วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รู้ทันนักวิจัย (๑๙) ลาก Base line อย่างไร ตอน NH3-TPD MO Memoir : Thursday 11 October 2561

Thermal conductivity detector ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า TCD (หรือในชื่อเก่าว่า Katharometer) เป็นอุปกรณ์วัดตัวหนึ่งที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง การวัด องค์ประกอบ ความเร็ว และอุณหภูมิ ของแก๊สที่ไหลผ่านตัว TCD ที่เปลี่ยนแปลงไป การทำงานของ TCD อาศัยการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างความสามารถในการระบายความร้อนออกจากขดลวดความร้อน ในงานที่ใช้วัดองค์ประกอบของแก๊สที่ไหลผ่านว่าเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้นจะใช้ขดลวดสองขด โดยขดหนึ่งนั้นเป็นตัวอ้างอิง (reference) และอีกขดหนึ่งนั้นเป็นขดลวดที่ให้แก๊สที่ต้องการวิเคราะห์ไหลผ่าน
 
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการระบายความร้อนออกจากขดลวดความร้อนได้แก่
๑. อัตราการไหล โดยแก๊สที่ไหลเร็วจะระบายความร้อนได้ดีกว่าแก๊สที่ไหลช้ากว่า
๒. อุณหภูมิของแก๊ส โดยแก๊สที่เย็นกว่าจะระบายความร้อนได้ดีกว่าแก๊สที่ร้อนกว่า และ
๓. องค์ประกอบของแก๊ส โดยแก๊สที่มีน้ำหนักโมเลกุลที่ต่ำกว่าจะระบายความร้อนได้ดีกว่าแก๊สที่มีน้ำหนักโมเลกุลที่สูงกว่า
 
ในการวิเคราะห์องค์ประกอบนั้น สิ่งที่เราต้องควบคุมให้คงที่คือ อัตราการไหล และอุณหภูมิ ของแก๊สที่ไหลผ่านขดลวดแต่ละขดของตัว TCD ทั้งนี้เพื่อให้สัญญาณที่ตัว TCD ส่งออกมานั้นเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากในกรณีของการวิเคราะห์ที่ "อุณหภูมิคงที่" แต่มักจะมีปัญหาเมื่อทำการวิเคราะห์แบบที่มี "การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ"


รูปที่ ๑ แผนผังอย่างง่ายของอุปกรณ์ที่ใช้ TCD ในการวัดองค์ประกอบของแก๊สที่เปลี่ยนแปลงไป รูปบนคือเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟ (gas chromatograph หรือ GC) รูปล่างเป็นของอุปกรณ์พวก Temperature programmed techniques

ตัวอย่างเช่นในกรณีของเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟ (ดูรูปที่ ๑ ประกอบ) แก๊สที่ไหลเข้าขดลวดอ้างอิงและขดลวดที่เป็นตัววัดองค์ประกอบนั้นเป็นแก๊สคนละเส้นทางกัน ในตอนปรับตั้งเครื่องนั้นเราสามารถที่จะตั้งให้อัตราการไหลของแก๊สทั้งสองสายนั้นเท่ากันได้ และถ้าคอลัมน์ที่แก๊สไหลผ่านนั้นมีความยาวเพียงพอ ก็จะทำให้อุณหภูมิของแก๊สทั้งสองสายที่ไหลเข้า TCD นั้นเท่ากันได้ ซึ่งจะเท่ากับอุณหภูมิของตัว oven ที่ติดตั้งคอลัมน์ทั้งสอง
 
แต่ถ้าเราทำการวิเคราะห์โดยมีการเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์ให้สูงขึ้นระหว่างการวิเคราะห์ สิ่งที่มักจะเห็นกันก็ TCD จะส่งสัญญาณออกมา ซึ่งทำให้เส้น base line มีการเปลี่ยนแปลงไป (และมักจะทำซ้ำไม่ค่อยได้) การที่ TCD ส่งสัญญาณออกมานี้ไม่ได้เกิดจากแก๊สที่ไหลผ่านขดลวดทั้งสองมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน แต่เกิดจากการที่แก๊สที่ไหลผ่านขดลวดทั้งสองนั้นมี "อุณหภูมิ" และ/หรือ "อัตราการไหล" ที่แตกต่างกัน 
  
สัญญาณที่ TCD ส่งออกมานี้เป็นผลมาจากการที่คอลัมน์ที่ใช้ในการวิเคราะห์และใช้กับสายอ้างอิงนั้นไม่เหมือนกัน จึงทำให้แก๊สที่ไหลผ่านคอลัมน์ทั้งสองไม่ได้มีอุณหภูมิสูงขึ้นในอัตราเดียวกัน แก๊สที่ไหลผ่าน TCD จึงมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน และด้วยการที่แก๊สนั้นเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นจะมีความหนืดขึ้น จะทำให้ความเร็วของแก๊สที่ไหลผ่านคอลัมน์ทั้งสองนั้นลดต่ำลง (ในกรณีที่ใช้การปรับความดันด้านขาเข้าเพียงอย่างเดียวในการปรับอัตราการไหล) ตรงนี้ถ้าใครมีเครื่อง GC ที่ติดตั้งตัวตรวจวัดชนิด TCD ก็สามารถลองเล่นดูได้ โดยทดลองเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์ให้สูงขึ้นด้วยอัตราเร็วตามที่กำหนดโดยไม่มีการฉีดสารตัวอย่าง แล้วคอยดูว่าสัญญาณที่ออกมานั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
 
เทคนิคการวิเคราะห์โดยมีการเพิ่มอุณหภูมิตัวอย่างให้เพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่กำหนดในระหว่างการวิเคราะห์นั้น (ที่เรียกว่า Temperature programmed technique) เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงทีเกิดขึ้น เป็นเทคนิคหนึ่งที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยา แผนผังอย่างง่ายของอุปกรณ์ตระกูลนี้แสดงไว้ในรูปที่ ๑ โดยตัวตรวจวัดที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือตัว TCD
 
ในการออกแบบนั้นจะให้แก๊สไหลเข้า TCD ฝั่งขดลวดอ้างอิงก่อน จากนั้นจึงให้แก๊สตัวนี้ไหลผ่านคอลัมน์บรรจุตัวอย่างที่ติดตั้งอยู่ใน oven ที่ควบคุมอุณหภูมิตัวอย่าง แก๊สที่ไหลผ่านตัวอย่างออกมาอาจผ่านเข้า cold trap (จะมีการใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรูปแบบการวิเคราะห์) ก่อนที่จะไหลเข้าสู่ขดลวดที่สอง สิ่งที่คาดหวังจะเห็นกันก็คือ สัญญาณที่ TCD ส่งออก
 
มานั้นควรเป็นผลจากการที่แก๊สที่ไหลเข้าขดลวดอ้างอิงกับที่ไหลออกมาจากตัวอย่างนั้นมี "องค์ประกอบที่แตกต่างกัน" เท่านั้น
 
แต่เอาเข้าจริงมันมักไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้แต่เราเอาวัสดุที่เฉื่อยบรรจุไว้ในคอลัมน์ แล้วทดลองเพิ่มอุณหภูมิคอลัมน์ให้สูงขึ้น เราก็ยังเห็น TCD ส่งสัญญาณออกมาอยู่ดี ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบของแก๊สที่ไหลผ่านขดลวดทั้งสองเหมือนกัน ดังเช่นตัวอย่างที่นำมาแสดงในรูปที่ ๒ ที่ให้เฉพาะแก๊ส He ไหลผ่านคอลัมน์ที่บรรจุ TiO2 เอาไว้ แล้วทำการเพิ่มอุณหภูมิและลดอุณหภูมิสลับกัน ๓ ครั้ง จะเห็นว่า TCD ส่งสัญญาณออกมาเหมือนกับมีพีค แต่ในความเป็นจริงนั้นสิ่งที่เห็นมีรูปร่างเหมือนพีคนั้นคือ Base line รายละเอียดของการทดลองนี้อ่านได้ใน Memoir ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๒๕๖ วันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่อง "NH3-TPD การลาก base line (๒)"
 
สาเหตุที่ TCD ส่งสัญญาณออกมาก็เพราะเมื่ออุณหภูมิคอลัมน์สูงขึ้น แก๊สจะมีความหนืดมากขึ้น จึงไหลผ่านเบดตัวอย่างที่บรรจุอยู่ในคอลัมน์ได้ยากขึ้น ในกรณีนี้ถ้าเราวัดความดันด้านขาเข้าเบดเราจะเห็นว่าความดันด้านขาเข้าสูงขึ้น อัตราการไหลโดยปริมาตรของแก๊ส (ค่าที่ความดันด้านขาเข้าเบด) จะลดต่ำลง ความเร็วแก๊สที่ไหลผ่านขดลวดอ้างอิงก็ลดต่ำลงไปด้วย ในขณะเดียวกันแก๊สอุณหภูมิสูงที่ไหลผ่านเบดตัวอย่างออกมานั้น เมื่อไหลมาถึงตัวขดลวดฝั่งด้านที่เป็นตัววัด ก็อาจมีอุณหภูมิสูงกว่าเดิม ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ TCD ส่งสัญญาณว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของแก๊สที่ไหลเข้าตัว TCD แต่เกิดจาก "ความเร็วของการไหล" และ "อุณหภูมิ" ของแก๊สที่ไหลเข้าตัว TCD นั้นเปลี่ยนไป
 
NH3-TPD เป็นเทคนิคที่นิยมใช้กันในการวัดปริมาณและความแรงของตำแหน่งที่เป็นกรดบนพื้นผิวของแข็งที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ในการวิเคราะห์นี้จะมีการเตรียมตัวอย่างด้วยการให้ความร้อนแก่ตัวอย่าง ณ อุณหภูมิหนึ่งนานเป็นช่วงเวลาหนึ่งก่อนภายใต้บรรยากาศแก๊สเฉื่อยเช่น He ขั้นตอนนี้ทำเพื่อกำจัดแก๊สอื่นที่ไม่ใช่ He ออกจากรูพรุนของตัวอย่าง จากนั้นจึงค่อยลดอุณหภูมิตัวอย่างแล้วให้ตัวอย่างดูดซับแก๊ส NH3 จนอิ่มตัว ตามด้วยการไล่แก๊ส NH3 ที่ไม่ถูกดูดซับด้วยการ purge ด้วย He ซ้ำ ซึ่งเมื่อไล่ NH3 ที่ไม่ถูกดูดซับออกไปจนหมดแล้ว แก๊สที่ไหลเข้า TCD ฝั่งอ้างอิงและแก๊สที่ไหลผ่านตัวอย่างมาเข้า TCD ก็จะมีแต่ He เป็นองค์ประกอบเท่านั้น

รูปที่ ๒ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและสัญญาณที่ TCD ส่งออกมา เมื่อให้เฉพาะแก๊ส He ไหลผ่านตัวอย่าง TiO2 และทำการเพิ่มอุณหภูมิและลดอุณหภูมิสลับกับ ๓ ครั้ง เส้นสีแดงที่เห็นว่ามีรูปร่างเหมือนพีคนั้นแท้จริงคือ Base line

แต่ในความเป็นจริงนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกันที่ส่งผลให้สัญญาณที่ TCD ส่งออกมานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการมี NH3 หลุดออกมาจากพื้นผิวเท่านั้น แต่เกิดจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความเร็วและอุณหภูมิของแก๊ส He ที่ไหลเข้าตัว TCD ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยสาเหตุที่ได้กล่าวมาข้างต้น และการใช้อุณหภูมิที่ไม่สูงพอและระยะเวลาที่ไม่นานพอที่จะไล่แก๊สอื่นที่ไม่ใช่ He ออกจากรูพรุนของตัวอย่างจนหมดในขั้นตอนการเตรียมตัวอย่าง ทำให้แก๊สเหล่านี้หลุดออกจากรูพรุนของตัวอย่างเมื่อเพิ่มอุณหภูมิตัวอย่างจนสูงมากพอ การไล่แก๊สตรงนี้เป็นการไล่ "แก๊สชนิดอื่น" ไม่ใช่เฉพาะ "ความชื้น" แบบที่ใครต่อใครชอบคิดกัน
 
ด้วยเหตุนี้การคำนวณปริมาณแก๊ส NH3 ที่ตัวอย่างคายออกมานั้นโดยอาศัยสัญญาณ TCD ที่วัดได้จึงควรต้องใช้ความระมัดระวังมาก เรื่องเหล่านี้เคยเล่าไว้บ้างแล้วใน Memoir ฉบับก่อนหน้าดังนี้
 
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๖๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เรื่อง "NH3-TPD - การไล่น้ำและการวาดกราฟข้อมูล"
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๖๗ วันจันทร์ที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "NH3-TPD - การลาก base line"
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๔๓ วันพุธที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เรื่อง "NH3-TPD ตอน ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ ๑"
ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑๐๙๐ วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ เรื่อง "NH3-TPD ตอน ตัวอย่างผลการวิเคราะห์ ๒"
 
กราฟผลการวิเคราะห์ NH3-TPD ที่มีรายงานทั่วไปในบทความวิชาการต่าง ๆ นั้น ไม่ได้มีการระบุเอาไว้ว่าเป็นกราฟข้อมูลดิบที่ได้จริงจากการวัดหรือเป็นกราฟที่ผ่านการตัด base line ทิ้งแล้ว โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าผล NH3-TPD จำนวนไม่น้อยที่มีการรายงานกันนั้นเป็นผลที่เกิดจากการตัด base line ทิ้งไปแล้วเพื่อทำให้เส้นกราฟดูดีโดยทำให้เหมือนกับว่าสัญญาณ base line นั้นขนานไปกับแกน x แต่ก็มีปรากฏในหลายบทความเช่นกันที่นำเสนอกราฟที่ยังไม่ผ่านการตัด base line ซึ่งถ้าเราพิจารณาตัวเส้นกราฟกับข้อมูลตัวเลขที่เขารายงานเอาไว้นั้น ก็พอจะมองเห็นความขัดแย้งอยู่
 
เริ่มจากตัวอย่างในรูปที่ ๓ และ ๔ กราฟในรูปที่ ๓ นั้นมีการขยับเส้นไม่ให้ซ้อนทับกัน ส่วนกราฟในรูปที่ ๔ นั้นเริ่มต้นโดยนำตำแหน่งสัญญาณเริ่มต้นการวัดมาไว้ที่ระดับเดียวกัน จากกราฟทั้งสองเห็นได้ชัดว่าตำแหน่งเริ่มต้นของสัญญาณเมื่อเริ่มการวัดกับตำแหน่งสัญญาณเมื่อสิ้นสุดการวัดนั้นอยูคนละตำแหน่งกัน โดยตำแหน่งเมื่อสิ้นสุดการวัดนั้นอยู่ "สูงกว่า" ตำแหน่งเมื่อเริ่มต้นการวัด การที่เห็นตำแหน่งสิ้นสุดการวัดนั้นอยู่ "สูงกว่า" ตำแหน่งเมื่อเริ่มต้นการวัดมันก็แปลได้สองทาง คือ (ก) ยังมีการคายซับ NH3 ออกมาอยู่ แต่หยุดการวิเคราะห์ก่อนที่จะคายออกมาหมด ถ้าเป็นเช่นนี้ปริมาณตำแหน่งกรดที่วัดได้ก็ไม่ใช่ปริมาณ "ทั้งหมด" หรือ (ข) base line มีการเปลี่ยนตำแหน่ง ถ้าเป็นเช่นนี้คำถามที่ตามมาก็คือ base line มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรงเสมอไป

รูปที่ ๓ กราฟ NH3-TPD ที่ใช้ TCD เป็นตัวตรวจวัด ในรูปนี้มีการขยับเส้นกราฟแต่ละเส้นไม่ให้ซ้อนทับกัน ถ้าเป็นคุณ คุณจะลากเส้น base line โดยใช้แนวเส้น 1 หรือ 2 หรือจะลากเป็นอย่างอื่น

รูปที่ ๔ อีกตัวอย่างของกราฟ NH3-TPD ที่ใช้ TCD เป็นตัวตรวจวัด ในบทความนี้เขียนกราฟโดยให้มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ระดับเดียวกัน พึงสังเกตว่าแม้ว่าจะทำการวัดด้วยสภาวะเดียวกัน แต่ตำแหน่งจุดสิ้นสุดของกราฟนั้นอยู่ที่ระดับที่ต่างกัน ในกรณีเช่นนี้ถ้าเป็นคุณ คุณจะลาก base line เพื่อคำนวณปริมาณ NH3 ที่ตัวอย่างคายออกมาอย่างไร
 
อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผลการวิเคราะห์ในรูปที่ ๓ และ ๔ ได้มาจากตัวอย่างที่มี Al2O3 เป็นองค์ประกอบหลัก และตัว Al2O3 ก็มีความเป็นกรดอยู่บนพื้นผิวด้วย (บทความของคณะวิจัยในกลุ่มทำงานเดียวกัน) แต่เมื่อเริ่มทำการวิเคราะห์ที่อุณหภูมิเริ่มต้นต่างกัน (รูปที่ ๓ เริ่มที่ 100ºC ในขณะที่รูปที่ ๔ เริ่มที่ 30ºC) ลักษณะการปรากฏของพีคแรกที่อุณหภูมิต่ำนั้นแตกต่างกัน โดยในรูปที่ ๓ นั้นจะเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของสัญญาณจะเกิดขึ้นหลังจากที่อุณหภูมิสูงเกิน 100ºC ได้ระดับหนึ่ง (เห็นได้จากการที่เส้นกราฟค่อนข้างราบในช่วงแรกก่อนไต่ขึ้น) นั่นแสดงว่าถ้าการเพิ่มขึ้นนั้นเกิดจาก NH3 ที่พื้นผิวปลดปล่อยออกมา การปลดปล่อยนั้นจะเริ่มเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 100ºC ได้ระดับหนึ่ง แต่ในรูปที่ ๔ นั้นจะเห็นว่าสัญญาณมีการเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เมื่อเริ่มเพิ่มอุณหภูมิ และมีสัญญาณออกมาเรื่อย ๆ นั่นแสดงว่าถ้าการเพิ่มขึ้นนั้นเกิดจาก NH3 ที่พื้นผิวปลดปล่อยออกมา การปลดปล่อยนั้นจะมีอยู่ตลอดเวลาเมื่ออุณหภูมิของตัวอย่างสูงเกินกว่า 30ºC
 
ความแตกต่างของการทดลองทั้งสองอยู่ตรงที่การไล่ NH3 ที่ไม่ถูกดูดซับออกจากรูพรุน โดยในรูปที่ ๓ นั้นทำการดูดซับที่อุณหภูมิ 100ºC และทำการไล่ที่อุณหภูมิดังกล่าวนาน 1 ชั่วโมง แต่ในรูปที่ ๔ นั้นทำการดูดซับที่อุณหภูมิ 30ºC และทำการไล่ที่อุณหภูมิดังกล่าวนาน 3 ชั่วโมง สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ (ถ้าไม่คำนึงเรื่อง base line เปลี่ยนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ) การดูดซับที่อุณหภูมิสูงนั้นมี NH3 ตกค้างน้อยกว่า (แก๊สร้อนมีความหนาแน่นต่ำกว่าแก๊สเย็น) และมีอัตราการแพร่ที่สูงกว่า ทำให้การใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงก็สามารถไล่ NH3 ที่ตกค้างอยู่ในรูพรุนออกได้หมด เมื่อเริ่มเพิ่มอุณหภูมิตัวอย่างจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่การดูดซับที่ 30ºC แม้ว่าจะทำการไล่ NH3 ไม่ถูกดูดซับออกจากรูพรุนนานถึง 3 ชั่วโมงก็อาจจะยังไล่ NH3 ที่ค้างอยู่ในรูพรุนออกได้หมด ดังนั้นเมื่อทำการเพิ่มอุณหภูมิ แก๊สที่ร้อนขึ้นมีการขยายตัว โมเลกุล NH3 ที่ไม่ถูกดูดซับแต่ยังคงค้างอยู่ในรูพรุนก็เลยแพร่ออกมา กลายเป็นสัญญาณให้เห็น แต่สัญญาณนี้ไม่ควรตีความว่าเป็นการปลดปล่อย NH3 ออกจากตำแหน่งที่เป็นกรด แต่เป็น NH3 ในเฟสแก๊สที่ค้างอยู่ในรูพรุน

ในกรณีของตัวอย่างในรูปที่ ๕ นั้น ขอให้ลองสังเกตเส้น a และ e ตรงที่ทำเครื่องหมายเลข 1 เอาไว้ บทความนี้อ่านสัญญาณ TCD ที่เพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงจาก 100ºC ว่าเป็นสัญญาณที่เกิดจากการคายซับ NH3 จากตำแหน่งที่เป็นกรดที่มีความแรงต่ำ แต่กลับไม่อ่านสัญญาณ TCD ที่เพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิอยู่ในช่วงระหว่าง 450-500ºC ว่าเป็นสัญญาณที่เกิดจากการคายซับ NH3 จากตำแหน่งที่เป็นกรดที่มีความแรงสูง ในส่วนของวิธีการทดลองนั้นบทความก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าในขั้นตอนการให้ความร้อนไล่ NH3 ออกจากพื้นผิวนั้นใช้อุณหภูมิสูงถึง 700ºC แต่กราฟที่นำมาแสดงกลับตัดมาแค่อุณหภูมิประมาณ 550ºC เท่านั้นเอง จึงทำให้มองไม่เห็นว่าที่อุณหภูมิสูงกว่า 550ºC นั้น สัญญาณของกราฟทุกเส้น โดยเฉพาะเส้น a e f และ h นั้นมีการไต่ขึ้นไปสูงแค่ไหน
 
หรือในกรณีของเส้น e f g และ h ตรงตำแหน่งที่ทำเครื่องหมายเลข 2 เอาไว้ ในบทความนั้นอ่านว่าเส้น f และ g มีพีคที่เกิดจากการคายซับ NH3 จากตำแหน่งที่เป็นกรดที่มีความแรงสูง แต่ในกรณีของเส้น e และ h นั้น จะว่าไปแล้วเส้น e มีลักษณะที่เป็นพีคที่เด่นชัดกว่าของเส้น h แต่บทความกลับอ่านว่าเส้น e ไม่มีพีคของตำแหน่งที่เป็นกรดที่มีความแรงสูง แต่ของเส้น h กลับอ่านว่ามี

โดยส่วนตัวแล้วจะใช้การวัดปริมาณเบสที่ตัวอย่าง "ดูดซับ (adsorption)" เอาไว้ได้ควบคู่ไปกับผล NH3-TPD เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาว่าตำแหน่งไหนที่เป็นพีคที่แท้จริง และปริมาณ NH3 ที่ไล่ออกมานั้นออกมาหมดแล้วหรือยัง เพราะการดูผลการ "คายซับ (desorption)" เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าได้ใช้อุณหภูมิที่สูงพอที่สามารถไล่ NH3 ออกจากพื้นผิวได้หมดหรือไม่

อันที่จริงยังมีเรื่องของ H2-TPR เตรียมไว้อีก แต่ฉบับนี้รู้สึกว่าจะยาวพอสมควรแล้ว เลยต้องขอพักไว้ตรงนี้ก่อน

รูปที่ ๕ กราฟ NH3-TPD และปริมาณตำแหน่งที่เป็นกรดที่ทางคณะผู้วิจัยคำนวณไว้ การวัดนี้ใช้ TCD เป็นตัวตรวจวัด พึงสังเกตบริเวณตัวอย่างที่ใส่หมายเลข (1) และ (2) เอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น: