วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เหตุเกิด ๒๒ มิถุนายน (Barbarossa และ Bagration) MO Memoir : Saturday 22 June 2556

"When Barbarossa begins, the world will hold its breath." เป็นคำกล่าวของ Adolf Hiter ในที่ประชุม OKW ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ปีค.. ๑๙๔๑ (.. ๒๔๘๔)

ช่วงเวลานี้ของปีจัดว่าเป็นฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะพวกที่อยู่ใกล้ขั้วโลก เช่นยุโรป อากาศช่วงนี้จะอบอุ่นและระยะเวลาช่วงกลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน
 
ในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองในสมรภูมิยุโรปตะวันออก ช่วงฤดูร้อนจัดเป็นช่วงที่มีการรบกันอย่างดุเดือดขนานใหญ่ และมีปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือวันที่ ๒๒ มิถุนายน แต่แตกต่างกัน ๓ ปี

ปฏิบัติการ Barbarossa หรือ Operation Barbarossa นี้จัดเป็นปฏิบัติการทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การรบของมวลมนุษย์ชาติ มีกำลังพลเข้าร่วมรบมากที่สุด และมีแนวรบยาวที่สุด คือจากทะเลบอลติกทางด้านเหนือไปจนจรดทะเลดำทางด้านใต้ เมื่อกองทัพเยอรมัน ๓ กลุ่มกองทัพคือ Army Group North, Army Group Centre และ Army Group South รวมกำลังกว่า ๓ ล้านนายบุกเข้าโจมตีดินแดนทางตะวันตกของรัสเซียที่มีทหารประจำการอยู่ในจำนวนพอ ๆ กัน ปฏิบัติการดังกล่าวนำไปสู่การรบต่อเนื่องที่มีการนองเลือดที่มีการสูญเสียชีวิตมากที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อสงครามสิ้นสุด คือจำนวนผู้เสียชีวิตในสมรภูมิด้านยุโรปตะวันออกนี้มากกว่าผู้เสียชีวิตในสมรภูมิอื่นของสงครามโลกครั้งที่สองรวมกันทั้งหมด
 
ในบรรดา Army Group ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในปฏิบัติการ Barbarossa นั้น Army Group Centre จัดว่าเป็นกองกำลังที่มีแสนยานุภาพมากที่สุด และได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้เข้าตีกรุงมอสโคว์ แต่ไม่สำเร็จ ในช่วงฤดูร้อนของปีค.ศ. ๑๙๔๒ นั้นกองทัพเยอรมันได้หันไปทุ่มเทให้กับแนวรบด้านทิศใต้ คือการบุกเข้ายูเครนเพื่อเข้าครอบครองพื้นที่การเกษตรและแหล่งถ่านหินในยูเครน และแหล่งน้ำมันในคอเคซัส การบุกในปีนี้ซึ่งนำไปสู่การสู้รบที่เมือง Stalingrad ก่อนที่จะถูกตีโต้กลับในเดือนพฤศจิกายนจนถอยร่นกลับมายังแนวเริ่มต้นในช่วงต้นปีค.ศ. ๑๙๔๓ นายพล Paulus ผู้บังคับบัญชา 6th Army ได้รับการเลื่อนยศจากฮิตเลอร์ให้เป็นจอมพล พร้อมกับกล่าวว่าในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีจอมพลเยอรมันถูกจับเป็นเชลย นั่นหมายถึงต้องการให้จอมพล Paulus ฆ่าตัวตาย (แต่เขาไม่บ้าพอที่จะทำ)

"How many people do you think even know where Kursk is? It's a matter of profound indifference to the world whether we hold Kursk or not." คือความเห็นของนายพล Guderian ต่อปฏิบัติการ Citadel

ปฏิบัติการ Citadel (หรือ Zitadelle) หรือ Battle of Kursk ซึ่งเริ่มในวันที่ ๔ กรกฎาคมจัดได้ว่าเป็นการรบที่ดุเดือดที่สุดในปีค.ศ. ๑๙๔๓ การรบดังกล่าวนำไปสู่สมรภูมิการรบด้วยรถถังครั้งใหญ่ที่สุดของโลก (และคงไม่มีโอกาสเกิดอีกแล้ว) ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม เมื่อรถถังและยานเกราะจากทั้งสองฝ่ายร่วม ๒,๐๐๐ คันเข้าร่วมรบในวันเดียวที่สมรภูมิเมือง Prokhorovka การรบครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทางกองทัพรัสเซียไม่สามารถเพียงแต่ยันการบุกของเยอรมันในฤดูร้อนเอาไว้ได้ แต่ยังสามารถทำการตีโต้ให้กองทัพเยอรมันถอยร่นไปได้ด้วย

รูปที่ ๑ ส่วนหนึ่งของหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงครามที่สะสมไว้ (กว่า ๕๐ เล่ม)
(แถวซ้าย) เล่มบน "Barbarossa : The Russia-German Conflict 1941-45" โดย Alan Clark เขียนในปึ ๑๙๖๕ แต่เล่มที่ผมมีพิมพ์ในปี ๒๐๑๒ ถือเป็นการเปิดฉากตั้งแต่เริ่มบุกไปจนถึงการหยุดอยู่หน้ากรุงมอสโคว์ ส่วนเล่มล่าง "The Retreat : Hitler's first defeat" โดย Michael Jones พิมพ์ในปี ๒๐๐๙ เมื่อความหนาวมาเยือนที่ -40 องศา น้ำมันหล่อลื่นกลายเป็นของแข็ง ทหารยามยืนแข็งตายโดยไม่รู้ตัว กองทัพเยอรมันที่ไปถึงหน้าประตูกรุงมอสโคว์จึงต้องถอยกลับมาตั้งหลัก
(แถวกลาง) เล่มบน "Stalingrad" โดย Anthony Beever พิมพ์ครั้งแรกปี ๑๙๙๘ แต่เล่มที่ผมมีพิมพ์ปี ๒๐๑๑ ทหารเกือบหนึ่งแสนของ 6th Army ที่ถูกปิดล้อมที่เมืองนี้เหลือเพียงไม่ถึงห้าพันนายที่มีชีวิตได้กลับบ้านหลังสงครามสิ้นสุด ส่วนเล่มล่าง "The Battle of Kursk" เขียนโดยพันเอก David. Glantz และ Jonathan House พิมพ์ปี ๑๙๙๙ ทำการวิเคราะห์สงครามรถถังครั้งใหญ่สุดของโลก ทั้งสองเล่มนี้มีการใช้ข้อมูลที่เพิ่งจะได้รับการเปิดเผยจากทางฝั่งรัสเซียหลังจากรัสเซียเปิดประเทศ
(แถวขวา) เล่มบน "Hitler's Greatest Defeat : The collapse of army group centre, June 1944" โดย Paul Adair พิมพ์ปี ๑๙๙๔ ปฏิบัติการของกองทัพรัสเซียในแผนยุทธการ "Bagration" ในเดือนเดียวกับพันธมิตรชาติตะวันตกยกพลขึ้นบกที่ฝรั่งเศส ทัพรัสเซียจัดการทัพเยอรมันไปกว่าสามแสนนายในขณะที่พันธมิตรตะวันตกยังหาทางออกจากหาดไม่ได้ ส่วนเล่มล่าง "Battleground Prussia : The assault on Germany's eastern front 1944-45" โดย Prit Buttar พิมพ์ปี ๒๐๑๒ บรรยายโศกนาฏกรรมของชาวเยอรมันในปรัสเซียเมื่อทัพรัสเซียเป็นฝ่ายเข้ามาเหยียบดินแดนเยอรมัน

ปลายปีค.ศ. ๑๙๔๓ เป็นการถอยร่นครั้งใหญ่ของกองทัพเยอรมันในแนวรบด้านทิศใต้จากดินแดนรัสเซียมาทางตะวันตก ต่อเนื่องมาจนช่วงต้นปีค.ศ. ๑๙๔๔ นำไปสู่การปลดจอมพล Erich von Manstein ออกจากตำแหน่ง ในขณะที่แนวรบด้านทิศเหนือในส่วนของ Army Group North และ Army Group Centre นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
 
มิถุนายนปีค.ศ. ๑๙๔๔ ในขณะที่ชาติพันธมิตรตะวันตกชอบที่จะกล่าวถึงแต่ปฏิบัติ Overlord หรือการยกพลขึ้นบกในวัน D-Day 6 มิถุนายนที่หาดนอร์มังดีประเทศฝรั่งเศส แต่ปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวจัดว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสิ่งที่กองทัพรัสเซียกำลังจะกระทำต่อ Army Group Centre ของเยอรมันในปฏิบัติการ Bagration ที่เริ่มในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ในปฏิบัติการ Bagration นี้กองทัพรัสเซียใช้กำลังทหารกว่าสองล้านนายเข้าจัดการกับ Army Group Centre ผลคือ Army Group Centre ถูกทำลายโดยสูญเสียทหารไปกว่าสามแสนนายหรือประมาณ ๒๘ กองพลจาก ๓๔ กองพล เป็นความเสียหายที่สูงกว่า Stalingrand หลายเท่า ยังผลให้แนวรบด้านตะวันออกนี้ทัพเยอรมันต้องถอยร่นจาก Bellorussia (หรือ White russia หรือเบลลารุสในปัจจุบัน) กลับเข้าไปในโปแลนด์ แคว้นปรัสเซียของเยอรมัน และรัฐทางแถบทะเลบอลติก (เอสทัวเนีย ลิทัวเนีย และลัตเวีย)
 
ปฏิบัติการต่อเนื่องจากปฏิบัติการ Bagration คือการรบเพื่อตัดขาดปรัสเซียจากเยอรมัน แนวรบด้านนี้จัดเป็นแนวรบแรกที่ทหารเยอรมันต้องทำการรบในดินแดนของตนเอง การรบในดินแดนนี้ก่อให้เกิดการอพยพของประชาชนเยอรมันจำนวนมากจากปรัสเซียไปยังเยอรมัน ในช่วงท้ายของสงคราม ทหารเยอรมันทำการรบเพื่อหน่วงเวลาให้ทางกองทัพเรืออพยพประชาชนออกไปให้ได้มากที่สุด อาจจัดได้ว่าเป็นสมรภูมิแหล่งสุดท้ายที่ทหารเยอรมันยอมวางอาวุธ และเมื่อสงครามสิ้นสุดก็ได้มีการอพยพชาวเยอรมันที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้ออกไปจากดินแดนดังกล่าวจนหมด

๒๒ มิถุนายนปีนี้เป็นวันครบรอบ ๗๒ ปีของปฏิบัติการ Barbarossa ที่ได้เปลี่ยนโฉมยุโรปไปตลอดกาล และครบรอบ ๖๙ ปีของปฏิบัติการ Bagration ที่กองทัพรัสเซียทำการล้างแค้นกองทัพเยอรมัน

ไม่มีความคิดเห็น: