วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2566

สถานีรถไฟ Kurayoshi MO Memoir : Sunday 24 December 2566

สัปดาห์ที่แล้วเล่าเรื่องสถานี Yura ไป อันที่จริงในวันนั้นเส้นทางนั่งรถไฟไปสถานี Yura (สถานีโคนัน) กับเส้นทางกลับนั้นคนละเส้นทางกัน ขาไปเปลี่ยนรถไฟ ๔ ขบวน ส่วนขากลับเปลี่ยนเพียงครั้งเดียว ตอนไปนั้นออกจากตัวเมืองโอซากาไปเปลี่ยนเป็นชินคันเซ็นเพื่อไปเปลี่ยนอีกขบวนที่โอคายามา จากโอคายามาก็มาเปลี่ยนเป็นรถท้องถิ่นที่สถานี Kurayoshi นี้เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานี Yura (ต้องนั่งรถไฟต่อไปอีกสองสถานี) ส่วนขากลับนั้นนั่งจากสถานี Yura มาเปลี่ยนที่ทตโตริแล้วตรงมาที่โอซากาเลย

รูปที่ ๑ สถานี Kurayoshi อยู่ตรงจุดสีแดงในรูป

ตอนไปถึง Kurayoshi ก็เป็นเวลาเลยเที่ยงแล้วพอดี กว่าขบวนถัดไปจะมาก็อีกกว่าหนึ่งชั่วโมง เลยมีเวลาเดินเล่นรอบ ๆ สถานีและหาข้าวเที่ยงกิน ที่ตัวสถานีมีศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวด้วย แต่พอโผล่ออกมาจากสถานีเรียกว่าแทบจะไม่เห็นทั้งคนทั้งรถ โชคดีมีร้านอาหารอินเดียอยู่ใกล้สถานีก็เลยแวะเข้าไปหาอะไรกิน เห็นมีข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวก็เลยลองสั่ง ถ้าเทียบกับบ้านเราแล้วก็เรียกว่ารสอ่อนหน่อยและไม่เผ็ด

ที่ตัวสถานี Kurayoshi นี้มีป้ายบอกชื่อสถานี Kuranogawa ที่อยู่ระหว่าง Yura กับ Yurihama แต่พอเอาชื่อสถานี Kuranogawa ไปค้นใน google ก็ไม่เจอ ไม่รู้ว่ามันเป็นสถานีเก่าที่เคยมีหรือเป็นสถานีสมมุติในการ์ตูน

ฉบับนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องเล่าด้วยรูปเช่นเคย (ภาพบันทึกไว้ในวันอังคารที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลาบ่ายโมงเศษ) และเป็นบันทึกว่าได้ผ่านไปที่ใดมา

รูปที่ ๒ ตอนรอเปลี่ยนรถไฟเดินขึ้นสะพานลอยมายังอีกชานชาลา ก็ขอบันทึกภาพไว้หน่อย มีรถอีกขบวนเข้าจอดพอดี 

รูปที่ ๓ ออกมาจากชานชาลาแล้ว แต่ยังคงอยู่ในตัวสถานี 

รูปที่ ๔ สถานี Kuranogawa ที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

รูปที่ ๕ แผนผังตัวสถานี 

 

รูปที่ ๖ แผนที่ตัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยวที่ติดตั้งอยู่ในตัวสถานี 

รูปที่ ๗ ตัวสถานีเมื่อมองจากด้านนอก 

รูปที่ ๘ ตัวสถานีเมื่อมองจากอีกฟากหนึ่ง 

รูปที่ ๙ บรรยากาศถนนหน้าตัวสถานี

รูปที่ ๑๐ อีกภาพหนึ่งของบรรยากาศถนนหน้าตัวสถานี

รูปที่ ๑๑ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่อยู่ที่ตัวสถานี 

รูปที่ ๑๒ ข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวที่สั่งกินที่ร้านอาหารอินเดีย 

รูปที่ ๑๓ รถไฟขบวนที่นั่งต่อไปยังสถานีโคนัน

วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566

สถานีรถไฟ Yura (สถานีรถไฟโคนัน) MO Memoir : Sunday 17 December 2566

ถ้าไม่ใช่แฟนการ์ตูนเรื่องนี้ ก็คงไม่มีการเดินทางมายังสถานที่นี้ สถานที่ที่ไม่มีอะไรเลย นอกจากพิพิธภัณฑ์ของนักเขียนการ์ตูนคนหนึ่ง โชคดีที่ตัวการ์ตูนตัวที่มีชื่อเสียงของเขานั้นไม่อยู่ที่บ้าน ก็เลยไม่เจอเรื่องเลวร้าย เพราะเด็กรายนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหน ต้องมีคนตายเกือบทุกที่ จนมีคนเขาขนานนามให้เล่น ๆ ว่าเป็น "ตัวกาลกิณีประจำเกาะ"

งานนี้เรียกว่านั่งรถไฟเที่ยวชมบ้านเรือนเขาก็ได้ เพราะขาไปได้เปลี่ยนรถไฟถึง ๔ ชบวน จากที่พักต้องไปขึ้นด่วน Shinkansen ที่สถานี Shin Osaka (เจอรถไฟญี่ปุ่นเสียเวลาหลายนาทีที่สถานีแรก ต้องเปลี่ยนแผนกระทันหัน ไม่งั้นไปขึ้นรถไฟด่วนไม่ทัน) เลยมีโอกาสแวะชิมกาแฟร้อนกับนั่งชมวิวจากรถไฟความเร็วสูง (เป็นครั้งแรกที่ได้นั่งรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ที่เคยนั่งก็มีของอังกฤษ (สมัยเรียนหนังสือ) และของเยอรมัน (ตอนแวะไปเยี่ยมมหาวิทยาลัย Aachen) เพื่อไปเปลี่ยนรถที่สถานี Okayama เป็นรถไฟท้องถิ่นนั่งไปยังสถานี Kurayoshi เพื่อรอเปลี่ยนอีกขบวนไปสถานีรถไฟ Yuri ระหว่างรอก็เลยมีเวลาเดินเล่นรอบสถานีและหาข้าวเที่ยงกิน (โชคดีที่มีร้านขายของกินเปิด เป็นร้านของคนอินเดียแต่มีข้าวกะเพราขายด้วย ก็เลยลองสั่งมากิน) ตอนแรกก็คิดว่าที่ Kurayoshi นี้เป็นเมืองที่เงียบแล้ว แต่ที่ Yuri เงียบกว่าอีก

เมืองนี้เป็นบ้านเกิดของผู้เขียนการ์ตูนโคนัน เมื่อการ์ตูนเขามีชื่อเสียง ก็มีความพยายามดึงรายได้กลับมาสู่บ้านเกิด ด้วยการตั้งพิพิธภัณฑ์ผู้เขียนที่นี่ นอกจากคนญี่ปุ่นที่ขับรถมาเที่ยวแล้ว ผู้โดยสารรถไฟที่เดินทางมาที่นี่จำนวนไม่น้อยเลยก็เป็นคนต่างชาติ (เรียกได้ว่าเป็น soft power ของจริง) ลงรถเสร็จก็เดินตาม ๆ กันไปยังพิพิธภัณฑ์ ขากลับมาขึ้นรถไฟ ก็มีชาวต่างชาติรอรถไฟกันเต็มไปหมด ที่พิพิธภัณฑ์มีจักรยานให้เช่าขี่ชมเมืองด้วย คงเหมาะสำหรับปั่นเล่นชมความสงบของเมืองเล็ก ๆ

รูปที่ ๑ จุดแดงข้างล่างคือตัวสถานี เส้นสีเหลืองคือเส้นทางเดินไปยังพิพิธภัณฑ์ของนักเขียนการ์ตูนโคนัน ระยะทางกิโลเมตรเศษ ๆ ที่ไม่มีร่มเงาให้หลบแดดหรือฝน

รูปที่ ๒ โผล่ออกจากสถานีก็จะเจอเด็กคนนี้ยืนชี้หน้าคนที่เดินออกมา

รูปที่ ๓ หาป้ายชื่อสถานี Yura ภาษาอังกฤษไม่เจอ มีแต่ป้ายสถานีโคนัน

รูปที่ ๔ ออกจากสถานีเดินไปทางซ้าย จะเป็นลานมีรูปปั้นเด็กยืนชี้นิ้ว

รูปที่ ๕ เด็กคนนี้ไง

รูปที่ ๖ ภาพกว้างของบริเวณตัวสถานี

รูปที่ ๗ ถนนตรงหน้าสถานีเขาตั้งชื่อให้เป็นถนนโคนันตามตัวการ์ตูนเลย

รูปที่ ๘ ตัวสถานีเมื่อมองใกล้ ๆ ด้านซ้ายเป็นร้านขายของที่ระลึก ประตูที่อยู่ด้านขวาคือเข้าตัวสถานี

รูปที่ ๙ ห้องขายของที่ระลึกที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวสถานี

รูปที่ ๑๐ จากตัวสถานีมองไปยังฝั่งทิศตะวันออก (ที่มาจากเมือง Tottori) สถานีนี้มี ๓ ชานชาลาด้วยกัน

รูปที่ ๑๑ ปลายชานชาลาฝั่งทิศตะวันออก

 

รูปที่ ๑๒ จากชานชาลา ๑ มองไปยังฝั่งทิศตะวันตก

รูปที่ ๑๓ ปลายขานชาลาฝั่งมุ่งตะวันตก

รูปที่ ๑๔ จากสถานีนี้ไปทางซ้ายคือกลับไปยังเมือง Tottori ส่วนทางขวาไปสิ้นสุดที่ไหนก็ไม่รู้

รูปที่ ๑๕ ป้ายบอกว่าชานชาลา ๑ ส่วนอีกป้ายบอกว่าอะไรก็ไม่รู้ เพราะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่เป็น

รูปที่ ๑๖ ห้องพักผู้โดยสารฝั่งชานชาลา ๒ และ ๓

รูปที่ ๑๗ รถไฟขบวนที่จะนั่งกลับ Tottori กำลังเข้าจอดที่สถานี

รูปที่ ๑๘ ตั๋วรถไฟของขบวนเที่ยวกลับมายัง Tottori

วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ขึ้นบรรทัดใหม่ให้ถูกต้องหน่อยก็ดี MO Memoir : Friday 15 December 2566

 

หายไปหลายวันเพราะเป็นช่วงสอบและตรวจข้อสอบ (แต่อันที่จริงคือไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี)

สัปดาห์นี้พอจะขึ้นลิฟต์ไปทำงานก็เห็นมีป้ายประกาศข้างบนติดไว้หน้าลิฟต์ ตอนแรกที่เห็นก็คิดในใจว่าจะให้เดินขึ้นบันไดไป ๑๐ ชั้นเพื่อไปทำงานหรือ "ชั้น 4" อยู่ระหว่างการก่อนสร้าง แล้วทำไมต้องห้ามใช้ลิฟต์ไปยังทุกชั้นด้วย

อันที่จริงคือชั้น ๔ เขามีการปรับปรุงอาคารขนานใหญ่ เลยมีการปิดกั้นบริเวณและย้ายห้องทำงาน ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วที่ยังมีการสอบนั้นก็ยังมีการใช้พื้นที่บางส่วนอยู่ แต่สัปดาห์นี้มันสิ้นสุดการสอบแล้ว เขาก็คงจะขอปิดบริเวณ

แค่ย้ายคำว่า "ชั้น 4" ไปอยู่ร่วมกับข้อความในบรรทัดบน ความหมายมันก็จะแตกต่างไป

วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2566

รู้ทันนักวิจัย (๒๖) บน simulation ทุกอย่างเป็นได้หมด (ภาค ๕) MO Memoir : Sunday 3 December 2566

หลายปีที่แล้วช่วงปีใหม่ วิศวกรจากโรงแยกแก๊สรายหนึ่งแวะมาคุยกับผม และถามคำถามผมว่าจะเอาแก๊สมีเทนไปทำอะไรดีนอกจากเป็นเชื้อเพลิง (และ steam reforming ที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง) โดยดูเหมือน่วาตัวเขาเองนั้นก็ได้ค้นคว้างานวิจัยว่าที่ผ่านมานั้นมีการทำอะไรกันมาแล้วบ้าง

ผมก็บอกเขาไปว่า อย่างแรกคือ "ให้โยนบทความที่เป็นงาน simulation ทิ้งไปก่อน"

เขาก็ตอบผมกลับมาเลยว่า "แล้วจะเหลืออะไรล่ะ อาจารย์"

กลางเดือนที่แล้วได้ไปนั่งฟังนิสิตปริญญาเอกบรรยายในวิชาสัมมนา เขาก็เอาบทความของเขาที่ "ตีพิมพ์ไปแล้ว" มาบรรยายให้ฟัง งานของเขาเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการดักจับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจาก "Flue gas" เพื่อไปผลิตเป็นสารเคมีที่มีมูลค่าสูงขึ้น

ที่ผมสะกิดใจคือแก๊สที่เป็นแหล่งที่มาของคาร์บอนไดออกไซด์คือแก๊สอะไร เขาก็บอกว่าเป็น "Flue gas" (แก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง)

ก็เลยถามต่อว่าแล้วเขาแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วยวิธีใด เขาก็บอกว่าใช้การดูดชับด้วย zeolite 13X

ก็เลยถามต่อไปอีกว่า แล้วดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจาก zeolite 13X ด้วยวิธีใด เขาก็บอกว่าใช้ concentration gradient (ความแตกต่างของความเข้มข้น) ด้วยการเอาแก๊สมีเทนเข้าไป purge ไล่คาร์บอนไดออกไซด์ที่ zeolite 13X ดูดซับเอาไว้ออกมา เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่ประหยัดพลังงาน เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ความร้อนหรือการลดความดันช่วย

ผมก็ถามเขาต่อว่าแล้วใน "Flue gas" ของคุณประกอบด้วยแก๊สอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าประกอบด้วย ไนโตรเจน, ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์

"แล้ว "น้ำ" ล่ะ" ผมถามต่อ เขาก็ตอบกลับมาว่า "ไม่มี"

รูปที่ ๑ แผนผังกระบวนการที่นำเสนอและคำบรรยายกระบวนการ

จะว่าไปอากาศที่ส่งเข้าไปเพื่อเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้น มันก็มีความชื้นปนอยู่เล็กน้อย และตัวเชื้อเพลิงฟอสซิลเองนั้นก็มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบอยู่ ส่วนจะมีมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อเพลิงนั้นคืออะไร ถ้าเป็นพวกแก๊สธรรมชาติ, ไฮโดรคาร์บอน หรือชีวมวล ก็จะมีมากหน่อย ถ้าเป็นพวกถ่านหินก็ขึ้นอยู่กับเกรด แต่ที่แน่ ๆ ก็คือมันจะมีน้ำปนอยู่เสมอ และก็ไม่แปลกถ้าจะมีพวกสารประกอบกำมะถันปนอยู่ด้วย

สิ่งที่ผมบอกเขาไปก็คือ องค์ประกอบของ flue gas ที่เขาใช้นั้น มันไม่ตรงกับความเป็นจริงที่มันจะมีน้ำปนอยู่เสมอ และน้ำที่ปนอยู่นั้นมันจะจับกับ zeolite 13X ไว้แน่น ไม่หลุดออกมาง่าย ๆ อย่างที่เขาคิดหรอก จากประสบการณ์ของผมเองที่วิเคราะห์แก๊สตัวอย่างที่มีไอน้ำปนด้วยเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟและใช้คอลัมน์ที่บรรจุ zeolite เอาไว้ ช่วงแรก ๆ คอลัมน์จะทำงานได้ดี แต่เมื่อมันดูดซับเอาน้ำไว้มากขึ้น มันจะเริ่มไม่ทำงาน (คือไม่สามารถแยกสารได้) ทำให้จำเป็นต้องไล่น้ำที่ค้างอยู่ในคอลัมน์ออก และวิธีการที่ใช้ก็คือใช้อุณหภูมิสูง (ระดับ 230-240ºC) ทิ้งไว้เป็นเวลานาน (เรียกว่าข้ามวันก็ได้) จึงจะไล่น้ำออกจากคอลัมน์ได้หมด

จริงอยู่แม้ว่าในแผนผังกระบวนการของเขาจะมี Cooler อยู่ทางด้านขาออกของเครื่องคอมเพรสเซอร์ แต่มันจะดึงไอน้ำออกได้เหลือเพียงแค่ไม่เกินความดันไออิ่มตัวของไอน้ำที่อุณหภูมิด้านขาออก ดังนั้นแก๊สด้านขาออกของ Cooler ก็ยังคงมีความชื้นปนด้วยอยู่ดี

ดังนั้นในความเป็นจริง (ถ้ามีการทดลองทำจริง) พอใช้งานไปสักพักกระบวนการนี้มันจะไม่ทำงาน คือแม้ว่าในช่วงแรกมันจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้จนอิ่มตัว และการผ่านแก๊สมีเทนเข้าไปแทน Flue gas จะดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาได้ แต่พอใช้งานไปจน zeolite ดูดซับไอน้ำเอาไว้จนอิ่มตัว มันจะไม่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อีกต่อไป คือไม่สามารถทำการแยกเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจาก Flue gas ได้ เว้นแต่จะมีการไล่น้ำออก

