วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การทำวิจัยกับบริษัท MO Memoir : Wednesday 7 December 2554



ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มที่จบไปแล้วได้รู้ว่าหลังจากที่เขาจบไปแล้วเกิดอะไรขึ้นในแลปบ้าง และเพื่อให้คนที่ยังทำงานอยู่ในแลปได้รู้ว่าก่อนหน้านี้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่าหลังจากวันนี้ถ้ามันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ซึ่งอาจกระทบกับการทำงานของพวกคุณ คำอธิบายที่พวกคุณกำลังจะได้ยินนั้นอาจเป็นเพียงข้ออ้าง (เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยมันเอื้ออำนวย) หรือเป็นเหตุผลเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

และที่สำคัญคือสำหรับคนที่จบไปแล้วหรือคนที่กำลังจะจบ เผื่อในอนาคตได้มีโอกาสจะได้ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย จะได้รู้ว่าต้องเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง

ตอนที่ผมไปสอบสัมภาษณ์เพื่อเลื่อนระดับใบประกอบวิชาชีพ กรรมการสอบสัมภาษณ์ท่านถามผมว่าถ้าทางมหาวิทยาลัยจะทำวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรมนั้น ทางมหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
คำตอบที่ผมให้ไปก็คือทางมหาวิทยาลัยต้องพร้อมที่จะให้ทำการ "ตรวจสอบ"

การเขียนบทความลงตีพิมพ์นั้นเขาพิจารณากันที่ "วิธีการ" ที่เขียนลงไปในบทความว่าได้ทำอะไรไป และ "ผล" ที่ได้จากการใช้วิธีการที่กล่าวอ้างนั้น

ถ้า "ผล" ที่ได้นั้น "ดู" สอดคล้องกับ "วิธีการ" ที่กล่าวอ้างว่าได้ใช้ และไม่มีความขัดแย้ง ทางผู้พิจารณาก็จะไม่สามารถโต้เถียงอะไรได้

สิ่งที่เขาไม่ได้ทำการตรวจสอบคือ "มีการทำจริง" ตามวิธีการที่กล่าวอ้างนั้นหรือไม่ และผลที่ได้มานั้นได้มาจาก "การทำจริง" ตามวิธีการที่กล่าวอ้างหรือไม่

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ว่าเรามักได้ยินได้ฟังเรื่องผลการทดลองที่ "ไม่สามารถทำซ้ำได้" ทั้ง ๆ ที่บทความตีพิมพ์ลงไปแล้ว เหตุการณ์นี้รุนแรงถึงขั้นที่ว่าขนาดผู้เขียนบทความนั้นเองยังไม่ยอมที่จะแสดงให้ดูว่าผลการทดลองที่เขานำไปตีพิมพ์นั้นเขาสามารถทำซ้ำได้

เท่าที่ผ่านมานั้นสาเหตุหลักที่ผมเห็นว่าเป็นเหตุให้ผลการทดลองไม่สามารถทำซ้ำได้มีอยู่ ๒ สาเหตุใหญ่คือ

(ก) ผลการทดลองนั้นไม่ได้เกิดจากการทดลองจริง (พูดง่าย ๆ ก็คือมั่วผลขึ้นมาแหละ) หรือผลการทดลองจริงเป็นอย่างหนึ่งแต่ใช้การแต่งข้อมูลให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง (เป็นไปตามความต้องการของอาจารย์ที่ปรึกษา) และ

(ข) ความไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเครื่องมือวัดที่ใช้ ค่าที่เครื่องวัดแสดงกับค่าความเป็นจริงนั้นเป็นคนละเรื่องกัน พอมีคนนำไปทำการทดลองซ้ำโดยใช้เครื่องมือที่ผ่านการสอบเทียบความถูกต้อง ผลก็เลยออกมาไม่เหมือนกัน

แต่ไม่ว่าผลที่รายงานไว้ในบทความนั้นจะเป็นความจริงหรือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ อาจารย์เจ้าของบทความนั้นก็สามารถที่จะเอาบทความนั้นไปขอ "ขึ้นรางวัล" กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ เพราะการจัดอันดับหรือการตบรางวัลนั้นเขาดูที่ "จำนวน" บทความที่ตีพิมพ์ หรือดูที่ "จำนวนครั้งการกล่าวถึงโดยบุคคลอื่น" โดยที่ไม่ได้ดูว่าการอ้างอิงนั้นเป็นการวิจารณ์ในทางบวกหรือในทางลบ

ผมเห็นอาจารย์หลายท่านมีผลงานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง แต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้รับรางวัลหรือการเลื่อนตำแหน่งซึ่งอาศัยจำนวนบทความเป็นหลัก ทั้งนี้เป็นเพราะการตรวจสอบความถูกต้องของผลการทดลองนั้นมันใช้เวลา และการทำงานซ้ำ ๆ หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งสำหรับคนที่ทำเช่นนี้แล้วจะไม่มีเวลาไปเขียนบทความจำนวนมากในเวลาอันสั้น

เวลาที่ทางบริษัทมาทำวิจัยร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ทางบริษัทก็มักจะเกรงใจอาจารย์ อาจเนื่องจากเคยเป็นลูกศิษย์หรือเห็นว่าคนเป็นอาจารย์นั้นเรียนมาวุฒิสูงกว่า หรือเป็นผู้ได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงาน (ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานที่รู้เรื่องดีในสาขาวิชานั้นโดยตรง เพียงแต่ให้รางวัลโดยดูจากจำนวนบทความ) ก็เลยไม่ค่อยพูดจาอะไรออกมา หรือไม่ก็ไม่พูดออกมาตรง ๆ พอเจออาจารย์แบบซื่อบื้อหรือแกล้งทำเป็นซื่อบื้อเข้า (ประเภทบอกว่าก็ไม่เห็นเขาพูดอะไรนี่ หรือไม่ก็ตีความคำพูดตามตัวอักษร ไม่ได้พิจารณาจากน้ำเสียงหรือกิริยาผู้พูดหรือหัวข้อการสนทนาในขณะนั้น) การทำวิจัยร่วมกันก็เลยมีปัญหา

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มักจะได้ยินเสียงบ่นหรือเสียงด่าลับหลังจากทางบริษัท ซึ่งอาจจะผ่านทางนิสิตที่ทำวิจัยอยู่หรือกับอาจารย์อื่นที่ไม่ได้ทำวิจัยร่วมด้วย เพราะถ้าเขาพูดอย่างนั้นในที่ประชุมก็แสดงว่าพวกเขาคงจะเหลืออดแล้วจริง ๆ หรือไม่ก็เขาคงคิดแล้วว่าจบโครงการนี้แล้วก็เลิกคบกันดีกว่า
จากการที่เป็นผู้ที่อยู่วงนอกมาตลอดก็จะขอเล่าเรื่องที่ได้เห็นและ/หรือได้ฟังมาจากหลาย ๆ ที่ให้พวกคุณฟังก็แล้วกัน ส่วนที่ว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงผมไม่ขอตอบ และเป็นงานของใครกับบริษัทไหนก็ไม่ขอตอบเช่นเดียวกัน ขอให้ผู้อ่านแต่ละท่านใช้วิจารณาญาณของท่านในการอ่านเอาเองก็แล้วกัน (ผมมีงานวิจัยทำร่วมกับบริษัทเพียงงานเดียว และคนที่ทำงานอยู่ด้วยก็คงจะรู้นะว่าผมย้ำเรื่องการที่ต้องให้ทางบริษัทสามารถตรวจสอบการทำงานและความถูกต้องของผลการทดลองนั้นมากเพียงใด และวิธีการทดลองแต่ละขั้นตอนนั้นจะต้องสามารถอธิบายได้ด้วยว่าทำไปจึงทำอย่างนั้น แม้แต่ข้อมูลดิบที่ได้จากการวิเคราะห์ต่าง ๆ ก็ต้องเก็บเอาไว้ให้ตรวจสอบย้อนหลังด้วย)

เรื่องแรกเป็นงานวิจัยที่กับบริษัท ก โดยทางบริษัท ก นั้นส่งพนักงานมาร่วมทำวิจัย ๒ คนและให้ทุนนิสิตในการทำวิจัยด้วย ตัวพนักงานที่ส่งมานั้นคนหนึ่งเป็นคนที่จบปริญญาเอกจากจากอาจารย์ที่ร่วมทำวิจัย ผลออกมาคือเมื่อสิ้นสุดโครงการทางบริษัทก็เก็บข้าวของต่าง ๆ กลับไปหมดทันที (ทิ้งตู้ควันไว้ให้ดูต่างหน้า ๑ ตู้ซึ่งเขาไม่สามารถถอดออกและขนไปได้) และเท่าที่ทราบจนวันนี้ก็ไม่มีการติดต่อใด ๆ กับทางบริษัทนั้นอีก เท่าที่ได้ยินมาดูเหมือนว่าแนวทางการทำวิจัยนั้นไม่เป็นไปตามที่เคยมีการตกลงกันไว้เมื่อเริ่มวิจัย กล่าวคือทางบริษัทนั้นต้องการเน้นไปที่การนำผลไปประยุกต์ใช้งานได้จริง (ทำซ้ำได้) แต่ทางอาจารย์ต้องการผลไปตีพิมพ์บทความ (ผลที่ออกมาดูดี แต่จะมายังไงหรือถูกต้องแค่ไหนก็ไม่สน)

เรื่องที่สองเป็นงานวิจัยที่ทำกับบริษัท ข งานนี้คนที่ทางบริษัท ข ส่งมาคนหนึ่งเป็นผู้ที่เรียนจบปริญญาโทกับอาจารย์ที่ร่วมทำวิจัยด้วย บังเอิญคนที่ทางบริษัทส่งมานั้นแม้จะจบแค่ระดับปริญญาโท แต่ความรู้พื้นฐานในเรื่องที่ทำนั้นแน่นกว่าผู้ที่เคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและมีตำแหน่งวิชาการที่สูงด้วย ซึ่งอาจารย์ดังกล่าวสนแต่ผลการทดลองที่ดูดีเอาไปตีพิมพ์บทความโดยไม่สนใจว่ามันถูกต้องหรือไม่ ในขณะที่ทางบริษัทต้องการผลการทดลองที่ถูกต้องและทำซ้ำได้ ผลออกมาก็คืออาจารย์โดนศิษย์เก่า "จัดหนัก" เรื่องผลการทดลองที่ทางอาจารย์ให้นิสิตนำเสนอ งานนี้ดูเหมือนว่าพอสิ้นสุดโครงการแล้วทาง "อาจารย์" ไม่กล้าที่จะขอทำวิจัยร่วมกับทีมนี้อีก

เรื่องที่สามเป็นงานร่วมกับทางบริษัท ค ซึ่งมีการฝากฝังลูกศิษย์ที่จบปริญญาเอกและมีบทความตีพิมพ์ตั้งมากมายก่อนจบให้ไปทำงานด้วย (มากชนิดที่เรียกว่าคนที่อยู่ในแลปในขณะที่คน ๆ นั้นเรียนหนังสืออยู่ถามกันว่ามันมาทำแลปตอนไหน เพราะไม่ค่อยมีใครเห็นมันมาที่แลป) โดยอ้างว่างานที่จะทำวิจัยร่วมกับบริษัทเกี่ยวข้องกับงานที่ลูกศิษย์คนนั้นทำ แต่พอเอาเข้าจริงปรากฏว่าผลการทดลองนั้นไม่มีใครสามารถทำซ้ำได้ แม้แต่เจ้าของผลการทดลองที่นำไปตีพิมพ์เองก็ไม่ยอมทำซ้ำ (ดูเหมือนว่าจะมีแค่แฟนของเขาเพียงคนเดียวซึ่งเรียนตามหลังมาทำซ้ำได้)

ในระหว่างการประชุมร่วมระหว่างบริษัท ค กับกลุ่มอาจารย์ที่ทำวิจัยร่วมนั้น (ซึ่งต่างเป็นผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ กันทุกคน) ผมไม่ทราบหรอกว่าเขาคุยเรื่องอะไรกัน ทราบแต่ว่าหลังเสร็จสิ้นการประชุม ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัท (ที่ไม่ได้เรียนหนังสือกับอาจารย์ที่ทำวิจัยด้วย หรือจบมาจากสถาบันที่อาจารย์ผู้ทำวิจัยไม่ได้สอน) บ่นให้กับนิสิตที่มาทำวิจัยด้วยว่า อาจารย์เหล่านั้น "ไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่ตนเองทำวิจัยเลย ถามอะไรก็ตอบไม่ได้" ผมเดาว่าเขาคงเจอแต่คำตอบว่า "ไปค้น paper มา" กล่าวคือพอถามอะไรแล้วอาจารย์ตอบไม่ได้ อาจารย์ก็โยนให้นิสิตที่ทำวิจัยนั้นไปค้นหาว่าเคยมี paper อธิบายไว้ว่าอย่างไร จะได้นำมาเล่าให้ทางบริษัทฟังต่อ แต่สิ่งที่ทางบริษัทต้องการนั้นไม่ใช่ "คนอื่นเขาบอกว่ามันเป็นอย่างนี้" แต่เขาต้องการคำอธิบายที่ "อิงได้จากทฤษฎีต่าง ๆ ในตำราเรียนที่ใช้กันอยู่" ละครเรื่องนี้ยังไม่จบ ยังมีให้ดูต่ออีก แต่เดาว่าคงจะไม่ happy ending แน่ เพราะถึงแม้ตัวหัวหน้าทีมของทางบริษัทนั้นจะจบปริญญาเอกจากอาจารย์ที่ทำวิจัยด้วย (จบไปกว่า ๑๐ ปีแล้ว) แต่เขาก็แยกแยะออกระหว่างหน้าที่การงานและความสัมพันธ์ส่วนตัว

เรื่องที่สี่เป็นงานวิจัยร่วมกับบริษัท ง ที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับบริษัท ค โดยเป็นงานวิจัย "ในทำนองเดียว" กันกับเรื่องที่สอง (บริษัท ข เป็นบริษัทที่เป็นคู่แข่ง) แต่อาจารย์ผู้รับงานนั้นเป็นคน "กลุ่มเดียวกัน" อาจารย์ที่ทำวิจัยนั้นมีนิสิตที่จบปริญญาเอกไปทำงานที่บริษัทนี้สองคน คนหนึ่งนั้นจบมาทางด้านงานวิจัยที่ทำนี้โดยตรง ในตอนแรกนั้นดูเหมือนทางบริษัทจะส่งคนที่จบมาทางด้านนี้โดยตรงให้ไปทำงานด้วย แต่มีการขอเปลี่ยนตัวเป็นให้ส่งคนที่จบเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยให้มาทำวิจัยร่วมแทน (ด้วยเหตุผลที่ผมว่ามันประหลาด ๆ อยู่) ไม่รู้ว่าเป็นเพราะว่ากลัวโดน "จัดหนัก" เหมือนกับตอนที่ทำงานร่วมกับทางบริษัท ข หรือเปล่า บังเอิญทางบริษัทก็เกรงใจก็เลยยอมเปลี่ยนตัวให้ ทั้ง ๆ ที่เขาคนนั้นไม่ต้องการมาทำงานนี้เลย (ผมคิดว่าเขาคงคิดว่าจบแล้วจะได้ไปพ้น ๆ สักทีแต่ยังต้องกลับมาเจอหน้ากันอีก) ซึ่งเท่าที่ได้ยินมานั้นคนที่ถูกเปลี่ยนให้มาทำหน้าที่แทนนั้นเขาก็ไม่สบายใจ เพราะไปเรียกให้เขามาทำในเรื่องที่เขาไม่ถนัด ทั้ง ๆ ที่ทางบริษัทก็มีคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มากกว่าเขา และเตรียมพร้อมที่จะทำงานนี้ด้วย แต่ต้องถูกเขี่ยออกไป

ในเรื่องที่สี่นี้ยังมีการฝากฝังนิสิตจบใหม่ที่จบมาทางด้านนี้โดยตรงให้ไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวกับหัวหน้าที่เจ้าหน้าที่บริษัทที่ต้องมาทำงานในเรื่องที่ตนเองไม่ถนัด (ที่คนจบใหม่เป็นได้แค่ลูกจ้างชั่วคราวก็เพราะทางบริษัทเขาดูผลการเรียนระดับปริญญาตรีเป็นหลัก ถ้าเกรดไม่ถึงขั้นต่ำของเขาเขาก็จะไม่รับบรรจุเป็นพนักงานประจำ) ก็เลยมีเหตุการณ์ลูกจ้างชั่วคราวพยายามจะ "เหยียบหัว" หัวหน้า (ที่บังเอิญไม่ได้จบมาโดยตรงทางด้านนี้) กลางที่ประชุม พอผมได้ยินว่ามีการฝากฝังใครให้ไปเป็นลูกจ้างชั่วคราว ก็ได้แต่นึกอยู่ในใจว่าคนฝากฝังไม่รู้นิสัยคนที่ตัวเองไปฝากฝังเลยหรือไง ส่งคนอย่างนี้ไปมันไม่เพียงแต่จะเสียชื่อคนฝากฝัง แต่มันจะทำความเสียหายให้กับทางบริษัทด้วย (ถ้าบริษัทเขาเป็นคนเลือกของเขาเองบริษัทเขาก็รับผิดชอบเอง แต่นี่เป็นการเข้าไปได้แบบมีการฝากฝัง คนฝากฝังก็ควรหลีกไม่พ้นที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย) และที่สำคัญคือคนฝากฝังเองก็ไม่ได้ฝากฝังคนที่มีพฤติกรรมอย่างนี้เพียงรายเดียว ก่อนหน้านี้ก็มีมาแล้วด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ บังเอิญผมได้เห็นอีเมล์ (จากความผิดพลาดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นของผู้รับอีเมล์) ว่ามีการนำเอาตัวอย่างจากบริษัท ข ไปให้ทางบริษัท ง (ที่เป็นคู่แข่ง) ทำการวิเคราะห์ ทั้ง ๆ ที่อาจารย์ท่านนั้นพยายามย้ำถึงการต้องรักษาความลับของทางบริษัท ถึงขั้นจะให้นิสิตและอาจารย์ทุกคนในแลป (แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีการยุ่งเกี่ยวอะไรกับงานวิจัยนั้นเลย) ต้องมาลงชื่อในสัญญารักษาความลับกับบริษัท (ที่ผมเห็นเงื่อนไขแล้วต้องบอกว่าเป็นสัญญาทาสตลอดชีวิต) แต่ตัวหัวหน้าทีมเองกลับทำซะเอง ซึ่งตอนที่มีคนนำเรื่องสัญญาการลงนามในสัญญารักษาความลับกลับทางบริษัทมาคุยกับผมนั้น ผมก็บอกกับเขาไปว่าถ้าหากผมไปทำงานที่บริษัท มันก็ไม่แปลกที่บริษัทจะให้ผมลงนามในสัญญารักษาความลับ แต่ถ้าทางบริษัทมาทำงานในสถานที่ของผม คนของทางบริษัทต่างหากที่ต้องมาลงนามในสัญญารักษาความลับกับผม ว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือนำเอาข้อมูลใด ๆ ในหน่วยงานของผมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของบริษัทไปใช้ ไม่ใช่ให้ผมเป็นคนไปลงนามกับทางบริษัท

ก่อนหน้านี้เคยมีทีมอาจารย์ทีมหนึ่งเคยชวนผมเข้าร่วมทำวิจัยกับบริษัทหนึ่ง สิ่งแรกที่ผมขอก่อนเริ่มการทำวิจัยคือรายละเอียดของสัญญารักษาความลับและแบ่งผลประโยชน์จากงานวิจัยที่ได้ ซึ่งก็ยังไม่มีการพูดคุยกันสักที ผมเลยตัดสินใจถอนตัวไม่เข้าร่วม ถัดมาไม่นานทราบว่าทางกลุ่มอาจารย์ผู้วิจัยได้ให้ทางบริษัทเป็นคนร่างสัญญาและส่งมาให้ตรวจสอบ ร่างสัญญานั้นส่งมาเป็นภาษา "อังกฤษ" ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายต่างพูดภาษาไทย ผมก็บอกกับผู้ที่ยังคงร่วมทำวิจัยว่าต่อให้สัญญาเขียนมาเป็นภาษาไทย เราก็สู้เขาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้จบทางกฎหมาย นี่เล่นเขียนมาเป็นภาษาอังกฤษก็ยิ่งไม่เข้าทางบริษัทอีกเหรอ อาจารย์ที่ยังร่วมงานวิจัยอยู่ก็บอกว่าได้ทักท้วงไปแล้ว แต่ทางโน้นเขาบอกว่าเขาทำเอกสารเป็นภาษาอังกฤษเป็นประจำ ผมก็เลยบอกไปว่าถ้าเป็นผมนะ ผมจะบอกให้ทางบริษัทส่งมาให้ใหม่เป็นภาษาไทย ถ้าเจ้าหน้าที่ของเขาทำไม่ได้ก็ควรจะไล่ออกไปซะ 
 
ผมยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมไปว่าที่ถูกต้องแล้วควรต้องให้ทางฝ่ายนิติกรของมหาวิทยาลัยเป็นผู้เจรจาเรื่องสัญญานี้ ไม่ใช่ยกให้ทางบริษัทเป็นผู้ทำเพียงฝ่ายเดียว เพราะแน่นอนว่าสัญญาที่ร่างเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนื่งนั้นย่อมจะต้องเอาผลประโยชน์ของผู้ที่ร่างเป็นหลัก อีกฝ่ายหนึ่งถ้าไม่ทันเกมส์ก็มีหวังเสียเปรียบแย่

เรื่องที่ห้าเป็นงานทำวิจัยร่วมกับบริษัท ข แต่เป็นคนละทีมงานและคนละเรื่องกับเรื่องที่สอง งานนี้มีการส่งผลการทดลองที่ผมตรวจสอบแล้วต้องบอกว่าควรจะ "เอาไปเผาไฟทิ้ง" จะดีที่สุด เพราะจะได้ไม่หลงเหลือซากให้ใครเห็นอีกต่อไป เรียกว่าทุกขั้นตอนที่ทำการทดลองนั้นมีความผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นตัวอุปกรณ์เองที่บกพร่อง (มีการรั่วไหล) อุปกรณ์วัดที่ไม่มีการสอบเทียบ (นำอุปกรณ์วัดสำหรับสารตัวหนึ่งไปใช้กับสารอีกตัวหนึ่ง แถมยังทำงานที่ภาวะการทำงานที่แตกต่างกันมากด้วย ซึ่งความถูกต้องของอุปกรณ์วัดนั้นค่อนข้างจะว่องไวต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะการทำงานซะด้วย)

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการให้คำอธิบายที่เป็น "ไสยศาสตร์" ในระหว่างการประชุมด้วย ชนิดที่ทำเอาเจ้าหน้าที่บริษัทที่นั่งฟังอยู่ด้วยถึงกับอึ้งเลย เพราะคงนึกไม่ถึงว่าคนที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย (จากการมีบทความมากมาย) จากหน่วยงานต่าง ๆ จะให้เหตุผลชนิดที่เรียกว่าคนจบเพียงแค่ปริญญาตรีก็ถึงกับงงได้ว่าพูดออกมาได้อย่างไร และยังมีรายการที่เรียกว่าพยายามนัดให้

ทางบริษัทมาประชุมเพื่อรับฟังความก้าวหน้าให้บ่อยครั้ง แต่มาครั้งใดกลายเป็นว่าทางอาจารย์ให้นิสิตไปทำแลปโดยที่ผลแลปทางอาจารย์ยังไม่ได้เห็นเลย และก็ไม่รู้ว่านิสิตไปทำแลปอะไรมาบ้าง เล่นมาซักวิธีการทำการทดลองและผลการทดลองที่ได้ต่อหน้าเจ้าหน้าที่บริษัทเลย ด่านิสิตให้ดูต่อหน้าเจ้าหน้าที่บริษัทอีก คำอธิบายใด ๆ ก็ไม่มีมีแต่บอกว่าให้นิสิตไปหาคำอธิบายมาว่าทำไมจึงได้ผลแลปอย่างนั้น รายละเอียดต่าง ๆ ในการทำงานก็ไม่มีการบอกให้ทราบ ชนิดที่ทางเจ้าหน้าที่บริษัทต้องย้ำว่าทางพวกเขาไม่ได้อยู่เฝ้านิสิตเวลาทำแลปนะ เขาไม่รู้หรอกว่าทำอะไรกันลงไป ผลที่กำลังนำเสนออยู่นี้มันเกี่ยวกับเรื่องอะไร

เรื่องนี้ผมเคยถามกับทางบริษัทว่าโดยปรกติแล้วทางบริษัทอยากให้ใครเป็นคนนำเสนอความก้าวหน้า เจ้าหน้าที่ทางบริษัทก็ตอบมาเลี่ยง ๆ ว่าโดยปรกติเวลาที่ทำกับมหาวิทยาลัยอื่น ทาง "อาจารย์" จะเป็นผู้นำเสนอผลงานเอง โดยมีนิสิตที่เป็นผู้ช่วยทำวิจัยนั้นเป็นผู้ช่วยเหลือในการนำเสนอและจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ

ผมมีโอกาสได้ทำงานวิจัยร่วมกับบริษัทแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะปิดโครงการผมถามเขาว่าในการนำเสนอเพื่อปิดโครงการนั้นอาจจะให้ผมเป็นผู้นำเสนอหรือให้นิสิตที่เป็นผู้ช่วยทำวิจัยนั้นเป็นผู้นำเสนอ เพราะที่ผ่านมานั้นในระหว่างการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าผมจะเป็นคนนำเสนอเองโดยตลอด เพราะถือว่าเป็นหน้าที่เพราะผมเป็นผู้ที่รับค่าจ้างจากทางบริษัทโดยตรง นิสิตที่ทำวิจัยนั้นเป็นเพียงแค่ลูกมือที่ผมนำเอาเงินที่ได้รับจากทางบริษัทไปจ้างต่อเท่านั้น แต่ที่ถามเรื่องนี้ก็เพราะว่าเผื่อว่าทางบริษัทอยากจะทดสอบความสามารถของนิสิตที่เป็นผู้ช่วยวิจัยของผม เผื่อในอนาคตเขาจะไปสมัครงานกับทางบริษัท แต่ยังไงก็ตามผมต้องรับผิดชอบผลการทดลองและคำอธิบายผลการทดลองทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนตัวนิสิตนั้นผมเองก็ได้ถามเขาก่อนแล้วว่าอยากจะลองนำเสนอไหม ไม่ได้เป็นการบังคับแต่จะเปิดโอกาสให้ เพราะถ้านำเสนอได้ดี เวลาไปสมัครงานที่บริษัทนั้นก็จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น แต่ถ้านำเสนอได้ไม่ดีก็จะติดลบ แต่ถึงอย่างไรก็ตามผมเองต้องเป็นคนรับผิดชอบผลการทดลองและคำอธิบายต่าง ๆ อยู่แล้ว

ผมได้มีโอกาสคุยกับนิสิตปริญญาเอกคนหนึ่งหลังการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของเขาเสร็จไปไม่กี่ชั่วโมง เขามาเล่าให้ฟังเรื่องผลงานวิจัยของเขาที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้นเกิดสีที่ไม่เป็นที่ต้องการ (คือเขาต้องการให้มันเป็นสีขาวหรือไม่มีสี แต่นี่มันกลายเป็นสีอื่น) ผมก็บอกเขาไปว่าดูจากสารตั้งต้นและภาวะการทำปฏิกิริยาของเขาแล้ว คงยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปฏิกิริยาข้างเคียงที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ข้างเคียงที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หลักที่ต้องการนั้นมีสี (ที่เกิดจากสีของผลิตภัณฑ์ข้างเคียงผสมปนอยู่) ส่วนที่ว่าเกิดสีได้อย่างไรนั้นมันก็มีอธิบายอยู่แล้วในตำราเคมีอินทรีย์เรื่อง ...... พอผมอธิบายเขาเสร็จเขาก็บอกว่าผมตอบเหมือนกับอาจารย์ต่างประเทศที่เขามาร่วมสอบเลย (เขามาในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม) กล่าวคือตอนแรกเขาไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมันมีสี อาจารย์ที่ปรึกษาของเขาเองก็บอกว่าให้ไปค้น paper มาตอบ แต่อาจารย์ต่างประเทศผู้นั้นกลับตอบให้แทนโดยใช้ความรู้ต่าง ๆ ที่มีเขียนอยู่ในหนังสือเคมีอินทรีย์อยู่แล้ว หลังการถามตอบเสร็จสิ้น ทางอาจารย์ที่ปรึกษาจะให้นิสิตผู้นั้นทำการทดลองเพิ่มเติมอีก ทางอาจารย์ต่างประเทศก็เลยถามนิสิตผู้นั้นขึ้นมาลอย ๆ ว่า "ผมเข้าใจถูกหรือเปล่าว่าคุณทำเพียงแค่ 1 PhD ไม่ได้ทำ 3 PhD" การสั่งงานเพิ่มเติมในห้องสอบก็เลยไม่เกิดขึ้น

แต่กลับปรากฏว่าอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ยอมลงชื่อในเอกสารการสอบว่าสอบเสร็จสิ้นแล้ว ไปบังคับให้นิสิตเขียนคำร้องว่าวิทยานิพนธ์ยังไม่สมบูรณ์ ขอส่งเล่มล่าช้า ซึ่งผมเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดผลการสอบที่กรรมการท่านอื่นได้ตัดสินไปแล้ว ว่าพึงพอใจกับงานวิจัยนั้นที่นำเสนอในวันสอบและไม่ต้องมีการแก้ไขอะไรอีกแล้ว และในภาคการศึกษาดังกล่าวก็มีนิสิตของอาจารย์ท่านนั้นทำเรื่องทำนองนี้เข้ามาหลายราย จนกรรมการพิจารณาคำร้องตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของอาจารย์คนดังกล่าว ว่าจงใจเก็บนิสิตไว้ทำผลงานเพื่อตัวเองหรือเปล่า โดยแกล้งดึงเรื่องให้นิสิตจบช้าเพื่อให้นิสิตทำงานเพิ่มตามที่ตนเองต้องการ โดยไม่สนใจว่ามติผลการสอบนั้นเป็นอย่างไร

สำหรับผู้ที่คิดจะเรียนต่อปริญญาโทหรือปริญญาเอก ถ้าจะเรียนกับอาจารย์ท่านใด ก็สืบพฤติกรรมย้อนหลังดูกันเอาเองก็แล้วกัน จะได้ไม่ต้องมาบ่นว่าถูกหลอกให้เข้ามารับทุน แต่ถ้าชอบอย่างนั้นก็แล้วไป