ผมเอารูปข้างบนโพสต์ลงใน
facebook
พร้อมข้อความที่แสดงเมื่อเดือนปลายเดือนมิถุนายน
หนึ่งเดือนถัดไปก็มีคนมาเล่าให้ฟังว่า
เขาเอารูปดังกล่าวไปเปิดให้คนที่บ้านดู
ก็เลยได้คำวิพากย์วิจารณ์มาว่าการตีความหมายแบบที่ผมเขียนข้างบนนั้นมัน
"ไม่ถูกต้อง"
เป็นการเข้าใจผิด
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ตีความความหมายของข้อความต่าง
ๆ ที่ได้อ่าน ได้เห็น หรือได้ยิน
ตามเนื้อความหรือตามตัวอักษร
ถ้าเป็นการเขียนบทความวิชาการหรือข้อกฎหมายมันก็คงต้องเป็นเช่นนั้น
แต่สำหรับการสื่อสารกันระหว่างบุคคลแล้ว
การตีความความหมายของสิ่งที่คนหนึ่งพูดหรือเขียนจากประโยคหรือข้อความที่เขาที่เขาแสดงนั้นมัน
"ไม่เพียงพอ"
มันมีปัจจัยแวดล้อมอื่น
ๆ ประกอบอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิหลังของผู้พูด
ลักษณะท่าทีการพูด การใช้เสียง
สีหน้าหรือกิริยาทางกายประกอบ
สภาพการณ์ที่เขาพูด ฯลฯ
ซึ่งต้องนำเอาปัจจัยเหล่านี้มาประกอบด้วยว่าเขาต้องการสื่อความหมายดังคำพูด
(หรือข้อเขียน)
ที่เขาแสดงออกหรือไม่
ตัวอย่างเช่นสมมุติว่าคอลัมนิสต์คนหนึ่งเขียนโจมตีการทำงานของนักการเมืองรายหนึ่งเป็นประจำ
แต่มาวันหนึ่งเขากลับเขียนยกย่องเทอดทูญการทำงานของนักการเมืองผู้นั้น
ในกรณีนี้ถ้าใครมาอ่านเพียงแค่บทความฉบับที่เขาเขียนยกย่องเทอดทูญ
ก็อาจจะคิดว่าคอลัมนิสต์ดังกล่าวเห็นว่านักการเมืองผู้นั้นเป็นคนดี
แต่ถ้าใครที่อ่านคอลัมน์ของคอลัมนิสต์ผู้นั้นเป็นประจำอาจจะเห็นบทความฉบับเดียวกันว่าเป็นการประชดประชัน
กล่าวคือคนเขียนไม่ได้หมายความ
"ตาม"
ที่เขียน
แต่หมายความ "ตรงข้าม"
กับที่เขียน
การอ่านความหมายเช่นนี้ทางฝรั่งเขาเรียนกว่า
"Read
between the line" ถ้าจะแปลเป็นไทยออกมาตรง
ๆ ก็คือการ "อ่านระหว่างบรรทัด"
แต่ผมว่าความหมายที่ถูกต้องน่าจะเป็น
"อ่านในสิ่งที่ไม่ได้เขียน
(หรือพูด)
ออกมาตรง
ๆ"
มากกว่า
และไม่ได้หมายถึงการอ่านแบบบรรทัดเว้นบรรทัด
หนังสือ
"ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา"
เขียนโดย
นิธิ เอียวศรีวงศ์
ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง
เดือนมิถุนายน ๒๕๔๓
โดยสำนักพิมพ์มติชน (พิมพ์ครั้งแรก
ตุลาคม ๒๕๒๓)
ความสามารถในการอ่านระหว่างบรรทัดนั้นผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ควรต้องมี
หนังสือ
"ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา"
ที่ผมเอารูปมาให้ดูเป็นตัวอย่างในหน้าที่แล้วเป็นหนังสือที่ผมซื้อมาอ่านด้วยความบังเอิญเพราะชื่อหนังสือมันสะดุดตา
ผมเคยเอาหนังสือเล่มนี้ให้กับนิสิตป.เอกที่ผมสอน
(ซึ่งก็มีอยู่คนเดียว)
ให้เขาไปอ่าน
ซึ่งผมไม่ได้ต้องการให้เขาต้องอ่านทั้งหมด
เพียงแต่อย่างน้อยอยากให้เขาอ่านในส่วนคำนำของหนังสือ
ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนเขียน
ซึ่งผู้อ่านต้องทำความเข้าใจคนเขียนก่อน
จากนั้นจึงค่อยไปอ่านเนื้อหาที่เขาเขียน
แล้วจึงพิจารณาว่าเขาหมายความตามสิ่งที่เขาเขียนเอาไว้หรือไม่
ตัวอย่างเช่นการแก้ไขประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาซึ่งกระทำกันในสมัยรัตนโกสินทร์
หนังสือดังกล่าวชี้ให้เห็นปมซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถตั้งคำถามได้ว่า
การที่ผู้เขียนไปแก้ไขเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้เขียนจะเกิด
(หรือก่อนที่พ่อหรือปู่ของผู้เขียนจะเกิด)
นั้น
เขาทำได้อย่างไร
ในเมื่อเขาไม่ได้มีชีวิตหรือได้พูดคุยกับคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น
ดังนั้นการอ่านในอดีตนั้นจึงต้องแยกเนื้อหาออกเป็น
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
กับสาเหตุและความสมเหตุสมผลของการกระทำดังกล่าว
เพราะเหตุการณ์เดียวกันนั้นเมื่อมองจากมุมที่แตกต่างกัน
(ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของผู้ที่มอง
เช่น การศึกษา หน้าที่การงาน
ผู้ที่สนับสนุนให้เขียน
ระบอบการปกครอง ฯลฯ)
ก็ทำให้ได้สาเหตุและความสมเหตุสมผลของการกระทำดังกล่าวที่แตกต่างกันไปได้
ในปัจจุบันการอ่านผู้พูด/ผู้เขียนผมเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการรับฟังข่าวสาร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เรารับฟังข่าวสารจากประเทศทางตะวันตกที่ปกครองด้วยระบบทุนนิยมเป็นหลัก
รายงานข่าวจากสำนักข่าวเหล่านั้นจึงมักมีมุมมองว่าระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
และมักจะพยายามโจมตีประเทศอื่นที่ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าไปหาผลประโยชน์ในประเทศนั้น
(เขาไม่สนหรอกว่าประเทศเหล่านั้นจะปกครองโดยระบอบใด
แต่ถ้าไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ได้เขาก็มักจะใช้สื่อโจมตีว่าเป็นพวกเผด็จการเสมอ)
ดังนั้นการอ่านสิ่งที่มีการรายงานไว้นั้นมันไม่เพียงแต่การรับรู้เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น
แต่ยังเป็นการรับรู้สิ่งที่ผู้รายงานหลีกเลี่ยงที่จะไม่รายงาน
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะบ่งบอกถึงภูมิหลังของผู้ที่รายงานเหตุการณ์นั้นด้วย