เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ
๒๐ ปีที่แล้วครับ ในปีการศึกษา
๒๕๔๒ ซึ่งตามมาด้วยการฟ้องศาลปกครอง
จนศาลปกครองมีคำพิพากษาในปีพ.ศ.
๒๕๔๕
เหตุการณ์นี้จะเรียกว่าเป็น
ชาวนากับงูเห่าเวอร์ชันนิสิตคณะวิศวะกับอาจารย์นอกคณะก็น่าจะได้นะครับ
เมื่อนิสิตได้เกรด F
แล้วรีไทร์
แล้วพยายามขอให้อาจารย์ช่วย
อาจารย์ก็พยายามช่วยทุกวิถีทางแล้ว
แต่สิ่งที่ได้รับตอบแทนก็คือ
....
เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้มาจากเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง
"กฎหมายปกครองสำหรับบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
ที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน
พ.ศ.
๒๕๔๖
และได้นำมาเล่าไว้เรื่องหนึ่งในเรื่อง
"สิทธิในการรู้คะแนนสอบของผู้อื่น"
(Memoir ปีที่
๙ ฉบับที่ ๑๔๐๐ วันอังคารที่
๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐)
กรณีนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้กับอาจารย์ที่คิดจะช่วยเหลือนิสิตในทางที่ผิด
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่ทางมหาวิทยาลัยจัดสอบโดยมิชอบเมื่อวันที่
๓๐ มีนาคม ๒๕๔๓
ทำให้นิสิตผู้นั้นทราบเวลาสอบล่วงหน้ากระชั้นชิด
ทำให้มีเวลาทำข้อสอบวิชาการเงินส่วนบุคคลเพียงชั่วโมงครื่งแทนที่จะเป็น
๓ ชั่วโมง ทำให้ผลสอบออกมาได้เกรด
D
และนิสิตที่อยู่ในสภาพวิทยาทัณฑ์อยู่แล้วต้องพ้นสภาพนิสิต
นิสิตจึงร้องต่อศาลขอให้ทางมหาวิทยาลัยจัดสอบให้ใหม่
เนื่องจากประกาศของมหาวิทยาลัยเป็นคำสั่งปกครอง
และมหาวิทยาลัยได้ประกาศให้นิสิตพ้นสภาพนิสิตไปแล้ว
ทางนายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรทุกข์ชั่วคราว
โดยให้ทางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้นิสิตลงทะเบียนเรียนได้ก่อน
(เผื่อว่านิสิตเป็นผู้ชนะคดี)
เรื่องมันเริ่มจากการที่มีนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์
(โชคดีที่ไม่ใช่ภาควิชาที่ผมสอน)
ลงเรียนวิชาเลือกนอกคณะคือวิชาการเงินส่วนบุคคล
วิชานี้ไม่ได้กำหนดวันสอบไล่ไว้ในตารางสอบ
กำหนดแต่เพียง TDF
ที่ย่อมาจาก
To
be delcared by the faculty
ซึ่งก็คือผู้สอนกับผู้เรียนค่อยตกลงวันสอบกัน
คำว่า
"Faculty"
นี้
ถ้าเป็นภาษาอังกฤษแบบ British
จะหมายถึงคณะวิชา
ไม่ใช่อาจารย์ผู้สอน
แต่ถ้าเป็นแบบอเมริกันจะหมายถึงอาจารย์ผู้สอน
(teaching
staff)
เดิมนั้นวิชานี้จะมีทั้งการสอบกลางภาคและการสอบปลายภาค
แต่ในภาคการศึกษานั้นเปลี่ยนการสอบกลางภาคเป็นการทำข้อสอบเชิงกรณีศึกษานอกห้องสอบ
โดยให้นิสิตทุกคนกลับไปทำและนำกลับมาส่งใน
๒ สัปดาห์
(ช่วงนั้นการสอบกลางภาคจะอยู่ตอนปลายเดือนธันวาคม
เรียกว่าสอบเสร็จก็ฉลองปีใหม่ได้เลย)
วันที่
๒๖ มกราคมเป็นวันครบกำหนดการส่งกระดาษคำตอบกลางภาค
นิสิตทุกคนนำมาส่ง
ยกเว้นผู้ฟ้องคดี
และอาจารย์ยังได้แจ้งด้วยว่าการสอบไล่นั้นจะแบ่งเป็น
๒ กลุ่ม โดยกลุ่มแรกสอบวันที่
๙ กุมภาพันธ์ กลุ่มที่สองสอบวันที่
๑๖ กุมภาพันธ์
โดยกลุ่มของนิสิตวิศวะนั้นให้เข้าสอบในกลุ่มแรกคือวันที่
๙ กุมภาพันธ์
ถึงวันสอบของกลุ่มแรกคือวันที่
๙ กุมภาพันธ์ นิสิตผู้ฟ้องคดีก็มาสอบ
พร้อมกับเอาข้อสอบของกลางภาคมาส่ง
(อันที่จริงมันต้องส่งตั้งแต่
๒๖ มกราคมแล้ว)
อาจารย์ผู้สอนก็อุตส่าห์ยอมรับไว้โดยระบุว่าส่งผิดเวลา
(เรียกว่าช้าไป
๒ สัปดาห์)
แถมตรวจให้คะแนนด้วย
ปรกติในการสอบนั้น
ผู้เข้าสอบจะต้องอยู่ในห้องสอบไม่น้อยกว่า
๔๕ นาที (แม้ว่าจะทำข้อสอบเสร็จแล้วก็ตาม)
จึงจะมีสิทธิ์ออกนอกห้องสอบได้
แต่ในวันนั้นนิสิตคนดังกล่าวเข้าสอบเพียงไม่ถึง
๔๕ นาที ก็ขอไปสอบในวันที่สองแทน
ลองคิดดูเล่น
ๆ นะครับ ถ้าคุณเป็นคนที่เรียนกับเขาในวิชานั้น
เขาเข้ามาสอบ เห็นข้อสอบแล้ว
แล้วบอกว่าไม่อยากจะสอบวันนี้
ขอไปสอบอีกวัน แถมอาจารย์อนุญาตให้อีก
คุณว่ามันเป็นธรรมกับคุณไหม
การสอบในวันที่สองนั้นก็มีเหตุการณ์ทำนองเดิมอีก
ตรงนี้ถ้าผมจำที่เขาเล่าเอาไว้ไม่ผิดก็คือ
พอนิสิตเข้าสอบไปได้สักพักก็ขอส่งกระดาษคำตอบ
โดยอ้างว่าติดสอบวิชาอื่น
อาจารย์ผู้ควบคุมสอบก็ยอมให้ออกไปจากห้องสอบ
(ตรงนี้แสดงว่าการสอบในวันแรกนั้นเขาไม่มีการสอบซ้ำซ้อนกับวิชาอื่น)
แต่ก่อนที่จะหมดเวลาสอบ
เขาก็กลับมาใหม่ และขอทำข้อสอบต่อ
ซึ่งอาจารย์ก็อนุญาตให้ทำข้อสอบต่อได้
ลองคิดดูเล่น
ๆ อีกครั้งนะครับ
คนที่สอบวิชาเดียวกับคุณ
เข้ามาสอบได้สักพักก็ขอส่งข้อสอบแล้วออกไปข้างนอก
หายไปพักใหญ่ ๆ ก็กลับมาใหม่
และขอทำข้อสอบเดิมต่อ
คุณว่ามันเป็นธรรมกับคุณไหม
พอผลสอบประกาศออกมา
นิสิตคนนั้นได้เกรด F
(Fail หรือตก)
ครับ
แต่มีการร้องขอกับอาจารย์ผู้สอนให้เกรด
I
(Incomplete หรือยังไม่สมบูรณ์)
ซึ่งอาจารย์ก็ยอมให้เกรด
I
กับนิสิตคนนั้น
การให้เกรด
I
นั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนิสิตไม่ได้มาสอบ
และได้ทำเรื่องแจ้งเหตุผล
หรือว่าการส่งงานนั้นยังไม่สมบูรณ์
แต่ไม่ใช่สำหรับการสอบข้อเขียนที่มีการส่งกระดาษคำตอบกันหมดแล้ว
ดังนั้นการที่อาจารย์ให้เกรด
I
กับนิสิตในเหตุการณฅ์นี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
เอกสารที่สแกนมาให้ดูนั้นเป็นฉบับย่อ
เท่าที่จำได้ในการฟังการสัมมนาก็คือมีการจัดสอบแก้
I
ให้สองครั้ง
(ถ้าจำไม่ผิด)
โดยครั้งแรกนั้นจำไม่ได้แน่ว่านิสิตไม่มาหรือสอบไม่ผ่าน
แต่อาจารย์ผู้สอนก็ยังให้โอกาสที่จะสอบแก้
I
ใหม่อีกครั้งในวันที่
๓๐ มีนาคม โดยกำหนดเวลาสอบไว้
๓ ชั่วโมง
แต่ในการสอบครั้งหลังนี้เป็นการฝากให้ผู้อื่นคุมสอบแทน
ถึงวันสอบปรากฏว่านิสิตมาสาย
และเมื่อครบกำหนดเวลาสอบที่กำหนดไว้ผู้คุมสอบก็ไม่มีการต่อเวลาให้
ทำให้นิสิตคนดังกล่าวได้เกรด
D
ในวิชานั้น
ส่งผลให้ต้องพ้นสภาพนิสิต
การสอบแก้
I
ต้องกระทำภายใน
๒ สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาถัดไป
ในกรณีของภาคปลายมันจะมีเวลาการเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเป็นภาคเรียนถัดไป
ดังนั้นสำหรับผู้ที่ติด I
แล้วควรต้องรู้ว่าเส้นตายของการแก้
I
คือวันไหน
ในเหตุการณ์นี้ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนว่าการสอบแก้
I
ครั้งแรกนั้นห่างจากเส้นตายพอควร
แต่เมื่อผลออกมาไม่ดีและมีการขอสอบใหม่
จึงทำให้ช่วงเวลาที่ทราบว่าสอบครั้งแรกไม่ผ่านและเส้นตายของการสอบนั้นแคบเข้ามามาก
คำสั่งของมหาวิทยาลัยที่ให้นิสิตพ้นสภาพการเป็นนิสิตถือเป็น
"คำสั่งปกครอง"
ดังนั้นในกรณีนี้นิสิตจึงสามารถร้องต่อศาลปกครองได้
และได้ร้องขอให้ศาลปกครองสั่งให้ทางมหาวิทยาลัยจัดการสอบแก้
I
ให้ใหม่
(เพื่อเปิดโอกาสให้เขามีเวลาสอบเต็มที่
๓ ชั่วโมงเต็ม)
ซึ่งศาลปกครองก็ได้รับเรื่องเอาไว้พิจารณา
แต่เมื่อศาลได้พิจารณาหลักฐานทั้งหมดแล้วพบว่า
การที่อาจารย์ให้เกรด I
กับนิสิตนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
(ที่ถูกต้องคือการให้เกรด
F)
ดังนั้นการที่มีการจัดให้นิสิตมีโอกาสสอบแก้
I
นั้นจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องด้วย
จึงส่งผลให้การที่นิสิตร้องขอให้จัดสอบแก้
I
ใหม่นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามไปด้วย
ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง
ในวันนั้นผู้บรรยายสรุปกรณีของเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า
"สิ่งที่ได้มาโดยมิชอบ
ย่อมร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น