ที่ทิ้งห่างจากการเขียนเรื่องวิชาการไปครึ่งเดือน
เป็นเพราะต้องเตรียมการสอบและส่งผลการสอบ
ตอนนี้พอจะมีเวลาว่างบ้างแล้ว
ก็เลยขอกลับมาเขียนเรื่องนี้ต่อ
โดยตอนที่ ๓
ของเรื่องไฟฟ้าสถิตกับงานวิศวกรรมนี้
ก็ยังอิงเนื้อหาจากบทความเรื่อง
"Static
Electricity : Rules for Plant Safety" ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
Plant/Operation
Progress vol. 7 No. 1 หน้า
1-22
เดือนมกราคม
ปีค.ศ.
๑๙๘๘
เช่นเดิม แต่ตอนที่ ๓
นี้ขอกระโดดไปยังเนื้อหาใน
Part
III ของบทความดังกล่าว
(ในหน้า
๑๘ และ ๑๙)
ที่กล่าวถึงทฤษฎีพื้นฐานของการเกิดไฟฟ้าสถิตย์
อนึ่งความรู้ในบทความนี้เป็นความรู้เมื่อ
๓๐ ปีที่แล้ว
ที่บางเรื่องนั้นในบทความยังกล่าวว่ายังไม่มีเหตุผลอธิบายได้ชัดเจน
ซึ่งตอนนี้จะมีแล้วหรือยังผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
แต่สิ่งที่น่าสนใจของบทความนี้คือมันให้ภาพเกี่ยวกับ
"การปฏิบัติงานจริง"
ที่ทำให้เกิดปัญหาหรือป้องกันการเกิดปัญหาเนื่องจากการสะสมประจุไฟฟ้าสถิตย์ได้
รูปที่
๑๒
ข้างล่างเป็นภาพแสดงการเกิดไฟฟ้าสถิตเมื่อวัตถุสองชนิดที่แตกต่างกันมาสัมผัสกัน
และแยกตัวออกจากกัน
ในช่วงที่สัมผัสกันนั้นจะมีการถ่ายเทอิเล็กตรอนจากวัตถุหนึ่งไปยังอีกวัตถุหนึ่ง
เมื่อวัตถุทั้งสองชิ้นแยกตัวออกจากกันจะทำให้วัตถุหนึ่งมีอิเล็กตรอนมากเกิน
และอีกวัตถุหนึ่งขาดอิเล็กตรอน
คำอธิบายนี้ใช้ได้กับการเทผงอนุภาคออกจากถังบรรจุ
(ตัวอย่างที่
๒ ในตอนที่ ๑)
และการเดินของคนบนพรมที่ไม่นำไฟฟ้า
(ตัวอย่างที่
๗ ในตอนที่ ๑)
แต่ดูแล้วมันไม่น่าใช้กับกรณีของวัตถุชนิดเดียวกันที่สัมผัสกันและแยกตัวออกจากกันเช่นในกรณีของการคลี่ม้วนฟิล์ม
(ตัวอย่างที่
๔ ในตอนที่ ๑)
ถ้าหากวัตถุทั้งสองที่สัมผัสกันนั้นเป็นตัวนำไฟฟ้า
ค่าการนำไฟฟ้าที่สูงจะทำให้เกิดการสะเทินประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้น
ณ ตำแหน่งพื้นผิวสัมผัสในระหว่างการแยกตัวออกจากกัน
ทำให้ไม่เกิดการสะสมประจุไฟฟ้าสถิต
แต่ถ้าวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งมีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า
ก็จะตรวจพบการสะสมประจุไฟฟ้าสถิตย์บนพื้นผิวได้
(ฉนวนไฟฟ้าในที่นี้คือวัตถุที่มีความต้านทานมากกว่า
1011
ohm เมื่อวัดด้วยวิธีการตามมาตรฐาน
DIN
53482)
รูปที่
๑๒ การเกิดไฟฟ้าสถิตบนพื้นผิววัสดุสองชนิดที่แตกต่างกัน
ที่มีการสัมผัสและแยกออกจากกัน
สาเหตุการเกิดไฟฟ้าสถิตในของเหลวที่ไหลอยู่ในท่อนั้นแตกต่างออกไป
รูปที่ ๑๓
เป็นภาพแบบจำลองการเกิดประจุไฟฟ้าสถิตเมื่อของเหลวไหลอยู่ในท่อ
ในแบบจำลองที่ยกมานั้นผิวท่อจะเลือกดูดซับประจุใดประจุหนึ่งไว้บนพื้นผิว
(ในรูปคือประจุบวก
+)
และก่อให้เกิดชั้นที่สองที่อยู่เหนือชั้นแรกนี้แต่มีประจุที่ตรงข้ามกัน
(ในรูปคือประจุลบ
-)
ก่อตัวขึ้นบนพื้นผิวของชั้นแรก
ความหนาแน่นของประจุในชั้นที่สองนี้จะมากในบริเวณใกล้ผิวท่อ
และลดลงเมื่ออยู่ห่างจากผิวท่อ
และยังเคลื่อนตัวไปตามของเหลวที่ไหลไปตามท่อ
ในกรณีที่ของเหลวที่ไหลในท่อนั้นเป็นของเหลวที่นำไฟฟ้า
ประจุที่เกิดขึ้นนั้นจะถูกสะเทินในขณะที่ของเหลวนั้นยังไหลอยู่ในท่อ
แต่ในกรณีที่ของเหลวนั้นเป็นของเหลวไม่นำไฟฟ้า
เมื่อของเหลวนั้นไหลออกจากท่อลงสู่ภาชนะบรรจุ
ก็จะทำให้ของเหลวในภาชนะบรรจุนั้นมีประจุตามไปด้วย
นอกจากนี้ไฟฟ้าสถิตยังเกิดได้กับอนุภาคของแข็งหรือหยดของเหลวที่เคลื่อนที่ในเฟสแก๊ส
โดยไม่ขึ้นอยู่กับค่าการนำไฟฟ้าของอนุภาคของแข็งหรือของเหลวนั้น
กรณีพิเศษกรณีหนึ่งของการเกิดไฟฟ้าสถิตคือเมื่อของเหลว
(โดยเฉพาะของเหลวที่นำไฟฟ้า)
ถูกฉีดพ่นออกเป็นละอองฝอย
เรียกว่า "Lenard
effect" เช่นในกรณีของน้ำ
หยดน้ำขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะมีประจุลบ
ในขณะที่หยดน้ำขนาดที่ใหญ่กว่ามีแนวโน้มที่จะมีประจุบวก
รูปที่
๑๓ การเกิดไฟฟ้าสถิตเนื่องจากการไหลของของเหลวในท่อ
ปรากฏการณ์
Lenard
effect ที่หยดน้ำที่แตกกระจายตัวออกเป็นหยดเล็ก
ๆ นั้นกลายเป็นอนุภาคมีประจุ
โดยเฉพาะตัวประจุลบนั้น
มีผู้นำไปใช้อธิบายว่าทำไมอากาศบริเวณน้ำตกหรือชายทะเลจึงช่วยในการรักษาสุขภาพ
เพราะประจุลบในอนุภาคหยดน้ำเล็ก
ๆ (ที่เกิดจากน้ำตกกระทบพื้นหรือคลื่น)
นั้นช่วยในการสะเทินอนุมูลอิสระ
ทำให้มีการนำเอาปรากฏการณ์ดังกล่าวมาใช้ในการขายสินค้าบางชนิด
เช่น ฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น
รูปที่ ๑๔
เป็นตัวอย่างโฆษณาหัวฝักบัวอาบน้ำที่บอกว่าสามารถสร้างอนุภาคมีประจุลบได้
(Lenard
effect)
รูปที่
๑๔
โฆษณาหัวฝักบัวอาบน้ำที่บอกว่าทำให้เกิดอนุภาคที่มีประจุลบเนื่องจากการแตกตัวของหยดน้ำ
(Lenard
effect) รูปนี้นำมาจากไฟล์ที่ปรากฏในเว็บ
Slide Share
(ลองหาเอาเองก็แล้วกันนะครับ
เพราะผมเองก็ไม่ได้ประสงค์จะโฆษณาสินค้า)
ละอองของเหลวขนาดเล็กยังเกิดได้ในขณะทำเติมของเหลวลงถังบรรจุ
โดยเฉพาะเมื่อปลายท่อจ่ายของเหลวอยู่สูงจากพื้นหรือระดับของเหลวด้วย
เพราะเมื่อของเหลวเหล่านั้นตกกระทบพื้นหรือผิวของเหลวที่อยู่ต่ำลงไปมากจะทำให้เกิดการแตกตัวออกเป็นหยดของเหลวเล็ก
ๆ (เกิดอนุภาคมีประจุได้ด้วย
Lenard
effect)
ด้วยเหตุนี้ในการถ่ายของเหลวจึงมักจะให้ปลายท่อจ่ายของเหลวนั้นจุ่มอยู่ใต้ผิวของเหลวในภาชนะรองรับ
(เพราะมันไม่ทำให้เกิดการแตกตัวของของเหลวออกเป็นหยดเล็ก
ๆ)
อีกรูปแบบของการเกิดไฟฟ้าสถิตคือเกิดจากการเหนี่ยวนำ
เมื่อตัวนำไฟฟ้าที่มีการป้องกันด้วยฉนวนไฟฟ้าไปเข้าใกล้กับวัตถุที่มีประจุไฟฟ้า
(รูปที่
๘ ในตอนที่ ๑)
ด้านของตัวนำที่อยู่ใกล้กับวัตถุที่มีประจุไฟฟ้านั้นจะถูกเหนี่ยวนำให้มีประจุไฟฟ้าที่ตรงข้ามกัน
และถ้าหากประจุชนิดใดชนิดหนึ่งบนตัวนำนั้นสามารถรั่วไหลออกไป
และความเป็นฉนวนไฟฟ้าของตัวนำไฟฟ้านั้นกลับมาเป็นดังเดิม
ตัวนำไฟฟ้านั้นก็จะมีประจุไฟฟ้าสะสมแม้ว่าจะถูกนำออกมาห่างจากวัตถุที่มีประจุไฟฟ้านั้น
สำหรับตอนนี้คงจบเพียงแค่นี้ก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น