วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ทำให้เรียบร้อย MO Memoir : วันศุกร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๒

หายไปเกือบ 2 เดือน (ขาดไป 3 วัน) เพราะว่าเป็นช่วงการสอบไล่ของปริญญาตรี และเร่งปิดแลปกับตรวจวิทยานิพนธ์ให้พวกปริญญาโทปี 2 เห็นวิทยานิพนธ์ที่เขียนมาให้อ่านแล้วทำให้อดใจไม่ได้ ต้องเขียนเพิ่มอีก

ก่อนอื่นขอเตือนความจำหน่อยว่าเรื่องการเขียนวิทยานิพนธ์นี้เคยกล่าวไว้สองครั้งแล้วใน

(1) MO Memoir : Saturday 20 September 2551 การเขียนเอกสารอ้างอิง และ

(2) MO Memoir : Friday 6 February 2552 การเขียนวิทยานิพนธ์

แต่ดูเหมือนว่าที่เขียนไว้ในฉบับ 20 กันยายนเรื่องการเขียนเอกสารอ้างอิง จะไม่ได้อ่านกัน หรือไม่ก็อ่านแล้วก็ลืม เพราะขนาดบอกกล่าวกันล่วงหน้าแล้วก็ยังมีผิดอีก

ทำไมต้องเขียนวิทยานิพนธ์ให้เรียบร้อย

ผมเคยกล่าวไว้ในฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์แล้วว่า วิทยานิพนธ์ที่ดีนั้น เมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้วจะต้องไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เหลือให้ซักถามตอนสอบอีก สิ่งที่ต้องคำนึงเอาไว้เสมอตอนเขียนวิทยานิพนธ์คือ "ต้องให้กรรมการสอบยอมรับในสิ่งที่เราส่งให้โดยไม่มีข้อสงสัยหรือต้องแก้ไขใด" ถ้าทำเช่นนี้ได้ก็ถือได้ว่าดีมาก ความคิดแบบที่ว่า "ทำส่ง ๆ ไปเหอะ เดี๋ยวกรรมการก็ตรวจแก้มาให้แก้ไขใหม่อยู่ดี" เป็นความคิดที่ใช้ไม่ได้

วิทยานิพนธ์ที่คุณสอบเสร็จแล้วจะเข้าไปอยู่ในห้องสมุด ซึ่งอาจจะอยู่นานกว่าชั่วชีวิตคุณอีก และใคร ๆ ก็สามารถเข้าไปขอยืมอ่านได้ ถ้าคุณทำมันไม่เรียบร้อย ก็เท่ากับเป็นการประจานตัวผู้เขียนเอง (และกรรมการสอบต่าง ๆ ที่ลงนามไว้ในหน้าแรกของวิทยานิพนธ์ด้วย) ให้คนรุ่นหลังได้เห็นการกระทำของคุณ (และมาตรฐานของกรรมการสอบ) คำพูดและ slide ต่าง ๆ ที่คุณใช้ในระหว่างการสอบ มันไม่ได้ตามเข้าไปอยู่ในห้องสมุดด้วย

คราวนี้คงเป็นการตรวจแก้ ก็เลยจะขอเขียนปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นประจำ และหวังว่าจะประสบน้อยลง (ไม่ได้คาดหวังเลยนะว่ามันจะหมดไป) ถ้าคุณแก้ไขในสิ่งที่จะบอกต่อไปนี้ได้ วิทยานิพนธ์ของคุณก็จะออกมาดูดีมาก จะขอไล่ไปทีละเรื่องตามที่นึกออกก็แล้วกัน อ่านแล้วก็อย่าคิดอะไรมาก (ถือว่าเป็นการระบายอารมณ์ของผู้ตรวจก็แล้วกัน) แต่สมควรปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง

1. หน่วยไม่เหมือนกัน

พวกนี้มักเกินตอนลอก paper ต่าง ๆ มาเขียนโดยไม่ดัดแปลงใด ๆ เช่นบางฉบับใช้หน่วยอุณหภูมิเป็นเคลวิน (K - ไม่มีเครื่องหมายองศานะ) แต่บางฉบับให้หน่วยเป็นองศาเซลเซียส (°C - สังเกตนะว่ามีเครื่องหมายองศา "°" อยู่ด้วย) สิ่งที่คุณต้องทำคือแปลงหน่วยให้เหมือนกัน ถ้าคุณจะเลือกใช้ °C ก็ปรับหน่วยของคนอื่นที่ไม่ได้ใช้หน่วยนี้ให้เป็น °C ทั้งหมด ถ้าคุณจะเลือกใช้เป็น K ก็ปรับหน่วยของคนอื่นที่ไม่ได้ใช้หน่วยนี้ให้เป็น K ทั้งหมด

หรือในกรณีของการรายงานปริมาตรเป็น ml หรือ cc หรือ cm3 ซึ่งผมไม่เถียงหรอกว่ามันเท่ากัน แต่ถ้าจะให้ดูสวยงามควรเลือกเอาแบบใดแบบหนึ่ง และปรับหน่วยให้เขียนเหมือนกันหมดทั้งเล่ม ซึ่งรวมไปถึงอัตราการไหลด้วย เช่นให้เลือกว่าจะใช้เป็น ml/min หรือ cc/min หรือ cm3/min หรือจะใช้แบบยกกำลังติดลบทำนองแบบ ml min-1 หรือ cc min_1 หรือ cm3 min-1 ก็ทำให้เหมือนกันทั้งเล่ม

อีกที่ที่พบคือการรายงานค่าความหนาแน่น (โดยเฉพาะใน Material Safety Data Sheet - MSDS ที่แนบมาตอนท้ายวิทยานิพนธ์นั่นแหละ คาดว่าคงลอกโดยตรงมาจากอินเทอร์เนต) เลือกเอาว่าจะรายงานในรูปแบบความหนาแน่น (density) ที่มีหน่วยเป็น g/ml (หรืออะไรทำนองนี้) หรือความถ่วงจำเพาะ (specific gravity - sp.gr.) ที่ไม่มีหน่วย

จุดที่จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างเห็นจะได้แก่เรื่องความดัน ถ้าเป็นความดันเหนือบรรยากาศ คุณอาจรายงานเป็น atm หรือ bar หรือ kg/cm2 หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ถ้าเป็นความดันเหนือบรรยากาศเพียงเล็กน้อย มักจะรายงานเป็น "นิ้วน้ำ - in. H2O" เช่นความดัน 2 in. H2O กล่าวคือเป็นความดันที่เทียบเท่าความสูงของน้ำ 2 นิ้ว และถ้าเป็นความดันต่ำกว่าบรรยากาศก็มักจะใช้เป็น in. H2O (ถ้าต่ำกว่าเล็กน้อย) หรือเป็นมิลลิเมตรปรอท - mm Hg (ถ้าต่ำกว่าบรรยากาศค่อนข้างมาก) หรือถ้าต้องการละเอียดมากอาจต้องรายงานเป็นความดันสัมบูรณ์ (Absolute pressure) เป็น MPa หรือ kPa หรือ Pa ขึ้นอยู่กับช่วงความดัน

2. ทำตารางให้เรียบร้อย

บางคนเอาสบายเข้าว่า โปรแกรม Word ตีตารางไว้ให้อย่างไรก็ใช้ไปตามนั้นเลย ตัวอย่างเช่น (ตารางที่ปรากฏใน blog จะแตกต่างไปจากฉบับที่แจกจ่ายทางอีเมล์)

Catalyst

Surface Area (m2/g)

Cat A

100

Cat B

120

Cat C

115

Cat D

108


เห็นแบบนี้แล้วรู้ทันทีเลยว่าคนทำไม่ได้สนใจเลยว่าทำอะไรลงไป หรืออาจคิดว่ากรรมการไม่อ่านวิทยานิพนธ์เลยก็ได้ บางรายยังดีหน่อยที่พอจะจัดขนาดความกว้างของคอลัมน์มาให้เหมาะสม มีการเน้นหัวข้อมาให้ และตีเส้นตารางมาพอเหมาะ ดังเช่น


Catalyst

Surface Area (m2/g)

Cat A

100

Cat B

120

Cat C

115

Cat D

108


แต่ตารางที่มีความกว้างน้อยกว่าความกว้างของหน้ากระดาษ ไม่จำเป็นต้องชิดซ้ายตลอดนะ อาจจะวางไว้โดยเอาตรงกลางเป็นหลัก เช่น


Catalyst

Surface Area (m2/g)

Cat A

100

Cat B

120

Cat C

115

Cat D

108


หรืออาจให้มีการเยื้องไปทางขวาบ้างเล็กน้อยตามความเหมาะสม เช่น

Catalyst

Type

Surface Area (m2/g)

Cat A

X

100

Cat B

X

120

Cat C

Y

115

Cat D

Y

108

ก็จะทำให้ดูดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัววิทยานิพนธ์ว่าแบบไหนจะทำให้ภาพโดยรวมดูดีที่สุด

แต่ยังเห็นได้ว่าเมื่อตีเส้นตารางแล้ว แถวบนสุด (ที่เป็นหัวข้อ) และแถวที่สอง (Cat A) ที่ให้สีน้ำเงินไว้ จะมีด้านบนติดเส้นตาราง แต่ด้านล่างจะเว้นห่างออกมา ทำให้ดูไม่สวยงาม (พวกนี้มักพบในกรณีที่คุณใช้ระยะบรรทัด (line spacing) เป็น 1 เท่าครึ่งหรือ 2 เท่า ถ้าใช้เป็นแบบเท่าเดียว (single space) จะไม่พบปัญหานี้) ในกรณีนี้เราสามารถปรับแก้ได้โดยการใช้คำสั่ง "space before" ที่อยู่ในส่วนการจัดรูปแบบย่อหน้า เพิ่มที่ว่างเหนือบรรทัดเข้าไปสัก 6 pt เฉพาะแถวที่ติดเส้นตารางก็จะทำให้ดูดีขึ้นดังนี้

Catalyst

Type

Surface Area (m2/g)

Cat A

X

100

Cat B

X

120

Cat C

Y

115

Cat D

Y

108

แต่ในบางครั้งถ้ามีข้อมูลไม่มาก เราอาจไม่ต้องตีเส้นแนวดิ่งก็ได้ ตีแต่เส้นแนวนอนและเน้นเส้นหนาดังเช่น


Catalyst

Type

Surface Area (m2/g)

Cat A

X

100

Cat B

X

120

Cat C

Y

115

Cat D

Y

108

ก็จะทำให้ได้ตารางที่ดูไม่รกเกินไป

อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตารางคือระยะบรรทัด บางคนใช้ระยะบรรทัดของแต่ละตารางไม่เหมือนกัน บางตารางใช้ระยะบรรทัดเท่าเดียว (single space) แต่อีกตารางใช้ระยะบรรทัดเท่าครึ่ง (one and half space)

และในกรณีที่ตารางทำท่าว่าจะล้นขอบกระดาษไปเล็กน้อยนั้น อาจแก้ปัญหาด้วยการลดขนาดตัวอักษร (Font size) ของตารางลงเล็กน้อย (แต่อย่างให้ถึงขั้นอ่านไม่ออกหรือมองไม่เห็น) ก็ถือว่ายอมรับได้ เพื่อให้ตารางอยู่ในขอบเขตของกระดาษ ไม่ล้นออกไป

3. ไอ้ที่มีก็ไม่ปรากฏ ไอ้ที่ปรากฏก็ดันไม่มี

เรื่องนี้เป็นเรื่องเอกสารอ้างอิงที่มักเกิดจากการลอก ๆ กันมาจากรุ่นก่อนหน้า สิ่งที่พบคือเอกสารที่มีการกล่าวอ้างในเนื้อหา กลับไม่มีปรากฏในส่วน References และเอกสารที่ปรากฏใน References กลับไม่มีปรากฏว่ามีการกล่าวอ้างในเนื้อหา ซึ่งทั้งสองส่วนต้องตรงกัน และที่สำคัญคือกรรมการจะถือว่าคุณจะต้องได้อ่านสิ่งที่คุณนำมาอ้างอิง และต้องเข้าใจในสิ่งที่เอกสารอ้างอิงเขียน ไม่ใช่ว่าลอก ๆ มาเพื่อให้วิทยานิพนธ์มันหนาขึ้นโดยที่ไม่ได้สนใจอะไรเลย ถ้าคุณได้อ่านมัน แต่มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับงานของคุณเลย ก็ไม่ต้องนำมาใส่ในส่วนของเนื้อหาหรือเอกสารอ้างอิง

4. เขาบอกว่า ไม่ใช่คุณพูดเอง

เรื่องนี้เป็นการลอกบทคัดย่อของผลงานที่มีผู้อื่นได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ไว้มาเป็นเนื้อหาในบท Literature review ของพวกคุณ ในเนื้อหาบทคัดย่อนั้นเป็นการเล่าของผู้ที่ทำการทดลองจริงว่า ได้ทำอะไร พบอะไร คิดอย่างไร และเสนอแนะว่าอย่างไร แต่เมื่อคุณนำข้อความของเขามา คุณจะต้องทำการดัดแปลงเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าข้อความที่คุณนำมานั้นเป็นข้อความของคนอื่น ไม่ใช่ของคุณเอง คุณต้องเล่าในทำนองว่า ผู้เขียนบทความนั้นได้ทำการทดลองอะไร ผู้เขียนบทความนั้นพบอะไร ผู้เขียนบทความนั้นคิดอย่างไร และผู้เขียนบทความนั้นเสนอแนะว่าอย่างไร ซึ่งเป็นเพียงแค่การเล่าเรื่อง ส่วนคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อีกเรื่องที่พบคือชื่อย่อ (อาจเป็นสารเคมีหรือชื่อรหัสตัวเร่งปฏิกิริยา) ซึ่งมักเป็นชื่อย่อที่ใช้เฉพาะกับบทความนั้น เวลาที่คุณนำบทความนั้นมาอ้างอิงคุณต้องเขียนเป็นชื่อเต็มหรือปรับให้เข้ากับชื่อย่อสารเคมีที่คุณใช้ในวิทยานิพนธ์ของคุณ ถ้าเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาก็ต้องบอกเป็นองค์ประกอบแทน ไม่ใช่นำเอาชื่อรหัสของเขามาอ้างอิง คนอ่านวิทยานิพนธ์ของคุณจะไปรู้ได้อย่างไรว่าชื่อรหัสนั้นเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดไหน ประกอบด้วยอะไรบ้าง

5. ไม่ต้องใช้คุ้มจนบรรทัดสุดท้าย

บางรายพิมพ์ไปข้างหน้าอย่างเดียว ให้คอมพิวเตอร์ทำการขึ้นหน้าใหม่ให้ตลอด ผลออกมาก็คือในบางครั้งเมื่อขึ้นหัวข้อใหม่ ตัวหัวข้อไปอยู่ที่บรรทัดสุดท้ายหรือเกือบสุดท้าย แล้วไปเริ่มต้นเนื้อหาหัวข้อนั้นในหน้าใหม่ หรือขึ้นย่อหน้าใหม่ได้บรรทัดเดียว แล้วส่วนที่เหลือของย่อหน้าก็ไปอยู่อีกหน้าหนึ่ง

จริงอยู่ การที่คุณพิมพ์แต่ละหน้าจนบรรทัดสุดท้ายอาจทำให้คุณประหยัดหน้ากระดาษที่ต้องพิมพ์ออกมา (ผมว่าอย่างมากไม่น่าถึง 10 หน้าต่อวิทยานิพนธ์ที่หนา 100 หน้า) แต่การกระทำดังกล่าวนอกจากจะดูไม่สวยงามแล้วยังอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อคุณต้องทำการแก้ไข เพราะถ้ามีการแทรกข้อความเพิ่มเติมเข้าไปหรือตัดข้อความออกบางส่วน จะสามารถทำให้การขึ้นหน้าใหม่ของเนื้อหาและ/หรือเลขลำดับหน้าของวิทยานิพนธ์จากจุดที่ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทันที และคุณต้องพิมพ์เนื้อหาจากจุดที่คุณได้ทำการแก้ไขลงกระดาษใหม่ทั้งหมด

ที่ว่างที่เว้นไว้ในตอนท้ายของหน้าที่มีอยู่บางหน้านั้น (ขึ้นอยู่กับจังหวะการขึ้นหัวข้อและย่อหน้าใหม่) จะทำหน้าที่เป็นกันชนสำหรับการยืดขยายหรือหดสั้นของข้อความ คุณอาจจะต้องพิมพ์จากจุดที่ได้ทำการแก้ไขออกมาใหม่บางหน้าเท่านั้นโดยไม่ต้องพิมพ์ออกมาทั้งหมด

คำแนะนำคร่าว ๆ คือถ้าท้ายหน้าของคุณเหลือเพียงไม่กี่บรรทัด เช่นสมมุติว่าเหลืออยู่ 3 บรรทัด และย่อหน้าของคุณยาวกว่า 3 บรรทัด จะเป็นการดีกว่าถ้าคุณจะเว้น 3 บรรทัดนั้นให้ว่างเอาไว้และไปขึ้นย่อหน้าใหม่ในรูปถัดไป

6. คงเส้นคงวาหน่อย

บางรายมีกราฟแบบเดียวกันหลาย ๆ กราฟ เช่นทดสอบตัวเร่งปฏิกิริยาหลายตัวที่อุณหภูมิต่าง ๆ กันและรายงานผลเป็นค่า conversion, selectivity ของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามอุณหภูมิของตัวเร่งปฏิกิริยาแต่ละตัว แต่ใช้รูปแบบเส้นและ/หรือ marker ของเส้นต่าง ๆ เปลี่ยนไปตามกราฟ เช่นกราฟหนึ่งใช้ marker ของ conversion เป็นสี่เหลี่ยม แต่อีกรูปหนึ่งกลับใช้เป็นวงกลมแทน ถ้าจะให้ดูสวยงามแล้ว ค่า conversion เลือกใช้ (เส้น + marker) รูปแบบใด ก็ใช้ให้มันเหมือนกันทุกกราฟ ค่า selectivity ของผลิตภัณฑ์เดียวกันก็ให้ใช้ (เส้น + marker) เหมือนกันทุกกราฟด้วย และแกน x และแกน y ก็ช่วยทำให้มันเหมือนกันทุกกราฟ ไม่ว่าจะเป็นช่วงระยะแกนหรือการตีเส้นแกนหลัก-แกนรอง และขนาดของรูปก็ควรจะทำให้เท่ากันด้วย (ถ้ากราฟมีรูปแบบเดียวกัน)

7. ช่วย ๆ กันบ้าง

หลายรายเลยเวลาที่แก้ไขวิทยานิพนธ์ก็จะแก้ไขเฉพาะตรงที่กรรมการทำเครื่องหมายเอาไว้ให้เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่บางจุดกรรมการก็อาจอ่านผ่านข้ามสายตาไป หรือมีมากจนกรรมการแก้ให้หมดไม่ได้ ได้แต่บอกเพียงว่าช่วยไปตรวจดูทั้งเล่มด้วยในจุดที่ทำผิดซ้ำ ๆ เสมอ

สิ่งที่คุณควรทำคือต้องตรวจดูทั้งหมด โดยเฉพาะข้อผิดพลาดที่คุณทำผิดเป็นประจำในเนื้อหา ว่ายังมีตกหล่นอยู่ที่ไหนอีกที่กรรมการมองไม่เห็น เช่นการกั้นหน้า ในบางครั้งบางย่อหน้าก็ไม่ได้จัดให้กั้นชิดขอบขวาด้วย (มีแต่ขอบซ้ายอย่างเดียว) การจัดตำแหน่งหัวข้อไม่ตรงกัน การเว้นระยะระหว่างบรรทัดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ (บางช่วงเว้นมาก บางช่วงเว้นน้อย บางช่วงไม่เว้นเลย) ถ้ามีปัญหามากเรื่องการจัดระยะบรรทัดและการจัดตำแหน่งหัวข้อ ขอแนะนำให้ยกเลิกคำสั่ง Auto format และลบตำแหน่ง Tab ต่าง ๆ ทิ้งทั้งหมด และทำแบบ manual แทน เช่นใช้แป้น Tab ในการขึ้นย่อหน้าใหม่ ยกเลิกคำสั่งพิเศษต่าง ๆ ทั้งหมดที่อยู่ในส่วนการจัดรูปแบบย่อหน้า ปัญหาพวกนี้บางทีเกิดจากการคัดลอกข้อความมาจากไฟล์ของผู้อื่นที่มีการตั้งคำสั่งไว้ไม่เหมือนกับในเครื่องของคุณ

วันนี้บ่นมามากพอแล้ว ได้แต่หวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะไม่ต้องเจอกับปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอีกกับพวกที่จะสอบในเย็นวันนี้และในสัปดาห์หน้า

ไม่มีความคิดเห็น: