วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2566

ถังปฏิกรณ์อันตรายที่ไม่อันตราย MO Memoir : Monday 30 January 2566

สามปีครึ่งที่แล้ว (๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒) ผมเขียนเรื่อง "ถังปฏิกรณ์ไม่อันตรายที่อันตราย" แล้วก็ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าถ้ามีโอกาสก็จะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติม แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ทิ้งไว้จนถึงวันนี้ที่คิดว่าน่าจะเขียนต่อแล้ว เพราะเมื่อวันพุธสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการประชุมเพื่อกำหนดว่าถังปฏิกรณ์แบบไหนที่ต้องจัดว่าเป็น "ถังปฏิกรณ์อันตราย" ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น ผมเห็นว่าควรจะนิยามความหมายของคำว่า "อันตราย" ให้ได้ก่อน จึงจะสามารถบอกได้ว่าควรมีกฎหมายเพิ่มเติมสำหรับ "ถังปฏิกรณ์" นอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วหรือไม่ เพราะตอนนี้มีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่างผู้อยู่ในวงการที่บอกว่ากฎหมายเดิมครอบคลุมอยู่แล้ว กับผู้ที่อยู่ในวงวิชาการที่พยายามเขียนฉบับใหม่เพิ่มอีก

ในฐานะที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว (เข้าใจว่าตอนนี้เป็นแค่รักษาการรอจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ) ก็เลยอยากจะบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเสียหน่อย เพื่อจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ยังต้องทำเรื่องนี้ต่อไป (ซึ่งคิดว่าคงจะมีการลากยาวกันออกไปอีก) โดยจะพยายามเรียบเรียงแต่ละประเด็นเป็นข้อ ๆ ไป โดยจะขอย้อนหลังกลับไปหน่อยว่าตอนนั้นได้ผ่านอะไรมาบ้าง จะได้ไม่วนกลับไปที่เดิมอีก

รูปที่ ๑ การจำแนกความอันตรายของถังปฏิกรณ์ตามร่างฉบับแรกที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตุ๊กตาขอความคิดเห็น

รูปที่ ๑ เป็นเกณฑ์การจำแนกในร่างแรกที่ร่างขึ้นมา (ร่างที่กำลังพิจารณาอยู่ในปัจจุบันไม่ได้มีนิยามตามนี้) เพื่อควรถูกใช้เป็น "ตุ๊กตา" ในการพิจารณาร่วมระหว่างฝ่ายวิชาการ (ผู้ร่าง) และฝ่ายอุตสาหกรรม (ผู้ที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง) แต่บรรยากาศตอนที่มีโอกาสรับทราบเรื่องราวนั้นดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้ถูกใช้เป็น "ตุ๊กตา" ความรู้สึกส่วนตัวมันเหมือนกับว่าต้องให้ยอมรับในสิ่งที่ผู้ร่างร่างขึ้นมา ก็เลยก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน จนกระทั่งผมมีโอกาสได้โผล่ไปเข้าร่วมการประชุมเมื่อกว่าสามปีครึ่งที่แล้ว ที่เป็นครั้งที่ทำให้เกณฑ์การจำแนกตามร่างแรกนั้นตกไป

ดังนั้นตอนนี้ก็เลยจะขอบันทึกความเห็นส่วนตัวเอาไว้หน่อยว่า เกณฑ์ตามร่างแรกนั้นมันมีปัญหาอย่างไร

ในร่างฉบับแรก (รูปที่ ๑) มีการจำแนกโดยใช้

- อันตรายจากการระเบิดโดยใช้ความดันที่เกิดจากการระเบิด

- ปฏิกิริยาดูดหรือคายความร้อน

- ความอันตรายของสารที่บรรจุอยู่ข้างใน

- ความสามารถในการติดไฟโดยดูจากตัวเลข SDS

แต่ก่อนที่จะไปกล่าวถึงปัญหาของแต่ละเกณฑ์นั้น เรามาลองพิจารณาความหมายของคำว่า "อันตราย" กันก่อน

ถ้ากล่าวถึงคำว่า "อันตราย" ในการทำงานมันมีหลายแบบ ในงานก่อสร้างมันก็มีทั้งตกจากที่สูง สิ่งของหล่นจากที่สูง ในงานไฟฟ้ามันก็มีเรื่องกระแสไฟฟ้ารั่ว กระแสไฟฟ้าสูงเกิน ในงานเครื่องจักรมันก็มีทั้งการได้รับบาดเจ็บจากการใช้งานเครื่องจักร แต่ถ้าเป็นงานด้านอุตสาหกรรมเคมี หลัก ๆ จะหมายถึงอันตราย ๒ รูปแบบดังนี้

() ตัวระบบท่อและภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ไม่สามารถรับความดันภายในระบบได้ ทำให้เกิดการฉีกขาดหรือเกิดการระเบิดได้ และ

() การรั่วไหลของสารเคมีที่อยู่ในระบบ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอื่นตามมา เช่นความเป็นพิษ และเพลิงไหม้

จะเห็นว่าอันตรายทั้งสองรูปแบบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวถังปฏิกรณ์ แต่ครอบคลุมทุกอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของโรงงาน

ในการป้องกันอันตรายที่เกิดจากความดันในระบบสูงเกินว่าที่ตัวท่อ อุปกรณ์การผลิต และ vessel ต่าง ๆ จะทนได้ ตรงนี้ปัจจุบันมันก็มีกฎเกณฑ์ควบคุมหลายกฎเกณฑ์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการออกแบบ การป้องกันความดันสูงเกิน ส่วนอันตรายในเรื่องของการรั่วไหลนั้นมันก็มีเรื่องของข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการทำงานกำกับไว้อยู่แล้ว

ดังนั้นถ้าคิดว่าถังปฏิกรณ์ควรมีกฎหมายควบคุมแยกมาต่างหาก ก็ต้องหาคำอธิบายให้ได้ก่อนว่ากฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมนั้นมันมีจุดไหนที่ขาดหายไป และควรออกกฎหมายเพิ่มเติมเฉพาะตรงประเด็นนั้น ไม่งั้นมันจะเป็นการเขียนกฎหมายซ้ำซ้อนกัน และถ้าเขียนไม่เหมือนกัน คนที่ต้องปฏิบัติตามก็จะทำไม่ถูก

ตัวอย่างเช่นถังปฏิกรณ์จะมองว่าเป็นภาชนะความดันก็ได้ (ผมเองก็มองว่ามันก็เป็นอย่างนั้น) สมมุติว่ามีกฎหมายควบคุมถังปฏิกรณ์แยกต่างหากออกมาจากภาชนะความดัน ก็คงต้องไปดูด้วยว่าในกฎหมายภาชนะความดันนั้นเขามีเขียนเอาไว้ว่าไม่ครอบคลุมภาชนะความดันที่มีการระบุไว้ในกฎหมายถังปฏิกรณ์หรือไม่ และถ้าไม่มีการเขียนเอาไว้ คนที่มีหน้าที่ควบคุมการใช้งานภาชนะความดันก็มีสิทธิที่จะเข้าตรวจสอบถังปฏิกรณ์ด้วย และถ้ากฎหมายสองฉบับมีข้อกำหนดในการออกแบบและการตรวจสอบที่แตกต่างกัน คนออกแบบและคนตรวจสอบก็คงทำงานลำบาก

เท่าที่พอทราบมาบ้างก็คือ การออกแบบถังปฏิกรณ์ตอนนี้ก็อิงจากการออกแบบภาชนะความดัน ซึ่งมันก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะผู้ออกแบบก็ต้องมีข้อมูลว่าในระหว่างการทำปฏิกิริยานั้น ความดันสูงสุดที่มีโอกาสเป็นไปได้มีค่าเท่าใด เพราะต้องใช้สำหรับออกแบบระบบระบายความดัน ที่ผ่านมาอุบัติเหตุหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าที่พอทราบก็คือไม่ได้เกิดจากการที่ถังปฏิกรณ์ไม่สามารถทนความดันของระบบได้ แต่เกิดจากขั้นตอนการปฏิบัติงาน ที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารในระบบ หรือในหลายกรณี ก็เป็นการรรั่วไหลจากหน่วยอื่นที่ไม่ใช่ตัวถังปฏิกรณ์เอง เช่นจากท่อฉีกขาดหรือถังเก็บ

รายงานอุบัติเหตุที่เกิดในโรงงานกลั่นน้ำมันหรือโรงงานเคมีที่เห็นมีเผยแพร่กัน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดที่ถังปฏิกรณ์รับความดันไม่ได้จนถังระเบิด แต่เกิดจากขั้นตอนการปฏิบัติงานเสียมากกว่า

ทีนี้มาดูนิยามของ "อันตราย" ในร่างฉบับแรก สิ่งแรกที่มีการนำมาใช้กำหนดคือ "ความดันที่เกิดจากการระเบิด" ซึ่งค่าตัวเลขนี้เอามาจากการออกแบบ "Blast wall" หรือผนังรับแรงระเบิด ปัญหาก็คือตัวเลขนี้มันไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับการรั่วไหลออกมาจากถังปฏิกรณ์ มันเป็นตัวเลขความดันที่เกิดจากการระเบิดภายนอกอุปกรณ์ คือมันไม่สนว่าการรั่วไหลนั้นจะเกิดจากอุปกรณ์ใดในโรงงาน (เช่นเปิดวาล์วทิ้งไว้ หรือน้ำมันล้นถังก็ได้) มันสนตรงที่ว่าต้องมีการรั่วไหลมากขนาดไหนก่อนที่จะเกิดการระเบิด ถ้ารั่วออกมาไม่มากแล้วเกิดการระเบิด ความดันของการระเบิดก็จะต่ำ แต่ถ้ารั่วออกมามากก่อนที่จะเกิดการจุดระเบิด ความดันของการระเบิดก็จะสูง นอกจากนี้ "อัตรา" การรั่วยังขึ้นอยู่กับความดันในระบบ (ณ ตำแหน่งรอยรั่ว) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของอุปกรณ์ (ที่เป็นตัวกำหนด "ปริมาณ" ที่จะรั่วไหลออกมาได้)

สิ่งที่สองที่นำมาใช้ก็คือเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อนหรือคายความร้อน ถ้าหากอยู่ในที่ที่ไม่มีการถ่ายเทความร้อน ปฏิกิริยาคายความร้อนมีแนวโน้มที่จะเร่งตนเองให้เร็วขึ้น เพราะความร้อนที่คายออกมาทำให้ปฏิกิริยาเกิดเร็วขึ้น ในขณะที่ปฏิกิริยาดูดความร้อนมีแนวโน้มที่จะหยุดตนเองเพราะยิ่งปฏิกิริยาเกิดมาก อุณหภูมิระบบก็จะลดลง

ในกรณีของปฏิกิริยาดูดความร้อน ถังปฏิกรณ์อาจทำงานโดยการให้ความร้อนแก่สารตั้งต้นก่อนที่จะไหลเข้าถังปฏิกรณ์ หรือในปฏิกิริยาดูดความร้อนที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงเช่น cracker ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ ก็จะให้ความร้อนจากเปลวไฟภายนอกท่อโดยตรง ซึ่งตรงนี้มันก็จะมีรูปแบบการทำงานเหมือนกับพวก furnace ต่าง ๆ ที่มีการให้ความร้อนด้วยเปลวไฟ (เช่นหม้อไอน้ำแบบ water tube) ที่มันก็มีข้อกำหนดในการออกแบบของมันอยู่แล้ว

ปฏิกิริยาคายความร้อนบางชนิดเช่น gas phase partial oxidation แม้ว่าจะมีโอกาสเกิดระเบิดในถังปฏิกรณ์สูงกว่าตัวอื่น แต่ด้วยการที่ความเข้มข้นสารตั้งต้นในถังปฏิกรณ์ไม่สูง (เช่นอาจอยู่ที่ระดับ 2-3% โดยที่เหลือเป็นอากาศ ก็สามารถระบายความดันถ้ามีการระเบิดในถังปฏิกรณ์ได้ด้วยการใช้ bursting disc หรือ rupture disc (แล้วแต่จะเรียกแบบอังกฤษหรืออเมริกา)

ดังนั้นอันตรายของถังปฏิกรณ์ที่ใช้สำหรับปฏิกิริยาคายความร้อน จะดูจาก "ปริมาณความร้อน" ที่ปฏิกิริยาคายออกมาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณา "อัตราการคายความร้อนออกมา" และความสามารถในการระบายความร้อนออกจากถังปฏิกรณ์ และ "ปริมาณสารตั้งต้น"

ตัวอย่างเช่นปฏิกิริยา acetylene hydrogenation ที่เปลี่ยนอะเซทิลีน (acetylene C2H2) ให้กลายเป็นเอทิลีน (ethylene C2H4) ด้วยการเติมไฮโดรเจนให้กับแก๊สเอทิลีนที่มีอะเซทิลีนปนเปื้อน ปฏิกิริยานี้เป็นปฏิกิริยาคายความร้อนในถังปฏิกรณ์แบบ adiabatic (คือไม่มีการถ่ายเทความร้อนเข้า-ออกระบบ) หลายถังเบดต่อกันโดยมีการระบายความร้อนออกระหว่างเบด ปฏิกิริยานี้อุณหภูมิการทำงานเริ่มต้นก็ไม่ได้สูงอะไร (อยู่ที่ไม่กี่สิบองศาเซลเซียสด้วยซ้ำ) เพียงแต่มีประเด็นที่ต้องระวังก็คือ ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปจะไปทำให้เกิดการสลายตัวของเอทิลีนที่เป็นองค์ประกอบหลักในระบบ และปฏิกิริยาการสลายตัวนี้ก็คายความร้อนด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทางประเทศญี่ปุ่นจะมีระเบียบข้อบังคับพิเศษสำหรับถังปฏิกรณ์ตัวนี้แยกออกมา

ถังปฏิกรณ์ที่ใช้สำหรับผลิตเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide C2H4O) จากปฏิกิริยาการออกซิไดซ์ในเฟสแก๊สระหว่างเอทิลีนกับออกซิเจนหรืออากาศโดยตรงก็เป็นถังปฏิกรณ์อีกตัวหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีระเบียบข้อบังคับพิเศษ สาเหตุตรงนี้น่าจะเป็นเพราะตัวเอทิลีนออกไซด์เองนั้นสามารถสลายตัวได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจนจากอากาศ และปฏิกิริยาการสลายตัวนี้ยังคายความร้อนด้วย (สารอีกตัวหนึ่งที่มีคุณสมบัติเช่นนี้คืออะเซทิลีน)

อะเซทิลีนและเอทิลีนที่สลายตัวได้ด้วยตนเองเป็นเพราะมันมีค่า enthalpy of formation (∆Hf) ที่มีค่าเป็นบวกและมีค่าสูง ดังนั้นการสลายตัวเป็นธาตุ (C และ H) ก็จะคายความร้อนออกมา (ผลิตภัณฑ์มีเสถียรภาพมากกว่า) ส่วนเอทิลีนออกไซด์นั้นมีค่า ∆Hf เป็นลบ แต่โครงสร้าง epoxide หรือ oxirane ring ของโมเลกุลมีความเครียดสูงจึงแตกพันธะได้ง่าย

สิ่งที่สามที่นำมาใช้กำหนดคือความอันตรายของวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใน ซึ่งคำว่า "อันตราย" ในหัวข้อนี้น่าจะหมายถึง "ความเป็นพิษ" มากกว่า และจะว่าไปแล้วถ้าหากบอกว่าถังปฏิกรณ์นี้อันตรายเพราะมันมีสารที่อันตรายอยู่ภายใน ถ้าเช่นนั้นถังเก็บสารตั้งต้นหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นพิษสูงเหล่านั้น ก็จะต้องมีอันตรายมากกว่าถังปฏิกรณ์มาก เพราะปริมาณที่เก็บรักษานั้นสูงกว่ามาก ถ้าเช่นนั้นต้องมีการออกกฎหมายถังเก็บสารเคมีอันตรายแยกออกมาเพิ่มอีกหรือไม่

สิ่งที่สี่ที่นำมาใช้คือตัวเลขบอกระดับอันตรายของความไวไฟตาม NFPA (ที่ย่อมาจาก National Fire Protection Association) โดยตัวเลขนี้มันอิงกับ "จุดวาบไฟ (Flash point)" ของสาร (รูปที่ ๒ ตรงที่เป็นสีแดง) ตัวเลขนี้มันเหมาะสำหรับการรั่วไหลออกมาสู่บรรยากาศที่อุณหภูมิห้อง เช่นการรั่วไหลออกจากถังเก็บ แต่อันตรายจากเพลิงไหม้เมื่อมีการรั่วไหลของสารนั้นมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับจุดวาบไฟเพียงอย่างเดียว มันยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสารที่รั่วไหลออกมาและ "อุณหภูมิติดไฟได้เอง (Autoignition temperature)" ของสารนั้นด้วย

ตัวอย่างเช่นน้ำมันเบนซิน (gasoline) มีจุดวาบไฟที่ประมาณ -40ºC โดยมี autoignition temperature ที่ประมาณ 480ºC หรือสูงกว่า ในขณะที่น้ำมันดีเซลมีจุดวาบไฟ 52ºC โดยมี autoignition temperature ที่ประมาณ 210ºC ถ้าพิจารณาจุดวาบไฟ ที่อุณหภูมิห้องน้ำมันเบนซินจะมีความไวไฟสูงกว่า มีอันตรายมากกว่าน้ำมันดีเซล แต่ถ้าเป็นการรั่วออกมาจากภายในระบบที่มีอุณหภูมิ 230ºC (กล่าวคือเป็นของเหลวภายใต้ความดัน) ออกสู่บรรยากาศ น้ำมันเบนซินที่รั่วออกมาจะกลายเป็นไอผสมกับอากาศที่ต้องหาแหล่งจุดระเบิด ในขณะที่น้ำมันดีเซลที่รั่วออกมาจะลุกไฟทันที

และโดยปรกติถังปฏิกรณ์ก็ไม่ได้ทำงานที่ความดันบรรยากาศและอุณหภูมิห้องด้วย

วันนึ้คงขอฝากเอาไว้แค่นี้ครับ :) :) :)

รูปที่ ๒ NFPA fire diamond ที่ใช้บอกระดับอันตรายของสารต่าง ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2566

สถานีรถไฟห้วยทรายเหนือ MO Memoir : Thursday 19 January 2566

หลังจากเขียนเรื่องวิชาการติดต่อกันมาหลายฉบับ ก็ได้เวลาเปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้าง

รูปสถานีรถไฟตอนที่ไปสัมมนาภาควิชาที่หัวหินเมื่อกลางเดือนมิถุนายนปีที่แล้วยังมีอีกหลายสถานี เอาไว้เมื่อมีเวลาว่างและไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรค่อยเอามาลงก็แล้วกัน เพราะมันเขียนง่ายดี ไม่เหมือนเขียนพวกเนื้อหาวิชาการ ที่ต้องวางโครงเรื่องว่าจะเล่าอย่างไร ตรวจสอบความถูกต้องและข้อขัดแย้งต่าง ๆ ก่อนที่จะเขียนออกมา ซึ่งก็ใช้เวลาพอสมควร (ปรกติก็เป็นสัปดาห์)

ปลายเดือนที่แล้วมีโอกาสได้ไปฟังการบรรยายเชิญชวนให้บรรดาอาจารย์เขียนบทความลงแพลตฟอร์มหนึ่ง (โดยเพื่อร่วมรุ่นวิศวของผมเองเป็นผู้บรรยาย) ที่เข้าไปนั่งฟังก็เพื่ออยากรู้ว่าแฟลตฟอร์มที่เขาแนะนำนั้นมันเป็นอย่างไร ซึ่งผลสรุปที่ตัวเองได้ก็คืออยู่ที่เดิมนั่นแหละดีแล้ว เพราะมันตอบสนองความต้องการต่าง ๆ และเหมาะสำหรับการสืบค้นย้อนหลังเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้เขียนไปมากกว่า

ในระหว่างการบรรยายก็มีการถามว่าผู้เข้าฟังอยากเขียนบนทความด้วยเหตุผลอะไร ก็มีจำนวนไม่น้อยที่บอกว่าอยากให้เป็นที่รู้จักในโลกโซเชียล ส่วนคำตอบของผมเอง (ซึ่งมีอยู่คำตอบเดียว) คือเพราะขี้เกียจสอนเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ สู้เสียเวลาเขียนเพียงแค่ครั้งเดียว พอนิสิตรุ่นใหม่มาก็บอกให้ไปอ่านที่เขียนอธิบายไว้ให้แล้ว ผมเองจะได้ไม่เหนื่อย

จะว่าไป เมื่อคิดจะเขียนบทความอะไรสักอย่างให้คนอ่านในโลกออนไลน์ได้เนี่ย คนเขียนต่างคนต่างก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน

บ้างก็อยากให้พอโพสปุ๊บก็คนเข้ามากดไลค์กดแชร์กันเยอะ ๆ (แต่ต่อจากนั้นจะเป็นยังไงก็ไม่สน)

บ้างก็อยากให้เป็นการเผยแพร่ความรู้ (คงจะคาดหวังให้มีคนเข้ามาอ่านมาก ๆ ในเวลาอันสั้นคงไม่ได้ แต่จะมีคนเข้ามาอ่านเรื่อย ๆ)

บ้างก็อยากให้เป็นการบันทึกความทรงจำของตัวเอง (ใครจะมาอ่านหรือไม่ก็ไม่สนใจ)

บ้างก็เป็นการเขียนเพื่อเป็นที่ระลึกให้กับใครบางคน

บ้างก็เป็นการเขียนทิ้งเอาไว้เผื่อว่าจะมีใครสักคนมาเจอ

หรือด้วยเหตุผลอื่นต่าง ๆ นานา (ตอนนี้ผมเองก็คิดไม่ออกแล้ว)

แต่จากการเขียนบันทึกมาจะถึงปีที่ ๑๕ โดยนำลง blog มา ๑๓ ปีพบว่า หลายบทความนั้นต้องใช้เวลา กว่าที่จะมีใครสักคนมาพบเจอ และเห็นคุณค่าของมัน

และเช่นเดิม ฉบับนี้ก็เป็นการบันทึกภาพสถานที่ธรรมดา ๆ แห่งหนึ่ง ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร

 

รูปที่ ๑ ป้ายบอกสถานีที่อยู่ถัดไป 

รูปที่ ๒ อาคารสถานีเก่ายังไม่ถูกรื้อ ภาพนี้มองไปยังทิศเหนือหรือมุ่งหน้าไปชะอำ 

รูปที่ ๓ มองย้อนไปยังเส้นทางล่องใต้ มุ่งหน้าไปห้วยทรายใต้ 

รูปที่ ๔ ตัวอาคารสถานีและเสารับส่งห่วงทางสะดวก 


รูปที่ ๕ ตารางเวลารถไฟเข้าจอดที่สถานี 

รูปที่ ๖ ตารางเวลารถไฟหยุดที่สถานี อันนี้เป็นแบบเก่า

รูปที่ ๗ สุดชานชาลาด้านทิศใต้ 

รูปที่ ๘ อาคารเก่าสำหรับพนักงานรถไฟ กำลังจะถูกรื้อถอน

รูปที่ ๙ อาคารสถานี มองย้อนขึ้นไปยังทิศเหนือ 

รูปที่ ๑๐ ตัวอาคารสถานี โชคดีไปถึงก่อนที่จะหายไป 

รูปที่ ๑๑ ตัวอาคารสถานีใหม่ สร้างขึ้นเหนือขึ้นไปจากตำแหน่งตัวอาคารเดิม 

รูปที่ ๑๒ ออกมายืนถ่ายรูปตรงชานชาลาชั่วคราว 

รูปที่ ๑๓ เสาไฟส่องสว่างที่ใช้เหล็กรางเก่ามาทำ 

รูปที่ ๑๔ รางที่เอามาใช้พอจะแกะได้ว่าผลิตในปีค.ศ. ๑๙๑๔ (พ.ศ. ๒๔๕๗) หรือว่าร้อยปีแล้ว ก็ประมาณช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ 

รูปที่ ๑๕ อาคารสถานีเก่าอีกหลังที่กำลังจะถูกรื้อถอน 


รูปที่ ๑๖ ถ่ายจากด้านหลังของตัวอาคารสถานี

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2566

เมื่อผสมกรดไนตริก (HNO3) กับไอโซโพรพานอล (Isopropanol) MO Memoir : Saturday 14 January 2566

ในทางโลหะวิทยา การทำ "Surface etching" มีวัตถุประสงค์ด้วยกันหลากหลาย เช่นเวลาที่ต้องการส่องดู grains หรือ microstructure ของเนื้อเหล็กก็ต้องทำการกำจัดชั้นฟิล์มออกไซด์ที่ผิวบนออกไปก่อนด้วยการใช้สารเคมีที่เหมาะสมละลายชั้นฟิล์มออกไซด์ที่ผิวบนออกไป ชนิดของสารเคมีที่ใช้ขึ้นอยู่กับชนิดโลหะ สารเคมีตัวหนึ่งที่ใช้กันในการ etching ผิวเหล็กคือ "Nital" ที่เป็นสารผสมระหว่างกรดไนตริกเข้มข้น (Nitric acid HNO3) กับเอทานอล (Ethanol C2H5OH) หรือเมทานอล (Methanol CH3OH) โดยเอทานอลจะเป็นตัวที่นิยมใช้มากกว่าเพราะมีความเป็นพิษต่ำกว่า

แต่ห้ามผสมไอโซโพรพานอล (Isopropanol H3C-CH(OH)-CH3) กับกรดไนตริกเข้มข้น

หมู่ -OH สามารถทำปฏิกิริยา esterification กับกรดไนตริกกลายเป็นหมู่ -ONO2 (เรียกปฏิกิริยานี้ว่า Nitration) โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีความไวไฟสูงขึ้นและอาจระเบิดได้ง่ายขึ้น

การเตรียม Nital นั้นต้องเตรียมด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเตรียมสารละลายที่มีความเข้มข้นของกรดไนตริกเข้มข้นสูงเกินกว่า 5 %wt วิธีการเตรียม Nital ข้างล่างคัดมาจากคู่มือปฏิบัติการของภาควิชาแห่งหนึ่ง โดยคัดมาเพียงบางส่วน เพื่อให้เห็นภาพเท่านั้น

1. เตรียมภาชนะใส่น้ำ โดยปริมาตรน้ำควรมากกว่าปริมาตรสารละลายที่เติมอย่างน้อย 2 เท่า และภาชนะดังกล่าวต้องมีที่ว่างเหลือพอสำหรับเติมสารละลายลง (จะใช้เมื่อจำเป็น)

2. ตวงเอทานอล (ความบริสุทธ์สูง) ปริมาตรที่ต้องการลงในบีกเกอร์ที่แห้งและสะอาด

3. ตวงกรดไนตริกเข้มข้น (67-70 %wt) ในปริมาตรที่ต้องการในกระบอกตวง (ที่เมื่อผสมกับเอทานอลแล้วความเข้มข้นกรดไม่ควรจะสูงเกินกว่า 5 %wt) ห้ามเทเอทานอลลงในกรด

4. ค่อย ๆ เทกรดไนตริกจากกระบอกตวง "อย่างช้ามาก" ลงในเอทานอล พร้อมทั้งทำการกวนอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ถ้าเห็นสารละลายมีสีน้ำตาลหรือเกิดไอแก๊สสีน้ำตาล ให้ทำการหยุดการเติมกรดทันที ถ้าคิดว่าปลอดภัยพอก็ให้เทสารละลายที่เตรียมลงในภาชนะใส่น้ำที่เตรียมไว้ เพื่อลดความร้อนและอัตราการเกิดปฏิกิริยา แต่ถ้าพบว่าเกิดแก๊สอย่างรุนแรง ให้ถอยห่างออกมา

(หมายเหตุ : ความหนาแน่นของกรดไนตริกเข้มข้นอยู่ที่ประมาณ 1.4 g/ml ส่วนของเอทานอลอยู่ที่ประมาณ 0.79 g/ml ดังนั้นกรดไนตริก 5 %vol ในเอทานอล จะมีความเข้มข้นกรดไนตริกประมาณ 9 %wt)

รูปที่ ๑ เอกสารที่นำมาเป็นต้นเรื่องของบทความในวันนี้

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากเอกสารทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดในปีค.ศ. ๑๙๙๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐) หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปแล้ว ๑๕ ปี (แต่บทความออกในปีค.ศ. ๒๐๑๔ หรือพ.ศ. ๒๕๕๗ นะ) เพื่อดูว่ามีการเผยแพร่สาเหตุของการระเบิดออกไปแพร่หลายมาเท่าใด เพื่อที่จะได้ไม่มีคนทำผิดพลาดซ้ำเดิมอีก (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๒ แผนผังห้องที่เกิดเหตุ P3 คือถังเก็บสารทำความสะอาดที่เป็นสารผสมระหว่างกรดฟอสฟอริก (Phosphoric acid H3PO4) กับไอโซโพรพานอลที่เกิดการระเบิด ดังอักษรต่าง ๆ เป็นตำแหน่งความเสียหายที่เกิด มีทั้งเศษชิ้นส่วนปลิวออกไปในแนวตรง (เส้นประสีแดง) และที่ปลิวไปกระทบผนังและสะท้อนกลับ (เส้นประสีฟ้า) ตามแผนผัง ห้องกว้างประมาณ 15 เมตรและยาวประมาณ 20 เมตร

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่โรงงานผลิตเบียร์แห่งหนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายนปึค.ศ. ๑๙๙๗ โดยในโรงงานนี้มีการใช้สารเคมีทำความสะอาดหลักอยู่ 2 ตัว ตัวแรกคือกรดไนตริกที่ใช้สำหรับทำความสะอาดคราบของแข็งเช่นพวกตะกรันที่เกาะอยู่ตามภาชนะและในระบบท่อ (คือใช้สะลายคราบตะกรันที่เกาะอยู่บนผนัง) สาเหตุที่ใช้กรดไนตริกก็เพราะมันไม่กัดกร่อนเหล็กกล้าไร้สนิม (ที่เราเรียกว่าสแตนเลสสตีล) และราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับกรดฟอสฟอริก (เหล็กกล้าไร้สนิมเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการขึ้นรูปอุปกรณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เพราะมันไม่เกิดสนิมปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์)

สารเคมีตัวที่สองมีชื่อเรียกว่า P3 สารนี้มีองค์ประกอบหลักเป็นกรดฟอสฟอริกโดยมีไอโซโพรพานอลเป็นส่วนผสมอยู่ประมาณ 5-15 % (รูปที่ ๓) ถังเก็บกรดไนตริกและถังเก็บ P3 นั้นตั้งอยู่เคียงข้างกัน (รูปที่ ๒) ถังทั้งสองมีลักษณะที่เหมือนกันโดยทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมหนาประมาณ 5 mm และมีความจุประมาณ 1.7 m3 ในแง่ของผู้ปฏิบัติงานจะมองสารเคมีทั้งสองเป็นเพียงแค่ "กรด" ในห้องดังกล่าวนอกจากจะมีถัง "กรด" สองถังนี้แล้วยังมีถังอื่น ๆ อีก โดยแต่ละถังจะมีท่อต่อออกมายัง "nozzle wall panel" ที่อยู่ทางด้านนอกของอาคาร จุดนี้เป็นจุดสำหรับต่อสายยางและปั๊มเพื่อถ่ายของเหลวจากภาชนะเก็บ (สารเคมีมีการสำรองเก็บไว้ในอีกที่แห่งหนึ่ง) เข้าไปเติมถังเก็บในอาคาร

รูปที่ ๓ องค์ประกอบของสารเคมีทำความสะอาด P3 ที่มีกรดฟอสฟอริกเป็นตัวหลัก

เมื่อสารเคมีในถังเก็บในอาคารเก็บมีระดับลดต่ำลง โอเปอร์เรเตอร์ก็จะนำถังสารเคมีที่จะเติมมายัง nozzle wall panel นี้ ใช้จุ่มท่อด้านขาเข้าปั๊มส่งลงในถังสารเคมีที่จะเติม และต่อสายยางด้านขาออกของปั๊มเข้ากับหัวต่อ (ที่เรียกว่า nozzle ที่มีรูปแบบหลายรูปแบบ เช่นอาจเป็นข้อต่อแบบสวมเร็ว (quick couple) หรือเป็นหน้าแปลน ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดสารเคมีและกระบวนการผลิต) จากนั้นก็จะทำการเดินเครื่องปั๊มเพื่อถ่ายสารเคมีจากถังเติมไปยังถังเก็บในอาคาร

ในกรณีของกรดไนตริกและสารทำความสะอาด P3 นั้น ใช้ปั๊มลำเลียงตัวเดียวกันและใช้รูปแบบข้อต่อด้านขาออกที่เหมือนกัน

ในวันที่เกิดเหตุนั้น ระดับกรดไนตริกในถังเก็บใกล้จะหมดถัง ในขณะที่ระดับของสารละลายในถัง P3 ใกล้จะเต็ม โอเปอร์เรเตอร์จึงนำเอาภาชนะเก็บกรดไนตริกจากโกดังเก็บมายัง nozzle wall panel ในขณะนั้นตัวปั๊มสูบกรดถูกติดตั้งอยู่ที่หัวต่อที่ nozzle wall panel อยู่ก่อนแล้ว โอเปอร์เรเตอร์จึงทำเพียงแค่จุ่มท่อดูดด้านขาเข้าปั๊มลงไปในภาชนะเก็บกรดไนตริก แล้วเริ่มเดินเครื่องปั๊ม

เนื่องจากหัวต่อสำหรับกรดไนตริกและสารทำความสะอาด P3 เป็นแบบเดียวกัน โอเปอร์เรเตอร์จึงไม่ได้สังเกตว่าตัวปั๊มนั้นต่ออยู่กับท่อต่อไปยังถังเก็บสารทำความสะอาด P3 ไม่ใช่ท่อสำหรับส่งสารไปยังถังเก็บกรดไนตริก

การระเบิดเกิดขึ้นหลังเริ่มเดินเครื่องปั๊มไปได้ประมาณ ๑๐-๑๕ นาที ประมาณว่ามีการปั๊มกรดไนตริกประมาณ 100-250 ลิตรส่งไปยังถังบรรจุสารทำความสะอาด P3 โดยก่อนที่จะเกิดการระเบิดเล็กน้อย โอเปอร์เรเตอร์รายหนึ่งเดินผ่านบริเวณดังกล่าวในระยะใกล้ แต่ไม่สังเกตุเห็นสิ่งผิดปรกติใดเกิดขึ้น (ข้อมูลตรงนี้มีความสำคัญในการพิจารณาว่าการระเบิดนั้นเกิดจากสาเหตุใด) หลังการระเบิดได้เกิดกลุ่มหมอกควันสีเหลืองแดงพวยพุ่งออกมาจากอาคารที่เกิดระเบิด

ในบทความกล่าวว่าเป็นแก๊สนั้นคือ nitrous oxideหรือ N2O แต่แก๊สตัวนี้เป็นแก๊สไม่มีสี ตัวที่น่าจะใช่มากกว่าน่าจะเป็นแก๊ส nitrogen dioxide หรือ NO2 เพราะแก๊สตัวนี้มีสีเหลืองแดงหรือน้ำตาลแดง ซึ่งขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ โดยที่อุณหภูมิต่ำจะรวมตัวเป็นแก๊สไดไนโตรเจนเททรอกไซด์ (dinitrogen tetroxide (N2O4) ที่ไม่มีสี แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะเป็น NO2ที่มีสีเหลืองแดงหรือน้ำตาลแดง (รูปที่ ๔) และแก๊สนี้เป็นแก๊สที่เมื่อละลายน้ำแล้วจะได้กรดไนตริก (NO2 + H2O ---> HNO3)

รูปที่ ๔ ที่อุณหภูมิต่ำ แก๊ส nitrogen dioxide (NO2) สองโมเลกุลจะรวมตัวกันเป็น dinitrogen tetroxide (N2O4) ที่เป็นแก๊สที่ไม่มีสี (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Nitrogen_dioxide)

ปฏิกิริยาระหว่างหมู่ -OH ของแอลกอฮอล์กับกรดไนตริกเป็นปฏิกิริยาที่คายความร้อนมาก ความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมานั้นถ้าระบายไม่ทันก็จะทำให้กรดไนตริกร้อนจนสลายตัวได้ การสลายตัวของกรดไนตริกจะเกิดแก๊ส NO2 ที่มีสีเหลืองแดงหรือน้ำตาลแดง ถ้าหากเกิดแก๊สนี้ปริมาณมากในภาชนะและระบายออกไม่ทัน ก็จะทำให้ภาชนะระเบิดได้ แต่ในเหตุการณ์นี้ก่อนการระเบิดเพียงเล็กน้อย โอเปอร์เรเตอร์ที่เดินผ่านบริเวณดังกล่าวไม่สังเหตุเห็นเหตุการณ์ผิดปรกติใด ๆ จึงสรุปว่าการระเบิดไม่ได้เกิดจากการสะสมของแก๊ส NO2 ในถังเก็บสาระลายทำความสะอาด P3

ถังเก็บของเหลวที่มีจุดเดือดสูงจะมีช่องระบายอากาศที่ฝาด้านบนของถัง ช่องระบายอากาศนี้มีไว้เพื่อให้อากาศภายนอกไหลเข้าไปภายในถังเมื่อมีการสูบของเหลวออกจากถัง เพื่อปัองกันไม่ให้ความดันในถังต่ำจนโดยความกดอากาศข้างนอกบีบอัดจนถังบุบ และให้อากาศในถังไหลออกเมื่อมีการปั๊มของเหลวเข้าไปในถัง เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันในถังสูงเกินไปจนทำให้ถังระเบิดออกได้ แต่โดยทั่วไปการออกแบบถังแบบนี้จะออกแบบให้รอยเชื่อมต่อระหว่างฝาถังกับส่วนลำตัวเป็นจุดอ่อน ที่เมื่อถ้าความดันในถังสูงเกิด ฝาถังจะปลิวออกก่อนที่ส่วนลำตัวจะเกิดความเสียหาย แต่ในเหตุการณ์นี้ส่วนลำตัวเกิดความเสียหายแตกออกเป็นชิ้นส่วนหลายชิ้นกระจายออกไปไกล จากขนาดของชิ้นส่วนน้ำหนักมากที่ปลิวไปได้ไกล และแรงปะทะที่ขิ้นส่วนต่าง ๆ กระทบเข้ากับผนังอาคารหรืออุปกรณ์อื่นที่อยู่ห่างออกไป บ่งบอกว่าความดันในถังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ฝาถังจะเปิดออกทัน

รูปที่ ๕ ความเสียหายบริเวณตำแหน่งเครื่องกรอง (อักษร g ในรูปที่ ๒)

อีกสาเหตุที่มีความเป็นไปได้คือการเกิดสารประกอบไอโซโพรพิลไนเทรต (isopropyl nitrate H3C-CH(ONO2)-CH3) สารประกอบตัวนี้เตรียมได้จากปฏิกิริยาระหว่างกรดไนตริกกับไอโซโพรพานอล ในบางเอกสารกล่าววาจำเป็นต้องมีการใช้กรดกำมะถันเข้มข้น (H2SO4) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา แต่บางเอกสารก็ไม่กล่าวถึงการใช้กรดกำมะถันในการเตรียม (เช่นการเตรียม Nital ตอนต้นเรื่อง ก็ไม่ได้กล่าวถึงการใช้กรดกำมะถันเข้มข้นในการเตรียม) ในเหตุการณ์นี้คาดว่ากรดไนตริกที่เติมเข้าไป ทำปฏิกิริยากับไอโซโพรพานอลที่เป็นส่วนประกอบของสารทำความสะอาด P2 และความร้อนที่คายออกมาจากปฏิกิริยานั้นเมื่อสูงมากพอก็ทำให้ไอโซโพรพิลไนเทรตระเบิด

การลดโอกาสที่จะต่อท่อผิดทำได้หลายวิธี เช่นการทำป้าย, ทำเครื่องหมาย และใช้สี ที่มองเห็นได้ชัดเจน การทำให้ไม่สามารถสลับสายยางต่อเข้าด้วยกันได้ เช่นการใช้ข้อต่อที่แตกต่างกัน หรือการใช้ข้อต่อที่มีขนาดที่แตกต่างกัน ซึ่งการใช้ข้อต่อที่แตกต่างกันนี้ในบางงานมันก็ทำงานได้ดี เช่นการถอดชิ้นส่วนออกมาซ่อมบำรุงและประกอบกลับคืนหลังทำงานเสร็จ 

รูปที่ ๖ ความเสียหายบริเวณตำแหน่ง b ในรูปที่ ๒ จะเห็นว่าชิ้นส่วนของถังนั้นฝังเข้าไปในผนังคอนกรีต

ตัวอย่างสำคัญตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเสียหายจากการประกอบท่อกลับคืนผิดน่าจะเป็นกรณี โรงงาน HDPE ระเบิดที่ เมือง Pasadena มลรัฐ Texas ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๒ (บทความบน blog เรื่อง "โรงงาน HDPE ระเบิดที่ Pasadena เมื่อ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๒" วันอังคารที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๖) ที่เกิดจากการต่อท่ออากาศอัดความดันที่ใช้ควบคุมการเปิด-ปิดวาล์วผิด (เพราะใช้ข้อต่อแบบเดียวกันและท่อมีขนาดเท่ากัน) ทำให้เมื่อทำการสั่งปิดวาล์ว วาล์วจะเปิด และในทางกลับกันเมื่อทำการสั่งเปิดวาล์ว วาล์วจะปิด เหตุเกิดเมื่อโอเปอร์เรเตอร์ต้องทำงานซ่อมบำรุงที่ต้องมีการถอดท่อออก โดยก่อนถอดท่อออกก็ได้มีการสั่ง "ปิด" วาล์ว (ด้วยการใช้อากาศอัดความดันผลักดันกลไกควบคุมการเปิด-ปิด) แต่ในความเป็นจริงคือวาล์วจะไปอยู่ในตำแหน่ง "เปิด" ผลของความผิดพลาดครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียขีวิต ๒๓ รายและบาดเจ็บกว่าร้อยราย บทเรียนหนึ่งที่ได้จากเหตุการณ์นี้คือถ้าหากออกแบบให้ท่ออากาศที่ควบคุมการเปิดและปิดวาล์วนั้นแตกต่างกัน (เช่นใช้ท่อขนาดต่างกันหรือใช้ข้อต่อที่ไม่เหมือนกัน) ก็จะสามารถปัองกันการต่อท่อผิดได้

ในกรณีของโรงงานนี้ใช้ปั๊มเพียงตัวเดียวในการสูบน้ำกรดจากถังเติมเพื่อไปเติมให้กับถังเก็บในอาคาร การสูบน้ำกรดจากถังเติมใช้การจุ่มท่อด้านขาเข้าของปั๊มลงไปในถังเติม ดังนั้นจะมีประเด็นเรื่องต่อท่อถูกต้อง แต่หยิบถังน้ำกรดสำหรับเติมมาผิดถัง เกิดขึ้นได้

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2566

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๔ ไม่ตรงตามตัวอักษร (Heat exchanger) MO Memoir : Sunday 8 January 2566

ในการออกแบบ vessel ทางวิศวกรรมนั้น ความทนทานต่อการกัดกร่อนของวัสดุที่สัมผัสกับสารเคมีและอุณหภูมิ จะเป็นตัวกำหนดชนิดวัสดุที่จะใช้ทำ vessel ส่วนความดันจะเป็นตัวกำหนดความหนา ในกรณีของสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ถ้าอุณหภูมิไม่สูงมากก็อาจใช้ vessel ที่ทำจากเหล็ก (โลหะพื้นฐานวิศวกรรมที่หาได้ง่ายที่สุด) และเคลือบผิวหรือทำ lining ด้านที่สัมผัสกับสารเคมีด้วยแก้วหรือพอลิเมอร์ที่เหมาะสม แต่ทั้งแก้วและพอลิเมอร์นั้นไม่ใช่ตัวทำความร้อนที่ดี ดังนั้นในกรณีที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนความร้อนเกิดขึ้น ก็ต้องพิจารณาเลือกใช้โลหะที่สามารถทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีนั้นได้ วัสดุที่ไม่ใช่โลหะแต่ก็นำความร้อนได้ดีก็มีอยู่เหมือนกัน เช่นแกรไฟต์ (graphite) และซิลิกอนคาร์ไบด์ (silicon carbide) แต่การเลือกใช้วัสดุพวกหลังนี้ก็ต้องระวังเรื่องความแข็งแรงทางกลของมันซึ่งสู้โลหะไม่ได้

การชุบผิวโลหะด้วยไฟฟ้าก็เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างชั้นฟิล์มต้านทานการกัดกร่อนบนผิวโลหะ เช่นการชุบผิวเหล็กด้วยสังกะสี (galvanization) ที่ใช้กับท่อน้ำประปา หลังคาสังกะสี, การชุบโครเมียม การชุบนิเกิล เพื่อความสวยงามและป้องกันการกัดกร่อน (ปรกติก็จากน้ำและอากาศที่ทำให้เหล็กเกิดสนิม) แต่วิธีการนี้ก็มีปัญหาเรื่องการขยายตัวของเหล็กและชั้นฟิล์มโลหะเคลือบผิวที่ไม่เท่ากัน ที่ทำให้ชั้นผิวเคลือบหลุดร่อนได้เมื่อชิ้นงานได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ชั้นฟิล์มโลหะเคลือบผิวหลุดออก โลหะเหล็กที่อยู่ข้างใต้ก็จะถูกกัดกร่อนรุนแรงทันที

รูปที่ ๑ เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อ 2B350.d ถือเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง คำว่า "condensers" ในที่นี้หมายถึงเครื่องควบแน่นที่เป็นจากไอให้กลายเป็นของเหลว ไม่ใช่ "ตัวเก็บประจุ" ที่ชื่อเรียกภาษาอังกฤษทางไฟฟ้าคือ "capacitor" หรือ "condenser" (เรียกเหมือนกัน แต่คนละความหมาย)

เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน (heat exchanger) เป็นอุปกรณ์สำหรับการถ่ายเทความร้อนระหว่างของไหลสองชนิดที่อาจเป็น ของเหลว-ของเหลว, ของเหลว-แก๊ส หรือ แก๊ส-แก๊ส ก็ได้ โดยในระหว่างการแลกเปลี่ยนความร้อนนั้นอาจมีการเปลี่ยนเฟสร่วมด้วยก็ได้ เครื่องควบแน่น (condenser) และหม้อต้มซ้ำ (reboiler) ที่ใช้กับการกลั่นเป็นตัวอย่างของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่มีการเปลี่ยนเฟสโดยอิงการเรียกจาก process fluid เป็นหลัก (โดย fluid อีกตัวหนึ่งจะเป็น utility เช่นน้ำหล่อเย็นหรือไอน้ำ) ถ้าเป็นการทำให้ process fluid เปลี่ยนจากไอเป็นของเหลวก็จะเรียกเครื่องควบแน่น (ถ่ายเทความร้อนให้กับน้ำหล่อเย็น) ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นการทำให้ process fluid เปลี่ยนจากของเหลวเป็นไอก็จะเรียกหม้อต้มซ้ำ (เช่นใช้ไอน้ำร้อนทำให้ process fluid เดือดเป็นไอ)

สารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูงหลายตัวถูกใช้ในการผลิตอาวุธเคมีและการแยกไอโซโทปยูเรเนียม เช่นแก๊สไฮโดรเจนฟลูออไรด์ (hydrogen fluoride - HF) ที่เมื่อละลายน้ำก็จะเป็นกรดไฮโดรฟลูออริก (hydrofluoric acid) สารตัวนี้เป็นสารตั้งต้นใช้ในการผลิตแก๊สฟลูออรีน (fluorine - F2) ในภาคอุตสาหกรรม กรดไฮโดรฟลูออริกมีการใช้ในอุตสาหกรรม silicon chip เพราะมันสามารถละลาย SiO2 ออกจากผิวซิลิกอนได้ และยังสามารถละลายสารประกอบโลหะออกไซด์ที่ไม่ละลายหรือยากที่จะละลายในกรดตัวอื่นได้ด้วย (ภาษาไทยเรียกตัวนี้ว่ากรดกัดแก้ว) ตัวกรดไฮโดรฟลูออกริกและแก๊สฟลูออรีนเองยังถูกใช้ในการผลิต UF6 (Uranium hexafluoride) ที่เป็นสารที่ใช้ในการแยกไอโซโทป U235 และ U238 ออกจากกัน ด้วยเหตุนี้เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่ใช้งานกับสารเหล่านี้ถึงได้รับการจัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง

รูปที่ ๒ เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนมีปรากฏอยู่ในหัวข้อ 0B001.c.5 ด้วย แต่มีการระบุเอาไว้ด้วยว่าต้องเป็นชนิดที่ "specially designed or prepared ..." คือได้รับการออกแบบหรือสร้างขึ้นเป็นพิเศษ และต้องสร้างขึ้นจากวัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อนของ UF6 ส่วนที่ว่าวัสดุอะไรบ้างที่ทนต่อการกัดกร่อนของ UF6 ก็ต้องไปดูที่นิยาม (รูปที่ ๓)

คุณสมบัติเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางที่อยู่ในส่วนของกระบวนการผลิตทางเคมีทั่วไปอยู่ในหัวข้อ 2B350.d (รูปที่ ๑) ซึ่งตรงนี้มีการกำหนดขนาดพื้นที่ผิวถ่ายเทความร้อนว่าต้องอยู่ในช่วงไม่ต่ำกว่า 0.15 m2 และต่ำกว่า 20 m2 และมีการระบุว่า "พื้นที่ผิวทั้งหมด ที่สัมผัสโดยตรงกับ "สารเคมีที่ผ่านกระบวนการ" ทำจากวัสดุชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้" ตรงประเด็นเรื่องวัสดุของ "พื้นที่ผิวทั้งหมด" นี้ เคยเขียนไว้ใน Memoir ฉบับวันศุกร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เรื่อง "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒ เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger)" แต่สำหรับฉบับนี้จะมาดูกันในมุมมองอื่น (ดูหมายเหตุเพิ่มเติมด้านท้ายในเรื่อง "พื้นที่ผิวทั้งหมด" และ "สารเคมีที่ผ่านกระบวนการ")

เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางยังไปปรากฏอยู่ในหัวข้อ 0B001.c.5 และ 0B001.d.4 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแยกไอโซโทปยูเรเนียม โดยหัวข้อ 0B001.c.5 เป็นส่วนของกระบวนการแยกด้วยเทคนิคการแพร่ (gas diffusion) ส่วนหัวข้อ 0B001.d.4 เป็นการแยกด้วยเทคนิค gas centrifuge โดยทั้งสองหัวข้อมีการระบุเอาไว้ว่า "ทำจาก หรือได้รับการปกป้องด้วยวัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อนของ UF6" (รูปที่ ๒)

แล้ววัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อนของ UF6 มีอะไรบ้าง ก็ต้องไปดูคำนิยามที่อยู่ในหน้าแรก ๆ ของ EU List โดยอะลูมิเนียมก็เป็นหนึ่งในวัสดุเหล่านั้น (รูปที่ ๓) แต่ไม่ใช่ว่าอะไรที่ทำจากอะลูมิเนียมจะเป็นสินค้าควบคุมทุกตัว อะลูมิเนียมทีเป็นสินค้าควบคุมต้องมีคุณสมบัติตามหัวข้อ 1C002.b.4 (รูปที่ ๔) ซึ่งตรงหัวข้อนี้บอกให้ไปดูหัวข้อ 1C202 ด้วย (รูปที่ ๕)

รูปที่ ๓ นิยามของวัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อนของ UF6 ส่วนวงเล็บ (0) หมายถึงเกี่ยวข้องกับ Category 0 ที่เป็นส่วนของ Nuclear materials, facilities and equipment

จุดเด่นของอะลูมิเนียมคือน้ำหนักเบา ฟิล์มออกไซด์บนพื้นผิวโลหะอะลูมิเนียมก็ทนต่อการกัดกร่อนจากสารเคมีได้หลากหลายชนิด นอกจากจะใช้อุปกรณ์ที่ทำจากอะลูมิเนียมในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับแก๊สฟลูออรีนแล้ว ก็ยังมีการใช้งานในอากาศยานด้วย หัวข้อ 1C002.b.4กำหนดเฉพาะความสามารถในการรับแรงดึงขั้นต่ำของชิ้นงานอะลูมิเนียมที่เป็นสินค้าควบคุม (ไม่ได้มีการกำหนดรูปร่างชิ้นงาน) แต่ในหัวข้อ 1C202.a.1 กำหนดความสามารถในการรับแรงดึงขั้นต่ำ ส่วนข้อ 1C202.a.2 กำหนด "รูปร่าง" และขนาดขั้นต่ำ คือต้องมีรูปร่างเป็นท่อหรือทรงกระบอก ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกมากกว่า 75 mm

รูปที่ ๔ ในหัวข้อ 1C002.b.4 ควบคุมโลหะอะลูมิเนียมที่ขึ้นรูปจากโลหะผงและมีความแข็งแรงเชิงกลตามข้อกำหนด (ข้อ a และ b ต่างกันที่อุณหภูมิที่ใช้ในการวัด) โดยไม่ได้ระบุรูปร่าง แต่ก็มีการบอกไว้ว่าให้ดูหัวข้อ 1C202 ประกอบด้วย

ที่สงสัยก็คือ ถ้าส่งออกในรูปของแท่งสี่เหลี่ยมหรือหกเหลี่ยม มันก็จะไม่เข้าเกณฑ์สินค้าควบคุมเพราะรูปร่างมันไม่เป็นไปตามข้อกำหนด แต่เราก็สามารถทำการกลึงแท่งโลหะสี่เหลี่ยมหรือหกเหลี่ยมให้เป็นแท่งกลมได้ ประเด็นตรงนี้คงต้องให้ผู้รู้ทางด้านโลหะวิทยาให้คำตอบว่า ชิ้นงานที่ผ่านการกลึงออกมาแล้ว จะยังคงมีคุณสมบัติทางกลและ/หรือทางเคมีเหมือนชิ้นงานก่อนการกลึงหรือไม่ ผมรู้แต่ว่าถ้าเป็นเหล็ก กระบวนการขึ้นรูปเย็นก็ทำให้คุณสมบัติเปลี่ยนไปได้

รูปที่ ๕ โลหะอะลูมิเนียมที่ไม่เข้าเกณฑ์หัวข้อ 1C002.b.4 ก็ต้องมาดูหัวข้อ 1C202.a ประกอบ ในหัวข้อ 1C202.a นี้ไม่ได้มีการกำหนดว่าชิ้นงานต้องเป็นอะไร ระบุเพียงแค่ความแข็งแรงและ "รูปร่าง" ของชิ้นงานที่ต้องเป็นท่อหรือแท่ง "ทรงกระบอก"

ท่ออะลูมิเนียมเป็นชิ้นส่วนหลักที่ใช้ในการสร้างเครื่อง gas centrifuge ที่ใช้แยกไอโซโทป U235 และ U238 ออกจากกัน เรื่องนี้เคยมีกรณีการดักจับท่ออะลูมิเนียมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 81 mm ที่ส่งไปยังประเทศอิรัค โดยทางอิรัคอ้างว่าจะนำไปใช้ผลิตจรวดขนาดเล็ก เรื่องนี้เคยเล่าไว้ในบทความเรื่อง "สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๔" เมื่อวันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒

ทีนี้ลองมาสมมุติดูเล่น ๆ แทนที่จะสั่งซื้อท่ออะลูมิเนียม ก็เปลี่ยนเป็นการสั่งซื้อเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิด shell and tube ขนาดใหญ่แทนดังตัวอย่างในรูปที่ ๖ โดยบอกว่าจะไปใช้กับกระบวนการปิโตรเคมี โดยส่วน tube นั้นให้ใช้ท่ออะลูมิเนียมที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหัวข้อ 1C202.a.2 ซึ่งกะว่าพอได้รับแล้วก็จะแยกเอาส่วน tube ไปทำอย่างอื่น

รูปที่ ๖ เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนขนิด shell and tube ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย tube จำนวนมากอยู่ภายใน (รูปจาก https://www.famet.com.pl/gallery/61/wymienniki-ciepla-plaszczowo-rurowe06.jpg)

ที่นี้พออ้างว่าเป็นการส่งออกเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนสำหรับโรงงานปิโตรเคมี อย่างแรกเลยมันจะไม่เข้าข่ายหัวข้อ 2B350.d เพราะหัวข้อนี้ไม่ครอบคลุมโลหะอะลูมิเนียม การส่งออกในรูปของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนมันก็จะซ่อนการส่งออกท่อที่เป็นสินค้าควบคุมไปด้วยในตัว มันก็จะเลี่ยงข้อ 1C202.a ไปได้ (กล่าวคือถ้าส่งออกเป็นชิ้นส่วนย่อย ชิ้นส่วนย่อยนั้นมันจะมีรหัสศุลกากรหรือ HS ของมัน แต่ถ้าส่งออกเป็นชิ้นงานประกอบเสร็จ ชิ้นงานประกอบเสร็จนั้นจะมีรหัสศุลกากรหรือ HS เลขใหม่ ตัวอย่างเช่น ถ้าส่งออกยางรถยนต์ จะเห็นเลข HS ของยางรถยนต์ แต่ถ้าส่งออกรถยนต์ จะเห็นเลข HS ของรถยนต์ ไม่เห็นว่ามีการส่งออกยางรถยนต์) ดังนั้นถ้าตีความตามตัวอักษร ก็น่าที่จะสามารถส่งออกท่ออะลูมิเนียมที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหัวข้อ 1C202.a.2 ออกไปได้

รูปที่ ๗ General Notes to Annex I ของ EU List

แต่ EU List ก็มีการป้องกันเหตุการณ์นี้เอาไว้เหมือนกัน คือไปปรากฏใน General Notes to Annex I ข้อ 2. (รูปที่ ๗) ที่กล่าวถึงการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าควบคุม แต่มีชิ้นส่วนที่เป็นสินค้าควบคุมเป็นองค์ประกอบ ทำให้ต้องนำตัวสินค้าทั้งชิ้นดังกล่าวมาพิจารณาด้วยว่าสินค้าทั้งชิ้นนั้นเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ โดยต้องคำนึงถึงความยากง่ายในการถอดเอาชิ้นส่วนควบคุมนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น รวมทั้งปริมาณ มูลค่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ อย่างเช่นกรณีของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบ shell and tube ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ถ้าพิจารณา จำนวน tube, มูลค่า tube เมื่อเทียบกับราคาเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนทั้งเครื่อง และความง่ายในการถอด tube ออกมา ก็ควรต้องถือว่าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนตัวนี้เป็นสินค้าควบคุมด้วย เนื่องจากมีชิ้นส่วนตามหัวข้อ 1C202.a.2 ในปริมาณมากและยังถอดแยกออกมาได้ไม่ยากด้วย

สำหรับตัวอย่างนี้ก็คงจะจบลงตรงนี้

หมายเหตุ : ความหมายของ "สารเคมีที่ผ่านกระบวนการ หรือ Chemical(s) being processed" ควรเฉพาะไปที่สารเคมีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการผลิต ตัวอย่างเข่นเครื่องควบแน่นที่ใข้ควบแน่นไอ HF ด้วยน้ำเย็น พื้นที่ผิวที่ต้องพิจารณาควรต้องเป็นเฉพาะด้านไอ HF โดยไม่นับรวมด้านน้ำหล่อเย็น (เพราะมันเป็นระบบสาธารณูปโภค) แต่ถ้าเป็นการถ่ายเทความร้อนระหว่างสารเคมีที่ผ่านกระบวนการ (เช่นถ่ายเทความร้อนจาก fluid ร้อนเพื่อให้มันเย็นตัว ให้กับ fluid เย็นเพื่อให้มันร้อนขึ้น เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน) ในกรณีนี้พื้นที่ผิวที่ต้องพิจารณาควรต้องเป็นทั้งสองด้าน

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2566

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๓ ไม่ตรงตามตัวอักษร (สารเคมี) MO Memoir : Friday 6 January 2566

ฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นตอนต่อจากตัวอย่างที่ ๑๒ คือในตัวอย่างที่ ๑๒ นั้นกล่าวไว้ว่าสารเคมีมีปรากฏอยู่ในหัวข้อใดบ้าง และแต่ละหัวข้อแตกต่างกันอย่างไร มาคราวนี้จะลองตั้งโจทย์ตุ๊กตาเล่น ๆ ไว้ให้ถกเถียงกันว่า เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย ส่วนคำตอบที่ถูกต้องคืออะไรนั้น คงไม่มีใครบอกได้ จนกว่าจะมีการฟ้องร้องและมีคำพิพากษาออกมา

การพิจารณาว่าสารเคมีตัวไหนเป็นสารควบคุมหรือไม่ มันง่ายตรงที่ตัวสารนั้นอาจมีชื่อเรียกสารพัดชื่อ แต่จะมีเลขหมาย CAS (ที่ย่อมาจากคำว่า Chemical Abstract Service เลขหมายเดียว ตัวอย่างเช่น Triethanolamine ที่เป็นสารเคมีควบคุมรายชื่อที่ 46 ในรายการ 1C350 (รูปที่ ๑) สารตัวนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกเช่น 2,2′,2′′-Nitrilotri(ethan-1-ol (ชื่อเรียกตามระบบ IUPAC), 2,2′,2′′-Nitrilotriethanol, Tris(2-hydroxyethyl)amine, 2,2′,2′′-Trihydroxytriethylamine, Trolamine (นำมาจาก wikipedia) แต่ไม่ว่าการส่งออกจะใช้ชื่อใดก็ตาม เลข CAS จะเป็นเลขเดียวกันคือ CAS 102-71-6

รูปที่ ๑ Triethanolamine เป็นสารเคมีควบคุมรายชื่อที่ 46 ในรายการ 1C350

แต่ใน Note 3 ท้ายรายการ 1C350 (รูปที่ ๒) กล่าวเอาไว้ว่า การส่งออก triethanolamine จะไม่เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุม ถ้าหากความเข้มข้นนั้นไม่มากเกินกว่า 30% โดยน้ำหนัก

โจทย์ตุ๊กตาที่ขอตั้งขึ้นมาเล่น ๆ ในวันนี้ก็คือ ถ้าหากความเข้มข้นสูงไม่ถึง 30% อย่างฉิวเฉียด (เช่น 29.999% หรือ 29.9%) หรือความเข้มข้นต่ำกว่า 30% มาก (เช่น 27%) แต่สามารถกำจัดสารอื่นออกได้ง่ายเพื่อให้ความเข้มข้นสูงระดับ 30% หรือมากกว่าได้ จะถือว่าการส่งออกนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ยกเว้นการควบคุมหรือไม่

รูปที่ ๒ ใน Note 3 นั้นกล่าวว่า ถ้าความเข้มข้นไม่มากเกินกว่า 30% โดยน้ำหนัก ก็จะไม่ถูกควบคุม

คำถามนี้ผมเคยถามกับทางญี่ปุ่นเมื่อคราวไปทำ workshop เมื่อปี ๒๕๖๒ ว่า ในกรณีที่ความเข้มข้นต่ำกว่าข้อกำหนดเพียงเล็กน้อย หรือต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ความเข้มข้นที่ลดต่ำลงนั้นเกิดจากการผสมสารอื่นที่สามารถแยกออกได้ง่ายเข้าไป คือถ้าดูตามตัวอักษรมันก็ไม่เข้าข่ายถูกควบคุม แต่ในทางปฏิบัติ ควรจะพิจารณาว่าต้องได้รับการควบคุมด้วยหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับ (หลังจากที่เขาปรึกษากันเองอยู่ครู่หนึ่ง) ก็คือ ต้องดูวัตถุประสงค์ของการใช้งาน นั่นก็หมายความว่าคงต้องไปพิจาณาที่ผู้ใช้รายสุดท้ายว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน (ทางประเทศญี่ปุ่น หน่วยงานสุดท้ายที่เป็นผู้กำกับดูและคือ METI ที่ย่อมาจาก Ministry of Economy, Trade and Industry หรือแปลเป็นไหยว่า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม)

รูปที่ ๓ ตัวอย่างสิทธิบัตรกระบวนการสำหรับทำให้ triethanolamine มีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น

ทีนี้ถ้าลองมาพิจารณาทางด้านเทคนิคบ้าง สมมุติว่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ "เหมาะสม" สำหรับการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตอาวุธเคมีคือ 30% แล้วความเข้มข้น 29.9% นั้นยังสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตอาวุธเคมีได้หรือไม่ คือใช้ไม่ได้เลย หรือยังใช้ได้อยู่ แต่จะได้อาวุธเคมีที่มีความเข้มข้นต่ำจนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไปในการทำให้ความเข้มข้นสูงขึ้นเพื่อให้คุ้มค่าต่อการผลิตหรือการจัดเก็บ แต่ไม่ได้หมายความว่าความเข้มข้นต่ำที่สังเคราะห์ได้จะไม่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เพียงแค่อำนาจทำลายล้างลดลงเท่านั้นเอง เทคโนโลยีสำหรับเพิ่มความเข้มข้น triethanolamine ให้สูงขึ้นก็ไม่ใช่ความลับอะไร มีเปิดเผยมานานแล้วดังเช่นตัวอย่างที่ยกมาแสดงในรูปที่ ๓ และ ๔

รูปที่ ๔ แผนผังกระบวนการที่นำมาจากสิทธิบัตรในรูปที่ ๓ จะเห็นว่ารูปแบบเป็นเหมือนการกลั่นแยกธรรมดา

คำถามหนึ่งที่ผมถามทางญี่ปุ่นตอนนั้นคือ ถ้าหากบริษัทคิดว่าสินค้าที่ต้องการส่งออกนั้นไม่เข้าข่าย แต่ทางราชการที่เป็นผู้ควบคุมการส่งออกนั้นเห็นว่าเข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุมและไม่อนุญาตให้ส่งออก ทางผู้ส่งออกมีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือไม่ คำตอบที่ได้คือถือว่าการตัดสินของ METI เป็นที่สิ้นสุด

ผมได้นำประเด็นนี้ย้อนมาตั้งคำถามกับทางหน่วยงานของไทยที่ร่วมคณะไปด้วยว่า ในกรณีของประเทศไทยนั้น คำสั่งของหน่วยงานราชการถือว่าเป็นคำสั่งปกครองใช่หรือไม่ และถ้าหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลเรื่องนี้มีความเห็นว่าไม่อนุญาตให้ส่งออก (โดยให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผู้รับมากกว่าคุณลักษณะตามตัวอักษร) ทางผู้ส่งออกก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องไปยังศาลปกครองเพื่อขอความคุ้มครองได้ใช่หรือไม่ และจากจุดนี้ก็จะมีคำถามตามมาอีกก็คือ ถ้าศาลปกครองไม่อนุญาตให้คุ้มครองผู้ส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถส่งสินค้าได้ (เสียลูกค้าและรายได้) และถ้าสู้คดีกันไปแล้วหน่วยงานราชการแพ้ ผู้ส่งออกจะได้รับการเยียวยาหรือสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ และใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

(ในคดีอาญานั้น ในกรณีที่มีการพิสูจน์จนสิ้นสุดแล้วว่าจำเลยไม่ผิด ผู้ที่ถูกฟ้องว่าเป็นจำเลยจะสามารถขอรับการเยียวยาจากรัฐได้ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จําเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการกล่าวหาผู้เสียหายว่าเป็นจำเลย)

ในทางกลับกันถ้าหากศาลปกครองอนุญาตให้ความคุ้มครองผู้ส่งออก (โดยอิงตามตัวอักษรว่าสินค้านั้นไม่เข้าข่าย) แต่มาพบภายหลังว่าเป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อให้สามารถส่งออกไปยังผู้รับที่ไม่น่าเชื่อถือได้ ในกรณีนี้ในส่วนของทางบริษัทใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องตรงนี้ผมไม่มีคำตอบ เพียงแค่ตั้งโจทย์ตุ๊กตามาให้พิจารณากันเล่น ๆ คำตอบจะได้ก็ต่อเมื่อมันมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง