วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๗ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควมีสองสะพาน MO Memoir : Friday 4 May 2555


ก่อนอื่นก็ต้องขอแสดงความยินดีกับสาวน้อยนักแสดงและสาวน้อยหน้าบานที่ผ่านการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์เมื่อบ่ายวันนี้ไปได้ด้วยดีแม้ว่าจะมีการมั่วคำตอบแบบสุด ๆ อยู่บ้าง ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องกล่าวถึงใน Memoir ฉบับถัดไป

ตอนนี้เราก็ยังเหลืออีกเพียง ๒ คนที่ต้องรออีก ๑๐ วัน

ผ่านเรื่องหนัก ๆ มาหลายเรื่องแล้ว คราวนี้ก็มายังเรื่องเบา ๆ ย้อน ประวัติศาสตร์บ้าง แต่ก็ยังเกี่ยวกับรถไฟอยู่ดี

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาบังเอิญได้มีโอกาส (อย่างไม่ตั้งใจ) ไปค้างที่โรงแรมแห่งหนึ่งใกล้กับสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแคว ทำให้นึกถึงการเดินทางไปเที่ยวที่นั่นเมื่อสองปีก่อนหน้า คือตอนนั้นได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สงครามที่อยู่ริมแม่น้ำใกล้ ๆ กับเชิงสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควฝั่งตัวจังหวัดกาญจนบุรีด้วย และที่ข้างในพิพิธภัณฑ์นั้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำก็มีซากคอสะพานข้ามแม่น้ำแควอยู่ด้วย ตรงนั้นเขาบอกว่าเป็นซากสะพานเก่าที่สร้างขึ้นจากไม้ ก่อนจะถูกรื้อถอนออกไป

รูปที่ ๑ หน้าปกหนังสือ "พันเอกแห่งท่ามะขาม Philip Toosey และสะพานข้ามแม่น้ำแคว)

การไปเที่ยววันนั้นทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ซื้อมาจากร้านขายหนังสือลดราคาที่อยู่ชั้นใต้ดินอาคารจตุรัสจามจุรี หนังสือดังกล่าวชื่อ "The colonel of Tamarkan : Philip Toosey and the bridge on the river Kwai" ซึ่งผมของแปลเป็นไทยว่า "พันเอกแห่งท่ามะขาม Philip Toosey และสะพานข้ามแม่น้ำแคว) หนังสือดังกล่าวเขียนโดยJulie Summers ผู้เป็นหลานของพันเอก Toosey

เนื้อหาในหนังสือเป็นอย่างไรนั้นผมยังไม่มีเวลาอ่าน เพราะต้องอ่านเล่มอื่นอีกสามสี่เล่มให้จบก่อนจึงจะได้คิวอ่านหนังสือเล่มนั้น แต่ในหนังสือเล่มนั้นมีรูปหนึ่งที่ผมชอบก็คือภาพถ่ายทางอากาศของสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควซึ่งแสดงให้เห็นแนวทางรถไฟและบริเวณที่พักเชลยศึกอย่างชัดเจน ตอนที่ญี่ปุ่นสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควนั้นได้สร้างสะพานขึ้นสองสะพาน สะพานหนึ่งเป็นสะพานไม้สร้างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปีค.ศ. ๑๙๔๓ (พ.ศ. ๒๔๘๖) ส่วนสะพานเหล็กสร้างเสร็จในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

รูปที่ ๒ การทิ้งระเบิดสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควในช่วงต้นปีค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) สะพานเหล็กจะอยู่ทางด้านหน้า ส่วนสะพานไม้จะอยู่ทางด้านหลัง (รูปจาก http://www.awm.gov.au/collection/item/P01433.003)

รูปที่ ๓ สะพานเหล็กหลังโดยระเบิดทำลาย เข้าใจว่าเป็นภาพต่อเนื่องจากรูปที่ ๑
(รูปจาก http://www.awm.gov.au/collection/item/P00502.001)

รูปที่ ๔ ภาพถ่ายทางอากาศของกองทัพอากาศอังกฤษในปีค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) แสดงสะพานเหล็กและสะพานไม้ และบริเวณที่ตั้งค่ายเชลยศึกซึ่งในหนังสือบอกว่าอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสะพานไม้ แต่เมื่อเทียบกับแผนที่ที่ถูกต้องแล้วพบว่าภาพที่แสดงในหนังสือเป็นภาพกลับหัว รูปนี้ได้ทำการหมุนภาพเพื่อให้ได้ทิศที่ถูกต้องแล้วคือด้านบนของรูปคือทิศเหนือ (รูปที่ ๙ จากหนังสือ)

รูปที่ ๕ ภาพถ่ายดาวเทียมของบริเวณเดียวกันกับรูปที่ ๒ เมื่อเทียบกับรูปที่ ๒ แล้วคิดว่าแนวเส้นทางรถไฟชั่วคราวที่วิ่งผ่านสะพานไม้ควรจะเป็นแนวตามเส้นประสีเหลืองที่แสดงในรูป โดยฟากตัวจังหวัดกาญจนบุรีนั้นน่าจะอยู่บนแนวถนนนิวซีแลนด์

สะพานดังกล่าวพอสร้างเสร็จก็เป็นเป้าหมายของการทิ้งระเบิดทำลาย กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความสำเร็จในการทิ้งระเบิดทำลายสะพานเหล็ก (รูปที่ ๒ และ ๓) แต่สะพานไม้ยังคงอยู่ ดังนั้นผมคิดว่าการส่งเสบียงของกองทัพญี่ปุ่นนั้นน่าจะยังดำเนินต่อไปได้อีก

เส้นทางรถไฟสายนี้วางแนวเลียบไปตามลำแม่น้ำแควน้อย น่าจะเป็นเพราะต้องการใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางลำเลียงแรงงานและวัตถุดิบในการสร้างทางรถไฟ

ที่เอาเรื่องนี้มาเล่าเพราะเห็นว่าตอนนี้เวลาที่ใคร ๆ ไปเที่ยวสะพานข้ามแม่น้ำแควที่กาญจนบุรี ก็จะไปเยี่ยมชมเฉพาะสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควที่เป็นสะพานเหล็กเท่านั้น เรื่องของสะพานไม้สำหรับรถไฟที่สร้างขึ้นมาคู่กันและเสร็จก่อนนั้นมักไม่ค่อยถูกกล่าวถึง Memoir ฉบับนี้ก็เลยถือโอกาสเปลี่ยนบรรยากาศหารูปภาพเก่าบ้างใหม่บ้างมาให้ดูเปรียบเทียบกัน ถือว่าเป็นการพักผ่อนสำหรับผู้ที่สอบเสร็จแล้ว และเป็นการคลายเครียดสำหรับผู้ที่รอสอบอยู่ก็แล้วกัน

รูปที่ ๖ รูปด้านซ้ายมาจากหนังสือหน้า ๑๔๓ บอกว่าเป็นภาพของสะพานเหล็กเมื่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว บอกว่าถ่ายเอาไว้โดยคนไทยคนหนึ่ง (ไม่มีการระบุชื่อ) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีค.ศ. ๑๙๔๓ (พ.ศ. ๒๔๘๖) และนำมาให้กับ Arthur Osborne (ทหารรับใช้ของพันเอก Philip Toosey) หลังสงครามสิ้นสุด ส่วนรูปด้านขวาเป็นรูปที่ผมถ่ายเอาไว้เอง พอเทียบแล้วคิดว่ารูปด้านซ้ายน่าจะเป็นมุมมองจากทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ฝั่งเส้นทางไปไทรโยค) ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ฝั่งตัวสถานีจังหวัดกาญจนบุรี)