วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๓ (ตอนที่ ๑๐) MO Memoir : Friday 30 December 2554


เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับความเป็นมาของงานที่กำลังกระทำอยู่ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันสำหรับผู้ที่กำลังจะทำการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ในปีหน้า (อันที่จริงก็สัปดาห์หน้านั่นแหละ) และขอให้นิสิตรหัส ๕๔ ศึกษาทำความเข้าใจเอาไว้ด้วย เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็ต้องรับช่วงงานต่อแล้ว

เนื้อหาในเอกสารนี้นำลง blog เพียงบางส่วน

. การกำจัด NOx ด้วยปฏิกิริยา NH3 SCR

ผมจะเริ่มจากการปูพื้นฐานทั่วไปก่อนนะ แล้วค่อยให้รายละเอียดว่างานของแต่ละคนนั้นมีจุดที่แตกต่างกันตรงไหน 
 
พร้อมกันนี้ผมได้แนบไฟล์ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เรื่อง

(ก) "กำหนดมาตรฐานการควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงไฟฟ้า" ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ และ

(ข) "กำหนดมาตรฐานการควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงไฟฟ้าใหม่" ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓

มาให้ด้วยเพื่อที่พวกคุณจะได้มองเห็นภาพของงานที่เรากำลังทำอยู่ได้ชัดเจนขึ้น ปัจจุบันประกาศทั้ง ๒ ฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ผม download มาจาก http://www.pcd.go.th/download/regulation.cfm?task=s2)

ขอเริ่มเป็นข้อ ๆ ไปก็แล้วกัน

๑.๑ องค์ประกอบของแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้นั้นขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงที่ใช้ (ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊ส) ถ่านหินจัดว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนไฮโดรเจนต่ำสุด ในขณะที่แก๊สธรรมชาติจัดว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนไฮโดรเจนสูงสุด ดังนั้นถ้าพิจารณากันตามนี้ แก๊สที่เกิดจากการเผาถ่านหินก็ควรที่จะมีปริมาณไอน้ำต่ำสุด ในขณะที่แก๊สที่เกิดจากการเผาแก๊สธรรมชาติควรจะมีปริมาณไอน้ำสูงสุด

๑.๒ ในทางทฤษฎีนั้น เพื่อให้การเผาไหม้มีประสิทธิภาพสูงสุด (อุณหภูมิแก๊สร้อนที่ได้จากการเผาไหม้สูงที่สุด) ปริมาณอากาศที่ใช้ต้องอยู่ที่ stoichiometric ratio ซึ่งการเผาไหม้ในสภาวะนี้จะเรียกว่า stoichiometric combustion แต่ในทางปฏิบัตินั้นเพื่อให้การเผาไหม้เกิดได้สมบูรณ์ จะต้องใช้อากาศที่ "มากเกินพอ" อยู่เล็กน้อย

๑.๓ ในภาวะที่มีอากาศมากเกินพอนั้น แก๊สร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้จึงถือได้ว่าปราศจาก CO และเชื้อเพลิงที่เผาไหม้ไม่หมด

๑.๔ เช่นเดียวกัน ในทางทฤษฎีนั้น ประสิทธิภาพของวัฏจักรกำลังต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับผลต่างระหว่างอุณหภูมิของแหล่งให้ความร้อนและอุณหภูมิของแหล่งรับความร้อน ยิ่งผลต่างนี้มีค่ามากเท่าใด ประสิทธิภาพก็จะสูงขึ้น แต่เนื่องจากแหล่งรับความร้อนมักจะเป็นน้ำระบายความร้อน และอุณหภูมิของน้ำระบายความร้อนที่ใช้กันจะมีอุณหภูมิประมาณอุณหภูมิห้อง ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพจึงต้องไปที่การทำให้อุณหภูมิของแหล่งให้ความร้อนมีค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้

๑.๕ แต่ปฏิกิริยาการเกิด NOx ก็จะสูงมากตามอุณหภูมิด้วย ดังนั้นยิ่งแก๊สที่เผาไหมม้มีอุณหภูมิสูงมากเท่าใด ปริมาณ NOx ที่เกิดขึ้นก็มากตามไปด้วย

๑.๖ NOx ที่กล่าวถึงในข้อ ๑.๕ นั้นเป็นตัวที่เกิดจาก N2 กับ O2 ในอากาศ แต่ยังมี NOx อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากสารประกอบไนโตรเจนที่มีอยู่ในเชื้อเพลิง ซึ่งสารประกอบพวกนี้มักจะมีอยู่แล้วในถ่านหินและน้ำมันเตา ปริมาณที่มีอยู่จะขึ้นอยู่กับชนิดของถ่านหินและน้ำมันที่เอามาเผาไหม้ ดังนั้นถ้าเราไปดูมาตรฐาน NOx สูงสุดที่อนุญาตให้ปล่อยทิ้งได้ จะพบว่าของถ่านหินและน้ำมันเตาจะสูงกว่าของแก๊สธรรมชาติ

๑.๗ อีกแนวทางในการลดการเกิด NOx ได้แก่การลดอุณหภูมิแก๊สร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ให้ต่ำลง ซึ่งอาจทำโดยการใช้อากาศมากเกินพอ หรือโดยการฉีดไอน้ำเข้าไป แต่การทำดังกล่าวก็จะทำให้ประสิทธิภาพการเผาไหม้ลดลงไปด้วย

๑.๘ องค์ประกอบในแก๊สร้อนที่ออกจากเตาเผา และองค์ประกอบในแก๊สปล่อยทิ้งสู่บรรยากาศทางปล่องนั้น "ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน" เพราะในระหว่างทางนั้นอาจมีการผสมอากาศหรือแก๊สอื่น (เช่นไอน้ำ) เข้าไป เพื่อทำให้ความเข้มข้นของสารพิษต่าง ๆ ในแก๊สนั้นลดลง แต่ปริมาณไม่ได้ลดลงนะ เพราะปริมาตรแก๊สปล่อยทิ้งจะมากขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการโกงดังกล่าว ในมาตรฐานจึงต้องกำหนดไว้ว่าการวัดนั้นต้องทำที่ "สภาวะแห้ง" และ "ปริมาตรอากาศส่วนเกินในการเผาไหม้" หรือ "ปริมาตรออกซิเจนส่วนเกินในการเผาไหม้" เอาไว้ด้วย

๑.๙ ในภาวะที่มีออกซิเจนมากเกินพอในแก๊สปล่อยทิ้งนั้น เราไม่สามารถนำตัวเร่งปฏิกิริยา 3-way catalyst ที่ใช้กับรถยนต์ (เครื่องยนต์เบนซิน) มาใช้ได้ เพราะตัวเร่งปฏิกิริยาพวกนั้นจะทำงานได้กับไอเสียที่ได้จากการเผาไหม้ในภาวะที่มีออกซิเจน "พอดี" กับการเผาไหม้เท่านั้น เพราะตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวใช้ไฮโดรคาร์บอนที่หลงเหลือจากการเผาไหม้ในการรีดิวซ์ NOx ที่เกิดขึ้น แต่ในภาวะที่มีออกซิเจนและ NOx อยู่ร่วมกันนั้น ตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวจะทำปฏิกิริยาระหว่างไฮโดรคาร์บอนกับออกซิเจนก่อน โดยที่ NOx ไม่สามารถเข้าร่วมทำปฏิกิริยาได้จนกว่าออกซิเจนจะหมด ดังนั้นถ้านำเอามาใช้กับแก๊สปล่อยทิ้งจากโรงไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นออกซิเจนหลาย % (เช่น 15% ในกรณีของเรา) ในขณะที่มี NOx ต่ำมาก (แค่ระดับ ppm ดังเช่นกรณีของเรา)

๑.๑๐ ตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการกำจัด NOx จากไอเสียดังกล่าวที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในยุคแรกคือ V2O5 บนตัวรองรับต่าง ๆ โดยใช้ NH3 เป็นสารรีดิวซ์

๑.๑๑ Alumina เป็นตัวรองรับที่มีพื้นที่ผิวสูงและทนอุณหภูมิสูง แต่ไม่ทนต่อ SO2 ในแก๊ส ส่วน TiO2 (anatase) แม้ว่าจะมีพื้นที่ผิวต่ำกว่าและทนอุณหภูมิได้ต่ำกว่า แต่สามารถทนต่อ SO2 ในแก๊ส ดังนั้นการที่จะเลือกใช้ตัวรองรับเป็นตัวใดนั้นจึงต้องดูองค์ประกอบของแก๊สด้วย

๑.๑๒ แต่ในขณะเดียวกัน V2O5 ก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในการผลิตกรดกำมะถัน โดยสามารถออกซิไดซ์ SO2 ให้กลายเป็น SO2 ได้ ปฏิกิริยานี้เป็นปฏิกิริยาคายความร้อนถูกควบคุมด้วยสมดุลเคมี ดังนั้นถ้าพิจารณาจากแง่สมดุลเคมีแล้วปฏิกิริยานี้จะไปข้างหน้าได้มากที่อุณหภูมิต่ำ แต่ที่อุณหภูมิต่ำนั้นอัตราการเกิดปฏิกิริยาก็จะต่ำลงไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงไม่จำเป็นว่าจะเกิดการออกซิไดซ์ SO2 ไปเป็น SO2 ได้มากที่อุณหภูมิต่ำ

๑.๑๓ V2O5 จัดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำงานได้ดีในช่วงอุณหภูมิปานกลาง (เอาเป็นว่าไม่เกิน 500ºC ก็แล้วกัน) ในช่วงอุณหภูมิสูงพวก WO3 จะทำงานได้ดีกว่า ดังนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไมในช่วงหลังจึงมีการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ WO3 เกิดขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า WO3 ดีกว่า V2O5 แต่เป็นเพราะมีการออกแบบโรงไฟฟ้าที่แก๊สปล่อยทิ้งมีอุณหภูมิสูงมาก (พวกมีแต่กังหันแก๊สโดยที่ยังไม่มีระบบกังหันไอน้ำร่วม) เพราะถ้าเอา WO3 มาใช้ในช่วงอุณหภูมิปานกลาง มันก็ทำงานสู้ V2O5 ไม่ได้

๑.๑๔ ในทำนองเดียวกัน MoO3 ก็เป็นตัวที่ทำงานได้ดีกว่า V2O5 ในช่วงอุณหภูมิต่ำ (เอาเป็นว่าไม่เกิน 250ºC ก็แล้วกัน) แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นก็ทำงานสู้ V2O5 ไม่ได้

๑.๑๕ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา V2O5- WO3 สำหรับการทำงานในช่วงอุณหภูมิปานกลางถึงสูง (ถ้าเป็นช่วงอุณหภูมิสูงจะไม่มี V2O5 หรือมีอยู่น้อยมาก) และตัวเร่งปฏิกิริยา V2O5- MoO3 สำหรับการทำงานในช่วงอุณหภูมิต่ำถึงปานกลาง

๑.๑๖ ด้วยเหตุนี้เราจึงได้คิดที่จะลองนำโลหะออกไซด์ทั้ง ๓ ชนิดมารวมกัน เพื่อที่จะดูว่าช่วงความสามารถในการทำปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยาตัวใหม่นี้จะเป็นอย่างไร 

๑.๑๗ เป็นที่ทราบกันมานานแล้ว (อย่างน้อยก็กว่า ๒๐ ปีแล้ว) ว่า V2O5 ที่เคลือบลงไปบนพื้นผิว TiO2 (anatase) จะแตกต่างไปจากบนพื้นผิวอื่น โดยบนพื้นผิว TiO2 (anatase) V2O5 จะกระจายตัวออกเป็นชั้นบาง ๆ ที่เรียกว่า monolayer (มีเพียงชั้นเดียว) ก่อน จนกว่าพื้นผิวจะถูกปกคลุมเอาไว้ทั้งหมด จากนั้นจึงค่อยก่อตัวเป็นผลึก แต่ถ้าเป็นบนพื้นผิวอื่นจะเกาะรวมตัวกันเป็นผลึกได้ตั้งแต่แรก

๑.๑๘ และมีรายงานด้วยว่า V2O5 และ MoO3 สามารถรวมตัวกันเป็นออกไซด์ผสมตัวใหม่ โดยการเกิดออกไซด์ผสมตัวใหม่นี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าใช้อุณหภูมิสูงก็จะเกิดได้ดีขึ้น

๑.๑๙ ส่วนออกไซด์ผสมระหว่าง V2O5 และ WO3 หรือ WO3 และ MoO3 นั้นผมเองยังไม่เคยค้นดู ขอให้พวกคุณลองไปดูกันหน่อยแล้วกันว่ามันเกิดได้หรือเปล่า

ข้อ ๑.๑ ถึง ๑.๑๙ ที่กล่าวมาข้างบนนั้นเป็นการปูพื้นฐานเผื่อต้องใช้ในการบรรยายให้กรรมการสอบได้เห็นภาพที่มาที่ไปของงานที่เรากำลังทำวิจัยอยู่

๑.๒๐
๑.๒๑ 
๑.๒๒ 
๑.๒๓
๑.๒๔ 
๑.๒๕ 

๑.๒๖ ปัญหาที่ทั้งสองคนมีร่วมกันก็คือจะวิเคราะห์ได้อย่างไรว่ามีสารประกอบโลหะออกไซด์ตัวใหม่เกิดขึ้น หรือผลการทำปฏิกิริยาที่แตกต่างกันนั้น (ถ้ามันแตกต่างกัน) เกิดจากอะไร วิธีการวิเคราะห์ที่ผมเห็นว่าควรต้องเตรียมทำก็มี XRD FT-IR และ H2-TPR

๑.๒๗ ในกรณีของ XRD นั้นผมยังสงสัยอยู่ว่าถ้าหากเกิดออกไซด์ผสมตัวใหม่ขึ้นจริง จะมองเห็นพีคหรือไม่ และถ้าหากเรามองเห็นพีค เราจะสามารถระบุได้หรือไม่ว่าเป็นพีคของอะไร ดังนั้นในขณะนี้ผมจึงยังไม่คาดหวังอะไรจากเทคนิคนี้มากนั้น

๑.๒๘ ในกรณีของ FT-IR นั้นผมคิดว่ามีโอกาสสูงกว่าที่จะเห็นความแตกต่าง เพราะจากประสบการณ์เท่าที่ผ่านมานั้นพบว่าในกรณีของออกไซด์ที่ไม่ก่อโครงสร้างเป็นผลึกเช่นกรณีของ V2O5 บน TiO2 ที่ V2O5 ก่อตัวเป็นชั้น monolayer บน TiO2 นั้น XRD ไม่สามารถตรวจจับการมีอยู่ของ V2O5 ได้ แต่ FT-IR สามารถตรวจจับได้

๑.๒๙ ส่วน H2-TPR นั้น (งานส่วนนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงในการสอบโครงร่าง) เป็นตัวบอกว่าออกไซด์ของเรานั้นถูกรีดิวซ์ได้ง่ายหรือยาก ซึ่งการวิเคราะห์ความยากง่ายในการหลุดออกของ O2- นั้นจะให้ข้อมูลที่ดีถ้าหากปฏิกิริยาของเรานั้น สารตั้งต้นต้องมีการมาดึงเอาออกซิเจนออกจากโครงร่างผลึกของตัวเร่งปฏิกิริยาโดยผ่านทางแบบจำลอง REDOX แต่ที่ผ่านมานั้นมีผู้เสนอว่าปฏิกิริยา SCR นี้มันผ่านทางแบบจำลอง Rideal ซึ่งเป็นปฏิกิริยาระหว่างโมเลกุลที่ถูกดูดซับบนพื้นผิวกับโมเลกุลในเฟสแก๊สที่วิ่งเข้ามาชน ซึ่งพิจารณาเพียงแค่แง่มุมนี้การวัด H2-TPR ก็ไม่น่าจะให้ข้อมูลสำคัญใด ๆ

๑.๓๐ แต่ถ้ามองจากมุมมองที่ว่า NH3 ต้องลงไปเกาะบนพื้นผิวก่อน ตำแหน่งที่ NH3 ลงไปเกาะนั้นจะมีส่วนที่เป็น Lewis acid site หรือตำแหน่งที่เป็นไอออนบวกของโลหะ ความยากง่ายในการรีดิวซ์ออกไซด์ของโลหะบนพื้นผิวจะทำให้เลขออกซิเดชันของไอออนบวกของโลหะ V Mo และ W แตกต่างกันไป ซึ่งอาจทำให้ความสามารถของตัวเร่งปฏิกิริยาในการดูดซับ NH3 แตกต่างกันไปด้วย และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวเร่งปฏิกิริยามีความว่องไวที่แตกต่างกันได้

ในส่วนของกลุ่ม DeNOx นั้นของฝากเอาไว้แค่ ๓๐ ข้อนี้ก่อน

. ปฏิกิริยา Hydroxylation

ผมขอเริ่มด้วยการปูพื้นฐานทั่วไปซ้ำอีกครั้ง เพราะอันที่จริงเรื่องนี้ก็ได้กล่าวไปเยอะแล้วใน Memoir ฉบับที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์ของนิสิตรหัส ๕๒ (ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนั้นพวกคุณสนใจอ่านกันแค่ไหน)

๒.๑ เป็นที่ทราบว่าพื้นผิวของ TS-1 นั้นเป็นพื้นผิวที่ชอบโมเลกุลไม่มีขั้ว แต่ในการทำปฏิกิริยาของเรานั้นสารตั้งต้นของเราเป็นโมเลกุลที่มีเฉพาะโครงสร้างที่ไม่มีขั้ว (ไฮโดรคาร์บอน) และโมเลกุลที่มีเฉพาะโครงสร้างที่มีขั้ว (H2O2)

๒.๒ ดังนั้นถ้าตัวเร่งปฏิกิริยาของเราสัมผัสกับไฮโดรคาร์บอนมากเกินไป ปฏิกิริยาจะไม่สามารถเกิดได้ เพราะ H2O2 จะไม่สามารถเข้าไปถึงพื้นผิวได้

๒.๓ แต่พอเรามาแก้ปัญหาด้วยการใช้น้ำเป็นตัวกลางในการทำปฏิกิริยา (จากเหตุผลด้าน ความปลอดภัย ความสะดวกในการปั่นกวน ตัดปัญหาเรื่องการแยกตัวทำละลายประสานเฟส เป็นสิ่งที่หาได้ง่าย ฯลฯ) ก็เกิดปัญหาที่ตรงข้ามกันคือเรามีแต่ H2O2 บนพื้นผิว โดยมีไฮโดรคาร์บอนอยู่น้อยมาก ทั้งนี้เป็นเพราะไฮโดรคาร์บอนละลายน้ำได้น้อยมาก

๒.๔ แต่จากงานของศราวดีเราพบว่าถ้าเราสามารถเพิ่มปริมาณ (ปริมาณ = ความเข้มข้น x ปริมาตรน้ำ) ของไฮโดรคาร์บอนที่ละลายอยู่ในเฟสน้ำได้ ปฏิกิริยาจะดำเนินไปข้างหน้าได้ดีขึ้น

๒.๕ ที่ผ่านมานั้นเราพบว่าการเพิ่มปริมาณทำได้โดยการเพิ่มปริมาตรน้ำที่ใช้เป็นตัวกลาง (ในกรณีนี้ความเข้มข้นคงที่) และ/หรือโดยการเพิ่มอุณหภูมิการทำปฏิกิริยา (ในกรณีนี้ความเข้มข้นเพิ่มสูงขึ้น) เพราะที่อุณหภูมิสูงขึ้นไฮโดรคาร์บอนจะละลายน้ำได้มากขึ้น

๒.๖ ต่อมาเราพบว่าการที่น้ำนั้นมีสารประกอบไอออนิกบางชนิดละลายอยู่ อัตราเร็วในการละลายของไฮโดรคาร์บอนเข้าไปในเฟสน้ำ และความความข้นอิ่มตัวของไฮโดรคาร์บอนในเฟสน้ำจะเปลี่ยนไป จึงทำให้เราเกิดแนวความคิดขึ้นมาว่าถ้าเราละลายสารประกอบไอออนิกบางตัวเข้าไปในเฟสน้ำ จะส่งผลต่อการเกิดปฏิกิริยาอย่างไร

๒.๗ แต่ทั้งนี้ในขณะนี้เรายังไม่มีข้อมูลว่าสารประกอบไอออนิกที่ละลายนั้นจะไปทำอะไรบ้างกับพื้นผิวของตัวเร่งปฏิกิริยา และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่เราเห็นนั้นเป็นผลจากพฤติกรรมการละลายที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดจากพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากมีไอออนบางตัวลงไปเกาะเพิ่มขึ้น

๒.๘
๒.๙ 
๒.๑๐ 
๒.๑๑
๒.๑๒ 
๒.๑๓ 
๒.๑๔ 
๒.๑๕ 
๒.๑๖ 
๒.๑๗ 
๒.๑๘ 
๒.๑๙ 

๒.๒๐ อีกสมมุติฐานหนึ่งที่ทั้งสองคนควรพิจาณาคือ เป็นไปได้ไหมว่าไอออนที่เราละลายเข้าไปในน้ำนั้น เข้าไปเกาะบนพื้นผิวของตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้พื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาสามารถดูดซับH2O2 ได้ดีขึ้น จึงทำให้ปฏิกิริยาเกิดไปข้างหน้าได้ดีขึ้น

๒.๒๑ งานของพวกคุณทั้งสองคนเป็นการศึกษาผลของไอออน ดังนั้นสิ่งที่เราทำการปรับเปลี่ยนในการทำการทดลองคือชนิดของสารประกอบไอออนิกที่เรานำมาละลายน้ำ และอุณหภูมิการทำปฏิกิริยา โดยที่จะไม่ปรับเปลี่ยนชนิดตัวเร่งปฏิกิริยาหรือสัดส่วนสารตั้งต้นที่ใช้

๒.๒๒ โดยส่วนตัวผมคิดว่าในงานของพวกคุณ การวิเคราะห์ NH3-TPD คงไม่จำเป็น เพราะเราทำปฏิกิริยาในเฟสของเหลว พื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยามีน้ำปกคลุม แต่การวัด NH3-TPD นั้นเป็นการวัดในเฟสแก๊สและที่อุณหภูมิที่สูงกว่าที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา ดั้งนั้นข้อมูลสภาพพื้นผิวที่ได้จากการวัด NH3-TPD อาจไม่สะท้อนภาพที่แท้จริงของพื้นผิวเมื่อมีของเหลวปกคลุมอยู่

ปี ๒๕๕๔ นี้ผมของปิดท้ายด้วย Memoir ฉบับนี้ หวังว่าพวกคุณทุกคนคงเที่ยวและพักผ่อนกันเต็มที่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบในสัปดาห์หน้า ขอให้สุขสันต์วันปีใหม่กันทุกคน