วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2566

ติดใจตรงบรรทัดสุดท้ายนี่แหละ MO Memoir : Wednesday 26 April 2566

มี infographic โฆษณาอันหนึ่งโผล่มาบนหน้า facebook ของผม อันที่จริงมันมีหลายรูป แต่ที่ผมติดใจคือรูปนี้ ลองดูเอาเองก่อนนะครับ


ผมก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้ คือฝาด้านบนของหม้อน้ำรถจากโรงงานเดี๋ยวนี้มันเป็นไฟเบอร์กลาส มันจึงไม่มีการรั่วซึม แต่ถ้าพัง มันจะแตกเลย ไม่เหมือนหม้อน้ำแบบเก่าที่ฝาเป็นโลหะ แบบนั้นมันจะรั่ว ไม่เคยได้ยินว่าระเบิด

ทีนี้พอมันแตก ความดันในหม้อน้ำก็จะระบายออกมาทั้งหมด รวมทั้งน้ำที่อยู่ข้างในก็จะล้นออกมาด้วย

การห้ามเปิดฝาหม้อน้ำจะห้ามเมื่อเครื่องยนต์ร้อนอยู่ และหม้อน้ำยังอยู่ในสภาพดี เพราะน้ำร้อนจะพุ่งออกมา เพราะในหม้อน้ำยังมีความดันอยู่

แต่เนี่ย ความดันมันในหม้อน้ำมันออกหมดตั้งแต่ตอนหม้อน้ำแตกแล้ว

วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2566

วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566

สูบจากท่อประปาโดยตรง MO Memoir : Wednesday 19 April 2566

แรงดันน้ำประปาในท่อมันจะเปลี่ยนไปตามจำนวนผู้ใช้งาน ยิ่งบ้านที่อยู่ปลายเส้นท่อจะเห็นปัญหาชัดเจน ช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีคนใช้น้ำ น้ำก็จะไหลแรง แต่ช่วงเวลาที่คนใช้เยอะ แรงดันก็จะลดต่ำลง อาจถึงขนาดที่อาบน้ำฝักบัวไม่ได้ (บ้านผมก็เป็นอย่างนั้น) ยิ่งถ้าใครมีบ้านสองชั้นและมีห้องน้ำอยู่ชั้นบน ก็ยากที่จะคาดหวังว่าห้องน้ำชั้นบนน้ำจะไหลแรง หรือไหลไปถึง ด้วยเหตุนี้ปั๊มน้ำอัตโนมัติจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นในครัวเรือน

ปั๊มน้ำอัตโนมัติของบ้านผมจะมีสวิตจะมีสวิตช์ควบคุมการเปิดปิดอยู่ ๒ ตัว ตัวแรกคือสวิตช์ความดัน (pressure switch) ที่จะเปิดการทำงานของปั๊มถ้าหากความดันลดต่ำลงกว่าค่าที่กำหนด เช่นเมื่อเปิดก็อกน้ำในน้ำ ตัวที่สองคือสวิตช์การไหล (flow switch) ตัวหลังที่เคยเห็นมีลักษณะเป็นก้านบานพับ ที่การไหลของน้ำจะไปดันให้ก้านบานพับนี้พับไปทางด้านทิศทางการไหล มันเป็นเหมือนกับเป็นตัวป้องกันไม่ให้ปั๊มทำงานโดยไม่มีน้ำไหลผ่าน ปั๊มน้ำอัตโนมัติที่บ้านมีสองตัว เวลาที่มันไม่ทำงานก็ต้องตรวจให้ดีว่าปัญหาอยู่ที่ตัวไหน จะได้ซื้อมาเปลี่ยนถูกตัว

การเดินท่อปั๊มน้ำอัตโนมัตินี้ที่บ้านผมเดินแบบ ๒ ระบบ คือจากมิเตอร์น้ำแยกออกเป็น ๒ เส้นทาง เส้นทางแรกตรงไปยังถังพักน้ำสำหรับให้ปั๊มน้ำสูบจ่ายเวลามีการเปิดน้ำใช้ เส้นทางที่สองจะไปบรรจบกับเส้นที่มาจากด้านขาออกของปั๊มน้ำ เส้นนี้จะมีวาล์วกันการไหลย้อนกลับติดตั้งอยู่ เส้นนี้มีไว้เผื่อเวลาปั๊มน้ำเสียหรือไฟดับ จะได้ยังคงมีน้ำใช้ อย่างน้อยก็ที่ชั้นล่าง วาล์วกันการไหลย้อนกลับมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ปั๊มจ่ายออกมา ไหลย้อนกลับไปยังถังเก็บน้ำหรือกลับเข้าระบบท่อ อันที่จริงตรงนี้ถ้าไม่ติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับ ก็ต้องคิดตั้งวาล์วปิดเปิดเอาไว้ เวลาไหนจะใช้น้ำจากปั๊มน้ำก็ให้ปิดวาล์วตัวนี้ เวลาที่ปั๊มใช้งานไม่ได้ก็ค่อยมาเปิด

รูปที่ ๑ โฆษณาของร้านค้าแห่งหนึ่งเกี่ยวกับการออกแบบระบบท่อปั๊มน้ำอัตโนมัติที่เลือกได้ทั้งสูบจากถังพักน้ำหรือสูบจากท่อประปาโดยตรง

วันก่อนเห็นโฆษณาทาง facebook ของร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างแห่งหนึ่งเกี่ยวกับปั๊มน้ำอัตโนมัติและรับวางระบบ คือนอกจากจะรับวางระบบแบบที่เล่ามาข้างต้นแล้ว ยังมีการรับวางระบบแบบสูบตรงจากท่อน้ำประปาแล้วจ่ายตรงเข้าไปในบ้าน (รูปที่ ๑) และสูบตรงจากท่อน้ำประปาเพื่อจ่ายตรงเข้าไปในบ้านและวนน้ำกลับไปใส่ในถังเก็บน้ำ (รูปที่ ๒) หลายคนที่เห็นการออกแบบแบบนี้ก็เลยเข้าไปให้ความเห็นดังแสดงในรูป

รูปที่ ๒ โฆษณาของร้านค้าเดียวกันเกี่ยวกับการออกแบบระบบท่อปั๊มน้ำอัตโนมัติที่เลือกได้ทั้งสูบจากถังพักน้ำหรือสูบจากท่อประปาโดยตรง หรือสูบจากท่อป้อนเข้าไปไว้ในถังเก็บ

ปัญหาน้ำประปาไหลอ่อนบ้านเรามีมานานแล้วและมีอยู่ทั่วไป โดยปรกติท่อประปาก็จะเดินฝังดิน เวลาที่ท่อรั่ว เนื่องจากในท่อมีความดัน น้ำในท่อก็จะรั่วออก การรั่วออกนี้เป็นการป้องกันไม่ให้สิ่งปนเปื้อนหลุดรอยเข้ามาในท่อ การต่อปั๊มน้ำสูบน้ำจากท่อประปาโดยตรง จะทำให้ความดันน้ำในท่อลดต่ำลง ถ้าภายนอกท่อเป็นน้ำสกปรก น้ำสกปรกนั้นก็จะรั่วไหลเข้ามาในระบบท่อ ทำให้ผู้ใช้น้ำมีโอกาสเจอกับสารพัดสิ่งออกมาจากก๊อกน้ำ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งไม่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิต

ด้วยเหตุนี้การประปาจึงห้ามไม่ใช้ใช้เครื่องสูบน้ำสูบตรงจากท่อประปา (รูปที่ ๓) ใครจะใช้เครื่องสูบน้ำก็ต้องติดตั้งถังเก็บน้ำหรือบ่อพักน้ำ แล้วค่อยสูบน้ำจากถังเก็บน้ำหรือบ่อพักน้ำนั้นอีกที

รูปที่ ๓ ประกาศการประปานครหลวงเกี่ยวกับการใช้เครื่องสูบน้ำ

แต่ประกาศการประปานครหลวงก็ไม่ได้ห้ามขาดนะ มันมีต่อท้ายข้อห้ามนิดนึงว่า "เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากการประปานครหลวง" แต่ตรงนี้ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าต้องเป็นกรณีเช่นใด จึงจะได้รับการยกเว้น

ท่อประปาจากมิเตอร์เข้ามาในบ้านจะเดินมาตามพื้น การใช้บ่อพักน้ำที่อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินมันมีข้อดีตรงที่เวลาที่น้ำในท่อมีแรงดันต่ำ มันก็ยังไหลลงบ่อได้ แต่เวลาน้ำท่วมบ้านที่ (เช่นตอนปี ๒๕๕๔) ก็ต้องล้างทำความสะอาดกันน่าดู นอกจากนี้มันยังเปิดช่องให้สัตวตัวเล็ก ๆ ที่เดินอยู่บนพื้น ลงไปนอนแช่น้ำในบ่อพักน้ำได้ บ่อพักน้ำนี้มักต้องทำกันตั้งแต่ตอนสร้างบ้าน

การใช้ถังเก็บน้ำตั้งบนพื้นมันก็มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องน้ำท่วมหรือจะมีตัวอะไรเข้าไปนอนแช่อยู่ในถัง แต่ต้องปิดฝาถังให้ดี คือแค่ป้องกันไม่ให้ตัวอะไรต่อมิอะไรเข้าไปในถังได้ แต่ต้องให้อากาศไหลเข้าออกได้ทันเวลาตามระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเวลาที่มีการสูบน้ำออกจากถัง (ระดับมันจะเปลี่ยนเร็วกว่าเวลาเติมน้ำเข้าถัง) ถังเก็บน้ำที่ใช้กันตามบ้านจะให้น้ำประปาไหลเข้าทาง "ด้านบน" ของถัง ด้วยเหตุผลที่ว่าใช้ระบบลูกลอยเป็นตัวควบคุมการปิดเปิดท่อจ่ายน้ำเข้าไปในถัง แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจนะว่า เวลาที่น้ำไหลอ่อน แรงดันน้ำจะยังคงสูงพอที่จะไหลเข้าทางด้านบนของถังได้ ถ้ากังวลเรื่องนี้ก็คงต้องใช้ถังเก็บน้ำแบบเตี้ย ๆ แทน ที่มีหลายรายทำมาเพื่อใช้เป็นเก้าอี้โซฟาไปด้วยในตัว แต่มันก็จะกินที่วางหน่อย

สิ่งหนึ่งในรูปที่ ๑ และ ๒ ที่สงสัยคือทำไมเขาออกแบบติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับไว้ทางด้านเข้าปั๊ม เพราะปรกติถ้าจำเป็นต้องติดตั้ง เราจะติดตั้งไว้ทางด้านขาออก และในกรณีของปั๊มน้ำอัตโนมัติที่ติดตั้งตามบ้านนั้นก็มักจะมีวาล์วกันการไหลย้อนกลับในตัวอยู่แล้ว การติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับด้านขาเข้าปั๊มจะทำกันในกรณีของการสูบน้ำจากระดับที่ต่ำกว่าปั๊ม โดยจะติดตั้งไว้ที่ปลายท่อที่จุ่มอยู่ในน้ำ วาล์วนี้จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า foot valve การติดตั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าท่อด้านขาเข้าปั๊มมีน้ำเต็มตลอดเวลา เมื่อปั๊มทำงานก็จะจ่ายน้ำได้ทันที

แต่ในกรณีที่ระดับน้ำในถังเก็บน้ำมันสูงกว่าระดับตัวปั๊ม มันไม่จำเป็นต้องติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับ

วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2566

สถานีรถไฟโพธาราม MO Memoir : Saturday 15 April 2566

อำเภอนี้ปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดว่า "คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง ..." รูปภาพเก่าของสถานีรถไฟประจำอำเภอนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นสถานีใหญ่สถานีหนึ่ง ตัวอาคารนั้นอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเส้นทางรถไฟ ตอนที่แวะไปนั้นมีการก่อสร้างปิดเส้นทางอยู่ ต้องไปเข้าทางวัดโพธาราม ตัวสถานีเดิมไม่เหลือร่องรอยอะไรให้เห็นแล้ว

รูปชุดนี้ถ่ายเก็บเอาไว้เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เป็นชุดสุดท้ายของการแวะถ่ายรูปสถานีรถไฟต่าง ๆ ตามทางผ่านระหว่างการเดินทางกลับจากหัวหิน สภาพตอนนี้ก็คงเปลี่ยนไปจากตอนนั้นมากแล้ว

วันนี้ก็ถือว่าเป็นการบันทึกภาพถ่ายสถานที่ธรรมดา ๆ อีกแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงก็แล้วกัน

รูปที่ ๑ บริเวณ อ. โพธาราม ที่ปรากฏในแผนที่ British-India 1945 จะเห็นว่าชุมชนส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันออก

รูปที่ ๒ ประแจสับรางทางด้านทิศเหนือของตัวสถานี ยังเป็นแบบใช้มือโยกอยู่

รูปที่ ๓ จากด้านทิศเหนือของตัวสถานี มองไปยังทิศทางล่องใต้

รูปที่ ๔ ป้ายสถานีเก่าและป้ายสถานีใหม่

รูปที่ ๕ ป้ายสถานีแบบเดิมที่ยังคงเก็บรักษาอยู่

รูปที่ ๖ เตรียมพื้นที่สำหรับวางราง

รูปที่ ๗ จากบริเวณตัวสถานีมองย้อยไปทางทิศเหนือ

รูปที่ ๘ เสารับส่งห่วงทางสะดวก (ซ้าย) และโรงพยาบาลที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

รูปที่ ๙ ยังมีไม้หมอนเก่า ๆ วางไว้ให้เห็น

รูปที่ ๑๐ ประแจตัวเดียวกับรูปที่ ๑ แต่ถ่ายใกล้เข้ามาหน่อย

วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566

เมื่อ Nitroaniline reactor ระเบิด (ตอน : ผสมผิดสัดส่วน) MO Memoir : Tuesday 4 April 2566

กรณีถังปฏิกรณ์ผลิต Nitroaniline ระเบิด เท่าที่ค้นในอินเทอร์เน็ตก็พบเพียงแค่ 3 ครั้ง ซึ่งเกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ที่เล่าไปครั้งที่แล้ว (Memoir ฉบับวันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๖) เป็นเหตุการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม ปีค.ศ. ๑๙๖๙ (พ.ศ. ๒๕๑๒) ที่เป็นการต้องการเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการผสมสารตั้งต้นในปริมาณที่มากขึ้น แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ปีเดียวกันก็มีการระเบิดเกิดขึ้นเนื่องจากผสมสารตั้งต้นผิดสัดส่วนโดยไม่ตั้งใจ เอกสารที่พบไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเกิดที่ใด แต่เป็นเอกสารที่ได้มาจากเว็บ Failure Knowledge Database ของประเทศญี่ปุ่น จึงคาดว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น (เหตุการณ์นี้เป็น p-Nitroaniline)

ส่วนเหตุการณ์ที่สามเกิดในปีค.. ๑๙๗๑ (.. ๒๕๑๔) พิจารณาจากรายละเอียดแล้วน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และใช้กระบวนการผลิตแบบเดียวกัน เอกสารที่ให้รายละเอียดของเหตุการณ์ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ได้บอกรับวารสารดังกล่าว ข้อมูลเหตุการณ์นี้ปรากฏในบทความเรื่อง "Thermo-Kinetic Analysis of Reactions Involved in the Manufacture of o-Nitroaniline" ตีพิมพ์ในวารสาร Process Safety Progress (Vol. 20 No. 2), July 2001 หน้า 123-129 โดยโรงงานดังกล่าวเดินเครื่องเป็นปรกติมา ๓๐ ปีก่อนเกิดเหตุ สาเหตุของการระเบิดเมื่อสอบสวนไปพบว่าต้นตอมาจากการที่ฝ่ายบริหารได้ตัดสินใจ "Override" ระบบ interlock สารป้อน (ทำนองว่าไปปิดระบบรักษาความปลอดภัยออก) ในช่วงเวลาระหว่างการซ่อมแซม Tank (บทความใช้คำว่า Tank แต่ดูจากเนื้อหาแล้วน่าจะหมายถึงถังปฏิกรณ์) ทำให้เกิดการป้อน o-Nitrochlorbenzene เข้าระบบมากเกินไป และไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมากไปกว่านี้

ก่อนไปยังเหตุการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น ขอย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ที่เล่าไปในครั้งที่แล้วนิดนึงก่อน (สิงหาคม ปีค.. ๑๙๖๙) คือมันมีประเด็นเกี่ยวกับระบบระบายความดันที่ไม่ทำงาน ซึ่งจากการคำนวณนั้นพบว่า ถ้าระบบระบายความดันทำงาน การระเบิดก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น

รูปที่ ๑ การใช้ Rupture disk ในการป้องกัน Safety valve พึงสังเกตว่าต้องมีการติดตั้งเกจวัดความดันหรือ excess flow valve (วาล์วที่ยอมให้การไหลช้า ๆ ไหลผ่านได้ แต่ถ้ามีการไหลอย่างรวดเร็วกระทันหัน วาล์วจะปิด) อยู่ระหว่าง Rupture disc และ Safety valve เพื่อไว้ตรวจสอบว่า Rupture disc มีการรั่วหรือไม่ และเพื่อระบายแก๊สที่รั่วออกมาขังอยู่บริเวณนี้ออกไป

Safety valve และ Rupture disc เป็นอุปกรณ์ระบายความดันที่จะเปิดเมื่อความดันในระบบสูงเกิน Safety valve มีข้อดีตรงที่เมื่อความดันในระบบลดลงกลับมาอยู่ที่ระดับปลอดภัย วาล์วก็จะปิด ในขณะที่ Rupture disc นั้นมันทำงานด้วยการฉีกขาดของแผ่นโลหะ มันจึงไม่สามารถปิดตัวเองได้ แต่มันก็มีข้อดีตรงที่ถ้าความดันเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก (เช่นเกิดการระเบิดขึ้นภายใน) Rupture disc จะระบายความดันได้เร็วกว่า

ตัว Safety valve เองก็มีโอกาสที่จะปิดไม่สนิท เช่นของไหลที่ไหลผ่านวาวล์นั้นสกปรก มีคราบตกค้างอยู่ที่ตัววาล์วหลังเปิดใช้ หรือกรณีที่ของไหลในระบบนั้นมีฤทธิ์กัดกร่อน ที่สามารถทำให้วาล์วเสียหายได้ ในกรณีเหล่านี้ก็จะก่อให้เกิดปัญหาการรั่วไหลออกจากระบบตลอดเวลา

ในกรณีเช่นนี้ก็ป้องกันได้ด้วยการติดตั้ง Rupture disc ทางด้านขาเข้าของ Safety valve (รูปที่ ๑) โดยต้องตั้งให้ Rupture disc ทำงานก่อน Safety valve แต่ถ้าทำเช่นนี้ต้องมีระบบตรวจสอบหรือระบายความดันที่สะสมในที่ว่างระหว่าง Rupture disc และ Safety valve เพราะ Rupture disc นั้นทำงานโดยอาศัยผลต่างความดัน (pressure difference) ตัวอย่างเช่นถ้ามันออกแบบมาให้เปิดที่ความดัน 10 atm โดยปล่อยออกสู่บรรยากาศ แต่ถ้าความดันด้านขาออกเป็น 5 atm ตัว Rupture disc ตัวนี้ก็จะเปิดที่ความดัน 15 atm ที่สูงกว่าเดิม

เหตุการณ์นี้อาจเกิดได้ถ้าหาก Rupture disc มีรูรั่ว (เช่น "ตามด" หรือ pin hole) ที่ทำให้ความดันในที่ว่างระหว่าง Rupture disc และด้านขาเข้าของ Safety valve มีค่าเท่ากับความดันในระบบ ดังนั้น Rupture disc จะไปเปิดที่ความดันที่มันถูกออกแบบมาให้เปิด บวกกับความดันของระบบ

รูปที่ ๒ ระบบระบายความดันที่ปลิวหลุดออกมาของถังปฏิกรณ์ที่เกิดระเบิดที่ Monsanto เมื่อเดือนสิงหาคมปีค.. ๑๙๖๙

ในกรณีที่ของไหลนั้นเป็นของไหลที่ไม่อันตรายหรือสามารถปล่อยออกสู่อากาศได้โดยตรง ก็อาจใช้การติดตั้ง excess flow valve ไว้เพื่อระบายความดันถ้าหากมีการรั่วไหลของแก๊สผ่าน Rupture disc ในอีกทางเลือกหนึ่งนั้นก็ใช้การติดตั้งเกจวัดความดันเพื่อไว้ตรวจดูว่ามีการรั่วไหลหรือไม่ ถ้าพบว่าความดันเพิ่มขึ้นก็แสดงว่า Rupture disc มีรูรั่ว

ในเหตุการณ์ที่เล่าไปใน Memoir ฉบับที่แล้วพบว่า Rupture disk มีรูรั่ว ทำให้ Rupture disc ที่ควรเปิดที่ความดันประมาณ 700 psia ไม่ทำงาน (ความดันทำงานปรกติของระบบคือประมาณ 450-550 psig) ระบบระบายความดันจึงไม่ทำงานจนกว่าความดันในระบบขึ้นสูงเกิน 1000 psig

เหตุการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นนำมาจากบทความเรื่อง "Explosion of the nitroaniline preparation reactor due to error in the quantity of supply of raw materials" (http://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1000102.html) ที่เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.. ๑๙๖๙ (.. ๒๕๑๒) ที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนเรื่องที่เล่าไปในตอนที่แล้ว ๘ เดือน ที่ต่างกันก็คือในเหตุการณ์นี้เป็นการผลิต p-Nitroaniline

สาเหตุเกิดจากปํ๊มที่ทำหน้าที่ป้อนสารตั้งต้นเข้าถังปฏิกรณ์เกิดเสีย จึงมีการเปลี่ยนไปใช้ปั๊มสำรองแทน ทำให้อัตราการป้อนสารเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้อุณหภูมิและความดันเพิ่มสูงขึ้นกระทันหันเนื่องจากอัตราการเกิดปฏิกิริยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บทความไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ ว่าปั๊มสารตั้งต้นตัวไหนที่เกิดปัญหา (รูปที่ ๓)

รูปที่ ๓ เหตุการณ์ที่เกิดที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.. ๑๙๖๙ (.. ๒๕๑๒)

แต่เหตุการณ์ทั้งสามก็มีอะไรบางอย่างที่คล้ายกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการที่ระบบระบายความดันไม่ทำงาน อุปกรณ์วัดอุณหภูมิที่แสดงผลได้แค่เพียง 200ºC ทำให้โอเปอร์เรเตอร์ไม่สามารถรู้ได้ว่าในช่วงอุณหภูมิที่สูงเกิน 200ºC นั้น อุณหภูมิภายในถังปฏิกรณ์กำลังลงลงสู่ระดับปรกติหรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ่านทั้ง ๓ เรื่องแล้วรู้สึกว่าน่าจะใช้กระบวนการผลิตเดียวกัน