วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

NOx analyser NOA-7000 (อีกครั้ง) MO Memoir : Thursday 25 February 2553

ในที่สุด สาวน้อยหน้าใสใส่แว่นยิ้มได้ทั้งวันก็รอดตายไปได้อย่างหวุดหวิด โดยมีข้อแม้ว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีนะ

รอดตายในที่นี้ไม่ใช้รอดจากอุบัติเหตุ แต่เป็นการรอดจากการไม่มีเครื่องวัดปริมาณ NOx ใช้ ซึ่งทั้งแลปเรามีเครื่องวัดปริมาณ NOx อยู่เพียงเครื่องเดียว ไม่มีเครื่องสำรอง และไม่รู้เหมือนกันว่าในประเทศไทยมีคนใช้เครื่องนี้สักกี่เครื่องด้วย

Memoir ฉบับนี้เป็นการบันทึกเหตุการณ์ว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นได้มีการกระทำเป็นขั้นตอนอย่างไรบ้าง โดยที่ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าวิธีการที่ได้กระทำไปนั้นจะส่งผลระยะยาวอย่างไร แต่เนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเกิดในวงแคบมีผู้ทราบรายละเอียดอยู่ไม่กี่คน (คิดว่าคงมีเพียง ๓ คนเท่านั้นนะ) จึงขอเล่าไว้เป็นบันทึกเผื่อจะมีประโยชน์กับผู้อื่น


เรื่องมันเริ่มจากเย็นวันศุกร์ที่ ๑๙ ที่ผ่านมา หลังสี่โมงเย็นไปไม่นานก็มีโทรศัพท์จากสาวน้อยหน้าใสใส่แว่นยิ้มได้ทั้งวันโทรมาแจ้งข่าวร้ายว่าทำกระจกของเซลล์ที่ใช้วัด NOx แตก เนื่องจากขันตัวแกนท่อแก๊สให้ยื่นลึกมากเกินไปจนดันผนังกระจกที่กั้นแยกส่วนที่เป็นแก๊สกับตัวตรวจวัดแสงแตก (จริง ๆ แล้วมันทะลุเป็นรูเลย)

เนื่องจากเย็นวันนั้นผมยังไม่เห็นความเสียหาย จึงต้องรอเช้าวันจันทร์ก่อน สุดสัปดาห์นั้นจึงได้แต่คิดว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร เพราะการสั่งซื้อชิ้นส่วนมาเปลี่ยนคงไม่ทันเวลาแน่ และก็ไม่รู้ว่าราคาเท่าไรเพราะมันไม่มีการเปลี่ยนชิ้นส่วนย่อย ๆ แต่จะใช้วิธีเปลี่ยนทั้งชุดเลย

เช้าวันจันทร์ที่ ๒๒ พอได้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระจกแล้ว ผมยังมีความหวังว่ามันน่าจะซ่อมแซมความเสียหายได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วน แต่คำถามแรกที่ต้องตอบก่อนคือกระจกดังกล่าวเป็นกระจกแบบพิเศษหรือเป็นกระจกธรรมดา

เมื่อดูคุณลักษณะของตัวตรวจวัดก็พบว่าเป็นตัวตรวจวัดแบบ chemiluminescent ที่วัดแสงในช่วงความยาวคลื่น 590-2500 นาโนเมตร

แสงในช่วงที่ตาเปล่าของคนมองเห็นจะอยู่ในช่วงจากประมาณ 400-700 นาโนเมตร นั่นแสดงว่าตัวตรวจวัดนี้วัดแสงในช่วงที่ตาเปล่ามองเห็น (visible light) และลงไปถึงช่วงอินฟราเรดใกล้ (near infrared)

ที่ผมไม่ทราบคือปฏิกิริยาของ NOx กับโอโซนนั้นทำให้เกิดการเรืองแสงในช่วงไหน ถ้าเป็นช่วง visible light ก็คาดว่ากระจกดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นกระจกธรรมดา แต่ถ้าเป็นช่วงอินฟราเรดก็อาจมีปัญหาได้ เพราะกระจกธรรมดานั้นตัดแสงอินฟราเรดได้บางส่วน

เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าวผมจึงได้ให้สาวน้อยหน้าใสใส่แว่น (ซึ่งวันนั้นดูเหมือนรอยยิ้มจะไม่ค่อยสดใสเท่าใดนัก ดูเหมือนจะฝืนยิ้มมากกว่า) นำกระจกของเครื่องวัด NOx ไปวัดการดูดกลืนคลื่นแสงอินฟราเรดเทียบกับกระจกสไลด์ โดยให้คำแนะนำว่าให้วัดในโมดส่องผ่าน (transmission mode) โดยให้ระวังอย่าให้มีลายนิ้วมืออยู่บนผิวกระจก ซึ่งถ้าไม่แน่ใจก็อาจใช้ acetone เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวก่อน แต่ต้องรอให้พื้นผิวแห้งสนิทจริงจึงค่อยทำการวัด

ผลการวัดปรากฏว่ากระจกของเครื่องวัด NOx และกระจกสไลด์นั้นให้สเปกตรัมการดูดกลืนที่เหมือนกัน แต่ช่วงที่วัดอินฟราเรดนั้นเป็นช่วงเลขคลื่น 400-4000 cm-1 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความยาวคลื่นมากกว่า (แสงอินฟราเรดที่เลขคลื่น 4000 cm-1 มีความยาวคลื่น 2500 นาโนเมตร) ทำให้พอมีหวังว่าน่าจะซ่อมแซมได้

สิ่งที่ผมคิดไว้ในใจก็คือถ้ามันเป็นกระจกเช่นเดียวกับกระจกสไลด์ มันก็เป็นกระจกธรรมดาทั่วไปซึ่งน่าจะเอาเทคนิคที่ใช้ซ่อมรอยแตกกระจกหน้ารถยนต์มาใช้ซ่อมได้

แต่พอไปหาร้านซ่อมกระจกเขาก็บอกว่าเขาซ่อมไม่ได้ (คงเป็นเพราะเขาไม่เคยทำ) และไม่รับซ่อม (แต่ผมยังคิดว่าถ้าลองทำก็น่าจะทำได้) ก็เลยต้องกลับมาใช้วิธีการสำรองซึ่งค้นเจอโดยบังเอิญในระหว่างการค้นหาร้านซ่อมกระจกทางอินเทอร์เน็ตจากเว็บhttp://www.ladytip.com/main/content/view/2935/)

วิธีการดังกล่าวบอกให้ใช้ "กาวตราช้าง"


รูปที่ 1 กระจกตัวปัญหา ถ่ายภาพหลังจากที่หยอดกาวตราช้างลงไปตรงรูที่แตกและรอให้กาวแห้งแล้ว


รูปที่ 2 ตัว detector ที่กระจกในรูปที่ 1 ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้สัมผัสกับแก๊ส


วันอังคารที่ ๒๓ ก็ได้ลงมือทดสอบวิธีการที่มีผู้ที่บอกไว้ในเว็บ สิ่งที่ได้ทำลงไปคือให้สาวน้อยหน้าใสใส่แว่นยิ้มได้ทั้งวันทำการทดลองโดยการนำเอากระจกสไลด์มาตัดแล้วลองใช้กาวต่อดู พอรู้สึกว่ามันน่าจะมีแวทำได้ก็เลยทดลองทำกับของจริงแล้ว โดยเริ่มแรกทำความสะอาดบริเวณรอยแตกก่อน (โดยการเป่าไล่) จากนั้นก็เอาเทปใสปิดอุดรูทางด้านรูเล็ก (ด้านหันเข้าหาแก๊ส) แล้วก็หยอดกาวตราช้างลงไปจนเต็ม แล้วก็รอให้กาวแห้ง

ตามวิธีการที่บอกไว้ในเว็บนั้นเขาให้ใช้กระดาษทรายน้ำ (กระดาษทรายที่ใช้ขัดผิวเหล็กที่ด้านผิวขัดมันเป็นสีดำ) เบอร์ละเอียด (ขนาด 1000 หรือ 2000) แต่ผมไม่แน่ใจว่าถ้าทำแบบนั้นจะทำให้กระจกเป็นรอยหรือเปล่า แต่เห็นว่าตัวกาวเองนั้นพอแห้งแล้วก็ค่อนข้างใส (ดูรูปที่ 1) ก็เลยไม่ได้ทำการขัดผิว (ที่จริงแล้วมันไม่มีกระดาษทรายต่างหาก) และเหตุผลอีกอย่างคือเห็นว่าเครื่องวัดนั้น ตัววัดสัญญาณมีพื้นที่กว้างกว่าบริเวณที่หยดกาว ดังนั้นแม้ว่าจะมีการกระเจิงของแสงออกไปทางด้านข้างบ้าง (คือแสงอาจไม่ผ่านไปตรง ๆ) แสงที่กระเจิงออกไปก็ยังคงตกลงบนพื้นผิวรับแสงอยู่

พอคิดว่ากาวแห้งดีแล้วก็ให้ทดลองประกอบกลับและทดลองวัด NOx ว่าวัดได้หรือเปล่า จากนั้นก็คอยลุ้น

ปรากฏว่าตัวเลขมันค่อย ๆ ขึ้นอย่างช้า ๆ และในบางช่วงก็มีการตกลงมาด้วย แต่ภาพโดยรวมก็คือการตอบสนองของ detector นั้นค่อนข้างช้า แต่ก็วัดได้ ที่แปลกคือตัวเลขมันน่าจะขึ้นเพียง 12 ppm (ตามการคำนวณจากอัตราการไหล) แต่ปรากฏว่ามันขึ้นไปถึง 16 ppm

เช้าวันนี้ทดลองซ้ำอีกครั้ง ก็ดูเหมือนว่าจะใช้งานได้แล้วคืออ่านได้ 16 ppm เหมือนเดิมแทนที่จะเป็น 12 ppm แต่ก็ได้ให้ทดลองถอดเอาตัวกระจกออกมาดู ปรากฏว่าด้านรูใหญ่ (ด้านที่หันเข้าหาตัวรับสัญญาณแสง) มีเนื้อกาวหายไปส่วนหนึ่ง และไปมีคราบติดอยู่บนพื้นผิวตัวรับสัญญาณแสง (รูปที่ 2 แต่ในภาพที่ถ่ายมานั้นมองไม่เห็น) คราบดังกล่าวไม่แน่ใจว่าเกิดจากการที่กาวนั้นยังไม่แห้งดีหรือเปล่า เพราะเราใส่กาวเป็นชั้นหนา การแห้งของกาวก็เลยอาจช้ากว่าการทาไว้บาง ๆ หรืออาจเกิดจากความร้อนในตัวเครื่องทำให้กาวนั้นระเหยตัวออก (กาวตัวนี้ใช้ในการตรวจหารอยนิ้วมือได้) แต่กาวทางด้านด้านรูเล็ก (ด้านที่สัมผัสกับแก๊ส) ก็ยังมีผิวเรียบอยู่ ไม่ปรากฏว่ามีการสูญเสียใด ๆ ตอนนี้ก็ได้แต่ลุ้นอยู่ว่าตัวเครื่องจะสามารถใช้ได้จนทั้งสองคนนั้นสำเร็จการศึกษาหรือเปล่า


ว่าแต่ว่าคนถัดไปที่ต้องใช้เครื่องวัดเครื่องนี้ เมื่อไรจึงจะมาทำความรู้จักมันให้ดีเสียที การฟังรุ่นพี่สอนเพียงแค่เครื่องกดปุ่มเปิด-ปิดหรือกดปุ่มวัดได้อย่างไรนั้น หรือแม้แต่การอ่านคู่มือหมดทุกหน้า ก็ไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจพฤติกรรมของมัน การใช้งานมัน อยู่เฝ้าสังเกตพฤติกรรมาของมัน ร่วมกับการทำความเข้าใจหลักการทำงานของมันต่างหาก จึงจะทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดและหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวได้

ไม่มีความคิดเห็น: