วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สรุปปัญหาระบบ DeNOx (ภาค ๔) MO Memoir : Thursday 3 October 2556

เนื้อหาในบันทึกนี้เป็นตอนต่อจากงานที่มอบหมายให้กลุ่ม DeNOx ทดสอบที่กล่าวไว้ในบันทึกปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๗๕ วันอังคารที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๕ (ตอนที่ ๑๓)" เป็นบันทึกการแก้ปัญหาพีค SO2 หายไปที่อุณหภูมิสูง ที่ได้กระทำไปในช่วงวันอังคารที่ ๑ - พฤหัสบดีที่ ๓ ตุลาคมที่ผ่านมา
 
สิ่งที่ผมสงสัยคือมันเกิดปัญหาแบบเดียวกับที่เคยกล่าวไว้ในบันทึกปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๙๔ วันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "สรุปปัญหาระบบ DeNOx (ภาค ๓)" หรือไม่
 
สิ่งแรกที่ได้ให้ทีม DeNOx ทำก็คือ ทดลองลดปริมาณ TiO2 จาก 0.10 g เหลือ 0.07 g และเปลี่ยนท่อเชื่อมด้านขาออกของ Mass flow controller ของ SO2 จากท่อสแตนเลสหัก 90º มาเป็นท่อพลาสติกโค้งดังรูปที่ ๑ ข้างล่าง


รูปที่ ๑ สายท่อพลาสติกที่ใช้ในการเชื่อมต่อด้านขาออกของ Mass flow controller ของ SO2 เข้าเส้นทางการไหลหลัก
 
จากนั้นให้วัดความเข้มข้น SO2 ด้านขาออกที่อุณหภูมิ 200ºC และ 450ºC โดยที่อุณหภูมิ 200ºC นั้นไม่ต้องรอจนกระทั่งระบบเข้าสู่สมดุล (ที่อุณหภูมิต่ำ TiO2 จะดูดซับ SO2 ได้มากกว่าที่อุณหภูมิสูง) เอาแต่เห็นพีคสูงมากพอก็ใช้ได้ แล้วก็ให้ปรับอุณหภูมิ reactor ไปเป็น 450ºC จากนั้นวัดพีค SO2 ใหม่ ถ้าเห็นพีค SO2 ที่ 450ºC มีขนาดเท่ากับหรือใหญ่กว่าพีค SO2 ที่ 200ºC ก็แสดงว่าการลดขนาดเบด (จาก 0.10 g หรือ 0.07 g) และการปรับแนวท่อ (จากท่อหักฉากมาเป็นท่อโค้ง) สามารถลดความต้านทานด้านขาออก และทำให้ SO2 ไหลได้สม่ำเสมอตลอดทั้งช่วงอุณหภูมิทำการทดลอง (200-450ºC)
 
จากผลการทดสอบที่แสดงในรูปที่ ๒ ข้างล่างจะเห็นว่าได้พีค SO2 กลับคืนมาเหมือนเดิมที่ 450ºC (ดูจากการที่พีค SO2 ที่ 450ºC นั้นไม่ได้มีขนาดเล็กกว่าพีค SO2 ที่ 200ºC)
 
งานส่วนนี้กระทำไปในวันอังคารที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖
 
รูปที่ ๒ พีค SO2 ที่อุณหภูมิ 200ºC และ 450ºC ผ่านเบดที่บรรจุ TiO2 0.07 g ที่เห็นว่าพีคที่ 200ºC นั้นต่ำกว่าพีคที่ 450ºC เป็นเพราะไม่ได้รอให้ระบบเข้าสู่สมดุลที่ 200ºC (ถ้ารอก็คงจะได้พีคสูงกว่านี้)

งานถัดมาที่กระทำในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ เป็นการทดสอบว่าตัวปัญหาหลักอยู่ที่ระบบท่อหรืออยู่ที่เบด โดยในการนี้ได้ให้ทำการต่อท่อเข้าเหมือนเดิม (Old line) โดยยังคงใช้เบดที่บรรจุ TiO2 เอาไว้ 0.07 g จากการทดสอบพบว่าพีค SO2 ที่ 450ºC นั้นหายไป (Old line ในรูปที่ ๓ ข้างล่าง) แต่เมื่อทำการเปลี่ยนเป็นท่อพลาสติก ก็ได้พีค SO2 กลับคืนมา แสดงว่าระบบท่อเดิมด้านขาออกของ Mass flow controller ของ SO2 นั้นได้รับผลกระทบมากจากความต้านทานการไหลที่เพิ่มขึ้นเมื่อเบดมีอุณหภูมิสูงขึ้น
 
รูปที่ ๓ พีค SO2 ที่อุณหภูมิ 200ºC และ 450ºC ผ่านเบดที่บรรจุ TiO2 0.07 g การทดสอบนี้เป็นการทดสอบว่าปัญหาอยู่ที่ตัวเบดหรืออยู่ที่ข้อต่อ 3 ทาง โดยในการนี้ได้ทดลองต่อท่อกลับคืนเดิม (Old line) พบว่าที่ 200ºC พีคยังปรากฏเหมือนเดิม แต่ที่ 450ºC นั้นพีค SO2 หายไป แต่พอเปลี่ยนมาเป็นท่อพลาสติก (New line) พบว่าที่ 450ºC ก็ได้พีค SO2 กลับมาเหมือนเดิม แสดงว่าความต้านทานการไหลของข้อต่อสามทางทางด้านขาออกของ Mass flow controller ของ SO2 นั้น ส่งผลต่อการไหลของ SO2 ที่อุณหภูมิสูงอย่างมาก

งานสุดท้ายที่ทำการทดสอบในเช้าวันนี้คือทดลองใช้ท่อพลาสติก (New line) แต่ใช้ปริมาณ TiO2 เป็น 0.10 g (ปริมาณที่ใช้ในการทดลองต่าง ๆ ก่อนหน้านี้) การทดสอบนี้กระทำเพื่อตรวจสอบว่าความต้านทานการไหลระหว่างตัวท่อกับที่เบดนั้น ที่ไหนมีบทบาทสำคัญในการรบกวนการไหลของ SO2 จาก Mass flow controller การทดสอบนี้กระทำที่อุณหภูมิเดียวคือ 450ºC 
  
ผลการทดสอบที่แสดงในรูปที่ ๔ ข้างล่างชี้ให้เห็นว่าตัวปัญหาหลักคือตัวท่อ ไม่ใช่ตัวเบด เพราะไม่ว่าจะใช้ TiO2 0.07 g หรือ 0.10 g ก็ให้พีคที่เหมือนกัน


รูปที่ ๔ พีค SO2 ที่อุณหภูมิ 200ºC และ 450ºC ผ่านเบดที่บรรจุ TiO2 0.10 g การทดสอบนี้เป็นการทดสอบว่าปัญหาอยู่ที่ตัวเบดหรืออยู่ที่ข้อต่อ 3 ทาง โดยในการนี้ได้ใช้ท่อพลาสติก (New line) แต่ใช้ปริมาณ TiO2 0.01 g พบว่าที่ 450ºC ก็ได้พีค SO2 ที่มีขนาดใกล้เคียงกับพีค SO2 ที่ได้เมื่อใช้ TiO2 0.07 g แสดงว่าที่อุณหภูมิสูง ความดันลดคร่อมเบดไม่ได้ส่งผลต่อการไหลของ SO2 มากเหมือนผลของของข้อต่อสามทางทางด้านขาออกของ Mass flow controller ของ SO2

ต่อจากนี้หวังว่าคงไม่มีปัญหาภาค ๕ ตามมาอีกนะ 
  
ว่าแต่ว่าพวกคุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมผมจึงคิดว่าปัญหามันน่าจะอยู่ตรงท่อตำแหน่งนั้นตั้งแต่แรก

ไม่มีความคิดเห็น: