วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เมื่อวัยรุ่นมีข้ออ้างในการนอนดึก-ตื่นสาย MO Memoir : Tuesday 10 February 2558

“เวลาทำงาน” ของงานแต่ละชนิดนั้นขึ้นอยู่กับว่างานนั้นเป็นงานอะไร เวลาทำงานในส่วนสำนักงานนั้นมักจะถูกกำหนดด้วยช่วงเวลาที่สะดวกในการติดต่อกับผู้อื่น (เช่น กลุ่มลูกค้านั้นเป็นผู้ที่ทำงานกลางวันหรือกลางคืน) ส่วนเวลาทำงานในภาคอุตสาหกรรมนั้นมักจะถูกกำหนดด้วยรูปแบบของกระบวนการผลิตเป็นหลัก (เช่น เสร็จสิ้นในเวลาไม่นาน หรือต้องเดินเครื่องต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง) การกำหนด “เวลาทำงาน” รูปแบบนี้ผมว่าอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการกำหนดโดยใช้ความต้องการทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด แต่ถึงกระนั้นก็ตามผมก็ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่าจะปรับเปลี่ยนเวลามาตรฐานประเทศให้ผิดเพี้ยนไปจากเวลาจริงที่ควรเป็น เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลักสำหรับผู้ที่ทำการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้มันควรไปแก้ไขที่เวลาเข้า-ออกงานของแต่ละหน่วยงาน ไม่ใช่ไปทำให้คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง (ที่ดูเหมือนจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ) ต้องสับสนหรือได้รับความลำบากไปด้วย
  
แต่ก็มีงานอยู่ไม่น้อยเหมือนกันที่ต้องทำตามเวลาธรรมชาติ ที่เห็นได้ชัดคืองานภาคการเกษตร เช่นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การออกไปกรีดยาพาราที่ปรกติจะทำกันในช่วงเช้ามืดและเก็บน้ำยางกันตอนสว่าง หรือการออกไปรีดนมวัวที่ทำกันในช่วงเช้า แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความพยายามจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อบิดเบือนเวลาธรรมชาติให้รับเข้ากับสภาพสังคม แต่ก็มักทำได้ในระดับหนึ่ง (อาจจะดัวยความสามารถของเทคโนโลยีเอง หรือค่าใช้จ่าย เช่นในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาเรื่องการก่อความไม่สงบ เคยมีการเสนอให้ใช้สารเคมีเพื่อทำให้น้ำยางไหลได้ดีในเวลากลางวัน จะได้กรีดยางตอนกลางวันได้ ซึ่งจะทำให้การรักษาความปลอดภัยจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทำได้ดีขึ้น) 
   
ในบ้านเราเองในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ได้มีการย้ายเวลาเปิด-ปิดภาคเรียน เพื่อให้ตรงกับของฝรั่ง (ซึ่งมันเหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเขาที่จะเปิดภาคการศึกษาในฤดูกาลดังกล่าว แต่ไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเรา) ซึ่งตรงนี้ผมว่ายังดีที่สถาบันการศึกษาระดับโรงเรียนนั้นไม่ทำตามไปด้วย (ต้องขอขอบคุณมาก) แต่สิ่งหนึ่งที่สถาบันการศึกษายังไม่ค่อยนำมาคิดพิจารณาคือ “เวลาเข้าเรียน” ในตอนเช้า
 
ตอนนี้ดูเหมือนว่า “เวลาเข้าเรียน” สำหรับโรงเรียนต่าง ๆ ในบ้านเราจะใช้เวลาเข้างานของผู้ใหญ่เป็นหลัก คือให้พ่อแม่มีเวลาส่งลูกที่โรงเรียนก่อน จากนั้นจึงค่อยไปทำงาน (อาจเป็นเพราะสภาพสังคมของบ้านเราในขณะนี้ที่ออกไปทำงานนอกบ้านทั้งพ่อและแม่ และการแยกอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว) หรือไม่ก็เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยให้โรงเรียนต่าง ๆ เข้าเรียนที่เวลาแตกต่างกัน แต่ที่เห็นก็คือจะเน้นไปที่ให้นักเรียนเข้าเรียนเช้ามากขึ้น

ปรกติตอนเช้าระหว่างที่ขับรถไปทำงานผมก็มักฟังวิทยุรายการข่าว VOA (Voice of America) ภาคภาษาไทยที่ถ่ายทอดทางสถานีวิทยุจุฬา (101.5 MHz) ในช่วงระหว่างเวลา ๖.๓๐-๗.๐๐ น เป็นประจำ เมื่อวาน (จันทร์ ๙ กุมภาพันธ์) ก็ได้ยินข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับหนังสือที่เขียนโดยนักประสาทวิทยาที่ศึกษาการทำงานของสมองวัยรุ่น ที่รายงานว่านาฬิกาชีวิตของวัยรุ่นนั้นแตกต่างไปจากนาฬิกาชีวิตของคนในวัยอื่น คือทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมที่จะ "นอนดึกและตื่นสาย" กว่าผู้ใหญ่อย่างน้อย ๒-๓ ชั่วโมง
 
ในตอนท้ายข่าวนั้นทางผู้ประกาศข่าวของ VOA ก็เล่าให้ฟังว่าหลายโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการนำเอาความรู้นี้ไปปรับใช้ คือชั้นเรียนสำหรับวัยรุ่น (ช่วงอายุ ๑๒-๑๗ ปี) จะเริ่มตอนสายขึ้น เพื่อให้วัยรุ่นมีเวลานอนพักผ่อนที่เพียงพอ เพื่อที่การเรียนรู้จะได้ดีขึ้น (แต่ไม่ยักบอกว่าเลื่อนเวลาเลิกเรียนออกไปด้วยหรือเปล่า)


เนื้อหาข่าวนำมาจากwww.voathai.com/content/exploring-teen-brian-tk/2634424.html

แต่สำหรับในบ้านเรานั้นดูเหมือนว่าจะทำกลับกัน คือโรงเรียนเด็กเล็กจะเข้าสาย (คงเป็นเพราะกว่าจะจับอาบน้ำแต่งตัว กินข้าวเช้าเสร็จ ก็คงต้องใช้เวลาอยู่ไม่น้อย) แต่โรงเรียนเด็กโตจะเข้าเร็วขึ้น (ไม่รู้ว่าเป็นเพราะต้องการให้เด็กโตเลิกเรียนเร็วขึ้นเพื่อจะได้มีเวลาเรียนพิเศษตอนเย็นมากขึ้นหรือเปล่า)

วัยรุ่นที่อยู่ในเรื่องนี้เป็นวัยรุ่นที่กำลังเรียนอยู่ในระดับโรงเรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยนะ ดังนั้นผู้ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังคงไม่มีข้ออ้าง (ที่อิงจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์) ในการนอนตื่นสายแล้วมาเรียนตอนเช้าไม่ทัน

ไม่มีความคิดเห็น: