วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

สถานีรถไฟบ้านกล้วย MO Memoir : Monday 20 February 2566

ภาพถ่ายที่บันทึกเก็บเอาไว้เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วยังลงไม่หมด ก็เลยต้องขอนำเอามาลงต่ออีก คราวนี้เป็นสถานที่ธรรมดาแห่งหนึ่งที่อยู่ระหว่างเจ็ดเสมียนกับราชบุรี ลองค้นราชกิจจานุเบกษาดูแล้ว แทบไม่มีการกล่าวถึงเลย ฉบับสุดที่ค้นเจอเป็นปีพ.ศ. ๒๔๖๑ ก็เมื่อกว่าร้อยปีแล้ว แต่ตอนนั้นบอกว่าตำบลท่าราบอยู่ในอำเภอหัวโพ (ซึ่งตอนนี้ไม่รู้เป็นอะไรไปแล้ว) จังหวัดราชบุรี

ในอดีต สมัยที่ทางรถไฟยังเป็นการคมนาคมหลักทางบกและยังใช้ระบบรางเดี่ยวอยู่ การมีสถานีรถไฟตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อการเดินทางและเพื่อให้สับหลีกสวนทางกันได้ก็มีความจำเป็น แต่เมื่อมีการพัฒนาขึ้นเป็นระบบรางคู่ที่การสับหลีกนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป อีกทั้งการตั้งถิ่นฐานของชุมชนก็ย้ายไปอยู่ริมถนนและใช้การเดินทางโดยรถยนต์เป็นหลักแทน ก็เลยทำให้เกิดข้อสงสัยเหมือนกันว่าบรรดาสถานีเล็ก ๆ ที่ดูแล้วไม่น่าจะมีผู้ใช้บริการเท่าใดนัก (ดูจากจำนวนขบวนรถที่หยุด) จำเป็นไหมที่ต้องสร้างอาคารใหม่ที่มีขนาดใหญ่ทัดเทียมกับสถานีอื่นที่ยังมีคนใช้บริการมากอยู่ หรือว่าในอนาคตมีโครงการที่จะเดินรถไฟชานเมืองที่สามารถทำเวลาเดินทางไม่แพ้หรือดีกว่าการเดินทางโดยรถยนต์เพื่อดึงดูดให้คนกลับมาโดยสารรถไฟอีกครั้ง (ก็น่าจะดีนะถ้าสามารถนั่งรถไฟเที่ยวหัวหินแบบไปเช้าเย็นกลับได้)

สำหรับวันนี้ก็คงเป็นการบันทึกภาพสถานที่ธรรมดาแห่งหนึ่งเอาไว้เช่นเคย ว่าได้มีโอกาสแวะผ่านไป

รูปที่ ๑ แผนที่ British-India ปีค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) บริเวณบ้านกล้วย (ในกรอบสีเหลือง) และราชบุรี จุดดำ ๆ คือที่ตั้งชุมชน จะเห็นว่ามีชุมชมอยู่ทั้งสองฝั่งลำน้ำแม่กลองตลอดแนว

รูปที่ ๒ ตัวสถานีอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทางรถไฟ รูปนี้มองไปยังทิศใต้ (เส้นทางมุ่งหน้าไปราชบุรี)

รูปที่ ๓ เดินเข้ามาใกล้ตัวสถานีเก่าหน่อย ยังมาทันเห็นก่อนถูกรื้อ

รูปที่ ๔ ป้ายบอกรายชื่อสถานีถัดไป เก็บภาพเอาไว้ได้ก่อนถูกรื้อถอน

รูปที่ ๕ ตัวอาคารสถานีเก่า

รูปที่ ๖ ป้ายชื่อสถานีที่ตัวอาคาร

รูปที่ ๗ ตัวอาคารสถานีใหม่สร้างทางทิศใต้ของตัวอาคารเดิม

รูปที่ ๘ รูปนี้มองย้อนกลับไปยังทิศทางที่มาจากเจ็ดเสมียน

รูปที่ ๙ ป้ายชื่อสถานีที่อยู่ปลายชานชาลาเก่าด้านทิศใต้ ตัวชานชาลาหายไปแล้ว มีแต่ต้นไม้ขึ้นรกแทน บรรยากาศเก่าของตัวสถานีที่มีคนโพสไว้บน YouTube เมื่อ ๘ ปีที่แล้วดูได้ที่คลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=6UmVJL0r34Q

รูปที่ ๑๐ เสารับ-ส่งห่วงทางสะดวกและตัวอาคารเก่า มองไปยังทิศทางที่มาจากเจ็ดเสมียน

รูปที่ ๑๑ จุดที่เป็นทางตัดของถนนเดิม ตอนนี้ต้องไปใช้สะพานกลับรถที่อยู่ทางด้านทิศเหนือแทน

รูปที่ ๑๒ ราชกิจจานุเบกษาปีพ.ศ. ๒๔๖๑ ระบุว่าตำบลท่าราบอยู่ในอำเภอหัวโพ จังหวัดราชบุรี ไม่รู้ตำบลหัวโพปัจจุบันคือบ้านหัวโพหรือเปล่า

ไม่มีความคิดเห็น: