วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เมื่อสายไฟเข้าบ้านขาด MO Memoir : Monday 16 July 2561

หตุเกิดตอนสองทุ่มเศษของคืนวานหลังฝนหยุดตกได้ไม่นาน ขณะนั่งเล่นอยู่หน้าบ้านก็เห็นมีประกายไฟเกิดขึ้นหลังต้นไม้ เห็นอยู่สองครั้งทิ้งระยะห่างกัน ยังไม่ทันจะออกไปดูว่าเกิดจากอะไร พอเกิดครั้งที่สามก็เห็นเลยว่าเกิดประกายไฟสว่างจ้าชั่วขณะ ก่อนที่ไฟในบ้านจะดับลง และเมื่อโผล่ออกไปดูก็รู้เลยว่าประกายไฟนั้นเกิดไฟฟ้าลัดวงจรที่สายไฟที่พาดจากเสาไฟฟ้า (ด้านขาออกจากมิเตอร์) มายังตัวบ้าน
ตอนออกมาตรวจดูหน้าบ้าน ก็เห็นปลายสายไฟที่ขาดเส้นหนึ่ง (เส้นสีน้ำเงินในรูปข้างล่าง) พาดอยู่บนสายไฟอีกเส้นหนึ่งที่อยู่ต่ำกว่า (เส้นสีแดง) ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรต่อ คุณหน้าข้างบ้านที่เป็นวิศวกรการไฟฟ้าเก่าก็ออกมาช่วยดู แกก็ไปตรวจที่มิเตอร์ไฟก่อน แล้วก็เปรยขึ้นมาว่า "ทำไมมิเตอร์ยังหมุนอยู่"

รูปที่ ๑ สายไฟเข้าบ้านจะมีสองเส้น เส้นบนสีน้ำเงินเป็นเส้น neutral ส่วนเส้นล่างสีแดงเป็นเส้น line

ไฟแสงสว่างในบ้านดับหมด อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้เพราะเดินเครื่องตลอดเวลาก็เห็นจะมีแต่ตู้เย็น การที่มิเตอร์ยังหมุนอยู่ได้นั้นแสดงว่ายังมีกระแสไฟฟ้าไหลเข้าบ้านอยู่ แต่ไม่มากพอที่จะทำให้หลอดไฟติด พอตรวจหาปลายสายไฟอีกเส้นหนึ่งก็พบว่ามันตกอยู่บนพื้นสนามหญ้าที่เปียก (โชคดีที่พื้นคอนกรีตข้างสนามนั้นไม่เปียกน้ำ) ก็เลยรีบเข้าไปตัดเบรกเกอร์หลักของบ้าน มิเตอร์ก็หยุดหมุน
 
การที่สายไฟขาดแล้วมิเตอร์ยังหมุนได้อยู่แสดงว่าสายที่ขาดนั้นเป็นสาย neutral ทำให้ไฟฟ้ายังสามารถคงไหลผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้า (คือตัวตู้เย็น) แล้วลงดินตรงตำแหน่งปลายสายไฟที่แตะอยู่ที่พื้นสนามได้ การตัดเบรกเกอร์ทำให้ไฟฟ้าจากสาย line ไม่สามารถไหลเข้าบ้านได้ เหตุการณ์นี้สอนให้รู้ว่าแม้ว่าสายไฟที่ขาดนั้นจะเป็นสายไฟภายนอกบ้าน แต่การตัดเบรกเกอร์ภายในบ้านก็ยังจำเป็นอยู่
 
เจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาถึงภายใน ๓๐ นาที เมื่อทำการตรวจสอบสายที่ขาดก็พบว่าเป็นสายที่ฉนวนเสื่อมสภาพแล้ว (ใช้งานมานานและอยู่กลางแจ้งที่โดนแดดแรงเป็นประจำ) ประกอบกับบางครั้งมีกิ่งไม้ตกใส่ มีกระรอกใช้เป็นที่วิ่งเล่นบ้าง และด้วยการที่สายมันหย่อนจนเกือบแตะกัน เมื่อมีอะไรไปทำให้สายกระเทือนจนเข้าใกล้กันหรือสัมผัสกัน ไฟฟ้าก็ลัดวงจรได้ เนื่องจากเป็นสายที่อยู่ด้านขาออกจากมิเตอร์ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจึงทำการตัดสายที่ขาดและเชื่อมต่อสายให้ใช้งานได้ชั่วคราว พร้อมทั้งทำการดามสายไม่ให้มีโอกาสสัมผัสกัน เพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้ชั่วคราวก่อน พร้อมกับแนะนำให้รีบหาช่างไฟมาดำเนินการเปลี่ยนสายใหม่โดยเร็ว
 
การดามสายให้แยกห่างจากกันก็ใช้ท่อพีวีซี (โชคดีที่ในโรงเก็บของมีเศษท่อพีวีซีอยู่) มาดามสายให้แยกห่างจากกัน (ตามรูปที่ ๒)


รูปที่ ๒ หลังจากตัดสายไฟที่เสียและเชื่อมต่อให้ใช้ได้ชั่วคราวแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ดามสายไฟด้วยท่อพีวีซี (ในกรอบสีเหลือง) อย่างนี้เพื่อไม่ให้มันมีโอกาสสัมผัสกัน

เรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมแปลกใจก็คือ ตอนที่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาปลดสายไฟที่มิเตอร์เพื่อทำการตัดสายเก่านั้น เขาปลดเพียงแค่เส้นเดียวคือเส้นที่อยู่ทางด้านนอกของมิเตอร์ โดยไม่เห็นมีการใช้ไขขวงเช็คไฟเช็คเลยว่าเส้นไหนเป็น line เส้นไหนเป็น neutral และตอนที่เขามาเห็นสายที่ขาดนั้นเขาก็บอกได้เลยว่าเป็นสาย neutral เพราะเห็นสายเส้นบน พอผมถามเขาว่าเขารู้ได้อย่างไรเขาก็อธิบายว่ามันเป็นมาตรฐานการติดตั้งสายไฟ เรื่องนี้ผมก็เพิ่งจะได้ยินเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: