วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๓ (ตอนที่ ๘) MO Memoir : Saturday 10 December 2554


เอกสารฉบับนี้เป็นการบันทึกงานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาของกลุ่ม DeNOx และเป็นการแนะนำการเตรียมการสอบโครงร่างของกลุ่ม Hydroxylation

. กลุ่ม DeNOx

เนื่องจากเครื่อง NOA-7000 นั้นมีอันเป็นไปซะแล้ว (อย่างทึ่ผมได้คาดไว้และได้กล่าวเอาไว้ว่าให้ระวังตั้งแต่โครงการในปีที่แล้ว) เนื่องจากการใช้งานหนัก เพราะเราทำการเปิดมันตลอดเวลาที่ทำการทดลองและทำการทดลองต่อเนื่องกันตลอดสัปดาห์ ผมเดาเอาว่าในการประชุมวันศุกร์ที่ ๑๖ ที่จะถึงนี้คงมีรายการ

ก) "ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราใช้ draeger tube แทน" (หรือ dräger tube มีจุดสองสุดอยู่บนตัว a นะ) ซึ่งวิธีการนี้ผมคิดว่าเป็นการแก้ขัดชั่วคราวก่อน แต่รับรองว่ามีปัญหาแน่ เพราะเจ้าตัว draeger tube ราคาก็ไม่ถูก แถมใช้ได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้นถ้าจะนำมาใช้แทนละก็ ในการทดลองแต่ละครั้งเฉพาะค่า tube ก็คงหมดเป็นหมื่นแล้ว และที่สำคัญคือในระหว่างที่เราเปลี่ยนอุณหภูมินั้น เราไม่มีทางรู้ว่าระบบเข้าที่หรือยัง ถ้าเราวัดในขณะที่ระบบยังไม่เข้าที่ก็จะทำให้การวัดนั้นเสียเปล่าไป

ข) คงหันมาถามนิสิตผู้ทำการทดลองว่า "แล้วเมื่อไรเครื่องจะซ่อมเสร็จ" ถ้าได้รับคำตอบ (จะได้เหรอ) ว่าไม่นานก็จะเสร็จ ก็คงบอกว่านั้นหันไปทำงานพวกเตรียมและวิเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาแทนไปก่อนจนกว่าเครื่องจะซ่อมเสร็จ ซึ่งคงทำฆ่าเวลาได้ไม่นานนัก แต่ถ้าได้รับคำตอบว่า "ไม่รู้" หรือ "อีกหลายเดือน" ก็คงจะสนุกดี

ค) คงมีการหันมาถามผมว่า "เมื่อไร GC จะใช้งานได้" โดยมีการทำทีเหมือนกับว่าได้มอบหมายงานติดตั้งเครื่อง GC ให้ผมเป็นคนทำ ถ้าผมบอกว่ายังตอบไม่ได้ ก็คงจะมีรายการโวยวายแล้วบอกว่าให้โทรไปตามช่างมา จากนั้นก็คงจะมีรายการโทรศัพท์ตามช่างให้มาปรับแต่งเครื่อง GC ในระหว่างการประชุมให้ดู ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ผมคิดว่าถ้ามีความสนใจในการทำการทดลองและมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้งานมันเดินหน้าต่อไปได้โดยคิดจะตามช่างให้มาปรับแต่งเครื่อง GC ก็ควรจะโทรตั้งแต่สัปดาห์นี้ที่ช่างเอาเครื่อง NOA-7000 ไปซ่อม ไม่ต้องรอให้มีประชุมกับทางบริษัทก่อนแล้วจึงค่อยโทรให้ดูต่อหน้า

อันที่จริงงานทำให้เครื่อง GC-2014 ทั้งสองเครื่อง (FPD และ ECD & PDD) ให้ใช้งานได้นั้นไม่มีใครบอกให้ผมทำหรอก ผมทำของผมเอง อยากทำเมื่อไร มีช่วงจังหวะว่างเมื่อไรก็จะลงมือ เพราะเห็นตั้งแต่เครื่องมาวางเอาไว้ก็ไม่มีใครสนใจมันเลย นอกจากผมคนเดียว แต่อันนี้เป็นเทคนิคในการเอาตัวรอดในที่ประชุม โดยทำเหมือนว่าได้มอบหมายงานนี้ให้คนอื่นไปรับผิดชอบแล้วโดยใช้การตั้งคำถามที่ทำให้คนฟังที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวคิดอย่างนั้นได้ (ลองกลับไปดูคำถามข้างบนนะ แล้วลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นคนนอกเพิ่งจะเข้ามาร่วมประชุมเป็นครั้งแรก พอคุณได้ยินคนถามคำถามดังกล่าวหันไปถามคำถามนี้กับผู้ร่วมงานอีกคนหนึ่ง คุณจะเข้าใจอย่างไร) ถ้างานนี้มันไม่เดินไปข้างหน้า หรือเสร็จไม่ทันเวลา คนที่ถูกถามคำถามดังกล่าวต้องเป็นคนรับผิดชอบ ส่วนคนถามคำถามก็จะลอยตัวไป

ส่วนจะเกิดเหตุการณ์ตามข้อไหนบ้างนั้นคงต้องติดตามดูกันต่อไป

ช่วงนี้ผมเชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่กลุ่มเราจะได้ทำการจัดการเครื่อง GC-2014 ECD & PDD ให้เรียบร้อยสักที

แต่งานของกลุ่มเราก็ใช่ว่าจะหยุดชะงักนะ โอกาสนี้สิ่งที่เราควรจะทำคือการศึกษาปฏิกิริยา SO2 oxidation ไปเป็น SO3 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางบริษัทต้องการทราบอยู่เหมือนกัน เพราะตัวเร่งปฏิกิริยา DeNOx ที่ดีนั้นไม่เพียงแต่จะต้องกำจัด NOx ได้มาก แต่จะต้อง "ไม่" ทำให้เกิดปฏิกิริยา SO2 oxidation ไปเป็น SO3 ด้วย

ตามการคาดการณ์ของผม พวกคุณสองคนที่ยังขาดประสบการณ์กับเครื่อง GC-2014 FPD นั้นคงจะต้องใช้เวลาร่วมเดือนกว่าจะได้ผลการทดลองที่เชื่อถือได้ (แต่ถ้าไม่มีคนอื่นเข้ามาใช้งานแทรก การทำงานก็คงจะเร็วขึ้น) งานที่ต้องทำก็คือการสร้าง calibration curve ของ SO2 และการทำการทดลองปฏิกิริยา SO2 oxidation

ก่อนอื่นขอเริ่มด้วยการทดสอบปฏิกิริยา SO2 oxidation ก่อน

สมมุติว่าในการทดลองปรกติเราใช้แก๊สต่าง ๆ ที่มีอัตราการไหลดังนี้ คือN2 a ml/min O2 b ml/min SO2 c ml/min NH3 d ml/min และ NO e ml/min ซึ่งปริมาตรการไหลรวมคือ 200 ml/min ที่ความเข้มข้นไอน้ำ 15% และความเข้มข้น SO2 30 ppm

ในการทดสอบปฏิกิริยา SO2 oxidation ก็ให้คงอัตราการไหลของN2 ไว้ที่ a ml/min O2 ไว้ที่ b ml/min และ SO2 ไว้ที่ c ml/min และคงอุณหภูมิของ saturator ที่ใช้ผลิตไอน้ำและอัตราการไหลของแก๊สที่ไหลผ่าน saturator ไว้ที่เดิม (แก๊สที่ไหลผ่าน saturator ที่เราใช้ก็คือออกซิเจน) แต่ปิดการไหลของ NH3 และ NO (อัตราการไหลของแก๊สสองตัวนี้เป็นศูนย์)

ดังนั้นอัตราการไหลรวมจะลดต่ำลงกว่า 200 ml/min และความเข้มข้นของ SO2 จะสูงกว่า 30 ppm (เพราะอัตราการไหลของ SO2 จากถังยังเท่าเดิม แต่อัตราการไหลรวมลดลง) และความเข้มข้นของออกซิเจนจะเพิ่มจาก 15% ไปเล็กน้อย ซึ่งไม่เป็นไรเพราะสิ่งที่เราสนใจคือมีการออกซิไดซ์ SO2 ไปเป็น SO3 หรือไม่ 
 
ความเข้มข้นที่แท้จริงของ SO2 และ O2 ในระหว่างการทดสอบปฏิกิริยา SO2 oxidation ที่ภาวะอัตราการไหลที่ผมกล่าวมาข้างต้นหวังว่าพวกคุณคงจะคำนวณกันเองได้นะ

ในขณะเดียวกันก็ขอให้ทำ calibration curve ของ SO2 ไปด้วย

การทำ calibration curve ของ SO2 ให้ใช้อัตราการไหลของแก๊สเช่นเดียวกันกับตอนที่ทดสอบปฏิกิริยา SO2 oxidation กล่าวคือ N2 a ml/min O2 b ml/min SO2 c ml/min และปิดการไหลของ NH3 และ NO (อัตราการไหลของแก๊สสองตัวนี้เป็นศูนย์) และ "ไม่" ต้องทำการผ่านน้ำเข้าไปแก๊ส
ดังนั้นความเข้มข้นของ SO2 ในแก๊สที่ใช้ทำ calibration curve จะสูงกว่าในขณะที่ทดสอบปฏิกิริยา SO2 oxidation อยู่เล็กน้อย เนื่องจากในระหว่างการทำ calibration curve นั้นเราไม่มีการเติมไอน้ำเข้าไป (แต่ไม่เป็นไร) และก็อย่าลืมคำนวณหาความเข้มข้นที่แท้จริงด้วย

การปรับเปลี่ยนความเข้มข้นของ SO2 ในแก๊สที่ใช้ทำ calibration curve ให้ใช้วิธีปรับอัตราการไหลของ SO2 เพียงตัวเดียวก็น่าจะพอ เช่นถ้าเราต้องการความเข้มข้นที่ต่ำลงก็ให้ลดอัตราการไหลของ SO2 ให้ลดต่ำลงโดยไม่ต้องไปปรับอัตราการไหลของแก๊สตัวอื่น

เหตุผลที่ให้ทำ calibration curve ของ SO2 ในภาวะที่มีออกซิเจน 15% ก็เพราะเราพบว่าออกซิเจนส่งผลต่อสัญญาณของ FPD คือทำให้เกิดพีคกลับหัวที่จุดสิ้นสุดของพีคหัวกลับนี้ซ้อนทับกับจุดเริ่มต้นของพีค SO2 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการแยกพีคอยู่ (ดู memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๗๒ วันศุกร์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "GC-2014 FPD กับระบบ DeNOx ตอนที่ ๔ ผลกระทบจากออกซิเจน")

ถ้ามีข้อสงสัยใด ๆ ก็ให้รีบมาปรึกษา เพราะตอนนี้เป็นโอกาสทองของเราในขณะที่เครื่อง NOA-7000 มันใช้งานไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้คนอื่นไม่มาใช้ reactor ไปสักพักหนึ่ง
สำหรับนิสิตปี ๑ ก็ขอให้มาคอยเฝ้าการทำงานของรุ่นพี่ได้แล้ว เพื่อที่จะได้รับการสืบทอดงานไปได้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญก็คือในระหว่างการปรับแต่งให้เครื่อง GC ใช้งานได้นั้น พวกคุณจะได้เรียนรู้อะไรมากมายกว่าตอนที่เครื่อง GC มันใช้งานได้แล้ว ซึ่งตอนนั้นพวกคุณจะได้เรียนรู้เฉพาะวิธีการใช้เครื่องแค่นั้นเอง แต่จะไม่รู้ว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านปัญหาอะไรมามากน้อยเท่าใด ความรู้ตรงนี้ไม่มีอยู่ในหนังสือหรือจะมีคนเปิดคอร์สบรรยายให้ฟัง เป็นการเรียนรู้กันหน้างานโดยตรงเพียงอย่างเดียว

. กลุ่ม Hydroxylation

ผมขอย้ำว่าประเด็นสำหรับการเขียนโครงร่างวิทยานิพนธ์ไม่ได้อยู่ตรงที่ผลของ "กรด" แต่เป็นผลของ "ไอออน"

ที่ผ่านมานั้นเราพบว่าปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดว่าปฏิกิริยาจะดำเนินไปข้างหน้าได้มากเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับ "ปริมาณ" ไฮโดรคาร์บอนที่ละลายเข้าไปในเฟสน้ำได้

การเพิ่ม "ปริมาณ" ไฮโดรคาร์บอนในเฟสน้ำที่ผ่านมานั้นเราทำโดยการเพิ่มปริมาตรน้ำและการเพิ่มอุณหภูมิ

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันเราก็พบว่าถ้าหากน้ำมี "กรด" ละลายปนอยู่ "ความเข้มข้น" อิ่มตัวของไฮโดรคาร์บอนในน้ำก็จะเพิ่มมากตามไปด้วย ทำให้ "ปริมาณ" (ซึ่งเท่ากับผลคูณระหว่างความเข้มข้นกับปริมาตร) เพิ่มตามไปด้วย

แต่จากงานที่เราทำในช่วงถัดมา (ที่พวกคุณกำลังทำกันอยู่) เราพบว่าการมี "เกลือ" บางชนิดละลายอยู่ก็สามารถเพิ่ม "ความเข้มข้น" อิ่มตัวของไฮโดรคาร์บอนในน้ำได้เช่นเดียวกัน ในขณะที่เกลือบางตัวกลับไม่ส่งผลใด ๆ

ตรงนี้ที่ผมสงสัยอยู่ก็คือความเข้มข้นอิ่มตัวของไฮโดรคาร์บอนในน้ำมันมีความสัมพันธ์กับ ionic strength หรือความหนาแน่นของประจุของไอออนกันแน่

ในส่วนของ ionic strength นั้นผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าใดนัก เพราะเราพบว่าการที่มีเกลือบางตัวละลายอยู่ (ซึ่งน่าจะทำให้ ionic strength ของสารละลายเพิ่มสูงขึ้น) แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเข้มข้นอิ่มตัวของไฮโดรคาร์บอนในน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังไม่อยากตัดประเด็นนี้ออกไป
อีกเรื่องที่เรายังไม่มีคำอธิบายคือ "อัตราเร็ว" ในการละลาย ซึ่งที่ผ่านมาจากการที่ได้ทดลองกับกรดหลายชนิดนั้นเราได้พบว่าถ้ามีกรดที่ความเข้มข้นเท่ากันละลายอยู่ ความเข้มข้นอิ่มตัวของไฮโดรคาร์บอนในน้ำจะเท่ากัน แต่ความเร็วในการละลายเข้าไปในเฟสน้ำจนอิ่มตัวนั้นแตกต่างกันไป ตรงนี้ผมยังสงสัยว่าจะเกี่ยวกับการที่ไอออนที่ละลายเข้าไปในน้ำนั้นส่งผลต่อความแข็งแรงของพันธะไฮโดรเจนระหว่างโมเลกุลน้ำหรือไม่ กล่าวคือถ้ามันไปทำให้ความแข็งแรงของพันธะไฮโดรเจนในโมเลกุลน้ำลดลง ไฮโดรคาร์บอนก็จะแทรกเข้าไปได้รวดเร็วขึ้น แต่ตรงนี้เราคงต้องศึกษาทฤษฎีเพิ่มเติมกันก่อน

สิ่งที่ผมสงสัยอยู่และรอผลจากพวกคุณอยู่ก็คือ ถ้าเราใช้เกลือที่ทำให้ไฮโดรคาร์บอนละลายน้ำได้น้อยลง ดังนั้นถ้าเราเพิ่มอุณหภูมิของระบบให้สูงเกินกว่า 100ºC เราจะเห็นผลที่ได้จากการใช้เบนซีนกับโทลูอีนออกมาเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ผมสงสัยว่าอาจจะออกมาแตกต่างกันก็ได้

ฉบับนี้คงพอแค่นี้ก่อน วันอังคารเปิดเทอมใหม่วันแรกค่อยว่ากันอีกที