ก่อนอื่นต้องขอต้อนรับสมาชิกใหม่อีก ๒ คนของกลุ่มที่ได้เข้ามาร่วมทีมงานในภาคการศึกษาปลายนี้ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศงานเทศกาลของไทยคืองานเทศกาลลอยกระทงที่จะมีในวันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน นี้ Memoir ฉบับนี้เลยขอตั้งคำถามเล่น ๆ (สำหรับบางรายอาจจะรู้สึกว่าคำถามมันดูกวน ๆ ด้วยซ้ำ) ให้คิดกันเล่น ๆ ระหว่างคิด อนุญาตให้ร้องเพลงหรือฟังเพลงลอยกระทงคลอตามไปด้วยได้)
คำถาม ๑ ถ้ามีน้ำอยู่ถังหนึ่ง แล้วทิ้งขนมปังลงไปสักก้อน เมื่อปล่อยทิ้งไว้หลายวัน น้ำนั้นจะเป็นอย่างไร
คำถาม ๒ ถ้ามีน้ำอยู่ถังหนึ่ง แล้วทิ้งโฟมลงไปสักก้อน เมื่อปล่อยทิ้งไว้หลายวัน น้ำนั้นจะเป็นอย่างไร
ผมเดาว่าคำตอบที่จะตอบกันสำหรับคำถาม ๑ คือน้ำนั้นจะเน่าเสีย เนื่องจากเป็นผลของการย่อยสลายขนมปังด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ ส่วนคำตอบสำหรับคำถาม ๒ คือน้ำนั้นจะยังคงเหมือนเดิม คือไม่เกิดการเน่าเสียเพราะโฟมมันไม่ย่อยสลายด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ
ทีนี้ถ้าลองตั้งคำถามใหม่ว่า
คำถาม ๓ ถ้าลอยกระทงโดยใช้กระทงที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ (เช่นต้นกล้วย) จะส่งผลต่อ "คุณภาพของน้ำ" ของแหล่งน้ำที่ใช้ลอยกระทงอย่างไร
คำถาม ๔ ถ้าลอยกระทงโดยใช้กระทงที่ทำจากวัสดุที่ไม่ย่อยสลายด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ (เช่นโฟม) จะส่งผลต่อ "คุณภาพของน้ำ" ของแหล่งน้ำที่ใช้ลอยกระทงอย่างไร
ลองตอบคำถาม ๓ และ ๔ ก่อน แล้วจึงอ่านคำถาม ๕ ข้างล่าง
คำถาม ๕ ถ้าเอาคำตอบของคำถาม ๑ และ ๒ มาใช้พิจารณาว่าควรใช้วัสดุใดในการทำกระทง กับสิ่งที่เขารณรงค์ให้ใช้กัน คุณว่ามันขัดกันไหม
จะว่าไปแล้วคำถาม ๓ และ ๔ ยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะคำตอบของคำถาม ๓ และ ๔ ขึ้นอยู่กับลักษณะของแหล่งน้ำที่ใช้ลอยกระทงว่าเป็น "แหล่งน้ำเปิด" หรือ "แหล่งน้ำปิด"
"แหล่งน้ำเปิด" คือแหล่งน้ำที่มีการไหลถ่ายเทหมุนเวียนของน้ำได้ดี เช่น แม่น้ำและลำคลอง (ที่มีการเปิดประตูระบายน้ำให้น้ำไหลผ่านได้) ส่วน "แหล่งน้ำปิด" คือแหล่งน้ำที่น้ำไม่มีการไหลถ่ายเทหมุนเวียน เช่น สระ คู บ่อ ฯลฯ
น้ำในแหล่งน้ำเปิดนั้นมีการเปลี่ยนถ่ายอยู่ตลอดเวลา และกระทงที่ลอยในแหล่งน้ำเปิดนั้นก็อย่าคาดหวังว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาเก็บกวาดขึ้นมาจากน้ำหลังจากลอยไปแล้ว แต่น้ำในแหล่งน้ำปิดนั้นไม่มีการหมุนเวียน (หรือมีก็น้อยเต็มที) และหลังจากเสร็จสิ้นงานแล้วก็มักมีเจ้าหน้าที่มาทำความสะอาดแหล่งน้ำนั้นโดยเก็บกระทงต่าง ๆ ที่คนลอยไว้ในคืนวันงานเอาไปทิ้ง ส่วนจะเก็บกวาดได้หมดหรือไม่หมดนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเก็บกวาดได้หมดก็แล้วไป แต่ถ้าเก็บกวาดไม่หมด กระทงที่ย่อยสลายได้ก็จะเกิดการย่อยสลายในแหล่งน้ำนั้น ส่วนกระทงที่ไม่ย่อยสลายก็จะยังคงอยู่ของมันไปเรื่อย ๆ
เมื่อมีการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ที่อาศัยออกซิเจนจะเติบโตเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและใช้ออกซิเจนในน้ำจนทำให้ออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำนั้นลดลง สิ่งมีชีวิตเช่นปลาจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากปลาเริ่มมาหายใจที่ผิวหน้าน้ำ เพราะเป็นบริเวณที่น้ำสัมผัสกับอากาศและมีความเข้มข้นออกซิเจนสูงกว่าใต้ผิวน้ำ บ่อปลาในหลายแห่งที่มีคนเอาอาหารหรือขนมปังโยนลงไปให้ปลากิน พอปลากินไม่ทัน อาหารหรือขนมปังที่เหลือก็จะทำให้น้ำเน่าเสีย ทำให้ปลาตายหมดทั้งบ่อได้ พอออกซิเจนหมดไป พวกจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการออกซิเจนก็จะเข้ามาแทนที่ มีการเปลี่ยนสารประกอบกำมะถันให้กลายเป็น H2S ซึ่งมีกลิ่นเหม็น
ถ้ามองจากมุมการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้มาทำกระทง ก็จะมีข้อดีตรงที่มันถูกทำลายได้โดยกระบวนการทางธรรมชาติ และเหมาะกับแหล่งน้ำเปิดหรือแหล่งน้ำปิดขนาดใหญ่ และแม้ว่าจะเก็บกวาดขึ้นมาก็กำจัดได้ง่ายกว่า แต่ถ้ามองจากมุมมองของการใช้วัสดุที่ไม่ย่อยสลายโดยธรรมชาติ ก็จะมีข้อดีตรงที่ถ้าตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำปิดก็จะไม่ทำให้แหล่งน้ำได้เสีย ส่วนคำตอบว่าควรใช้วัสดุอะไรมาทำกระทงนั้น ก็ต้องเอาข้อดี-ข้อเสีย ทั้งหมดมาพิจารณา แล้วดูว่าภาพโดยรวมแล้ววัสดุไหนจะดีกว่ากัน ซึ่งเชื่อว่าพวกคุณทุกคนคงหาคำตอบเองได้
ขอให้เที่ยวอย่างสนุกในคืนวันลอยกระทง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น