รูปที่ ๒ ผลการทดลองการดูดซับและคายซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย zeolite 13X โดยแก๊สที่ใช้ในการทดลองนั้นไม่มีไอน้ำปนอยู่ การทดลองเป็นการใช้สารดูดซับตัวเดิมทำซ้ำ 5 รอบ

รูปที่ ๓ ผลการทดลองการดูดซับและคายซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย zeolite 13X ในแก๊สที่มีน้ำปน (CO2 48% น้ำ 2.5%) การทดลองเป็นการใช้สารดูดซับตัวเดิมทำซ้ำ 5 รอบ

รูปที่ ๒ และ ๓ นำมาจากเอกสารของบริษัท micromeritics เป็นการทดลองใช้ zeolite 13X บรรจุในเบดนิ่งดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากแก๊สผสม โดยทำการดูดซับจนกระทั่งเบดอิ่มตัว จากนั้นก็ทำการไล่คาร์บอนไดออกไซด์ออกและทำการดูดซับใหม่ รูปที่ ๒ เป็นการทดลองด้วยแก๊สที่ไม่มีน้ำปน จะเห็นว่าผลการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์นั้นทำซ้ำได้ดี แต่พอมีน้ำปน (รูปที่ ๓) ปรากฏว่าความสามารถในการดูดซับน้ำลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความเข้มข้นของไอน้ำในแก๊สน้ำเป็นเพียงแค่ความเข้มข้นอิ่มตัวที่อุณหภูมิ 30ºC เท่านั้นเอง นั่นเป็นเพราะว่า zeolite 13X จับน้ำเอาไว้แน่น ไม่สามารถไล่ได้ด้วยการผ่านแก๊สที่ไม่มีไอน้ำบน (แก๊สแห้ง แต่ไม่ร้อน) เมื่อใช้ซ้ำไปเรื่อย ๆ น้ำจะเข้าไปสะสมในรูพรุนจนทำให้พื้นที่ผิวรูพรุนที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์นั้นลดต่ำลงเรื่อย ๆ เมื่อใช้ซ้ำ

เอกสารของบริษัท BASF (รูปที่ ๔) และบทความที่มีการกล่าวถึงอุณหภูมิที่ต้องใช้ในการไล่น้ำออกจาก zeolite 13X (รูปที่ ๕) ก็บอกไว้ชัดเจนว่าต้องใช้อุณหภูมิในช่วงประมาณ 200-300ºC ดังนั้นถ้าใช้ zeolite 13X ในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจาก flue gas (ที่มีไอน้ำปนอยู่ด้วยเสมอ) จนมันดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จนอิ่มตัว การเอาแก๊สมีเทน (ที่ไม่ร้อน) ไหลผ่านเบด concentration gradient ที่มีนั้นจะดึงเอาเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาได้เท่านั้น โดยน้ำจะยังตกค้างอยู่บนพื้นผิว zeolite 13X ทำให้พื้นผิวที่สามารถทำการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เมื่อนำ zeolite 13X มาใช้งานซ้ำนั้นลดต่ำลง และจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมันไม่สามารถทำการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ได้ (คือองค์ประกอบของแก๊สที่ไหลเข้าเหมือนกับของแก๊สที่ไหลออก

โดยความเห็นส่วนตัวรู้สึกว่า งานนี้เป็นเหมือนบทความของผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ทำการทดลอง และได้รับการประเมินด้วยผู้ไม่มีประสบการณ์ในการทำการทดลองเช่นกัน

รูปที่ ๔ เอกสารของบริษัท BASF เกี่ยวกับคุณสมบัติของ zeolite 13X เอกสารนี้ระบุชัดเจนว่าถ้าต้องการไล่น้ำออกต้องใช้แก๊สที่มีอุณหภูมิสูงระดับ 200-300ºC

รูปที่ ๕ บทความวิจัยที่มีการกล่าวถึงการไล่น้ำออกจาก zeolite 13X ในบทความนี้กล่าวว่าถ้าต้องการไล่น้ำออกต้องใช้แก๊สที่มีอุณหภูมิสูงระดับ 250-300ºC