทน เพราะด้านนี้เป็นด้านที่มีความดันที่ต่ำกว่าทางด้านขาออกของปั๊ม แต่ต้องพิจารณาด้วยว่า สารเคมีที่ผสมเข้าไปนั้นก่อปัญหาอะไรกับตัวปั๊มด้วยหรือไม่
  
อันที่จริงการแก้ปัญหาตรงนี้มันมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับระบบ อย่างเช่นป้อนสายที่มาจากหน่วยผสมสารเคมีไปที่ถังเก็บของเหลวเลยได้ไหม โดยเข้าไปที่ตำแหน่งท่อไหลหมุนเวียนกลับป้อนของเหลวกลับคืนถัง (แต่นั่นหมายถึง static mixer ที่ติดตั้งอยู่จะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร)
  
การผสมเข้ากลับคืนยังจุด 3 ก็อาจกระทำได้ ถ้าเราไป "ลดความดัน" เส้นทางไหลหลัก ณ จุดเชื่อมต่อนั้นให้ต่ำลง ซึ่งทำได้ด้วยการ "เพิ่มความเร็ว" ของเหลวที่ไหลผ่าน ณ จุดนั้น ซึ่งอันนี้ก็คือหลักการของท่อเวนจูรี่ (Venturi) นั่นเอง
  
พลังงานของของไหลที่ไหลอยู่ในท่อนั้น (ไม่นับพลังงานศักย์) ประกอบด้วยพลังจลน์และความดัน จากกฎการอนุรักษ์พลังงาน ถ้าเราไปเพิ่มพลังงานจลน์ ความดันก็จะลดต่ำลง การเพิ่มพลังงานจลน์ทำได้ด้วยการเพิ่มความเร็วการไหล ซึ่งในกรณีนี้ทำได้ด้วยการลดพื้นที่หน้าตัดการไหลให้เล็กลง (รูปที่ ๒)
  
รูปที่ ๒ โดยหลักการของท่อเวนจูรี่นั้น ของไหลที่ไหลเข้ามาด้วยความเร็ว V1 และความดัน P1 เมื่อไหลผ่านพื้นที่หน้าตัดที่เล็กลง ความเร็วจะเป็น V2 ที่สูงกว่า V1 ในขณะที่ความดันจะเป็น P2 ที่ต่ำกว่า P1 ทำให้ของไหลเข้าที่ตำแหน่งเส้นลูกศรสีแดงนั้นได้ง่ายขึ้น

ในกรณีที่การบรรจบต่อตั้งฉากเข้าโดยตรงกับท่อหลังยังมีปัญหาอยู่ ก็อาจแก้ด้วยการต่อท่อเล็กสอดเข้าไปภาย โดยให้ทิศทางการไหลออกจากท่อเล็กนั้นไปในทิศทางเดียวกับการไหลในท่อใหญ่ (รูปที่ ๓)
  
รูปที่ ๓ เส้นสีแดงคือท่อเส้นทางการไหลต่ำที่ต้องการผสม ลูกศรสีดำแสดงทิศทางการไหลในท่อหลัก

การทำงานแบบ Ejector ก็เป็นอีกแบบหนึ่งในการดึงเอาสายความดันต่ำเข้ามาผสมกับสายความดันสูง ในการทำงานนี้จะใช้การฉีดสายความดันสูงให้ไหลผ่านท่อเวนจูรี่ด้วยความเร็วสูง (รูปที่ ๔) สายความดันต่ำก็จะถูกดูดเข้ามาผสมกับสายการไหลหลักได้เช่นกัน วิธีการนี้มักนิยมใช้ในการทำสุญญากาศด้วยการใช้ไอน้ำฉีดพ่นเข้าไปที่ท่อเวนจูรี่เพื่อดึงแก๊สออกจากระบบ เพราะไอน้ำ (หรือแก๊สใด ๆ) ที่ความดันสูงเมื่อถูกฉีดพ่นออกมาที่ความดันที่ต่ำลง ปริมาณจะเพิ่มขึ้น ทำให้ความเร็วในการไหลนั้นเพิ่มสูงขึ้นมาก
  
รูปที่ ๔ หลักการทำงานของ Ejector

สำหรับวันนี้ ก็คงจะขอจบเพียงแค่นี้

ไม่มีความคิดเห็น: