วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

ลมข้าวเบา ตะวันอ้อมข้าว ฤกษ์ดาวโจร MO Memoir : วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๒

บทสนทนาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ผม : วันนี้มาจอดรถมุมนี้ไม่กลัวแดดส่องทั้งวันหรือครับ
เพื่อนร่วมงาน : ไม่หรอกครับ เดี๋ยวก็ร่มแล้ว ช่วงนี้ "ตะวันอ้อมข้าว" แล้ว
ผม : ไม่ได้ยินคนพูดคำนี้มานานแล้ว เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่คงไม่รู้จักกันแล้วมั้ง

บทสนทนาในเช้าวันนั้นทำให้ผมนึกถึงคราวที่ได้คุยกับอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เกี่ยวกับชีวิตและประสบการณ์ของท่านในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งก็เกิดขึ้นในช่วงปลายฝนต้นหนาว และยังนึกไปถึงเรื่องราวสมัยที่ยังทำงานก่อสร้างโรงงานที่มาบตาพุด

มีบางครั้งเหมือนกันที่วิถีชีวิตของคนไทย ส่งผลต่อผู้ที่ทำงานโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกับโรงกลั่นน้ำมัน

แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับความหมายของคำว่า "ลมข้าวเบา" "ตะวันอ้อมข้าว" และ "ฤกษ์ดาวโจร" ทั้งสามคำนี้ก่อนจะดีกว่า

1. ลมข้าวเบา

"ลมข้าวเบา" มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ลมว่าว" ลมนี้เป็นลมเย็นที่พัดจากทางเหนือมาตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ในฤดูหนาว โดยจะเกิดระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระยะมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย สาเหตุที่เรียกว่า "ลมข้าวเบา" เป็นเพราะลมนี้เกิดในระยะเก็บเกี่ยวข้าวเบา (ข้าวเบาคือข้าวที่ให้ผลเร็วซึ่งจะเก็บเกี่ยวในเดือนสิบสองทางจันทรคติ)

2. ตะวันอ้อมข้าว

ช่วงที่เกิดตะวันอ้อมข้าว จะเป็นช่วงที่ข้าวกำลังสุกพอดี ตำนานเลยกล่าวว่า เมื่อพระเเม่โพสพกำลังตั้งท้อง คือ ข้าวตั้งท้อง พระอาทิตย์แสดงความเคารพคือไม่เดินข้ามศีรษะของพระเเม่โพสพจึงเดินอ้อมแทน
ในช่วงหน้าร้อนนั้นเราจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก เคลื่อนผ่านเหนือศีรษะและตกทางทิศตะวันตก แต่พอย่างเข้าหน้าหนาวจะเห็นว่าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกแล้ว จะเคลื่อนสูงขึ้นโดยเฉียงไปทางทิศใต้ก่อนที่จะตกทางทิศตะวันตก ในทางดาราศาสตร์ช่วงที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนไปทางใต้มากที่สุดตรงกับช่วงหน้าหนาว ราววันที่ 22 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุด ในวันนั้นเส้นรุ้งที่ 23.5 องศาใต้หรือ Tropic of Capricorn จะตั้งฉากกับดวงอาทิตย์
การที่ดวงอาทิตย์ไม่ตรงศีรษะในตอนเที่ยง จึงดูเหมือนว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกแล้วอ้อมไปทางใต้ไปตกทางทิศตะวันตก โดยไม่ข้ามต้นข้าวในนา จึงเรียกว่าตะวันอ้อมข้าว


3. ฤกษ์ดาวโจร

ดาวโจรหรือที่ฝรั่งเรียกว่าดาวซิริอุส (Sirius) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในตอนกลางคืน (ดาวเคราห์ที่สว่างที่สุดคือดาวศุกร์ รองลงไปคือดาวพฤหัสบดี) สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าระดับความสว่างอยู่ที่ -1.47 (ตัวเลขยิ่งติดลบมากก็จะยิ่งสว่างมาก)
ดาวซิริอุสอยู่ในกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ (Canis Major เป็นภาษาละตินที่แปลว่าสุนัขใหญ่) ส่วนกลุ่มดาวนี้อยู่ตรงไหนให้ลองมองหากลุ่มดาวไถให้เจอก่อน (ของฝรั่งจะเป็นกลุ่มดาวนายพรานหรือ Orion) กลุ่มดาวสุนัขใหญ่จะอยู่ถัดจากกลุ่มดาวไถ
กลุ่มดาวนี้เราไม่สามารถมองเห็นได้ตลอดทั้งปี พอพ้นช่วงหน้าร้อนก็จะมองไม่เห็น และกลับมาปรากฏใหม่ในช่วงใกล้ปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งในเวลานั้นชาวนาจะเก็บเกี่ยวและขายข้าวได้ ทำให้มีเงินเก็บไว้ในบ้าน (สมัยก่อนนี้ยังไม่มีธนาคาร) ดังนั้นเมื่อดาวดวงนี้ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าจึงเป็นเสมือนเวลาที่บ้านชาวนาแต่ละหลังมีเงินเก็บอยู่ในบ้านแล้ว โจรผู้ร้ายจึงใช้การปรากฏของดาวดวงนี้เป็นสัญญาณบอกให้เริ่มฤดูการแห่งการปล้น

ช่วงปลายปีหรือช่วงเวลาที่เข้าหน้าหนาวของแต่ละปี จะเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้าว ผู้มีอาชีพเกษตรกรรมจำนวนไม่น้อยหลังจากที่ทำการปลูกข้าวแล้วก็จะไปขายแรงงานตามที่ต่าง ๆ นอกภูมิลำเนาของตน และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็จะเดินทางกลับ การทำงานเกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตรนั้นจะใช้ปฏิทินหรือกำหนดเวลาการทำงานตามแบบราชการหรือบริษัทไม่ได้ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็ต้องเก็บเกี่ยว จะผลัดผ่อนไว้เป็นวันถัดไปหรือสัปดาห์หน้าก็ไม่ได้ ช่วงเวลานี้ผู้ที่เดินทางไปขายแรงงานนอกพื้นที่ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเองเพื่อไปเกี่ยวข้าว
ผมเห็นเหตุการณ์นี้ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๑ กับรุ่นพี่โยธาที่คุมการก่อสร้างโรงงาน พอถึงเวลาเกี่ยวข้าวกลุ่มแรงงานก่อสร้างก็จะเดินทางกลับบ้านกัน จะให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเขาก็ไม่ยอมอยู่ ถ้ามีงานก่อสร้างใดเร่งด่วนเข้ามาในช่วงนี้ก็จะไม่คืบหน้า งานนี้ก็ได้แต่รอว่าแรงงานจะกลับมาทำงานเมื่อใด
ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อสัก ๑-๒ ปีที่ผ่านมา มีคนมาถามเรื่องต้องการหาแรงงานเพื่อไปทำงานทำความสะอาดถังเก็บน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่ง ผมก็ถามกลับไปว่าตอนนี้มีปัญหาเรื่องแรงงานกลับไปเกี่ยวข้าวหมดใช่ไหม เขาก็ถามกลับมาว่ารู้ได้อย่างไร ก็เลยเล่าเรื่องข้างต้นให้ฟัง

หวังว่าเรื่องนี้คงเป็นประโยชน์กับคนที่อาจต้องไปทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานบ้าง จะได้พึงระวังช่วงเวลาที่อาจมีปัญหาในการหาแรงงานมาทำงาน

ไม่มีความคิดเห็น: