ครั้งแรกที่ผมไปถ่ายรูปหัวรถจักรคันนี้ก็เมื่อเดือนมิถุนายน
๒๕๕๔ หรือสี่ปีครึ่งที่แล้ว
ตอนนั้นดูเหมือนว่าเขาเพิ่งจะทำการตกแต่งเสร็จ
(ขอใช้คำว่าตกแต่งแทนบูรณะ
เพราะดูเหมือนแค่ทำการทาสีให้มันสดใส
และปรับบริเวณที่ตั้งรอบ
ๆ ให้มันดูเรียบร้อยสวยงาม)
และได้นำมาลงไว้ใน
Memoir
ปีที่
๓ ฉบับที่ ๓๒๖ วันศุกร์ที่
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เรื่อง
"ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๑๒ รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก(ศรีราชา)"
และนั่นก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับรถไฟเรื่องแรกที่ผมเขียน
เมื่อเช้าวันสิ้นปีที่ผ่านมา
มีโอกาสไปเดินหาซื้อของที่ตลาดข้างที่ว่าการอำเภอศรีราชา
ก็เลยได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมหัวรถจักรคันนี้อีกครั้ง
เลยถือโอกาสถ่ายรูปมาให้ชมกันเพื่อให้เห็นว่าเวลาที่ผ่านไปสี่ปีครึ่งนั้นเกิดอะไรขึ้นกับหัวรถจักรคันนี้บ้าง
ซึ่งคงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก
เพียงแค่ลองกลับไปดูภาพที่ถ่ายไว้เมื่อสี่ปีครึ่งที่แล้วใน
Memoir
ฉบับที่เอ่ยมาข้างต้นก็จะทราบได้เอง
ในรูปข้างบน
ตรงปล่องระบายควันมีหญ้าแห้งโผล่อยู่
ไม่รู้เหมือนกันว่ามันไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร
อาจเป็นนกคาบเศษกิ่งไม้ขึ้นไปทำรังจนกระทั่งกลายเป็นดินให้หญ้างอกขึ้นก็ได้
แถมด้านหน้ายังมีพวงมาลัยห้อยอยู่อีก
ไม่รู้ว่าเอามาห้อยเล่น ๆ
หรือเอามาบนบานอะไร
ส่วนรูปถัดไปมีใครก็ไม่รู้เอากางเกงยีนส์มาพาดตากเอาไว้
แถมยังมีแมวขึ้นไปนอนเล่นอยู่ด้วยหนึ่งตัว
(หาเจอไหมครับ)
รูปข้างบนและอีก
๒ รูปถัดไปเป็นส่วนด้านหลังที่เป็นที่ทำงานของพนักงานขับรถ
บริเวณส่วนพื้นและลำตัวก็ผุพังไปตามเวลา
ถ้าไม่ใช่เพราะกิจการป่าไม้
สถานที่ที่เป็น "อำเภอ
ศรีราชา"
ในปัจจุบันก็คงจะไม่ได้ยกฐานะขึ้นเป็นตัวอำเภอ
คงเป็นเพียงแค่ตำบลหนึ่งในสังกัด
"อำเภอ
บางพระ"
แทน
และกิจการป่าไม้นี้ก็คงมีส่วนที่ทำให้ป่าทึบตั้งแต่
บางพระ ศรีราชา แหลมฉบัง
ไปจนจรดเขาสอยดาวที่จันทบุรี
ที่เคยมีปรากฏในเรื่องเล่าและนำมาใช้เป็นฉากในนิยายต่าง
ๆ ของนักประพันธ์อาวุโสบางท่านนั้นสูญหายไป
บ่อยครั้งในระหว่างการเดินทางผมรู้สึกว่า
"ความสวยงาม"
ของการเดินทางท่องเที่ยวในบางเส้นทางนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ตรงที่
"ปัจจุบัน"
เราได้มองเห็นอะไรในสถานที่เหล่านั้น
แต่มันขึ้นอยู่กับ "อดีต"
ของสถานที่แห่งนั้นที่เราได้เคยเห็น
ได้เคยอ่าน หรือได้เคยรับฟังมา
ผมเองไม่คิดว่าความสวยงามนั้นต้องมาพร้อมกับสิ่งก่อสร้างราคาแพง
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างที่มีการสร้างขึ้นภายหลัง
หรือสวนดอกไม้ พืชไร่ ต่าง
ๆ
ที่มนุษย์ไปสร้างขึ้นกลางป่าธรรมชาติด้วยการไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้เป็นจุดขายเพื่อการท่องเที่ยวหรือประโยชน์ทางธุรกิจ
มีกี่รายที่เคยหวนคิดว่าตามยอดเขายอดดอยต่าง
ๆ ที่ไปพักผ่อนชมสิ่งที่คนปัจจุบันเรียกว่า
"ธรรมชาติ"
นั้น
เดิมเป็นป่าเขาที่รกทึบและมีการสู้รบกันมากแค่ไหน
พื้นที่บนยอดเขาที่ปัจจุบันเป็นวัดหรือสิ่งก่อสร้างที่ดูหรูหรานั้น
เดิมเป็นป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงใด
เรื่องเล่าที่เล่าถึงพระภิกษุผู้ทรงศีล
ที่เดินธุดงค์เข้าป่า
เพื่อการฝึกตนและทดสอบตนเอง
ในสถานที่ที่ปราศจากการรบกวนของบุคคลภายนอก
ไปปลีกวิเวกอยู่ในถ้ำต่าง
ๆ ที่หาความสะดวกสบายไม่ได้
ก็คงจะไม่มีเพิ่มเติม
ปัจจุบันเห็นแต่การเข้าป่าเพื่อหาสถานที่ที่มีวิวทิวทัศน์ดี
ๆ
เพื่อเรียกหาญาติโยมให้ไปช่วยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสร้างสิ่งก่อสร้างที่โปรโมทว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาบริจาคเงิน
บางครั้งในขณะที่ขับรถไปตามเส้นทางที่สมัยหนึ่งนั้นเคยเป็นทางรถไฟที่ใช้ขนไม้จากป่าลึกมายังท่าเรือที่เกาะลอย
ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นรถไฟขนอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลนั้น
ผมยังอดคิดไม่ได้ว่าคนขับรถไฟคันเล็ก
ๆ ในยุคสมัยนั้น
เขามีโอกาสได้พบเห็นอะไรบ้างตามเส้นทางการเดินทางตามรางเล็ก
ๆ ลึกเข้าไปในป่าลึกของภาคตะวันออก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น