วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเขียนวิทยานิพนธ์ MO Memoir : วันศุกร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

เนื่องด้วยตอนนี้ผู้ที่ใกล้จบก็คงต้องเขียนวิทยานิพนธ์กันแล้ว ดังนั้น MO Memoir ฉบับนี้จึงจะขอเปลี่ยนจากเรื่องเกี่ยวกับ เทคนิค อุปกรณ์ ต่าง ๆ มาเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์และการเขียนวิทยานิพนธ์แทน เนื้อหาในที่นี้เป็นประสบการณ์ของตัวเองที่ต้องเขียนวิทยานิพนธ์สมัยเรียนโท-เอก และตอนที่ต้องมาเป็นอาจารย์ตรวจวิทยานิพนธ์

เมื่อตอนที่ผมจบกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ นั้น ก็โดนอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง (อยู่ภาควิชาอื่น) ทดสอบว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ว่าคืออะไร ควรประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง และส่วนประกอบแต่ละส่วนมีความสำคัญอย่างใด

เนื้อหาในที่นี้จะยกตัวอย่างที่จะเน้นไปที่นิสิตป.โทปี ๒ ที่กำลังเขียน (หวังว่า "กำลังเขียน" นะ ไม่ใช่ "กำลังจะเขียน" นะ) วิทยานิพนธ์เป็นหลัก

วิทยานิพนธ์ (thesis - เอกพจน์ หรือ theses - พหูพจน์) ประกอบด้วยคำสองคำรวมกันคือ "วิทยา" ที่แปลว่าความรู้ และ "นิพนธ์" ที่แปลว่าการเขียน ดังนั้นวิทยานิพนธ์จึงหมายถึงการเขียนความรู้

โดยทั่วไปความรู้ที่เขียนในวิทยานิพนธ์นั้นจะมาจากการศึกษาค้นคว้าหรือทดลอง เป็นความรู้ใหม่ ไม่ใช่การรวมเอาความรู้ที่มีอยู่ในตำราอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วมาเขียนรวมกัน รูปแบบการเขียนวิทยานิพนธ์จะขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษา ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่อังกฤษนั้น ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบวิทยานิพนธ์ไว้ตายตัว เพียงแต่กำหนดคร่าว ๆ ว่า พิมพ์ลงกระดาษ A-4 เข้าปกสีน้ำเงิน ตัวหนังสือสีทองตามแบบเท่านั้น (เวลาเอาไปไว้ในชั้นหนังสือจะได้ดูเป็นระเบียบ) ส่วนรูปแบบข้างในไม่ได้มีการกำหนดใด ๆ เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เขียนสร้างสรรงานของตัวเองได้เต็มที่


รูปแบบเนื้อหาในวิทยานิพนธ์นั้นทางแต่ละสถาบันอาจกำหนดแตกต่างกัน แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้วเท่าที่เคยได้ยินมา น่าจะแบบออกได้เป็น 2 รูปแบบด้วยกัน กล่าวคือ

รูปแบบที่ 1 เป็นรูปแบบที่เขียนให้คนทั่วไปในสาขาวิชานั้นอ่านเข้าใจความสำคัญและที่มาของงานที่ทำได้ เช่นถ้าคุณเรียนวิศวกรรมเคมี วิทยานิพนธ์ของคุณต้องเขียนให้ผู้ที่เรียนจบวิศวกรรมเคมี (ไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะลงลึกด้านใด) สามารถอ่านเข้าใจได้ เช่นวิทยานิพนธ์ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา แต่คนที่เรียนทางด้านควบคุมกระบวนการต้องสามารถอ่านแล้วเข้าใจความสำคัญและที่มาของงานที่ทำได้

รูปแบบที่ 2 เป็นรูปแบบที่เขียนให้เฉพาะคนที่ทำงานทางด้านนั้นอ่านเข้าใจ คนอื่นจะอ่านรู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่สน เช่นวิทยานิพนธ์ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาก็เขียนให้เฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มวิจัยสาขานั้น ๆ อ่านแล้วเข้าใจได้ ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มวิจัยอื่นไม่ว่าจะเป็นการควบคุมกระบวนการ วิศวกรรมวัสดุศาสตร์ ฯลฯ อ่านแล้วจะรู้เรื่องรู้เปล่าก็ไม่สน ได้ยินมาว่าบางที่นั้น ผู้ที่จะสอบวิทยานิพนธ์ทำเพียงแค่นำเอาผลงานที่ตีพิมพ์ในระหว่างการศึกษามาเย็บรวมกันเป็นวิทยานิพนธ์ (จริงเท็จแค่ไหนผมก็ไม่รู้ ได้ยินเขาเล่าให้ฟัง)

ส่วนการจะเลือกรูปแบบไหนขึ้นอยู่กับตัวกรรมการสอบ ถ้าสาขาวิชาเฉพาะสาขาใดมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นเป็นจำนวนมาก ก็สามารถเลือกเขียนวิทยานิพนธ์รูปแบบที่ 2 ได้ แต่ในกรณีที่กรรมการสอบเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่แตกต่างกัน (เช่นในกรณีการสอบของเรา) รูปแบบที่เหมาะสมที่สุดคือรูปแบบที่ 1 ดังนั้นต่อไปนี้จะกล่าวถึงเฉพาะรูปแบบที่ 1 เท่านั้น


การเขียนวิทยานิพนธ์นั้นที่ดีนั้นมีหลักในการเขียนที่เรียบง่าย (แต่ทำได้ยาก) กล่าวคือ ผู้อ่านต้องสามารถเปิดอ่านไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องทำการเปิดพลิกหน้ากลับไปกลับมา และเมื่ออ่านจบแล้วต้องทำให้ผู้อ่านไม่มีข้อสงสัยในประเด็นใด ๆ ที่อาจใช้เป็นข้อโต้แย้งได้

องค์ประกอบของวิทยานิพนธ์นั้นสามารถแยกได้ออกเป็นส่วน ๆ (ไม่ใช่บทนะ เพราะแต่ละส่วนอาจมีหลายบทก็ได้) ที่ต่างก็มีความสำคัญในตัวเองดังนี้


บทนำและความสำคัญของปัญหา (Introduction and importance of research) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ปูพื้นฐานที่มาของปัญหา โดยเริ่มจากภาพมุมมองโดยกว้าง (เพื่อให้วิศวกรเคมีหรือผู้ที่อยู่ในสาขาเฉพาะสาขาอื่นมองเห็นภาพใหญ่ของงานก่อน) ตามด้วยการแสดงให้เห็น ปัญหา จุดบกพร่อง หรือความไม่สมบูรณ์ ของงานที่ผ่านมาในอดีต ส่วนนี้อาจมีการอ้างอิงงานในอดีตที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นภาพก็ได้ แต่จะเป็นการอ้างอิงในภาพกว้างมากกว่า ตัวอย่างเช่นสำหรับผู้ที่นำเสนอเส้นทางใหม่ในการผลิตครีซอล คุณอาจเริ่มจากการนำเสนอว่าครีซอล (cresol - C6H4(CH3)(OH)) มีความสำคัญอย่างไรในอุตสาหกรรม และเดิมนั้นผลิตขึ้นจากกระบวนการใด และกระบวนการเดิมนั้นยังมีจุดใดที่ไม่เหมาะสมหรือยังสามารถทำให้ดีกว่าเดิมได้

จากนั้นจึงตามด้วยการนำเสนอว่าคุณมีแนวความคิดอย่างใดในการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว และได้แนวความคิดมาจากไหน (ในที่นี้คงเป็นการได้แนวความคิดมาจากปฏิกิริยา hydroxylation ของเบนซีนไปเป็นฟีนอล ที่เป็นการแทรกหมู่ไฮดรอกซิล (-OH) เข้าไปที่วงแหวนเบนซีนโดยตรงในขั้นตอนเดียว และงานวิจัยเบื้องต้นได้แสดงให้เห็นว่าสามารถใช้กับกรณีของโทลูอีน (C6H5CH3) ได้) งานวิจัยที่คุณนำเสนอนั้น (เช่นการคัดสรรตัวเร่งปฏิกิริยา) สุดท้ายแล้วถ้าพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ (ซึ่งอาจต้องมีการทำงานต่อเนื่องไปจากงานของคุณ เช่นศึกษารูปแบบเครื่องปฏิกรณ์ที่เหมาะสม ปรับสูตรองค์ประกอบและวิธีการเตรียมให้เหมาะสม (ปรับละเอียด)) จะแก้ปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้อย่างไร

ปิดท้ายของส่วนบทนำนี้คือการบอกกล่าวให้ผู้อื่นทราบว่า เนื้อหาวิทยานิพนธ์นี้เรียงลำดับอย่างไร แต่ละบทมีวัตถุประสงค์อย่างใดในการนำเสนอ และสิ่งที่อยู่ในบรรณานุกรม (Appendix) ท้ายเล่ม


การวิจารณ์งานในอดีตที่ผ่านมา (Literature review) เป็นเนื้อหาที่จะลงลึกถึงสิ่งที่ผู้อื่นได้กระทำมาในอดีตที่เกี่ยวข้องกับงานที่คุณทำวิจัย (ไม่ใช่สักแต่ว่าลอกเอามาใส่เพื่อให้เนื้อเล่มมันดูหนา โดยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับงานของคุณเลย) การจัดเนื้อหาในหมวดนี้ควรจัดเป็นเรื่อง ๆ ไม่ใช่ใส่กันปนเปมั่วไปหมด และควรเรียงตามลำดับปีที่ตีพิมพ์ เพื่อจะได้เห็นลำดับเวลาของการพัฒนา เช่นจากเรื่องครีซอลข้างต้น คุณอาจแยกเนื้อหาในส่วนนี้ออกเป็น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเร่งปฏิกิริยา และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปฏิกรณ์ และท้ายสุดของแต่ละเนื้อเรื่อง (หรือของบท) คุณต้องให้ ความเห็นต่องานในอดีตที่คุณได้รวบรวมมา (Comments on previous works) ว่าคุณจะนำจุดใดมาใช้ประโยชน์ (จากงานของใคร) จุดใดที่ยังเป็นข้อกังขา (ในงานของใคร) และจุดใดที่ถูกมองข้ามไปและคุณเลือกที่จะทำ (โดยแสดงให้เห็นว่างานต่าง ๆ ที่ผ่านมาไม่มีใครกล่าวถึงประเด็นที่คุณนำเสนอเลย)

สำหรับบทที่ต่อเนื่องจากบทนำนั้น เมื่อขึ้นบทใหม่ควรมีการเกริ่นก่อนว่าในบทนั้น ๆ ประกอบด้วยเนื้อหาเรื่องเกี่ยวกับอะไร และมีการเรียงลำดับเนื้อหาอย่างไร ก่อนที่จะเริ่มเนื้อหาหลักของแต่ละบท ตัวอย่างเช่นคุณอาจเริ่มต้นด้วย บทที่ ... นี้จะกล่าวถึง .... โดยเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องตัวเร่งปฏิกิริยาจะรวบรวมไว้ในตอนที่ ... ตามด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์และการเลือกใช้จะรวบรวมไว้ในตอนที่ ... และความเห็นเกี่ยวกับงานในอดีตที่ผ่านมาได้รวบรวมไว้ในตอนที่ ...


ทฤษฎี (Theory) ในรู้สึกส่วนตัวแล้วบทนี้เป็นบทเจ้าปัญหาคือ ควรมีหรือไม่ ควรมีกี่บทและควรมีเนื้อหาเท่าใดจึงจะพอ ควรเป็นบทหลักบทหนึ่งหรือควรเอาไปไว้ในบรรณานุกรม เพราะในบางทีนี้เนื้อหาทฤษฎีนี้ไม่ควรเป็นเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่ทั่วไป แต่เป็นทฤษฎีหรือแนวความคิดของคุณเองที่คุณนำมาประยุกต์ใช้กับงานของคุณ และต้องแสดงให้เห็นว่าจุดไหนที่คุณนำมาประยุกต์ใช้ ส่วนความเป็นพื้นฐานของบทนี้ควรเป็นเท่าใดนั้นน่าจะขึ้นกับผู้อ่าน (ในที่นี้หมายถึงกรรมการสอบ) คือถ้าคุณใส่ทฤษฎีพื้นฐานมากเกินไป ผู้อ่านที่อยู่ในสาขาวิชาเฉพาะนั้นก็จะเห็นว่าไม่เหมาะสม แต่ถ้าคุณไม่ใส่เลย ผู้อ่านที่มาจากต่างสาขาวิชาก็จะบอกว่ามันขาดหายไป ทำให้เขาอ่านไม่รู้เรื่อง

ในความเห็นของผมเองทางออกที่ดีทางหนึ่งคือให้เอาผู้อ่านที่อยู่ในสาขาวิชานั้นเป็นหลัก ส่วนที่เป็นทฤษฎีพื้นฐานให้เอาไปใส่ไว้ในส่วนบรรณานุกรม ตัวอย่างเช่นในเรื่องครีซอลนี้ เนื้อหาเกี่ยวกับ TS-1 ว่าคืออะไร ความเห็นส่วนตัวของผมคือควรเอาไปไว้ในบรรณานุกรม แต่สิ่งที่ควรเน้นคือการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาว่าทำไมคุณถึงเลือกเตรียมด้วยวิธีการเช่นนี้ เนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์ควรเน้นไปที่รูปแบบการผสมที่คุณเลือกใช้และจุดที่เป็นข้อจำกัดในการทำปฏิกิริยา คนที่ใช้แบบกวนก็ควรกล่าวถึงการผสมกันระหว่างเฟสของเหลว 2 เฟสที่ไม่ละลายเข้าด้วยกัน ซึ่งจะก่อปัญหาได้ถ้าเฟสที่อยู่ล่างมีความสูงมาก (เพราะจะทำให้โทลูอีนไม่สามารถลงมาสัมผัสกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่นอนก้นอยู่ในเฟสน้ำได้) คนที่ใช้แบบฟองแก๊สก็ต้องเน้นไปตรงที่การไม่สามารถควบคุมเวลาที่ฟองแก๊สสัมผัสกับของเหลวได้ (เพราะต้องเปลี่ยนระดับความสูงของของเหลวหรือใช้เครื่องปฏิกรณ์หลายตัวต่อเนื่องกัน)


วิธีการทดลอง (Experimental procedures) ในความเห็นส่วนตัวแล้วบทนี้เป็นบทที่สำคัญที่สุด (ส่วนคนอื่นจะคิดเห็นอย่างไรผมไม่ทราบ) เพราะถ้าวิธีการทดลองไม่ถูกต้อง ผลการทดลองที่ได้ก็ไม่มีค่าอะไรเลย ไม่ควรค่าแก่การพิจารณาใด ๆ ทั้งสิ้น เนื้อหาในส่วนผลการทดลองและการวิเคราะห์ผลการทดลองก็โยนทิ้งไปได้เลย

โดยหลักการแล้ววิธีการทดลองนั้นควรให้รายละเอียดมากพอที่จะให้ผู้อื่นทดลองทำซ้ำได้ (เพื่อสามารถพิสูจน์ได้ในภายหลังว่าผลการทดลองที่นำเสนอนั้นได้มาจากการทดลองจริง ไม่ใช่แต่งขึ้นมา) วิธีการทดลองอาจแบ่งเป็น วิธีการเตรียมตัวอย่าง (เช่น การเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา) วิธีการทดลองเพื่อหาคุณสมบัติพื้นฐานบางอย่าง (เช่น การวัดพื้นที่ผิว การวัดองค์ประกอบทางเคมี การวิเคราะห์โครงสร้าง ซึ่งควรกล่าวถึงวิธีการเตรียมตัวอย่างเพื่อการวิเคราะห์ด้วย) และวิธีการทดลองเพื่อทดสอบสมมุติฐาน ตรวจสอบทฤษฎี หรือทดสอบตัวอย่าง (เช่น การทำปฏิกิริยาเคมี)

วิธีการทดลองทั้งหมดไม่จำเป็นต้องอยู่ในบทนี้ ในบางครั้งอาจจะดูดีกว่าถ้าหากว่ายกวิธีการทดสอบคุณสมบัติบางชนิดไปไว้ในส่วนผลการทดลองและวิเคราะห์ผลแทน


ผลการทดลองและการวิจารณ์ผลการทดลอง (Results and discussion) ที่เห็นวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่ (หรือเกือบทั้งหมด) ในแลปของเราที่ทำกันคือ จะเอาผลการวิเคราะห์คุณสมบัติทั่วไปของตัวเร่งปฏิกิริยาขึ้นนำก่อน จากนั้นจึงตามด้วยผลการทดสอบความว่องไวของตัวเร่งปฏิกิริยา แล้วก็อธิบายว่าทำไมถึงได้ผลการทดสอบความว่องไวออกมาเป็นเช่นนั้น แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำเรียงตามลำดับเช่นนั้น จะเอาผลการทดสอบความว่องไวขึ้นก่อนก็ได้ แล้วค่อยนำเสนอผลการวิเคราะห์คุณสมบัติเพื่อเอามาอธิบายว่าทำไมตัวเร่งปฏิกิริยาจึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น หรือคุณจะเอาเรื่องผลการวิเคราะห์คุณสมบัติกับผลการทดสอบความว่องไวเรียงสลับกันไปตามสมควรก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเนื้อหาทั้งหมดต้องต่อเนื่องและไหลลื่น ไม่ใช่กระโดดกลับไปกลับมา

ผลการทดลองในบทนี้ไม่ได้เรียงลำดับตามเวลาที่คุณทำการทดลอง (การทดลองแรกที่คุณทำไว้อย่างแรกอาจนำเสนอเป็นเรื่องสุดท้ายก็ได้) แต่เรียงลำดับตามคำอธิบาย

ถ้าจะให้ยกภาพให้เห็นอยากให้ลองนึกถึงนิยายสืบสวนสอบสวนสักเรื่อง เปิดฉากขึ้นมาก็มีการฆาตกรรม แล้วก็กล่าวถึงคนร้ายที่อาจเป็นไปได้ จากนั้นก็ใช้ผลการสืบสวนสอนสวนตัดผู้ต้องสงสัยออกไปทีละราย จนเหลือรายสุดท้ายก็หาหลักฐานมายืนยันเพิ่มเติม การเขียนผลการทดลองก็เช่นเดียวกัน คุณอาจเริ่มด้วยผลการทดลองหนึ่งก่อน แล้วชี้ให้เห็นว่าสมมุติฐานที่จะอธิบายผลการทดลองดังกล่าวมีได้กี่สมมุติฐาน แล้วคุณก็ใช้ผลการทดลองอื่นเพิ่มเติมมาหักล้างสมมุติฐานที่ไม่น่าใช่ออกไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะเหลือสมมุติฐานสุดท้ายที่ยังไม่มีข้อโต้แย้ง แล้วก็แสดงผลการทดลองเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนสมมุติฐานสุดท้ายที่เหลือ การอธิปรายผลการทดลองในส่วนนี้ต้องชัดเจน ถ้ามีปัญหาในการใช้ประโยคแบบบรรยาย ควรแยกคำอธิบายออกเป็นข้อ ๆ จะทำให้มองเห็นภาพได้ง่ายขึ้น

ความยากของส่วนนี้น่าจะอยู่ตรงที่การหาว่าสมมุติฐานที่เป็นไปได้ทั้งหมดมีอะไรบ้าง เพราะถ้าหากกรรมการสอบเกิดมองเห็นสมมุติฐานอื่นที่ยังสามารถอธิบายผลการทดลองดังกล่าวได้โดยที่ตัวคุณเองคิดไม่ถึง และผลการทดลองที่ตัวคุณเองมีก็ไม่สามารถไปหักล้างสมมุติฐานของกรรมการสอบได้ ข้อสรุปที่คุณได้มาก็ยังสามารถโต้แย้งได้อยู่และอาจต้องทำการทดลองเพิ่มหลังสอบอีกก็ได้

ในแต่ละผลการทดลองนั้นควรมีข้อสรุปเอาไว้ด้วยในตอนท้ายของแต่ละการทดลองด้วย เพื่อบอกให้ทราบว่าได้ความรู้อะไรจากการทดลองนั้น ๆ


สรุปผลการทดลองและข้อเสนอแนะ (Conclusions and recommendation for future works) จะว่าไปแล้วเนื้อหาในส่วนนี้เป็นการนำเอาข้อสรุปย่อย ๆ จากบทผลการทดลองและการอภิปรายผลมารวบรวมเอาไว้เท่านั้นเอง ไม่ควรจะมีการอภิปรายใด ๆ อีกแล้ว ส่วนข้อเสนอแนะควรเป็นการชี้แนะให้เห็นว่างานที่เราได้กระทำมานั้นยังสามารถต่อยอดออกไปได้ในทิศทางใด หรือควรเพียงพอแล้วไม่ควรทำวิจัยเรื่องนี้ต่อไป โดยปรกติแล้วเนื้อหาส่วนข้อเสนอแนะผมจะไม่เข้าไปกำหนดให้คุณควรเขียนอะไร แต่จะปล่อยให้พวกคุณเขียนกันเองตามสบาย เพื่ออยากดูแนวความคิดของพวกคุณว่าเป็นอย่างไร


นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาส่วนอื่นที่สำคัญคือ


บทคัดย่อ (Abstract) ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องราวโดยสรุปทั้งหมดในหน้าเดียว คำจำกัดความของบทคัดย่อทั่วไปจะหมายถึงคุณทำอะไรและได้ผลอย่างไร แต่จะว่าไปแล้วบทคัดย่อในวิทยานิพนธ์จะเป็น "บทคัดย่อขยาย" (Extended abstract) เสียมากกว่า คือจะมีการเล่าที่มาที่ไปของปัญหา วิธีการทดลอง และผลที่ได้รับ โดยจะมีรายละเอียดมากกว่า หลักการเขียนคือทำให้ผู้อ่าน อ่านเพียงหน้ากระดาษเดียวก็สามารถมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่คุณทำทั้งหมดได้


กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgements) เป็นการกล่าวขอบคุณ ที่เห็นเป็นสูตรสำเร็จรูปลอก ๆ กันมาก็คือขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการสอบ (ทั้ง ๆ ที่เจอหน้ากับกรรมการสอบกันแต่สองครั้งเท่านั้นเองคือตอนสอบโครงร่างกับตอนสอบวิทยานิพนธ์ อาจารย์คนอื่นที่ช่วยเหลือมากกว่าในระหว่างการเรียน แต่ไม่ได้เป็นกรรมการสอบกลับไม่ได้รับคำขอบคุณใด ๆ เลย ทำเหมือนกับว่าใครไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลการสอบของฉัน ฉันก็จะไม่สนใจ)

เนื้อหาส่วนนี้ผมไม่เคยเข้าไปบังคับให้นิสิตในที่ปรึกษาต้องเขียนขอบคุณใคร อย่างมากก็ทำเพียงแค่แนะนำเท่านั้น แต่คุณจะขอบคุณเขาหรือไม่ขอบคุณเขาก็ได้ (เพราะผมก็ไม่รู้ว่าคุณเคยไปมีเรื่องมีราวอะไรกับเขามาหรือเปล่า) สิ่งที่ช่วยได้ก็คือการตรวจภาษา (ซึ่งทำเท่าที่จะทำได้)


เท่าที่เห็นจากวิทยานิพนธ์ของผู้ที่จบไปแล้วตอนเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษ เนื้อหาส่วนนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำขอบคุณ แต่เป็นเหมือนบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ประสบมาในระหว่างการเรียน และมีผู้ใดช่วยเหลือให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ดังกล่าวมาได้ มันเป็นเหมือนกับการมองย้อนหลังว่ารอดมาได้ยังไงจนถึงทุกวันนี้ ให้กลับไปทำแบบเดิมใหม่ก็ไม่ขอกลับไปอีกแล้ว เป็นส่วนที่ผมชอบที่จะเปิดดูเป็นเรื่องแรกเมื่อหยิบวิทยานิพนธ์สักเล่มขึ้นมาอ่าน และเรื่องที่ขอบคุณบางทีก็ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเรียน แต่เป็นการใช้ชีวิตระหว่างการเรียน ตัวอย่างเช่น ขอบขอบคุณ ... เพราะถ้าไม่ได้เธอเข้ามาแทนที่เขาคนนั้น อาการอกหักของฉันคงไม่ดีขึ้นจนสามารถเรียนต่อได้จนจบ เป็นต้น


พึงระลึกว่าวิทยานิพนธ์ไม่ใช่สักแต่ว่าเขียน ๆ ไปให้จบ แต่มันจะคงอยู่ในห้องสมุดโดยจะอยู่นานเท่าใดก็ไม่รู้ ซึ่งใคร ๆ ก็สามารถหยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าคุณเขียนดีทำำได้ดี มันก็จะยังเป็นหนังสือที่ดีแม้ว่าเวลาจะผ่านไปสัก 100 ปีก็ตาม แต่ถ้าคุณเขียนไม่ดี ใคร ๆ ก็อาจจะหยิบขึ้นมาขุดคุ้ยได้เพื่อทำลายชื่อเสียงที่คุณได้สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานของคุณ


ไม่มีความคิดเห็น: