วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

ปัญหาการหาความเข้มข้นสารละลายกรด MO Memoir : Friday 28 January 2554

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว มีสมาชิกของกลุ่มคนหนึ่งที่จบการศึกษาแล้ว และไปทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งเขียนอีเมล์มาปรึกษาปัญหาเรื่องการแก้ปัญหาในโรงงาน ผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์แก่คนอื่น ๆ ก็เลยนำเอาข้อความติดต่อกันทางจดหมายมาลงให้อ่านกัน (มีการดัดแปลงแก้ไขเล็กน้อย เรื่องการจัดย่อหน้า และการพิมพิ์ แต่เนื้อหาทั้งหมดคงเดิม)

โรงงานที่สาวน้อยคนดังกล่าวไปทำงานนั้น มีการทำปฏิกิริยา nitration โดยใช้กรด HNO3 เข้มข้นเป็นสารตั้งต้นและมีกรด H2SO4 เข้มข้นเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ในการทำปฏิกิริยาแต่ละครั้ง HNO3 จะมีการสลายตัวให้แก๊สไนโตรเจนออกไซด์ (ไม่ได้ระบุว่าเป็นออกไซด์ตัวไหนแต่คิดว่าน่าจะเป็น NO2) สลายตัวออกมา และต้องทำการดักจับแก๊สนี้ด้วยสารละลายกรด สารละลายกรดที่ผ่านการดักจับแก๊สแล้วจำเป็นต้องทราบความเข้มข้นก่อนที่จะนำกลับไปใช้ใหม่

ในการวัดความเข้มข้นนั้น ในส่วนกระบวนการผลิตจะใช้วิธีวัดความหนาแน่น (กรดยิ่งมีความเข้มข้นสูงขึ้นก็มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น) โดยติดตั้งเครื่องมือวัดความหนาแน่นชนิด on-line เข้ากับระบบท่อ เครื่องดังกล่าวได้ผ่านการสอบเทียบค่าความหนาแน่นกับค่าความเข้มข้นของกรด และจะรายงานผลในรูปความเข้มข้นหน่วยเป็น wt% ทางฝ่ายกระบวนการผลิตจะใช้ข้อมูลความเข้มข้นที่ได้จากเครื่องมือนี้เป็นหลัก

แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเก็บตัวอย่างกรดจากท่อเดียวกันนี้ไปทำการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการด้วยการไทเทรตกับสารละลาย NaOH เข้มข้น 1 N โดยการไทเทรตนั้นจะใช้เครื่องไทเทรตอัตโนมัติ (auto titrator) ซึ่งจะมีการป้อนโปรแกรมการคำนวณความเข้มข้นของตัวอย่างจากปริมาณตัวอย่างที่นำมาไทเทรต และความเข้มข้นและปริมาตรสารละลาย NaOH ที่ใช้ไป ซึ่งเครื่องจะรายงานผลความเข้มข้นออกมาเป็น wt%

สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่าความเข้มข้นของกรด (wt%) ที่หน่วยงานทั้งสองวัดได้นั้นไม่ตรงกัน และเป็นเช่นนี้มา ๒-๓ ปีแล้ว (ก็น่าแปลกที่ยังทำงานกันอยู่ได้) และนี่คืองานที่สาวน้อยคนนี้ได้รับมอบหมายให้ไปหาว่า ทำไมค่าถึงไม่ตรงกัน

ส่วนที่เป็นสีน้ำตาลคือข้อความที่เขาถามผมมา ส่วนที่เป็นสีน้ำเงินคือคำตอบที่ผมตอบกลับไป คำอธิบายเพิ่มเติมจะเป็นสีเขียว


อังคาร ๑๑ มค ๒๕๕๔

สวัสดีค่ะ

หนูได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาเกี่ยวกับเครื่องมือวัดชนิดหนึ่ง คือในโรงงานมีการใช้กรดในการทำปฏิกิริยาแล้วเกิดพวกฟูม NOx จึงทำการดูด NOx มาผ่านกระบวนการ Absorption ได้ HNO3 ความเข้มข้นหนึ่งซึ่งไม่ทราบค่า แล้วก็มีเครื่องวัดความหนาแน่น(รุ่นที่หนูแนบมาอ่ะค่ะ) วัดความหนาแน่น HNO3 นั้นมาแปลงเป็นค่าความเข้มข้น แต่ค่าที่วัดได้ไม่ตรงกับที่แลปไทเทรต ห่างกันค่อนข้างมากเป็น 10%w

หนูยังหาสาเหตุไม่ได้ จะทำการ calibrate ก็ยังหาวิธีไม่ได้เช่นกัน

อาจารย์พอจะมีอะไรแนะนำมั้ยคะ

ขอบคุณค่ะ

ลงชื่อ สาวน้อย

(พร้อมเมล์ฉบับนี้ได้แนบไฟล์คู่มือเครื่องวัดความหนาแน่นชนิดติดตั้ง on-line เข้ากับระบบท่อมาให้ เครื่องดังกล่าวผลิตจากประเทศเยอรมัน ดูเหมือนว่าคู่มือจะถูกแปลจากจากภาษาเยอรมันเป็นอังกฤษ)


อังคาร ๑๑ มค ๒๕๕๔

สาวน้อย

ขอข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้

1) ที่คุณบอกว่าต่างกัน 10%w นั้น ต่างกันถึง 10% โดยน้ำหนัก หรือต่างกัน 10% เฉย ๆ

เช่นไทเทรตวัดได้ 30wt% ส่วนเครื่องวัดได้ 20wt% (ต่างกัน 10wt%)

หรือไทเทรตวัดได้ 30wt% ส่วนเครื่องวัดได้ 33wt% (ต่างกัน 10%)

และความแตกต่างนั้นเป็นไปในลักษณะใด

(ก) เครื่องอ่านได้ค่าต่ำกว่าการไทเทรตเสมอ (หรือเป็นส่วนใหญ่ เอาเป็นว่ากว่า 80%)

(ข) เครื่องอ่านได้ค่าสูงกว่าการไทเทรตเสมอ (หรือเป็นส่วนใหญ่ เอาเป็นว่ากว่า 80%)

(ค) เอาแน่เอานอนไม่ได้ บางครั้งก็สูงกว่า บางครั้งก็ต่ำกว่า เฉลี่ยแล้วพอ ๆ กัน

2) ช่วงความหนาแน่น/ความเข้มข้น ต่ำสุด-สูงสุด ที่วัดนั้นอยู่ที่ระดับเท่าใด

3) อุณหภูมิของของเหลวที่เครื่องวัด

ลงชื่อ MO Memoir



พุธ ๑๒ มค ๒๕๕๔

สวัสดีค่ะ

1. ที่บอกว่าต่างกันนั้น ต่างกัน 10% โดยน้ำหนัก บางครั้งที่เก็บข้อมูลอาจจะถึง 18%โดยน้ำหนัก ค่ะ แล้วเครื่องก็อ่านได้มากกว่าทุกครั้ง (100%)

2. ค่าความเข้มข้นที่แลปไทเทรตได้จะอยู่ประมาณ 30-50% โดยน้ำหนัก แต่ที่เครื่องวัดได้ ประมาณ 45-65% โดยน้ำหนัก

3. อุณหภูมิของเหลวประมาณ 30 องศาเซลเซียส เครื่องวัดความหนาแน่นแสดง แต่ไม่แน่ใจว่าตรงที่เก็บตัวอย่างไปไทเทรตเท่าไหร่ แต่ไม่น่าจะเกี่ยวกับที่เก็บคนละจุดนะคะ เพราะเป็นline เดียวกัน

ขอบคุณค่ะ

ลงชื่อ สาวน้อย



พุธ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔

สาวน้อย

เรื่องนี้ต้องค่อย ๆ เช็คไปที่ละจุด

(๑) เริ่มแรกคือถ้าเรามีข้อมูล ๒ ชุดที่ไม่เหมือนกัน ก็ต้องหาก่อนว่าข้อมูลไหนถูกต้อง หรือไม่ก็อาจผิดทั้งคู่ก็ได้

(๒) ในกรณีนี้ผมคิดว่าเราต้องยืนยันก่อนว่าข้อมูลที่ได้จากการไทเทรตนั้นถูก ต้อง (เพราะเราสามารถทำได้เอง และต้องใช้ข้อมูลนี้ในการสอบเทียบเครื่อง)

(๓) สิ่งแรกที่ผมคิดว่าคุณควรทำคือ ตรวจสอบวิธีการไทเทรตกรด-เบส ว่าเขาเก็บตัวอย่างมาอย่างไร และการไทเทรตกระทำโดยวิธีการใด

จาก ประสบการณ์ของผมนั้น การไทเทรตกรดเข้มข้นจะมีปัญหามาก เพราะถ้าเราเอากรดมาในปริมาตรต่ำ ๆ (เช่น 1-2 ml) การวัดปริมาตรผิดไปเพียงนิดเดียวก็จะทำให้ผลคลาดเคลื่อนไปได้มาก แต่ถ้าเอากรดเข้มข้นในปริมาณมากมาไทเทรต ก็จะสิ้นเปลือง NaOH มาก (ผมเดาว่าเขาคงใช้ NaOH 0.1 M ในการไทเทรตใช่ไหม)

อีก วิธีการที่ดีกว่าคือ เอากรดเข้มข้นมาในปริมาณที่มาก (เช่น 5 หรือ 10 ml หรืออาจใช้วิธีชั่งน้ำหนัก) จากนั้นเจือจางน้ำเป็น 250 หรือ 500 หรือ 1000 ml ซึ่งจะเจือจางน้ำเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าความเข้มข้นของกรดมากหรือน้อย ถ้าเข้มข้นมากก็เจือจางมาก เข้มข้นน้อยก็เจือจางน้อย แล้วค่อยเอาสารละลายกรดเจือจางนี้มาไทเทรตเพื่อหาความเข้มข้น

(๔) ที่ผมถามเรื่องอุณหภูมิก็สงสัยว่าเครื่องวัดทำงานที่อุณหภูมิเท่าใด เพราะถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น ความหนาแน่นก็จะลดลง และถ้าไม่มีการปรับชดเชยก็จะทำให้ค่าที่แสดงนั้นคลาดเคลื่อนไป

(๕) ตอนที่เก็บกรดมานั้น กรดมีการสลายตัวให้แก๊สออกมาบ้างหรือเปล่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าตอนที่เก็บตัวอย่าง แก๊ส NO2 บางส่วนอาจระเหยออกมา ทำให้เห็นความเข้มข้นจากการไทเทรตต่ำกว่าที่ได้จากเครื่องวัด และพอเก็บตัวอย่างมาแล้วก็ทำการไทเทรตเลย หรือปล่อยทิ้งเอาไว้ก่อน

(๖) ถ้าไม่แน่ใจ ก็ส่งรายละเอียดวิธีการไทเทรตกับการเก็บตัวอย่างมาให้ผมดูด้วยก็ได้

ลองทำตามข้างบนก่อนนะ โดยเฉพาะข้อ (๓) ได้ผลอย่างไรก็บอกมาก็แล้วกัน

ลงชื่อ MO Memoir



พฤหัสบดี 13 มค 54

สวัสดีค่ะ

หนูยังไม่ค่อยมีความก้าวหน้า เพราะช่วงนี้ไปเรียนอย่างอื่น แต่แอบไปหาวิธีไทเทรตมา เลยรู้ว่าเขาใช้เครื่องไทเทรต ยังไงก็ขอให้ช่วยดูให้หน่อยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ลงชื่อ สาวน้อย

(พร้อมเมล์ฉบับนี้ได้แนบไฟล์คู่มือการวิเคราะห์ความเข้มข้นของกรด โดยอธิบายวิธีเตรียมสารละลายมาตรฐาน NaOHเข้มข้น 1 N และการหาความเข้มข้นที่แน่นอนของสารละลาย NaOH นั้นด้วยการไทเทรตกับสารละลาย potassium hydrogen phthalate เพื่อนำค่าที่ได้มาป้อนใส่เครื่องไทเทรตอัตโนมัติ การไทเทรตจะใช้เครื่องไทเทรตอัตโนมัติ โดยจะรายงานผลในรูปความเข้มข้นของกรด H2SO4)



เสาร์ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔

สาวน้อย

ผมคิดว่าทราบแล้วว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ตอนนี้ขอตอบคำถามให้ทราบสั้น ๆ ก่อน เพื่อที่คุณจะได้พักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์ได้อย่างสบายใจ

เครื่องวัดความเข้มข้นที่อาศัยหลักการวัดความหนาแน่นก็วัดความเข้มข้นได้ถูกต้อง

และทางแลปที่ใช้ auto titrator ก็วัดความเข้มข้นได้ถูกต้องเช่นเดียวกัน

แต่รายงานกันคนละหน่วย

เครื่องวัดความเข้มข้นที่ใช้หลักการวัดความหนาแน่นนั้นรายงานเป็น wt% ของ กรด "HNO3"

ส่วนแลปที่ใช้ auto titrator วัดความเข้มข้นนั้นรายเงานเป็น wt% ของกรด "H2SO4"

ลองดูในคู่มือการวิเคราะห์ปริมาณความเป็นกรดทั้งหมด ในหน้า 3 ข้อ 2.6 สมการที่ 1 ซึ่งเป็นการแปลงความเข้มข้น (wt%) ระหว่าง HNO3 และ H2SO4

จะเห็นว่าถ้าจะเปลี่ยนจากความเข้มข้น HNO3 (wt%) ไปเป็น H2SO4 (wt%) นั้นต้องเอาความเข้มข้น HNO3 (wt%) คูณด้วย 0.7782

ดังนั้นถ้าคุณทดลองเอาความเข้มข้นที่เครื่องรายงาน (wt% ของ HNO3) ว่าเท่ากับ 65wt% แล้วคูณด้วย 0.7782 ก็จะได้ตัวเลขประมาณ 50wt% แต่เป็น wt% ของ H2SO4 นะ

ถ้าเอาความเข้มข้นที่เครื่องรายงาน (wt% ของ HNO3) ว่าเท่ากับ 45wt% แล้วคูณด้วย 0.7782 ก็จะได้ตัวเลขประมาณ 35wt%

ซึ่งจะเห็นว่าช่วงต่ำสุด-สูงสุดของค่าความเข้มข้นที่แลปกับเครื่องวัดความหนาแน่นวัดได้นั้นอยู่ในช่วงเดียวกัน

ส่วนสาเหตุที่เขารายงานเป็นความเข้มข้น H2SO4 นั้นผมคิดว่าเป็นเพราะในปฏิกิริยา nitration นั้นจำเป็นต้องใช้กรด H2SO4 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

แต่เนื่องจากกรด H2SO4 มันไม่ระเหยออกมา และเดาว่าสารละลายที่เขาใช้ดักจับแก๊สที่ระเหยออกมา (ซึ่งเป็นพวก NO หรือ NO2) นั้นเป็นสารละลายกรด HNO3 (ส่วนนี้ทางคุณที่อยู่ที่โรงงานต้องตรวจสอบดู)

จำได้ไหม ตอนเรียนหนังสือ เวลาที่ผลการทดลองมีปัญหาหรือข้อสงสัยใด ๆ ผมมักจะซักถามวิธีการทดลองและวิธีการคำนวณก่อนเสมอ ว่าตรงจุดนี้ไม่มีปัญหาใด ๆ จากนั้นจึงค่อยมาดูผลการทดลอง :)

เช้านี้ขอตอบสั้น ๆ เท่านี้ก่อนนะ แล้วจะขอเอาเรื่องนี้เขียนเป็น Memoir ของกลุ่ม (รับรองว่าจะไม่มีการเปิดเผยชื่อใด ๆ)

ลงชื่อ MO Memoir



หลังจากส่งเมล์ฉบับข้างบนแล้ว ผมก็ได้โทรศัพท์คุยกับเขา และส่งเมล์ข้างล่างนี้เพิ่มเติม

เสาร์ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔

สาวน้อย

สมมุติว่านำตัวอย่างมา 1 กรัม ทำปฏิกิริยาพอดีกับสารละลาย 1.0 M NaOH 10 ml (0.01 ลิตร)

นั่นแสดงว่าในตัวอย่าง 1 กรัมมี H3O+ = 1.0M x 0.01ลิตร = 0.01 mol

MW ของ HNO3 = 63.01

MW ของ H2SO4 = 98.086

ถ้าคิดว่ากรดในตัวอย่างนั้นเป็นกรด HNO3 อย่างเดียว

ดังนั้นในตัวอย่าง 1 กรัมจะมีกรด HNO3 = 63.01 x 0.01 = 0.6301 กรัม

คิดเป็น wt% ได้ = 63.01wt%

ถ้าคิดว่ากรดในตัวอย่างนั้นเป็นกรด H2SO4 อย่างเดียว (ต้องไม่ลืมว่า ให้โปรตอนได้ 2 ตัว)

ดังนั้นในตัวอย่าง 1 กรัมจะมีกรด H2SO4 = (98.086/2) x 0.01 = 0.49043 กรัม

คิดเป็น wt% ได้ = 49.043wt%

จะเห็นว่า wt% ในรูปของ H2SO4 จะมีค่าเพียง (49.043/63.01) = 0.77834 x wt% ในรูป HNO3

(ตัวเลข 0.77834 ที่คำนวณให้ดู กับตัวเลข 0.7782 ที่อยู่ในคู่มือก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ค่า MW ละเอียดเท่าใด เช่นถ้าใช้เป็น 63 กับ 98 ก็จะได้ 0.77778 เป็นต้น)

ลงชื่อ MO Memoir



จันทร์ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๔

ขอบคุณค่ะ

แต่แลปเขายืนยันว่าค่าที่ให้เขาแปลงเป็น %HNO3 แล้ว

ลงชื่อ สาวน้อย



จันทร์ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๔

สาวน้อย

ผมเกรงว่าปัญหาเรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาทางด้านเทคนิค แต่เป็นปัญหาด้านการบริหาร

ผมเดาว่าการวิเคราะห์นั้นมีอยู่ ๒ หน่วยงานด้วยกันคือ

๑. ฝ่ายปฏิบัติการ (operation) ซึ่งวัดความเข้มข้นด้วยเครื่องวัดความหนาแน่น

๒. ฝ่ายวิเคราะห์ (laboratory) ซึ่งวัดความเข้มข้นด้วยเครื่องไทเทรตอัตโนมัติ

เท่าที่คุณเล่ามา ปัญหาดังกล่าวมีมานาน ๒-๓ ปีแล้ว การที่จะบอกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (หรือทั้งสองฝ่าย) นั้นเป็นฝ่ายผิดเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเท่ากับเป็นการประจานว่าทำงานผิด ๆ มาได้อย่างไรเป็นปี ดังนั้นสิ่งที่คุณกำลังเผชิญคือการที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความร่วมมือให้เข้าไปตรวจสอบการทำงาน โดยเขาจะบอกว่าเขาทำถูกต้องแล้ว

สิ่งที่คิดว่าควรจะต้องกระทำคือรวบรวมข้อมูลย้อนหลังว่าผลการวัดจากหน้างานและจากห้องปฏิบัติการ จากตัวอย่างที่เก็บมา ณ เวลาเดียวกันหรือใกล้กันนั้น ค่าที่ได้จากห้องปฏิบัติ (clab) มีค่า "ประมาณ" 0.778 เท่าของค่าที่วัดจากหน้างาน (cplant) หรือไม่ (กล่าวคือ clab = 0.778cplant)

ผมเชื่อว่าฝ่าย operation นั้นไม่ได้เป็นผู้ทำการสอบเทียบ (calibrate) เครื่องวัดความหนาแน่นด้วยตนเอง แต่ใช้ให้ผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้ทำการสอบเทียบความถูกต้องให้

ดังนั้นอาจเป็นการง่ายกว่าที่จะคุยกับฝ่าย operation ก่อนว่าจะขอตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องวัด โดยคุณอาจต้องทำการไทเทรตเอง (หรือให้บริษัทที่จำหน่ายเครื่องวัดความหนาแน่นมาทำการวิเคราะห์) โดยเก็บตัวอย่างกรดไปทำการไทเทรต จะไทเทรตด้วยมือหรือด้วยเครื่องก็ตามแต่ แต่คุณต้องจดน้ำหนักตัวอย่างที่นำไปวิเคราะห์ และปริมาตรสารละลาย NaOH 1 M ที่ใช้ในการไทเทรต จากนั้นจึงทำคำนวณความเข้มข้นออกมาด้วยตนเอง อย่าไปใช้โปรแกรมที่เครื่อง titrator คำนวณให้ ตัวอย่างการคำนวณทำตามที่ผมเขียนไว้ในเมล์ก่อนหน้านี้ อย่าลืมบันทึกวิธีการเก็บตัวอย่างและการคำนวณไว้อย่างละเอียด เราอาจมีความคลาดเคลื่อนในการเก็บตัวอย่างหรือการไทเทรตอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่ถึงกับทำให้วัดความเข้มข้นผิดไปในระดับ 10wt% เสมอ

เหตุผลที่ผมคิดว่าคุณน่าจะคุยกับทาง operation ก่อนก็เพราะว่า

๑. ถ้าหากคุณพบว่าเครื่องวัดของ operation ถูกต้องแล้ว คุณก็จะได้ทีม operation เป็นฝ่ายสนับสนุนว่าการทำงานของพวกเขาไม่บกพร่อง (เผื่อเอาไว้หากคุณต้องไปทะเลาะกับทางแลป)

๒. ถ้าหากคุณพบว่าเครื่องวัดของ operation มีข้อผิดพลาด และทาง operation ก็ไม่ได้ทำการสอบเทียบเครื่องวัดด้วยตนเอง เขาก็สามารถโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปที่บริษัทผู้จำหน่ายเครื่องมือ

๓. คุณเป็นวิศวกร ทาง operation ก็เป็นวิศวกร (ผมสงสัยว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย) การคุยกันทางด้านนี้น่าจะทำความเข้าใจกันได้ง่ายกว่าการคุยกับทางห้องแลป ซึ่งผมคิดว่าทางนั้นคงเป็นวิทยาศาสตร์และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง

ถ้าถามว่า "มีความเป็นไปได้ไหมที่ทางบริษัทขายเครื่องวัดความหนาแน่นจะสอบเทียบเครื่องมาผิดพลาด" ผมก็บอกได้ว่า "มีความเป็นไปได้" แต่ไม่คิดว่าจะมีโอกาสสูง

ในขณะที่เครื่องไทเทรตอัตโนมัตินั้น ผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ป้อนโปรแกรมการคำนวณผลด้วยตนเอง หรือบอกให้ทางผู้ขายเขียนโปรแกรมให้ ซึ่งโอกาสผิดพลาดนั้นมีสูงมากกว่า เพราะตัวผู้ใช้เองอาจไม่ได้อ่านคู่มือละเอียด หรือคู่มือไม่ดีพอ หรือเขียนโปรแกรมผิด หรือผู้ใช้เองไม่ได้สนใจว่าการเขียนโปรแกรมนั้นเขียนอย่างไร บอกให้ผู้ขายทำให้ และความเข้าใจของผู้ขายกับผู้ใช้ก็ไม่ตรงกัน

แต่ก่อนอื่นนั้นต้องหาทางยืนยันให้ได้ก่อนว่าผลการวัดของฝ่ายใดผิดพลาด ในส่วนตัวผมเองตอนนี้ผมจะสงสัยของทางห้องปฏิบัติการ เพราะเท่าที่ดูจากวิธีการคำนวณของเขา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจึงทำให้วุ่นวายซับซ้อน

สมมุติว่าถ้าคุณตรวจสอบแล้วพบว่าการวัดทางฝ่าย operation นั้นถูกต้อง ก็ให้บอกเพียงแค่ว่าผลของ operation นั้นถูกต้องแล้ว เพราะได้ทำการตรวจสอบ แต่อย่าไปบอกว่าผลของห้องแลปผิด เพราะเดี๋ยวทางฝ่ายแลปจะไม่พอใจ ถ้ามีการซักถามขึ้นมาก็ควรตอบไปว่าในส่วนของข้อมูลที่ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบนั้น ยังไม่สามารถระบุอะไรได้ คงมีได้แต่การตั้งสมมุติฐาน เช่น ตัวอย่างมีการเปลี่ยนแปลง หรือตัวเครื่องไทเทรตอัตโนมัติมีปัญหา ฯลฯ แต่อย่าพึ่งไปบอกว่าความผิดพลาดอยู่ที่คนทำงาน พยายามตั้งข้อสงสัยที่เครื่องมือเอาไว้ก่อน โดยอาจอ้างว่าเครื่องมือทำงานมาหลายปีแล้ว ไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ (เขาทดสอบเฉพาะ pH probe เท่านั้น) เช่น pump ฯลฯ ว่ายังทำงานได้ถูกต้องหรือเปล่า ดังนั้นคงต้องตรวจสอบว่าเครื่องมือยังทำงานได้ถูกต้องอยู่หรือเปล่า โดยทำการเก็บตัวอย่างมาแล้วแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งไทเทรตด้วยเครื่องคำนวณ และอีกส่วนหนึ่งไทเทรตด้วยมือ ถ้าพบว่าเครื่องเสียหรือมีปัญหาก็จะได้แก้ไข

เอาไว้พอเข้าถึงตัวเครื่องได้แล้วก็ค่อยหาทางตรวจสอบโปรแกรมคำนวณที่อยู่ในเครื่องว่าถูกต้องหรือไม่ หรือถ้าเป็นไปได้ถ้าเขามีข้อมูลปริมาตร NaOH ที่ใช้ในการไทเทรต กับความเข้มข้นที่รายงาน คุณก็จะสามารถทำการคำนวณได้ทันทีเป็นขั้น ๆ ให้ชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผลการคำนวณที่เครื่องรายงายกับที่คุณคำนวณนั้นตรงกันหรือไม่

เหตุผลที่ผมให้คุณเริ่มการวิเคราะห์ปัญหาไปที่เครื่องมือก่อน หรือโยนไปให้คนขายเครื่องมือก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้คนที่เกี่ยวข้องไม่เกิดความรู้สึกว่าคุณกำลังจับผิด เพราะสิ่งที่ผิดพลาดมา ๒-๓ ปีนั้น ถ้าพบว่าปัญหาเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของคน ๆ หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็อาจมีคน (หรือผู้บังคับบัญชา) ใช้ข้อมูลดังกล่าวเล่นงานเขาได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างศัตรูในการทำงานหรือทำให้เพื่อนฝูงกันมีทะเลาะกัน (ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของเราเลย) ดังนั้นจึงควรใจเย็น ๆ และค่อย ๆ ทำไป ในการทำงานนั้น ศิลปในการรักษาหน้าผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้เราทำงานร่วมกับผู้อื่นได้สะดวก

ผมเคยเจอปัญหาคนที่ยืนยันว่าตัวเองทำงานถูกต้องแล้ว แต่พอตรวจสอบจริงแล้วพบว่าทำงานผิด ทั้งนี้เป็นเพราะเขาต้องการผลักภาระการทำงานหรือความรับผิดชอบ โดยต้องการให้เราไปตรวจสอบคนอื่นก่อน แทนที่จะเขาจะตรวจสอบตัวเอง (เพราะขี้เกียจทำ ไม่อยากทำ กลัวว่าประวัติจะเสียหาย ฯลฯ)

สิ่งที่ทางแลปเขาตอบคุณมานั้น อาจทำให้เขารู้ตัวแล้วว่าทางเขามีความผิดพลาด แต่เขาไม่ต้องการยอมรับว่าเขามีความผิดพลาด เขาก็เลยต้องบอกว่าเขาถูกเอาไว้ก่อน แต่ลับหลังเขาอาจไปทำการตรวจสอบก็ได้ ถ้าเขาพบว่าเขามีความผิดพลาดเขาก็คงจะทำการตรวจสอบแก้ปัญหาภายในแบบเงียบ ๆ ถ้าเป็นเช่นนี้คุณอาจพบว่าในเร็ว ๆ นี้ผลการวัดจากแลปและทางฝ่าย operation จะออกมาตรงกันโดยที่ไม่มีคำอธิบายใด ๆ และก็อย่าไปถามถึงด้วย เอาบันทึกเหล่านี้ไว้ไปคุยแบบ off record กับทางเจ้าของโรงงานดีกว่า (ถ้าเขาถามถึง) โดยให้เขาไปหลอกถามทางแต่ละฝ่ายดูเอง

ถ้ามีปัญหาใดหรือที่ผมคาดการณ์ไว้ไม่ถูกต้อง ก็เขียนหรือโทรมาถามก็ได้

ลงชื่อ MO Memoir


หลังจากเมล์ฉบับนี้ก็ได้มีการโทรศัพท์ติดต่อกัน ทราบว่าทางแลปยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าเขาทำถูกต้องแล้ว (สาวน้อยไม่ได้มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องในการทำงานของแลป รวมทั้งตัวโปรแกรมที่ป้อนเข้าเครื่องไทเทรตอัตโนมัติด้วย) ก็เลยต้องติดต่อกลับไปยังผู้จำหน่ายเครื่องมือ เพื่อให้เขามาทำการสอบเทียบความถูกต้องของเครื่องมือวัดอีกครั้ง



ศุกร์ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๔

สาวน้อย

ตอนนี้คิดว่าคุณคงได้ทำเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องวัดความหนาแน่นก่อน ก็เลยขอฝากความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องดังกล่าวที่ได้อ่านจากคู่มือที่คุณส่งมาให้

ข้อควรระวังในการอ่านคู่มือ : เครื่องมือมาจากเยอรมัน คู่มือก็เลยแปลมาจากภาษาเยอรมัน ในภาษาเยอรมันจะใช้เครื่องหมาย comma "," แทนจุดทศนิยม "." ดังนั้นสมมุติว่าเวลาเขาเขียน 1,234 จะหมายถึง 1.234 (หนึ่งจุดสองสามสี่ ไม่ใช่หนึ่งพันสองร้อยสามสิบสี่) แม้ว่าเขาจะแปลคู่มือเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ก็ยังเห็นการแก้ไขไม่หมดทุกจุด อันหนึ่งที่เห็นคือค่า temperature influence without compensation ในหน้า 5 ที่ยังเขียนเป็น 2,8 ซึ่งก็คือ 2.8 นั่นเอง


(๑) เรื่องของ span และ range

จาก Technical data ในหน้า 4 นั้น

ช่วง density range ที่เครื่องวัดได้คือ 0-5000 kg/m3 แต่คงไม่ได้หมายความว่าด้วยเครื่องเครื่องเดียวจะวัดได้ครอบคลุมหมด คงขึ้นอยู่กับว่าเอามาปรับแต่งให้วัดได้ในช่วงไหน

ช่วง calibration range อยู่ในช่วง 400-2000 kg/m3 ซึ่งตรงนี้ผมเข้าใจว่าเขาหมายถึงความแตกต่างระหว่างความหนาแน่นต่ำสุดและความหนาแน่นสูงสุด ถ้าต้องการความละเอียดสูงก็ใช้ช่วง range ที่แคบ ซึ่งจะได้ความละเอียดสูง แต่วัดได้ในช่วงแคบ ๆ แต่ถ้าต้องการวัดได้ในช่วงกว้าง ๆ ก็ต้องใช้ช่วง range ที่กว้าง แต่จะได้ความละเอียดต่ำ

กล่าวคือถ้าเราต้องการวัดความหนาแน่นในช่วง 1000-1400 kg/m3 ถ้าเราตั้ง range ของเครื่องไว้ที่ 400 เราก็จะวัดค่าได้ละเอียด ส่วนจะละเอียดแค่ไหนต้องไปดูที่ค่า accuracy ซึ่งเขาระบุไว้ว่าคือ ±0.02%

ค่า accuracy ที่เขาระบุไว้นั้นมันไม่ชัดเจนว่าเป็น % ของ range หรือเป็น % ของความหนาแน่นที่วัด กล่าวคือถ้าเป็น % ของความหนาแน่นที่วัด ค่านี้ก็คงขึ้นอยู่กับความหนาแน่นที่ต้องการวัด กล่าวคือถ้าความหนาแน่นที่วัดนั้นมีค่าประมาณ 1000 kg/m3 เครื่องก็จะวัดค่าได้ผิดพลาดไม่เกิน ±0.2 kg/m3 แต่ถ้าความหนาแน่นที่วัดนั้นมีค่าประมาณ 4000 kg/m3 เครื่องก็จะวัดค่าได้ผิดพลาดไม่เกิน ±0.8 kg/m3

แต่ถ้าค่า accuracy เป็น % ของ range ดังนั้นถ้าตั้ง range ไว้ที่ 400 เพื่อวัดความหนาแน่นในช่วง 1000-1400 kg/m3 ค่า accuracy ก็จะอยู่ที่ระดับ ±0.08 kg/m3 (±0.02% ของช่วง 400) แต่ถ้าตั้ง range ไว้ที่ 2000 (เช่นตั้งไว้ในช่วง 1000-3000 kg/m3 ซึ่งก็สามารถวัดค่าความหนาแน่นในช่วง 1000-1400 kg/m3 ได้เช่นเดียวกัน) แต่ความถูกต้องของการวัดจะอยู่ที่ระดับ ±0.4 kg/m3

โดยส่วนตัวผมแล้วคิดว่าค่า accuracy น่าจะเป็น % ของ range มากกว่า ทำนองเดียวกับ multi meter ที่เราใช้ว่าแรงดันไฟฟ้า ด้วยหน้าจอเดียวกันเราสามารถวัดในช่วง 0-1.5 V หรือ 0-250 V ได้ แต่ค่าที่อ่านได้จะละเอียดแตกต่างกัน แต่ถ้าคิดเป็น % แล้วจะพอ ๆ กัน

การตั้ง range ไว้แคบ (เช่นตั้งไว้ 400) จะทำให้อ่านค่าได้ละเอียด แต่ถ้าระบบไม่นิ่ง จะเห็นค่าเต้นไปมามาก การตั้งค่า range ไว้กว้าง (เช่นตั้งไว้ 2000) จะทำให้อ่านค่าได้หยาบมากขึ้น แต่ตัวเลขจะไม่แกว่งไปมามาก

สำหรับเครื่องนี้คงต้องไปดูว่าเขาตั้ง range ไว้ช่วงไหน โดยเราอาจประมาณได้จากความหนาแน่นของน้ำบริสุทธิ์และความหนาแน่นของกรด HNO3 เข้มข้น (70 wt% ซึ่งเป็นความเข้มข้นสูงสุดที่ขายกัน) กล่าวคือ

ความหนาแน่นของกรด HNO3 เข้มข้น (70 wt%) 1400 kg/m3

ความหนาแน่นของน้ำบริสุทธิ์ที่ 4ºC 1000 kg/m3

จากนั้นก็เผื่อผลของอุณหภูมิ โดยอุณหภูมิสูงขึ้นของเหลวจะมีความหนาแน่นต่ำลง ดังนั้นในกรณีนี้แทนที่เราจะตั้ง range ไว้ที่ 400 เพื่อวัดค่าในช่วง 1000-1400 kg/m3 เราก็อาจตั้ง range ไว้เป็น 400 เพื่อวัดค่าในช่วง 900-1300 kg/m3 ก็ได้ ถ้าเราคิดว่าสารละลายของเราไม่ใช่กรดเข้มข้นมาก หรือไม่ก็เผื่อค่า range เป็น 500 เพื่อวัดค่าในช่วง 900-1400 kg/m3 ก็ได้ แต่ทั้งนี้คุณคงต้องไปดูข้อมูลของโรงงานของคุณว่าช่วงความหนาแน่นต่ำสุดและความหนาแน่นสูงสุดนั้นแตกต่างกันแค่ไหน และอยู่ในช่วงไหน


(๒) การชดเชยอุณหภูมิ

อีกสิ่งที่ต้องตรวจสอบคือ อุณหภูมิที่ได้ทำการสอบเทียบ (calibrate) กับอุณหภูมิทำงานจริงนั้นเท่ากันหรือไม่ หรือแตกต่างกันมาก เพราะอาจส่งผลได้ ผมเองไม่มีข้อมูลความหนาแน่นของสารละลายกรด HNO3 ที่อุณหภูมิต่าง ๆ ดังนั้นในที่นี้คงต้องยกตัวอย่างน้ำ

น้ำบริสุทธิ์ที่ 30ºC มีความหนาแน่นประมาณ 996 kg/m3

น้ำบริสุทธิ์ที่ 80ºC มีความหนาแน่นประมาณ 972 kg/m3

ที่ยกตัวอย่างน้ำที่อุณหภูมิสูงเพราะคาดว่าเมื่อกรดละลายในน้ำแล้ว น้ำจะร้อนขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าความหนาแน่นจะลดลงประมาณ 24 kg/m3 หรือประมาณ 2.4%

ลงชื่อ MO Memoir


ในขณะนี้การติดต่อสิ้นสุดเพียงแค่นี้ แต่หวังว่าพวกคุณเมื่อได้อ่านแล้วคงได้เห็นภาพอะไรต่อมิอะไรบ้างแล้ว

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

Bad project MO Memoir : Wednesday 26 January 2554

เห็นคลิปวิดิโอนี้ตั้งแต่วันจันทร์ ตอนเช้าวันจันทร์มีคนดูจาก YouTube แล้วกว่า 180,000 ครั้ง มาถึงเช้าวันนี้ เวลาผ่านไปแค่ประมาณ 48 ชั่วโมง ปรากฏว่ายอดผู้เข้าชมเป็น 560,000 ครั้งแล้ว งานนี้เรียกว่าโดนใจผู้เรียน PhD ทั้งโลก เรียกว่าสิ่งที่ประสบกันอยู่ก็มีเหมือน ๆ กันหมด เมื่อวานก็ได้แนะนำให้หลายคนได้ดูไปแล้ว วันนี้เห็นควรขอเอามาบันทึกไว้ใน MO Memoir นี้ด้วย

ใครที่ยังไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ก็ดูคลิปเอาเองก็แล้วกัน

(http://www.youtube.com/watch?v=Fl4L4M8m4d0)



วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

เพียงเพื่อให้ ได้ยศถา บรรดาศักดิ์ MO Memoir : Monday 24 January 2554

บ่ายวันพุธที่ ๑๙ มกราคมที่ผ่านมา เป็นวันที่ได้เห็นอะไรที่เคยแต่ได้ยิน หรือเคยประสบมานานแล้ว หลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอลัมน์อุดตัน (ที่เล่าไว้ในฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๐) หรือ variac ที่เสีย (ที่เล่าไว้ในฉบับวันเสาร์ที่ ๒๑) แต่เรื่องที่เจอก่อนสองเรื่องนั้น (ที่เป็นสาเหตุให้สาวน้อยหน้าใสจากบางละมุงต้องโทรไปตามผมว่าที่นัดไว้จะยกเลิกหรือเปล่า) เป็นเรื่องที่ผมคาดไม่ถึงมาก่อนว่าในที่สุดจะเกิดขึ้นกับภาควิชาเรา นั่นคือเรื่องการตั้ง "ศาสตราภิชาน"


ตำแหน่งศาสตราภิชานเป็นตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยมอบให้เพื่อเป็นเกียรติและยกย่องผู้มีความรู้เชี่ยวชาญและมีผลงานทางวิชาการดีเด่น และเป็นผู้ "ทรงคุณธรรม" ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๕๕๒) ข้อ ๕ ระบุไว้ว่า การแต่งตั้งศาสตราภิชาน ให้แต่งตั้งจาก "บุคคลภายนอก" ซึ่งมีคุณสมบัติ ดังนี้ .....

ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งศาสตราภิชานนี้จะอยู่ได้ครั้งละ ๒ ปี โดยมีเงินทุนให้ปีละ ๒๔๐,๐๐๐ บาท (สองแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) รวม ๒ ปีก็เป็น ๔๘๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนแปดหมื่นบาทถ้วน)

เท่าที่ผมเคยมีส่วนร่วมในการเสนอแต่งตั้งศาสตราภิชานนั้น จะเริ่มจากการที่ถ้าทางภาควิชาคิดว่าใครมีความเหมาะสม ก็จะเป็นฝ่ายติดต่อทาบทาม และหาบริษัทที่จะมาเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนศาสตราภิชานดังกล่าว โดยผู้ได้รับแต่งตั้งจะมีสิทธิใช้คำว่า "ศาสตราภิชาน เงินทุน ......" แล้วตามด้วยชื่อเงินทุนศาสตราภิชานนั้น ๆ ตามประกาศแต่งตั้งของสภามหาวิทยาลัยต่อท้ายชื่อตนเองตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งศาสตราภิชาน

โดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจะมีพันธะกิจที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัยตามที่ตกลง

ที่ผ่านมานั้นทางภาควิชาก็ไม่ได้เชิญผู้เป็นศาสตราภิชานมาสอนหนังสือ แต่จะใช้เป็นช่องทางการติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซะมากกว่า โดยอาศัยบารมีของท่านเหล่านั้น


ที่มันเป็นเรื่องก็คือ แทนที่ทางภาคจะเป็นฝ่ายเริ่มเรื่องว่าใครสมควรได้เป็น อยู่ดี ๆ ก็มีจดหมายจากทางบริษัทแห่งหนึ่ง โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ จำนวน ๒ ฉบับ เรื่องขอมอบเงินสนับสนุนให้บุคคลสองคนดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราภิชาน จากนั้นก็มีการโทรศัพท์มาสอบถามจากทางบริษัทนั้นว่าเรื่องดังกล่าวดำเนินไปถึงไหน

เรื่องดังกล่าวถูกนำเข้าที่ประชุมในวันพุธที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งที่ประชุมก็มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง (หรือเรียกว่าไม่มีมารยาทก็ได้) เพราะการเสนอใครนั้นต้องดูจากเหตุผลและความจำเป็นของทางภาควิชา ไม่ใช่ของทางบริษัท และถ้าต้องนำเรื่องที่บริษัทเป็นฝ่ายเสนอมาก่อนมาประชุมทุกครั้ง ต่อไปก็ไม่ต้องทำอะไรกันเลย ขืนยอมให้ต่อไปก็มีหวังบริษัทอยากส่งใครมาเป็น (ลูก คู่สมรส พนักงาน ฯลฯ) ก็ส่งจดหมายแจ้งมาพร้อมกับให้เงิน ๔๘๐,๐๐๐ บาท (สำหรับบริษัทแล้วเงินดังกล่าวน้อยมาก น้อยกว่าเงินเดือนพนักงานระดับบริหารของบริษัทเพียงเดือนเดียวอีก) หรือใครก็ตามอยากได้ตำแหน่งดังกล่าว ก็ใช้วิธีเอาเงินไปให้บริษัทที่มักคุ้นออกจดหมายให้ ซึ่งถ้าได้รับการแต่งตั้งก็จะได้เงินดังกล่าวกลับคืนกระเป๋าตัวเอง งานนี้เรียกว่ามีแต่กำไร เรื่องทำนองคล้าย ๆ กันนี้เคยได้ยินว่ามีเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่เท็จจริงยังไงก็ไม่รู้ ได้ยินแต่พูดกันปากต่อปาก คือบางคนอยากเป็นศาสตราจารย์ (ภิชานก็ยังดี) ก็ใช้วิธีบริจาคเงินให้กับภาควิชาเพื่อที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีพระคุณ สนับสนุนการศึกษา จากนั้นภาควิชาก็จะทำเรื่องขอแต่งตั้งให้


แต่ข้อมูลที่ได้รับทราบกันดูเหมือนว่าเรื่องนั้นไม่ได้เริ่มต้นมาจากบริษัท ดูเหมือนว่ามีรายหนึ่งที่อยากเป็นจึงได้ติดต่อกับบริษัทดังกล่าวให้ออกจดหมายและออกเงินให้ ซึ่งทางกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็คงเกรงใจ แต่เนื่องจากเกรงว่าถ้าขอให้ออกให้ตัวเองคนเดียวจะดูไม่ดี ก็เลยต้องให้ทางบริษัทเสนอชื่อบุคคลอีกคนหนึ่งร่วมด้วย (เราก็ได้แต่หวังว่าเรื่องนี้คงจะไม่เป็นเรื่องจริง)

นี่ก็ได้ข่าวมาว่าบุคคลรายได้นั้นติดต่อกับอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อให้ออกจดหมาย (โดยทางเขาเป็นฝ่ายร่างและส่งไปให้) และออกเงินเรื่องขอให้แต่งตั้งบุคคลที่สามอีกบุคคลหนึ่งเป็นศาสตราภิชานด้วย ตอนนี้เท่าที่ทราบจดหมายดังกล่าวยังมาไม่ถึงภาควิชา ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าบริษัทดังกล่าวจะยอมลงชื่อในจดหมายหรือเปล่า

โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า ผู้ใดที่กระทำการดังกล่าวก็จัดว่าเป็นผู้ไร้ซึ่ง "คุณธรรม" แล้ว ซึ่งก็จะไม่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นศาสตราภิชานได้


สิ่งที่ทำให้ที่ประชุมแปลกใจและรู้สึกผิดหวังมากก็คือ ความอยากได้ยศถาบรรดาศักดิ์ทำให้คนเปลี่ยนไปได้มากถึงเพียงนี้ และเพียงเพื่อให้ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ถึงกับต้องลงทุนทำถึงอย่างนี้เชียวหรือ



ข้าอยากได้ ยศถา บรรดาศักดิ์

แม้ใช้อัฐ ซื้อมา ข้าไม่สน

ข้าอยากได้ เอาไว้ โอ้อวดตน

ว่าเหนือคน อื่นล้ำ ในปฐพี


ถ้าคิดว่า ยศถา บรรดาศักดิ์

แค่ใช้อัฐ ซื้อได้ โง่จริงหนอ

คุณความดี เท่านั้น จึงจะพอ

ไม่คิดก่อ ก็อย่าหวัง เอามันเลย

(แต่งเองเล่น ๆ นะ)

วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๑ อย่าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดูแล MO Memoir : Saturday 22 January 2554

ใน memoir ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๒ เรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๒๒) นั้น ในตอนท้ายผมได้กล่าวถึงเรื่อง variac ที่มีรายงานว่าเสีย

ในวันพุธที่ ๑๙ มกราคมที่ผ่านมา ผมกับสาวน้อยผมยาวจากชายแดนใต้และสาวน้อยหน้าใสจากบางละมุงก็ได้เข้าไปตรวจ และพบว่าระบบ autoclave มีปัญหาจริง แต่ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ variac เพราะเมื่อปลดสายไฟด้านขาออกจาก variac แล้วพบว่าระบบยังสามารถจ่ายไฟได้ตามปรกติ ไม่มีปัญหาใด แต่ถ้าต่อสายไฟด้านขาออกที่จ่ายไปยัง autoclave เมื่อใด circuit breaker จะตัดวงจรทันที แสดงว่าคงมีไฟฟ้าลัดวงจรอยู่แถว ๆ เครื่อง autoclave แต่พอจะไปตรวจหาสาเหตุที่ autoclave ก็พบปัญหาดังรูปที่ ๑ ข้างล่าง


รูปที่ ๑ มอเตอร์ขับเคลื่อนใบพัดและล้อขับเคลื่อนใบพัด


๑. ผมทราบปัญหาในวันจันทร์ แสดงว่าระบบเกิดปัญหาก่อนหน้านั้น แต่เมื่อเกิดแล้วแทนที่จะหาทางแก้ไข ก็กลับปล่อยทิ้งคาเอาไว้ แล้วก็หายหัวไปหมด หาคนรับผิดชอบไม่ได้ เท่าที่ไปตรวจดูเมื่อวันศุกร์ คนที่ใช้เครื่องมือและพบว่าเครื่องมือมีปัญหาก็ยังไม่มาดูแล และไม่มีการติดป้ายเตือนว่าเครื่องมีปัญหา และไม่บอกด้วยว่าให้ติดต่อใครเมื่อมีปัญหา

๒. เท่านั้นยังไม่พอ ยังเล่นคาสารเคมีต่าง ๆ เอาไว้ใน autoclave ตัวเองไม่มาซ่อม ก็กันไม่ให้คนอื่นมาซ่อมแซมได้ และยังเป็นการกันไม่ให้คนอื่นมาทำการแก้ไขอีก เท่าที่พอจะติดต่อได้คือ เขาบอกว่าถึงแม้ว่าจะให้ความร้อนแก่ระบบไม่ได้ ก็ขอปั่นกวนระบบทิ้งเอาไว้

๓. เขาเปิดมอเตอร์ขับเคลื่อนใบพัดให้หมุน แต่เมื่อไปตรวจดูแล้วพบว่า "ไม่มี" สายพานคล้องอยู่ระหว่างเพลาหมุนของมอเตอร์กับล้อขับเคลื่อนเพลาใบพัด (ตรงที่วงแดงในรูป) แต่สายพานนั้นมาพาดอยู่ตรงท่อข้าง ๆ ดูเหมือนว่าจะขาดในระหว่างการหมุน


ผมรอจนถึงวันศุกร์เมื่อวาน ก็พบว่ายังไม่มีใครมาดูแล มอเตอร์ขับเคลื่อนใบพัดก็ยังหมุนตัวเปล่าเหมือนเดิม (ให้มันกินไฟเล่น ๆ เพราะถือว่าไม่ได้จ่ายค่าไฟ) ก็เลยปิดมอเตอร์ซะ (ที่ต้องรอก็ไม่ใช่อะไรหรอก ต้องการให้เจ้าตัวผู้ใช้เครื่องมือมาจัดการปิดด้วยตัวมันเอง จะได้เห็นพฤติกรรมของตนเอง ถ้าคนอื่นทำแทนหมดต่อไปมันก็จะได้ใจ ก่อปัญหาอะไรไว้ก็คิดว่าเดี๋ยวคนอื่นจะจัดการแก้ไขให้เอง แต่ครั้งนี้ที่ต้องปิดให้ก่อนก็ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย)


เวลาที่ทำงานกับอุปกรณ์ใดก็ตาม ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะมีระบบควบคุมอัตโนมัติหรือไม่ก็ตาม หรือเมื่อระบบเข้าสู่ steady state แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้งานจะสามารถปล่อยมันทิ้งไว้โดยไม่ต้องดูแล สามารถกลับมาอีกครั้งก็เมื่อครบกำหนดเวลา ที่ถูกต้องคือต้องกลับมาตรวจสอบการทำงานเป็นระยะว่าในระหว่างนั้นมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่นไฟฟ้าดับ น้ำไม่ไหล อุปกรณ์ทำงานต่อเนื่องเกินกำลังจนร้อนจัด ชิ้นส่วนเกิดความเสียหายเนื่องจากการใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน การประกอบชิ้นส่วนที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ


การตรวจสอบนั้นก็ไม่ได้หมายความเพียงแค่การใช้สายตาดู แต่รวมไปถึงการใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการฟังเสียงว่ามีเสียงดังผิดปรกติหรือไม่ (เช่น เสียงแก๊สรั่ว น้ำหยด เสียงจากการเสียดสีของชิ้นส่วนที่ขาดการหล่อลื่น ฯลฯ) มีกลิ่นผิดปรกติหรือไม่ (เช่น กลิ่นสารเคมีรั่ว กลิ่นไหม้ เป็นต้น) มีอุปกรณ์ส่วนใดร้อนจัดผิดปรกติหรือไม่

มีบ่อยครั้งที่งานวิจัยต้องทำต่อเนื่องหรือเปิดเครื่องต่อเนื่องทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืน ซึ่งก็ต้องยอมรับความจริงว่าคนเพียงคนเดียวไม่สามารถที่จะดูแลตลอดเวลาดังกล่าวได้ จำเป็นต้องมีการฝากเพื่อนฝูงหรือผู้ร่วมทีมงานขอให้ช่วยดูแลให้ช่วงที่เขาต้องไปทำธุระอย่างอื่นหรือต้องการการพักผ่อน (ที่ไม่ใช่การไปเที่ยว) ดังนั้นใครก็ตามที่ต้องทำงานในรูปแบบดังกล่าวจึงควรต้องทำป้ายติดเอาไว้ด้วยว่าเริ่มทำการทดลองตั้งแต่เมื่อใด และจะไปสิ้นสุดเมื่อใด และในระหว่างนั้นถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจะให้ทำอย่างไร (เช่นตัดไฟฟ้าที่ตำแหน่งใด ตัดน้ำที่ตำแหน่งใด เป็นต้น) และจะให้ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ใด ดังนั้นการทำงานเป็นทีมจึงมีความสำคัญในกลุ่มเรา

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ วิธีการเรียนรู้การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การเข้ามาอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่กำลังทำการแก้ปัญหา เพราะหลายสิ่ง เช่น เสียง กลิ่น ฯลฯ ไม่สามารถบรรยายด้วยตัวอักษรได้ ต้องเข้ามาสัมผัสด้วยตนเอง แต่เนื่องจากเราไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อใด การรอให้ปัญหาเกิดก่อนแล้วคิดว่าจะมีคนตามมาดูวิธีการแก้ไขนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูก เพราะปรกติเมื่อรับทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วก็ผมก็จะลงมือแก้ไขทันทีที่มีโอกาส


การเรียนรู้วิธีการใช้งานนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่เกิดในระหว่างการใช้งานนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงรถยนต์ซิ ความยากง่ายระหว่างเรียนขับรถให้เป็นกับเรียนซ่อมรถให้เป็นนั้นมันคนละระดับกันเลย

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๑๐ เมื่อพีค GC หายไป MO Memoir : Thursday 20 January 2554

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากสาวน้อยหน้าใสจากบางละมุงบอกว่า ฉีดตัวอย่างเข้าไปในเครื่อง Shimadzu GC 9Aแล้วแล้วไม่มีพีคปรากฏ

ปัญหาเรื่องที่ฉีดสารเข้าไปในแล้วไม่มีพีคปรากฏนี่มันมีสาเหตุหลายอย่าง ต้องค่อย ๆ ตรวจสอบกันไป เช่น

- ตัวอย่างที่ต้องการวิเคราะห์นั้นไม่มีสารที่ต้องการวิเคราะห์ อย่างเช่นในกรณีนี้เป็นการวิเคราะห์สารอินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำโดยใช้ detector แบบ FID ดังนั้นถ้าน้ำตัวอย่างไม่มีสารอินทรีย์ละลายอยู่ก็จะไม่มีสัญญาณใด ๆ

- การปรับตั้งความว่องไวของ detector ไม่เหมาะสม เช่นสารที่ต้องการวิเคราะห์ปริมาณมีความเข้มข้นต่ำมาก แต่ตั้งความว่องไวของ detector ไว้หยาบมาก

- ปรับตั้งขนาดเล็กสุดของพีคที่ให้เครื่องแสดงผลนั้นใหญ่เกินไป เช่นสมมุติว่าบอก integrator ว่าไม่ต้องรายงานผลพีคที่มีพื้นที่เล็กกว่า 5000 แต่บังเอิญตัวอย่างของเรามีพีคเล็กกว่า 5000 ดังนั้นแม้ว่า detector จะตรวจวัดได้ แต่ integrator ก็จะไม่รายงานผล

- เข็มที่ใช้ฉีดนั้นอุดตัน ทำให้เมื่อเวลาดึงตัวอย่างเข้าในเข็ม ไม่มีตัวอย่างไหลเข้ามาในเข็ม ปัญหานี้มักเกิดกับตัวอย่างที่เป็นของเหลว เพราะเข็มฉีดของเหลวนั้นมักเป็นหัวเข็มขนาดเล็ก ตัวกระบอกสูบก็เล็ก ถ้าหัวเข็มอุดตันจะทำให้ไม่มีของเหลวไหลเข้ามาในตัวเข็มในขณะที่เราดึงเอาลูกสูบถอยหลังเพื่อดูดตัวอย่าง และจะทำให้เกิดสุญญากาศในตัวกระบอกเข็ม และจากการที่พื้นที่หน้าตัดช่องว่างในตัวเข็มนั้นเล็ก แรงที่กระทำต่อสุญญากาศที่เกิดขึ้นในตัวเข็มนั้นไม่มากพอที่จะดันให้ลูกสูบเคลื่อนที่กลับ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกว่าไม่มีตัวอย่างไหลเข้าไปในกระบอกเข็ม แต่ถ้าเป็นเข็มฉีดแก๊สซึ่งมีพื้นที่หน้าตัดลูกสูบมากกว่า เราจะรู้ได้ทันทีถ้าไม่มีตัวอย่างไหลเข้าไปในตัวกระบอกเข็ม เพราะพอเราปล่อยลูกสูบ ลูกสูบก็จะเคลื่อนที่กลับเนื่องจากแรงกดอากาศภายนอกที่กระทำ

- การเชื่อมต่อระหว่างเครื่อง GC และเครื่อง Integrator มีปัญหา เช่นสายเชื่อมต่อหลุดหรือชำรุด

- Detector ปิดอยู่ หรือในกรณีอย่าง FID นั้นอาจเป็นกรณีที่เปลวไฟดับก็ได้

- สารตัวอย่างไหลไปไม่ถึง detector

- ฯลฯ


ในกรณีของสาวน้อยหน้าใสจากบางละมุงนั้นเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ปัญหาเกิดจากการที่ตัวอย่างไหลไปไม่ถึง detector

สาเหตุที่ทำให้แก๊สอย่างไหลไปไม่ถึง detector ก็มีด้วยกันหลายสาเหตุ ที่พบเป็นประจำมี ๒ สาเหตุคือ

- ไม่มี carrier gas ไหลเข้าเครื่อง

- carrier gas มีการรั่วไหลก่อนเข้า detector


ในแลปของเรานั้นคอลัมน์ส่วนใหญ่ที่เราใช้กันจะเป็นแบบ packed column ซึ่งเป็นท่อขนาดเล็กภายในบรรจุ packing ที่มีลักษณะเป็นผงขนาดเล็กเอาไว้ ขนาดของ packing ที่เราใช้อยู่ก็มี 80-100 mesh และ 100-120 mesh จากการที่ตัวคอลัมน์เองก็มีเส้นผ่านศูนย์กลางที่เล็กและมีความยาวมาก ร่วมกันการที่ packing เองมีขนาดเล็ก จึงทำให้ต้องใช้ความดันค่อนข้างมากในการดันให้ carrier gas ไหลผ่านคอลัมน์ในอัตราการไหลที่ต้องการ ด้วยแรงดันที่ค่อนข้างมากนี้เองจึงทำให้เมื่อใช้งานไปนาน ๆ ตัว packing จะเคลื่อนตัวอัดเข้าหากัน ทำให้แก๊สไหลผ่านไม่สะดวก ประกอบกับการที่เครื่อง GC ในแลปเราหลายเครื่องนั้นเป็นเครื่องที่ไม่มีเครื่องวัด "อัตราการไหล" ของ carrier gas มีแต่วัด "ความดัน" ของแก๊สที่ไหลเข้าคอลัมน์ ในการใช้งานจึงต่อปลายด้านขาออกของคอลัมน์เข้ากับ bubble flow meter และทำการปรับความดันแก๊สด้านขาเข้าจนวัดอัตราการไหลด้านขาออกได้ดังต้องการ แล้วจึงทำการบันทึกค่าความดันที่ทำให้ได้อัตราการไหลที่ต้องการนั้นไว้เพื่อที่ว่าเมื่อเปิดเครื่องแต่ละครั้งจะได้ค่าอัตราการไหลที่ต้องการ

แต่เมื่อใช้งานคอลัมน์ไปนาน ๆ (โดยเฉพาะคอลัมน์ที่ใช้ packing ขนาดเล็กเช่น 100-120 mesh) ค่าความดันลดคร่อมคอลัมน์จะสูงขึ้น ดังนั้นที่ค่าความดันขาเข้าเท่าเดิม อัตราการไหลของ carrier gas จะลดลง และในกรณีที่เป็นมากจนคอลัมน์อุดตัน ก็จะไม่มี carrier gas ไหลไปยัง detector ได้เลย (แต่เกจย์บอกความดันด้านขาเข้ายังคงแสดงค่าความดันอยู่นะ)

กรณีเช่นนี้ตรวจสอบได้โดยการถอดด้านขาออกของคอลัมน์มาวัดอัตราการไหลผ่าน ถ้าพบว่า packing ในคอลัมน์เริ่มอัดตัวกันแน่นเกินไป ก็แก้ปัญหาได้โดยการสลับทิศทางการต่อคอลัมน์ โดยเปลี่ยนด้านขาออกให้เป็นด้านขาเข้า และให้ด้านขาเข้าเป็นด้านขาออก แต่การสลับทิศทางจะทำได้ก็ต่อเมื่อรูปร่างคอลัมน์มันยอมให้ทำได้ (รูปร่างคอลัมน์ GC และรูปแบบการต่อนั้นขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อของเครื่อง เครื่องยี่ห้อเดียวกันแต่ต่างรุ่นกันก็อาจใช้คอลัมน์รูปร่างต่างกันนะ)


ในกรณีของคอลัมน์ที่เป็นโลหะนั้น ถ้าหากเริ่มแรกเราขันต่อคอลัมน์เอาไว้แน่นดีและไม่มีการรั่วไหล แม้ว่าเมื่อใช้งานไปแล้วคอลัมน์เกิดการอุดตัน สิ่งที่เกิดขึ้นคืออัตราการไหลของ carrier gas จะลดลง แต่ในกรณีของคอลัมน์แก้ว (ดังเช่นในกรณีของสาวน้อยหน้าใสจากบางละมุงที่ใช้เครื่อง Shimadzu GC 9A นั้น) การจับกันระหว่าง fitting กับตัวคอลัมน์จะไม่สามารถจับกันได้แน่นเหมือนกับกรณีการจับกันระหว่าง fitting ที่เป็นโลหะกับคอลัมน์ที่เป็นโลหะ

ดังนั้นสิ่งที่อาจพบเห็นในกรณีของคอลัมน์แล้วคือ เมื่อคอลัมน์เกิดการอุดตัน เรายังอาจเห็นว่ามี carrier gas ไหลเข้าคอลัมน์อยู่ (ถ้าเครื่องมี flow meter วัด) และความดันด้านขาเข้าคอลัมน์อาจไม่ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเกิดการรั่วไหลที่บริเวณ fitting ได้ (โดยเฉพาะทางด้านขาเข้าคอลัมน์) และถ้ามีการรั่วไหลมากก็จะเห็นความดันด้านขาเข้าคอลัมน์นั้นต่ำกว่าปรกติ


รูปที่ ๑ ความดัน carrier gas ขาเข้าคอลัมน์ (บน) เมื่อมีการรั่วไหลก่อนเข้าคอลัมน์ และ (ล่าง) เมื่อไม่มีการรั่วไหล รูปที่แสดงเป็นของเครื่อง Shimadzu GC 9A ที่กลุ่มเราใช้งานอยู่

รูปที่ ๒ คอลัมน์แก้วที่กลุ่มเราใช้กับเครื่อง Shimadzu 9A


เครื่อง 9A ที่กลุ่มเราใช้นั้นจะมีการปรับความดันอยู่ ๒ ระดับด้วยกัน ระดับแรกเป็นการปรับความดัน carrier gas ที่ไหลเข้าเครื่อง ระดับที่สองเป็นการปรับความดันเพื่อให้ได้อัตราการไหลที่ต้องการ จากรูปที่ ๑ จะเห็นว่าแม้ว่าค่าอัตราการไหลของ carrier gas จะเท่ากัน และความดันที่ทำให้ได้ค่าอัตราการไหลของ carrier gas เข้าคอลัมน์ที่ต้องการนั้นอาจแตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่นในรูปที่ ๑ (บน) นั้นข้อต่อมีการรั่วไหลที่บริเวณด้านขาเข้าคอลัมน์ แก๊สรั่วออกทางด้านนี้ได้ง่าย จึงเห็นค่าความดันแก๊สไหลเข้าคอลัมน์ต่ำกว่าค่าความดันเมื่อไม่มีการรั่วไหลที่แสดงในรูปที่ ๑ (ล่าง) ดังนั้นในการใช้งานนั้นเราจึงควรต้องคอยบันทึกความดันค่านี้เอาไว้ด้วย เพราะจะเป็นตัวบอกได้ว่าระบบมีปัญหาใดหรือไม่

รูปที่ ๒ แสดงให้เห็นการเคลื่อนตัวของ packing ในคอลัมน์เนื่องจากความดันด้านขาเข้าที่สูงกว่าความดันด้านขาออก จะเห็นว่าคอลัมน์ทางด้านขาเข้านั้นจะเป็นคอลัมน์โล่ง ๆ ในขณะที่ทางด้านขาออกมี packing (ที่เห็นเป็นสีขาว) เคลื่อนตัวมาอัดอยู่เต็มไปหมด packing ที่บรรจุนั้นมีขนาด 100-120 mesh (หมายความว่าขนาดอนุภาคลอดผ่านตะแกรงขนาด 100 mesh ได้ แต่ติดค้างอยู่บนตะแกรงขนาด 120 mesh) ซึ่งจัดว่าเป็นพวกที่มีความละเอียดสูงแบบหนึ่ง


ในกรณีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารนั้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นคอลัมน์ยังทำงานได้ปรกติ ผมจึงคิดว่ายังไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการรั่วไหลของ carrier gas แต่เมื่อตรวจพบว่าปัญหาน่าจะเกิดจากการที่สารตัวอย่างไหลไปไม่ถึง detector ซึ่งอาจเป็นเพราะ packing เกิดการอัดแน่นมาก จึงทำให้แก๊สเกิดการรั่วไหลบริเวณข้อต่อด้านขาเข้า การแก้ปัญหาทำโดยการถอดคอลัมน์ออกมาเคาะเบา ๆ เพื่อให้ packing ที่อัดแน่นนั้นคลายตัว และมีการนำเอาลูกยางมาดูดแก๊สทางด้านขาเข้า (เพื่อให้มีแก๊สไหลย้อนทาง) เพื่อช่วยให้ packing ที่อัดแน่นนั้นคลายตัวเช่นเดียวกัน

ในขณะนี้ก็ทราบว่าเครื่องสามารถทำงานได้เป็นปรกติแล้ว


ปัญหาทำนองนี้เคยประสบเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่คราวนั้นเกิดกับคอลัมน์ที่เป็นโลหะ พึ่งจะมีคราวนี้ที่เกิดจากคอลัมน์ที่เป็นแก้ว คราวนี้ก็เลยขอโอกาสบันทึกเรื่องราวนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อที่จะได้เป็นบันทึกความทรงจำและอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นที่เข้ามาอ่าน