วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จี้หรือนั่งแท่น MO Memoir : Tuesday 3 November 2552

อย่างที่ได้เกริ่นไว้ตอนงานเลี้ยงรับสมาชิกใหม่ว่า เอาไว้ราว ๆ เดือนธันวาคมจะหาเวลาพาสมาชิกของกลุ่มไปทำกิจกรรมภาคสนามนอกสถานที่กัน Memoir ฉบับนี้ก็เลยขอเป็นการทบทวนความจำและความเข้าใจสำหรับผู้ที่เคยไปร่วมกิจกรรมภาคสนามมาแล้ว

ในการเล็งปืนโดยใช้ศูนย์เปิดนั้นสายตาของเราจะต้องจัดสิ่งสามสิ่งให้อยู่ในแนวเดียวกัน (การใช้ศูนย์กล้องจะแตกต่างออกไป เอากากบาททาบก็ใช้ได้แล้ว) ถ้าเรียงลำดับจากสิ่งที่อยู่ใกล้สายตาเราสุดคือ "ศูนย์หลัง" ห่างออกไปที่ปากลำกล้องคือ "ศูนย์หน้า" และที่อยู่ไกลสุดขึ้นอยู่กับระยะยิง (จาก 5 เมตรถึง 50 เมตร) คือ "เป้า"

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราไม่สามารถมองเห็นสิ่งทั้ง 3 สิ่งได้ชัดเจนในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าเราปรับสายตาให้เห็นเป้าหมายได้ชัด เราจะมองเห็นศูนย์หน้าและศูนย์หลังได้ไม่ชัด แต่ถ้าเราปรับสายตาให้มองเห็นศูนย์หน้าได้ชัด เราจะมองเห็นเป้าหมายและศูนย์หลังได้ไม่ชัด ดังนั้นในการเล็งนั้นจึงจำเป็นที่เราต้องปรับสายตาไป-มาพร้อมกับทำการปรับแนวเล็งไปพร้อม ๆ กัน แต่สุดท้ายก่อนลั่นไกคือศูนย์หน้าชัด ศูนย์หลังไม่ชัด และเป้าไม่ชัด

ลักษณะทั่วไปของศูนย์หน้าส่วนใหญ่จะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ส่วนของศูนย์หลังนั้นอาจเป็นร่องบากรูปตัวยูหรือเป็นรูเล็ก ๆ ก็ได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีที่ศูนย์หลังมีลักษณะเป็นร่องบากรูปตัวยู เพราะปืน CZ-452 ของสนามที่จะไปทำกิจกรรมกันนั้นมีลักษณะศูนย์หลังเป็นเช่นนี้

ตำแหน่งการตกของกระสุนจะขึ้นอยู่กับการปรับศูนย์หน้า-หลังและการเล็ง โดยทั่วไปในการเล็งนั้น ขอบบนสุดของศูนย์หน้าและของบนสุดของศูนย์หลังจะต้องอยู่ในแนวเดียวกัน และช่องว่างทางด้านซ้ายและด้านขวาของศูนย์หน้าจะต้องกว้างเท่ากัน (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)

รูปที่ 1 การจัดวางศูนย์หน้า (สีแดง) - ศูนย์หลังแบบร่องบากรูปตัวยู (สีน้ำเงิน)

การจัดระดับแนวราบนั้นส่งผลต่อตำแหน่งกระสุนตกว่าจะสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป ถ้าระดับขอบบนสุดของศูนย์หน้าสูงกว่าระดับขอบบนสุดของศูนย์หลัง ตำแหน่งกระสุนตกก็จะสูงเกินไป (ศูนย์หน้าเชิดขึ้น ปากลำกล้องก็เชิดขึ้นตามไปด้วย) ในทางกลับกันถ้าระดับขอบบนสุดของศูนย์หน้าต่ำกว่าระดับขอบบนสุดของศูนย์หลัง ตำแหน่งกระสุนตกก็จะต่ำเกินไป (ศูนย์หน้ากดลง ปากลำกล้องก็กดลงตามไปด้วย)

ส่วนช่องว่างทางด้านซ้าย-ขวานั้นจะส่งผลต่อตำแหน่งกระสุนตกว่าจะเอียงไปทางซ้ายหรือเอียงไปทางขวา ถ้าช่องว่างทางด้านซ้ายเล็กกว่าทางด้านขวา แสดงว่าปากลำกล้องเอียงมาทางซ้าย ตำแหน่งกระสุนตกก็จะกินซ้าย ในทางกลับกันถ้าช่องว่างทางด้านขวาเล็กกว่าทางด้านซ้าย แสดงว่าปากลำกล้องเอียงมาทางขวา ตำแหน่งกระสุนตกก็จะกินขวา สำหรับปืนทั่วไปนั้นขนาดความกว้างของศูนย์หน้า "เมื่อมองผ่าน" ศูนย์หลังมักจะเห็นเล็กกว่าความกว้างของร่องรูปตัวยูของศูนย์หลัง ทำให้คนเล็งมักมีปัญหาในการจัดระยะช่องว่างซ้ายขวาให้เท่ากัน สำหรับปืนที่ใช้ในการแข่งขันนั้นจะทำการเปลี่ยนขนาดความกว้างของศูนย์หน้าได้ โดยเลือกขนาดที่เมื่อมองผ่านศูนย์หลังแล้วจะกว้าง "พอดี" กับความกว้างของรูปตัวยูของศูนย์หลัง ซึ่งจะทำให้รู้ได้ง่ายว่าการเล็งนั้นเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งหรือเปล่า เพราะถ้ามีการเล็งเอียงซ้ายก็จะเห็นแสงลอดมาทางขวา ถ้าเล็งเอียงขวาก็จะเห็นแสงลอดมาทางซ้าย ถ้าเล็งได้ตรงก็จะไม่เห็นแสงลอดมาทางด้านซ้ายหรือขวา

ถัดจากการจัดช่องตำแหน่งสัมพัทธ์ของศูนย์หน้า-หลังแล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องของการจัดตำแหน่งสัมพัทธ์ระหว่างศูนย์หน้ากับเป้าหมายที่จะยิง

เป้าที่ยิงกันในสนามนั้นมีทั้งแบบเป้ารูปคน (ไว้สำหรับฝึกยิงต่อสู้) และเป้ายิงแข่งขันที่เป็นเป้ามีวงกลมดำอยู่ตรงกลาง (เขาเรียกกันว่า "เป้าตาวัว" ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเรียกอย่างนั้น) เป็นวงกลมดำถ้าเป็นเป้าปืนสั้นก็จะมีสองแบบ โดยแต่ละแบบจะมีขนาดวงกลมดำตรงกลางไม่เท่ากัน และการให้คะแนนก็แตกต่างกัน สำหรับเป้าปืนยาวนั้นก็จะมีรูปแบบคล้ายกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า และออกแบบมาเพื่อยิงแข่งในระยะไกลกว่า (เป้าปืนสั้นยิงแข่งกันที่ 25 เมตร ส่วนเป้าปืนยาวยิงแข่งกันที่ 50 เมตร) ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะกรณีของเป้าวงกลมดำเท่านั้น (ทั้งปืนสั้นและปืนยาวก็มีหลักการเล็งเหมือนกัน)

รูปที่ 2 (ซ้าย) การเล็งแบบเล็งนั่งแท่น และ (ขวา) การเล็งแบบเล็งจี้

รูปแบบการวางตำแหน่งวงกลมดำของเป้าเทียบกับยอดศูนย์หน้านั้นทำให้การเล็งมี 2 รูปแบบคือ "เล็งนั่งแท่น" และ "เล็งจี้" (ดูรูปที่ 2 ข้างบนประกอบ) ในการเล็งนั่งแท่นนั้น จะจัดให้ขอบล่างสุดของวงกลมดำวางบนตำแหน่งตรงกลางของขอบบนสุดของศูนย์หน้า และจะทำการปรับศูนย์เพื่อให้ตำแหน่งกระสุนตกนั้นเข้าตรงจุดศูนย์กลางของวงกลมดำพอดี ซึ่งตำแหน่งกระสุนตกเป็นคนละตำแหน่งกับตำแหน่งตรงกลางของขอบบนสุดของศูนย์หน้า

พึงระลึกว่าในการเล็งแบบนั่งแท่นนั้น ขนาดของวงกลมดำที่มองเห็นส่งผลต่อการปรับศูนย์ ถ้าทำการปรับศูนย์ให้ตำแหน่งกระสุนตกเข้าจุดกึ่งกลางของวงกลมดำที่มีขนาดหนึ่ง ถ้านำไปเล็งเป้าที่ระยะเล็งเดิมแต่มีขนาดวงกลมดำเปลี่ยนไป หรือนำไปเล็งเป้าที่มีวงกลมดำเท่าเดิมแต่ที่ระยะยิงเปลี่ยนไป ตำแหน่งกระสุนตกก็จะไม่เข้าตรงกลาง

ส่วนการเล็งแบบจี้นั้นจะวางตำแหน่งจุดศูนย์กลางของวงกลมดำให้อยู่ตรงตำแหน่งกึ่งกลางของขอบบนสุดของศูนย์หน้า และจะทำการปรับศูนย์เพื่อให้ตำแหน่งกระสุนตกนั้นเข้าตรงจุดศูนย์กลางของวงกลมดำพอดี ซึ่งตำแหน่งกระสุนตกก็เป็นตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งตรงกลางของขอบบนสุดของศูนย์หน้า

การตั้งศูนย์เล็งแบบนั่งแท่นนั้นมักจะใช้กับปืนที่ใช้ในการแข่งขัน เพราะในการแข่งขันนั้นเราจะมองเห็นวงกลมดำเป็นจุดเล็ก ๆ เท่านั้น จะกำหนดจุดศูนย์กลางของวงกลมดำไม่ได้ และขนาดวงกลมดำของเป้าที่ใช้ในการแข่งขันก็เป็นขนาดมาตรฐานเหมือนกันหมด ส่วนการเล็งจี้นั้นมักจะใช้กับปืนที่ยิงต่อสู้ เพราะเป้าหมายที่ยิงกันนั้นไม่ใช่เป้ากระดาษที่มีวงกลมดำ จึงต้องตั้งศูนย์แบบต้องการให้ยิงโดนตรงไหนก็ให้ศูนย์หน้าชี้ไปที่นั่น

ปืนที่ตั้งศูนย์ให้เข้าตำแหน่งเล็งพอดีไว้ที่ระยะยิงหนึ่งนั้น ถ้านำไปยิงที่ระยะยิงอื่นตำแหน่งกระสุนตกก็จะเปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากแนวเล็งจะอยู่เหนือแนวลำกล้องปืน ดังนั้นกระสุนปืนที่ยิงออกจากปากลำกล้องจะเคลื่อนที่จะตำแหน่งใต้แนวเล็ง จนกระทั่งมาตัดแนวเส้นเล็ง และเคลื่อนที่อยู่เหนือแนวเส้นเล็งไปจนถึงตำแหน่งสูงสุด และจะตกกลับมาตัดแนวเส้นเล็งใหม่ หลังจากตัดแนวเส้นเล็งครั้งที่สองแล้ว วิถีกระสุนก็จะโค้งต่ำลงเรื่อย ๆ (ดูรูปที่ 3 ประกอบ) ดังนั้นถ้าตั้งศูนย์ไว้ที่ระยะใดระยะหนึ่งก็จะพบว่าตำแหน่งเล็งและตำแหน่งกระสุนตกกระทบเป็นตำแหน่งเดียวกันจะมีอยู่ 2 ระยะ คือระยะที่วิถีกระสุนไต่ขึ้นจนตัดแนวเส้นเล็งครั้งแรก (เป็นระยะที่อยู่ใกล้ผู้ยิง) และระยะที่วิถีกระสุนตกลงมาจนตัดแนวเส้นเล็งครั้งที่สอง (เป็นระยะที่อยู่ไกลจากตัวผู้ยิง)

รูปที่ 3 แนวทางการเคลื่อนที่ของหัวกระสุน (เส้นสีน้ำเงิน) และแนวเล็ง และบริเวณที่ตำแหน่งกระสุนตกจะอยู่สูงกว่าหรืออยู่ต่ำกว่าแนวเล็ง

ถ้าเราตั้งศูนย์ไว้พอดี ณ ตำแหน่งระยะที่วิถีกระสุนไต่ขึ้นจนตัดแนวเส้นเล็งครั้งแรก ถ้าเรายิงเป้าหมายที่อยู่ใกล้กว่าระยะนี้จะพบว่ากระสุนเข้าเป้า ณ ตำแหน่งต่ำกว่าตำแหน่งเล็ง แต่ถ้าเรายิงเป้าหมายที่อยู่ไกลว่าระยะนี้จะพบว่ากระสุนจะเข้าเป้า ณ ตำแหน่งที่สูงกว่าตำแหน่งเล็ง

แต่ถ้าเราตั้งศูนย์ไว้พอดี ณ ตำแหน่งระยะที่วิถีกระสุนตกลงจนตัดแนวเส้นเล็งครั้งที่สอง ถ้าเรายิงเป้าหมายที่อยู่ใกล้กว่าระยะนี้จะพบว่ากระสุนเข้าเป้า ณ ตำแหน่งที่สูงกว่าตำแหน่งเล็ง แต่ถ้าเรายิงเป้าหมายที่อยู่ไกลว่าระยะนี้จะพบว่ากระสุนจะเข้าเป้า ณ ตำแหน่งที่ต่ำกว่าตำแหน่งเล็ง

ตอนนี้อ่านภาคทฤษฎีไปก่อน แล้วว่าง ๆ จะหาโอกาสฝึกสอนภาคปฏิบัติก่อนที่จะนำออกภาคสนามต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: