วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เพลิงไหม้ถังเก็บน้ำมันเบนซินที่เกิดจากน้ำมันล้นถัง MO Memoir : Wednesday 26 June 2567

เหตุการณ์นี้นับว่าใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดที่มาบตาพุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามาก ไม่ว่าจะเป็นชนิดและปริมาณของน้ำมัน ระดับความสูงของน้ำมันในถังเก็บ และรูปแบบการฉีกขาดของหลังคาถังกับส่วนลำตัว แต่ด้วยการที่หลังคาถังไม่ยุบตัวลงไปใต้ผิวน้ำมัน (เพราะมีหลังคาลอยอยู่ข้างใต้อีกชั้นหนึ่ง) ทำให้การดับเพลิงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องใช้เวลาถึง ๕ วันจึงถือได้ว่าดับเพลิงได้สมบูรณ์

รูปที่ ๑ ภาพขณะเพลิงกำลังลุกไหม้ จะเห็นน้ำมันที่ไหลล้นออกมาทาง "Overflow vent" และ "Eyebron vent" ลุกติดไฟเป็นทางลงมาข้างล่าง (แหล่งที่มาของรูปไม่ได้ให้คำอธิบายใด ๆ สาเหตุที่เป็นไปได้คาดว่าน่าจะเกิดจากการฉีดอัดโฟมเข้าทางด้านล่าง (Subsurface injection) โดยหวังให้โฟมลอยไปปิดคลุมผิวน้ำมันด้านบน เพราะมีการกล่าวถึงในบทความ รูปที่ ๑ และ ๘ นำมาจาก https://www.flickr.com/photos/jaxfiremuseum/albums/72157645849543064/

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้เป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้ถังเก็บน้ำมันเบนซิน (gasoline) ที่ Steuart Petroleum ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) หรือก่อนเหตุการณ์ที่มาบตาพุด ๓๑ ปีเศษ รายละเอียดของเหตุการณ์ได้มาจากบทความฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง "Tank Fires : Review of fire incidents 1951-2003" จัดทำโดย Henry Persson และ Anders Lönnermark เอกสารต้นฉบับน่าจะไม่ใช่ภาษาอังกฤษเพราะใช้ comma (,) แทนจุดทศนิยม

ถังที่เกิดเหตุนั้นเป็นชนิด Internal floating roof ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30.5 เมตร (รูปที่ ๒) ตัวบทความไม่มีความสูงของส่วนลำตัวทรงกระบอก แต่จากปริมาตรน้ำมันที่บรรจุจนล้นส่วนลำตัวทรงกระบอก (8700 m3) ทำให้คำนวณความสูงของส่วนลำตัวทรงกระบอกได้ประมาณ 11.9 เมตร

รูปที่ ๒ ลักษณะถังน้ำมันที่เกิดเหตุ (ตารางบน) และการดับเพลิง (ตารางล่าง) ข้อมูลในตารางล่างนั้นเป็นการดับเพลิงครั้งสุดท้ายหลังจากที่ไหม้มาแล้ว 4.5 วัน ใช้เวลาในการควบคุมเพลิง 55 นาทีและในการดับ 1.57ชั่วโมง (แต่ดับเสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบไม่มีไฟประทุก็ข้ามไปอีกวัน)

ในเหตุการณ์ที่มาบตาพุดนั้น ข้อมูลบางแหล่งบอกว่าถังกว้าง 26 เมตร สูง 19 เมตร มีน้ำมันประมาณ 8000 m3 ซึ่งจะคำนวณระดับความสูงน้ำมันในถังได้ 15 เมตร ซึ่งถ้าเป็นตามนี้ตัวเลขนี้ก็จะเป็นส่วนสูงของส่วนลำตัวทรงกระบอก

ก่อนจะเข้าสู่เหตุการณ์ ลองมาทำความรู้จักกับ internal floating roof tank กันหน่อย (รูปที่ ๓) เพราะในคำบรรยายเหตุการณ์นั้นมีการกล่าวถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ internal floating roof tank

ในการเก็บรักษาเชื้อเพลิงที่มีองค์ประกอบที่ระเหยได้ง่าย (เช่นมันมันเบนซิน, น้ำมันดิบ) เพื่อลดการระเหยขององค์ประกอบที่ระเหยได้ง่ายนี้ก็จะเก็บในถังแบบ floating roof ที่หลังคาถังลอยขึ้นลงตามระดับความสูงของน้ำมัน หลังคาแบบนี้ทำให้ไม่มีที่ว่างเหนือผิวของเหลว องค์ประกอบที่ระเหยได้ง่ายจึงไม่สามารถระเหยออกไปได้ แต่หลังคาแบบนี้ต้องออกแบบระบบระบายน้ำฝนที่ตกใส่หลังคา เพราะถ้ามันมีมากเกินไป น้ำหนักของน้ำฝนที่สะสมก็จะทำให้หลังคาจมได้ หรือไม่ก็ทำ fixed roof ครอบปิดทับ floating roof เอาไว้เลย ซึ่งทำให้กันได้ทั้งน้ำฝนและหิมะ

ที่ว่างเหนือ floating roof และใต้ fixed-roof ควรมีแต่อากาศ (เพราะ floating roof ป้องกันไม่ให้น้ำมันระเหยออกมา) ดังนั้นช่องระบายให้อากาศไหลเข้า-ออกเวลาที่หลังคาลดระดับต่ำลงหรือลอยสูงขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ลดปริมาณไอน้ำมันระเหยออก/อากาศไหลเข้าเช่น breather valve หรือเปลวไฟไหลย้อนเข้าไปในถัง (เช่น flame arrester) ในรูปที่ ๓ นั้นจะมีช่องระบายอากาศที่เรียกว่า eyebrow vent อยู่รอบขอบล่างของ fixed roof การที่จะดูว่าถัง fixed-roof ที่เห็นนั้นมี internal floating roof อยู่ภายในหรือไม่ก็ดูได้จากการมี eyebrow vent นี้หรือไม่ เพราะถ้าเป็นถัง fixed-roof ที่ไม่มี internal floating roof อยู่ภายใน มันจะไม่มี eyebrow vent

ตัวของ floating roof นั้นจะลอยขึ้นไปได้สูงระดับหนึ่งก่อนที่จะถูกหยุด ดังนั้นถ้าหาก floating roof ลอยจนถึงตำแหน่งสูงสุดแล้วแต่ยังไม่หยุดจ่ายน้ำมันเข้าถัง ความดันในถังก็อาจสูงจนทำให้เกิดความเสียหายต่อถังเก็บได้ จึงจำเป็นต้องมีช่องระบายของเหลวส่วนเกินออกที่เรียกว่า overflow vent อยู่ทางด้านข้างของถัง (คือถ้าเป็นถังแบบ fixed roof ธรรมดามันไม่จำเป็นต้องมี เพราะระดับน้ำมันที่สูงเกินกว่าความสูงของส่วนลำตัวทรงกระบอกจะไปไหลล้นออกทางช่องระบายอากาศแทน

 
รูปที่ ๓ ตัวอย่างโครงสร้างของ internal floating roof tank เลข 1 มุมขวาบนคือ eyebrow vent ที่ไว้สำหรับระบายอากาศ ส่วนเลข 2 ที่มุมซ้ายบนคือ overflow vent สำหรับให้น้ำมันที่ล้นถังไหลออกมา ส่วน centre vent ที่อยู่ที่ตำแหน่งสูงสุดนั้นมีไว้เพื่อระบายแก๊สที่เบากว่าอากาศ

รูปที่ ๔ คำบรรยายเหตุการณ์ในช่วงแรกที่เกิด

การระเบิดเกิดขึ้นเมื่อเวลา 3.15 น ของวันที่ ๒ มกราคม (รูปที่ ๔) โดยเกิดจากน้ำมันเบนซินที่ไหลล้นออกมา ทำให้โอเปอร์เรเตอร์ที่เข้าไปตรวจสอบสถานที่เสียชีวิต ๑ ราย (ดูแล้วระบบน่าจะมีปัญหา ก็เลยส่งโอเปอร์เรเตอร์เข้าไปตรวจสอบ) ไม่สามารถระบุแหล่งจุดระเบิดได้ว่าเกิดจากอะไร แต่มึความเป็นไปได้ทั้งจากรถยนต์ที่โอเปอร์เรเตอร์ขับเข้าไป (คงเข้าไปในกลุ่มไอน้ำมันที่ระเหยออกมา), การเบียดอัดกันของ internal floating roof กับ fixed cone roof, และจากการไหลล้นของน้ำมัน (คงหมายถึงไฟฟ้าสถิต เพราะช่วงเวลาดังกล่าวของปีเป็นหน้าหนาวที่อากาศแห้ง) ไฟที่อยู่บนพื้นด้านล่างครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 เอเคอร์ (2 ไร่ครึ่ง) แต่ก็สามารถควบคุมได้ในเวลาไม่นาน แต่ในเวลานั้นก็ยังมีน้ำมันไหลล้นออกทาง "overfill tank's eyebrow vent" ทำให้การดับเพลิงที่ระดับพื้นทำได้ลำบาก

แรงระเบิดทำให้ fixed roof ด้านบนยุบตัวลงมาบางส่วนมาทับอยู่บน internal floating roof ทำให้เกิดเป็นที่ว่างระหว่างด้านบนของ internal floating roof กับใต้ fixed roof และยังเกิดแนวฉีกขาดแบบ "fishmouth" ทางด้านข้างด้านหนึ่งของถัง (เกิดจากแนวรอยเชื่อมยึดระหว่าง fixed roof กับส่วนลำตัวถังฉีกขาดเป็นบางส่วน)

คือถ้าตัว fixed roof หลุดลงมาอยู่ต่ำกว่าความสูงของส่วนลำตัวทรงกระบอก ก็จะสามารถฉีดโฟมเข้าไปปิดคลุมด้านบนถังได้ เพราะมันมีขอบผนังของถังป้องกันไม่ให้โฟมไหลลงออกมานอกถัง จะทำให้การดับเพลิงทำได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นในกรณีของเหตุการณ์ที่มาบตาพุดจะเห็นว่า ในช่วงแรกนั้นเพลิงยังไม่รุนแรง แต่ไม่สามารถดับได้ แต่พอหลังคายุบตัวจมลงไปในถัง สามารถดับได้อย่างรวดเร็ว

รูปที่ ๕ ตัวอย่าง "Foam wand" ที่ใช้ในการฉีดโฟมเข้าทางด้านบนของถัง (ตัวสีแดงด้านซ้าย) รูปขวาเป็นรูปแบบการใช้งาน ภาพต้นฉบับมีขนาดเล็ก พอขยายขึ้นมาเพื่อให้พอจะเดาตัวหนังสือได้ ภาพก็เลยไม่ค่อยคมชัด

ก่อนจะเข้าสู่เหตุการณ์การผจญเพลิง ลองมาทำความรู้จัก "Foam wand" ที่เป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่มีการกล่าวถึงในบทความกันก่อน (รูปที่ ๕) ตัวอย่างหนึ่งของอุปกรณ์นี้มีลักษณะเป็นท่อดังแสดงในรูปที่ ๕ ในการใช้งานก็เอาท่อนี้พาดเข้ากับขอบด้านบนของถัง ส่วนปลายด้านล่างต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดโฟม แต่จากในรูปที่แสดงนั้นระดับผิวของเหลวในถังนั้นต้องอยู่ต่ำกว่าปลายล่างสุดของปลายท่อด้านบน แต่ในเหตุการณ์นี้แตกต่างออกไป เพราะน้ำมันมันล้นถังออกมา ทำให้ปลายท่อด้านบนนั้นจมอยู่ใต้พื้นผิวน้ำมัน ก่อให้เกิดปัญหา "กาลักน้ำ" ที่จะกล่าวถึงต่อไป

รูปที่ ๖ การพยายามระงับเหตุในข่วงแรก

การใช้โฟมดับเพลิงที่ไหม้ถังอยู่เริ่มหลังจากเกิดเหตุเพียงชั่วโมงเศษ (รูปที่ ๖) มีทั้งการฉีดเข้าทางด้านบน (over the top), ฉีดเข้าทาง eyebrow vent, การฉีดเข้าทางด้านล่างของถัง (subsurface injection ที่ให้โฟมลอยขึ้นด้านบน) แต่ความพยายามแต่ละครั้งทำให้น้ำมันไหลล้นออกมาจนทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่ระดับพื้นดินอีก (ตรงนี้น่าจะเป็นผลของการฉีดเข้าทางด้านล่างดังที่ได้เกริ่นไปในบทความเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนาที่ผ่านมา) จนกระทั่งวันที่ ๔ (ไหม้มาแล้วสองวัน) ก็มีการใช้ foam wand ที่ขึ้นรูปเป็นพิเศษเพื่อฉีดโฟมเข้าทางด้านบน แต่ก็เกิดปัญหาตามมาเมื่อการฉีดโฟมหยุดชะงัก เพราะน้ำมันในถังนั้นไหลย้อนเข้ามาทางท่อฉีดโฟม (ปรากฏการณ์กาลักน้ำ) เพราะปลายท่อด้านบนของ foam wand นั้นอยู่ใต้ผิวน้ำมัน

รูปที่ ๗ การพยายามดับเพลิงครั้งสุดท้ายที่ประสบความสำเร็จ

การดับเพลิงที่ประสบความสำเร็จเริ่มในวันที่ ๖ มกราคมเมื่อเวลาสามทุ่มเศษ (ไฟไหม้มาแล้ว ๔ วัน - รูปที่ ๗) ตอนที่ดับเพลิงได้นั้นมีน้ำมันเหลืออยู่ในถังประมาณ 7500 m3 ก็เรียกว่าไหม้ไป 1000 m3 ซึ่งเมื่อนำตัวเลขน้ำมันที่หายไปนี้ไปหักออกจากความสูงเริ่มต้นของระดับน้ำมัน ก็จะได้ว่าระดับน้ำมันในถังลดต่ำลงประมาณ 1.5 เมตร ทำให้มีขอบผนังถังที่จะรักษาให้โฟมลอยอยู่บผิวบนของถังได้ และน้ำมันไม่ไหลล้นออกมา

การควบคุมเพลิงเกือบทั้งหมดทำได้เมื่อเวลาประมาณห้าทุ่มเศษของคืนวันที่ ๖ มกราคม (เกือบสองชั่วโมงหลังเริ่มปฏิบัติการ) แต่ในวันที่ ๗ ก็ยังมีไฟกลับมาลุกติดใหม่และยังต้องเฝ้าระวังอีก ๓๒ ชั่วโมง (คือข้ามไปถึงวันที่ ๙ มกราคม)

ณ เวลาที่เกิดเหตุนั้น เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นเหตุเพลิงไหม้ internal floating roof tank ที่ใหญ่ที่สุด ที่สามารถทำการดับเพลิงได้เป็นผลสำเร็จ

รูปที่ ๘ ในรูปนี้ยังมีการฉีดโฟมอยุ่ จะเห็นว่ายังมีไฟลุกอยู่บางตำแหน่ง โดยมีการฉีดโฟมลงไปทางด้านบน และเล็งไปที่ช่อง overflow vent

แล้วในระหว่างที่ไฟไหม้อยู่นั้น ผู้ผจญเพลิงจะรู้ได้อย่างไรว่าระดับน้ำมันในถังอยู่ตรงไหน ตรงนี้สังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงผิวโลหะของถัง เพราะเนื้อโลหะส่วนที่ร้อนจัดจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพ รูปที่ ๙ นำมาจากบทความเรื่อง "Fire during receiving gasoline at an inner floating tank" (https://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1300007.html) เป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้ถังเก็บน้ำมันเบนซินขนาดความจุ 2000 m3 เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕) ในเหตุการณ์นี้ตัว fixed roof นั้นปลิวหลุดออกไป พึงสังเกตว่าลำตัวถังส่วนที่อยู่ใต้ระดับผิวน้ำมันในถังจะไม่ได้รับผลกระทบจากเปลวไฟ ในขณะที่เนื้อโลหะส่วนที่อยู่เหนือระดับของเหลวนั้นได้รับความร้อนจากเปลวไฟจนสีที่ทาไว้ไหม้ไปหมด และเหล็กกลายเป็นเหล็กออกไซด์ ในเหตุการณ์นี้เพลิงไหม้เกิดขึ้นเฉพาะในถังเก็บ ไม่มีการลุกลามออกมาไหม้ข้างนอก และหลังคาถังปลิวหลุดออกไป

ในเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่มาบตาพุดนั้น หลังเพลิงสงบภาพถ่ายถังต้นเพลิงแสดงให้เห็นว่ามีน้ำมันอยู่เต็ม ส่วนถังอีกใบที่อยู่ข้าง ๆ กันนั้นแม้จะโดนเปลวไฟครอกจากทางด้านนอก แต่สภาพลำตัวนั้นยังดีอยู่ (มีแต่คราบเขม่าดำ) นั่นแสดงว่าถังใบนั้นก็ควรมีน้ำมันบรรจุอยู่เต็มเหมือนกัน และเมื่อตัว fixed roof ยุบตัวลงไปในถัง ทำให้น้ำมันในถังกระฉอกออกมาภายนอกกลายเป็น pool fire ในเขต tank bund และ full surface fire ในถัง แต่การกระฉอกออกมาข้างนอกทำให้ระดับน้ำมันในถังลดต่ำลงกว่าขอบถัง จึงมีผนังกั้นสำหรับโฟมที่ฉีดลงไปบนผิวน้ำมัน การดับเพลิงจึงทำได้ง่ายขึ้น

รูปที่ ๙ จะเห็นว่าโลหะที่อยู่เหนือผิวของเหลวได้รับความร้อนจากเปลวไฟจนสูญเสียรูปร่างและกลายเป็นสนิม ในขณะที่ส่วนที่อยู่ต่ำกว่าระดับของเหลวยังอยู่ในสภาพดี สีที่ทาไว้ไม่มีรอยไหม้ 
 

หมายเหตุ : บทความที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้
"การระเบิดของถังเก็บPyrolysis gasolineที่มาบตาพุด" MO Memoir : Saturday 11 May 2567
"การดับเพลิงไหม้Fixed roof tankเมื่อมีน้ำมันอยู่เต็มถัง" MO Memoir : Sunday 23 June 2567

 

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2567

การดับเพลิงไหม้ Fixed roof tank เมื่อมีน้ำมันอยู่เต็มถัง MO Memoir : Sunday 23 June 2567

"ถ้าเกิดเพลิงไหม้ถังเก็บน้ำมัน แล้วจะดับไฟอย่างไร" ตรงนี้ถ้าค้นดูในอินเทอร์เน็ต (ด้วยคำค้นหาภาษาอังกฤษ) ก็จะพบคู่มือปฏิบัติเผยแพร่กันหลากหลาย แต่ก็มีสิ่งที่เหมือนกันคือ เทคนิคนั้นขึ้นกับชนิดของถังเก็บว่าใช้หลังคาแบบไหน และรูปแบบเพลิงไหม้นั้นเป็นแบบไหน

แต่ที่นำมาเขึยนในวันนี้เพราะมีบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีของเพลิงไหม้ที่เกี่ยวข้องกับถังเก็บชนิด fixed roof หรือ cone roof ที่สงสัยและยังหาคำตอบไม่ได้ เลยต้องขอนำมาบันทึกไว้ก่อน เผื่อมีผู้รู้มาให้คำอธิบายเพิ่มเติม

รูปที่ ๑ - ๔ และ ๗ และเนื้อหาที่นำมาเล่านี้นำมาจากเอกสาร "BP Process Safety Series : Liquid Hydrocarbon Storage Tank Fires : Prevention and Response" จัดทำโดยบริษัท BP และ IChemE ประเทศอังกฤษ ฉบับที่นำมาใช้นั้นเป็น 4th ed พิมพ์ในปีค.ศ. ๒๐๐๘ (พ.ศ. ๒๕๕๑)

ถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นมีรูปแบบหลักอยู่ ๓ รูปแบบคือ (รูปที่ ๑)

๑. Fixed roof หรือ Cone roof ซึ่งเป็นชนิดที่หลังคาถังถูกเชื่อมติดกับส่วนลำตัวทรงกระบอก

๒. Floating roof ซึ่งเป็นชนิดที่หลังคานั้นลอยขึ้น-ลงตามระดับของเหลวในถัง และ

๓. Internal floating roof ที่เป็นชนิดมีหลังคาลอยขึ้น- ลงตามระดับของเหลวในถัง และมีหลังคาคลุมด้านบนของส่วนลำตัวทรงกระบอกอีกขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีหิมะ (หรือน้ำฝน) ลงไปสะสมบนหลังคาลอย ซึ่งถ้ามีมากเกินไปก็จะทำให้หลังคาลอยนั้นจมได้

ถังเก็บแบบ fixed roof มักจะใช้กับของเหลวที่ไม่ติดไฟและมีจุดเดือดสูง หรือของเหลวที่มีอุณหภูมิจุดวาบไฟสูงกว่าอุณหภูมิห้อง ส่วนถังเก็บแบบหลังคาลอยมักจะใช้กับของเหลวที่มีจุดเดือดต่ำ หรือมีอุณหภูมิจุดวาบไฟต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง

รูปที่ ๑ ๓ รูปแบบหลักของถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศ

แต่ไม่ว่าจะเป็นถังเก็บของเหลวแบบไหน มันจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันอยู่คือ ระดับความสูงของเหลวสูงสุดในการเก็บนั้นจะต่ำกว่าระดับความสูงของส่วนลำตัวทรงกระบอก

ในกรณีของถังชนิด fixed roof นั้น ที่ว่างใต้หลังคาจะเป็นไอผสมระหว่างอากาศกับเชื้อเพลิง (เว้นแต่ว่ามีการใช้ไนโตรเจนเข้าแทนที่อากาศ) ดังนั้นมันจึงมีโอกาสที่ไอผสมนี้จะเกิดการระเบิดได้ เพื่อไม่ให้เชื้อเพลิงที่อยู่ในถังกระจายออกไปทั่วถ้าเกิดการระเบิด จึงออกแบบให้แนวรอยเชื่อมระหว่างส่วนลำตัวทรงกระบอกและหลังคาถังนั้นมีความแข็งแรงน้อยกว่าแนวอื่น เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดการระเบิดขึ้นภายใน ฝาถังจะเปิดออกหรือปลิวออกไป ก่อนที่ลำตัวจะฉีกขาด ทำให้ลำตัวถังยังสามารถกักเก็บของเหลวเอาไว้ได้

ถ้าหลังคาถังปลิวออกไป ก็จะเกิดเพลิงไหม้รูปแบบที่เรียกว่า pool fire หรือ full surface fire ส่วนจะดับได้ง่ายหรือยากก็คงขึ้นอยู่กับขนาดของถัง แต่อย่างน้อยก็ยังสามารถฉีดโฟมเข้าทางด้านบนได้

แต่ถ้าการระเบิดนั้นไม่รุนแรง หลังคาถังยังคงยึดติดกับส่วนลำตัว โดยมีการฉีกขนาดเพียงแค่บางส่วนตามแนวรอยเชื่อมระหว่างหลังคาถังกับส่วนลำตัว เกิดเป็นช่องเปิดที่เรียกว่า "fishmouth" (รูปที่ ๒) เอกสารของ BP กล่าวว่าเพลิงไหม้รูปแบบนี้ยากในการดับ เพราะไม่สามารถฉีดโฟมเข้าไปดับจากทางด้านบนได้ พนักงานดับเพลิงจำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณ bunded area (bund คือกำแพงกั้นกันของเหลวแผ่กระจายออกไป ถ้าโครงสร้างลำตัวถังนั้นเสียหายจนไม่สามารถเก็บของเหลวได้) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายสูง

รูปที่ ๒ ตัวอย่างเพลิงไหม้ถังเก็บชนิด fixed roof ที่ฝาถังไม่ปลิวออก แต่แนวรอยเชื่อมฉีกขาดเป็นช่องเปิดตามแนวเส้นรอบวง ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "fishmouth"

ในกรณีเช่นนี้การดับเพลิงสามารถกระทำได้ด้วยการฉีดโฟมเข้าทางด้านล่างของถัง เพื่อให้โฟมลอยขึ้นไปปิดคลุมผิวหน้าน้ำมัน (รูปที่ ๓) หรือถ้ามีท่อฉีดโฟมอยู่ทางด้านบนของส่วนลำตัวทรงกระบอก ก็สามารถฉีดโฟมเข้าทางท่อนั้นเพื่อให้โฟมตกลงไปปิดคลุมผิวหน้าน้ำมัน (รูปที่ ๔)

รูปที่ ๓ การฉีดโฟมเข้าทางก้นถังและให้โฟมลอยขึ้นไปปิดคลุมผิวหน้าน้ำมันในถัง

รูปที่ ๔ การฉีดโฟมเข้าทางขอบบนของส่วนลำตัวทรงกระบอกและให้โฟมตกลงไปปิดคลุมผิวหน้าน้ำมันในถัง

แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีการไหน ระดับน้ำมันในถังจะต้องอยู่ต่ำกว่าความสูงของส่วนลำตัวทรงกระบอก ประเด็นที่สงสัยก็คือ ถ้าระดับน้ำมันในถังเกิดสูงถึงระดับความสูงของส่วนลำตัวทรงกระบอก (ที่เป็นระดับเดียวกับแนวฉีกขาด และคงสูงกว่าระดับทางเข้าท่อฉีดโฟมที่อยู่บนสุด) จะดับเพลิงอย่างไร เพราะถ้าฉีดโฟมเข้าไป (ไม่ว่าจากทางด้านล่างหรือเข้าทางท่อด้านบน) มันก็จะดันให้น้ำมันล้นออกทางรอยฉีก กลายเป็นเพลิงไหม้ใน bunded area

รูปที่ ๕ ในกรณีที่ระดับน้ำมันในถังสูงถึงระดับรอยฉีก (แนวเชื่อมต่อระหว่างส่วนลำตัวทรงกระบอกกับหลังคาถัง การอัดโฟมเข้าไปใต้ผิวน้ำมันก็จะไปดันให้น้ำมันไหลล้นออกมานอกถัง

แนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือการลดระดับน้ำมันในถังเก็บด้วยการถ่ายไปยังถังอื่น (ถ้าทำได้) ก็จะทำให้ระดับเชื้อเพลิงในถังนั้นต่ำกว่ารอยฉีกขาด แต่ตรงนี้ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาก็คือ ในกรณีที่เชื้อเพลิงนั้นสูงถึงระดับแนวฉีกขาด อาจจะไม่มีเพลิงไหม้อยู่ใต้หลังคา (เพราะไม่มีช่องทางให้อากาศเข้า) การลดระดับของเหลวให้ต่ำลงจะเปิดช่องให้อากาศภายนอกไหลเข้าไปรวมกับไอเชื้อเพลิงที่อยู่ภายในได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระเบิดซ้ำได้ ประเด็นนี้คงต้องพิจารณาอัตราการระเหยของเชื้อเพลิงประกอบ ถ้าเชื้อเพลิงนั้นระเหยได้ง่าย การลดระดับความสูงเชื้อเพลิงลง ส่วนที่เป็นของเหลวจะระเหยขึ้นมาทดแทนที่ว่างที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไป (แบบเดียวกับน้ำมันเบนซินที่เราใช้ในรถยนต์ รถวิ่งไป น้ำมันในถังก็ลดลง แต่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องอากาศเข้าไปผสมกับไอน้ำมันในถังจนเกิดการระเบิด)

แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ไฟไหม้อยู่อย่างนั้น ความร้อนจากเปลวไฟก็จะทำให้ความแข็งแรงของแนวรอยเชื่อมที่ยังเหลืออยู่นั้นลดต่ำลงจนไม่สามารถแบกรับน้ำหนักหลังคาได้ หลังคาก็จะจมลงไปในถัง ทำให้น้ำมันไหลล้นทะลักออกมา (ตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดในเหตุการณ์วันที่ ๙ พฤษภาคม ที่สถานการณ์เปลี่ยนจากไฟไหม้ตรงรอยฉีกขาด กลายเป็น full surface fire ทั้งตัวถังต้นเพลิงและ bunded area)

รูปที่ ๖ ภาพจากคลิปวิดิโอของประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง เหตุการณ์เพลิงไหม้ถังเก็บ pyrolysis gasoline ที่มาบตาพุดเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ รูปนี้น่าจะเป็นหลังเกิดการระเบิดไม่นาน จะเห็นฝาถังเผยอออก (แบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า fish mouth) มีควันดำลอยออกมา จากมุมนี้ของกล้องมองไม่เห็นเปลวไฟ เห็นแต่การฉีดน้ำเข้าไปยังบริเวณลำตัวของถังเก็บ และเพลิงไหม้ก็ยังไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับช่วงบ่าย

ในกรณีเช่นนี้ การฉีดน้ำควรฉีดไปที่ใด ไฟไหม้อยู่ที่ขอบบนของถัง ส่วนลำตัวที่มีของเหลวอยู่เต็มนั้นได้รับการป้องกันความร้อนด้วยของเหลวที่บรรจุอยู่ แต่ส่วนหลังคานั้นไม่ใช่ (เพราะมันไม่สัมผัสกับของเหลว) หรือควรจะฉีดน้ำเข้าไปยังบริเวณแนวรอยเชื่อมที่ยังเหลืออยู่ เพื่อไม่ให้มันร้อนจนสูญเสียความแข็งแรงในการรับน้ำหนักหลังคา จะได้เพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฏิบัติงานใกล้กับตัวถัง

ในเอกสารของ BP เองก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงเทคนิคการดับเพลิงไหม้รูปแบบนี้ (มีแต่เทคนิคสำหรับ full surface fire, rimseal fire และ bund fire) สิ่งที่ใกล้เคียงหน่อยเห็นจะมีแต่กรณีของ vent fire (รูปที่ ๗) ที่นอกจากจะใช้โฟมแล้วยังใช้การ "ยิง" ผงเคมีแห้งเข้าไปทางช่อง vent ทั้งสามช่อง

รูปที่ ๗ การดับเพลิงลุกไหม้ที่ช่อง vent (ช่องระบายความดัน) ของถังเก็บน้ำมันเบนซิน เอกสารไม่ได้ระบุว่าเป็นถังเก็บแบบไหน แต่รูปนี้อยู่ในหัวข้อของ rimseal fire ของถังเก็บแบบ internal floating roof

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เปิด-ปิดน้ำอัตโนมัติด้วยกาลักน้ำ MO Memoir : Monday 17 June 2567

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีกระทู้โผล่ในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับระบบเปิด-ปิดน้ำอัตโนมัติเพื่อทำความสะอาดโถปัสสาวะชายดังรูปที่ ๑ ข้างล่าง คำตอบที่มีผู้ตอบกล้บมาก็ไปทางเดียวกันหมด คือใช้ Timer และโซลีนอยด์วาล์ว

รูปที่ ๑ คำถามเรื่องการออกแบบระบบเปิด-ปิดน้ำอัตโนมัติเพื่อทำความสะอาดโถปัสสาวะชาย (ภาพต้นฉบับมีการแก้ไขตำแหน่งรูปเล็กน้อยเพื่อไม่ให้กินหน้ากระดาษเกินไป)

อีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้คือการใช้ระบบกาลักน้ำที่มีหลักการทำงานดังแสดงในรูปที่ ๒ ข้างล่าง เมื่อน้ำไหลเข้าจนท่วมท่อตัว U สีแดงในรูป น้ำก็จะไหลไปตามท่อสีแดงไปออกที่ปลายท่อที่อยู่ที่ระดับต่ำลงไป จนกระทั่งระดับน้ำในถังเก็บต่ำกว่าด้านขาเข้า น้ำก็จะหยุดไหล

แต่ระบบในรูปที่ ๒ ก็อาจไม่ทำงานถ้าหากอัตรการไหลของน้ำที่เข้ามานั้นไม่สามารถทำให้น้ำไหลออกเต็มพื้นที่หน้าตัดท่อขาออก (เส้นสีแดง) ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะไม่เกิดกาลักน้ำ จะเป็นเพียงแค่น้ำไหลล้นออกทางท่อขาออกเท่านั้น ดังนั้นถ้าจะให้ระบบทำงานได้ที่อัตราการไหลเข้าของน้ำไม่สูง (เพื่อให้ระยะห่างระหว่างการปล่อยน้ำแต่ละครั้งยืดยาวออกไป) ก็ต้องมีการดัดแปลงระบบกันเล็กน้อย

รูปที่ ๒ การใช้กาลักน้ำในการควบคุมการปล่อยน้ำ

รูปที่ ๓ เป็นการทำงานของระบบ auto syphon (หรือ auto siphon) ท่อ C คือท่อให้น้ำไหลออก ท่อนี้มีฝาครอบ H ที่ปลายปิดด้านบน แต่ด้านล่างจะมีรู M ให้น้ำไหลเข้าไปในช่องว่างระหว่างท่อ C กับฝาครอบ H ได้ เมื่อน้ำไหลเข้ามาในถังพักน้ำเรื่อย ๆ ระดับน้ำที่สูงขึ้นก็จะดันให้อากาศที่อยู่ภายในฝาครอบ H ไหลออกไปทางท่อ C และเมื่อระดับน้ำในถังสูงถึงปลายด้านบนของท่อ C ก็จะเกิดปรากฏการณ์กาลักน้ำ โดยแรงดันอากาศภายนอกจะดันให้น้ำในถังพักไหลเข้าทางรู M และไหลออกไปทางท่อ C จนกว่าระดับน้ำในถังพักอยู่ต่ำกว่าระดับรู M น้ำก็จะหยุดไหลออก ส่วนจะให้น้ำไหลออกถี่แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการปรับวาล์วน้ำไหลเข้า G ว่าให้ไหลเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง

รูปที่ ๓ ภาพตัดขวางระบบ auto syphon (รูปจาก https://chestofbooks.com/home-improvement/construction/plumbing/Plumbing-Illustrated/Automatic-Flushing-For-Schools-Factories-Etc.html)

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ทับไว้เพื่อไม่ให้หาย MO Memoir : Friday 14 June 2567

เมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้วมีการปรับปรุงห้องแลปเคมี มีคนงานภายนอกเข้ามาทำงาน ผมก็บอกให้เจ้าหน้าที่เก็บตุ้มเหล็กที่เป็นน้ำหนักถ่วงประตู hood ออกไปจากห้อง ส่วนพวกอุปกรณ์แลปต่าง ๆ ใส่ตู้ทิ้งไว้ในห้องได้ไม่เป็นไร เหตุผลก็คืออุปกรณ์แลปถูกขโมยไปก็ขายไม่ได้ ไม่เหมือนเหล็กที่นำไปขายเป็นเศษเหล็กได้

ช่วงนี้การประปาส่งผู้รับเหมามาทำการเปลี่ยนท่อน้ำประปาในซอยหลังจากที่ไม่ได้เปลี่ยนมากว่า ๓๐ ปี เนื่องจากท่อเดิมหมดอายุการใช้งาน ก็เลยมีการขนทั้งรถเจาะและรถขุดมาจอดทิ้งไว้ในซอยเพื่อทำการทุบถนนและขุดดิน รถแบคโฮตีนตะขาบที่เขาเอามาทำงานก็มีบุ๋งกี๋ขุดดินขนาดหน้าแคบและหน้ากว้างถอดสับเปลี่ยนได้ เพื่อให้เหมาะกับความกว้างของร่องที่ต้องการขุด พอเสร็จงานในตอนเย็นก็จะเอาบุ๋งกี๋หน้าแคบติดเข้ากับแขนขุด แล้วก็เอามันวางกดบุ๋งกี๋หน้ากว้างเอาไว้ดังรูปข้างล่างเพื่อป้องกันการโดนขโมย ซึ่งก็เป็นการป้องกันอย่างง่าย ๆ และอีกอย่างบ้านก็อยู่สุดซอยที่ปรกติจะไม่มีใครผ่านเข้ามา เว้นแต่คนที่อยู่ในซอย


 

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2567

สถานีรถไฟคลองบางพระ MO Memoir : Sunday 9 June 2567

"ในเดือนเก้าได้รับงานบ่าวสาวที่คลองบางพระ เป็นการเล่นวงเดียวไม่ใช่ประชันเพราะไม่มีใครกล้าประชัน ..."

ประโยคข้างต้นอยุ๋ในนิยายเรื่อง "คู่กรรม" ของ เหม เวชกร ที่ใช้บรรยากาศคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับคลองท่าถั่วหรือคลองประเวศบุรีรมย์ในปัจจุบันไปจนถึงประตูน้ำท่าถั่วด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเรื่องนี้เคยเล่าไว้ในบทความเรื่อง "คลองท่าถั่ว" (MO Memoir ฉบับวันอังคารที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓) ที่เป็นการเดินทางตามรอยสถานที่ต่าง ๆ ที่ เหม เวชกร ใช้เป็นฉากของเนื้อเรื่อง ถ้าดูจากแผนที่ปัจจุบัน คลองบางพระนี้ก็จะอยู่ระหว่างสถานีคลองบางพระที่อยู่ทางด้านเหนือ และคลองประเวศบุรีรมย์ที่อยู่ทางด้านใต้ ถ้าเป็นแนวทางรถไฟ ปัจจุบันสถานีนี้อยู่ระหว่างสถานีคลองแขวงกลั่นและบางเตย (รูปที่ ๑) แต่ในอดีตนั้นอยู่ระหว่าง สะเตชั่นคลองเปร็ง (อีกชื่อคือสะเตชั่นคลองพระยาเดโช) และสะเตชั่นแปดริ้ว (รูปที่ ๒) ดังนั้นจึงจัดได้ว่าสถานีนี้เป็นสถานีเก่า เพราะมีปรากฏในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๕๐ เมื่อคราวรัชกาลที่ ๕ เสด็จเปิดทางรถไฟสายตะวันออก (รูปที่ ๒)

การไปตระเวณถ่ายรูปในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการตามรอยนิยายเหมือนครั้งที่แล้ว แต่เป็นการไปเก็บบรรยากาศสถานีรถไฟสายตะวันออกช่วงก่อนถึงฉะเขิงเทรา สถานีต่าง ๆ ที่แวะไปก็ได้รับการปรับปรุงเป็นอาคารรูปแบบใหม่ แม้ว่าหลายสถานีจะเป็นสถานีร้างที่คล้ายกับไม่มีการดูแล Memoir ฉบับนี้ก็ถือว่าเป็นบันทึกความทรงจำสถานที่ธรรมดา ๆ อีกแห่งหนึ่งเช่นเคย

รูปที่ ๑ ปัจจุบันสถานีนี้อยู่ระหว่างสถานีคลองแขวนกลั่น (ด้านตะวันตก) และบางเตย (ด้านตะวันออก) 

รูปที่ ๒ จากราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๖ เรื่อง "การเปิดรถไฟสายตวันออกและสายเหนือ กับข่าวเสด็จพระราชดำเนิรประพาศ" (สะกดตามต้นฉบับ) มีการกล่าวถึง "สะเตชั่นคลองบางพระ" (ที่หน้าเว็บของราชกิจจาฯ จะบอกว่าเป็นฉบับวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๐)

 

รูปที่ ๓ ป้ายตารางเวลาขบวนรถไฟที่จอดที่สถานีนี้

รูปที่ ๔ สุดสถานีทางด้านทิศตะวันออก

รูปที่ ๕ ตัวอาคารที่ทำการสถานี
 
รูปที่ ๖ บรรยากาศบนชานชาลาเมื่อมองไปทางทิศตะวันออก

รูปที่ ๗ มองย้อนไปทางทิศตะวันตก

รูปที่ ๘ ถึงตัวอาคารจะเปลี่ยนไป แต่ป้ายเก่ายังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้

รูปที่ ๙ เสาโทรเลขทำจากรางรถไฟเก่าก็มีอดีตของมัน

รูปที่ ๑๐ รางที่ใช้ค้ำยันเสา ผลิตในปีค.ศ. ๑๙๓๘

รูปที่ ๑๑ แต่รางที่ใช้ทำตัวเสา ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. ๑๙๑๙ (ช่วงรัชกาลที่ ๖)
 
รูปที่ ๑๒ ระหว่างที่ถ่ายรูปอยู่ก็มีรถไฟแวะเข้ามาจอดพอดี

รูปที่ ๑๓ เป็นขบวนสายกรุงเทพ-กบินทร์บุรี

รูปที่ ๑๔ ผู้โดยสารกำลังจะขึ้นรถ

รูปที่ ๑๕ นายสถานีตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนปล่อยขบวนรถ

รูปที่ ๑๖ ขบวนรถกำลังจะเคลื่อนพ้นสถานี

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2567

งานที่ไม่ให้วิศวกรหญิงไปทำ MO Memoir : Saturday 1 June 2567

"ผมว่าผมรู้เหตุผลนะ ว่าทำไมเขาจึงไม่ให้ผู้หญิงไปทำ"

ผมบอกกับศิษย์เก่าที่มาเล่าประสบการณ์ทำงานตรงสาขาให้รุ่นน้องที่กำลังศึกษาอยู่ฟัง ว่าทำไมงานที่เขาเล่ามานั้นหัวหน้าจึงไม่ส่งให้วิศวกรหญิงไปทำ

ปลายสัปดาห์ที่แล้วทางภาควิชาจัดกิจกรรมพิเศษให้กับนิสิตของภาคที่สนใจ คือเป็นกิจกรรมเล่าประสบการณ์การทำงานในงานที่ตรงสาขากับการเยี่ยมชมโรงงานเพื่อให้เห็นภาพการทำงานจริง โดยกิจกรรมในวันแรกในช่วงบ่าย เป็นการเล่าประสบการณ์การทำงานของศิษย์เก่าว่าเมื่อเริ่มเข้าทำงานนั้นได้เริ่มจากตรงไหน และจนถึงวันนี้ได้ผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง

ศิษย์เก่ารายหนึ่งเล่าให้ฟังเรื่องการทำงานของเขาเมื่อเข้าทำงานใหม่ ๆ โดยรุ่นเขานั้นเข้าทำงานกันประมาณ ๑๐ คน เป็นชาย-หญิงอย่างละครึ่ง จนมาถึงวันหนึ่งก็เป็นช่วงที่โรงงานหยุดซ่อมบำรุงใหม่ (ที่ทางฝั่งอเมริกาเรียกว่า Turnaround ส่วนทางฝั่งยุโรปเรียกว่า Shut down) เขากับเพื่อนวิศวกรชาย (ฟังจากที่เขาเล่าน่าจะเป็นกลุ่มที่เข้างานรุ่นเดียวกัน) ได้รับมอบหมายให้ไปทำงาน โดยพี่หัวหน้างานบอกว่างานนี้ไม่ให้วิศวกรหญิงไปทำ พร้อมกำชับด้วยว่า ให้ห่อข้าวกลางวันไปกินด้วย ซึ่งตอนแรกเขาก็ไม่เชื่อ แต่เมื่อพี่หัวหน้างานย้ำแล้วย้ำอีกก็เลยยอมทำตาม โดยที่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม

และงานนั้นก็คือการเข้าไปตรวจสอบความเรียบร้อยของ tray ภายในหอกลั่น

รูปที่ ๑ หอกลั่นแยกโพรเพน-โพรพิลีนประกอบด้วยหอกลั่น 2 หอ C-001 และ C-002 (ที่มาอยู่ในรูปที่ ๒)

การกลั่นเป็นแยกสารประกอบโดยใช้จุดเดือดที่แตกต่างกัน โดยสารที่มีจุดเดือดต่ำจะระเหยกลายไปไอลอยขึ้นไปด้านบน ตัว tray คืออุปกรณ์ติดตั้งภายในที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างไอระเหยที่ลอยขึ้นบน และของเหลวที่ไหลลงล่าง เมื่อไอระเหยและของเหลวสัมผัสกันในแต่ละ tray สารที่มีจุดเดือดสูงที่อยู่ในไอก็จะควบแน่นลงมาอยู่ในของเหลว สารที่มีจุดเดือดต่ำที่อยู่ในของเหลวก็จะระเหยเข้าไปอยู่ในไอ ทำให้ไอระเหยที่ลอยขึ้นไปนั้นจะมีสัดส่วนสารที่มีจุดเดือดต่ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนของเหลวที่ไหลลงสู่ก้นหอด้านล่างก็จะมีสารที่มีจุดเดือดสูงนั้นจะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนที่ว่าต้องมีจำนวน tray มากน้อยเท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าสารที่ต้องการแยกนั้นมีจุดเดือดแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ถ้าจุดเดือดแตกต่างกันมากก็ใช้จำนวน tray น้อย หอกลั่นก็จะไม่สูง แต่ถ้าจุดเดือดแตกต่างกันไม่มาก ก็ต้องใช้จำนวน tray มาก หอกลั่นก็จะสูง อย่างเช่นในกรณีการกลั่นแยกโพรเพน (propane C3H8) ที่มีอุณหภูมิจุดหลอมเหลว -188ºC และจุดเดือด -42ºC กับโพรพิลีน (propylene C3H6) ที่มีอุณหภูมิจุดหลอมเหลว -185.2ºC จุดเดือด -47.6ºC เพื่อให้ได้ความบริสุทธิ์ของโพรพิลีนที่สูง จำนวน tray ที่ใช้จะมาก ทำให้ถ้าใช้หอกลั่นเดียวก็จะสูงเกือบ 200 เมตร ก่อให้เกิดปัญหาในการก่อสร้าง การติดตั้ง และการทำงาน ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงแยกหอกลั่นออกเป็น 2 หอ สูงหอละประมาณ 100 เมตรแทน

รูปที่ ๒ ข้อมูลหอกลั่นแยกที่ใช้ในการสร้างแบบจำลอง จะเห็นว่าจำนวน tray ที่ใช้นั้นมากกว่า 200 tray

อีกแนวทางหนึ่งในการแยกสารคืออาศัยจุดเยือกแข็งที่แตกต่างกัน อย่างเช่นในกรณีของไซลีน (xylene C6H4(CH3)2) ที่มีด้วยกัน 3 ไอโซเมอร์ โดย o-xylene ที่มีอุณหภูมิจุดหลอมเหลว -25ºC และจุดเดือด 144ºC, m-xylene ที่มีอุณหภูมิจุดหลอมเหลว -48ºC และจุดเดือด 139ºC และ p-xylene ที่มีอุณหภูมิจุดหลอมเหลว 13ºC และจุดเดือด 138ºC จะเห็นว่าอุณหภูมิจุดเดือดใกล้กันมาก ในขณะที่อุณหภูมิจุดหลอมเหลวนั้นแตกต่างกันมาก และก็ไม่อยู่ในระดับที่ต่ำมากด้วย (ในกรณีของโพรเพน-โพรพิลีนนั้นอุณหภูมิจุดหลอมเหลวต่ำมาก) ดังนั้นการแยกสารเหล่านี้ก็จะใช้การลดอุณหภูมิให้ต่ำลง โดยสารที่มีจุดหลอมเหลวสูงสุดจะแข็งตัวแยกออกมาก่อน

ที่เกริ่นเรื่องนี้ขึ้นมาก่อนก็ไม่ใช่อะไร ก็เพื่อให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการทางด้านนี้ได้มองเห็นภาพว่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องนั้นมันมีรูปร่างหน้าตาและขนาดเท่าใด

รูปที่ ๓ หอกลั่นแยกโพรเพน-โพรพิลีน (หอสูงทางด้านซ้าย) ความสูงของหอ 100 เมตร

หอกลั่นสูง ๆ ก็ต้องมีการตรวสอบทั้งภายนอกและภายในเป็นระยะเช่นกัน หอพวกนี้เวลาจะขึ้นไปด้านบนก็ต้อง "ปีน" บันไดไต่ขึ้นไป โดยจะมี platform ให้พักเป็นระยะ อย่างเช่นหอกลั่นแยกโพรเพน-โพรพิลีนในรูปที่ ๓ ที่สูง 100 เมตร ถ้าเทียบกับอาคารแล้วที่แต่ละชั้นสูงประมาณ 4 เมตร ความสูง 100 เมตรก็ประมาณอาคาร 25 ชั้น ลองนึกภาพการเดินบันไดขึ้นอาคาร 25 ชั้นนั้นเหนื่อยแค่ไหน แต่นี่เป็นการปีนขึ้นไป โดยต้องขึ้นไปชั้นบนสุดก่อน แล้วค่อยตรวจสอบลงมา

หอกลั่นที่ศิษย์เก่าผู้นั้นต้องเข้าไปตรวจสอบแม้ไม่ใช่หอกลั่นแยกโพรเพน-โพรพิลีน แต่ก็มีความสูงระดับ 100 เมตรเช่นกัน หลังจากเขาจบการเล่าประสบการณ์การทำงาน ผมก็บอกเขาด้วยข้อความที่กล่าวมาข้างต้น และให้เหตุผลด้วยการถามเขาว่า

"เวลาปวดฉี่ทำอย่างไร"

นั่นแหละครับเหตุผลที่เขาไม่ส่งผู้หญิงขึ้นไปทำงานนี้ เพราะเวลาไปทำงานทีก็ต้องขึ้นไปแต่เช้า และลงมาอีกทีก็ตอนเย็น ทั้งอาหารและน้ำดื่มก็ต้องแบกขึ้นไปด้วย เว้นแต่ว่ามั่นใจว่าสามารถปีนขึ้นลงได้โดยไม่เหนื่อย ปัญหาบางเรื่องนั้น ต้องมีประสบการณ์ภาคสนามจึงจะเข้าใจ

ผมขอไม่เฉลยแล้วกันว่าคำตอบของเขาคืออะไร แต่ปัญหานี้เห็นมาตั้งแต่ตอนจบไปทำงานใหม่ ๆ ตอนไปสร้างโรงงานที่มาบตาพุด ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าคนที่ขึ้นไปทำงานข้างบนนั้นแก้ปัญหานี้อย่างไร ในที่สุดก็ได้คำตอบจากลูกน้องที่ไปสืบหามาให้ว่าเขาแก้ปัญหาด้วยการ

"ปล่อยลงมาเลย ความสูงระดับนี้ลมตีกระเจิงหมด ไม่ตกใส่หัวคนข้างล่างหรอก"

จริงหรือเท็จก็ไม่รู้ ขอให้ผู้อ่านพิจารณาเอาเอง :) :) :)