วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มันเทศกับใบหนาด MO Memoir : Thursday 2 August 2555


ผมเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาการของเด็กเอาไว้ในเรื่อง "ทำไมน้ำกระด้างจึงมีฟอง" ซึ่งตอนนั้นพูดถึงการพัฒนาการใช้มือ (ดู Memoir ฉบับวันอังคารที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๕)

การพัฒนาการของเด็กนั้นต้องประกอบด้วยการพัฒนาการทางร่างกายและการพัฒนาการทางด้านสมองไปพร้อม ๆ กัน จะขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

แต่ดูเหมือนว่าสังคมในปัจจุบันจะเน้นไปที่การพัฒนาการทางด้านสมองซะเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้ใหญ่เอาเป้าหมายที่ตัวเองตั้งเอาไว้ว่าโตขึ้นอยากให้เด็กเป็นอย่างไร โดยปากก็บอกว่ามึวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กได้ดีตอนโต แต่หลายกรณีที่เคยประสบมาพบว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้ใหญ่ที่ซ่อนเอาไว้แล้วไม่พูดออกมาคือจะได้มีอะไรเอาไปไว้คุยโอ้อวดกับคนอื่นว่าฉันมีของดีกว่าคนอื่น โดยไม่ได้สนใจว่าเมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นจนผ่านพ้นวัยเรียนรู้ทางวิชาการไปแล้ว เขาจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอย่างที่เขาต้องการได้หรือไม่

ผมไม่ได้คิดว่าเด็กเล็กที่เก่งนั้นต้องเป็นคนที่คิดเลขเก่ง อ่านหนังสือได้หลากหลายภาษา บอกไว้ว่าดาวเคราะห์มีกี่ดวงหรือไดโนเสาร์หน้าตาอย่างนี้ชื่ออะไร แต่การเรียนรู้ของเด็กเล็กนั้นควรเริ่มต้นจากธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเขาเอง โดยหาโอกาสให้เขาได้มีประสบการณ์ตรง ได้สัมผัสกับของจริงให้ได้มากที่สุด

ในขณะที่การทำรายงานของเด็กโตหรือผู้เรียนในมหาวิทยาลัยนั้นจะเน้นไปที่การค้นคว้าเอกสารซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตอนนี้ทำได้ง่ายมากเพราะค้นได้จากอินเทอร์เน็ตที่ไหนก็ได้ ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ต้องไปหาจากหนังสือในห้องสมุด แต่ผมยังดีใจที่ลูกยังได้มีโอกาสทำรายงานที่ต้องเขียนขึ้นจากการทดลองและสังเกตด้วยตนเอง

รายงานหนึ่งที่เจอมาตั้งแต่สมัยลูกคนแรกคือการปลูกต้นไม้ การสังเกตใบไม้ ดอกไม้ การทำความรู้จักต้นไม้ต่าง ๆ และประโยชน์ของมัน โดยครูที่โรงเรียนได้ให้นักเรียนไปถ่ายรูปและนำมาแปะลงในสมุดรายงาน

การทำรายงานแบบนี้แต่ก่อนจะทำยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม เอาฟิล์มไปล้าง อัด และนำรูปมาตัดแปะ แถมแต่ก่อนก็ไม่ได้มีกล้องถ่ายรูปกันทุกบ้าน ในขณะที่ปัจจุบันเรียกได้ว่ามีกันแทบทุกคน อย่างน้อยก็กล้องที่ติดโทรศัพท์ เอารูปลงรายงานก็ย้ายข้อมูลจากโทรศัพท์เข้าคอมพิวเตอร์ได้เลย

พอถึงสมัยลูกคนที่สองก็เตรียมพร้อมสำหรับรายงานแบบดังกล่าว ก็เลยปลูกต้นไม้เอาไว้หลายหลายรอบ ๆ บ้าน โดยกระจายออกเป็นชนิดต่าง ๆ มีทั้งไม้ดอกที่เอาไว้ให้ความสวยงามและเรียกผีเสื้อและแมลงต่าง ๆ มากินน้ำหวาน ซึ่งพอมีแมลงมากินน้ำหวานก็จะมีนกกินแมลงบินมากินแมลงอีกที ทำให้ที่บ้านไม่ต้องเลี้ยงนก เพราะจะมีนกหลายหลายสายพันธ์บินเข้ามาเรื่อย ๆ นอกจากนั้นก็เป็นพวกไม้สวนครัว ผลไม้ และต้นไผ่เพื่อเอาไม้ไว้ใช้สอย

อย่างน้อยก็ให้ลูก ๆ ได้เห็นว่าพืชผักที่กินกันในแต่ละวันนั้น มันมาจากต้นหน้าตาอย่างไร เวลาที่เขาบอกว่าไม้เลื้อยนั้นมันเลื้อยอย่างไร ไม้พุ่มเตี้ย พุ่มเล็กนั้นมันเป็นอย่างไร ขนาดเท่าไร

เดือนที่แล้วคุณครูที่โรงเรียนได้ให้นักเรียนแต่ละคนนำผลไม้ไปคนละสองผล เพื่อนำไปเรียนและรับประทานกัน ผลไม้ที่นำไปส่วนใหญ่ก็เป็นชนิดที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไปประเภทที่ไหน ๆ ก็มี ลูกผมก็เอามังคุดไปสองลูก แต่ผมก็เก็บมะเฟืองจากต้นที่บ้านอีกสองใบไปให้เขาด้วย บอกว่าให้เอาไปให้เพื่อน ๆ ดูกันว่าของจริงหน้าตามันเป็นอย่างไร เพราะเด็ก ๆ ก็รู้จักชื่อมะเฟืองจากตอนเรียนอาขยานที่ท่อง "...มะเฟือง มะไฟ มะกรูด มะนาว มะพร้าว ส้มโอ ..." อยู่แล้ว ขาดแต่หน้าตาของจริงเท่านั้น (เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กกรุงเทพหรือเด็กที่โตในใจกลางเมือง หรือในหมู่บ้านที่ไม่มีที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ เพราะบ้านจัดสรรปัจจุบันนิยมสร้างให้เต็มพื้นที่จนแทบไม่มีพื้นดินเหลือให้ปลูกต้นไม้ใหญ่ได้)


รูปที่ ๑ (บน) ต้นมันเทศ (ล่าง) ต้นที่งอกออกมาจากหัวที่ฝังอยู่ในดิน

เมื่อสองสามเดือนที่แล้วภรรยาเอาหัวมันเทศมาให้สองหัว บอกให้เอาไปปลูกลงดิน ผมเองเก็บเอาไว้ตั้งหลายสัปดาห์ไม่ได้เอาไปปลูกสักที พอเดือนที่แล้วนึกขึ้นมาได้ พอไปดูก็เห็นมันเริ่มแตกใบแล้ว ก็เลยคิดว่าต้องเอาไปปลูกซักที ตอนแรกยังไม่รู้จะเอาลงตรงไหนดีก็เลยเอาลงกระถางใบใหญ่เอาไว้ก่อน พอวันรุ่งขึ้นคุณแม่มาเห็นเข้าก็เลยไปหามุมเหมาะ ๆที่มันชอบให้แล้วขุดฝังดินปลูกให้

พอได้ปุ๋ยได้น้ำทีนี้ก็เลยงอกงาม แตกใบแผ่เลื้อยออกไป ก็เลยถือโอกาสถ่ายรูปมาให้ดูกัน (รูปที่ ๑) ใครที่เคยเห็นแล้วก็ไม่เป็นไร ใครที่ยังไม่เคยเห็นก็จะได้รู้จัก

รูปที่ ๒ (ซ้าย) ต้นหนาด (ขวา) ใบหนาดที่โตเกือบเต็มที่ ถ่ายรูปเทียบกับไม้บรรทัด เผื่อมีเด็กต้องใช้ทำรายงาน จะได้รู้ว่าใบหนาดมีขนาดใหญ่แค่ไหน

อีกต้นหนึ่งได้มาตอนปลายปีที่แล้วจากงานเกษตรบางพระ ศรีราชา คือต้น "หนาด" (รูปที่ ๒) ถามคนขายว่าต้นหนาดนี้ใช้ทำอะไร เขาบอกว่าใบใช้เป็นยาสมุนไพร ใช้แก้โรคอะไรผมก็ไม่รู้ ผมรู้จักใบหนาดจากการอ่านเรื่องผีของไทย ซึ่งมักจะกล่าวถึงใบหนาดว่าป้องกันไม่ให้ผีเข้าบ้านได้ โดยการนำมาปักไว้รอบบ้าน แต่ทำไมผีถึงกลัวใบหนาดก็ไม่รู้เหมือนกัน

ต้นหนาดนี้มันโตเร็ว เท่านั้นยังไม่พอ รากของมันจะแผ่ไปใต้พื้นดินตื้น ๆ แล้วก็จะงอกออกเป็นต้นใหม่แผ่ออกไป มันไปโผล่ที่แปลงต้นไม้อื่นข้าง ๆ ซะหลายต้น ก็เลยต้องคอยตามดึงทิ้ง ให้เหลือเพียงต้นใหญ่ต้นเดียว

มุมที่เอาต้นหนาดไปปลูกนั้นก็เป็นมุมที่อยู่ใกล้ ๆ กับกอกล้วย ซึ่งกอกล้วยดังกล่าวมันอยู่มาตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่รู้ ตอนที่ซื้อที่ดินแปลงนี้มันก็มีอยู่แล้ว และมันก็อยู่รอดผ่านพ้นการสร้างบ้านและน้ำท่วมใหญ่มาได้ บังเอิญกอกล้วยดังกล่าวเป็นกล้วยน้ำว้า ไม่ใช่กล้วยตานี ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า