วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเขียนเอกสารอ้างอิง MO Memoir : วันเสาร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๑

ปัญหาหนึ่งที่พบประจำไม่ว่าจะเป็นการเขียนโครงร่างหรือตัววิทยานิพนธ์เองคือการเขียนเอกสารอ้างอิง วิธีการเขียนหลัก ๆ ที่ใช้กันมีอยู่

2 แบบคือการอ้างอิงโดยใช้ตัวเลขกำกับ และการอ้างอิงโดยใช้ชื่อผู้แต่ง ซึ่งการเลือกว่าจะใช้แบบไหนนั้นจะส่งผลต่อรูปแบบการเขียน


ในการอ้างอิงโดยใช้ตัวเลขกำกับนั้น ต้องเรียงลำดับตัวเลขจากเอกสารอ้างอิงฉบับแรก โดยให้เป็นเลข (1) ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสิ้นสุด ตัวเลขต้องไม่กระโดดไปมา ไม่ใช่ว่าเอกสารอ้างอิงฉบับแรกโผล่มาก็เป็นเลข (7) หรืออ้างอิงจาก (1) ไปเรื่อย ๆ จนถึง (6) แล้วก็กระโดดไปเป็น (12) ก็ไม่ถูก การอ้างอิงแบบใช้ตัวเลขเหมาะสำหรับกรณีที่มีเอกสารอ้างอิงเป็นจำนวนมาก เพราะจะทำให้ไม่ยืดยาว เช่นเราต้องการบอกว่า


Several previous works ([12]-[20]) have reported that ...


ซึ่งถ้าใช้เป็นแบบตัวเลขก็จะอ้างอิงถึง 9 ฉบับ ได้โดยเขียนสั้นนิดเดียว แต่ถ้าเป็นแบบรายชื่อจะต้องเขียนชื่อผู้แต่งจะเขียนเป็น


Several previous works (Huler et al. (1996), Kumar et al. (1996), Ma et al. (1996), ..., Vincent et al. 2004)) have reported that ...


ซึ่งต้องมีการเอ่ยชื่อผู้แต่งทั้ง 9 ฉบับซึ่งจะทำให้ข้อความเยิ่นเย้อออกไปอีก


การอ้างอิงโดยใช้ตัวเลขยังมีข้อเสียข้อหนึ่งตรงที่ถ้าหากมีการเพิ่มเติมเอกสารอ้างอิงเข้าไป จะต้องทำการเรียงลำดับเอกสารและเปลี่ยนตัวเลขในเนื้อหาใหม่หมด ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนก็คงต้องตรวจข้อความกันใหม่ทั้งฉบับ ในปัจจุบันแม้ว่าตัวซอร์ฟแวร์จะช่วยได้โดยการสร้างลิงค์ระหว่างแฟ้มที่เป็นเนื้อหากับแฟ้มที่เป็นเอกสารอ้างอิง วิธีการดังกล่าวทำงานได้ดีเมื่อแฟ้มข้อมูลทั้งหมดอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งเท่านั้น แต่จะเกิดปัญหาเมื่อต้องการทำแฟ้มข้อมูลสำรองเอาไว้หรือเอาไปใช้กับเครื่องอื่นทำการย้ายข้อมูลไปบนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น เพราะเกิดปัญหาตำแหน่งที่อยู่ของแฟ้มอยู่ไม่ตรงกัน ทำให้โปรแกรมหาไม่เจอ


ดังนั้นเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายแฟ้มข้อมูลไปเก็บสำรองหรือนำไปอ่านเครื่องอื่นได้ จึงควรให้แต่ละแฟ้มข้อมูลมีความสมบูรณ์ในตัวเอง และหลีกเลี่ยงการลิงค์แฟ้มข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (เช่นลิงค์กราฟจาก Excel เข้ากับแฟ้มข้อมูล Word เพราะตอนทำเห็นว่าสะดวกดี เพียงแต่แก้แฟ้ม Excel รูปภาพใน Word ก็เปลี่ยนตาม แต่พอเก็บข้อมูลสำรองลงแผ่นซีดีแล้วเปิดแฟ้ม Word ดูกลับพบว่ารูปภาพหายไป เพราะตำแหน่งแฟ้มข้อมูล Excel บนเครื่องที่สร้างแฟ้มข้อมูลกับเครื่องที่นำมาเปิดดูไม่เหมือนกัน และไม่สามารถตามต่อได้ว่าอยากดูรูปต้องไปดูที่ไหน ทางที่ดีคือคัดลอกรูปกราฟมาเป็นรูปภาพวางในแฟ้ม Word เลย)


ลองดูตัวอย่างข้างล่าง ถ้าเขียนอ้างอิงโดยใช้เลขหมายกำกับแล้ว จะหลีกเลี่ยงการเขียนที่มีการเอ่ยถึงชื่อผู้แต่งควรเขียนในทำนอง เช่น


TS-1 samples of different particle size have been synthesized and investigated [3]. It was found that smaller particles were more active than larger particles. (เมื่อ [3] คือเอกสารอ้างอิงของผลการทดลองดังกล่าว)


ในขณะที่ถ้าเขียนแบบอ้างอิงโดยใช้ชื่อผู้แต่งจะเขียนในทำนอง


Van der Pol et al. (1992) synthesized and investigated TS-1 samples of different particle size. Smaller particles were more active than larger particles.


แต่อย่าเขียนผสมคือ


Van der Pol et al. [3] synthesized and investigated TS-1 samples of different particle size. Smaller particles were more active than larger particles


ซึ่งเป็นรูปแบบการเขียนที่ไม่ถูกต้อง


การอ้างอิงโดยใช้ชื่อผู้แต่งและปีที่ตีพิมพ์นั้น ถ้ามีผู้แต่งคนเดียวก็จะเขียนชื่อผู้แต่งและปีที่พิมพ์กำกับ และถ้ามีผู้แต่งสองคนก็จะเขียนทั้งสองคน เช่น


Gao, X., and Xu, J. (2006). A new application of clay-supported vanadium oxide catalyst to selective hydroxylation of benzene to phenol. Applied Clay Science, 33(1), 1-6


จะย่อเป็น Gao and Xu (2006) และที่สำคัญคือจะเอามาแต่นามสกุลเท่านั้น ไม่มีการนำชื่อย่อ (ในที่นี้คือ X. และ J. มาด้วย ดังนั้นจะไม่เขียนเป็น Gao, X. and Xu, J. (2006) ซึ่งเป็นการเขียนที่ผิด

แต่ถ้ามีผู้แต่ตั้งแต่สามคนขึ้นไป จะเขียนเฉพาะคนแรกเท่านั้น และตามด้วย et al. (ปีค..) เช่น


Imre, B., Halasz, J., Frey, K., Varga, K. and Kiricsi, I. (2001). Oxidative hydroxylation of benzene and toluene by nitrous oxide over Fe-containing ZSM-5 zeolites. Reaction Kinetics and Catalysis Letters, 74(2), 377-383.


จะย่อเป็น Imre et al. (2001)

อีกจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาคือในกรณีที่มีการอ้างอิงไปยังผู้แต่งเดียวกันที่มีผลงานตีพิมพ์ในปีเดียวกัน (หรือเป็นผู้แต่งสองคนที่ชื่อซ้ำกันและมีผลงานตีพิมพ์ในปีเดียวกัน) ถ้าหากเขียนอ้างอิงแล้วออกมาเหมือนกัน ก็จะต้องมีอักษร a b กำกับตรงปีค.. เอาไว้ ตัวอย่างเช่น


Mongkhonsi, T., Pimanmas, P., and Praserthdam, P., ........, (2000):968-969.

Mongkhonsi, T., Youngwanishsate, W., Kittikerdkulchai, S. and Praserthdam, P., ....... (2000):183-186.


ซึ่งทั้งสองฉบับเมื่อเขียนย่อจะเป็น Mongkhonsi et al. (2000) เหมือนกัน ต้องแก้ไขใหม่โดยเขียนในรูปแบบ


Mongkhonsi, T., Pimanmas, P., and Praserthdam, P., ........, (2000a):968-969.

Mongkhonsi, T., Youngwanishsate, W., Kittikerdkulchai, S. and Praserthdam, P., ....... (2000b):183-186.


และผลงานฉบับแรกจะย่อเป็น Mongkhonsi et al. (2000a) ส่วนฉบับที่สองจะเป็น Mongkhonsi (2000b)

แต่ถ้าเป็นลักษณะที่ย่อออกมาแล้วไม่เหมือนกัน ก็จะไม่มีการใส่ตัวอักษร a b เช่น


Kumar, R., and Bhaumik, A. ....... , (1999) 497-504.

Kumar, R., Mukherjee, P., and Bhaumik, A. ....... , (1999) 185-191.


โดยผลงานฉบับแรกจะเขียนย่อเป็น Kumar and Bhaumik (1999) ส่วนฉบับที่สองเมื่อเขียนย่อจะมีรูปแบบเป็น Kumar et al. (1999) ซึ่งแตกต่างกัน ทำให้ไม่ต้องมีการใส่ตัวอักษรกำกับปีค..


และเมื่อใช้การอ้างอิงในรูปแบบการใช้ชื่อผู้แต่งแล้ว ลำดับการเรียบเอกสารอ้างอิงต้องทำตามลำดับตัวอักษรจาก A-Z โดยพิจารณาเฉพาะผู้แต่งคนแรกเท่านั้น (จะว่าไปแล้วคือนามสกุลนั่นเอง ที่มีปัญหาคือบางฉบับใช้ชื่อย่อกับนามสกุล แต่บางฉบับเขียนทั้งชื่อเต็มและนามสกุล ประเภทหลังนี้เวลาจะจัดเรียงต้องเอานามสกุลมาจัดเรียง ไม่ใช่เอาชื่อมาจัดเรียง) และถ้าชื่อผู้แต่งมีการซ้ำซ้อนกันให้เอาฉบับที่เก่ากว่าขึ้นนำก่อน ตามด้วยฉบับที่ใหม่กว่าเรียงไปเรื่อย ๆ


อีกประเภทหนึ่งคือการอ้างอิงบทความที่ 1 ที่ถูกอ้างอิงในบทความที่ 2 (กล่าวคือเราอ่านบทความที่ 2 โดยเขาอ้างอิงไปยังบทความที่ (1) โดยที่เราไม่ได้ตามไปอ่านบทความที่ (1)) ในกรณีนี้ก็ต้องมีการบอกเอาไว้ด้วย เช่น


Mongkhonsi et al. (1998) (in Yang et al. (2002)) has found that .....


หมายความว่าคุณอ่านบทความของ Yang et al. (2002) โดยพบการอ้างอิงบทความของ Mongkhonsi et al. (1998) ไว้ในบทความของ Yang et al. (2002) โดยที่คุณไม่ได้ตามไปอ่านบทความของ Mongkhonsi et al. (1998) แต่อยากยกมาอ้างอิงเอาไว้ด้วย


สำหรับผู้ที่เริ่มหัดเขียนนั้นมักจะพบว่าการใช้รูปแบบชื่อผู้แต่งจะทำให้เขียนได้ง่ายกว่า เพราะการใช้ตัวเลขนั้นมักต้องอ่านบทความนั้นอย่างละเอียดและเข้าใจ จึงจะย่อบทความได้ถูกต้อง ไม่เหมือนกับการใช้ชื่อผู้แต่ง เพราะบ่อยครั้งที่พบว่ายกเอาบทคัดย่อของบทความนั้นมาดัดแปลงแก้ไขเล็กน้อยเท่านั้นเอง


ไม่มีความคิดเห็น: