วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อันตรายจากเสาไฟฟ้า ??? MO Memoir : Monday 13 June 2559

สังคมบ้านเรายังยกย่องคนที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือผู้ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "ด๊อกเตอร์" ว่าเป็นคนเก่ง เป็นผู้มีความรู้สูง โดยเฉพาะด๊อกเตอร์ทางด้านสายวิทยาศาสตร์ที่คนจำนวนมากในบ้านเรา (หรือส่วนใหญ่ ?) มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่ไม่ดี แต่พอเข้าสู่ยุคสังคมออนไลน์นี่ เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยคงเริ่มสงสัยในเรื่องความรู้ความสามารถของบุคคลเหล่านี้กันบ้างแล้วว่า "รู้จริง" หรือไม่ เพราะช่วงหลัง ๆ มานี้เห็นมีทั้งการโพสข้อความ กดแชร์ และกดไลค์ สิ่งที่ (ต้องขอบอกตามตรงว่า) แสดงให้เห็นว่าการกระทำนั้นเกิดจาก ความไม่รู้จริง หรือไม่ได้พิจารณาเนื้อหาว่ามันถูกต้อง หรือมันสมควรหรือไม่ที่จะแสดงการกระทำสนับสนุนเนื้อหาดังกล่าว 
  
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นมีการโพสข้อความ (โดยใครก็ไม่รู้ซึ่งผมไม่รู้จัก) และก็มีคนกดไลค์ตามเป็นพรวน เข้าใจว่าทั้งคนโพสและส่วนหนึ่งของคนที่กดไลค์ก็เป็นผู้ที่ทำงานในสถาบันการศึกษา แต่บังเอิญเรื่องที่เขาโพสนั้นผมพอจะมีความรู้อยู่บ้างเพราะก็ศึกษามาในวงการนี้ ทำให้ทราบว่าข้อความที่เขาโพสนั้นมันมีความ "ไม่ถูกต้อง" ผสมอยู่ ส่วนการที่เขาโพสข้อความที่มี "ความไม่ถูกต้อง" นั้นจะเกิดจาก "ความไม่รู้จริง" หรือ "เพื่อทำให้ผู้อ่านคิดว่ารู้จริง" หรือด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ผมไม่สามารถทราบได้
 
อันที่จริงอีกอาชีพหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการ "ตัดตอน" หรือ "ส่งเสริม" การแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็คือ "สื่อมวลชน" แต่ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าทำงานกันโดยไม่พิจารณาเลยว่าข้อมูลที่นำมาจากแหล่งข่าวและเผยแพร่ต่อนั้นมันมีความถูกต้องหรือน่าเชื่อถือเพียงใด หรือสักแต่เพียงว่าถ้ามันทำให้เกิดความ "ตื่นตระหนก" ในสังคมได้ก็ถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกก็พอ
 
ภาพข่าวที่นำมาให้ดูในวันนี้เป็นภาพข่าวที่เคยเห็นเมื่อเกือบสองปีที่แล้ว เนื้อหาเป็นอย่างไรก็เชิญอ่านเอาเองก่อนก็แล้วกัน อันที่จริงตัวข่าวมันยาวกว่านี้ แต่เป็นส่วนของรูปภาพประกอบ ผมนำมาเฉพาะส่วนที่เป็นข้อความเนื้อข่าวเท่านั้น (ไม่ได้มีการตัดต่อ) เชื่อว่าพวกคุณทั้งหลายพออ่านแล้วคงจะแยกแยะได้ว่าข้อมูลไหนเป็นจริงข้อมูลไหนเป็นเท็จตามหลักวิทยาศาสตร์

เหล็กเป็นโลหะที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในทางวิศวกรรมมากที่สุด เนื่องด้วยมันมีอยู่มากและผลิตได้ง่ายในราคาถูก แต่ข้อเสียของเหล็กก็คือขึ้นสนิม สนิมเหล็กก็คือสารประกอบออกไซด์ของเหล็ก แต่เจ้าสารประกอบตัวนี้มันไม่ได้เกิดแบบเป็นชั้นฟิลม์เคลือบผิวเหล็กเอาไว้ ทำให้การเกิดสนิมสามารถกินลึกเข้าไปในเนื้อเหล็กได้เรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการคิดค้นวิธีการต่าง ๆ เพื่อป้องกันหรือลดการขึ้นสนิมของเหล็ก เช่นการทาสี การเคลือบผิวเหล็กด้วยโลหะชนิดอื่นที่ให้ฟิล์มออกไซด์ที่ป้องกันไม่ให้โลหะเหล็กข้างใต้ทำปฏิกิริยากับน้ำและออกซิเจนจนเกิดสนิม การให้โลหะอีกชนิดหนึ่งเป็นตัวจ่ายอิเล็กตรอนแทนเหล็ก เป็นต้น และโลหะตัวหนึ่งที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในสองกรณีหลังก็คือสังกะสี (Zn) 
  
เหล็กที่ผ่านการอาบสังกะสีด้วยกระบวนการ Hot-dip galvanization นี้เราเรียกว่าเหล็กกัลวาไนซ์ (galvanized steel) เหล็กกัลวาไนซ์นี้ต่างจากการชุบสังกะสีไฟฟ้าด้วยกระบวนการ electroplating (หรือ electrogalvanization) โดยเหล็กกัลวาไนซ์นี้มีความต้านทานการเกิดสนิมมากกว่า จึงเหมาะสำหรับการใช้งานกลางแจ้งได้ดีกว่าพวกชุบสังกะสีด้วยไฟฟ้า ตัวอย่างของเหล็กกัลวาไนซ์ที่นำมาใช้งานในชีวิตประจำวันที่เห็นกันทั่วไปก็มี สังกะสีมุงหลังคา ท่อน้ำประปาที่เป็นท่อเหล็ก ถังเก็บน้ำทรงสี่เหลี่ยมที่ทำจากเหล็ก รวมไปถึงโครงสร้างเช่นเสาไฟฟ้าแรงสูง (เสาไฟฟ้าแรงต่ำใช้เสาคอนกรีต) โคมไฟส่องสว่างตามถนนหนทาง เป็นต้น

ภาพข่าวจาก http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9570000107598
 
วิธีการหนึ่งที่ปัจจุบันเห็นมีใช้กันบ่อยครั้งขึ้นในการพยายามแทรกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เข้าไปแทนของเดิมคือการโจมตีของเดิมด้วยข้อมูลที่ทำให้ผู้รับข่าวสารนั้นเข้าใจผิดได้ ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีของโฟมกับชานอ้อยที่ผมเคยชี้ประเด็นว่าฝ่ายที่เขาต้องการอย่างยิ่งที่จะให้มีการใช้กล่องชานอ้อยแทนกล่องโฟม เลี่ยงที่จะกล่าวโจมตีบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมที่ใช้ในการใส่อาหารที่มีน้ำในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งใส ก๋วยจั๊บ กระเพาะปลา หรือก๋วยเตี๋ยว (สามอันหลังนี่ของร้อนนะ) จะมุ่งไปที่อาหารแห้งหรือพวกผัดทอดเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะอะไรเข้าใจว่าพวกคุณเองก็คงจะพอเข้าใจได้
 
อะไรที่คิดว่ามันไม่ดี ก็ควรต้องทำการตรวจสอบด้วยกระบวนการมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกัน ถ้าพบว่ามันไม่ดีก็ควรผลักดันให้ออกเป็นกฎหมายไปเลยครับ แบบเดียวกับการออกกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรใช้วิธีการอ้างโน่นอ้างนี่ที่หาที่มาของแหล่งข้อมูลหรือตรวจสอบการได้มาซึ่งข้อมูลนั้นไม่ได้
 
ไม่รู้ว่าต่อไปจะมีการรณรงค์ให้เลิกใช้สังกะสีมุงหลังคาบ้านหรือเปล่า ด้วยเกรงว่าจะมีโลหะหนักหลุดปลิวมาตามลมจากสังกะสีที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ถ้าหายใจเอาอากาศเหล่านั้นเข้าไป (แต่ถ้าเป็นสังกะสีมุงหลังคาทั้งแผ่นหลุดปลิวมาตามลมจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการที่มันหล่นใส่นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพายุฤดูร้อนมาทีไรก็มีข่าวทำนองนี้ทุกที) หรือห้ามการใช้ท่อกัลวาไนซ์ในระบบน้ำประปา (จะว่าไปตอนนี้ก็ใช้กันน้อยลงไปมากเหมือนกัน เปลี่ยนไปใช้ท่อพีวีซีกันเยอะ แต่ก็ไม่เห็นมีการตามไปโจมตีท่อพีวีซีว่าทำให้เกิดมะเร็ง) ห้ามการใช้แทงค์น้ำที่เป็นเหล็กในการกักเก็บน้ำ ห้ามใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าเพราะตัวหม้อชั้นในที่สัมผัสข้าวนั้นทำจากอะลูมิเนียม (มีใครเคยเห็นยี่ห้อไหนในบ้านเราที่ผลิตหม้อหุงข้าวไฟฟ้าโดยตัวหม้อข้าวทำจากสแตนเลสบ้างไหมครับ ถ้าพบเห็นรบกวนช่วยแจ้งด้วย)

อันที่จริง Memoir ฉบับนี้มันก็ไม่มีอะไร เพียงแต่เห็นข่าวมันแปลกดีก็เลยนำมาบันทึกเอาไว้ซะหน่อยแค่นั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: