ความรู้ดั้งเดิมที่คนที่หากินกับท้องทะเลจะต้องรู้กันก็คือ
เวลาน้ำขึ้น-น้ำลง
และ ทิศทางลม
ทิศทางลมที่พัดอยู่ริมชายฝั่งทะเลนั้นตอนกลางวันและตอนกลางคืนแตกต่างกัน
วิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสอนให้เราทราบว่าสาเหตุเป็นเพราะตอนกลางวันพื้นดินจะร้อนมากกว่าท้องน้ำ
ทำให้อากาศทางด้านพื้นดินร้อนมากกว่า
และลอยตัวสูงขึ้นบน
อากาศทางด้านพื้นน้ำที่เย็นกว่าก็จะไหลเข้ามาแทนที่
กลายเป็นลมที่เรียกว่า"ลมทะเล"
ที่พัดเข้าหาฝั่ง
แต่ในตอนกลางคืนลมจะพัดกลับทิศกัน
ด้วยว่าพื้นดินนั้นเก็บความร้อนได้น้อยกว่าพื้นน้ำ
ดังนั้นพอไม่มีแสงอาทิตย์ส่อง
พื้นดินก็จะเย็นเร็วกว่าพื้นน้ำ
อากาศทางฝั่งพื้นน้ำที่อุ่นกว่าก็จะลอยตัวขึ้น
อากาศเย็นทางฝั่งพื้นดินก็จะไหลเข้าไปแทนที่
กลายเป็น "ลมบก"
ที่พัดออกจากฝั่ง
และในสมัยที่ชาวประมงยังใช้เรือใบในการออกจับปลา
ก็ได้อาศัยลมนี้ในการแล่นเรือออกจากฝั่ง
ก่อนที่จะกลับเข้าฝั่งในตอนกลางวันด้วยลมทะเล
ปลายปีที่แล้วในช่วงเวลาประมาณนี้ของปี
ได้มีโอกาสนั่งคุยกับวิศวกรเคมีท่านหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่โรงงานปิโตรเคมีแห่งหนึ่งที่อยู่ริมทะเลที่จังหวัดระยอง
ระหว่างการสนทนานั้นก็มีการคุยกันถึงเรื่องลมฟ้าอากาศและขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง
ๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานในสายอาชีพวิศวกร
ผมเองก็เคยเห็นกรณีที่รุ่นพี่วิศวกรโยธาเจอปัญหาเกี่ยวกับงานก่อสร้างที่ไปตรงกับฤดูการเกี่ยวข้าวที่ทำให้ในเกิดปัญหาการหาแรงงานมาทำงานไม่ได้
เพราะในช่วงเวลานั้นแรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่ในบ้านเราส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทางภาคอีสาน
ระหว่างที่รอให้ต้นข้าวออกรวงนั้นก็ยกขบวนเดินทางออกจากหมู่บ้านกันเป็นกลุ่ม
(เรียกว่ายกครอบครัวหรือยกหมู่บ้านเลยก็ได้)
เพื่อไปรับจ้างเป็นแรงงานในภาคส่วนต่าง
ๆ แต่เมื่อได้เวลาต้องเก็บเกี่ยวข้าวเมื่อใด
เขาก็จะยกพวกกันกลับบ้านกันหมดเพื่อไปเกี่ยวข้าว
ดังนั้นถ้าใครมีงานที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากก็จะมีปัญหาหาคนงานไม่ได้
แต่ในปัจจุบันปัญหานี้อาจจะลดลงไปบ้างเนื่องจากมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแทน
วิศวกรเคมีที่ผมสนทนาด้วยท่านนั้นก็ได้ยกตัวอย่างที่ท่านเคยประสบที่ทำให้รู้ว่าวิศวกรเคมีเองก็จำเป็นต้องรู้สภาพอากาศของที่ตั้งโรงงานในแต่ละฤดูกาลด้วย
โดยท่านได้ยกตัวอย่างกรณีของการล้างทำความสะอาดถังเก็บของเหลวที่อยู่ใกล้ทะเลเพื่อทำการซ่อมบำรุง
ถังในที่นี้คือ Tank
ในภาษาอังกฤษที่เป็นภาชนะเก็บของเหลวขนาดใหญ่
และเนื่องด้วยขนาดของถังที่ใหญ่มากจึงทำให้แม้ว่าจะมีการระบายของเหลวออกไปจากถังจนหมดแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังมีส่วนที่ตกค้างอยู่ในปริมาณพอสมควร
ซึ่งส่วนนี้แหละที่ก่อให้เกิดปัญหาเมื่อเปิดถังออกเพื่อทำการจัดการกับส่วนที่เหลือ
ส่วนที่ตกค้างอยู่นี้จะมีการเล็ดรอดฟุ้งกระจายไปในอากาศ
ยิ่งช่วงเวลากลางวันที่มีลมทะเลพัดเข้าหาฝั่ง
ลมจะพัดเอาไอสารเคมีไปทางชุมชนที่อยู่ห่างทะเลออกไป
ก่อให้เกิดปัญหาการร้องเรียนเรื่องกลิ่นสารเคมีจากชุมชนรอบโรงงานเป็นประจำ
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทำงานดังกล่าวที่เขาเล่าก็คือ
ช่วงเวลาที่หย่อมความกดอากาศสูงจากประเทศจีนกำลังแรงลงมาปกคลุมประเทศไทย
หย่อมความกดอากาศสูงนี้จะนำลมหนาวพัดมาจากประเทศจีน
เข้าไทยทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือพัดลงใต้
เพราะช่วงเวลานี้ลมจะพัดออกทะเลตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
(ภาคใต้ไม่เกี่ยวนะ)
ดังนั้นไอสารเคมีที่หลุดรอดออกมาจากถัง
(ถ้ามี)
ในระหว่างการเตรียมการล้างนั้นก็จะถูกพัดพาออกทะเลไป
(เป็นสถานที่ที่ไม่มีใครไปอยู่อาศัย)
ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงาน
รูปที่
๑ แผนที่อากาศ ณ วันนี้เวลา
๑๓.๐๐
น (เวลาประเทศไทย)
หย่อมความกดอากาศสูงนี้ยังส่งผลต่อทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิคทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ที่ปรกติจะเคลื่อนไปทางตะวันตกและค่อย
ๆ เบี่ยงขึ้นเหนือ
โดยหย่อมความกดอากาศสูงนี้จะทำให้พายุเบี่ยงไปทางเหนือมากขึ้นจนอาจวกกลับไปโดยไม่เข้าฝั่งประเทศใด
แต่ถ้าเป็นพายุที่ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้หรือเป็นพายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิคทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์แต่ใกล้เส้นศูนย์สูตร
หย่อมความกดอากาศสูงนี้จะกันไม่ให้พายุเคลื่อนทางทิศตะวันตกตัวเฉียงขึ้นเหนือ
โดยทำให้พายุการเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกหรืออาจมีการเฉียงลงใต้ด้วย
ผลที่เกิดขึ้นก็คือพายุที่เกิดขึ้นมีโอกาสที่จะเดินทางอ้อมแหลมญวน
เข้าสู่อ่าวไทย
และขึ้นฝั่งทางภาคใต้ของประเทศไทย
พายุลูกหนึ่งที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ที่ผ่านไปไม่นานนี้เห็นจะได้แก่พายุ
"ทุเรียน"
ที่เคลื่อนที่ผ่านประเทศไทยตรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ก่อนไปสลายตัวในทะเลอันดามัน
(Memoir
ปีที่
๖ ฉบับที่ ๖๔๙ วันศุกร์ที่
๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ เรื่อง
"เมื่อทุเรียนต้องหลีกทางให้มังคุด")
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น