วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๐ (ตอนที่ ๑๑) MO Memoir : Wednesday 26 June 2562

อย่างแรกเลยก็ต้องขอแสดงความยินดีกับสมาชิกกลุ่มทั้งสองรายที่ผ่านการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ไปเมื่อวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา ที่เหลือก็คงเป็นเพียงแค่การแก้เล่มแล้วส่งเท่านั้นเอง
 
ตอนที่ผมเรียนโทที่อังกฤษนั้น มหาวิทยาลัยที่ผมเรียน แม้ว่าจะมีการทำวิทยานิพนธ์ มีการทำเล่มปกแข็งส่ง แต่ไม่มีการสอบวิทยานิพนธ์แบบสอบปากเปล่า เขาเรียนโทกันปีเดียว ทั้งเรียนวิชาและทำวิทยานิพนธ์ไปพร้อมกัน ในขณะที่บางภาควิชาในมหาวิทยาลัยเดียวกันแท้ ๆ เปิดภาคเรียนมาก็เรียนกันอย่างเดียว ไปทำวิทยานิพนธ์กันอย่างเดียวช่วงประมาณ ๓ เดือนสุดท้ายแล้วก็ส่งเลย หัวข้อวิทยานิพนธ์ก็เป็นหัวข้อที่อาจารย์เข้ามีอยู่แล้ว แล้วเราก็เข้าไปเลือกสมัครทำ
 
พอผ่านเข้าเรียนปริญญาเอกก็ไม่มีวิชาเรียน เรียกว่าทำวิจัยกันอย่างเดียว แล้วก็มีการสอบหัวข้อ โดยหลัก ๆ ของการสอบหัวข้อก็คือ เราต้องนำเสนอให้ผู้ฟังเห็นว่าสิ่งที่เราคิดจะทำนั้นมันน่าสนใจตรงไหน และเรามีแนวทางจะทำอย่างไร ไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เรียกว่าให้การค้นพบมันนำพาไปเองว่า จากสิ่งที่เราค้นพบนั้นเราควรทำอะไรต่อไป
 
พออาจารย์ที่ปรึกษาเขาเห็นว่าเรามีผลงานมากพอที่จะสอบวิทยานิพนธ์ได้แล้ว เขาก็จะให้เราเริ่มเขียน สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เขาบอกผมก็คือ ผมไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขา เพราะเขาไม่ได้เป็นคนให้ผมผ่านหรือไม่ผ่าน กรรมการสอบต่างหากที่จะให้ผมสอบผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะในการสอบนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาไม่มีสิทธิให้คะแนนสอบ บาง College นั้นไม่ให้อาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ในห้องสอบด้วยซ้ำ เรียกว่าจัดห้องสอบแยกให้ต่างหาก มีเฉพาะผู้เข้าสอบและกรรมการอีก ๒ ท่าน เป็นอาจารย์ของสถาบัน ๑ ท่านและจากภายนอกสถาบันอีก ๑ ท่านเท่านั้น แต่ใน College ที่ผมเรียนนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาสามารถเข้าฟังการสอบได้ ถ้า "ผู้เข้ารับการสอบ" นั้นอนุญาต การที่เขาทำเช่นนี้ก็คือเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนั้นมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นที่ขัดใจอาจารย์ที่ปรึกษา
 
รูปแบบการเขียนก็ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว มีกฎง่าย ๆ อยู่เพียงว่า ใครก็ตามที่มาอ่านที่หลังแล้วต้องรู้เรื่อง ไม่ควรมีคำถามอะไรที่ตกค้าง เพราะวิทยานิพนธ์คือสิ่งที่จะค้างอยู่ในห้องสมุด ตัวผู้เขียนไม่รู้ว่าไปอยู่ไหนแล้ว ถ้าหากเขียนไม่ชัดเจนก็จะทำให้คนที่มาอ่านทีหลังนั้นสับสนได้ และที่สำคัญก็คือกรรมการสอบเขาอ่านอย่างละเอียด เรียกว่าถ้าใครสามารถเขียนได้แบบกรรมการสอบไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ก็เรียกว่าสอบผ่านสบาย ซึ่งน้อยคนนักจะทำได้ สมัยผมเรียนก็เคยได้ยินเพียงรายเดียวจากผู้เข้าสอบที่ College อื่น ที่พอเริ่มสอบกรรมการสอบก็บอกโดยไม่ต้องมีการซักถามอะไรเลยว่าสิ่งที่เขาเขียนนั้นเขาเขียนไว้ดีมาก จนกรรมการสอบไม่มีคำถามอะไรจะถาม เรียกว่าให้ผ่านแล้วก็ได้ วันนั้นถือว่าเป็นการมาคุยกันเล่น ๆ เท่านั้น แต่สำหรับที่ภาควิชาเรานั้น ทำงานมาปีนี้เป็นปีที่ ๒๕ แล้ว เคยพบแค่รายเดียวเท่านั้น เป็นนิสิตจากอินโดนีเซียที่มาเรียนปริญญาโทที่ภาคเรา
 
การสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่อังกฤษนั้นไม่มีการนำเสนอ กรรมการจะอ่านเล่มจนหมดก่อน จากนั้นจึงค่อยนัดวัดสอบ การต้องรอ ๒ ถึง ๓ เดือนหลังส่งเล่มก่อนได้สอบก็ถือว่าเป็นเรื่องปรกติ พอเริ่มการสอบเขาก็ซักถามกันทันที ผมทำทั้งการทดลองและ simulation คำถามที่น่าจะยากที่สุดเห็นจะได้แก่คำถามเกี่ยวกับเรื่อง simulation ที่ผมนำเสนอการนำเทคนิค moving finite element มาใช้ในการแก้ปัญหา กรรมการสอบที่เป็นกรรมการจากภายนอกเขาบอกผมว่า เขาไม่มีความรู้เรื่องนี้ ช่วยอธิบายเป็น "ภาษาง่าย ๆ" ให้เขาเข้าใจได้ไหม
 
การที่จะอธิบายอะไรสักอย่างเป็น "ภาษาง่าย ๆ" ให้คนอื่นเข้าใจได้ คุณจะต้องมีความเข้าใจเรื่องนั้นดี และต้องสามารถหาตัวอย่างประกอบที่ผู้ฟังสามารถมองเห็นภาพได้ด้วย

การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ วันจันทร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น

ในการสอบปากเปล่า (ที่สามารถเขียนกระดานช่วยอธิบายได้) สองชั่วโมงของผมนั้น เนื้อหาที่โดนซักมากที่สุดคือ "วิธีการทำการทดลอง" (รวมทั้ง simulation ด้วย) เพราะถ้าวิธีการไม่ถูกต้องเหมาะสม ผลการทดลองก็ไม่ควรค่าแก่การพิจารณาใด ๆ แล้ว แต่ในภาควิชาเราที่เข้าสอบเป็นประจำ หรือในที่ประชุมวิชาการต่าง ๆ นั้นกลับพบว่าเราไปให้ความสำคัญมากกับผลการทดลองและข้อสรุปที่ได้ โดยไม่ได้สนใจตรวจสอบว่าผลการทดลองนั้นมันถูกต้องหรือไม่ และบางกลุ่มวิจัยก็มีปัญหาเรื่องวิธีการทดลอง (รวมทั้งวิธีการวิเคราะห์ตัวอย่าง) เป็นประจำ จนผมเลือกที่จะไม่ขอเป็นกรรมการสอบนิสิตกลุ่มนั้น เพราะรู้เบื้องหลังรายละเอียดการได้มาซึ่งผลการทดลองเหล่านั้นมากเกินไป แม้แต่งาน simulation ก็ยังสามารถจับได้ว่ามีการแต่งขั้นตอนการคำนวณ ด้วยการให้โปรแกรมหยุดการคำนวณก่อนที่จะลู่เข้าหาคำตอบของสมการ เพื่อให้ตัวเลขที่ได้จากการคำนวณออกมาตรงกับข้อมูลดิบที่เขามี
 
แม้แต่วิธีการวิเคราะห์ตัวอย่างนั้น แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำการวิเคราะห์เอง แต่เราก็ต้องรู้ว่าการเตรียมตัวอย่างและรายละเอียดการวิเคราะห์นั้นเป็นอย่างไร เพราะในหลายเครื่องมือแล้ว มันไม่ได้มีวิธีเตรียมตัวอย่างเพียงวิธีเดียวที่ใช้ได้กับทุกตัวอย่าง แต่มันต้องปรับเปลี่ยนไปตามตัวอย่างที่จะทำการวิเคราะห์ หรือแม้แต่ตัวอย่างเดียวกัน ถ้าใช้วิธีเตรียมที่แตกต่างกัน ก็ให้ผลที่แตกต่างได้ อย่างเช่นการใช้เทคนิคการดูดซับไพริดีนร่วมกับ FT-IR ในการจำแนกประเภทของกรดบนพื้นผิวของแข็ง
 
ความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็งนั้นมี ๒ ประเภทคือ Brönsted (หมู่ไฮดรอกซิล -OH) หรือ Lewis (ไอออนบวกของโลหะ) ถ้าตัวอย่างนั้นสัมผัสกับความชื้นในอากาศจนอิ่มตัว พื้นผิวก็จะมีหมู่ -OH มาก (หมู่นี้เกาะกับไอออนบวกของโลหะ) การให้ความร้อนแก่ตัวอย่างก่อนทำการให้ตัวอย่างดูดซับไพริดีนสามารถทำให้หมู่ -OH สองหมู่หลอมรวมกันกลายเป็นโมเลกุล H2O ระเหยออกไป และเปิดไอออนบวก (กรดแบบ Lewis) สองไอออนขึ้นแทน เรียกว่ากรด Brönsted หายไป ๒ โดยได้กรด Lewis มาแทนสอง ส่วนที่ว่าหมู่ -OH จะหายไปมากน้อยเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้อุณหภูมิสูงแค่ไหนในการเตรียมตัวอย่างก่อนการดูดซับไพริดีน ถ้าใช้อุณหภูมิสูงมากเป็นเวลานาน มันก็จะหายไปมาก ในเรื่องนี้ผมถึงบอกว่าอยากให้ผลการทดลองออกมาอย่างไรก็จัดให้ได้ ถ้าไม่อยากให้มีกรด Brönsted เลยก็ใช้อุณหภูมิสูงในการเตรียมตัวอย่าง แต่ถ้าอยากเห็นกรด Brönsted เยอะ ๆ ก็ให้ตัวอย่างจับความชื้นจนอิ่มตัวและใช้อุณหภูมิต่ำในการเตรียม และด้วยการวัดที่กระทำในสุญญากาศ (โดยผลที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับวิธีเตรียม) จึงทำให้ผลที่ได้นั้นไม่สามารถเป็นตัวแทนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการทำปฏิกิริยาได้เสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของเราที่ในแก๊สมีไอน้ำที่ความเข้มข้นสูง ที่ปริมาณหมู่ -OH บนพื้นผิวนั้นจะอยู่ในสภาพสมดุลกับความชื้นในแก๊ส ซึ่งเป็นสภาวะที่แตกต่างไปจากที่ใช้ในการวิเคราะห์
 
วิทยานิพนธ์นั้นมันน่าเชื่อถือแค่ไหนนั้น มันต้องคุยกันเป็นชั่วโมง และวิธีการที่ได้มาซึ่งข้อสรุปนั้นต้องได้รับการตรวจสอบโดยละเอียด พวกคุณจบไปแล้วถ้าคิดจะนำงานวิจัยใครไปใช้ ควรที่จะต้องตรวจสอบผลของเขาด้วยว่าสามารถทำซ้ำได้ และวิธีการที่ใช้ในการวิเคราะห์นั้นถูกต้อง เพราะวิธีการวิเคราะห์ที่ผิดมันก็ให้ผลการวิเคราะห์ที่ผิด (ที่ทำซ้ำได้) ไม่ใช่ฟังเพียงแค่ข้อสรุปที่เขานำเสนอในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบันที่เน้นการสื่อสารด้วยการทำ infographic หรือสไลด์เพียงแค่ไม่กี่ภาพที่พยายามดึงดูดให้ผู้รับสื่อนั้นเห็นด้วยกับสิ่งที่นำเสนอโดยต้องไม่คิดเป็นอย่างอื่น 
  
ถ้าคุณต้องการรับใครสักคนไปทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย พวกนั้นเหมาะ แต่ถ้าคุณต้องอยู่ในฐานะผู้จ่ายเงินเพื่อจะซื้อสิ่งที่เขานำเสนอ สิ่งสำคัญที่พวกคุณต้องมีคือ "ฟังอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก"


การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ วันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๑.๓๐ น
 
Memoir ฉบับนี้คงเป็นฉบับปิดท้ายชุดบทความ "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๐" และสิ่งสุดท้ายที่ขอฝากไว้ให้พวกคุณที่ผ่านการสอบแล้วก็คือ รูปถ่ายที่ถ่ายเอาไว้เมื่อวันสอบและเมื่อ ๑๘ เดือนที่แล้ว เพื่อให้พวกคุณพิจารณาเองว่า สิ่งที่พวกคุณบอกกับผมเอาไว้ว่า "กาลเวลาทำอะไรหนูไม่ได้หรอก แต่การเรียนปริญญาโทนี่ซิ" มันเป็นจริงแค่ไหน
  


วันพฤหัสบดีที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๐ ระหว่างเข้าฟังการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของนิสิตรุ่นพี่

ไม่มีความคิดเห็น: