วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๗ (ตอนที่ ๓๖) MO Memoir : Saturday 30 April 2559

เอกสารฉบับนี้นำเนื้อหาลง blog บางส่วน

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เป็นบันทึกการประชุมกลุ่มเมื่อบ่ายวันวาน

. การวัดความเป็นกรดบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยา

๑.๑ เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ที่ดีขึ้น ขอให้ไปอ่านทบทวน Memoir ตามรายชื่อข้างล่าง (และที่มีการอ้างถึงใน Memoir เหล่านั้น) 
  
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๐๓ วันพุธที่ ๒๐ มกราคม พ.. ๒๕๕๓ เรื่อง "การวัดปริมาณ-ความแรงของตำแหน่งที่เป็นกรดบนพื้นผิว"
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๒๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "การวัด NH3 adsorption" (ฉบับนี้คงต้องไปอ่านจากไฟล์ pdf เพราะไม่ได้นำลง blog)
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๓๖ วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง "ความเข้มข้นของแก๊สที่ใช้ในการดูดซับ"
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๔๐ วันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เรื่อง "การวัดปริมาณตำแหน่งที่เป็นกรด-เบสบนพื้นผิวของแข็งด้วย GC" (สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่กำลังจะให้พวกคุณทำ)
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๔๓ วันพุธที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เรื่อง "NH3-TPD ตอน ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ ๑"

๑.๒ สิ่งที่เราต้องการทราบก็คือ
(ก) ปริมาณหรือจำนวนของตำแหน่งที่เป็นกรดบนพื้นผิว (concentration)
(ข) ความแรง (strength)

๑.๓ การวัดปริมาณตำแหน่งกรดบนพื้นผิว (ข้อ ๑.๒ (ก)) สามารถทำได้ด้วยการ
(ก) ค่อย ๆ เติมเบสให้พื้นผิวดูดซับจนอิ่มตัว จากนั้นวัดปริมาณเบสที่เติมได้
(ข) ให้พื้นผิวดูดซับเบสจนอิ่มตัวก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มอุณหภูมิให้กับตัวอย่างเพื่อไล่เบสออกมา จากนั้นวัดปริมาณเบสที่ไล่ออกมาได้

๑.๔ การวัดด้วยการค่อย ๆ เติม (ข้อ ๑.๓ (ก)) อาจมีปัญหาในกรณีที่พื้นผิวดูดซับเบสได้น้อยเมื่อเทียบกับปริมาณของเบสที่เราเติมให้กับพื้นผิวแต่ละครั้ง เพราะถ้าปริมาณเบสที่เติมแต่ละครั้งมีขนาดมากเมื่อเทียบกับความสามารถที่พื้นผิวจะดูดซับเอาไว้ได้ เราจะมองไม่เห็นปริมาณเบสที่หายไปในการเติมครั้งแรก หรือหายไปน้อยมากจนไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความคลาดเคลื่อนจากการฉีดเบสหรือไม่ การแก้ปัญหาตรงจุดนี้อาจทำได้ด้วยการ 
  
(ก) ลดปริมาณเบสที่ฉีดแต่ละครั้ง (ด้วยการลดปริมาตรหรือความเข้มข้น) หรือ
(ข) เพิ่มน้ำหนักตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์
 
ในกรณีที่ใช้เบสเป็นแก๊ส NH3 ปริมาณเบสที่เติมให้แต่ละครั้งขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและปริมาตรแก๊ส NH3 ที่ฉีดเข้าไป ในกรณีที่ใช้เบสเป็น pyridine (ของเหลว) ปริมาณเบสที่เติมก็ขึ้นอยู่กับปริมาตรของ pyridine ที่ฉีดเข้าไป

๑.๕ การวัดปริมาณด้วยการใช้อุณหภูมิไล่เบสที่ถูกพื้นผิวดูดซับเอาไว้ออกมา (ข้อ ๑.๓ (ข)) มีปัญหาตรงนี้ เราไม่รู้ว่า ณ อุณหภูมิสูงสุดที่เราใช้นั้น เราสามารถไล่เบสออกจากพื้นผิวได้หมดหรือยัง ตรงนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการแปลผลได้ เช่น
 
(ก) ในกรณีที่พื้นผิวเต็มไปด้วย strong acid site ที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงในการไล่เบสที่พื้นผิวดูดซับเอาไว้ออก แต่เราใช้อุณหภูมิในการไล่เบสที่ต่ำเกินไป ทำให้มีเบสเพียงแค่ส่วนน้อยที่เกาะอยู่บน weak acid site หลุดออกมา เราก็จะแปลผลผิดได้ว่าตัวอย่างนี้มีแต่ weak acid site ในปริมาณน้อย
 
(ข) ถ้าใช้อุณหภูมิในการไล่เบสสูงกว่าอุณหภูมิที่ตัวอย่างทนได้ จะทำให้ตัวอย่างเกิดการเปลี่ยนโครงสร้างในระหว่างการวิเคราะห์ และผลที่เห็นนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของตัวอย่างที่ใช้เมื่อเริ่มต้นการวิเคราะห์ เช่นในกรณีของ TiO2 (anatase) ที่เราใช้นั้น จะเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็น rutile ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 550ºC ขึ้นไป และจะเปลี่ยนได้รวดเร็วขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 600ºC ดังนั้นถ้าเราใช้อุณหภูมิไล่เบสไปจนถึง 800ºC เบสที่เราเห็นหลุดออกมาที่อุณหภูมิเกินกว่า 600ºC นั้นมันไม่ใช่เบสที่หลุดออกมาจาก anatase ที่เป็นตัวอย่างเริ่มต้น แต่เป็นเบสที่หลุดออกมาจาก rutile ที่เกิดจากการเปลี่ยนเฟสของ anatase ด้วยเหตุนี้ในกรณีที่เรากำลังทำการทดลองอยู่นี้ จึงได้จำกัดอุณหภูมิสูงสุดของการวิเคราะห์เอาไว้ที่ 500ºC (ซึ่งก็ยังคงต่ำกว่าอุณหภูมิการใช้งานจริง)

๑.๖ ปริมาณเบสที่พื้นผิวดูดซับเอาไว้ได้ ณ อุณหภูมิใดอุณหภูมิหนึ่งนั้น ซึ่งคำนวณได้จากค่า ปริมาณเบสทั้งหมดที่พื้นผิวดูดซับเอาไว้ได้ (จากข้อ ๑.๓) หักลบด้วยปริมาณเบสที่พื้นผิวคายออกมา ณ อุณหภูมินั้น (พื้นที่ใต้กราฟ TPD จากจุดเริ่มต้นมาจนถึงอุณหภูมินั้น) อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้เป็นตัวบอกความสามารถของตัวเร่งปฏิกิริยาในการทำปฏิกิริยาได้ เพราะในปฏิกิริยาที่เรากำลังศึกษาอยู่นั้น จำเป็นต้องมีการดูดซับสารตั้งต้นที่เป็นเบสบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาก่อน ดังนั้นปริมาณเบสที่พื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยาดูดซับไว้ได้ ณ อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาใด ๆ อาจมีความสัมพันธ์กับความว่องไวในการทำปฏิกิริยาได้ ประเด็นตรงนี้ขอให้นำไปพิจารณาด้วยเมื่อทำการวิเคราะห์ผลการทดลอง

. การ calcination ตัวเร่งปฏิกิริยา

๒.๑ ตรงนี้ขอให้ไปอ่าน Memoirปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๖๒ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "เผาในเตาแบบไหนดี (Calciantion)" เพิ่มเติมด้วย

๒.๒ ในกรณีของการใช้เกลือที่ต้องการออกซิเจนในการทำให้มันกลายเป็นสารประกอบออกไซด์ (เช่นเกลือที่มีหมู่ของสารอินทรีย์) การเผาในรูปแบบ fixed-bed จะดีที่สุด เพราะมั่นใจว่าทุกอนุภาคตัวเร่งปฏิกิริยานั้นมีแก๊สออกซิเจนไหลผ่าน ส่วนการเผาในรูปแบบที่ใช้ boat หรือ crucible นั้น ต้องระวังเรื่องความหนาของชั้นสารที่เผาและขนาดพื้นที่ผิวที่สัมผัสกับแก๊สด้านบน เพราะถ้าชั้นสารที่เผามีความหนามากเกินไปและ/หรือพื้นผิวสัมผัสกับแก๊สน้อยเกินไป พวกที่อยู่ทางด้านล่างจะไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ จะกลายเป็นสารประกอบออกไซด์ไม่สมบูรณ์

๒.๓ ตรงจุดนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเมื่อนำตัวเร่งปฏิกิริยามาใช้ครั้งแรก มันมีพฤติกรรมแตกต่างไปจากเมื่อนำมาใช้ซ้ำ เพราะในขณะที่นำมาใช้ครั้งแรก มันถูก calcine ซ้ำอีกครั้งที่อุณหภูมิทำปฏิกิริยาที่สูง มันเลยมีการเปลี่ยนเป็นโครงสร้างออกไซด์ที่สมบูรณ์ โครงสร้างตัวเร่งปฏิกิริยาในการทดสอบครั้งที่สองจึงไม่เหมือนกับครั้งแรก
 
๒.๔ การป้องกันปัญหาดังกล่าวเราทำได้ด้วยการ calcine ตัวเร่งปฏิกิริยาซ้ำอีกครั้งก่อนใช้งาน เช่นก่อนที่จะเริ่มทำการทดลองก็ให้เผาตัวเร่งปฏิกิริยาที่อุณหภูมิ 450ºC ก่อน (ผมว่าน่าจะสัก ๑ - ๓ ชั่วโมง เลือกเอาเองก็แล้วกัน) ด้วยแก๊สที่เราใช้ในการทำปฏิกิริยา SCR (ยังไม่ต้องป้อนเบนซีนเข้าไป) ซึ่งจะเป็นการรอให้ระบบเข้าที่ด้วย 
  
จากนั้นจึงลดอุณภูมิของ reactor ลง แล้วจึงค่อยเริ่มทำการวัดความว่องไวในการทำปฏิกิริยา

. ค่า conversion

๓.๑ การใช้ค่า conversion เปรียบเทียบความว่องไวในการทำปฏิกิริยา ในบางครั้งอาจมีปัญหาในการแปลผล เช่นในกรณีที่สารตั้งต้นมีความเข้มข้นแตกต่างกัน ถ้าหากว่า "จำนวนของ active site" ที่สามารถทำปฏิกิริยานั้น ถูกใช้ไปในการทำปฏิกิริยาจนหมดแล้ว

๓.๒ เช่นสมมุติว่าเรามีจำนวน acitve site อยู่ 1000 แต่ป้อนสารตั้งต้นเข้ามา 2000 สารตั้งต้นสามารถทำปฏิกิริยาไปได้เพียงแค่ 1000 (ตามจำนวน active site) ทำให้ได้ค่า conversion 50% พอเราป้อนสารตั้งต้นเข้ามา 4000 มันก็เกิดปฏิกิริยาไปได้เพียงแค่ 1000 (ตามจำนวน active site) เช่นเดิม แต่เราจะได้ค่า conversion 25%
 
แต่ถ้าเราคิดจาก "ปริมาณสารตั้งต้นที่ทำปฏิกิริยาไป" เราจะเห็นว่าตัวเร่งปฏิกิริยามีความว่องไวเหมือนเดิม

๓.๓ ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้บอกว่า สำหรับกรณีที่ความเข้มข้นสารตั้งต้นมีการแกว่งไปมาอยู่นั้น (เช่นในกรณีของเบนซีนและโทลูอีน) อาจต้องพิจารณาประเด็นนี้เอาไว้ด้วยในการแปลผล และการรายงานผลจะอยู่ในรูปของ "อัตราการเกิดปฏิกิริยา" (ปริมาณสารตั้งต้นที่ทำปฏิกิริยาไปต่อหน่วยน้ำหนักตัวเร่งปฏิกิริยา) แทนค่า %conversion

๓.๔ สำหรับเบดที่มีขนาดเตี้ยและ/หรืออนุภาคมีขนาดใหญ่นั้น อาจมีแก๊สบางส่วนไหลผ่านไประหว่างผนังด้านข้าง reactor กับตัวเบด (เกิด channelling) ซึ่งแก๊สส่วนนี้ไม่สัมผัสกับตัวเร่งปฏิกิริยา จึงไม่เกิดปฏิกิริยา ดังนั้นในกรณีที่พบว่าค่า %conversion นั้นเพิ่มขึ้นถึงระดับใกล้ 100% แต่ก็ไปไม่ถึง 100% แม้ว่าจะเพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้นอีก โดยไปนิ่งอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง อาจเกิดจากสาเหตุ channelling นี้ได้

ข้อ ๔. ๕. และ ๖. ดูรายละเอียดในฉบับที่ส่งให้ทางอีเมล์

 

ไม่มีความคิดเห็น: